‘กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ’ เปิดพื้นที่เติบโตเพื่อครูและเด็กทุกคน

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง

ภาพ: facebook.com/KrujuiceOfficial

 

อีกปัญหาที่เด่นชัดในสังคมไทยและส่งผลกระทบกับเด็กๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะในปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แม้ว่าปัญหานี้จะฟังดูเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก แต่มีหลายคนพยายามหาทางออก และนำเสนอแนวคิดใหม่เพื่อจัดการกับปัญหา

แนวคิดใหม่ที่ว่านี้ เป็นประเด็นสำคัญในหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน ที่เอริก เจนเซน ครูและนักวิจัย กูรูการศึกษาระดับโลกผู้นำเสนอข้อมูลต่อต้านมายาคติที่ว่า “เด็กที่มีโอกาสเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ” โดยบอกเล่าถึงวิธีการนำไปปฏิบัติจริงในห้องเรียนพร้อมงานวิจัยสนับสนุน

ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ ผู้เคยดูแลนโยบายด้านการศึกษาในฐานะอดีต สส. บัญชีรายชื่อ และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาประเทศฟินแลนด์ เป็นอีกคนที่เชื่อว่าเด็กๆ และครูต่างพัฒนาศักยภาพตนเองได้

ด้วยประสบการณ์หลากหลายทั้งระดับห้องเรียนและระดับนโยบาย ครูจุ๊ยชวนเปิดมุมมองและต่อยอดชุดความคิดจากหนังสือไปอีกขั้น พร้อมเสนอทางออกเชิงระบบรวมถึงตัวอย่างที่เหมาะกับบริบทไทยในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้ครูได้ใช้ชุดความคิดใหม่พลิกห้องเรียนได้อย่างเต็มที่

 

อยากให้ครูจุ๊ยช่วยจัดอันดับปัญหาเร่งด่วนที่ควรลงมือแก้ไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่ามีอะไรบ้าง

ขอแบ่งปัญหาออกเป็นแง่นโยบาย การจัดการโรงเรียน และการจัดการห้องเรียน ในแง่นโยบาย วิธีการจัดสรรงบประมาณของประเทศไทยสำหรับเรื่องการศึกษาสร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่าจะไปอุดช่องว่างหรือจัดการความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าการให้งบประมาณแบบรายหัวของเด็ก ซึ่งทำให้การจัดการงบประมาณภาพรวมติดขัด

จากนั้นในระดับย่อยลงมาก็พบปัญหาการจัดการ เมื่อได้งบประมาณมาแล้วก็จัดการงบประมาณของตัวเองไม่ได้อีก ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายครั้งเวลาพูดถึงการศึกษาฟินแลนด์ คนก็บอกว่าแพง แต่เราต้องมองก่อนว่ายุคแรกที่ฟินแลนด์พัฒนาการศึกษาของประเทศตัวเอง ยุคที่ฟินแลนด์ตั้งต้นว่าจะเริ่มทำจริงๆ เป็นยุคสงคราม ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศเขาก็ไม่มีอะไร ดังนั้นมันไม่ได้มาพัฒนาตอนประเทศฟินแลนด์มีทุกอย่างแล้ว แต่เป็นช่วงที่เขายังไม่มีอะไรเลย

สมมติโรงเรียนในประเทศไทยสังกัด สพฐ. บอกว่า เราเห็นว่ากองทรายภูเขาใหญ่ๆ น่าจะเป็นสนามเด็กเล่นที่ดีให้กับเด็กๆ ได้ ลงทุนก็ไม่เยอะ เอาทรายมากอง แต่ทำไม่ได้เพราะจะขัดกับระเบียบ ซึ่งจริงๆ มันเป็นของเล่นที่ง่ายมาก เอาทรายมากองๆ เป็นภูเขาให้เด็กปีน

พอไปถึงระดับโรงเรียน ผู้อำนวยการก็จะติดขัดเรื่องการประเมินและโครงการต่างๆ ที่ถูกส่งทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการจากกระทรวงศึกษาธิการเอง หรือนอกกระทรวงศึกษาธิการ ตอนสมัยที่ยังอยู่ในสภาก็ลองคำนวณงบประมาณปี 63 ก็พบว่าประมาณ 3,500   กว่าล้านบาทที่ไปอยู่ในโครงการที่เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดประโยชน์ในห้องเรียนและสร้างภาระให้ครู เหล่านี้ พอถึงระดับห้องเรียนแทนที่ครูจะได้ทำงานบริหารจัดการห้องเรียน ได้ดูแลเด็กๆ จริงๆ ก็กลับกลายเป็นต้องทำงานอื่นแทน

พอมาถึงระดับครู ระบบการสนับสนุนครูก็ยังไม่แข็งแรง know-how (ความรู้และทักษะ) ของครูอาจยังต้องเสริมเพิ่มเติมอยู่ในบางกรณี และครูก็ยังทำงานของตัวเองไม่ได้เต็มที่ จึงมองว่าเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สร้างความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ทำให้ปัญหายังคาราคาซังจนถึงปัจจุบัน

 

แบบนี้เรียกว่าไม่สามารถจัดอันดับได้เลย ทุกปัญหาต้องได้รับการแก้ไขแบบเร่งด่วน

ใช่ค่ะ และปัญหาหลักๆ หรือสิ่งที่จุ๊ยมองว่าสำคัญมากที่สุดคือทิศทางการมองปัญหา สิ่งแรกเลยคือเราต้องมองเห็นก่อนว่านี่คือเป็นปัญหา และต้องพยายามจัดการปัญหานี้ร่วมกันแล้วก็ต้องคุยกันมากกว่านี้

 

นอกเหนือจากความขัดสนทางทุนทรัพย์ ความ “poor” ของนักเรียนในมุมที่ครูจุ๊ยได้พบยังมีด้านใดอีกบ้าง

จากประสบการณ์การสอนของตัวเอง เวลาเราพูดถึงเด็กๆ ที่ขาดหรือตกหล่นไปในระบบการศึกษา หลายครั้งเรานึกถึงเด็กๆ ที่เข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่่งซึ่งจุ๊ยก็มองว่าเป็นกลุ่มใหญ่ ที่อาจเป็น poor students อีกแบบในสังคม นั่นคือเด็กที่เข้าไม่ถึงแรงบันดาลใจ หรือแรงที่อยากเรียนรู้ ซึ่งมาจากระบบที่เขาอยู่ในนั้น

ยกตัวอย่าง จุ๊ยเคยสอนหนังสือนักเรียน ม.ปลาย แล้วงานหนึ่งที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ จุ๊ยบอกเขาว่า เราจะอ่านหนังสืออ่านนอกเวลานะ แต่ว่าเทอมนี้เราจะเลือกหนังสือกันเอง กลายเป็นว่าเด็กๆ บางคนเดินมาบอกว่า เขาขอบคุณมากที่คุณครูให้งานนี้มาทำ เขาไม่เคยได้อ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนเพราะที่บ้านไม่ให้อ่าน ซึ่งจุ๊ยมองว่าลักษณะนี้ก็เป็นลักษณะร่วมลักษณะหนึ่งในสังคมการเรียนรู้ของประเทศไทย ทั้งบ้านแล้วก็โรงเรียน แล้วก็มีมุมมองเกี่ยวกับคำว่า “ความรู้” หรือ “วิชาการ” ที่ยึดติดอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งทำให้เด็กๆ มีกรอบการเรียนรู้ที่จำกัดแค่ไม่กี่กรอบเท่านั้น นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่ง

อย่างที่สอง พอกรอบวิธีคิดที่จำกัดไปสะท้อนอยู่ในระบบประเมิน ไปสะท้อนอยู่ในระบบชี้วัดต่างๆ แล้วเรายังไม่เข้าใจวิธีประเมินเหล่านั้นอย่างเพียงพอ ทำให้เด็กๆ  ขาดแรงผลักดันตัวเองให้กลายเป็นเด็กที่อยากเรียนรู้ ยกตัวอย่าง จุ๊ยต้องดูข้อสอบ RT (Reading Test) ป.1 คือเพิ่งขึ้นจากอนุบาล 3 เขาต้องอ่านคำว่าบริษัทได้นะ ทีนี้กรอบเข้าใจก็คือว่าจะต้องทำให้ได้ แต่ว่าพอลองไปคุยกับคนที่เชี่ยวชาญเรื่องวัดประเมินจริงๆ แล้ว เขาบอกว่า เด็กๆ ยังไม่ต้องทำได้ก็ได้ ข้อสอบเป็นการวัดว่า ความหลากหลายทางความสามารถของเด็กมีกี่ระดับ

คำถามคือ สิ่งนี้เด็กๆ รู้ไหม ครูรู้ไหม โรงเรียนรู้ไหม ผอ. รู้ไหม เพราะมันสร้างแผลในใจของเด็กว่า ฉันอ่านไม่ได้ ฉันอ่านอันนี้ไม่ออก ซึ่งมีเด็กจำนวนไม่เยอะหรอกที่อ่านได้ ดังนั้นกรอบวิธีคิดที่ถูกจำกัดไว้แบบนี้ทุกๆ ระดับในการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับวัดประเมิน ไล่ลงมา มันทำให้เกิด poor students ในแง่การจัดการเรียนการสอน แล้วมันก็ส่งผลกับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ

 

ถ้าครูไม่ได้ถูกสอนมาให้เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ สามารถพัฒนาได้ เขาจะสอนให้เด็กเชื่ออย่างนั้นได้ไหม

อยากสะท้อนอีกมุมหนึ่ง นอกเหนือจากครูแล้ว การทำให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนโดยที่เขายังมีชุดความคิดชุดเดิมอยู่ จุ๊ยคิดว่าผู้บริหารมีส่วนสำคัญมากๆ ดังนั้นถ้าจุ๊ยมองหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นหนังสือที่คุณครูอ่านแล้วได้ประโยชน์ แล้วนำไปจัดการเรียนการสอนได้ อีกคนที่ควรได้อ่าน และควรทำความเข้าใจชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ด้วยก็คือผู้บริหาร เพราะว่าถ้าผู้บริหารยังมีชุดความคิดบางอย่างที่เป็นการตีตรา (stigma) กับคุณครูอยู่ เช่น ครูทำไม่ได้ เราเปลี่ยนครูไม่ได้ ครูเป็นเหมือนเดิม หรือว่าครูจะต้องรู้ทุกอย่าง ต้องเก่งทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้เป็นชุดความคิดที่ยังขัดกันอยู่

ผู้บริหารเองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับครูในการลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เหมือนที่ครูก็ทำกับนักเรียน ผู้บริหารเองก็ต้องบริหารจัดการครูแบบนั้นเช่นกัน เนื่องจากว่าถ้าเราเข้าใจสภาพแวดล้อมเดิมหรือว่าสิ่งเดิมๆ ที่ครูเติบโตมา หรือว่าชุดประสบการณ์ที่ครูเติบโตมา

การจะเปลี่ยนหรือนำเสนอสิ่งใหม่ๆ กับเขาได้ มันมาจากพื้นฐานความสบายใจหรือความกล้าที่เขาจะลองทำสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นครูจะกล้าได้อย่างไร ผู้บริหารเองก็ต้องมีพื้นที่ให้ได้ลองผิดลองถูกประมาณหนึ่ง ย้อนกลับไปที่ระบบราชการอีก ระบบไม่ได้อนุญาตให้เราลองผิดลองถูกมากขนาดนั้น เพราะจะไปติดขัดที่ตัวชี้วัดต่างๆ แต่จุ๊ยเชื่อมากๆ ว่าแม้กระทั่งในระบบราชการเอง ถ้าผู้บริหารเข้าใจ และผู้บริหารผลักดัน มันช่วยได้เยอะมากจริงๆ

 

 

อยากฟังประสบการณ์ที่ครูจุ๊ยเคยทำกิจกรรมกับเด็กๆ ด้วยวิธีการรูปแบบใหม่ว่าเป็นอย่างไร

สมัยที่ยังเป็นครูมัธยมอยู่ เล่าคร่าวๆ ก่อนว่า เด็กๆ ในโรงเรียนที่จุ๊ยเคยสอนมาจากโรงเรียนหลายแบบมากๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด แต่เขาเป็นนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกมา ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับ หนึ่งคือเรื่องเศรษฐสถานะ แล้วก็ยังมีเรื่องของระบบเดิมที่เขาอาจถูกบ่มเพาะมาประมาณหนึ่งในเรื่องความพยายามต่างๆ

ทีนี้พอเด็กๆ มาถึงห้องเรียนของเราซึ่งไม่ได้ใช้วิธีเรียนเดียวกันกับตลอด 9 ปีที่ผ่านมาของเขา หนึ่ง คือเขาต้องเริ่มเป็นเจ้าของสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่ สอง เขาจะต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ จัดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น

สิ่งสำคัญมากที่สุดในกระบวนการนี้คือช่วงรอยต่อระหว่างชุดวิธีเดิมกับชุดวิธีใหม่ หรือถ้าเราจะใช้แนวคิด growth mindset ในช่วงเตรียมเด็กๆ ให้เขาได้สัมผัสสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ต้องให้เวลากับช่วงเปลี่ยนผ่านพอสมควร แล้วชุดความคิด growth mindset จะค่อยๆ ทำงานได้ดีขึ้น

 

ในการจัดการเรียนการสอน ครูจุ๊ยให้ความสำคัญเรื่องใดเป็นพิเศษ

มุมมองที่มีต่อการศึกษา หรือวิธีจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนทุกระดับก็ตาม จุ๊ยให้ความสำคัญกับรอยต่อช่วงวัยมากๆ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของเด็กมีความสำคัญกับเด็ก คุณเปลี่ยนจากเด็กอนุบาลเป็นเด็ก ป.1 จากไม่นั่งโต๊ะเป็นนั่งโต๊ะ บางโรงเรียนอาจไม่ได้เรียนวิชาการเลยในระดับอนุบาล ก็มาเริ่มเรียน ป.1 ที่มีเนื้อหามากขึ้น หรือแม้กระทั่งจากระดับประถมเป็นระดับมัธยม สิ่งที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปมันสำคัญมากๆ ดังนั้นพอเราให้ความสำคัญกับจุดเปลี่ยนแล้วก็ส่งผลให้สิ่งที่เราค่อยๆ พยายามส่งเสริมให้นักเรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของเขาได้ง่ายขึ้น

จุ๊ยมีเรื่องประทับใจเยอะนะ คือเราเชื่อเต็มหัวใจว่าเด็กๆ เปลี่ยนแปลงได้ และเขาก็สนุกกับการเรียนการสอนได้ อย่างหนึ่งที่จุ๊ยถือว่าเป็นตัวอย่างของ growth mindset ที่ดีมากเลย เราเคยทำกิจกรรมกันในห้อง เด็กๆ เขาทำโมเดลกัน นี่คือวิชาภาษาอังกฤษ ทำโมเดลตามนิยายที่อ่านแล้วเขาก็ให้ความเห็นกับเพื่อน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปมา ปรากฏว่ามีนักเรียนกลุ่มหนึ่งรื้อโมเดลของเขาใหม่ เพื่อนๆ ก็งง ครูก็งง เกิดอะไรขึ้น เขาบอกว่าเข้าใจแล้ว วิธีที่คิดมาตอนแรกมันใช้ไม่ได้ เพื่อนๆ เสนอมาแล้วเขาก็เห็นด้วย เอาละ เขาจะรื้อใหม่

ขณะที่ในกรอบโครงสร้างการศึกษาแบบเดิม เราแทบไม่เหลือเวลาให้เด็กๆ ได้ทำแบบนี้เลย เพราะเดี๋ยวต้องไปทำนั่น เดี๋ยวไปทำโน่น เดี๋ยวไปสอบนี่ ดังนั้นส่วนหนึ่งต้องอาศัยทั้งระบบโรงเรียนและระบบภาพรวมที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนแบบนี้เป็นไปได้ แต่ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้นคือระบบใหญ่ก็ต้องช่วยเด็กๆ ด้วย

 

พอเห็นตัวอย่างแบบนี้ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว เด็กไทยก็กล้าคิดกล้าทำ หากมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คิดนอกกรอบได้ ไม่ต่างกับเด็กๆ ในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีอย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อะไรคือปัจจัยส่งเสริมเด็กที่โน่นบ้าง

เด็กๆ ที่สแกนดิเนเวียมีความกล้าเพราะอะไร หนึ่ง มีพื้นฐานรัฐสวัสดิการรองรับ ไม่ว่าเขาอยากจะเปลี่ยนไปในช่วงอายุไหน อยากเปลี่ยนอาชีพตอนไหน จุ๊ยเคยไปเจอเด็กอาชีวะที่อายุ 25 แล้วก็บอกว่า เมื่อก่อนอยากเป็นช่างภาพแต่ตอนนี้เปลี่ยนใจอยากเป็นเชฟ แล้วก็มาฝึกใหม่ ซึ่งเขาทำได้ เพราะเขามีระบบรองรับ

อีกระบบหนึ่งที่รองรับคือ การสามารถเปลี่ยนสายการเรียน เด็กๆ ที่อยู่ในระบบไม่จำเป็นต้องยึดติด เด็กๆ ไม่ต้องยึดติดว่าเรียนอันนี้ ตัดสินใจปุ๊บ แล้วต้องทำตลอดชีวิต ซึ่งระบบต้องออกแบบมาตอบโจทย์ชีวิตคนในปัจจุบันและอนาคตด้วย แล้วมีความหลากหลาย อีกทั้งเราสามารถพัฒนาศาสตร์ต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ให้กลายเป็นอาชีพอันหลากหลายได้ ไม่ได้จำกัดเหมือนเดิม แน่นอนยังมีวิชาชีพเฉพาะบางอย่างที่ก็ต้องการการเรียนเฉพาะทาง แต่สิ่งที่เห็นในปัจจุบันคือ เราเห็นคนอยากเป็นหมอแต่เรียนอีกด้านหนึ่งมา แล้วโรงเรียนแพทย์ก็รับเข้าเรียนต่อได้

ดังนั้นโครงสร้างระบบก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามศักยภาพมนุษย์ให้ทัน ถ้าเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงได้ จุ๊ยคิดว่า เจ็ดชุดความคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นยากอย่างที่คิด และมันจะทำงานได้ดีขึ้นเยอะมากๆ

 

มีคำแนะนำไหมว่าเราจะสนับสนุน growth mindset ให้ครูได้อย่างไร

ตอนที่คุยกับครูทั้งโรงเรียน มีประเด็นหนึ่งที่เอามาแบ่งปันกับครูแล้วครูก็บอกว่า เขาไม่เคยมองมุมนี้มาก่อน แล้วก็อาจเป็นตัวจุดประกายเล็กๆ ให้เขา คือจุ๊ยชวนเขานึกถึงตอนเป็นนักเรียน เขาเคยเป็นอย่างไร ทำอะไร เคยชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จริงๆ มันก็คือเรื่องนี้แหละ คือเอาความสัมพันธ์กับตัวเขากลับมาเป็นตัวช่วยออกแบบชั้นเรียนของเขาให้มีเรื่อง growth mindset มากขึ้น

จุ๊ยอาจไม่ได้ใช้คำว่า growth mindset แล้วคุยกับเขา จุ๊ยเอาภาพบางภาพให้ครูดู ชวนครูคิดว่าเราเคยเป็นเด็กหลังห้องใช่ไหม เราเคยทำอะไรต่อมิอะไรมาหมดเลยใช่ไหม เราเคยไม่ตั้งใจเรียน เราเคยทำอะไรมาเต็มไปหมดเลย แล้วก็ชวนเขาถามต่อว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมถึงเกิดสิ่งนั้น แล้วถ้าเราเป็นเจ้าของห้องเรียนร่วมกับนักเรียนของเราตอนนี้ เราจะทำยังไงดี

ในโรงเรียนตอนนี้ เราพยายามทำเรื่อง phenomenal based learning ซึ่งก็ไม่ง่ายนัก ด้วยความที่เป็นโรงเรียนเอกชนก็ยังมีข้อจำกัดของหลักสูตรและตัวชี้วัด ในระดับเด็กอนุบาล เราทำได้ค่อนข้างเต็มที่ เพราะความคาดหวังของผู้ปกครองที่มีต่อเด็กอนุบาลและความคาดหวังของผู้ปกครองที่มีต่อเด็กประถมแตกต่างกัน พอมาถึงช่วงประถมแล้วมีเนื้อหามากขึ้น มีมุมที่จะต้องพยายามสร้างสมดุลมากขึ้น ทำให้ต้องมานั่งคิดว่า จะจัดห้องเรียนแบบไหน

พอทำเรื่อง phenomenal based learning ไปสักพัก ก็เกิดความคิดแบบที่ทุกคนคาดหวังได้เลย คือคิดว่าทำไม่ได้ ไม่รู้จะเอามารวมกันยังไง สิ่งที่ค่อยๆ ทำก็คือ ให้ธีมไปง่ายๆ อย่างตอนนี้ สถานการณ์รอบตัวตอนนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง ทุกคนก็บอกว่าโควิดกันหมด จุ๊ยบอกว่านอกจากเรื่องโควิด ยังมีอีกเรื่องคือ เด็กๆ อนุบาล 3 ที่กำลังจะขึ้น ป.1 ทีนี้ครูไปคิดโจทย์มา แล้วก็ค่อยๆ เริ่มจากครูหนึ่งคนออกแบบว่าเขาจะจัดกระบวนการเรียนการสอนอย่างไรภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้เพื่อให้เชื่อมโยงกับทุกวิชา

 

คงไม่ง่ายที่ต้องออกแบบการเรียนการสอนภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง ครูจุ๊ยทำอย่างไรเพื่อให้กระบวนการคิดนี้ดำเนินต่อไปได้จนสำเร็จ

จุ๊ยบอกเขาอย่างหนึ่งว่าอย่าคาดหวังให้ตัวเองทำได้หนึ่งร้อย วันนี้อย่าเพิ่งคาดหวังว่ามันจะบูรณาการสมบูรณ์แบบ ไม่เป็นไร ลองดูก่อน คุณครูก็เริ่มต้นกันว่า เราจะทำยังไงดีนะ อ๋อ มันคือการเดินทาง เขาก็ไปออกแบบเป็นธีมการเดินทางมาก่อน

ครูเลขก็บอกว่า การเดินทางก็มีเลขอยู่ในนั้นได้นะ เดี๋ยวเราจะเดินทางจากสิ่งที่มีเยอะไปสู่สิ่งที่มีน้อยที่สุด คือเขาเรียนจำนวนนับจากเยอะที่สุดไปจำนวนน้อยที่สุด คุณครูที่ดูแลวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของเด็กๆ บอกว่าเราเรียนเรื่องโควิดได้ด้วยนะ ก็จะเรียนเรื่องเชื้อโรคอย่างง่ายๆ เขาก็ค่อยๆ มาทีละคนๆ แล้วก็เริ่มมองเห็นว่าเขาจะอยู่ในกระบวนการนั้นได้อย่างไร โดยที่จุ๊ยในฐานะผู้บริหารเองแทบไม่ได้มีส่วนในนั้นเลย เราจุดประกายนิดเดียวเอง ด้วยทัศนคติที่ว่าเราเชื่อว่าเขาทำได้ พาเขาย้อนกลับไปดูกระบวนการการเรียนรู้ที่เคยมีมาของเขา ก็เอามาประยุกต์

ตอนนี้เราก็ได้กระบวนการนี้ที่เรียกว่า “The Journey Bag” ของโรงเรียน หนึ่ง เด็กๆ ก็ต้องมีเพื่อนของเขาเป็นตุ๊กตา เด็กๆ ก็ต้องพาเพื่อนเขามา ทำไมเด็กๆ ต้องมีเพื่อน เพราะว่าเด็กอนุบาล 3 จะขึ้น ป.1 แล้วยังต้องเรียนที่บ้านอยู่ เด็กๆ คงเหงาน่าดูเลย เราก็เลยส่งเพื่อนไปให้หนึ่งคน เป็นเพื่อนที่เด็กๆ จะต้องใส่รายละเอียดว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วก็มีเรื่องจำนวนนับต่างๆ จากการเรียนรู้เรื่องเชื้อโรคกระจายได้อย่างไร มีสติ๊กเกอร์เจ้าไวรัสโควิดที่น่ารักมาก แล้วเขาก็ไปติดเต็มบ้าน เมื่อติดแล้วก็นับไปด้วย แล้วก็เรียนรู้เรื่องห้องต่างๆ ในบ้านไปด้วย

จนมาถึงสัปดาห์สุดท้ายที่เด็กๆ ดูแลตัวเองได้ดีมากแล้ว ก็ได้เวลาแกะสติ๊กเกอร์ออก แล้วเนื่องจากโรงเรียนเราอยู่เชียงใหม่ ก็เลือกใช้ธีมว่า “เซี่ยงลึ้ง” ภาษาเหนือแปลว่าหมดเกลี้ยง ครูเลขก็จะเล่าเรื่องของเขาไป ส่วนวิชาอื่นก็จะสรุปมาสะท้อนคิดกันว่าพอได้รู้ว่าเชื้อโรคกระจายยังไงแล้ว ดูแลตัวเองแล้ว ตอนนี้เชื้อโรคหมดแล้วนะ มันก็เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กๆ ก็ภาคภูมิใจว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ

สอง เขาได้ทำอะไรบางอย่างให้ประสบความสำเร็จ แล้วเขาก็ได้เรียนรู้เนื้อหาไปพร้อมๆ กัน การเรียนรู้ชุดนี้คือหนึ่งเดือน เราตั้งใจจะเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมกลับมาโรงเรียน ซึ่งจุ๊ยมองกระบวนการเรียนรู้ของครูแล้วก็เห็นว่าตรงจุดที่เราอาจมองข้ามไปในรายละเอียดของความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนของคุณครู พอเรากลับไปนึกแล้ว มันช่วยให้เขาค่อยๆ จัดกระบวนการ growth mindset ได้มากขึ้น ก็สบายใจขึ้น พอจุ๊ยบอกว่าไม่เป็นไร ลองดูก่อน มีอะไรเดี๋ยวมาคุยกัน เราพยายามมาระดมสมองร่วมกัน ก็ได้ชิ้นงานนี้ออกมา

 

ครูแนะแนวมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ ไหม

จุ๊ยคิดว่าบริบทหนึ่งที่หายไปจากระบบการศึกษาไทยทั้งระบบก็คือฝั่งจิตวิทยาทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นครูแนะแนว นักจิตวิทยา หรือแม้กระทั่งครูที่สนับสนุนการศึกษาพิเศษ คำว่าพิเศษไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักเรียนที่เป็นออทิสติกเท่านั้น แต่กลุ่มภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ต่างๆ (learning disability) ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

ถ้ามองในแง่กระบวนการ จุ๊ยคิดว่าเราเข้าใจและมีองค์ความรู้เรื่องออทิสติก เรื่องสมาธิสั้นประมาณหนึ่ง สามารถจัดการได้แล้ว แต่ที่ยังไม่มีเลย แล้วมันช่วยเด็กๆ ได้มากคือความรู้ความเข้าใจภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ต่างๆ เช่น ภาวะการบกพร่องทางการอ่านและเขียน (dyslexia) พอไม่มีความเข้าใจหรือไม่มีคนมาช่วย ก็ทำให้เด็กๆ สูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปเยอะ เพราะเขาไม่เข้าใจ และครูเองก็ไม่เข้าใจว่านักเรียนเป็นอะไร เมื่อไม่เข้าใจก็จะเกิดปัญหาระยะยาว

จุ๊ยเคยสอนนักเรียนปริญญาโทซึ่งไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะ dyslexia จนกระทั่งมาเรียนปริญญาโท สิ่งที่เขาสะท้อนมาก็คือ “ครู ผมไม่เคยรู้เลยว่าผมเป็น dyslexia จนกระทั่งครูลองบอกให้ผมไปดูว่า dyslexia คืออะไร ผมลองไปเช็กดู แล้วผมเป็นจริงๆ ผมโดนด่าว่าโง่ เพราะสะกดคำผิดๆ ถูกๆ มาทั้งชีวิตเลย” สิ่งเหล่านี้ต้องการองค์ความรู้บวกกับวิธีคิดแบบ growth mindset นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่หายไป

ส่วนแนะแนว จุ๊ยคิดว่ามันหายไปทั้งระบบ คาบแนะแนว สมัยจุ๊ยเรียนมันเป็นคาบว่างมาทำควิซเล่นกัน ซึ่งไม่ได้ช่วยในกระบวนการทำความรู้จักตัวเอง แน่นอนว่าการรู้จักตัวเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับคาบแนะแนวหรือว่าครูแนะแนวหนึ่งคน แต่ควรมีครูคนนั้นที่คอยช่วยคอยรับฟังปัญหาต่างๆ จะเป็นครูแนะแนวหรือนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนก็ได้ที่คอยฟังเด็กๆ และคอยตั้งคำถามที่มีประโยชน์กับตัวเขาสะท้อนกลับมา สิ่งนี้ต้องพึ่งพาทั้งส่วนครูและส่วนที่เป็นครูแนะแนวไปพร้อมๆ กัน สร้างระบบนิเวศที่จะทำให้เด็กๆ ได้รู้จักตัวเอง และกล้าที่จะทดลองสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น

 

 

แปลว่าครูแนะแนวไม่ได้มีหน้าที่แค่ “แนะนำ” หรือ “ให้คำตอบ” นักเรียนอย่างเดียว

เรามีคำถามคลาสสิกในห้องแนะแนวที่ทุกคนต้องผ่านมา นั่นคือโตขึ้นอยากเป็นอะไร แล้วมันก็เป็นคำตอบที่ซ้ำๆ แต่ตอนเด็กๆ จุ๊ยอยากเป็นภรรยาทูตนะ ตอน ม.2 จำได้เลย เป็นคำตอบที่ครูไปไม่เป็น คุณครูก็จะแบบยังไงนะ แต่เราก็บอกเหตุผลของเราว่าเราจะได้เดินทางไปต่างประเทศแล้วใส่ชุดสวยงาม คือจุ๊ยมองว่ามันสำคัญมากที่เด็กๆ จะได้อยู่ในกระบวนการที่เขาได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ สามารถต่อยอดสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ ได้ แล้วมีคนช่วยไกด์ ที่สำคัญกว่าช่วยไกด์คือมีคนช่วยตั้งคำถามในสิ่งที่เขาสนใจและสิ่งที่ทำอยู่

 

นอกจากครูแนะแนวแล้ว มีใครอีกบ้างที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้หรือรู้จักตนเอง

อีกอย่างที่น่าจะทำไปพร้อมๆ กัน มันไม่ได้มีอยู่ที่ระบบโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เราต้องยอมรับว่าในโครงสร้างสังคมในประเทศเรา พ่อแม่มีบทบาทสำคัญมากจริงๆ ดังนั้นส่วนนี้พ่อแม่เองก็ต้องเริ่มเข้าใจเด็กๆ มากขึ้น

จุ๊ยเองเป็นหนึ่งในเด็กที่ไม่กล้าบอกพ่อแม่ว่าอยากเรียนอะไร เราบอกไปแล้วตอนสมัยเรียนว่าอยากเรียนอะไร บอกไปแล้วว่าอยากเรียนคณะนิเทศฯ คุณพ่อบอกว่าให้เรียนอักษรฯ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไม ก็อยากเรียนนิเทศฯ ก็สื่อสารกันไม่ได้ ก็ยอมไปเรียนอักษรฯ เหล่านี้ ก็คือฝั่งผู้ปกครองก็สำคัญด้วยเหมือนกัน

จุ๊ยมองว่าทุกส่วนที่กล่าวถึง ทั้งคุณครูเอง ผู้ปกครอง ครอบครัว ระบบโรงเรียนเองมีส่วนช่วยให้เด็กๆ เข้าใจและรู้จักตัวเอง และสามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งนั้น แล้วก็ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันค่ะ

 

เราจะช่วยครูได้อย่างไรในระบบที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูกได้มากนัก

อยากพาย้อนไปไกลกว่าระบบ ก็คือแนวคิดที่มันครอบอยู่ จุ๊ยคิดว่า ณ ตอนนี้เราอยู่ภายใต้แนวคิดหรืออุดมคติที่เชื่อว่าผลลัพธ์เท่านั้นหรือความสมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่เราละเลยกระบวนการทั้งหมดไป และไม่สามารถนำสิ่งนี้เข้ามาอยู่ในระบบใดๆ ก็ตามที่เป็นองคาพยพการศึกษาได้เลย บวกกับอีกปัจจัยที่สำคัญมากๆ คือ ระบบทั้งสังคมตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน แต่เราไม่สามารถจัดการความไม่แน่นอนนั้นได้ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคมต่างๆ ทำให้เราเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความกลัว

ทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นระบบราชการก็จัดการด้วยความกลัว ใช้วิธีอุดรอยรั่ว ก็ออกมาทางนโยบาย คือแทนที่จะมองถึงศักยภาพคน กลายเป็นว่าไปหาจุดผิด มากกว่าจะมองว่ามีคนผิดอยู่ไม่กี่คน เราไม่ต้องออกแบบระบบให้ไปรองรับคนผิดไม่กี่คนนั้นหรอก แต่ออกแบบระบบให้คนส่วนใหญ่ทำงานได้ดีกว่าไหม เรื่องนี้คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่มากๆ ทำให้ทุกส่วนที่เป็นจิ๊กซอว์ต่อจากนี้ก็ถูกออกแบบแบบนี้มาเหมือนกัน โรงเรียนก็เกิดความกลัวว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ทำแบบนั้นไม่ได้ ผู้ปกครองก็เกิดความกลัวมากมาย เด็กๆ จะสอบได้ไหม จะทำอาชีพอะไร ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

แล้วนโยบายแบบไหนที่ครูจุ๊ยอยากเห็น

จุ๊ยรู้สึกว่า เราใช้ความกลัวออกแบบระบบ ออกแบบการทำงาน มากกว่าจะเข้าใจว่าเราสามารถบริหารจัดการความกลัวนี้ได้ และเราควรบริหารจัดการมันอย่างไร อันนี้เป็นคำถามเชิงนโยบายว่า เราได้ออกแบบนโยบายบนพื้นฐานสองอย่างนี้แล้วหรือยัง คือ หนึ่ง เราเชื่อในกระบวนการขั้นตอนการพัฒนาต่างๆ กับสอง เราเชื่อว่าเราออกแบบนโยบายมาเพื่อให้บริหารจัดการความกลัวต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอหรือยัง

ดังนั้นถ้าให้กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครู หรือในส่วนของระบบราชการก็ตาม จุ๊ยอยากเห็นชุดนโยบายที่ไม่ได้มุ่งไปที่ความผิดหรือลงโทษคน แต่เป็นชุดนโยบายที่เอื้อให้คนพัฒนาตัวเองได้

 

เห็นอะไรบ้างในฐานะคนที่ดูแลเรื่องนโยบาย

ตอนนี้จุ๊ยไม่ได้เป็นกรรมาธิการการศึกษาแล้ว แต่ยังเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการอยู่ สิ่งที่เราเห็นตลอด กลายเป็นว่ากรรมาธิการฯ ทำงานเพื่อหาจุดที่ผิดที่ถูก เคสนี้ผิดยังไง เคสนั้นถูกยังไง เคสนี้ตกลงทำแบบนั้นได้ไหม ทำแบบนี้ได้ไหม แม้กระทั่งระบบบนสุดที่อยู่ในส่วนพัฒนานโยบาย พัฒนากฎหมาย เรายังวนเวียนอยู่กับการชี้ผิดชี้ถูก ในการประชุมกรรมาธิการเราเคยถึงขั้นต้องมีกรณีที่เด็กไปแข่งขันภาษาระดับจังหวัดแล้วเขาได้ที่สอง แล้วมาร้องเรียนกับเรา ซึ่งจุ๊ยมองว่านี่คือสิ่งที่เราต้องตัดสินหรือ ทำไมไม่มีระบบบริหารจัดการสิ่งนี้ได้เลยล่ะ มันมาถึงกรรมาธิการที่ทำเรื่องนโยบายภาพใหญ่ได้อย่างไร ซึ่งมันสะท้อนกลับไปถึงวิธีคิดค่ะ

จุ๊ยคิดว่าวิธีคิดสองตัวนี้ต้องเอากลับมาทบทวน และต้องกลับมาเป็นความคิดแกนที่ใช้ออกแบบนโยบายทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดสิ่งที่เรากำลังคุยกันทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นครูมีพื้นที่ในการออกแบบ ครูได้พัฒนาตัวเอง ได้เป็นเจ้าของห้องเรียน โรงเรียนมีอิสระมากขึ้นในการบริหารจัดการ ก็จะมาจากวิธีคิดทั้งสองนี้

 

สถานการณ์โควิด 19 สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยมีความเหลื่อมล้ำจริง ทั้งเรื่องการเรียนรู้ เรื่องเศรษฐสถานะ และจะทำให้ในอนาคตอันใกล้เป็นปัญหาใหญ่โตมากกว่านี้ จึงอยากทราบว่าเราจะทำอะไรกับสถานการณ์นี้ได้บ้าง แล้วถ้าใช้แนวความคิดนี้ในการพัฒนาจะเป็นจริงได้ไหมท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ

ถ้ามองแบบหนังสือเล่มนี้ที่เชื่อการเปลี่ยนหรือการมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ถ้าจะขยายความเพิ่มเติมในเรื่องวิธีการวัดประเมิน จุ๊ยว่านี่คือโอกาสครั้งสำคัญที่เราจะได้ทั้งปรับเปลี่ยนเนื้อหาการเรียนการสอนให้มุ่งมาที่ทักษะของเด็กมากขึ้นและเปลี่ยนวิธีวัดประเมิน ในเมื่อเวทีโควิดนี้จะเป็นเวทีที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เราสามารถทำแบบอื่นได้เหมือนกัน ไม่ต้องทำแบบเดิมก็ได้ ถ้าเวทีสามารถพิสูจน์สิ่งนี้ได้ จุ๊ยคิดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการศึกษาไทยเลย

เราเริ่มเห็นความคิดสร้างสรรค์หลายๆ อย่างที่มาจากคุณครูแทบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแบบไหนในประเทศไทย หลังจากนั้นจุ๊ยคิดว่าถ้าเราสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ปรับตัวประเมินให้เน้นที่ทักษะคิดหรือว่าเน้นที่การสังเกตพัฒนาการเด็กมากขึ้น ก็น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งที่สถานการณ์โควิดช่วยมากๆ เลย แน่นอนว่าสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลกับคนที่มีเทคโนโลยีและไม่มีเทคโนโลยี แต่ก็ทำให้หลายคนที่ไม่เคยแตะต้องเทคโนโลยีเข้ามาแตะต้องเทคโนโลยี มันไม่ได้ลดช่องว่างหรอก แต่มันช่วยให้คนหลากหลายกลุ่มมากขึ้นเริ่มหันมามองเห็นวิธีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ อันนี้เรานับในระดับปัจเจก เราจะยังไม่วิพากษ์วิจารณ์แพลตฟอร์มของภาครัฐ แต่ถ้าในระดับปัจเจกแล้ว ก็ทำให้คนต้องมาพยายามออกแบบสิ่งที่ตัวเองทำอยู่และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจุ๊ยคิดว่าสำคัญมากๆ

นานเท่าไรแล้วที่เราลองพยายามทำสิ่งใหม่ๆ โดยที่ไม่โดนกำกับมาก เพราะตอนนี้การกำกับครูในระดับปัจเจกคงเป็นไปได้ยากมาก แล้วทุกอย่างก็ต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามบริบท เราจะเห็นการประชุมผู้ปกครองออนไลน์ซึ่งเป็นชุมชน ทุกคนได้เรียนรู้สิ่งใหม่พร้อมกัน เรียกว่าทุกคนใหม่กันหมดเลย ครูก็ใหม่ โรงเรียนใหม่ ผู้ปกครองก็ใหม่ บางทีเด็กๆ ก็ใหม่ ดังนั้นจุ๊ยคิดว่านี่คือโอกาสสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แล้วก็เป็นโอกาสที่จะพลิกวิธีคิดจากการเน้นผลลัพธ์ให้มาอยู่ที่กระบวนการมากขึ้น

 

ระบบการประกวดแข่งขันนั้นขัดแย้งกับเจ็ดชุดความคิดมาก ทำอย่างไรให้ สพฐ. เข้าใจเรื่องนี้ นอกจากนั้นเจ็ดชุดความคิดยังขัดแย้งกับระบบอำนาจรวมศูนย์ ทำอย่างไรให้โรงเรียนจัดการตัวเองได้ และคิดเห็นอย่างไรที่ว่า จริงๆ แล้วความเสมอภาคทางการศึกษาจะเกิดขึ้นได้จากความเป็นประชาธิปไตยและการเป็นรัฐสวัสดิการ

ด้วยจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ราวครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ดังนั้นถ้าเรากล่าวถึงความเหลื่อมล้ำ โอกาสนี้ควรเป็นโอกาสที่เราเริ่มบริหารและใช้ทรัพยากรไปเพื่อโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น และด้วยบริบทของสถานการณ์โควิด โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนที่จัดการได้ง่ายกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ สิ่งที่เราพยายามพูด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วย growth mindset การรักษาระยะห่างทางกายแต่ใกล้กันทางใจมากขึ้น เหล่านี้ ทรัพยากรที่โรงเรียนขนาดเล็กมีอยู่เอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านี้มาก เพียงแต่เขาต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณ เขาต้องการการสนับสนุนในแง่ know-how รวมถึงวิธีบริหารจัดการต่างๆ

ถ้าใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่เราอยากเห็น เรามักยกตัวอย่างเรื่องฟินแลนด์ตลอด คือ โรงเรียนใกล้บ้านที่มีคุณภาพจะค่อยๆ เกิดขึ้น จุ๊ยอยากเห็นการใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระบบการศึกษาไทย ณ ตอนนี้

 

ครูจุ๊ยมีอะไรอยากฝากทิ้งท้ายไหม

อย่างหนึ่งที่อยากฝากทุกๆ คน ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในประเทศนี้หรือคนที่คิดว่าตัวเองอาจไม่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา

อยากให้เชื่อว่าเราทุกคนเป็นเจ้าของระบบการศึกษานี้ร่วมกัน และทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งละอันพันละน้อยที่เรากำลังค่อยๆ หยิบมาทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

มองให้มันเป็น growth mindset ค่อยๆ มองเห็นรายละเอียดของมัน มองเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ของมัน แล้วก็เดินต่อไป พยายามพูดคุยกันเยอะๆ จุ๊ยยังอยากเห็นวงสนทนาและการพูดคุยเรื่องการศึกษาแพร่กระจายต่อไปในหลายๆ กลุ่ม ในคนที่มีความคิดหลากหลายเพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น เพื่อที่จะได้คุยว่า ทิศทางมันควรจะเป็นแบบไหน อย่างไร และเราจะทำอย่างไรต่อไปกับการศึกษาประเทศนี้ค่ะ

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเสวนาสาธารณะ “Poor Students, Rich Teaching สอนเปลี่ยนชีวิต – สู้ความเหลื่อมล้ำด้วยพลังแห่งการสอน” โดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

 

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่