quote: Read-aloud Workshop: พลังแห่งการอ่านออกเสียง

 

การอ่านออกเสียงเป็นหนึ่งในของขวัญที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะให้ลูกได้ ร่วมไขความลับการอ่านออกเสียง เราอ่านออกเสียงให้ลูกฟังทำไม ต้องเริ่มอ่านออกเสียงให้ลูกฟังตั้งแต่เมื่อไร และจะเลิกอ่านเมื่อไร แล้วภาครัฐจะสนับสนุนการอ่านออกเสียงได้อย่างไรบ้าง

โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดกิจกรรม “Read-aloud Workshop: พลังแห่งการอ่านออกเสียง” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาโดย สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการหนังสือ “ฝึกอ่าน” ตามระดับ ชุด “อ่าน อาน อ๊าน” และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) และ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์ สาขาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก เจ้าของเพจ “หมอแพมชวนอ่าน” เพจแนะนำการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ชวนสนทนาโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential

 

ตามทฤษฎี มนุษย์จะพูดได้ต้องนำเข้าให้เยอะ ต้องฟังก่อน ต้องได้ยินเสียง ว่ากันว่าเด็กต้องได้ยินเสียงเป็นพันคำ กว่าจะเปล่งเสียงของตัวเองออกมาได้หลังจากขวบปีแรก แล้วค่อยพูดเป็นประโยค เพราะฉะนั้นกระบวนการฟังคือการนำเข้า
แต่การอ่านหนังสือออกเสียงดังๆ ให้เด็กฟังมีพลังมากกว่านั้น เพราะในตัวหนังสือมีทุกอย่าง ทั้งเรื่องเล่า วรรณกรรม ภาพ สำคัญไปกว่านั้นก็คือสุ้มเสียงของผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ตามหลักจิตวิทยานี่แปลกมาก เมื่อไรที่เราอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เสียงเราจะบีบลงนิดหนึ่ง อ่อนโยนขึ้นอีกนิดหนึ่ง สนุกตื่นเต้นเร้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง ทุกอย่างผสานพลังอยู่ตรงนั้
การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง สุ้มเสียงที่เราส่งไป ตัวหนังสือที่เขาเห็น จะช่วยให้เด็กถอดรหัสได้เองภายในปีสองปี เราไม่ต้องรอกระทรวงศึกษาธิการมาบีบเค้นลูกเราให้อ่านได้ตอน ป.1-ป.3


— สุดใจ พรหมเกิด —
ผู้อำนวยการโครงการหนังสือ “ฝึกอ่าน” ตามระดับ ชุด “อ่าน อาน อ๊าน”
และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.)

 

ต้องฝึกมาก่อนตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อเด็กเกิดมา ระบบประสาทรับความรู้สึกจะทำงานทันที จริงๆ ตั้งแต่ไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ เด็กจะเริ่มฝึกการใช้อวัยวะทุกอย่าง แม้จะเป็นอวัยวะที่ไม่ได้ใช้จริง เช่น การกลืน เพราะฉะนั้น ระบบประสาท ตาดูหูฟัง จริงๆ ใช้ได้ตั้งแต่ในช่วงการตั้งครรภ์ระยะสุดท้ายนะคะ
นอกจากนั้น อย่าลืมว่าระหว่างเด็กในครรภ์กับโลกภายนอกมีผนังบางๆ กั้นแค่นั้นเอง เราพูดลูกก็ได้ยิน เราเดินเข้าไปในที่มืด ลูกก็รู้ว่าห้องนี้มืด เดินเข้าไปกลางแสงแดด ลูกก็รู้ เด็กรู้ทั้งหมด
เราอยากให้ลูกได้ยินโทนเสียง อยากให้เขารู้ว่าช่วงเวลานี้ แม่นั่งอยู่กับที่ อัตราการเต้นของหัวใจแม่ช้าลง แปลว่าแม่ผ่อนคลายและอ่านหนังสืออยู่ อยากให้เด็กเชื่อมโยงความรู้สึกนี้
มีคำถามที่คนสงสัยมากคือ เด็กจะจำหนังสือที่แม่อ่านตอนท้องได้ไหม มีการศึกษาเรื่องนี้มากมาย หนังสือ Read-aloud Handbook ก็เขียนว่าเด็กจำได้ เด็กจะชีพจรช้าลงเหมือนกันเมื่อแม่อ่านหนังสือเล่มเดิม หรือฟังเพลงเดิมที่ฟังตอนตั้งครรภ์

— พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี —
กุมารแพทย์ สาขาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก
เจ้าของเพจ “หมอแพมชวนอ่าน” เพจแนะนำการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง

 

 

ช่วงขวบปีแรก เด็กจะมีพัฒนาการด้าน sensory pathways สูงมาก ได้แก่ หูฟัง ตาเห็น ผิวหนังสัมผัส ใจรู้สึก ลิ้นชิม ที่สำคัญที่สุดคือ การฟังและการมองเห็น การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจึงเป็นการนำจุดเด่นที่สุดในช่วงอายุของเด็กมาใช้งาน
การฟังนั้นไม่ใช่แค่ฟังความหมาย แต่รวมถึงลักษณะของเสียงด้วย เช่น เหน่อนิดๆ ติดสำเนียง เวลาอารมณ์อย่างนี้แม่จะออกเสียงอย่างนี้ เวลาแม่ดีใจแม่จะพูดอย่างนี้ หรือเวลาเล่นกับลูกแม่จะส่งเสียงสอง นี่คือการฟัง ต่อให้คำเดียวกันก็ไม่ได้ออกเสียงเหมือนกัน เช่น เวลาโกรธเราพูดคำว่า “บ้า” แบบหนึ่ง เวลาเขินเราก็พูดอีกแบบ นี่คือโทนเสียง เพราะฉะนั้น การอ่านออกเสียงไม่ได้ให้แค่เด็กฟังอย่างเดียว แต่คือการสื่อสารความรู้สึก
เมื่อแรกเกิด เด็กจะเหมือนสายตาสั้น 800 และมองเห็นแต่ภาพขาวดำ ระยะที่เห็นชัดที่สุดคือหนึ่งฟุต คือระยะของหน้าแม่ที่ก้มคุยด้วยตอนให้นม ธรรมชาติสร้างมาเช่นนี้ เพราะฉะนั้นช่วง 1-3 เดือน คุณแม่จะอ่านอะไรก็ได้ จริงๆ แล้วเราสื่อสารด้วยเสียง เด็กมองภาพไม่เห็น ถ้าจะเห็นหน่อยก็เป็นภาพขาวดำ
การอ่านออกเสียงจึงเป็นการใช้ความสามารถที่ดีที่สุดของสมองเด็ก เริ่มให้เรียนรู้จากโทนเสียง และยังสร้างสายสัมพันธ์ด้วย

— พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี —

 

 

ทุกครอบครัวควรมีหนังสือเป็นปัจจัยแวดล้อม แล้วลุกขึ้นมาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง อย่าไปรอ 4,800 ชั่วโมงในโรงเรียน เวลานั้นมาชดเชยไม่ได้เลย ต่อให้โรงเรียนมีมาตรการอะไรก็ตาม ยกเว้นว่าโรงเรียนนั้นให้ครึ่งหนึ่งของเวลาเรียนเพื่ออ่านและถกเถียงพูดคุยกัน
หนังสือ Read-aloud Handbook เสนอหลักการง่ายๆ เพื่อวางรากฐานการอ่าน โดยทำให้หนังสือเป็นปัจจัยแวดล้อมที่บ้าน หลักการนั้นคือ “3B” ข้อหนึ่งคือที่บ้านต้องมีหนังสือ (book) ข้อสองมีตระกร้าหนังสือ (book basket) เพื่อใช้จัดมุมหนังสือที่หลากหลายและกระจายไปทุกมุมบ้าน ข้อสุดท้ายเป็นแบบฝรั่ง คือมีไฟที่หัวเตียง (bed lamp) เพื่อจัดเวลาอ่านก่อนนอน เมื่อร่างกายคลี่คลาย และจิตใจสงบ

— สุดใจ พรหมเกิด —

 

 

การอ่านช่วยสร้างคลังศัพท์ที่หลากหลาย ทำให้เด็กเกิดการเชื่อมโยงในสมอง และปรับให้เด็กเชื่อมโยงการอ่านกับความเพลิดเพลิน อันนี้สำคัญที่สุด พ่อแม่ไม่ต้องคิดว่าอ่านออกเสียงเพื่อสร้างให้ลูกเป็นเด็กอัจฉริยะ แค่ให้เขารู้สึกว่าการอ่านเป็นเวลาที่มีความสุขก็พอ สมองเด็กไวต่อความรู้สึก ถ้ารู้สึกว่าถูกคาดคั้น เขาจะตอบสนองอัตโนมัติด้วยการสู้ ถอยหนี หยุดนิ่ง ต่อให้เป็นเรื่องที่ดีแค่ไหน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำให้รู้สึกว่าถูกบังคับ เขาก็จะไม่ทำ นิทานดีแค่ไหน ถ้าเด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เขาก็จะไม่ฟัง เพราะฉะนั้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความทรงจำว่าอ่านหนังสือเท่ากับความสุข คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด

— พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี —

 

 

หัวใจสำคัญที่ Jim Trelease’s Read-aloud Handbook พูดคือการอ่านนำไปสู่ HQ คือ heart quotient หนังสือมีความเป็นวรรณกรรม เป็นกระบวนการเล่าเรื่องที่ให้ทักษะชีวิต ประสบการณ์ชีวิต ทำให้คนที่ผ่านกระบวนการแบบนี้เข้าใจความเป็นมนุษย์ สิ่งที่จะทำให้ลูกของเราเข้มแข็ง รู้จักความเป็นมนุษย์ เข้าใจภาวะภายในของตนเอง พร้อมกับเรียนรู้โลกรอบตัว ก็คือการอ่านออกเสียงให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กๆ ลูกจะเรียนรู้ประสบการณ์ เห็นชีวิตของคนอื่นๆ เห็นแนวทางการแก้ปัญหา หลายเรื่องเราก็ไม่สามารถสอนหรือบอกลูกได้ แต่ในหนังสือมี

— สุดใจ พรหมเกิด —

 

 

มีการศึกษาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ส่งนักวิจัยไปสังเกตการณ์เด็กตั้งแต่อายุประมาณ 1-4 ขวบ โดยบันทึกการพูดคุย และอ่านออกเสียงโดยพ่อแม่ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง จนกระทั่งเด็กอายุ 4 ขวบ เมื่อวัดผลแล้วปรากฏว่าเด็กที่พ่อแม่เริ่มอ่านออกเสียงต่างช่วงเวลากัน มีช่องว่างด้านคำศัพท์ถึง 30 ล้านคำ
ถ้าคิดว่าเดี๋ยวส่งลูกเข้าไปในระบบโรงเรียน โรงเรียนจะแก้ช่องว่าง 30 ล้านคำให้ได้ จริงๆ คือไม่ ยิ่งเข้าโรงเรียน ช่องว่างยิ่งกว้าง เพราะเด็กจะเข้าใจสิ่งที่ครููพูดก็ต่อเมื่อมีประสบการณ์เดิมเรื่องนั้นอยู่แล้ว เด็กที่อ่านหนังสือกับแม่บ่อยๆ เมื่อครูอ่าน เขาจะเชื่อมโยงได้ทันที ส่วนเด็กวัย 1-10 ขวบที่ไม่เคยอ่านเลย อาจจะจับความหมายได้เพียงคำที่สอง สี่ หรือหกได้ ช่องว่างจึงยิ่งกว้าง เพราะฉะนั้น เมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านต้องเริ่มต้นที่บ้านเท่านั้น

— พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี —

 

 

อ่านสรุปเสวนาฉบับเต็มได้ที่นี่ 

ชมเทปบันทึกภาพการเสวนาได้ที่นี่