
ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน
หากต้องการส่งเสริมนักเรียนให้ประสบความสำเร็จ จงช่วยพวกเขาพัฒนาชุดความคิดเชิงบวก การยึดมั่นในความคิดที่ว่า “ฉันจะคอยช่วยกระตุ้นทัศนคติดีๆ” นั้นจำเป็นต่อความสำเร็จของนักเรียนในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง
หากรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนคิดลบ คุณอาจคิดว่าการปลูกฝังชุดความคิดเชิงบวกให้นักเรียนคงเป็นเรื่องเกินความสามารถ แต่คุณเข้าใจผิด! เพราะคนเราสามารถเรียนรู้ชุดความคิดเชิงบวกได้ในฐานะ การควบคุมความคิด รูปแบบหนึ่งได้
คงเคยได้ยินมาบ้างว่านักเรียนยากจนนั้นสอนยากและมักมีปัญหาด้านพฤติกรรม การบ่มเพาะชุดความคิดเชิงบวกให้กับตัวเองและนักเรียนนั้นส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองและชุดความคิดของนักเรียนอย่างยิ่ง ทั้งยังช่วยผลักดันให้นักเรียนก้าวสู่ความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
มายาคติ
“ฉันพยายามคิดบวก แต่ก็มองสิ่งที่ต้องจัดการและรับมือโดยอิงความเป็นจริงเสมอ การคิดบวกเป็นมายาคติ ฉันจะตรงไปตรงมากับนักเรียน และพูดความจริงตามที่คิดเสมอ”
แนวคิดหลักของชุดความคิดเชิงบวก
“ครูเป็นแนวร่วมที่คิดบวกและเอาใจใส่ ผู้คอยช่วยนักเรียนสร้างอนาคตแห่งความสำเร็จ”
ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อความคิดเชิงบวก
- กระตุ้นการมองโลกแง่ดีและความหวัง
>> กิจกรรม “นาทีเพิ่มพลัง” ให้นักเรียนเล่าเรื่องตัวเองคนละ 4 นาที สัปดาห์ละครั้ง ใน 1-2 เดือน เลือกหัวข้อ เช่น จุดแข็ง คนที่เคยช่วยเหลือ สิ่งที่ชื่นชอบในตัวคนอื่น เป้าหมายที่เพิ่งทำสำเร็จ ปรับเปลี่ยนวิธีการ 4 แบบ 1. เขียนบันทึก 2. แบ่งปันกับเพื่อน 3. แบ่งปันในกลุ่ม 4. เล่าหน้าชั้น
* หลีกเลี่ยงการชมสติปัญญาหรือความฉลาด เพราะไม่มีประสิทธิภาพ
>> ตั้งกฎในชั้นเรียน “ห้ามหยุดฝัน” ให้นักเรียนตอบด้วยการแสดงออกได้หลากหลาย ไม่ว่าวาดภาพ ร้องเพลง หรือบอกเล่าเรื่องราว ด้วยคำถามชวนคิดต่อไปนี้
– ฉันอยากอยู่ ณ จุดไหนในอีก 5-10-15 ปีหลังจากนี้
– ตอนนี้ฉันมีความสามารถด้านไหนแล้วบ้าง
– ฉันจะช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง
– ฉันอยากโตขึ้นไปเป็นคนแบบไหน
- ปลูกฝังทัศนคติเชิงบวก
>> กิจกรรม “เปิดบัญชีสะสมความรู้สึก” ทุกๆ วันในห้องเรียน บอกเล่าเรื่องราวที่คุณพอใจและรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งที่เป็นอยู่ให้นักเรียนได้รับฟัง (สุขภาพ ครอบครัว อาชีพการงาน เพื่อนฝูง สภาพอากาศ ฯลฯ) นักเรียนจำเป็นต้องเห็นตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่แสดงความขอบคุณ หากคุณไม่แสดงการรู้คุณให้เห็น นักเรียนย่อมไม่สนิทใจต่อทัศนคติใหม่ที่กำลังจะได้เรียนรู้ และการเปิดใจของครูนี่เองที่จะส่งเสริมให้นักเรียนสบายใจยิ่งขึ้นในการแสดงความขอบคุณต่อผู้อื่น
>> ปรับกรอบคิดให้มองโลกแง่ดี เช่น
ลองพูดว่า “วันนี้คงเป็นวันแย่ๆ ของฉัน” แทนที่จะพูดว่า “ชีวิตฉันมันห่วย”
หรือพูดว่า “วันนี้ทำข้อสอบได้ไม่ค่อยดีเลย” แทนที่จะพูดว่า “ฉันมันสมองทึบ”
- เปลี่ยนจุดสมดุลทางอารมณ์
>> เข้าใจความสุข 3 ประเภท
- ความสุขที่เกิดขึ้นเอง (ณ ชั่วขณะหนึ่ง) เช่น ครูทำให้ขบขันด้วยมุกตลก กิจกรรมสนุกๆ หรือให้เลิกเรียนก่อนเวลา
- ความสุขจากการไขว่คว้า (ความสุขจากการกระทำ) ครูใช้ประโยชน์ได้ด้วยการให้รางวัลในห้องเรียน
- ความสุขจากการบรรลุเป้าหมาย (ความสุขระยะยาว) ความสุขประเภทนี้ไม่ได้มาจากการได้รับ แต่มาจากการสร้างบางสิ่งจนสำเร็จ เป็นผลลัพธ์จากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง
การสนับสนุนเชิงบวกมีประสิทธิภาพเหนือกว่าการกระตุ้นเชิงลบ เราจะพบว่า นักเรียนเข้าเรียนสม่ำเสมอและป่วยน้อยลง ทั้งจะพยายามมากขึ้นและบรรลุเป้าหมายในการเรียนได้บ่อยครั้งกว่าเดิม วงจรนี้ยังส่งพลังด้านบวกและความหวังกลับคืนสู่ครู ผู้ที่จะมั่นใจและพึงพอใจยิ่งขึ้น
อ่านสรุปความพร้อมงานวิจัยอ้างอิงและตัวอย่างกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่นี่
สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่