เรื่อง: นันท์ชนก คามชิตานนท์
“เมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านและความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว) ในการเรียนนั้นเริ่มหว่านจากในบ้าน เนิ่นนานก่อนที่เด็กจะเข้าโรงเรียนเสียอีก”
– Jim Trelease’s Read-aloud Handbook
การอ่านออกเสียงคือเครื่องมือมหัศจรรย์อันทรงพลังอย่างยิ่ง เป็นเครื่องมือแรกที่พ่อแม่ใช้เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของลูกตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ และเป็นเครื่องมือที่ควรอยู่คู่บ้าน คู่โรงเรียนไปจนเด็กๆ เติบโต นี่คือเคล็ดลับที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ ได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน ทักษะการใช้ชีวิต หรือความสัมพันธ์
โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดกิจกรรม “Read-aloud Workshop: พลังแห่งการอ่านออกเสียง” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร่วมเสวนาโดย สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการหนังสือ “ฝึกอ่าน” ตามระดับ ชุด “อ่าน อาน อ๊าน” และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) และ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์ สาขาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก เจ้าของเพจ “หมอแพมชวนอ่าน” เพจแนะนำการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
ชวนสนทนาโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential
ร่วมไขความลับการอ่านออกเสียง เราอ่านออกเสียงให้ลูกฟังทำไม ต้องเริ่มอ่านออกเสียงให้ลูกฟังตั้งแต่เมื่อไร และจะเลิกอ่านเมื่อไร แล้วภาครัฐจะสนับสนุนการอ่านออกเสียงได้อย่างไรบ้าง
ทำไมเราต้องอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง ให้ลูกอ่านหนังสือเองได้ไหม
สุดใจ: ก่อนอื่นต้องพูดถึงหนังสือ Jim Trelease’s Read-aloud Handbook ที่นำเสนอทั้งงานวิจัย และนโยบายของต่างประเทศ เขาบอกเหตุผลว่าทำไมต้องอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ตามทฤษฎี มนุษย์จะพูดได้ต้องนำเข้าให้เยอะ ต้องฟังก่อน ต้องได้ยินเสียง ว่ากันว่าเด็กต้องได้ยินเสียงเป็นพันคำ กว่าจะเปล่งเสียงของตัวเองออกมาได้หลังจากขวบปีแรก แล้วค่อยพูดเป็นประโยค เพราะฉะนั้นกระบวนการฟังคือการนำเข้า
แต่การอ่านหนังสือออกเสียงดังๆ ให้เด็กฟังมีพลังมากกว่านั้น เพราะในตัวหนังสือมีทุกอย่าง ทั้งเรื่องเล่า วรรณกรรม ภาพ สำคัญไปกว่านั้นก็คือสุ้มเสียงของผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ตามหลักจิตวิทยานี่แปลกมาก เมื่อไรที่เราอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เสียงเราจะบีบลงนิดหนึ่ง อ่อนโยนขึ้นอีกนิดหนึ่ง สนุกตื่นเต้นเร้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง ทุกอย่างผสานพลังอยู่ตรงนั้น
การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง สุ้มเสียงที่เราส่งไป ตัวหนังสือที่เขาเห็น จะช่วยให้เด็กถอดรหัสได้เองภายในปีสองปี เราไม่ต้องรอกระทรวงศึกษาธิการมาบีบเค้นลูกเราให้อ่านได้ตอน ป.1-ป.3
เรามีเพื่อนเครือข่ายที่ยโสธร เป็นกลุ่มหมอที่ลุกขึ้นชักชวนให้ทุกๆ บ้านอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ที่บ้านน้ำคำ มีครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อและคุณแม่เป็นใบ้ สองตระกูลนี้เป็นใบ้มาหลายชั่วอายุคน จนมาเจอกัน รักกัน แต่งงานกัน เขาพยากรณ์ได้เลยว่าลูกออกมาต้องเป็นใบ้ แต่ตรงข้ามบ้านเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เขามาอ่านหนังสือให้น้องคนนี้ฟังตั้งแต่ 3 เดือน เมื่อไหร่ลูกงอแง คุณแม่จะอุ้มลูกพร้อมกับถือหนังสือที่ได้จาก อสม. ไปบ้านอื่นให้ช่วยอ่านหนังสือให้ลูกเขาฟัง ลูกก็สงบ กลับมานอนหลับอุ่นสบายอยู่ที่บ้าน ตอนนี้น้องอยู่ ป.2 อ่านหนังสือได้ พูดได้ สื่อสารภาษาใบ้ได้
ถ้าเราทำโครงการ Read-aloud อ่านหนังสือให้เด็กฟัง จะเกิดเรื่องมหัศจรรย์แบบนี้ขึ้นทั่วประเทศ ทั้งชุมชน ทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกันเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ไม่ใช่เป็นภาระของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น เราจะเปลี่ยน mindset คนทั้งประเทศเลยถ้าทำตรงนี้ได้
ถามคุณหมอปุษยบรรพ์บ้าง ในมุมของกุมารแพทย์และคุณแม่ การอ่านออกเสียงสำคัญอย่างไร
พญ.ปุษยบรรพ์: จริงๆ คุณสุดใจอธิบายได้เกือบทุกมุมแล้วนะคะ แต่เนื่องจากเราเป็นนักวิทยาศาสตร์จึงมีข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติมด้วย การสร้างคลังศัพท์สำคัญมากสำหรับการสร้างประโยค ถ้ารู้จักแต่ แมว หมา นก เราก็จะเอามาสร้างประโยคไม่ได้ เพราะไม่มีคำกริยา เราต้องมีคำหลากหลาย กว่าเด็กจะรู้ว่าหมาเห่า คนพูด ต้องใช้เวลาและต้องพูดซ้ำๆ เพราะฉะนั้น แฟลชการ์ด (flash card) ยังไงก็แทนที่หนังสือไม่ได้ เพราะแฟลชการ์ดแค่เพิ่มจำนวนคำ แต่ไม่ช่วยให้รู้ว่าตัวไหนทำหน้าที่อย่างไร
การอ่านช่วยสร้างคลังศัพท์ที่หลากหลาย ทำให้เด็กเกิดการเชื่อมโยงในสมอง และปรับให้เด็กเชื่อมโยงการอ่านกับความเพลิดเพลิน อันนี้สำคัญที่สุด
พ่อแม่ไม่ต้องคิดว่าอ่านออกเสียงเพื่อสร้างให้ลูกเป็นเด็กอัจฉริยะ แค่ให้เขารู้สึกว่าการอ่านเป็นเวลาที่มีความสุขก็พอ
สมองเด็กไวต่อความรู้สึก ถ้ารู้สึกว่าถูกคาดคั้น เขาจะตอบสนองอัตโนมัติด้วยการสู้ ถอยหนี หยุดนิ่ง ต่อให้เป็นเรื่องที่ดีแค่ไหน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำให้รู้สึกว่าถูกบังคับ เขาก็จะไม่ทำ นิทานดีแค่ไหน ถ้าเด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เขาก็จะไม่ฟัง เพราะฉะนั้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความทรงจำว่าอ่านหนังสือเท่ากับความสุข คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด
การเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วเขียนก่อนฟังหรือพูด ต้องฟังให้เกิดการเชื่อมโยงว่าคำที่เปล่งเสียงออกมาตรงกับความหมายไหน ต้องฟังมากพอสมควร ถึงจะเริ่มพูด เด็กจะเริ่มพูดในขวบปีแรกด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งคือการสร้างคลังศัพท์ สองคือการสร้างกล้ามเนื้อของลิ้นและปาก
พ่อแม่ที่อ่านหนังสือกับลูกตั้งแต่เล็กๆ พอเริ่มประมาณ 6-7 เดือน จะเห็นว่าเขาชอบทำเสียงสูงต่ำตามเสียงของแม่ แต่ไม่สามารถพูดออกมาเป็นพยางค์ที่มีความหมายได้ เป็นเพราะกล้ามเนื้อ แต่เด็กเริ่มจับแนวคิดได้แล้วว่า แม่ทำเสียงโทนสูงต่ำ บ่งบอกว่าความหมายว่าคำนี้ดีหรือไม่ดี
ช่วงขวบปีแรก เด็กจะมีพัฒนาการด้าน sensory pathways สูงมาก ได้แก่ หูฟัง ตาเห็น ผิวหนังสัมผัส ใจรู้สึก ลิ้นชิม ที่สำคัญที่สุดคือ การฟังและการมองเห็น การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจึงเป็นการนำจุดเด่นที่สุดในช่วงอายุของเด็กมาใช้งาน
การฟังนั้นไม่ใช่แค่ฟังความหมาย แต่รวมถึงลักษณะของเสียงด้วย เช่น เหน่อนิดๆ ติดสำเนียง เวลาอารมณ์อย่างนี้แม่จะออกเสียงอย่างนี้ เวลาแม่ดีใจแม่จะพูดอย่างนี้ หรือเวลาเล่นกับลูกแม่จะส่งเสียงสอง นี่คือการฟัง ต่อให้คำเดียวกันก็ไม่ได้ออกเสียงเหมือนกัน เช่น เวลาโกรธเราพูดคำว่า “บ้า” แบบหนึ่ง เวลาเขินเราก็พูดอีกแบบ นี่คือโทนเสียง เพราะฉะนั้น การอ่านออกเสียงไม่ได้ให้แค่เด็กฟังอย่างเดียว แต่คือการสื่อสารความรู้สึก
เมื่อแรกเกิด เด็กจะเหมือนสายตาสั้น 800 และมองเห็นแต่ภาพขาวดำ ระยะที่เห็นชัดที่สุดคือหนึ่งฟุต คือระยะของหน้าแม่ที่ก้มคุยด้วยตอนให้นม ธรรมชาติสร้างมาเช่นนี้ เพราะฉะนั้นช่วง 1-3 เดือน คุณแม่จะอ่านอะไรก็ได้ จริงๆ แล้วเราสื่อสารด้วยเสียง เด็กมองภาพไม่เห็น ถ้าจะเห็นหน่อยก็เป็นภาพขาวดำ
การอ่านออกเสียงจึงเป็นการใช้ความสามารถที่ดีที่สุดของสมองเด็ก เริ่มให้เรียนรู้จากโทนเสียง และยังสร้างสายสัมพันธ์ด้วย
ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง พ่อแม่จะเริ่มอ่านออกเสียงให้ลูกฟังอย่างไร
พญ.ปุษยบรรพ์: ต้องฝึกมาก่อนตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อเด็กเกิดมา ระบบประสาทรับความรู้สึกจะทำงานทันที จริงๆ ตั้งแต่ไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ เด็กจะเริ่มฝึกการใช้อวัยวะทุกอย่าง แม้จะเป็นอวัยวะที่ไม่ได้ใช้จริง เช่น การกลืน เพราะฉะนั้น ระบบประสาท ตาดูหูฟัง จริงๆ ใช้ได้ตั้งแต่ในช่วงการตั้งครรภ์ระยะสุดท้ายนะคะ
นอกจากนั้น อย่าลืมว่าระหว่างเด็กในครรภ์กับโลกภายนอกมีผนังบางๆ กั้นแค่นั้นเอง เราพูดลูกก็ได้ยิน เราเดินเข้าไปในที่มืด ลูกก็รู้ว่าห้องนี้มืด เดินเข้าไปกลางแสงแดด ลูกก็รู้ เด็กรู้ทั้งหมด
พ่อแม่เลือกอ่านหนังสือที่อยากอ่านได้เลย ตอนท้องหมออยากอ่านหนังสือชุด คินดะอิจิ เป็นเรื่องสืบสวนสอบสวน ฆาตกรรมนองเลือด แต่ไม่เป็นไร เพราะมันคือเสียงของเรา เราอยากให้ลูกได้ยินโทนเสียง อยากให้เขารู้ว่าช่วงเวลานี้ แม่นั่งอยู่กับที่ อัตราการเต้นของหัวใจแม่ช้าลง แปลว่าแม่ผ่อนคลายและอ่านหนังสืออยู่ อยากให้เด็กเชื่อมโยงความรู้สึกนี้
มีคำถามที่คนสงสัยมากคือ เด็กจะจำหนังสือที่แม่อ่านตอนท้องได้ไหม มีการศึกษาเรื่องนี้มากมาย หนังสือ Read-aloud Handbook ก็เขียนว่าเด็กจำได้ เด็กจะชีพจรช้าลงเหมือนกันเมื่อแม่อ่านหนังสือเล่มเดิม หรือฟังเพลงเดิมที่ฟังตอนตั้งครรภ์
สุดใจ: เพิ่มเติมกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมนิดนึง โครงการอ่านหนังสือให้ลูกฟังในพื้นที่ยโสธร มีคุณหมอคนหนึ่งเป็นกรรมการโครงการ คุณหมอบอกว่าคณะทำงานต้องทดลองจากของจริง จึงเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังในไตรมาสท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ ตอนที่ลูกคลอดออกมา พอลูกร้อง คุณหมอก็ท่องหนังสือที่เคยอ่านให้ลูกฟังตอนอยู่ในท้องแม่ ลูกเงียบเลยค่ะ เงี่ยหูฟังทันที แล้วพอลูกร้องต่อ คุณหมอก็อ่านอีก ลูกก็เงี่ยหูฟังทันที เห็นไหมคะว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่มหัศจรรย์จริงๆ
แล้วพอลูกเกิดมาต้องทำอย่างไร พ่อแม่ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง มีทักษะที่ต้องทำเป็นก่อนเลยไหม
พญ.ปุษยบรรพ์: การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ถ้าคุณแม่ไม่ใช่คนเล่นใหญ่ก็ไม่เป็นไร อย่างไรลูกก็ชอบเสียงของแม่มากที่สุด ต่อให้แม่อ่านเสียงโมโนโทน แต่หนังสือดีๆ จะมีคำกำกับการออกเสียงให้เราอยู่แล้ว เวลาเราพูดว่า “เขาพูดอย่างรวดเร็ว” เราก็จะอ่านเร็วขึ้นนิดนึงไปตามธรรมชาติ
อีกประเด็นคือ อย่าคิดเยอะว่าต้องอ่านหนังสือกับลูกเวลาไหน ถ้าจะอ่านก็อ่านเลย แต่ที่บอกกันว่าให้อ่านหนังสือก่อนนอน เพราะการเข้านอนนั้นเป็นนัยว่าเราทิ้งภาระทั้งหมดแล้ว เราเข้าสู่โหมดพักผ่อน คลื่นสมองในช่วงที่ร่างกายผ่อนคลายจะช้าลง เข้าสู่สมาธิ เด็กก็เช่นเดียวกับเรา ช่วงที่ร่างกายอยู่ในโหมดผ่อนคลายจะเป็นช่วงที่เรียนรู้ได้ดีที่สุด ประสาทสัมผัสจะรับสิ่งต่างๆ และเกิดการเชื่อมโยงได้สูงสุด ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้อ่านออกเสียงตอนเข้านอน แต่ถ้าเรามีภาระมากจริงๆ ไม่ได้เข้านอนกับลูก การอ่านเวลาอื่นก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน ไม่ต้องกังวลใจ
ถ้าจะเลือกหนังสือสำหรับเด็กวัยแรกเกิด เราควรเลือกเล่มไหนหรือแนวไหนอ่านให้ลูกฟังดี
สุดใจ: คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือ หนังสือเล่มที่พ่อแม่ชอบ เราเคยชอบเล่มนี้ ประทับใจเล่มนี้ ก็เลือกเล่มนี้ เพราะเราต้องทนอ่าน แล้วต้องอ่านหลายๆ เที่ยวด้วย
แต่ถ้าเลือกไม่ถูกจริงๆ ในเว็บไซต์ของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จะมีการคัดสรรหนังสือที่สอดคล้องกับทักษะสมองเด็กแต่ละช่วงวัยไว้ให้
หน้าที่ของพ่อแม่คือต้องขวนขวาย ถ้าไม่มีหนังสือจริงๆ ก็เดินเข้าไปที่ห้องสมุด ปัจจุบันบรรณารักษ์ กทม. ได้รับการอบรมเรื่องนี้ และรู้ว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะสำหรับลูกเรา
พญ.ปุษยบรรพ์: การเลือกหนังสือนั้นเกี่ยวกับพัฒนาการ วัยแรกเกิดถึง 4 เดือน เด็กตาพร่ามัว มองไม่เห็นสี ส่วนใหญ่จะนอน และความสามารถเด่นคือการพลิกตัว เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ของเด็กวัยนี้ไม่ต้องกังวล สิ่งที่เราต้องการจากเด็กวัยนี้คือแนวคิดว่านี่เป็นเวลาแห่งการอ่าน แม่ผ่อนคลาย ลูกผ่อนคลาย ได้ยินเสียงแม่ ลูกมีความสุข แค่นั้น คุณแม่จะอ่านนิตยสาร แคตาล็อกแฟชั่นก็ได้ ไม่ต้องซีเรียสกับประเภทหนังสือเลย หนังสือ Read-aloud Handbook กล่าวด้วยว่ามีแม่คนหนึ่งที่เลี้ยงลูกไปและทำวิทยานิพนธ์ไป อ่านวิทยานิพนธ์ให้ลูกฟัง
พอหลัง 4-6 เดือน เด็กเริ่มนั่งได้ คอเริ่มแข็ง แล้วก็เริ่มเห็นสี เห็นแสงแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นว่าเด็กอายุ 4-6 เดือน เวลาเห็นสีแดงจะตาโตดีใจ แล้วก็จะชอบมองภาพใหญ่ๆ ชอบมองแววตาคน เพราะฉะนั้น หนังสือหมวดแรกที่เด็กทุกคนในโลกใบนี้สนใจคือหมวดสัตว์ เพราะว่าภาพสัตว์เหมือนจ้องกลับเขามา เหมือนได้เห็นและสบตา
เด็ก 4-6 เดือนเริ่มคว้าได้แล้ว เพราะฉะนั้นแนะนำให้เลือกบอร์ดบุ๊ก (board book) เพราะเด็กชอบอม กัด คว้า ไม่ต้องเป็นหนังสือที่ซับซ้อน เป็นแค่คำก็พอ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มเพิ่มคลังศัพท์
พอเริ่ม 6 เดือนถึง 1 ขวบ เด็กจะเริ่มแสดงอาการบางอย่างว่าเขาโปรดปรานหนังสือเล่มนี้ ช่วงนี้เด็กมีความสามารถใหม่คือการเคลื่อนที่ พ่อแม่เด็กวัยนี้จึงมักจะโอดครวญว่าทำไมลูกไม่นอนฟังเหมือนตอน 3 เดือน นั่นเพราะเด็กต้องการใช้ความสามารถใหม่ ต้องการคลาน แต่การคลานไม่ได้หมายความว่าไม่ฟัง หน้าที่ของเราคืออ่าน ไม่ต้องคิดมาก การอ่านออกเสียงมีอารมณ์ ความรู้สึก ถ้าเขารู้สึกว่าช่วงไหนตื่นเต้นจังเลย เขาจะกลับมาหาเรา
เวลามีคนมาขอในเพจ “หมอแพมชวนอ่าน” ให้เลือกหนังสือให้เด็กอายุ 1 ขวบเป็นต้นไปให้หน่อย หมอตอบยากมากเลย เพราะว่าเด็กที่อ่านตั้งแต่แรกเกิด กับเด็กที่แม่เพิ่งจะมาอ่าน เมื่ออายุหลัง 1 ขวบ จะมีช่องว่างด้านคำศัพท์กว้างมาก
มีการศึกษาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ส่งนักวิจัยไปสังเกตการณ์เด็กตั้งแต่อายุประมาณ 1-4 ขวบ โดยบันทึกการพูดคุย และอ่านออกเสียงโดยพ่อแม่ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง จนกระทั่งเด็กอายุ 4 ขวบ เมื่อวัดผลแล้วปรากฏว่าเด็กที่พ่อแม่เริ่มอ่านออกเสียงต่างช่วงเวลากัน มีช่องว่างด้านคำศัพท์ถึง 30 ล้านคำ
ถ้าคิดว่าเดี๋ยวส่งลูกเข้าไปในระบบโรงเรียน โรงเรียนจะแก้ช่องว่าง 30 ล้านคำให้ได้ จริงๆ คือไม่ ยิ่งเข้าโรงเรียน ช่องว่างยิ่งกว้าง เพราะเด็กจะเข้าใจสิ่งที่ครูพูดก็ต่อเมื่อมีประสบการณ์เดิมเรื่องนั้นอยู่แล้ว เด็กที่อ่านหนังสือกับแม่บ่อยๆ เมื่อครูอ่าน เขาจะเชื่อมโยงได้ทันที ส่วนเด็กวัย 1-10 ขวบที่ไม่เคยอ่านเลย อาจจะจับความหมายได้เพียงคำที่สอง สี่ หรือหกได้ ช่องว่างจึงยิ่งกว้าง เพราะฉะนั้น เมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านต้องเริ่มต้นที่บ้านเท่านั้น
มีงานวิจัยหนึ่งใช้ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ตรวจสอบสมองเด็กอายุประมาณ 4-5 ขวบ ในประเทศอังกฤษ นักวิจัยไปสังเกตการณ์ว่าบ้านนี้อ่านหนังสือกับลูกมากน้อยแค่ไหน แล้วให้เกรด เช่น เกรดเอคืออ่านเยอะ แล้วใช้ MRI กับเด็กแต่ละกลุ่ม เพื่อดูกลไกของสมองขณะที่ครูอ่านนิทานให้ฟังในระยะเวลาเดียวกัน ผลคือน่าตกใจมาก จากในภาพ บริเวณสีแดงนั้นเกิดขึ้นเวลาสมองทำงาน เกิดคลื่นสมองและการเชื่อมโยง เราจะเห็นว่าภาพฝั่งหนึ่งมากกว่าอีกฝั่งหนึ่งอย่างชัดเจน ฝั่งซ้ายคือเด็กที่อ่านหนังสือบ่อยๆ เมื่อครูอ่านให้ฟังเด็กก็จะเกิดความเชื่อมโยง ขณะที่อีกฝั่งเป็นเด็กที่ได้อ่านหนังสือน้อย นี่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้แทบไม่ต้องพูดเลยว่าทำไมต้องอ่านให้เด็กฟัง
ขยับไปเป็นช่วงเด็กประถม หรือโตขึ้นมาหน่อย เด็กเริ่มมาอยู่กับครูแล้ว เป็นช่วงสร้างคาแรกเตอร์ เราจะมีวิธีการเลือกหนังสือหรืออ่านออกเสียงกับเด็กวัยนี้อย่างไร
สุดใจ : ในกลุ่มนักเขียนเด็กจะมีหลักการง่ายๆ คืเด็กวัย 0-3 ขวบยังชอบภาพขาวดำ มีหนังสือภาพอมตะระดับโลกหลายเล่มมีภาพขาวดำ เหมาะกับเด็กวัยนี้ แต่ง่ายที่สุดคือเลือกหนังสือที่มีคำน้อย มีจังหวะคำคล้องจอง หรือคำกลอน คล้ายเสียงดนตรี จะชักจูงเด็กวัยนี้ได้ง่าย เด็กวัยนี้ต้องการคำไม่มาก เพื่อบันทึกร่องรอยความจำซ้ำๆ หากว่าตามภาษา EF (executive functions) ก็คือการพูดคุย หรือการอ่านออกเสียงให้ฟัง จะช่วยพัฒนาสมองส่วนหน้า สร้างความทรงจำใช้งาน (working memory) ความจำ ไปจนถึงสมาธิให้กับเด็กวัยนี้ เรื่องใกล้ตัวที่เด็กเห็นอยู่รอบตัวเป็นทัพหน้าของการเรียนรู้ และควรอยู่ในหนังสือสำหรับเด็กเล็กๆ
หลังจาก 5-6 ขวบไปแล้ว อาจเริ่มอ่านเรื่องจินตนาการและเทพนิยาย จากนั้นเราสามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ไปจนโต โดยเติมเนื้อหาเข้าไปมากขึ้น อาจจะอ่านกวีหน้าเดียวกับลูกวัยรุ่นแล้วพูดคุยกับเขา
ช่วงอายุ 9-12 ปีน่าสนใจมาก หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ให้ความสำคัญมากว่าพ่อแม่ทุกบ้านควรเปิดโอกาสให้ลูกอ่านการ์ตูน การที่เด็กอ่านการ์ตูนจะเป็นช่วงก้าวกระโดดจากการอ่านให้ฟังสู่การอ่านด้วยตัวเอง
ดิฉันเคยทำโครงการอ่านสร้างสุขในโรงเรียน โดยให้เด็กนักเรียนคัดเลือกหนังสือเอง เป็นทูตการอ่านในโรงเรียนเอง ออกแบบการส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนเอง ออกไปซื้อหนังสือที่เพื่อนๆ อยากอ่านด้วยการโหวตเอง เพื่อกลับมาทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ผ่านไปปีเดียว ระดับคะแนน O-NET และ A-NET เพิ่มขึ้นทั้งโรงเรียน
พญ.ปุษยบรรพ์: ในหนังสือ Read-aloud Handbook ก็มีตัวอย่างเรื่องการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) ด้วย PISA เป็นข้อสอบสำหรับเด็กอายุ 15 ปี ซึ่งมีคำถามเชิงจิตวิทยาให้เด็กตอบก่อน มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้คะแนนระดับต้นๆ คือเด็กที่อยู่ชายขอบ บ้านยากจน ทำไมเด็กที่ดูเหมือนทุกอย่างไม่พร้อมเลย บ้านก็จน โรงเรียนก็ไม่ดัง กลับสอบได้คะแนนระดับต้นๆ
เมื่อย้อนกลับไปดู ปรากฏว่าสาเหตุนั้นเกี่ยวกับการอ่านหนังสือที่บ้าน ตอกย้ำเรื่องที่หมอพูดไป ว่ามีช่องว่างที่เราไม่สามารถเติมเต็มได้ถ้าเด็กไม่ได้สร้างที่บ้าน หากเด็กไม่ได้สร้างความรู้หรือความทรงจำพื้นฐานตั้งแต่ที่บ้าน การเรียนในห้องเรียนก็ยิ่งยากขึ้น อย่าลืมว่าการอ่านไม่ใช่แค่การอ่าน แต่เป็นการใส่ประโยคสัญลักษณ์เข้าไปสู่สมอง สมองต้องการการตีความ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีเรื่องนั้นอยู่ในหัวสมองแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้น การอ่านออกเสียงจึงเปรียบเหมือนการใส่ข้อมูลลงไปในสมองลูก เพื่อให้เขาพร้อมเผชิญและต่อยอดในชีวิตจริง
เหมือนที่คุณสุดใจบอกว่าเด็กๆ อ่านหนังสือแค่ปีเดียว O-NET ก็เพิ่มขึ้น ผลสอบ PISA ก็พิสูจน์มาแล้วว่าไม่ต้องมีอะไรเลย ไม่ต้องมีฐานะดี ไม่ต้องเข้าโรงเรียนติว เพียงแค่พ่อแม่ใส่ใจและอ่านหนังสือให้ฟังเท่านั้นเอง
สุดใจ: เวลาพูดถึง PISA กลายเป็นว่าทุกคนจะตื่นตัวแค่ว่าจะทำอย่างไรให้คะแนนสอบ PISA ดี แต่ไม่รู้ว่านัยยะเขาทำขึ้นมาคือเพื่อพยากรณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศนั้นๆ จะประสบความสำเร็จในการยกระดับเศรษฐกิจทั้งประเทศหรือไม่ มันไปไกลถึงตรงนั้น แล้วเขาก็มาค้นพบความลับว่าเราต้องกลับไปอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดถึง 12 ปี
ถ้ารู้ความลับตรงนี้แล้ว ทุกครอบครัวควรมีหนังสือเป็นปัจจัยแวดล้อม แล้วลุกขึ้นมาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง อย่าไปรอ 4,800 ชั่วโมงในโรงเรียน เวลานั้นมาชดเชยไม่ได้เลย
ต่อให้โรงเรียนมีมาตรการอะไรก็ตาม ยกเว้นว่าโรงเรียนนั้นให้ครึ่งหนึ่งของเวลาเรียนเพื่ออ่านและถกเถียงพูดคุยกัน
หนังสือ Read-aloud Handbook เสนอหลักการง่ายๆ เพื่อวางรากฐานการอ่าน โดยทำให้หนังสือเป็นปัจจัยแวดล้อมที่บ้าน หลักการนั้นคือ “3B” ข้อหนึ่งคือที่บ้านต้องมีหนังสือ (book) ข้อสองมีตระกร้าหนังสือ (book basket) เพื่อใช้จัดมุมหนังสือที่หลากหลายและกระจายไปทุกมุมบ้าน ข้อสุดท้ายเป็นแบบฝรั่ง คือมีไฟที่หัวเตียง (bed lamp) เพื่อจัดเวลาอ่านก่อนนอน เมื่อร่างกายคลี่คลาย และจิตใจสงบ
หัวใจสำคัญที่หนังสือเล่มนี้พูดคือการอ่านนำไปสู่ HQ คือ heart quotient หนังสือมีความเป็นวรรณกรรม เป็นกระบวนการเล่าเรื่องที่ให้ทักษะชีวิต ประสบการณ์ชีวิต ทำให้คนที่ผ่านกระบวนการแบบนี้เข้าใจความเป็นมนุษย์ สิ่งที่จะทำให้ลูกของเราเข้มแข็ง รู้จักความเป็นมนุษย์ เข้าใจภาวะภายในของตนเอง พร้อมกับเรียนรู้โลกรอบตัว ก็คือการอ่านออกเสียงให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กๆ ลูกจะเรียนรู้ประสบการณ์ เห็นชีวิตของคนอื่นๆ เห็นแนวทางการแก้ปัญหา หลายเรื่องเราก็ไม่สามารถสอนหรือบอกลูกได้ แต่ในหนังสือมี
หนังสือ Jim Trelease’s Read-aloud Handbook บอกว่าเราสามารถอ่านออกเสียงไปพร้อมๆ กับลูกวัยรุ่นได้ เราจะตั้งต้นอย่างไร ให้เขาเป็นคนเลือกหนังสือเอง หรือว่าเราเลือกให้ และควรมีบรรยากาศในการอ่านออกเสียงร่วมกันอย่างไร
พญ.ปุษยบรรพ์: วัยรุ่นในยุคที่เข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ทุกคนชอบอะไรก็จะมีคนอีกหลายพันคนในโลกนี้ชอบ เขาจะรู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว แล้วลูกเราอาจจะชอบอะไรที่ unique หรือ niche มากๆ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงหาเรื่องไปเชื่อมโยงกับลูกยาก
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วยเราสร้างสร้างหัวข้อร่วมที่เอาไว้คุยกับลูก ได้แสดงความคิดเห็นกัน เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน หมอคิดว่าวิเศษมากเลยถ้าอ่านหนังสือกับลูกวัยรุ่นได้ เราอาจจะไม่ได้รู้เรื่องของลูกทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ ก็มีจุดที่เรากับลูกสนใจเรื่องเดียวกัน แล้วสามารถเอาเรื่องนี้แตกยอดไปคุยกับเขา เพราะว่าหนังสือมีตัวละคร ความรู้สึก เหตุการณ์ หรืออุปสรรคอะไรบางอย่างที่นำไปสู่การพูดคุย
สุดใจ: ถ้าแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ ลูกจะมีประสบการณ์อ่านเยอะ เจอหนังสือหลากหลาย เขาก็จะมีโอกาสเลือกทิศทางการอ่านของเขาได้เร็ว เด็กบางคนไม่สนใจวรรณกรรม แต่กระโดดไปอ่านงานสารคดีเลย นั่นอาจจะเป็นทางของเขา
เรามีหน้าที่เป็นสะพานให้เขา โดยเลือกสรรเรื่องที่ดีที่สุด ที่เราคิดว่างดงามที่สุด หลากหลายที่สุด แต่ถ้าไม่มีหนังสือ ก็พาลูกไปที่ห้องสมุดได้ ให้เขามีประสบการณ์ตรง โดยเลือกหนังสือเอง
ในส่วนของคนทำงานด้านการอ่าน เป็นคุณแม่ และเป็นประชาชนด้วย อยากให้มีนโยบายอะไรมาสนับสนุนเรื่องการอ่านบ้าง
สุดใจ: เราเคยต่อสู้รณรงค์ให้เกิดวาระการอ่านแห่งชาติ พอเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็นิ่ง เราพยายามจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการอ่านระดับชาติ แต่ก็ล้มภายในพริบตา ก็ยังทู่ซี้ทำกันมา ต้องขอบคุณ สสส. ที่พยายามให้เราฮึดสู้ในเรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านปี 2561-2564 ไปเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย ซึ่งปัจจุบันยังใช้อยู่
เรามีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่ สสส. ไปจุดประกายไว้ หรือโครงการอื่นๆ ที่ทำงานกับส่วนท้องถิ่น แต่ก็ได้แค่นั้น เพราะเราไม่มีงบประมาณ ต้องขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่พยายามยกตัวอย่างให้เห็นโครงการง่ายๆ ของต่างประเทศที่เขาพยายามรณรงค์ ลุกขึ้นเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
ตอนที่เราไปเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วยเรื่องการอ่าน ทุกคนงงมาก การอ่านเกี่ยวข้องกับสุขภาพได้อย่างไร เราก็เอางานวิจัยที่พูดถึงสมองไปให้ฟัง สิบกว่าปีที่ผ่านมาพัฒนาการเด็กล่าช้าตลอด ทุกกระทรวงทำอะไรกับตรงนี้บ้าง ไม่เคยแก้ปัญหาได้เลย
เราเคยมีโครงการดีๆ หลายอย่าง เช่น Bookstart แต่หลายโครงการไม่ต่อเนื่อง และความรู้ทางการแพทย์ไปไม่ถึงไหน หนังสือยังค้างอยู่ในโรงพยาบาลหลายที่เลยนะ สิบกว่าปีแล้วยังแจกไม่หมด ถ้าเราอยากให้พ่อแม่ใช้หนังสือเป็น เราก็แจกหนังสือความรู้เรื่องการอ่านออกเสียงไปด้วย เช่น Read-aloud Handbook เล่มนี้
เด็กอายุ 0-2 ขวบอยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุข แต่สาธารณสุขก็มีปัญหาเพราะซื้อหนังสือไม่ได้ เรื่องหนังสือเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ นี่เป็นข้อจำกัด
พอเด็กอายุ 2 ขวบครึ่ง ทำยังไงให้เด็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัย ครูศูนย์เด็กเล็กต้องมีความรู้ตรงนี้ ต้องมีชั่วโมงการอ่านช่วยที่บ้านเด็ก ถ้าที่บ้านทำไม่ได้ ศูนย์เด็กเล็กต้องเป็นกลไกสำคัญ หลายพื้นที่เราใช้ อสม. สาขาแม่และเด็กลงไปอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ตอนนี้กำลังงอกงามหลายที่
สิ่งเหล่านี้ทำไม่ยากเลย ลงทุนน้อยมาก หลายคนบอกว่าหนังสือเด็กแพง ใช่ แต่บอร์ดบุ๊กหนึ่งเล่มใช้นานมากเลยนะ บางคนงงว่า หนังสือเปิดมาไม่มีคำเลย มีอยู่คำสองคำ ไม่คุ้ม ไม่มีใครซื้อ กว่าจะทำความเข้าใจได้ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี แต่ถ้าเรามีนโยบาย แคมเปญต่างๆ เหล่านี้ก็ทำได้
พญ.ปุษยบรรพ์: หมอขอพูดในเชิงภาคประชาชนนะคะ จุดแข็งของคนไทยจากการสำรวจของกูเกิลล่าสุดคือเราใช้เวลาในโซเชียลมีเดียมากที่สุดในโลก หมอก็เป็นคนหนึ่งที่ผลิตเนื้อหาในเพจเฟซบุ๊ก หมอคิดว่าผู้ฟังอยู่ที่ไหน เราก็ต้องกระจายไปอยู่ตรงนั้น ต้องเข้าหาผู้ฟัง
ต้องเล่าย้อนนิดนึง จริงๆ หมอเองไม่ใช่คนมีคุณวุฒิหรือเป็นคนดัง แต่อยากมีเวทีเพราะคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ หมอก็เลยเปิดเพจ “หมอแพมชวนอ่าน” ขึ้นมา เป็นเพจไม่แสวงหาผลกำไร ใครอยากอ่านก็เข้าไปอ่านได้ หมอรู้สึกว่าแม้เป็นเพจเล็กๆ แต่ก็ทำให้เห็นพลังบางอย่างในตัวพ่อแม่ คนที่เข้ามาก็เป็นคนที่รักการอ่าน และเข้าใจว่าเพจนี้พูดถึงอะไร
หมอรู้สึกว่าถ้า top-down ไม่ได้ ก็ขึ้นไปจากข้างล่างแล้วกัน ให้ปัจเจกทำ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน คุณสุดใจมาจากข้างบนลงข้างล่าง หมอก็มาจากข้างล่างขึ้นข้างบน หวังว่าจะมาบรรจบกัน แล้วทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญว่าการอ่าน ไม่ใช่แค่การอ่านนิทานเพื่อความสนุก แต่คือทั้งชีวิตของลูกเราที่จะเติบโตไป มันคือแก่นของความรู้
ในวันงานเสวนา นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ฝากข้อความผ่านทางคุณทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ผู้ดำเนินรายการ ในประเด็นเรื่องการอ่านออกเสียงว่า “ไม่ว่าจะจนแค่ไหน ไร้การศึกษาเท่าไร ถ้าอ่านหนังสือออกก็คืออ่าน ไม่ต้องมีลูกเล่น ไม่ต้องฉลาด ไม่ต้องสอน แค่อ่านเท่านี้สมองก็เปลี่ยน ขอเพียง 30 นาที เข็มยาวเดินหกช่อง จบ เพราะการอ่านเป็นวิธีสู้ที่ง่ายที่สุดของคนยากจน เพื่อไม่ส่งต่อความยากจนต่อไป”