7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน: 3. ชุดความคิดเชิงบวก

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน

 

หลังจากวางรากฐานชุดความคิดสานสัมพันธ์และชุดความคิดแห่งความสำเร็จกันไป ก็ได้เวลาปรับความคิดที่มีต่องานของคุณ หรือที่เรียกว่าชุดความคิดเชิงบวก คุณคงเคยได้ยินความเห็นของครูคนอื่นๆ อยู่บ้างว่า นักเรียนจากครอบครัวยากจนนั้นสอนยากและมักมีปัญหาด้านพฤติกรรม นักเรียนหลายคนเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยปัจจัยกระตุ้นความเครียด และสภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง

เมื่อต้องสอนนักเรียนฐานะยากจน จำเป็นมากที่ต้องเข้าใจว่าปัจจัยอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและกัดกร่อนความหวังที่นักเรียนมีต่ออนาคตของตนเองได้ เพื่อตอบโต้ปัจจัยเหล่านี้ คุณลักษณะจำเป็นที่สุดที่ควรพัฒนาคือความเข้าใจ ไม่ใช่ความสงสาร และชุดความคิดเชิงบวกจะส่งเสริมผลลัพธ์จากความเข้าอกเข้าใจ

การบ่มเพาะชุดความคิดเชิงบวกให้กับตัวเองและนักเรียนนั้นส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง และบรรยากาศในชั้นเรียนก็จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กทุกคนได้จริง

หมายเหตุ: สรุปความจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน 

 

ชุดความคิดเชิงบวก: พิจารณาผลวิจัยโดยสังเขป

 

มีงานวิจัยระบุว่า พฤติกรรมของนักเรียนมักได้รับผลกระทบจากที่บ้าน ความเครียดและบาดแผลด้านจิตใจที่รุนแรงเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าในครอบครัวฐานะยากจน จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องทราบข้อมูลว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นผลมาจากปัญหาต่างๆ ในครอบครัวที่อยู่เหนือการควบคุมของตัวเด็กนักเรียน ข้อมูลยังระบุด้วยว่าสมาชิกครอบครัวฐานะยากจนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากกว่าสมาชิกในครอบครัวฐานะดีถึง 2 เท่า

นักเรียนไม่มีสิทธิ์เลือกพ่อแม่ ลักษณะทางพันธุกรรม ย่านที่อยู่อาศัย หรือวัฒนธรรมที่จะเติบโตมา ผู้เขียนได้ศึกษาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และชีววิทยาซึ่งสนับสนุนศักยภาพของชุดความคิดเชิงบวกต่อการช่วยนักเรียนรับมือกับต้นเหตุความเครียดทั้งหลาย มาเริ่มด้วยผลกระทบของความคิดเชิงบวกต่อความสำเร็จของนักเรียน จากนั้นค่อยศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของความคิดเชิงบวกต่อสมองกัน

 

ผลกระทบของความคิดเชิงบวกต่อความสำเร็จ

เพื่อประเมินสัดส่วนผลกระทบระหว่างปัจจัยเชิงบวกและลบที่นักเรียนมักต้องเผชิญในสิ่งแวดล้อมของครอบครัวที่แตกต่างกัน นักวิจัยติดตั้งไมโครโฟนไว้ในบ้านของนักเรียนฐานะดี ฐานะปานกลาง และฐานะยากจน เป็นเวลาสองเดือน เมื่อนำเสียงที่บันทึกมาวิเคราะห์ พบความแตกต่างชัดเจนในระดับของคำพูดเชิงบวกและลบที่นักเรียนจากครอบครัวแต่ละสถานะได้รับ ภาพประกอบทางด้านล่างแสดงระดับความแตกต่างดังกล่าว

 

 

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าระดับรายได้เชื่อมโยงกับระดับสภาวะอารมณ์เชิงบวกของแต่ละครอบครัว นี่ถือเป็นข้อมูลสำคัญยิ่ง เพราะความสามารถในการรับรู้ปัจจัยเชิงบวกในชีวิตและการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนนั้นเป็นตัวชี้วัดหลักของความสำเร็จ

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าชุดความคิดเชิงบวกที่คุณแสดงออกในชั้นเรียนสำคัญมาก เพราะสภาวะอารมณ์เชิงบวกช่วยเพิ่มลักษณะพฤติกรรมทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งยังกระตุ้นไหวพริบและความคิดสร้างสรรค์ ดูตัวอย่างปัจจัยเชิงบวกและลบในบรรยากาศของชั้นเรียนได้ตามภาพ

 

 

หากคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนคิดลบ คุณอาจคิดว่าการปลูกฝังชุดความคิดเชิงบวกให้นักเรียนคงเป็นเรื่องเกินความสามารถ แต่คุณเข้าใจผิด! เพราะคนเราสามารถเรียนรู้ชุดความคิดเชิงบวกได้ในฐานะ การควบคุมความคิด (cognitive control) รูปแบบหนึ่งได้

การมีอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกอย่างสม่ำเสมอยังช่วยป้องกันความรู้สึกทุกข์ใจ ดังนั้น บรรยากาศการเรียนเชิงบวกจึงช่วยลดตัวชี้วัดทางความเครียดเบื้องต้นอย่างฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ทั้งการกระตุ้นสารสื่อประสาทที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกยังนำไปสู่พัฒนาการด้านการเรียนรู้ประสิทธิภาพสูง

ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมนักเรียนให้ประสบความสำเร็จ จงช่วยให้พวกเขาพัฒนาจิตใจที่เป็นประโยชน์ต่อการดิ้นรนเอาตัวรอด นี่เองที่อธิบายว่าทำไมการทำให้บรรยากาศในห้องเรียนแต่ละวันเปี่ยมความหวังและพลังเชิงบวกจึงสำคัญนัก การยึดมั่นในความคิดที่ว่า “ฉันจะคอยช่วยกระตุ้นทัศนคติดีๆ” นั้นจำเป็นต่อความสำเร็จของนักเรียนในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง

 

ผลกระทบของความคิดเชิงบวกต่อสมอง

ในการศึกษาที่เป็นประโยชน์มากซึ่งศึกษาครูผู้สอนจากโรงเรียนต่างๆ 96 แห่งโดยวิธีสุ่มตัวอย่าง พบว่าความคิดเชิงบวกเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียน การศึกษาดังกล่าวเน้นที่การสร้างบรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียน การศึกษาดังกล่าวควบคุมปัจจัยด้านความหลากหลายทางประชากรและผลการศึกษาก่อนหน้าของนักเรียน แต่ผลการศึกษาก็ยังแสดงให้เห็นว่านักเรียนต่างมีพัฒนาการที่ดีขึ้นด้วยชุดความคิดที่ปลูกฝังใหม่นี้

การศึกษาวิจัยอีกชิ้นเลือกใช้ปัจจัยเสริมที่มีอยู่แล้วสองปัจจัยในการส่งเสริมความสุขใจ (การแสดงความขอบคุณ และความเมตตากรุณา) ในบรรยากาศทางวิชาการ ปัจจัยเสริมทางจิตวิทยาดังกล่าวช่วยปลูกฝังอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกและพัฒนาระดับการมีส่วนร่วมทางวิชาการ เมื่อนักเรียนมีความรู้สึกเชิงบวก สิ่งดีๆ ก็มักเกิดตามมาเสมอ

ตามหลักชีววิทยาแล้ว มีสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

  1. โดพามีน (Dopamine)
  2. เซโรโทนิน (Serotonin)
  3. นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline)

เมื่อสารดังกล่าวคงอยู่ในปริมาณพอเหมาะจะทำหน้าที่สำคัญในบริบทของการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ระดับโดพามีนที่สูงขึ้นเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ความจำใช้งาน ความยืดหยุ่นทางความคิด และความเพียรพยายาม ครูกระตุ้นการหลั่งโดพามีนในตัวนักเรียนได้ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กิจกรรมที่แปลกใหม่ น่าประหลาดใจ และสนุกสนาน หรือความคาดหวังต่อกิจกรรมที่ให้ผลคุ้มค่า

ระดับเซโรโทนินเกี่ยวโยงกับผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ด้านอื่น อาทิ การสร้างและพัฒนาเซลล์สมองขึ้นใหม่ การส่งเสริมสมาธิ การเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ และความทรงจำระยะยาว โดยคุณกระตุ้นการหลั่งเซโรโทนินในตัวเด็กๆ ในชั้นได้ด้วยการส่งเสริมการสงบจิตใจ การควบคุมความรู้สึก และอาศัยประโยชน์จากกิจกรรมที่คาดเดาได้ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และความร่วมมือ กล่าวคือสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัยนั่นเอง

สุดท้ายคือนอร์อะดรีนาลีน ซึ่งถือเป็นสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์สูง ช่วยให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อและพัฒนาความทรงจำระยะยาว นอร์อะดรีนาลีนกระตุ้นได้ด้วยกิจกรรมที่ใช้พลังงาน ระดับความรู้สึกถึงเรื่องเร่งด่วน ความตื่นเต้น และการรับรู้ถึงความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียนในเงื่อนเวลาที่กำหนด เด็กๆ จะรับรู้ได้ถึงความเร่งด่วน ความตื่นเต้น และความเสี่ยง

ตามปกติแล้วสมองจะไม่หลั่งสารสื่อประสาททั้งสามในเวลาเดียวกัน ภาพประกอบด้านล่างคือผลที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากการกระตุ้นสารแต่ละชนิดได้ถูกที่ถูกเวลา

 

 

3 กลยุทธ์เพื่อความคิดเชิงบวก

 

ผลกระทบเชิงบวกในชั้นเรียนส่งเสริมการแสดงน้ำใจต่อกัน ทั้งยังกระตุ้นการมีส่วนร่วม ลดอัตราการขาดเรียน และเพิ่มโอกาสความสำเร็จ

เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองให้คิดบวกและมีความเอาใจใส่ จนสามารถส่งต่อพลังบวกนี้ไปยังนักเรียนได้ มี 3 กลยุทธ์ทรงประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิดเชิงบวก

 

-1-

กระตุ้นสุนิยมและความหวัง

 

ชุดความคิดเชิงบวกให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการมองโลกแง่ดี (สุนิยม) และความหวัง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แตกต่างกัน ความหวังคือศูนย์รวมแห่งกำลังใจ คือความมั่นใจว่าท้ายที่สุดทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ผู้ที่เปี่ยมความหวังมักเป็นคนที่มีระดับความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำ แต่กระนั้น คนกลุ่มนี้จะเชื่อว่าชีวิตของตนอยู่ในสถานภาพที่ไม่ต้องกังวล และเพราะคนฐานะยากจนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ การสร้างความหวังให้พวกเขาจึงสำคัญมาก

สุนิยมหรือความคิดเชิงบวกเกิดจากความเชื่อว่าสิ่งต่างๆ จะดีขึ้นได้ด้วยประสิทธิภาพจากความก้าวหน้าและความสามารถของใครคนใดคนหนึ่ง ทั้งยังเป็นมุมมองที่ว่าคนเราจะเรียนรู้และมองเห็นด้านดีของทุกสิ่งและทุกคนได้

ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่มักสับสนระหว่างสุนิยมและความหวัง แต่ก็มีความเข้าใจร่วมที่ว่าทั้งคู่เป็นทักษะในการควบคุมตนเองสู่ความสำเร็จเรียนรู้กันได้ นักเรียนที่มองโลกแง่ดีและเปี่ยมความหวังจะมีความสุขและทุ่มเทให้กับการเรียนมากกว่า ทั้งยังทำให้การเรียนการสอนในชั้นสนุกและมีประสิทธิภาพสูงกว่า ดูตารางด้านล่างเพื่อศึกษาว่าสุนิยมและความหวังกระตุ้นให้เกิดความคิดเช่นไร

 

 

4 กลยุทธ์ด้านสุนิยมและความหวัง

 

  1. แสดงตัวอย่างสุนิยมทุกๆ วัน
  2. สร้างความหวังทุกๆ วัน
  3. สร้างกรอบคิดเรื่องตัวตนและกำหนดระดับความพยายามของนักเรียน
  4. สนับสนุนและกระตุ้นความฝัน

 

คุณอาจคุ้นเคยกับกลยุทธ์เหล่านี้มาบ้าง แต่แค่เพียงได้ยินวิธีการต่างๆ มาไม่ได้ช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จได้ เรามีภารกิจง่ายๆ ให้ทดลองทำ โดยศึกษาแต่ละวิธีต่อไปนี้ให้เหมือนกับเป็นครั้งแรกของคุณ และลองถามตัวเองว่า “ฉันได้ใช้วิธีการเหล่านี้ทุกๆ วันอย่างสุดความสามารถแล้วหรือยัง”

 

แสดงตัวอย่างสุนิยมทุกๆ วัน

 

เมื่อคุณมีความคิดเชิงบวกและมองโลกแง่ดี คุณจะเชื่อว่าเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ เป็นเพียงปัญหาชั่วคราว มีขอบเขตจำกัด และจัดการได้ ลองสังเกตดูแล้วจะพบว่าการแสดงตัวอย่างแห่งสุนิยมนี้ตั้งสมมติฐานไว้แล้วว่าคุณจะหาทางออกเพื่อเอาตัวรอดได้ สำหรับนักเรียนหลายๆ คน สุนิยมเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะช่วยให้เริ่มมองโลกในมุมมองที่ต่างออกไป เพราะฉะนั้น แสดงให้นักเรียนเห็นตัวอย่างการมองโลกในแง่ดีด้วยวิธีการต่างๆ ได้ทุกวัน

หากนักเรียนถามคุณว่า “วันนี้เป็นไงบ้าง?” ลองตอบด้วยประโยคเชิงบวกอย่าง “ดีที่สุดเลย” หรือ “เป็นวันที่เหมาะแก่การเรียนนะ” และอย่าลืมถามกลับว่า “แล้วเธอล่ะ?” แสดงให้ทุกคนเห็นว่าคุณรักงานที่ทำและมีความสุขกับการช่วยคนอื่นมากเพียงใด หรือให้เห็นว่าคุณมองข้ามความรู้สึกแย่ๆ จากเรื่องร้ายๆ ได้อย่างไร จงเป็นตัวอย่างของครูผู้รักการสอน เพราะความคิดเชิงบวกที่คุณแสดงออกนั้นส่งต่อให้กันได้ ลองพิจารณาวิธีการต่อไปนี้ดู

 

สอนมุมมอง

มุมมองช่วยให้นักเรียนดึงศักยภาพแท้จริงของสุนิยมได้ สอนนักเรียนให้หัดมองข่าวหรือเหตุการณ์ที่ได้ยินและได้อ่านด้วยมุมมองใหม่ๆ กิจกรรมง่ายๆ ที่กระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดที่แตกต่างต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งจะช่วยให้นักเรียนเลือกที่จะมองต่างมุมและเห็นข้อดีของแต่ละสถานการณ์ได้ กิจกรรมดังกล่าวอาจทำได้โดยให้นักเรียนจับคู่และพิจารณาสถานการณ์จำลอง ซึ่งอาจใช้สถานการณ์จำลองต่อไปนี้

 

  • “นักเรียนสอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ จงพิจารณาว่าจะพลิกสถานการณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองได้อย่างไร”
  • “นักเรียนไม่ได้รับการตอบรับเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่เลือกเป็นอันดับแรก เหตุการณ์นี้จะมองให้เป็นเรื่องดีได้อย่างไร”
  • “นักเรียนไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานตามที่ตั้งใจ สถานการณ์นี้มองในเชิงบวกได้อย่างไรบ้าง”

 

อาหารเสริมกำลังใจ

หมายถึงคำพูดและการกระทำที่แสดงออกรายวันเพื่อส่งเสริมทัศนคติเชิงบวก ในฐานะที่ครูเป็นตัวอย่างให้นักเรียน คุณเลือกใช้คำพูดที่เปรียบเหมือนอาหารเสริมสำหรับสมองของนักเรียนได้ด้วยการส่งต่อทัศนคติ “เมล็ดพันธุ์แห่งความงอกงาม” ตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนเดินเข้าห้องเรียน ลองเปลี่ยนจากการกล่าวทักทาย “สวัสดี” เป็น “ดีใจมากนะที่เจอเธอวันนี้”

คำพูดที่เป็นอาหารเสริมกำลังใจเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกิจกรรมการเขียนที่มีประสิทธิภาพ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

  1. ให้นักเรียนในชั้นระดมความคิดร่วมกัน และเขียนคำหรือวลีเชิงบวก 10 คำหรือวลี
  2. ให้นักเรียนเขียนเล่าเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยให้เวลา 3-5 นาที
  3. ให้นักเรียนเขียนเล่าเรื่องราวที่รบกวนจิตใจ โดยให้เวลา 3-5 นาที เมื่อนักเรียนได้ทบทวนข้อผิดพลาดหรือเรื่องร้ายๆ นี่จึงถือว่าเป็นกิจกรรมปลดปล่อยความรู้สึกที่มีประโยชน์
  4. ให้นักเรียนเลือกคำพูดเชิงบวกประจำวัน 1 คำ โดยพยายามใช้คำพูดดังกล่าวให้ได้อย่างน้อย 5 ครั้งต่อวัน

 

เอาชนะอุปสรรค

เราทุกคนต่างผิดพลาดกันได้ ที่สำคัญคือเมื่อผิดพลาดแล้ว เรารับมือกับสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร ลองแบ่งปันประสบการณ์กับนักเรียนว่าคุณจัดการกับความล้มเหลวในอดีตอย่างไรบ้าง จากนั้นให้นักเรียนบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง แล้วจึงถามว่า “เธอจัดการกับปัญหาอย่างไร”

เทคนิคการเขียนเร็วเป็นวิธีที่ได้ผลดีซึ่งช่วยให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจตัวเองและมองโลกในมุมที่ต่างออกไป โดยให้นักเรียนเขียนบอกเล่าวิธีเอาชนะอุปสรรคภายใน 3-10 นาที คุณอาจกำหนดหัวข้อให้ อาทิ “ฉันจะแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างไร” หรือ “ฉันจะทำคะแนนสอบครั้งต่อไปให้ดีขึ้นได้อย่างไร” การให้นักเรียนทบทวนความล้มเหลวและยืนหยัดต่อสู้เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มาก แต่ยิ่งจะได้ผลดีกว่า หากนักเรียนมีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวที่เขียนไว้กับกลุ่มเพื่อนหรือหน้าชั้นเรียน

นอกจากนี้ มีอีกหลายวิธีส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่พร้อมต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดี ดูตัวอย่างโปสเตอร์ที่ติดไว้ในห้องเรียนได้ทางด้านล่าง

 

 

สร้างความหวังทุกๆ วัน

 

การสร้างความหวังไม่ใช่กิจกรรมที่ทำสำเร็จได้ในครั้งเดียว แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องในการบ่มเพาะความเชื่อต่อโอกาสที่สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น คุณเริ่มต้นได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์บนรากฐานแห่งการให้เกียรติและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เฉพาะวิธีนี้ก็สร้างความหวังขึ้นมาได้แล้ว

ต่อจากนี้ขอแนะนำ 3 กลยุทธ์เพื่อสร้างความหวังอย่างต่อเนื่อง สังเกตดีๆ จะเห็นช่องทางการใช้กลยุทธ์อื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความหวังได้เช่นกัน เพียงคุณให้นักเรียนได้ฝึกทักษะใหม่ๆ ทุกสัปดาห์ พวกเขาก็จะเห็นพัฒนาการและการเติบโตของตัวเอง

 

สอนให้ตั้งเป้าหมาย

การกำหนดจุดหมายปลายทางเป็นวิธีการสร้างความหวังเช่นกัน และเพื่อให้กำหนดเป้าหมายได้ คุณต้องสอนให้นักเรียนหัดวางแผนสู่เป้าหมายรายวัน รายสัปดาห์ และรายปี ควรให้นักเรียนได้เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง สอนให้พวกเขาสร้างความก้าวหน้า ยอมรับผลสะท้อน และปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อทำคะแนนสอบให้ได้ดีขึ้น ลองให้ใบงาน (หรือใช้แท็บเล็ต) ที่เว้นช่องว่างไว้ให้กรอกเป้าหมายรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปีลงไป โดยพื้นที่ใต้เป้าหมายระยะยาว ให้นักเรียนเขียนเป้าหมายประจำสัปดาห์​และแผนการลงไปได้

 

แสดงผลความก้าวหน้าทุกๆ วัน

นักเรียนจำเป็นต้องรับรู้ว่าพวกเขามีพัฒนาการและเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้มากเพียงใด ไม่เช่นนั้นนักเรียนอาจถอดใจและล้มเลิกกลางคันได้ โดยอาจติดรายงานความก้าวหน้าในภาพรวม และรายงานความก้าวหน้ารายกลุ่ม พัฒนาการที่ดีถือเป็นปัจจัยสร้างความหวังเช่นกัน

 

สนับสนุนเพื่อสร้างความหวัง

ทุกๆ วัน ให้สนับสนุนความดี พลังด้านบวกที่มี ความสำเร็จ และผลงานของนักเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่นักเรียนทุกคนต่างให้กำลังใจกัน โดยให้นักเรียนหันไปหาเพื่อนร่วมชั้น และพูดให้กำลังใจกันและกัน เช่น “วันนี้สุดยอดไปเลย!” “เจ๋งมาก!” หรือ “ชอบความคิดของเธอจังเลย” การให้เพื่อนร่วมชั้นและผู้สอนสนับสนุนเป็นอีกปัจจัยในการสร้างความหวัง

โปสเตอร์และป้ายประกาศต่างๆ ในห้องเรียนควรมีข้อความสนับสนุนเพื่อสร้างความหวังเช่นกัน อาทิ “ยิ่งขยันมากเท่าไหร่ ฉันก็โชคดีมากเท่านั้น” นอกจากนี้ นักเรียนควรได้อ่านหนังสือเรื่องราวความสำเร็จของบุคคลตัวอย่าง เช่น หนังสือในชุด A Mighty Girl (amightygirl.com) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของผู้นำหญิงในทุกช่วงอายุ

 

สร้างกรอบคิดเรื่องตัวตนและกระตุ้นระดับความพยายาม

 

ครูที่มีศักยภาพสูงจะ จงใจ ทำให้นักเรียนตระหนักถึงจุดแข็งของตน กล่าวคือพวกเขาเลือกที่จะสร้างกรอบคิดเรื่องตัวตนและกระตุ้นระดับความพยายามให้กับนักเรียน เพื่อช่วยให้พวกเขามีพัฒนาการ ให้คุณตั้งเป้าภารกิจไว้ที่การค้นหาและพัฒนาจุดแข็งของเด็กแต่ละคน นี่ไม่ได้หมายความว่าให้มองข้ามจุดอ่อนของพวกเขา แต่หมายถึงช่วยให้เด็กๆ เติบโตและเข้มแข็งพอจะรับมือกับการแก้ไขข้อผิดพลาดและยอมรับคำแนะนำที่มีประโยชน์ได้ โดยคุณลองใช้วิธีการต่อไปนี้ได้เลย

 

กิจกรรมนาทีเพิ่มพลัง

ให้นักเรียนบอกเล่าและแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองในกิจกรรม นาทีเพิ่มพลัง โดยจัดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง (จะให้ดี ควรเป็นวันจันทร์หรือวันศุกร์) ลองพิจารณาหัวข้อที่อาจมอบหมายให้นักเรียนดังต่อไปนี้

 

  • จุดแข็งของตัวเอง
  • คนที่เคยให้ความช่วยเหลือ
  • สิ่งที่นักเรียนชื่นชอบในตัวคนอื่น
  • วิธีช่วยเหลือเพื่อนที่มีปัญหา
  • เป้าหมายหรือหมุดหมายที่เพิ่งทำสำเร็จ

 

แนะนำว่าไม่ควรให้นักเรียนทุกคนแบ่งปันประสบการณ์ภายในวันเดียว และควรให้เวลากับกิจกรรมนี้อย่างน้อย 1-2 เดือน เพื่อให้กิจกรรมเป็นไปอย่างกระตือรือร้น พยายามปรับเปลี่ยนวิธีจัดการ และจำกัดเวลาให้อยู่ใน 4 นาที ขอยกตัวอย่างวิธีการที่นักเรียนจะทำได้ 4 วิธี ได้แก่ (1) เขียนบันทึก (2) แบ่งปันกับบัดดี้เพื่อนเรียน (3) แบ่งปันกับกลุ่มเพื่อนนักเรียนในห้อง และ (4) บอกเล่าหน้าชั้นเรียน

ที่สำคัญคือต้องไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของนักเรียน อย่าลืมว่าควรคอยส่งเสริมด้วยการกล่าวชมความพยายาม เรื่องที่เลือกมาเล่า วิธีการที่ใช้ และทัศนคติ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือการกล่าวเยินยอสติปัญญาหรือความเฉลียวฉลาดของนักเรียน เพราะเป็นการให้ผลสะท้อนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

 

ส่งเสริมจุดแข็งของนักเรียนด้วยการเชื่อมโยง

ใช้การอ้างอิงเหตุผลในการย้ำเตือนเชิงบวก เพราะเหตุและผลเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงการกระทำและผลลัพธ์เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น จึงควรย้ำเตือนให้นักเรียนเห็นความสามารถของตนด้วย การเชื่อมโยงที่ระบุรายละเอียดชัดเจน ตัวอย่างเช่น การกล่าวว่า “เอริก เธอเขียนได้ดีมากเลย” นั้นยังไม่พอ ให้ลองพูดว่า “เอริก ที่เธอเขียนวิธีการที่ปฏิบัติได้จริง ช่วยให้ครูเข้าใจประเด็นที่เธอต้องการสื่อได้ดีขึ้นมาก อีกอย่าง วิธีที่เขียนมาเป็นประโยชน์มากต่อความฝันที่จะเป็นนักเขียนของเธอ”

เมื่อนักเรียนได้รับคำชมที่สนับสนุนความสามารถจากครู ทั้งยังเชื่อมโยงอีกด้วยว่าความสามารถดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร นักเรียนย่อมรู้สึกภาคภูมิใจในจุดแข็งนั้นๆ และพยายามมากยิ่งขึ้น

มีประเด็นสำคัญข้อหนึ่งที่ครูทุกคนควรตระหนักไว้ นั่นคือระดับความเข้าใจในความสามารถและความพยายามของนักเรียนนั้นขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ตามทฤษฎีอ้างอิงเหตุผล (attribution theory) ระบุไว้ 4 ระดับ ดังนี้

 

  • ระดับที่ 1 (ช่วงอายุ 5-6 ปี) นักเรียนยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างความพยายามและความสามารถ หรือระหว่างเหตุและผล
  • ระดับที่ 2 (ช่วงอายุ 7-9 ปี) นักเรียนเข้าใจว่าผลลัพธ์ที่เกิดล้วนมาจากความพยายาม
  • ระดับที่ 3 (ช่วงอายุ 10-11 ปี) นักเรียนสามารถแยกแยะความพยายามและความสามารถออกจากกันได้ แต่ยังสับสนอยู่บ้างในหลายโอกาส
  • ระดับที่ 4 (ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป) นักเรียนเข้าใจอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างความพยายามและความสามารถ

 

พึงระลึกไว้เสมอว่าคำแนะนำที่ให้นักเรียนนั้นต้องเหมาะสมต่อพัฒนาการของพวกเขา

 

สร้างระบบข้อมูลประจำชั้นเรียน

ครูอาจช่วยนักเรียนสร้างเฟซบุ๊กจำลองในห้องเรียน ซึ่งเป็นระบบที่นักเรียนเขียนความสามารถและจุดแข็งของตัวเองลงไป 2-3 ข้อ พร้อมระบุข้อมูลของเพื่อนและครอบครัว เพื่อให้เพื่อนในห้องได้ทำความรู้จัก ระบบการจัดเก็บข้อมูลประจำชั้นเรียนนี้อาจทำใส่แฟ้มเข้าห่วงไว้ หรือโพสต์บนเว็บไซต์ประจำห้องในเว็บไซต์หลักของโรงเรียน

นอกจากนี้ ครูอาจใช้ข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดเป็นข้อมูลผู้เชี่ยวชาญประจำห้องเพื่อให้นักเรียนสืบค้นและรู้ว่าควรขอความช่วยเหลือเรื่องอะไรจากเพื่อนคนไหน โดยนักเรียนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดก็ได้ อาทิ การซ่อมอุปกรณ์ไอที การเลือกซื้อเสื้อผ้า เรื่องจุกจิก กีฬา เกม และแน่นอน ผู้เชี่ยวชาญเนื้อหาวิชาต่างๆ

 

สนับสนุนและกระตุ้นความใฝ่ฝัน

 

หนทางที่จะช่วยนักเรียนให้ค้นพบความต้องการ เส้นทางชีวิต และความสามารถของตนเองได้คือการสอบถามถึงความใฝ่ฝันและภาพในอนาคตของตนเอง ลองใช้คำถามชวนคิดต่อไปนี้เพื่อให้นักเรียนได้พิจารณาถึงอนาคตและความสามารถที่มี ณ ปัจจุบัน

 

  • ฉันอยากอยู่ ณ จุดไหนหลังจากนี้ 5-10-15 ปี
  • ตอนนี้ฉันมีความสามารถด้านไหนแล้วบ้าง
  • ฉันจะช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง
  • ฉันอยากโตขึ้นไปเป็นคนแบบไหน

 

ทุกครั้งที่คุณเปิดโอกาสให้นักเรียนได้วาดภาพ ร้องเพลง หรือเล่าเรื่องราวให้ผู้อื่นฟัง เท่ากับได้ช่วยให้นักเรียนมั่นใจในความใฝ่ฝันของตน จึงควรตั้งกฎในชั้นเรียนว่า “ห้ามหยุดฝัน” เมื่อนักเรียนบอกเล่าความใฝ่ฝันให้เพื่อนๆ ฟัง เพื่อนอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่พวกเขาต้องได้รับการสนับสนุนจากครูผู้สอน ซึ่งก็คือตัวคุณนั่นเอง!

 

-2-

ปลูกฝังทัศนคติเชิงบวก

 

เรามาปรับเปลี่ยนชุดความคิดให้เป็นชุดความคิดเชิงบวกและต่อยอดทักษะดังกล่าวด้วยกลยุทธ์ 3 ข้อต่อไปนี้

 

  • ปลูกฝังการรู้คุณ
  • งานบริการสังคมและการแสดงออกซึ่งน้ำใจ
  • ความรับผิดชอบส่วนบุคคลและการควบคุมตนเอง

 

ปลูกฝังการรู้คุณ

 

ครูส่วนใหญ่มักคิดว่าการรู้คุณคือสิ่งที่ผู้สูงอายุคาดหวังจากบรรดาหลานๆ “ต้องพอใจและรู้คุณในสิ่งที่พวกเธอมีอยู่นะ” แต่จริงๆ แล้วการรู้คุณเป็นคุณลักษณะของมนุษย์ที่ส่งต่อให้แก่กันได้ และต่อไปนี้คือข้อมูลจากงานวิจัยว่าด้วยประสิทธิภาพของการรู้คุณ

ในงานวิจัยที่ศึกษาวัยรุ่นตอนต้น 221 คน พบว่าการมีทัศนะแห่งการรู้คุณส่งผลต่อพัฒนาการด้านสุนิยมที่ได้จากการประเมินตนเอง ความพึงพอใจในการดำรงชีวิต และการลดระดับของผลกระทบเชิงลบด้านต่างๆ ขณะที่ผลการศึกษาประเด็นสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์อันเข้มแข็งระหว่างการรู้คุณและความพึงพอใจต่อประสบการณ์ด้านการเรียน ในทำนองเดียวกัน กระบวนการปลูกฝังการรู้คุณจะช่วยให้สมองสร้างวิถีประสาทขึ้นเป็นเกราะป้องกันความเครียดและปัจจัยเชิงลบด้านต่างๆ ด้วยการบ่มเพาะความสัมพันธ์และการรับรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ

นี่จึงถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในมือคุณ ในฐานะที่คุณเป็นตัวอย่างผู้มีทัศนะแห่งการรู้คุณให้แก่นักเรียน การรู้คุณเป็นสิ่งยืนยันว่าสิ่งที่เราพบเจอมานั้นเป็นประสบการณ์ที่ดี การรู้คุณมอบสิ่งที่เปรียบได้กับของขวัญต่อผู้รับ และช่วยให้เรามองเห็นว่าคนรอบข้างให้การสนับสนุนเราอย่างไร นี่เองที่ทำให้การรู้คุณเป็นทั้งคุณลักษณะส่วนบุคคลและคุณลักษณะร่วมของสังคม เพราะเมื่อคนเราแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อความสัมพันธ์ที่มี ก็เท่ากับว่าเราเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้เรียนรู้ทักษะนี้ คุณจึงเริ่มต้นสอนพวกเขาได้ด้วยการเปิดบัญชีสะสมความรู้สึกไว้เก็บออมการรู้คุณ ดูตัวอย่างได้ตามภาพ

 

 

เปิดบัญชีสะสมความรู้สึกทุกๆ วันในห้องเรียน บอกเล่าเรื่องราวที่คุณพอใจและรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งที่เป็นอยู่ให้นักเรียนได้รับฟัง (สุขภาพ ครอบครัว อาชีพการงาน เพื่อนฝูง สภาพอากาศ ฯลฯ) นักเรียนจำเป็นต้องเห็นตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่แสดงความขอบคุณ หากคุณไม่แสดงการรู้คุณให้เห็น นักเรียนย่อมไม่สนิทใจต่อทัศนคติใหม่ที่กำลังจะได้เรียนรู้ และการเปิดใจของครูนี่เองที่จะส่งเสริมให้นักเรียนสบายใจยิ่งขึ้นในการแสดงความขอบคุณต่อผู้อื่น

มีเทคนิคการแสดงความขอบคุณซึ่งรวบรวมจากงานวิจัยที่นำไปปรับใช้กับนักเรียนได้ดังนี้

 

  • มุ่งเน้นที่ตัวบุคคล ตัวอย่างเช่น นึกถึงคนที่ให้กำลังใจ คนที่เสียสละ และคนที่คอยช่วยเหลือ
  • ตั้งต้นที่เป้าหมาย ตั้งเป้าหมายต่อการรู้คุณเชิงบวกและจดไว้ในบันทึกส่วนตัวหรือบันทึกประจำชั้นเรียน เพราะแรงกระตุ้นต่อการบรรลุความพึงพอใจและความสุขใจช่วยเพิ่มคุณค่าให้การจดบันทึกยิ่งขึ้น
  • สำคัญที่ความลึกซึ้ง ไม่ใช่ปริมาณ การลงมือทำและเข้าใจเรื่องหนึ่งๆ อย่างลึกซึ้งย่อมดีกว่าการรับรู้แบบผิวๆ ไปทุกเรื่อง ลองมุ่งเป้าที่การสร้างความประหลาดใจและเหนือความคาดหมาย หรืออาจนึกถึงประเด็นต่างๆ อาทิ ข้อได้เปรียบและโอกาส
  • ถ้าชีวิตนี้ไม่มีเรื่องดีๆ ลองทบทวนและแสดงความคิดว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร หาก ปราศจาก เหตุการณ์ดีๆ บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับเรื่องดีๆ ทั้งหมด
  • ทบทวนเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ การเขียนบันทึกสัปดาห์ละครั้งจะกระตุ้นให้เกิดความสุขได้มากกว่าการเขียนบันทึกสัปดาห์ละสามครั้ง เนื่องจากสมองของคนเราจะปรับตัว ดังนั้น เมื่อคุณคาดหวังว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นทุกวัน ผลกระทบที่ได้จึงลดลง มาเขียนบันทึกเรื่องดีๆ ที่ทำให้รู้สึกขอบคุณสักเรื่องในแต่ละสัปดาห์กันดีกว่า

 

เพื่อกระตุ้นกระบวนการปลูกฝังทัศนะการรู้คุณนี้ให้น่าสนใจอยู่เสมอ เมื่อนักเรียนคุ้นกับการแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ในแต่ละวันแล้ว ให้ลองปรับกระบวนการใหม่ ด้วย 5 วิธีการต่อไปนี้

 

  1. เล่าให้บัดดี้ฟัง เล่าเรื่องราวที่ตนรู้สึกขอบคุณให้เพื่อนบัดดี้ฟัง
  2. เขียนบันทึก เขียนบันทึกเรื่องราวที่ตนรู้สึกขอบคุณลงในบันทึกการรู้คุณ
  3. เริ่มเล็กๆ เล่าเรื่องราวเล็กๆ แบบลงรายละเอียดที่ตนเองรู้สึกขอบคุณให้เพื่อนฟัง
  4. แบ่งปันกันในกลุ่ม แบ่งปันเรื่องราวกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ เพื่อเน้นย้ำทัศนะการรู้คุณ เมื่อแต่ละคนเล่าจบ ให้เพื่อนๆ กล่าวขอบคุณผู้เล่า วิธีนี้จะส่งเสริมทัศนะว่าการรู้คุณเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะเมื่อได้บอกเล่าแบ่งปัน จนเกิดเป็นธรรมเนียมของกลุ่ม
  5. เขียนโปสเตอร์ ให้นักเรียนจับคู่หรือจับกลุ่มเขียนโปสเตอร์ หรือจะทำโปสเตอร์กลางไว้ให้นักเรียนคอยเติมเรื่องของตัวเองได้ตลอดเวลา เมื่อนักเรียนเขียนชื่อตัวเอง ได้เห็นชื่อตัวเอง ก็ย่อมเกิดความภาคภูมิใจ

 

เพื่อไม่ให้กิจกรรมเหล่านี้กลายเป็นกิจกรรมเรียนรู้ทั่วๆ ไป ให้ใช้เวลาทำกิจกรรมเพียง 5-7 นาทีต่อวัน 3 วันต่อสัปดาห์ นาน 2-6 เดือน โดยปรับกิจกรรมเพื่อสร้างความน่าสนใจด้วยเทคนิคใหม่ๆ จากนั้นลองเพิ่มระดับความยากและซับซ้อนเพื่อเป็นการฝึกฝนทางสมองที่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่เพียงกิจวัตรทั่วไป

 

งานบริการสังคมและการแสดงออกซึ่งน้ำใจ

 

ผลงานวิจัยชี้ว่าการแสดงออกซึ่งน้ำใจทุกๆ วัน รวมถึงการทำงานบริการสังคมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทั้งชีวิตของผู้ให้และผู้รับ ข้อเท็จจริงยังชี้ให้เห็นด้วยว่าผู้ที่ทำเพื่อผู้อื่นจะเกิดความสุขใจมากกว่า มีหลายโครงการที่เน้นปลูกฝังลักษณะนิสัยได้นำวิธีการนี้ไปใช้ส่งเสริมให้นักเรียนเป็น ผู้ให้ แทนการเป็น ผู้รับ แต่ฝ่ายเดียว

งานวิจัยอีกชิ้นพบว่าปัจจัยกระตุ้นความสุขที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเมื่อคนเราทำกิจกรรม 3-5 อย่างภายในหนึ่งวัน ซึ่งจะก่อประโยชน์กว่าการยืดเวลาทำกิจกรรมออกไปเรื่อยๆ

ลองเลือกสักหนึ่งวันต่อสัปดาห์เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการแสดงน้ำใจดังตัวอย่างที่ยก ประสบการณ์นี้เปรียบได้กับตัวกระตุ้นความรู้สึกเชิงบวกที่จะนำไปสู่พัฒนาการทางอารมณ์

มาศึกษางานบริการสังคมและการแสดงน้ำใจต่อผู้อื่นแยกกันทีละประเด็น

 

งานบริการสังคม

ความหมายง่ายๆ ของงานบริการสังคมคือการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น แต่ทำไมนักเรียนจึงควรทำงานบริการสังคมด้วยล่ะ มีสามเหตุผลด้วยกันคือ หนึ่ง ทำแล้วรู้สึกดี สอง ทำให้นักเรียนเกิดความหวังและรับรู้ถึงศักยภาพของตนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และสาม นักเรียนจะเข้าใจว่าตนเองสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้อื่นได้เช่นกัน

เพื่อเริ่มต้นทำงานบริการสังคม ใช้ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นแรงบันดาลใจได้เลย

 

  • สื่อท้องถิ่นและสื่อระดับประเทศ ค้นหาข่าวที่ถ่ายทอดเรื่องราวโครงการต่างๆ ที่มีผู้ริเริ่มอยู่ก่อนแล้ว เช่น โครงการแบ่งปันหนังสือ เพราะทีมงานเหล่านี้อาจต้องการความช่วยเหลือ
  • สถานสงเคราะห์สัตว์ท้องถิ่น มีงานอาสาสมัครที่สนับสนุนการสงเคราะห์สัตว์ เช่น ทำความสะอาดกรงสัตว์ ช่วยรับโทรศัพท์ หรือปรับปรุงห้องรับรองในสถานสงเคราะห์
  • สวนสาธารณะ การดูแลต้นไม้ในชุมชนและชายหาด งานด้านสิ่งแวดล้อมต้องการความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ที่นักเรียนทำได้อยู่เสมอ
  • บ้านพักคนชราและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุคงยินดีหากนักเรียนสละเวลาและให้ความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเอกชนต้องการอาสาสมัคร
  • องค์กรต่างๆ ระหว่างช่วงปิดเทอม นักเรียนติดต่อและทำงานกับองค์กรและบริษัทต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นครั้งคราวได้ มีองค์กรหลายแห่งที่รวบรวมอาหารและของขวัญไปมอบให้กับครอบครัวขาดแคลน

 

หากต้องการยกระดับงานบริการสังคมไปอีกขั้น ให้พิจารณาองค์กรที่เผชิญกับปัญหาหลากหลายด้าน ตัวอย่างเช่น สถานสงเคราะห์ที่ให้บริการอาหารแก่คนไร้บ้านมักต้องการผักสดเป็นส่วนประกอบทุกๆ วัน ปัญหาเช่นนี้โรงเรียนช่วยแก้ไขได้ด้วยการปลูกผักและนำไปบริจาค (เข้าเว็บไซต์ katieskrops.com เพื่ออ่านเรื่องราวของนักเรียนที่ปลูกกะหล่ำปลี และบริจาคให้กับโรงทานประจำท้องถิ่น รวมถึงเรื่องราวของผู้เข้าร่วมกิจกรรม)

 

การแสดงออกซึ่งน้ำใจ

ในงานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมนักเรียนประถมจำนวน 19 คน นักวิจัยมอบหมายให้นักเรียนแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจ โดยปฏิบัติอย่างน้อยสามครั้งต่อสัปดาห์ ตลอดช่วงเวลาวิจัยสี่สัปดาห์ นักเรียนที่ปฏิบัติตามพบว่าได้การยอมรับจากเพื่อนร่วมชั้นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ดีขึ้น งานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษานักเรียนระดับมัธยมแสดงผลการศึกษาที่คล้ายคลึงกันคือ นักเรียนที่แสดงออกซึ่งน้ำใจเป็นประจำทุกวันมีพฤติกรรมในชั้นเรียนดีขึ้น ทั้งยังส่งเสริมพัฒนาการด้านวิชาการอีกด้วย การแสดงออกซึ่งน้ำใจนั้นทำได้ง่ายมาก ลองให้นักเรียนปฏิบัติตามวิธีการทั้งสองดูได้

 

3 มหัศจรรย์

วิธีการนี้ใช้การแสดงออก 3 ประเภท ได้แก่ เคารพ เห็นด้วย และ ชื่นชม เพื่อบรรเทาและปรับสมดุลในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อนักเรียนรู้สึกขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง หรือมีนักเรียนตะโกนโหวกเหวกหรือแสดงอาการไม่พอใจ

มีตัวอย่างการจัดการมานำเสนอดังต่อไปนี้ แต่ก่อนอื่นต้องจำใส่ใจไว้เสมอว่า ใครๆ ก็ต้องการรู้สึกว่าความคิดเห็นของตนนั้นมีผู้รับฟัง

 

  1. หากต้องการให้นักเรียนรับฟัง คุณต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหาและพูดว่า “ครู เคารพ (สิทธิ์ในการพูดของเธอ ความรู้สึกของเธอ ความทุ่มเทที่เธอมี ความหลงใหล หรือความรู้สึกต่อเรื่องนั้นๆ)”
  2. คุณยังเสริมได้ด้วยว่า “ครู เห็นด้วย (กับจุดยืนของเธอ วิธีการของเธอ สิ่งที่เธอเข้าใจในประเด็นนี้ หรือปัญหานี้)” และไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับวิธีการของคนอื่น แต่เธอเห็นด้วยกับความตั้งใจของเพื่อนๆ ได้นะ (ความจำเป็นในการเปลี่ยนกติกาหรือระบบ)
  3. สุดท้าย ให้พูดว่า “ครู ชื่นชม (ที่เห็นเธอทุ่มเทอย่างหนัก ที่เธอใส่ใจกับงานนี้ ความมุ่งมั่นของเธอ หรือที่เธออยากให้พูดคุยประเด็นนี้ให้ชัดเจน)”

 

รายการ การแสดงออกซึ่งน้ำใจ

กระตุ้นให้นักเรียนเขียนรวบรวมรายการ “การแสดงออกซึ่งน้ำใจ” ของตัวเอง เด็กๆ ทุกคนจะได้มีโอกาสเลือกวิธีการปฏิบัติด้วยตนเอง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเพื่อช่วยให้นักเรียนเริ่มต้นได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

  • แบ่งปันอาหาร หรือให้เพื่อนยืมภาพยนตร์หรือเพลงที่ชอบ
  • ช่วยเพื่อนซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ
  • แนะนำเพื่อนทำการบ้าน
  • หยิบกระดาษทิชชูให้ผู้ที่ต้องการ เช่น เมื่อได้ยินเพื่อนจาม

 

พยายามให้นักเรียนรับรู้การกระทำที่แสดงออกซึ่งน้ำใจของเพื่อนนักเรียนแต่ละคนอย่างเปิดเผย (หากได้รับความยินยอม) หรือจะเป็นแบบส่วนตัวก็ย่อมได้ การปลูกฝังเรื่องนี้ในระยะยาว นอกจากจะทำให้นักเรียนมีความสุขกับตัวเองมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของโรงเรียนไปเลย

ส่วนต่อไปชวนศึกษาบทบาทความรับผิดชอบส่วนบุคคลต่อการปลูกฝังทัศนะแห่งการรู้คุณ และประโยชน์ที่เกิดต่อชุดความคิดเชิงบวก

 

ความรับผิดชอบส่วนบุคคลและการควบคุมตัวเอง

 

คำกล่าวที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคุณคือ “สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นตัวกำหนดอนาคต แต่วิธีการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่างหากที่เป็นตัวกำหนด” กล่าวคือ คุณไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณทุกเรื่อง แต่เมื่อยิ่งเติบโตขึ้น ก็มั่นใจได้เลยว่าคุณยิ่งต้องรับผิดชอบต่อวิธีที่คุณรับมือหรือตอบโต้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อเรียนรู้ที่จะควบคุมความตั้งใจของตน คุณจะกลายเป็นตัวละครหลัก ไม่ได้เป็นเพียงผู้ชมอีกต่อไป คุณจะมีอำนาจเพราะสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและมีหลักในการทำงานที่ดีขึ้น ขณะที่นักเรียนก็สามารถรับมือกับกระบวนการนี้ได้ด้วยการฝึกทักษะทางสมองของตน การเรียนรู้จากตัวอย่างในชีวิตจริง ปรับกรอบคิดให้มองโลกแง่ดี รับมือกับเรื่องราวร้ายๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และเลือกการต่อสู้ในแบบฉบับของตนเอง

ต่อไปนี้คือ 5 วิธีการช่วยเหลือนักเรียนให้รับผิดชอบและควบคุมตนเองได้ดียิ่งขึ้น

 

ฝึกทักษะทางสมอง

วิธีสำคัญสำหรับนักเรียนในการรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และยึดมั่นในชุดความคิดเชิงบวกก็คือการฝึกทักษะทางสมองของตัวเอง คุณช่วยสอนนักเรียนให้ฝึกทักษะง่ายๆ ได้ดังนี้

 

  • สอนวิธีลดระดับความเครียดให้นักเรียน
  • สอนวิธีปฏิเสธแรงจูงใจเชิงลบ (เบี่ยงเบนความสนใจ ปรับมุมมอง เดินออกห่างจากสถานการณ์อย่างรวดเร็ว หรือเตรียมคำพูด ปฏิเสธ ไว้ล่วงหน้า)
  • แนะนำวิธีจัดการกับความรู้สึกทุกข์ใจให้แก่นักเรียน (เล่าให้เพื่อนฟัง ออกกำลังกาย เขียนระบายความรู้สึก หรือคิดทบทวนว่าการไกล่เกลี่ยจะช่วยได้หรือไม่)
  • ฝึกให้ยอมรับผลสะท้อนด้านลบหรือคำตำหนิ เพราะหากไม่สอนว่าควรรับมืออย่างไร นักเรียนจะไม่มีพัฒนาการ (ใช้เวลาทบทวน เขียนระบายความรู้สึก และขอคำแนะนำเพื่อพัฒนาตัวเอง)
  • สอนให้ฝึกพูดกับตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างการปฏิบัติ และมอบหมายแบบฝึกหัดรายสัปดาห์ให้ทำกับเพื่อน (“ฉันปล่อยให้ตัวเองเรียนไม่ทันเพื่อน แต่ฉันต้องรีบตามให้ทัน ฉันต้องเปลี่ยนนิสัยเสียใหม่ตั้งแต่วันนี้” หรือ “ฉันรู้สึกผิดที่ลืมทำแบบฝึกหัด ฉันน่าจะจดไว้ว่าต้องทำอะไร ต่อไปฉันต้องฝึกจดสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ”)

 

อีกวิธีการฝึกทักษะทางสมองคือการฝึกควบคุมตัวเอง ลองนำทักษะต่อไปนี้ไปแลกเปลี่ยนกับนักเรียนดู

 

  • ไม่หุนหันพลันแล่น
  • มองสิ่งดีๆ ในตัวผู้อื่น
  • ฝึกสมาธิและความสนใจระยะยาว
  • เรียนรู้จากข้อผิดพลาด
  • ทำตามที่ผู้ใหญ่แนะนำ ดูตามความเหมาะสม
  • อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
  • จัดการความเครียด
  • ไม่พูดกับตัวเองในเชิงลบ
  • อดทนเมื่อโกรธ
  • คิดก่อนตอบโต้
  • หัดสังเกตสถานการณ์และสิ่งรอบตัว

 

การสอนนักเรียนให้ฝึกใช้ทักษะทางสมองด้วยตัวอย่างที่ยกมานี้ การแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างคือวิธีการหลัก ครูจึงควรวางแผนและให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาที่มีต่อนักเรียน

 

เรียนรู้จากตัวอย่างในชีวิตจริง

ยกตัวอย่างหนังสือหรือคำคมของบุคคลตัวอย่างให้นักเรียนได้รับรู้ โดยเลือกบุคคลที่รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง จากนั้นเขียนบรรยายวิธีปฏิบัติตาม เพราะนักเรียนจำเป็นต้องรับรู้ว่าพวกเขาไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเรียนรู้ทักษะนี้ คนที่ประสบความสำเร็จทุกคนต่างได้เรียนรู้ที่จะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมาแล้วทั้งนั้น เพราะมันคือวิธีการที่ได้ผลในชีวิตจริง

 

ปรับกรอบคิดให้มองโลกแง่ดี

สอนทักษะการปรับมุมมองเพื่อให้มองโลกแง่ดีกับนักเรียน นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะปรับความคิดที่มีต่อตนเอง เช่น ลองพูดว่า “วันนี้คงเป็นวันแย่ๆ ของฉัน” แทนที่จะพูดว่า “ชีวิตฉันมันห่วย” หรือพูดว่า “วันนี้ทำข้อสอบได้ไม่ค่อยดีเลย” ไม่ใช่พูดว่า “ฉันมันสมองทึบ” ช่วยสอนให้นักเรียนหลีกเลี่ยงการโทษหรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง แล้วลองมองเรื่องเดียวกันด้วยมุมมองของคนอื่นดูบ้าง

 

รับมือกับเรื่องร้ายๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดป้าย “ทำอย่างไรเมื่อสิ่งที่ทำไม่ได้ผล” ในห้องเรียน บนป้ายควรเขียนกระบวนการ 5 ขั้นตอนที่เด็กนักเรียนทุกคนปฏิบัติตามได้ ประกอบด้วย

 

  1. สูดหายใจเข้าลึกๆ
  2. บอกตัวเองว่า “ฉันต้องทำได้”
  3. เขียนเป้าหมายสามข้อที่ต้องการลองทำอีกครั้งด้วยวิธีที่ต่างจากเดิม
  4. ทำตามเป้าหมายอย่างสุดความสามารถทั้งสามข้อ
  5. ประเมินความก้าวหน้าเพื่อตัดสินใจว่าควรดำเนินการต่อหรือย้อนกลับไปเริ่มข้อ 1 ใหม่อีกครั้ง

 

ทุกครั้งที่ครูวิจารณ์นักเรียน เด็กคนนั้นมักจะไม่รู้ว่าควรทำตัวหรือโต้ตอบอย่างไร นักเรียนอาจไม่เคยได้รับการสอนสั่งทักษะที่เหมาะสมจากที่บ้าน หรือความเครียดที่สะสมเรื้อรังอาจเป็นสาเหตุของการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งที่กล่าวมาล้วนไม่ไช่ความผิดของเด็ก ดังนั้น ควรหยุดสั่งนักเรียนทำนู่นทำนี่ แต่ควรแนะนำการประพฤติตัวที่เหมาะสมแทน ไม่เช่นนั้น คุณจะเจอการตอบโต้หรือไม่ก็เก็บตัวเงียบ

ครูควรกระตุ้นให้นักเรียนที่กำลังรู้สึกไม่ดีพูดว่า “ครูครับ ผมขอโทษที่ทำไม่ดี ผมแค่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร ครูช่วยผมหน่อยได้ไหม ช่วยบอกผมว่าควรทำอย่างไร แทนที่จะบอกว่าผมทำอะไรผิดพลาดไป”

หากคุณไม่สอน วิธีการ นักเรียนก็จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ช้าก็เร็วอาจถึงขั้นถูกพักการเรียน และถ้าคุณไม่ยื่นมือเข้าช่วย เด็กๆ อีกหลายคนอาจต้องลาออกกลางคัน

 

เลือกการต่อสู้ในแบบของตนเอง

สอนนักเรียนว่าไม่ควรต่อล้อต่อเถียงกับคนที่มีความคิดเชิงลบหรือคนที่หงุดหงิดอยู่เสมอ ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียนของคุณ ในชั้นเรียน หากมีกรณีที่ไม่อาจควบคุมได้เกิดขึ้นกับนักเรียนบางคน ให้กล่าวเพียงว่า “ครูเคารพมุมมองของเธอ และเข้าใจสิ่งที่เธอพูดด้วย แต่ปกติเธอไม่พูดแบบนี้ ครูว่าควรหาสาเหตุนะ เดี๋ยวเรามาคุยกันหลังเลิกเรียนดีไหม เพื่อนๆ จะได้เรียนต่อตามปกติ” หากไม่ทำเช่นนี้ ท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายจะรู้สึกแย่ยิ่งกว่าเดิม

ให้ลองฟังสิ่งที่นักเรียนพูด แต่หากไม่มีประเด็นไหนฟังขึ้น ก็ให้ปล่อยเรื่องนี้ไป หากรองเท้ามีขนาดพอดี ให้หยิบขึ้นมาสวมดู แต่ถ้าคับหรือหลวมไป ก็ปล่อยมันไว้ ขอให้เลือกเก็บเฉพาะความคิดด้านบวก และละทิ้งความเครียดไป เพราะทั้งคุณและนักเรียนมีเป้าหมายที่สำคัญยิ่งกว่าต้องทำ

 

-3-

เปลี่ยนจุดสมดุลทางอารมณ์

 

หากย้อนเวลากลับไปหลายร้อยปีก่อน ความเชื่อที่คลาดเคลื่อนที่สุดสองเรื่องคงเป็นเรื่อง “โลกแบน” และ “สมองไม่มีพัฒนาการ” ทุกวันนี้ เรามีความรู้ที่ถูกต้องยิ่งขึ้นว่าโลกนั้นกลมและสมองก็พัฒนาได้ นอกจากนี้ สิ่งที่เรียกว่า จุดสมดุล ของการควบคุมน้ำหนักหรือความรู้สึกอิ่มก็เปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน รวมถึงความอดทนต่อความเจ็บปวด ความสุข ตลอดจนระดับความเครียด

ความสมดุลทางอารมณ์ แสดงให้เห็นถึงสภาวะอารมณ์พื้นฐานของคนเรา สำหรับบางคน อาจเป็นความหงุดหงิดหรือโมโห แต่บางคนอาจเป็นความสงบและความสุข

ชวนศึกษาข้อมูลว่าด้วยจุดสมดุลทางอารมณ์ และร่วมทดสอบวิธีการที่ใช้เปลี่ยนสภาวะสมดุลทางอารมณ์ของนักเรียน จากสภาวะเชิงลบสู่สภาวะเชิงบวก

 

ข้อมูลงานวิจัยว่าด้วยสภาวะสมดุลทางอารมณ์

 

นักเรียนส่วนใหญ่ที่ศึกษาในโรงเรียนและประสบภาวะยากจนมีโอกาสได้รับผลกระทบจากความเครียดสะสมหลายรูปแบบ ไม่ว่าความรุนแรง ปัญหาครอบครัว หรือการอาศัยในสภาพแวดล้อมคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ นักเรียนยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนไหวต่อความเครียดทางสังคมสูงกว่าด้วย

สมองของคนเราปรับสภาพรับสภาวะเครียดเรื้อรังด้วยการสร้างจุดสมดุลให้เกิดเป็นมาตรฐานใหม่ โดยถึงแม้ว่ากระบวนการนี้จะเปรียบเสมือนเครื่องช่วยรับมือความเครียด แต่ก็สร้างปัญหาให้กับสมองได้เช่นกัน ตัวอย่างของจุดสมดุลใหม่ของความเครียด ได้แก่ ภาวะระแวดระวังสูงผิดปกติ หรือ hypervigilance (แสดงออกด้วยความก้าวร้าวและความรุนแรงต่อหน้าผู้อื่น) และภาวะตอบสนองช้าผิดปกติ หรือ hyporesponsiveness (แสดงออกโดยสภาวะสิ้นหวังจากการเรียนรู้) แต่คุณช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้หากเข้าใจวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับสภาวะอารมณ์

 

สภาวะอารมณ์และสมอง

อารมณ์ความรู้สึกเป็นปัจจัยที่ควบคุมการทำงานของสมอง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน และพฤติกรรมของคนเราก็อาศัยความเชื่อมโยงระหว่างสมองส่วนอมิกดาลาและสมองส่วนหน้าช่วงกลีบหน้าผาก (prefrontal cortex) ส่วนพฤติกรรมในห้องเรียนที่เกี่ยวโยงกับอารมณ์ความรู้สึก ได้แก่ การเรียนรู้และการควบคุมตัวเอง ทั้งสองปัจจัยจึงถือว่าสำคัญต่อความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะการปรับตัวได้ดีจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างทักษะการรู้คิดและอารมณ์ความรู้สึก การปรับตัวได้ดีช่วยลดปฏิกิริยาก่อความเครียดในโรงเรียน และนำไปสู่ความสำเร็จทางวิชาการ

ผลการสำรวจของงานวิจัยที่ทำการศึกษามายาวนานพบว่า ตัวเลือกในชีวิตประจำวันและในทางเศรษฐกิจนั้นส่งผลต่อความสุขของคนเรามากกว่าพันธุกรรมติดตัว ดังนั้น ปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนสมดุลทางความสุขของนักเรียนคือความสม่ำเสมอ ไม่ใช่กิจกรรมที่จัดขึ้นแบบสุ่มต่อสัปดาห์หรือต่อเดือน

สาเหตุที่อารมณ์ความรู้สึกสำคัญมากต่อการเรียน ก็เพราะเมื่อไม่พอใจหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ บ่อยครั้งคนเราจะไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากภาวะซึมเศร้า อารมณ์โกรธ หรือความหงุดหงิดเป็นสิ่งที่ผู้ใดต้องเผชิญอยู่จนแทบจะเป็นสภาวะถาวร คนๆ นั้นย่อมมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดอยู่เสมอ

หากคุณสอนนักเรียนให้ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ ปลูกฝังสภาวะอารมณ์ด้านบวก และแนะนำวิธีควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิต จุดสมดุลทางอารมณ์ของนักเรียนย่อมเปลี่ยนไปด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จ แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ามากที่จะลอง สภาวะอารมณ์ที่ดีช่วยกระตุ้นการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และในทางกลับกันการตัดสินใจที่มีคุณภาพก็ช่วยพัฒนาสภาวะอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน เมื่อทำเช่นนี้จนประสบผลแล้ว ขั้นต่อไปคือทำอย่างไรให้มั่นใจว่าคุณดึงเอาอารมณ์ความรู้สึกที่ดีขึ้นแล้วนี้มาจากที่ที่เหมาะสม

 

ความสุข 3 ประเภท

เมื่อบรรลุเป้าหมายและมีความสุขที่โรงเรียน ระดับความสุขโดยรวมในแต่ละวันของนักเรียนก็จะดีขึ้นตามไปด้วย จึงเชื่อได้ว่า ประเภท ของความสุขที่นักเรียนรู้สึกได้มีความสำคัญเช่นกัน คุณอาจคิดว่า “ความสุขก็คือความสุข สำคัญอยู่ที่มากหรือน้อย” แต่แท้จริงแล้ว ความสุขมีอยู่ 3 ประเภท และส่งผลต่อนักเรียนแตกต่างกัน ทั้งระดับพฤติกรรมหรือกระทั่งระดับพันธุกรรม

 

  1. ความสุขที่เกิดขึ้นเอง (ณ ชั่วขณะหนึ่ง) ความสุขที่เกิดขึ้นเอง ณ ชั่วขณะหนึ่ง เช่น จากการกินไอศกรีม ความประหลาดใจจากการเปิดกล่องของขวัญ หรือการเห็นพระอาทิตย์ตก
  2. ความสุขจากการไขว่คว้า (ความสุขจากการกระทำ) การแสวงหาความสุขอย่างจงใจให้ได้มา เช่น การติดเกม การซื้อของออนไลน์ การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การติดพนัน หรือการดูโทรทัศน์มากเกินไป
  3. ความสุขจากการบรรลุเป้าหมาย (ความสุขระยะยาว) ความสุขและความพึงพอใจจากความพยายามในการบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่คุ้มค่า เช่น การเข้าร่วมทีมนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ การเรียนรู้ทักษะใหม่ที่ยากและท้าทาย การสร้างสรรค์สิ่งที่สำคัญ หรือการนำทีมทำโครงการที่น่าสนใจ

 

เพื่อให้เข้าใจว่าเหตุใดความสุขทั้งสามประเภทจึงเกี่ยวข้องกับการสอนและเกี่ยวข้องอย่างไร เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่าสมองของเรามีปฏิกิริยาต่อความสุขแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร

จุดต่างที่เห็นชัดของความสุขที่เกิดขึ้นเอง ก็คือความรู้สึกเชิงบวกที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนหรือพยายามทำให้ได้มา อย่างกรณีของการเรียน ความสุขประเภทนี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อครูทำให้นักเรียนประหลาดใจด้วยมุกตลก กิจกรรมที่สนุกสนาน หรือการเลิกชั้นเรียนก่อนเวลา โดยสมองจะตอบสนองด้วยการหลั่งสารโดพามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทแห่งความสุข

ความสุขจากการไขว่คว้าเป็นความสุขที่พบได้บ่อย และแตกต่างจากความสุขประเภทอื่นอยู่สองประการ คือ (1) เป็นความรู้สึกดีที่ตั้งใจให้เกิดขึ้น และ (2) บุคคลนั้นๆ คาดหวังความสุขเป็นเป้าหมายจากการกระทำ สำหรับการเรียนการสอน คุณอาจใช้ประโยชน์จากความสุขจากการไขว่คว้านี้ได้ด้วยการให้รางวัลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกอมหรือเลี้ยงอาหาร หรือการสะสมแต้มเพื่อแลกของรางวัล แต่ความสุขจากการไขว่คว้านี้อาจก่อปัญหาได้เช่นกัน

สมองจะตอบสนองต่อความคาดหวังว่าจะได้รับรางวัลด้วยการหลั่งสารโดพามีน แต่เมื่อเกิดขึ้นซ้ำบ่อยครั้ง สมองจะเคยชินกับรางวัล เท่ากับว่าหากได้รับรางวัลอีกครั้ง สมองก็จะไม่หลั่งสารโดพามีนอีก ความสุขที่ได้รับกลับมาจึงลดลง และพฤติกรรมที่เคยได้รับรางวัลตอบแทนจะกลายเป็นความผิดหวัง ความสุขประเภทนี้จึงเกิดขึ้นได้ยากมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ยาเสพติดเลิกยาก

มนุษย์เรานั้นเสพติดได้ทุกอย่าง ทั้งยาเสพติด เพศสัมพันธ์ น้ำตาล ไขมัน รถยนต์ การชอปปิ้ง และอาชญากรรม การเสพติดคือสภาวะทางชีววิทยาที่กระตุ้นสิ่งมีชีวิตให้เกิด ความเกี่ยวพันที่ไม่อาจยับยั้งชั่งใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเร้าที่น่าพึงพอใจ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยผลลัพธ์อันเลวร้ายและต้องสูญเสียการควบคุมพฤติกรรมไปก็ตามที การเรียนก็เช่นเดียวกัน นักเรียนอาจถูกกระตุ้นให้ไขว่คว้ารางวัลจากครู ถึงแม้ว่าจะเกิดผลเสียในภายหลังก็ตาม

ความสุขประเภทที่สามคือความสุขจากการบรรลุเป้าหมาย โดยความสุขประเภทนี้เกิดจากการทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จนสำเร็จ เช่น การสำเร็จการศึกษา สภาวะแห่งความสุขประเภทนี้ไม่ได้มาจากการได้รับบางสิ่ง แต่มาจากการสร้างบางสิ่งจนสำเร็จ เป็นผลลัพธ์จากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำหน้าที่เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง นั่นคือการแสวงหาเป้าหมายอันยิ่งใหญ่และการเรียนรู้ นอกจากนี้ ความสุขประเภทนี้ยังเป็นดั่งเชื้อเพลิงกระตุ้นความสำเร็จ ช่วยให้ร่างกายเติบโต ทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาณของเนื้อสมอง มีผลทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คนที่มีความสุขจากการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (ความสุขระยะยาว ความสุขจากการบรรลุเป้าหมาย หรือความสำเร็จในเป้าหมายที่พึงพอใจ) ยังพบว่ามีระดับการแสดงออกของยีนที่สื่อการอักเสบต่ำ และพบระดับการแสดงออกของยีนต้านไวรัสและสารภูมิต้านทานในปริมาณสูง นี่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลส่วนตัวด้านสุขภาพที่ดีกว่า และผลพลอยได้ที่เกิดยังรวมไปถึงการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอของนักเรียนมัธยม คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ใช้สารเสพติด และมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ มากกว่า

 

วิธีปรับสมดุลทางอารมณ์ของนักเรียน

 

การปรับสมดุลทางอารมณ์ของนักเรียนมีด้วยกันสองวิธี ได้แก่ (1) ความรุนแรง เช่น บาดแผลทางจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่วิธีการที่ดี และ (2) ระยะเวลาที่เหมาะสม อย่างการเรียนภาษา ในส่วนของการเรียน นี่หมายความว่าคุณต้องจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง โดยสามารถใช้มอบหมายโครงงานสำคัญๆ เน้นที่ผลลัพธ์ แนะนำและให้ผลสะท้อนเพื่อคุณภาพ และสนับสนุนวิธีการที่ได้ผล ตัวอย่างเช่น เด็กประถมและมัธยมที่ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อเป้าหมายระยะยาว (สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม) จะรู้สึกพึงพอใจและมีความสุขระหว่างเรียน โดยนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ความสัมพันธ์ทางสังคม ทักษะในการเข้าใจความหมาย และการเติบโตของแต่ละบุคคล ถือเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสุขจากการบรรลุเป้าหมายด้วย

เรามาดูวิธีการทั้งสี่เพื่อให้จัดกิจกรรมได้ในระยะเวลาที่เหมาะสมกันเถอะ

 

มอบหมายโครงงานสำคัญ

มอบหมายโครงงานที่ต้องใช้เวลาทำมากกว่า 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากมีข้อมูลชี้ว่าเยาวชนระดับมัธยมที่มุ่งสร้างความสุขจากการบรรลุเป้าหมายระยะยาวตลอดเทอมหรือทั้งปีการศึกษามีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าเด็กทั่วไป

ตัวอย่างการมอบหมายงานที่ทำได้ เช่น การเรียนรู้จากการทำโครงงาน งานบริการสังคม หรือแบบฝึกหัดกลุ่มที่อาศัยความร่วมมือภายในระยะเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เมื่อคุณสนับสนุนนักเรียนให้ทำโครงงานที่มีความหมายและมีประโยชน์แทนการทำแบบฝึกหัดช่วงสั้นๆ นักเรียนจะมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้น! นี่คือวิธีการที่ครูผู้มีประสิทธิภาพเลือกใช้อยู่เสมอ

 

เน้นที่ผลลัพธ์

การมอบหมายงานโดยมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ตั้งแต่ต้นจะเกิดขึ้นได้ นั่นหมายความว่าคุณต้องทำให้นักเรียนคล้อยตามเป้าหมายหลัก จากนั้นจึงเสริมให้นักเรียนเห็นคุณค่าของเป้าหมายดังกล่าว บอกเล่าให้นักเรียนรับรู้ประโยชน์ที่จะได้รับ ให้พวกเขาวาดภาพความรู้สึกที่จินตนาการไว้ จากนั้นให้นักเรียนถ่ายทอดประโยชน์ที่ได้รับกับเพื่อนข้างๆ และติดรูปภาพนักเรียนที่กำลังจะทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ ต่อมาให้ทุ่มเทไปที่กระบวนการ ซึ่งก็คือช่วยให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมกับเป้าหมายสุดท้าทาย เมื่อนักเรียนเข้าสู่กระบวนการทำงาน หันไปให้ความสำคัญกับคุณภาพของงาน และความพึงพอใจจะเกิดขึ้นได้จากจุดนี้

 

แนะนำและให้ผลสะท้อนเพื่อคุณภาพ

นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ว่างานที่มีคุณภาพนั้นมีลักษณะอย่างไร ทั้งยังต้องการเห็นว่าครูผู้สอนใส่ใจและให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานที่ทำ ไม่ใช่เน้นความรวดเร็วเพื่อให้งานเสร็จ โดยคุณนำตัวอย่างผลงานของนักเรียนที่มีคุณภาพดีให้ดูเป็นแนวทาง พวกเขาจะได้เข้าใจว่าควรทำอย่างไร ส่งต่อตัวอย่างหรือติดไว้ให้ดูในชั้นเรียน วิธีการนี้จะเชื่อมความรู้สึกพึงพอใจของนักเรียนจนนำไปสู่ประสบการณ์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ยั่งยืน

 

สนับสนุนวิธีการที่ได้ผล

ทำให้แน่ใจว่านักเรียนมีส่วนร่วมอยู่เสมอด้วยการกระตุ้นง่ายๆ ซึ่งทำได้โดยการส่งยิ้ม กล่าวชื่นชม ฉลองความสำเร็จ ให้ผลสะท้อนและคำแนะนำ ชมเชยความสำเร็จของทีม บอกเล่าความสำเร็จของแต่ละคน ให้คู่บัดดี้แนะนำ สร้างปฏิสัมพันธ์ และแสดงการยอมรับงานที่มีคุณภาพ วิธีการนี้ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่นักวิจัยทราบกันดีอยู่แล้วว่า การสนับสนุนเชิงบวกมีประสิทธิภาพเหนือกว่าการกระตุ้นเชิงลบ

ความสุขที่เกิดจากการบรรลุเป้าหมายเป็นสภาวะที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกรายวันที่มีประสิทธิภาพอย่างน่ามหัศจรรย์ต่อโรงเรียนของคุณ นักเรียนจะเข้าเรียนสม่ำเสมอและป่วยน้อยลง ทั้งจะพยายามมากขึ้นและบรรลุเป้าหมายในการเรียนได้บ่อยกว่าเดิม วงจรนี้ยังจะส่งพลังด้านบวกและความหวังกลับคืนสู่ครู ผู้ที่จะรู้สึกมั่นใจและพึงพอใจยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าถึงแม้กระบวนการทั้งหมดนี้จะมองไม่เห็น แต่กลับมีศักยภาพสูงมาก

 

เพราะคุณมีทางเลือกเสมอ เลือกชุดความคิดของตัวคุณเองได้เลย

“ชุดความคิดเชิงบวก”

 

ทัศนคติเชิงบวกนี้ไม่เพียงสอนกันได้ แต่ครูหลายคนได้พิสูจน์แล้วด้วยการผลการสอนที่ดีเยี่ยมจากการปลูกฝังชุดความคิดเหล่านี้ คุณเองก็ทำได้เช่นกัน

ในฐานะครู คุณจะเป็นผู้นำทางให้นักเรียนเกิดความเชื่อในเชิงบวก อย่าลืมว่า คนเราไม่สามารถเลือกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราได้ แต่สามารถเลือกได้ว่าจะตอบโต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร ในทำนองเดียวกัน คุณไม่อาจเลือกนักเรียนในชั้นเรียนที่สอนได้ แต่คุณทำให้การเรียนทุกๆ วันเป็นช่วงเวลาที่ดีได้

หากคุณตัดสินใจที่บ่มเพาะชุดความคิดเชิงบวกให้กับตัวเองและนักเรียน ขอแนะนำสามขั้นตอนสำคัญ ต่อไปนี้ (1) สร้างความเชื่อและเส้นทางใหม่ให้กับตัวคุณและนักเรียน (2) เลือกวิธีการเชิงบวกและลงมือปฏิบัติทันที (3) วางระบบสนับสนุนเพื่อให้มั่นใจในผลสัมฤทธิ์ของการประยุกต์ใช้ โดยระบบสนับสนุนดังกล่าวรวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงาน เขียนบันทึกของตัวเอง และเขียนแผนการสอนโดยใช้วิธีการและแนวทางใหม่ๆ ซึ่งคุณทำได้อย่างแน่นอน!

 

อ่านซีรีส์ ‘7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน’ ย้อนหลังได้ที่นี่