‘ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค’ ปลูกฝัง Growth Mindset เพื่อความสำเร็จของเด็กทุกคน

 

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง

ภาพ: eef.or.th และ the101.world

 

มีเด็กไทยกว่า 670,000 คนหลุดออกจากระบบการศึกษาโดยสาเหตุหลักมาจากความยากจน และขณะที่เด็กจากครอบครัวมีฐานะทางการเงินดีมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ กลับมีเด็กจำนวนไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์จากครอบครัวยากจนที่มีโอกาสศึกษาต่อ นี่คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เด็กไทยหลายคนต้องเผชิญ ปัญหาที่มีมานานคู่สังคมไทยอาจต้องการทางออกใหม่ ผ่าน “ชุดความคิดใหม่” เข้ามาช่วย

เอริก เจนเซน ผู้เขียนหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน ฉบับแปลโดยสำนักพิมพ์ bookscape ได้นำเสนอวิธีที่จะช่วยทั้งครูและนักเรียนให้ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการนำวิธีคิดใหม่มาใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หนึ่งในผู้ที่อยากเห็นความเท่าเทียมทางการศึกษาเกิดขึ้นในประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จากการทำวิจัย ชวนเรามองภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน และเสนอแนวทางลดช่องว่างทางการศึกษานี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนพัฒนาและก้าวสู่ความสำเร็จได้

 

หากมองถึงความเร่งด่วน ควรแก้ไขปัญหาใดเป็นอันดับแรกๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เรื่องงบประมาณเป็นปัญหาหนึ่งที่มีมานานแล้ว และทางกระทรวงศึกษา หรือหลายภาคส่วน ในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็น GPRI (Global Policy Research Institute) ธนาคารโลก หรือองค์กรต่างๆ ได้ทำวิจัยไว้มากมายว่าระบบการศึกษามีความผิดพลาดใดบ้าง หรือสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร

อีกประเด็นที่อาจพูดถึงก็คือเรื่องความไม่เสมอภาคในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส เด็กที่อาจออกนอกระบบ เด็กที่มีความเสี่ยงที่จะออกนอกระบบการศึกษา หรือเด็กกลุ่มยากจนเป็นพิเศษ ซึ่งความเป็นจริงแล้วอาจเป็นเด็กที่มีความต้องการเรียนหนังสือ แต่ไม่สามารถเรียนต่อได้เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ เช่น เรื่องฐานะทางบ้าน หรือปัญหาต่างๆ ของครอบครัว ซึ่งเป็นอีกปัญหาใหญ่ของสังคมไทยนอกเหนือจากเรื่องคุณภาพการศึกษาทั่วไป

คิดว่าปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงคือการที่เด็กบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้และหลุดออกไป หรือแม้กระทั่งเขาอยากจะเรียนแต่ไม่ได้เรียน

 

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

กรณีประเทศไทย จากข้อมูล PISA (โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ Programme for International Student Assessment) ปี 2018 ที่ผมเพิ่งทำประมาณ 2-3 เดือนที่แล้ว เราสามารถนำผลสอบ PISA มาเปรียบเทียบกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าสอบ พบว่าน่าสนใจมาก เพราะเมื่อก่อนเรามักพูดกันว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรองจากจีน อินเเดีย รัสเซีย แต่ไม่ค่อยมีคนดูเรื่องการศึกษามากนัก

พอเห็นผล PISA และผลสำรวจต่างๆ ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมาก คืออยู่ระดับเดียวกับประเทศแถบลาตินอเมริกา อย่างชิลี เปรู โคลอมเบีย คอสตาริกา ที่ถือว่ามีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำรุนแรง

เรายังพบว่าประเทศไทยมีการแบ่งแยกของโรงเรียนระหว่างเด็กที่ร่ำรวยกับเด็กที่ยากจนสูงมาก โรงเรียนที่มีชื่อเสียง โรงเรียนที่มีเศรษฐฐานะดีในระดับจังหวัดหรือในเมืองใหญ่ๆ นักเรียนก็เป็นลูกหลานคนในเมืองหรือข้าราชการ ถ้าเป็นโรงเรียนที่ยากจน คนยากจนก็จะเรียนแต่โรงเรียนลักษณะเดียวกัน แล้วพอเราดูไปถึงเรื่องทรัพยากรที่แตกต่าง ก็จะพบว่าระหว่างโรงเรียนใหญ่ที่มีคนรวยกับและโรงเรียนเล็กที่มีคนจน ก็มีความแตกต่างของทรัพยากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อันนี้เป็นข้อค้นพบอย่างหนึ่งที่น่าตกใจพอสมควร

 

มีแนวทางใดจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้

มีแนวคิดหลายอย่างในอดีตที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ อย่างเช่น พูดถึงการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่เพื่อให้มีความยุติธรรมมากขึ้น ตอนนี้โรงเรียนใหญ่ได้เปรียบโรงเรียนเล็กเพราะได้งบประมาณต่อหัวเด็กเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายตัวที่ดีนักของโรงเรียนต่างๆ หรือบางคนอาจมองว่าควรสนับสนุนเงินเพิ่มเติมให้กับเด็กกลุ่มยากจนเป็นพิเศษ ยิ่งกว่าเด็กที่ฐานะปกติ นี่ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งระหว่างกลุ่มแนวคิด universal และกลุ่มแนวคิด targeting ที่บางครั้งอาจขัดแย้งกันอยู่บ้าง

อีกอย่างที่ผมคิดว่าสามารถทำได้คือการลงทุนในระบบติดตามเด็กที่มีความเสี่ยงจะออกนอกระบบอย่างที่ตัวเลขที่สภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) รายงานว่าเด็กไทยอาจออกนอกระบบประมาณ 600,000-700,000 คน อันที่จริง ตัวเลขออกนอกระบบไม่ค่อยนิ่งเท่าไร แต่พออนุมานได้ว่าอยู่ที่ราว 600,000-800,000 คน บางสำนักก็อาจคาดการณ์ไปถึงหนึ่งล้านคนก็มี

เพราะฉะนั้นระบบที่เราควรลงทุนคือเรื่องการติดตามเด็กที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่เสี่ยงจะออกนอกระบบหรือออกนอกระบบไปแล้ว ทำอย่างไรให้เขากลับไปเข้าระบบการศึกษา หรือถ้าเขาไม่กลับไปเข้าระบบจริงๆ ก็พยายามหาวิธีการฝึกอาชีพ หรือใช้การฝึกทักษะอะไรให้กับเขา

อย่าง กสศ. เราก็มีหน่วยงานภายในที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเด็กนอกระบบกับพื้นที่ คือทำกับระดับจังหวัด ร่วมมือกับหน่วยงานระดับจังหวัดต่างๆ ทั้งกระทรวงศึกษาฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือสภาการศึกษาจังหวัด เราต้องไปเอารายชื่อเด็กที่ตกหล่น และพยายามไปตามหาว่าเขาออกจากโรงเรียนเพราะอะไร เขามีปัญหาอะไรจึงไม่เข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียน

 

มีประสบการณ์จากการไปติดตามเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาอย่างไรบ้าง

ผมเคยร่วมติดตามการทำงานกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้ก็ได้พบกรณีที่หลากหลาย อย่างง่ายๆ ก็คือ โดยทั่วไป เด็กไม่มีเงิน ครอบครัวยากจน พ่อแม่เขาไม่ได้เห็นความสำคัญของการศึกษา จึงเอาลูกออกจากโรงเรียน หรือบางกรณี เด็กติดหนี้โรงเรียนเอกชนตอน ป.3 ประมาณ 30,000 บาท เพราะครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงย้ายไปเรียนโรงเรียนรัฐบาล พอจบ ป.6 แล้ว โรงเรียนรัฐบาลไม่สามารถออกใบจบ ป.6 ได้ เพราะไม่มีใบรับรองจากโรงเรียนเก่า เงินประมาณ 30,000 บาททำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนถึงสามปี ไม่สามารถเรียนต่อ ม.1 ได้ ก็ต้องไปทำหมูปิ้งขาย ซึ่งน่าเห็นใจมาก

ผมมองว่าไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว นอกจากนั้นก็จะมีปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเราก็จะเห็นความหลากหลายค่อนข้างมาก

มีอีกประเด็นเรื่องปัญหาเด็กนอกระบบ เป็นกรณีที่บางครั้งพอเด็กออกจากโรงเรียนไปแล้ว การที่เราจะให้เขากลับไปเรียนอีกครั้งเป็นเรื่องยาก เราพยายามให้หลายคนกลับไปโรงเรียน แต่พอออกไปแล้ว เขาจะไม่อยากกลับไปด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง อาจจะทางจิตวิทยา หรืออายเพื่อน หรืออาจกดดันอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยอยากกลับเท่าไร

เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือทำอย่างไรที่จะประคับประคองไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ออกนอกระบบให้ได้ โดยกระบวนการก็สามารถทำได้หลายอย่าง ไม่ว่ากระบวนการด้านงบประมาณต่างๆ หรือใช้องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ หรือส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมต่างๆ คอยช่วยเหลือกัน

 

มีวิธีป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาหลังจากสถานการณ์โควิด 19 อย่างไร

หลังจากการแพร่ระบาดโควิดก็เริ่มมีความกังวลว่าจำนวนเด็กที่จะหลุดออกจากระบบจะมีมากขึ้น เป็นแนวโน้มทั่วโลกเลย และมีแนวคิดอย่างหนึ่งที่เราคิดกันก็คือว่า ควรจะมีกลุ่ม อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ทางการศึกษา เหมือน อสม. ทางสาธารณสุขที่คอยดูแล ตรวจตราสอดส่องคนที่มีโอกาสจะเป็นโรค

มีแนวคิดว่าจะนำ อสม. ทางการศึกษาไปคอยดูแลว่าบ้านไหน ครอบครัวไหนมีเด็กตกหล่น หรือมีปัญหาทางการศึกษา สามารถเข้าไปช่วยตรงไหนได้ไหม สามารถเข้าไปเสริมตรงไหน ขาดทรัพยากรอะไร ถ้าเรามีระบบอย่างนี้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะป้องกันปัญหาเด็กออกนอกระบบได้

 

แนวคิด growth mindset จะประสบความสำเร็จได้อย่างไรในบริบทต่างๆ

แนวคิดเรื่องของ growth mindset เป็นแนวคิดที่เพิ่งได้รับความสนใจในช่วงหลังๆ อาจจะไม่นานมาก เป็นงานวิจัยโดยนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อธิบายสั้นๆ ก็คือถ้าคนเราเชื่อว่าความสามารถหรือสติปัญญาของตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความคิดนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาสามารถพัฒนาตนเอง แล้วก็พาตัวเองไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า growth mindset

แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดว่าเด็กหรือใครก็ตามคิดว่าตัวเองสติปัญญาคงที่ ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว ชีวิตเขาโดยทั่วไปก็จะดำเนินไปโดยสุดท้ายแล้วเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก เพราะฉะนั้นจึงมีแนวคิดว่าคนที่มีแนวคิดแบบ growth mindset จะพัฒนาตนเองได้ดีกว่า อันนี้ก็รวมไปถึงทางนักการศึกษาหรือนักเรียนและครูด้วย

อย่างในหนังสือ “สอนเปลี่ยนชีวิต” เล่มนี้ก็จะมีส่วนที่กล่าวถึง growth mindset ซึ่งมีแนวคิดที่คล้ายๆ กันบ้าง เช่น เรื่องจิตวิทยาเชิงบวก หรือเรื่องการมีความเพียรพยายาม (grit) คือการที่สามารถกัดฟัน อดทนฝ่าฟัน ต่อสู้อุปสรรคหรือมีลักษณะของ resilience คือเมื่อพบสิ่งที่ทำให้ตัวเองต้องล้มไปแล้วก็จะสามารถลุกขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

ในเรื่อง growth mindset มีประเด็นน่าสนใจที่งานวิจัยระดับนานาชาติมีการศึกษาว่า growth mindset ของคนจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม หรือเมื่อนักเรียนได้รับการอบรมให้มี growth mindset เพิ่ม สุดท้ายแล้วจะทำให้ผลการเรียนของเขาดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

 

 

มีแง่มุมใดที่สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิด growth mindset มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ

งานวิจัยหลายชิ้นในช่วงหลังๆ ค้นพบว่า เราสามารถฝึกฝนให้เกิด growth mindset ได้ กระทั่งทำให้เปลี่ยนทัศนคติได้ หากได้รับการฝึกฝนที่ดีพอ มีงานศึกษาที่ไปสอบถามนักเรียนในประเทศต่างๆ ที่มีการสอบ PISA ว่าเชื่อว่าความสามารถของตนจะเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน แล้ววัดออกมาเป็นระดับ growth mindset

กรณีของประเทศไทย มีการแบ่งเด็กเป็นหลายๆ กลุ่ม เด็กที่มีเศรษฐฐานะดีที่สุดกับเด็กที่ยากจนที่สุด ก็พบว่า growth mindset อาจมีความสัมพันธ์กับเศรษฐฐานะบ้างเช่นกัน เช่น เด็กที่ฐานะดีที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์บนสุดมี growth mindset สูงถึงประมาณ 59 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเด็กที่มีเศรษฐฐานะต่ำสุดที่มีระดับ growth mindset เพียง 35 เปอร์เซ็นต์

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในงานวิจัยพูดถึงกลุ่มที่เป็นกลุ่มเด็กช้างเผือก หรือเด็กยากจนที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์ในเด็กไทยทั้งหมด แต่สามารถทำคะแนนได้ดี มีข้อค้นพบที่น่าสนใจในเด็กกลุ่มนี้ว่า แม้ว่าเด็กจะมีฐานะยากจนหรืออยู่ในกลุ่มที่มีเศรษฐฐานะระดับล่าง พ่อแม่มีการศึกษาน้อย แต่ถ้าเขามีระดับ growth mindset ที่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเองหรือว่าได้รับการอบรมโดยวิธีการต่างๆ เด็กกลุุ่มนี้ก็จะสามารถพัฒนา growth mindset ได้ และทำให้ตนเองมีคะแนนสอบหรือมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นได้

เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ เราจะเห็นว่าประเทศไทยมีระดับ growth mindset ที่ไม่สูงมากนัก ค่าเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเด็กไทย 43 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าความสามารถของตน สติปัญญาของตนสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ที่ประมาณ 63 เปอร์เซ็นต์

 

ค่าเฉลี่ย growth mindset ของเด็กอาจไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อะไรทำให้เกิดความแตกต่างนี้

ถ้าไปดูประเทศที่เปิดให้เด็กมีความคิดเติบโตมากหน่อย เช่น ประเทศทางเอสโตเนีย growth mindset อยู่ที่ 77 เปอร์เซ็นต์ หรือเดนมาร์ก 75 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ หรือประเทศแถบสแกนดิเนเวียอื่นๆ ก็มีค่า growth mindset ถึง 67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่าสนใจและน่าตั้งคำถามต่อไปว่า เป็นเพราะแนวทางการศึกษาของประเทศต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันหรือไม่ที่ทำให้เด็กมี growth mindset ต่างกัน หรืออาจเป็นเรื่องของวัฒนธรรม จารีตประเพณีของแต่ละประเทศหรือแต่ละวัฒนธรรมท้องถิ่น

ในแถบเอเชีย แถบเพื่อนบ้านเราเป็นกลุ่มที่ growth mindset ไม่สูงมากนัก เช่น มาเลเซีย ตัวเลขน้อยกว่าไทย ขณะที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เวียดนาม มี growth mindset ไม่เยอะมาก อาจเป็นไปได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน

พอมาดูเรื่องของ growth mindset กับคะแนนสอบผลสัมฤทธิ์ระดับนานาชาติ ก็น่าสนใจ มีกราฟแสดงถึงประเทศที่มีระดับ growth mindset กับผลสัมฤทธิ์ระดับนานาชาติว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ก็พบความสัมพันธ์ในเชิงบวกว่ายิ่งประเทศใดที่ค่าเฉลี่ยของเด็กที่มี growth mindset สูง เด็กกลุ่มนั้นหรือประเทศนั้นๆ ก็จะมีคะแนนผลสัมฤทธิ์โดยเฉลี่ยค่อนข้างสูงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ฟินแลนด์ เอสโตเนีย เดนมาร์ก แคนาดา ซึ่งระดับของ growth mindset ค่อนข้างดี คะแนนสอบเขาก็จะดี แต่อย่างประเทศทางกลุ่มล่างๆ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มี growth mindset น้อย และคะแนนสอบก็น้อย

 

เป็นไปได้ไหมที่เด็กจะทำคะแนนสอบได้ดี แม้จะมี growth mindset ไม่มากนัก

ตามสถิติแล้วเป็นไปได้ อย่างประเทศกลุ่มทวีปเอเชีย หรือเอเชียตะวันออก เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า เป็นประเทศที่มีคะแนนค่อนข้างดี แต่ growth mindset กลับไม่สูงมากนัก ซึ่งก็มีคำอธิบายหลายๆ อย่าง จะพบว่า growth mindset นั้นสัมพันธ์กับคุณลักษณะบางอย่าง เช่น ความสัมพันธ์กับแรงจูงใจในการจะประสบความสำเร็จในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือเรื่องการตระหนักในความสามารถของตนก็มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ growth mindset รวมถึงการมีเป้าหมายในชีวิต หรือการเห็นคุณค่าของโรงเรียน เหล่านี้ก็เป็นคุณสมบัติที่ส่งเสริมกัน

อีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ growth mindset กับ fear of failure (ความกังวลหรือกลัวความล้มเหลว) สองสิ่งนี้เป็นกรณีตรงข้ามกัน นี่ก็น่าสนใจในแง่ที่ว่าบางประเทศมี growth mindset สูง ได้คะแนนสูง แต่เด็กจะกังวลว่าจะล้มเหลวสูง ส่วนใหญ่คือประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น สิงคโปร์และไต้หวัน

มีคำอธิบายว่าในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก แม้ว่าเด็กทำคะแนนได้ดี สามารถเรียนในระบบ ขยัน ตั้งใจเรียน แต่เขาไม่ค่อยกล้าที่จะคิดริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ต่างจากเด็กทางยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือในประเทศตะวันตก ซึ่งประเทศกลุ่มนั้นส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด มีความคิดริเริ่มมากกว่า อาจเป็นไปได้ที่วัฒนธรรมเป็นสาเหตุ วัฒนธรรมของทางเอเชียตะวันออกก็เป็นไปในทำนองว่าพ่อแม่หรือครูให้ความสำคัญกับเกรดมาก

 

หมายความว่า แม้เด็กจะมี growth mindset สูง และทำคะแนนได้สูง ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังมีความกลัวซึ่งมาจากความกดดันจากครูและครอบครัว

แนวคิดที่เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคหลังๆ เป็นเรื่องคะแนนโอเน็ต เรื่องการให้ความสำคัญกับการเข้าคณะดังๆ มหาวิทยาลัยดังๆ หรือคณะที่เรียนจบแล้วสามารถทำเงินได้ดี ซึ่งพ่อแม่หรือครูจะพยายามผลักดันให้ลูกต้องไปสู่จุดนั้น เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้แม้เขาจะประสบความสำเร็จในการเรียน แต่ในทางตรงข้ามเขาก็จะกลัวความล้มเหลวค่อนข้างสูงเช่นกัน ผลในทางตรงข้ามหรือในทางกลับกันก็คือบางครั้งถ้าเขาต้องผิดหวังบางอย่าง เขาอาจไม่สามารถรับมือกับความผิดหวังได้ดีก็เป็นไปได้

พอพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่าครูมีความสำคัญมากที่จะต้องรู้วิธีการสอน หรือวิธีการรับมือกับนักเรียนกลุ่มต่างๆ เช่น ทำอย่างไรให้ห้องเรียนมีบรรยากาศของวิชาการหรือมีบรรยากาศที่ดีสำหรับความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน หรือทำให้เด็กเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดเชิงบวก คิดว่าตัวเองสามารถทำได้ หรือว่าครูเองก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเด็กก่อนว่าเด็กที่เขาสอนสามารถประสบความสำเร็จได้ สามารถพัฒนาตนเองได้ แม้จะมีฐานะยากจน หรือมาจากความไม่พร้อมก็ตาม

ถ้าหากครูมีทัศนคติที่ดี หรือมีความคิดเชิงบวกตั้งแต่แรก ก็เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ทั้งในห้องเรียนและในโรงเรียน เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งหนึ่งจากหนังสือที่ให้ประโยชน์ และน่าจะนำไปขยายผลต่อไปในทางปฏิบัติได้

 

เป็นไปได้ไหมหากเด็กถูกสอนมาแบบ fixed mindset คือความคิดแบบยึดติดว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความสามารถตัวเองได้ แต่พอได้รับการเปลี่ยนแปลงความคิดในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งต่อมา จะสามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้

มีงานวิจัยว่า fixed mindset สามารถเปลี่ยนได้ แม้ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม หรือแม้แต่อยู่ในวัยทำงานแล้วก็ยังสามารถเปลี่ยนเป็น growth mindset ได้

อย่างเช่น งานวิจัยว่าในอเมริกาของหนังสือเล่มนี้มีปัญหาหนึ่งที่เป็นบริบทของสหรัฐอเมริกา ที่อาจจะต่างกับไทยก็คือ เขามีเรื่องเด็กยากจนที่เป็นเด็กผิวสีค่อนข้างเยอะ และมีเด็กชนกลุ่มน้อย เชื้อสายฮิสแปนิก ฯลฯ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีปัญหามากเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเขาไม่สามารถปรับตัวได้เลย อาจจะแย่กว่ากรณีของไทยด้วยซ้ำ เพราะเด็กหลายคนนั้นพ่อแม่หรือคนในครอบครัวของเขาไม่เคยมีใครเข้ามหาวิทยาลัย

ในสหรัฐฯ มีความพยายามผลักดันให้เด็กยากจนกลุ่มนี้เข้ามหาวิทยาลัย ปัญหาคือพอเข้าไปเรียนแล้ว มีส่วนน้อยมากที่เรียนจบ หรือจบได้ตามกำหนด เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นเขาจึงพยายามใช้มาตรการต่างๆ โดยมี growth mindset เป็นวิธีการหนึ่ง เขาให้เด็กกลุ่มยากจนที่เข้ามหาวิทยาลัยเข้าไปดูหนัง ทำแบบทดสอบ เข้าไปเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วการเรียนที่ถูกต้องเป็นอย่างไร โอกาสที่เรียนแล้วจบก็มี หรือคนอื่นๆ ที่เข้ามาก่อนแล้วมีพื้นฐานแบบเขา เป็นคนดำ คนที่มาจากครอบครัวยากจน ถ้าได้เรียนอย่างถูกต้อง รู้จักเข้าไปถามอาจารย์ ทำการบ้านตามกำหนด สุดท้ายก็จะเรียนจบได้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรมากนัก คือช่วงแรกอาจลำบากบ้าง ต้องปรับตัวบ้างเป็นเรื่องธรรมดา อย่าเพิ่งท้อไปก่อน ให้กัดฟัน จะมีแบบฝึกหัด หรือวิธีการแนะนำ

ถ้าเด็กได้เตรียมตัวเตรียมใจในการเข้ามหาวิทยาลัยก็พบว่ากระบวนการนี้ทำให้เด็กสามารถจบมหาวิทยาลัยได้เยอะขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนทำ เป็นวิธีการที่ใช้เวลาไม่นานมากนัก แต่ก็ประสบความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นเขาก็เชื่อว่า การเกิด growth mindset ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องทำก่อนช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่งก่อนจะสายเกินไป เพราะอย่างน้อยในมหาวิทยาลัยยังสามารถทำได้ หรือแม้แต่ในระดับทำงานแล้วก็ยังทำได้ คนเป็นครูก็ยังมีการอบรมให้เกิด growth mindset แล้วเอาไปใช้ในห้องเรียนได้ ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องอายุ

 

 

ในมุมมองคนทำนโยบาย ในเจ็ดชุดความคิดนี้ สังคมไทยขาดอะไรมากที่สุด

ผมว่าขาดหลายอย่างเลย หนังสือยกตัวอย่างว่าครูต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นครู ต้องคิดว่าตนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นเพื่อนมนุษย์กับเด็ก และครูเป็นแค่อีกหัวโขนหนึ่งเท่านั้นเอง และมีประเด็นที่บอกว่า ครูกับเด็กจะมีการสร้างสัมพันธ์กัน เช่น มีการเล่นเกมสำหรับเด็กเล็กๆ ว่า เด็กอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับครูว่าเป็นอย่างไร อยากถามอะไรครูบ้าง เรื่องส่วนตัวของครู อะไรที่เด็กจะต้องรู้

ลักษณะอย่างนี้เป็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กที่อาจจะทลายกำแพงมากขึ้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี อาจจะขัดแย้งกับวัฒนธรรมไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมในโรงเรียนไทยหรือในครูอาวุโส เราก็จะต้องมีเรื่องความเคารพครู การต้องเชื่อฟัง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกัน แต่ผมเชื่อว่า ไม่ใช่ครูทุกคนที่เป็นแบบนั้น น่าจะมีวิธีการที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ แม้ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ แต่เราก็ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ในเชิงที่มีความใกล้ชิดระหว่างครูกับเด็กดีขึ้นได้

อีกเรื่องที่ผมสนใจคือเรื่องชุดความคิดเชิงบวก และเรื่องชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ คือการที่ครูต้องพยายามมีความเชื่อมั่นในตัวเด็ก มองในแง่ดีว่าเด็กจะต้องพัฒนาตนเองได้ แม้ว่าเด็กอาจมาจากครอบครัวที่ไม่พร้อมหรือครอบครัวที่ยากจน ถ้าหากครูคิดว่าก็เขามาจากครอบครัวยากจน คงพัฒนาได้แค่นี้ เราก็จะสอนแค่นี้ ไปได้ไม่ไกลกว่านี้ ผลลัพธ์ก็จะต่างจากครูที่คิดว่า เด็กคนนี้แม้ว่าเขาจะมาจากครอบครัวที่ลำบาก แต่ครูเชื่อว่าครูจะสามารถสอน หรือครูจะสามารถใช้วิธีการที่ช่วยพัฒนาให้นักเรียนประสบความสำเร็จได้

ชุดความคิดของครูที่ต่างกันก็จะนำไปสู่การปฏิบัติของครูที่ต่างกัน แน่นอนว่าสุดท้ายจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ต่างกันเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์เรื่องชุดความคิดแห่งความสำเร็จ หรือว่าชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา สุดท้ายมันจะนำไปสู่สิ่งดีๆ ไม่ว่าเรื่องผลสัมฤทธิ์ เรื่องการประสบความสำเร็จในการงาน เข้ามหาวิทยาลัย เข้าสายอาชีวะ หรือไปทำอาชีพอะไรก็ตาม

ถ้าหากครูมีทัศนคติที่มีความหวังและมองว่าตนเองสามารถจะเปลี่ยนแปลงนักเรียนได้ และเชื่อว่านักเรียนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากครูหรือโรงเรียนให้ความสำคัญมากพอ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราน่าจะเรียนรู้ได้จากหนังสือเล่มนี้

อีกเรื่องคือสิ่งที่อยู่เหนือจากระดับห้องเรียนหรือระบบโรงเรียน เป็นโครงสร้างที่อยู่เหนือกว่านั้น เช่น เรื่องของกระทรวงศึกษาฯ โครงสร้างหน้าที่การงานของครู ความเป็นระบบราชการ การรวมศูนย์อำนาจในกระทรวงศึกษาฯ ในระบบการศึกษาไทย ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อแนวคิด พฤติกรรม การกระทำของครู ซึ่งจะส่งผลถึงเด็กอย่างแน่นอน สมมติครูมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ อย่างกรณีโควิดจะเห็นได้ชัดมาก ถ้าเกิดโรงเรียนทุกโรงเรียนมีอิสระค่อนข้างมาก เขาก็สามารถปรับตัวเองได้ง่ายเมื่อต้องรับมือสถานการณ์ที่ไม่ปกติในพื้นที่ของตนเอง

 

นับได้ว่าระบบเชิงโครงสร้างส่งผลกระทบอย่างมากจนมาถึงโรงเรียนและห้องเรียน

เราได้คุยกับครูในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าครูที่บนดอย ครูที่จังหวัดชายแดนหรือชายขอบต่างๆ หรือครูโรงเรียนในเมือง ซึ่งครูแต่ละโรงเรียน แต่ละแบบ แต่ละบริบท เขามีความคิดดีๆ ออกมาได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครคอยบอกว่าต้องทำแบบใดแบบหนึ่ง เราแค่ให้อิสระกับครู ให้อิสระกับโรงเรียนและผู้อำนวยการในการบริหารจัดการปัญหาของตนเอง เราก็พิสูจน์ได้แล้วว่าการที่ครูหรือโรงเรียนมีอิสระ เขาสามารถจะมาพร้อมกับแนวคิดต่างๆ หรือหนทางออกที่ดีและเป็นประโยชน์กับโรงเรียนของเขา

แต่ในทางกลับกัน เมื่อนำระบบของส่วนกลางลงมาถ่ายทอด ก็เริ่มสับสนว่าครูกับโรงเรียนจะต้องทำตามที่กระทรวงฯ บอกไหม จะต้องมีสมุด ใบงานอย่างไร เด็กจะต้องไปนั่งเรียน DLTV ต้องตามกฎเกณฑ์มากน้อยเพียงใด จึงสะท้อนให้เห็นว่าการควบคุมหรือระบบอำนาจที่อยู่ตรงศูนย์กลางเข้ามาทำให้โรงเรียนหรือครูไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ แล้วมีผลต่อการทำงานของเขาจริงๆ

เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่อาจจะอยู่นอกเหนือจากวิธีการในหนังสือ จำเป็นต้องพูดกันถึงเชิงระบบ และนโยบาย อย่างเช่น ระบบการบริหารราชการ ผมคิดว่าเราจะต้องพูดกันให้มากกว่านี้ด้วยเช่นกันในอนาคต

 

เราจะช่วยครูและนักเรียนในเชิงระบบอย่างไร เมื่อระบบราชการไม่เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงได้มากเท่าที่ควร

ปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาใดๆ ก็ตาม นั่นคือ ไม่ว่าอย่างไร ระบบการศึกษาไม่สามารถพัฒนาไปได้มากเกินกว่าคุณภาพของครู

มีงานวิจัยศึกษาพบว่า ประเทศจะไม่มีทางพัฒนาการศึกษาของประเทศได้ ตราบใดที่คุณภาพของครูในประเทศนั้นๆ ยังไม่ได้รับการพัฒนา เป็นที่ยอมรับกันว่า ยิ่งเด็กได้เรียนกับครูที่มีความสามารถสูงมากเท่าไร เมื่อเวลาผ่านไป เด็กจะยิ่งมีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น มีงานวิจัยเปิดเผยว่า หากนำเด็กที่มีความสามารถเท่ากันมาเรียนกับครูที่มีความสามารถต่างกัน พอผ่านไปสักระยะหนึ่งช่องว่างของเด็กก็จะมากขึ้นเช่นกัน

คุณภาพของครูไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่ก็มีเรื่องคุณภาพทั้งเชิงความสามารถด้านการเรียนรู้ เรื่องการนำพวกเจ็ดชุดความคิดมาใช้ก็เป็นส่วนที่พัฒนาครูนอกเหนือจากทักษะด้านการรู้คิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกระบวนการฝึกหัดครู หรือคนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันผลิตครู หรือการอบรมครูควรนำไปใช้

หากถามว่าจะทำอย่างไรให้ครูมีศักยภาพในการทำงานได้เต็มที่ ก็เป็นปัญหาเชิงระบบที่เราก็พูดกันมานาน ไม่ว่าเรื่องของสถาบันผลิตครู การสร้างครูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สาเหตุสำคัญที่ฟินแลนด์สามารถพัฒนาการศึกษาได้ก็คือเขาปรับคุณภาพครู จากที่เมื่อก่อนครูอาจเป็นบุคลากรกลุ่มธรรมดา เขาทำให้ครูเป็นกลุ่มอาชีพที่ใครๆ ต่างอยากเป็น และเมื่อไปทำงานแล้ว เขาให้อิสระ สังคมมีความเชื่อมั่น พ่อแม่ผู้ปกครองไว้ใจครูว่าเป็นทรัพยากรที่เชื่อถือได้และกระทรวงศึกษาฯ ก็ไม่ไปยุ่งกับครูมากนัก ครูเป็นอิสระ

แต่ในประเทศเรา ผมคิดว่าต้องหาวิธีทำอย่างไรก็ตามเพื่อให้การผลิตครูสามารถนำคนเก่งและคนที่มีศักยภาพสูงเข้ามาสู่อาชีพ ผมคิดว่าในยุคหลังๆ คนเก่งๆ คนที่มีศักยภาพสูงเข้าไปสู่อาชีพครูเยอะขึ้น เมื่อเทียบกับยุคก่อนๆ อย่างยุคสมัยผม ส่วนหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าเพราะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น ณ ตอนนี้อาชีพครูไม่ได้เป็นอาชีพที่ยากจนหรือรายได้น้อย สามารถที่จะเลี้ยงตัวได้

 

เห็นด้วยไหมว่าการที่ครูมีอิสระ นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนการสอนที่ทั้งครูและนักเรียนได้พัฒนาศักยภาพไปพร้อมกัน

เห็นด้วยครับ แต่ปัญหาคือระบบ พอคนเก่งๆ เข้าไปอยู่ในสถาบันผลิตครูแล้ว เขาสามารถจะรักษาความเก่งของเขาได้ไหม หรือกระบวนการผลิตครูได้พัฒนาอะไรให้เขามีอาวุธเพื่อไปต่อสู้ หรือเพื่อใช้ในชีวิตการทำงานได้มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ผมต้องให้เครดิตอาจารย์อนุชาติ (พวงสำลี) ที่สร้างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมคิดว่าคณะที่ผลิตนักการศึกษา ผลิตครู หรือการนำครูมาฝึกฝนในโครงการต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยสังคมไทย

แต่ถ้ามองทั้งองคาพยพของระบบการผลิตครู มหาวิทยาลัยต่างๆ ในฐานะต้นทางผลิตครูอาจต้องทบทวนภาพรวมกันพอสมควร โดยทั่วไป ในกระบวนการผลิตครู จะสร้างคนแบบไหน ทำอย่างไร มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เมื่อครูจบไปแล้ว เข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียน กระทรวงศึกษาฯ มีกฎเกณฑ์มากน้อยแค่ไหน มีระบบการฝึกฝนครู ระบบช่วยเหลือครู ที่เข้าไปเป็นครูประจำการแล้ว ทำอย่างไรให้ครูเหล่านั้นพัฒนาศักยภาพตนเองได้มากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลากับงานเชิงเอกสารมากเกินไป หรือเสียเวลากับงานอื่นๆ หรือการต้องทำตามคำสั่งจากส่วนกลาง โดยที่อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ครูสามารถนำเอาศักยภาพในตัวเขาออกมาได้เต็มที่ที่สุด

ผมมองว่าเรามีคนเก่ง คนมีอุดมการณ์อยู่ไม่น้อย แต่พอเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว ภายใต้ระบบราชการ หรือระบบการบริหารบุคคลต่างๆ ทำให้เขาไม่สามารถดึงศักยภาพตนเองออกมาได้เต็มที่ ซึ่งก็น่าเสียดาย

และปัจจัยสำคัญที่สุด คือเรื่องระบบการสร้างครู ระบบการรักษาครู ระบบการฝึกฝนครู ระบบของความก้าวหน้าในอาชีพ หรือแม้แต่ผลตอบแทนของครู ซึ่งตอนนี้ดีขึ้นแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ครูสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองให้มากขึ้น อาจรวมไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ทั้งครูและผู้อำนวยการ ระบบของความก้าวหน้าในอาชีพ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ผู้อำนวยการต้องมาเกี่ยวข้องกับระบบความดีความชอบของเขตพื้นที่หรือส่วนกลางซึ่งต้องทำงานสนองนโยบาย แทนที่จะทำได้ตามศักยภาพของตนเอง อาจต้องช่วยกันพูดถึงเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น

 

โควิด 19 สะท้อนให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยจริง เราจะรับมืออย่างไร หากใช้ชุดความคิดใหม่มาพัฒนาท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ จะเป็นจริงได้ไหม

เรื่องการศึกษาหรือสภาพหลังโควิด 19 พูดถึงกันเยอะในช่วงหลังๆ เพราะว่ามันเป็น new normal หรือเป็น build back better คือไหนๆ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว หลังจากนั้นเราสามารถจะปรับอะไรได้บ้าง หรือจะหาประโยชน์อะไรจากสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพราะสถานการณ์โควิด 19 ได้บ้าง

ในวงการการศึกษาก็จะพูดถึงเรื่องปัญหาที่เกิดจากโควิด อย่างเรื่องเวลาเรียนที่หายไป เด็กต้องอยู่บ้านนานๆ หรือเรื่องอาหาร ที่เด็กไม่ได้รับจากโรงเรียนในช่วงที่ต้องหยุดนานๆ หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากครัวเรือนที่พ่อแม่ตกงาน หรือรายได้ลดลง ทำให้ลูกอาจต้องออกนอกระบบการศึกษา เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาของระบบการศึกษาต้องพยายามพูดถึงประเด็นเหล่านี้

มีคนเสนอหลายความเห็นที่น่าสนใจ เช่น ระบบ อสม. การศึกษา คล้ายๆ เครือข่ายในชุมชนที่คอยติดตามระวังแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่น หรือคอยช่วยเหลือ ติวเด็กที่เรียนไม่ทัน เพราะเด็กแต่ละคนพอหยุดเรียนไปนานๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเรียนได้เหมือนกัน บางคนมีความพร้อมที่บ้าน มีอินเทอร์เน็ต มีติวเตอร์ หรือพ่อแม่สามารถสอนได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าบางคนยากจน ไม่สามารถเข้าถึงสื่ออะไรได้เลย พอเปิดเรียนอีกครั้ง เด็กกลุ่มนี้ก็จะตามเพื่อนไม่ทัน และจะเกิดช่องว่างที่รุนแรงยิ่งกว่าสถานการณ์ปิดเทอมปกติเสียอีก เพราะว่าคนพร้อมกับคนไม่พร้อมก็มีความต่าง เพราะฉะนั้นลักษณะของเครือข่ายอาสาสมัครที่จะไปช่วยติว หรือองค์กรลักษณะนี้ถือว่าจำเป็น

ในส่วนภาครัฐ การเรียนการสอนต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังโควิด เช่น หลังจากนี้ระบบการเรียนแบบการเรียนผสมที่โรงเรียนกับครูกับการเรียนที่บ้านหรือการเรียนโดยระบบทางไกลกับทางใกล้น่าจะมีการนำมาใช้จริงในระบบการศึกษาไทยได้มากขึ้น ผมคิดว่าก็ยังมีนักเรียนหรือโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่เห็นประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ ก็ยังใช้อยู่ และคิดว่าการประเมินผลนักเรียนเพื่อพัฒนาการ (formative assessment) จำเป็นมากขึ้น

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด นอกจากประเทศไทยแล้วประเทศอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือให้ความสำคัญกับการสอบมาตรฐานต่างๆ เพราะไม่ค่อยตอบโจทย์ แม้แต่ในอเมริกา การสอบ SAT และ ACT เข้ามหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว สำหรับกรณีประเทศไทย หลายคนพูดว่าการสอบวัดคะแนนมาตรฐานนานาชาติยังให้ผลน่าพอใจอยู่

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความสามารถของครูที่จะสามารถประเมินผลเพื่อพัฒนาการได้ว่า เด็กของตนมีการเรียนรู้ในลักษณะไหน ประเมินเพื่อแก้ไขและพัฒนา อันนี้เป็นทักษะที่ครูจำเป็นต้องรู้หลังยุคโควิดว่าเด็กแต่ละคน ณ ตอนนี้ความรู้ไม่เท่ากันแล้ว และเรื่องการเรียนการสอนที่มีลักษณะ home-based learning หรือเรียนจากบ้านเป็นหลัก (ออกแบบร่วมกับระหว่างนักเรียน ครู ผู้ปกครอง) อาจจำเป็นมากขึ้น หรือการใช้พื้นที่ชุมชน ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ผมคิดว่าน่าจะเป็นนโยบายอย่างหนึ่งที่อาจจะเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิดครับ

 

ระบบการประกวดและแข่งขันขัดแย้งกับเจ็ดชุดความคิดมาก ทำอย่างไรให้ สพฐ. เข้าใจเรื่องนี้ และทำอย่างไรให้โรงเรียนจัดการตัวเองได้

ในเรื่องการศึกษามีแนวคิดที่คล้ายๆ ว่าขัดแย้งกันสองแบบก็คือ การช่วยเหลือควรจะเป็นแบบ universal คือทุกคนได้ถ้วนหน้าเหมือนกันหมด หรือควรเป็นแบบ targeted คือเลือกให้เฉพาะคนกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มยากจน ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียทั้งสองแบบ

อย่างแบบ targeted ก็มักมีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านคิดว่าจะทำให้คนบางคนที่น่าจะได้รับการช่วยเหลือกลับตกหล่นไป ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณของเด็กเล็ก หรือแม้แต่งบที่เป็นเงินอุดหนุน ซึ่งก็มีเหตุผล แต่แนวคิดแบบ universal ก็มีข้อดีข้อเสียเหมือนกัน เช่น นโยบายเรียนฟรี หรือนโยบายเงินอุดหนุนของเด็ก ก็คือทุกคนก็จะได้เท่ากัน เหมือนกันหมด บางคนก็บอกว่าเด็กบางคนมีพร้อมอยู่แล้ว ทำไมถึงต้องได้ไปอีก อันนี้ก็มีการถกเถียงกันในสังคมไทยมาเรื่อยๆ

 

คิดเห็นอย่างไรที่ว่า ความเสมอภาคทางการศึกษาจะเกิดขึ้นได้จากความเป็นประชาธิปไตย และจากการมีรัฐสวัสดิการ

ถ้าถามผมว่ารัฐสวัสดิการดีไหม ผมคิดว่าดีมาก ถ้าเราสามารถทำได้ ผมก็ค่อนข้างสนับสนุนรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว แต่พอดูถึงเรื่องงบประมาณ เรื่องระบบสถานภาพการคลังของประเทศ ในภาพใหญ่ ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไร แต่ถ้ามีความพยายามจะทำ และมีความมุ่งมั่นทางการเมืองเพียงพอ

ถ้าทั้งองคาพยพใหญ่ของสังคมไทยเห็นว่าควรจะไปทางนั้น ผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและเห็นด้วยเช่นกัน แต่ตอนนี้ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เราเป็นอยู่ หรือภายใต้ระบบการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ในระบบต่างๆ ก็คงทำได้เท่าที่ทำได้ ณ ตอนนี้

 

คุณภูมิศรัณย์มีอะไรอยากฝากทิ้งท้ายไหม 

เราควรมีความหวังกับการศึกษาไทยต่อไป หวังว่าทุกคนพยายามทำหน้าที่ของตนเองอย่างดี คิดว่าสุดท้ายก็พยายามจะปรับเข้าหากันเรื่อยๆ และผมหวังว่าทุกภาคส่วนจะร่วมต่อสู้ไปด้วยกันเพื่อการศึกษาไทย

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งจากเสวนา “Poor Students, Rich Teaching สอนเปลี่ยนชีวิต – สู้ความเหลื่อมล้ำด้วยพลังแห่งการสอน” โดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

 

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่