เจาะมุมมองครูฟินแลนด์-ไทย และความหมายใหม่ของการศึกษาแบบ “แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง”

ชลิดา หนูหล้า เรียบเรียง

 

“ฉันนึกไม่ออกว่าจะทำงานในสภาพแวดล้อมอื่นได้อย่างไร”

อิโลนา เลมุ (Ilona Leimu) ครูประถมศึกษาจากกกโกลา (Kokkola) บอกอย่างภูมิใจ ขณะที่สัมภาษณ์เธอนั้นเป็นเวลาพักของเด็กๆ และแม้อุณหภูมิจะต่ำถึง -14 องศาเซลเซียส อิโลนาก็ยังยืนยันว่าพวกเขาได้รับอนุญาตให้เล่นในสนามนอกอาคารเรียน

กกโกลาอยู่สูงขึ้นไปราว 300 ไมล์จากเฮลซิงกิ เป็นเมืองริมฝั่งทะเลบอลติกเหนือที่อิโลนาบรรยายว่า “เล็กและไกลปืนเที่ยง” เธอติดตามสามีมาตั้งรกรากที่กกโกลาในปี 1999 และแม้จะเคยมีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือเป็นครูในแอฟริกา แต่อิโลนาไม่เคยคิดจะโยกย้ายจากเมืองนี้ รวมถึงไม่มีสักวินาทีที่ต้องการออกจากวิชาชีพ ด้วยเหตุผลดังประโยคข้างต้น

น่าเสียดายที่ประโยคเดียวกันนี้ให้ความรู้สึกต่างออกไปเมื่อผู้พูดเป็นครูไทยที่มองไม่เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการจัดการเรียนรู้ นอกจากแนวทางที่ถูกกำหนดให้เท่านั้น อย่างที่มะพร้าว หรือฉัตรบดินทร์ อาจหาญ บรรยายว่า “เหมือนตะโกนร้องคนเดียวในอุโมงค์ที่กว้างมาก บางคนถูกระบบกลืน อีกส่วนหนึ่งก็ถอยออกมาเลย”

ฟินแลนด์เพิ่งฟื้นฟูตัวเองจากภัยพิบัติทางเศรษฐกิจและภาวะสงครามเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กระนั้นกลับเป็นหนึ่งในประเทศที่พุ่งทะยานสู่ความสำเร็จในศตวรรษใหม่ โดยนอกจากการเป็นรัฐสวัสดิการที่โดดเด่น ระบบการศึกษาฟินแลนด์ยังทำให้นักการศึกษาทั่วโลกฉงนฉงายด้วยคะแนนทดสอบสมรรถนะผู้เรียนที่สูงลิ่ว ทั้งที่มีจำนวนชั่วโมงเรียนสั้น ไร้ระบบตรวจสอบจากภายนอก และไร้แบบทดสอบมาตรฐานระดับชาติ

นักการศึกษาและนักวิจัยหลายต่อหลายคนเฝ้าหาคำอธิบายปรากฏการณ์นี้ บ้างเชื่อว่าเพราะฟินแลนด์มีครูคุณภาพสูงที่ผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มงวด บ้างเน้นผลสัมฤทธิ์ของการกระจายคุณภาพโรงเรียนและการศึกษา

แต่ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) และทิโมธี วอล์กเกอร์ (Timothy Walker) สองผู้เขียน เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์ ที่ต่างคุ้นเคยกับระบบการศึกษาฟินแลนด์เชื่อว่ารากของความสำเร็จหยั่งอยู่ใน “วัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจ” ที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของสังคมฟินแลนด์ต่างหาก

แล้วความไว้วางใจซึ่งกันและกันสร้างบรรยากาศการทำงานที่ทำให้ครูฟินแลนด์ไม่อาจจินตนาการถึงระบบอื่นได้อย่างไร

 

หนังสือ เชื่อใจในตัวครู กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์

 

จุดเริ่มต้นที่คลับคล้าย

 

แม้ปลายทางจะผิดแผก แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้อิโลนาและมะพร้าวเลือกเป็นครูนั้นแทบจะไม่แตกต่างกันเลย

“ฉันเติบโตมาในครอบครัวสองวัฒนธรรมและสองภาษา แม่เป็นชาวฟินแลนด์ และพ่อเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ ฉันเกิดที่เฮลซิงกิ แล้วย้ายไปอยู่ที่เมืองเล็กๆ ใกล้รอตเตอร์ดัม เมื่ออายุเก้าขวบก็กลับฟินแลนด์” อิโลนาบอก “ฉันมีความทรงจำมากมายเกี่ยวกับการลาคลอดของแม่เพราะวัยเด็กของฉันเริ่มต้นที่ฟินแลนด์ ระยะเวลาลาคลอดแต่ก่อนไม่นานเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ก็ทำให้ฉันมีพ่อและแม่อยู่ด้วยตลอดเวลา”

เมื่อถามว่าอะไรทำให้เธอตัดสินใจเป็นครู อิโลนาเล่าอย่างออกรสว่า “ฉันเป็นเด็กที่ชอบเล่นเป็นครู ฉันก่อตั้งคลับของตัวเองแล้วพาเพื่อนๆ มาเล่นที่บ้าน นึกแล้วก็เห็นใจเด็กในละแวกบ้านและลูกพี่ลูกน้องของฉันจริงๆ เพราะฉันชอบสอนเอามากๆ” นอกจากนี้ เธอยังเสริมว่าเธอรักครูของเธอ รักโรงเรียนของเธอ และแทบจะมีแต่ความทรงจำดีๆ ในวัยเรียน “เหมือนฉันเกิดมาเพื่อเป็นครูเลยละ”

 

อิโลนา เลมุ ครูประถมศึกษาชาวฟินแลนด์

 

กระนั้น อิโลนาก็มีช่วงชีวิตที่สับสนและหันเหจากเส้นทางสู่การเป็นครู โดยความฝันตลอดวัยมัธยมของเธอคือการเป็นสถาปนิก กระทั่งปีสุดท้ายในโรงเรียนที่ “มีชั่วโมงให้คำปรึกษานักเรียนทุกสัปดาห์ และมีโอกาสพบนักจิตวิทยาด้วย ผลการทดสอบของนักจิตวิทยาบอกว่าฉันคงเป็นสถาปนิกที่ไม่ดีนัก ฉันกลับไปหาเขาถึงสามครั้ง แต่ทำแบบทดสอบกี่ครั้งๆ ผลก็เหมือนเดิม มันบอกว่าจุดแข็งของฉันคือการทำงานร่วมกับเด็กและทำงานเพื่อสังคม”

“วันนั้นฉันร้องไห้ตลอดบ่าย” เธอสารภาพ “รู้สึกเหมือนชีวิตพังทลาย แต่ก็แปลกที่ในวันเดียวกันนั้นเอง ฉันตระหนักว่าฉันเป็นครูตัวน้อยๆ มาตลอด ฉันชอบช่วยเหลือคนให้เรียนรู้ และกระตือรือร้นออกแบบกิจกรรมในคลับของฉันเสมอ หลังจากนั้น ฉันไปทำงานอาสาสมัครที่เอกวาดอร์สามสัปดาห์ และระหว่างที่อยู่ท่ามกลางเด็กๆ ที่ยากจนกว่า ฉันก็รู้สึกได้ทันทีว่าฉันมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือพวกเขา”

ขณะที่เส้นทางของมะพร้าวเรียบง่ายและคงเส้นคงวากว่า คือ “ผมเสพติดการสอนเพื่อนๆ ในวัยเด็ก จำได้ว่าครั้งหนึ่งโรงเรียนมีการสอบช่วงบ่าย ผมอ่านหนังสือมา แต่ชอบทบทวนด้วยการพูดมากกว่าเลยหาคนมานั่งฟัง เพื่อนฟังแล้วก็ชมผม บอกว่าเข้าใจง่ายกว่าในห้องเรียน ผมเสพติดปฏิกิริยาเวลาอีกฝ่ายเข้าใจบางอย่าง เสพติดแววตาแบบนั้น สีหน้าแบบนั้น เลยรู้ตัวว่าผมคงหนีไม่พ้นความเป็นครู พ่อของผมที่เป็นครูบอกว่าเงินเดือนครูน้อยนะ ทำให้ผมชั่งใจอย่างหนัก แต่สุดท้ายก็กระโจนลงมาทำ ขอให้ได้ทำสิ่งที่ชอบ”

 

“ฉันตระหนักว่าฉันเป็นครูตัวน้อยๆ มาตลอด ฉันชอบช่วยเหลือคนให้เรียนรู้ และกระตือรือร้นออกแบบกิจกรรมในคลับของฉันเสมอ หลังจากนั้น ฉันไปทำงานอาสาสมัครที่เอกวาดอร์สามสัปดาห์ และระหว่างที่อยู่ท่ามกลางเด็กๆ ที่ยากจนกว่า ฉันก็รู้สึกได้ทันทีว่าฉันมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือพวกเขา”

 

ปลายทางที่ผิดแผก

 

อย่างไรก็ตาม เหตุผลของเขาอาจไม่ใช่เหตุผลของครูทุกคน “หลายคนไม่ได้เข้ามาในระบบการศึกษาเพราะอยากเป็นครู แต่เพราะต้องการสวัสดิการ สวัสดิการของรัฐมีเพียงหยิบมือ คนจึงเข้ามาเพราะหวังเอาชีวิตรอด ซึ่งทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนแปลงแน่นอนถ้าเรามีสวัสดิการถ้วนหน้า” มะพร้าวเสริม

แม้ความรักในการจัดการเรียนการสอนจะไม่ใช่แรงขับเคลื่อนของครูทุกคน แต่ท่ามกลางครูจำนวนมากที่ลาออกเร็วๆ นี้ เหตุผลของพวกเขาล้วนเกี่ยวข้องกับความรักที่ว่าทั้งสิ้น “ผมเคยถามครูหลายคน (ว่าทำไมจึงลาออก) คำตอบส่วนใหญ่เหมือนกันคือพวกเขาเป็นครูแต่ไม่ได้ทำงานของครู ต้องจัดทำเอกสาร จับจีบผ้า ยกโต๊ะ เสิร์ฟน้ำส้มให้ผู้บริหาร จนไม่ได้สอนอย่างเต็มที่ แล้วก็ถูกตรวจสอบตลอดเวลาว่าคุณทำงานจริงหรือเปล่า ถึงจะพยายามส่งเสียงเรียกร้องก็ไม่เป็นผลเลย เหมือนตะโกนร้องคนเดียวในอุโมงค์ที่กว้างมาก บางคนก็ถูกระบบกลืน อีกส่วนหนึ่งก็ถอยออกมาเลย”

สิ่งที่ผลักเขาออกจากวิชาชีพก็ไม่แตกต่างกันนัก “ผมเชื่อว่ามนุษย์จะเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ด้วยประสบการณ์ที่เข้ามากระแทกตัว และทำให้เราตั้งคำถามต่อชุดความเชื่อเดิมที่ถูกประสบการณ์นั้นรบกวน ซึ่งครูมีหน้าที่สร้างประสบการณ์นั้น ผมเป็นครูวิทยาศาสตร์ สมมตินักเรียนมีความเชื่อที่ผิดเพี้ยน อย่างเชื่อว่าของที่หนักต้องจมและของที่เบาต้องลอยเท่านั้น ผมก็ต้องสร้างประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้เด็กๆ สงสัยในสิ่งที่เชื่อและเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

 

“ผมเคยถามครูหลายคน (ว่าทำไมจึงลาออก) คำตอบส่วนใหญ่เหมือนกันคือพวกเขาเป็นครูแต่ไม่ได้ทำงานของครู ต้องจัดทำเอกสาร จับจีบผ้า ยกโต๊ะ เสิร์ฟน้ำส้มให้ผู้บริหาร จนไม่ได้สอนอย่างเต็มที่ แล้วก็ถูกตรวจสอบตลอดเวลาว่าคุณทำงานจริงหรือเปล่า”

 

“แต่ระหว่างการสอนออนไลน์ ผมทำอย่างนี้ได้ยาก พาประสบการณ์เข้าไปชนกับนักเรียนได้ยาก จริงๆ ไม่ควรเรียกว่าการสอนออนไลน์ด้วยซ้ำ แต่เป็นการเรียนรู้ทางไกลต่างหาก ครูก็สอนไป นักเรียนก็มานั่งดู ที่น่าประหลาดคือมันยิ่งเพิ่มการตรวจสอบการทำงานของครู ตรวจสอบว่าครูจัดการเรียนรู้ออนไลน์ได้ไหม นักเรียนเข้าเรียนทุกคนหรือเปล่า”

“ครูต้องถ่ายภาพหน้าจอยืนยันว่าเด็กทุกคนเข้าเรียน ต้องเขียนรายงานว่าจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีไหน ต้องเอาตัวรอดด้วยการตรวจสอบนักเรียนอีกทอดหนึ่งเพื่อนำผลไปส่ง นักเรียนก็ต้องเอาตัวรอดบ้าง ต้องหาวิธีเข้าเรียน ต้องหาอุปกรณ์ อลหม่านไปหมด ขัดกับความเชื่อของผมด้วย ผมก็เลยถอย”

 

มะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ อดีตครูโรงเรียนสาธิต

 

ในทางตรงกันข้าม ฟินแลนด์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการออกจากวิชาชีพของครูต่ำมาก แม้อัตราดังกล่าวจะสูงขึ้นเล็กน้อยระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อิโลนาซึ่งเริ่มต้นเส้นทางในวิชาชีพตั้งแต่ปี 1999 บอกว่า “ฉันรักเด็ก รักการเรียนรู้ และได้รับความไว้วางใจในการทำงาน เรามีอิสระในการทำงานด้วยวิธีของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองได้เมื่อเป็นครู ซึ่งสำคัญมากต่อสุขภาวะของฉันในฐานะครู ฉันนึกไม่ออกว่าจะทำงานในสภาพแวดล้อมอื่นได้อย่างไร เพราะมันทำให้ฉันรักงานของฉัน ทำให้ฉันได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ริเริ่มสิ่งใหม่ มีโอกาสพัฒนางานของตัวเอง และมีไฟเสมอ ถ้ามีคนคอยพูดกรอกหูว่าฉันต้องทำอะไร ฉันสูญเสียจิตวิญญาณนี้ไปแน่ๆ”

ช่างสอดคล้องกับนิยามความไว้เนื้อเชื่อใจของเธอเอง คือ “ความเป็นอิสระในตัวเอง (sense of autonomy) ที่ครูทุกคนสัมผัสได้ในการทำงาน” อิโลนาอธิบาย “ความรู้สึกว่ามีทางเลือกเสมอทำให้เรามีสุขภาวะที่ดีไม่ว่าสถานการณ์ในชีวิตจะเป็นอย่างไร”

 

“ฉันรักเด็ก รักการเรียนรู้ และได้รับความไว้วางใจในการทำงาน เรามีอิสระในการทำงานด้วยวิธีของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองได้เมื่อเป็นครู ซึ่งสำคัญมากต่อสุขภาวะของฉันในฐานะครู ฉันนึกไม่ออกว่าจะทำงานในสภาพแวดล้อมอื่นได้อย่างไร”

 

สำหรับมะพร้าว ความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันในระบบการศึกษานั้น “คือการเชื่อว่าครูจะทำหน้าที่ที่หน้างานได้ดีที่สุด แต่พวกเขาไม่เชื่อเรา” เขาบอก “ระบบคิดว่าครูเอาตัวไม่รอดแน่นอน พวกเขาไม่เชื่อว่าครูจะทำงานที่มีคุณภาพได้ และต้องควบคุมการทำงานของครูให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

โดยหากต้องให้คะแนนความไว้เนื้อเชื่อใจที่ครูไทยได้รับในปัจจุบัน จาก 1-10 คะแนน เขาจะให้เพียงสามคะแนน เหตุผลคือยังมีหลายโรงเรียนที่ทลายกรอบธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนั้นได้ แต่ต้อง “อาศัยดวง” มากทีเดียว

“ต้องอาศัยดวงให้ผู้บริหารเห็นแก่นแท้ของความไว้เนื้อเชื่อใจ การไว้เนื้อเชื่อใจใช้พลังนะ มันคือการเปิดเผยจุดเปราะบางของตัวเอง พูดง่าย แต่ทำยาก ถ้าครูเกิดทำผิดพลาดขึ้นจะทำอย่างไร ผู้บริหารส่วนมากจึงไม่ไว้ใจครู เพราะกระทรวงไม่ไว้ใจโรงเรียน ผู้ปกครองส่วนมากก็ไม่ไว้ใจโรงเรียน สุดท้ายจึงเลือกจะตรวจสอบกันและกัน บอกให้ฉันรู้สิว่าคุณกำลังทำอะไร จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกัน”

ดูเหมือนระบบการศึกษาไทยจะยึดคติ “แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง” เป็นกรอบนโยบาย คือหากปราศจากการสอดส่องดูแลเสียแล้ว เหล่าหนูหรือผู้น้อย ไม่ว่าจะน้อยด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ หรืออำนาจ ก็จะสนุกสนานกันยกใหญ่ ระบบการศึกษาฟินแลนด์ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ฟินแลนด์ดูจะยินดีให้แมว “ไม่อยู่” เพื่อใช้ความร่าเริงของหนูให้เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่เพียงสะท้อนศักดิ์ศรีที่ทัดเทียมกันระหว่างหนูและแมวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนวัฒนธรรมและสภาพสังคมที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว กล่าวคือสะท้อนสังคมที่อุดมความไว้เนื้อเชื่อใจ พร้อมเปิดโอกาสให้ความหลากหลายได้แบ่งบาน

แต่ฟินแลนด์ให้ความหมายใหม่แก่สำนวนนี้ที่มีความหมายตรงกันทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยได้อย่างไร

 

“การไว้เนื้อเชื่อใจใช้พลังนะ มันคือการเปิดเผยจุดเปราะบางของตัวเอง พูดง่าย แต่ทำยาก ถ้าครูเกิดทำผิดพลาดขึ้นจะทำอย่างไร ผู้บริหารส่วนมากจึงไม่ไว้ใจครู เพราะกระทรวงไม่ไว้ใจโรงเรียน ผู้ปกครองส่วนมากก็ไม่ไว้ใจโรงเรียน สุดท้ายจึงเลือกจะตรวจสอบกันและกัน บอกให้ฉันรู้สิว่าคุณกำลังทำอะไร จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกัน”

 

หนูร่าเริงแล้วผิดอะไร

 

แน่นอนว่าวัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจของชาวฟินแลนด์ไม่ได้ไร้ที่มาที่ไป แต่หยั่งรากลึกในชีวิตประจำวันของพวกเขาตั้งแต่เล็กจนโต เป็นเนื้อเดียวกับทุกองคาพยพของสังคมทั้งที่มีและไม่มีชีวิต ทุกสิ่งถูกออกแบบเพื่อรองรับความเชื่อที่ว่าสมาชิกในสังคมซึ่งได้รับการฝึกฝนดีแล้วย่อมมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

“เราเชื่อว่าเด็กคือทรัพยากรสำคัญที่ทรงคุณค่า ซึ่งความเชื่อนี้เสริมสร้างวัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจด้วย เด็กๆ ในฟินแลนด์จะได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาพูดและทำมีผลตามมาเสมอ เท่ากับที่ได้เรียนรู้ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะพูดและใช้ความคิดสร้างสรรค์” อิโลนาบอก

นอกจากนี้ เด็กๆ ยังได้รับการส่งเสริมให้ดูแลตนเองได้ “พวกเขาจะเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียนตั้งแต่อายุเจ็ดปี และที่ความเชื่อใจนี้เกิดขึ้นก็เพราะความเชื่อมั่นในความปลอดภัย สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เรามีถูกออกแบบด้วยความคิดเดียวกันนี้ ฉันเคยไปสหรัฐอเมริกา และแปลกใจที่พวกเขาไม่เดินไปไหนมาไหนกันนัก แต่เมื่อได้เดินเองจึงรู้ว่าทำไม ที่นั่นไม่มีทางข้ามหรือทางจักรยานที่ปลอดภัยเลย ขณะที่เด็กๆ ในกกโกลาจะขี่จักรยาน เดิน หรือแม้แต่สกีไปโรงเรียนเสมอ”

 

“ฉันเคยไปสหรัฐอเมริกา และแปลกใจที่พวกเขาไม่เดินไปไหนมาไหนกันนัก แต่เมื่อได้เดินเองจึงรู้ว่าทำไม ที่นั่นไม่มีทางข้ามหรือทางจักรยานที่ปลอดภัยเลย ขณะที่เด็กๆ ในกกโกลาจะขี่จักรยาน เดิน หรือแม้แต่สกีไปโรงเรียนเสมอ”

 

ไม่เพียงการไปโรงเรียนเองเท่านั้น การเล่นนอกบ้านหรือนอกห้องเรียนก็เป็นกิจกรรมสร้างเสริมพัฒนาการที่ผู้ปกครองและครูชาวฟินแลนด์ให้ความสำคัญ สนามโรงเรียนไร้รั้วกั้นจะเปิดให้ใช้เสมอแม้ในวันหยุด โดยถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน “แน่นอนว่าเด็กเล็กหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องเล่นในสถานที่ปิด เพราะอาจมีอันตราย แต่โดยทั่วไปเมื่อเด็กมีอายุเจ็ดปี เราเชื่อว่าพวกเขาดูแลตัวเองได้แล้ว”

 

กิจกรรมนอกห้องเรียนในวันหิมะตกของเด็กๆ ในกกโกลา

 

แน่นอนว่าการอนุญาตให้ “หนูร่าเริง” นั้นมีปัญหาบ้าง แต่ชาวฟินแลนด์ไม่ได้แก้ไขปัญหาด้วยการส่งแมวกลับเข้าไป “เรามีเด็กดื้อเหมือนกัน มีข้อเสียเหมือนมนุษย์ทุกคนในทุกประเทศ ตลอดอายุการทำงานของฉัน มีเด็กสักสามคนได้ที่เข้าไปในป่าหลังโรงเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เราจะไม่ลงโทษพวกเขา ขังเด็กๆ ไว้ในห้อง หรือสร้างรั้วแน่นอน ที่เราทำคือพูดคุยกัน เราจัดการมันด้วยความไว้ใจ”

“ครูชาวอเมริกันคนหนึ่งเคยมาที่นี่และแปลกใจที่เห็นเด็กๆ เล่นกันกลางหิมะ เขาบอกว่าถ้าหิมะตกละก็จะไม่มีเด็กคนไหนในโรงเรียนได้จับหิมะเลย เพราะเดี๋ยวพวกเขาจะปั้นหิมะเป็นลูกบอลขว้างใส่กัน ‘ก็ใช่น่ะสิ’ เราบอกเขาอย่างนั้น บางครั้งเด็กก็ขว้างลูกบอลหิมะใส่เราจนหัวโน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องพูดคุยกันสิ หรือถ้าเด็กทำความผิดซ้ำซากก็ต้องบอกครูใหญ่และเรียกผู้ปกครองมาพูดคุยกัน ทำไมต้องลบโอกาสในการทำผิดพลาดทั้งหมดทิ้งด้วย คนเราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ แต่ต้องมีโอกาสพูดคุยกัน”

ช่างเป็นตลกร้ายที่คำบอกเล่าของเธอแทบจะเป็นขั้วตรงข้ามอย่างสมบูรณ์ของมะพร้าว

“หนังสือ (เชื่อใจในตัวครู) บอกว่าชาวฟินแลนด์ให้ลูกเดินไปโรงเรียนเอง เป็นผมผมไม่ทำนะ คนยังถูกรถชนบนทางม้าลายอยู่เลย”

 

มะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ ระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

 

เขาเสริมอีกด้วยว่า “ความไว้วางใจเกิดจากความเชื่อมั่นในคุณภาพ ทำไมพ่อแม่ไม่พาลูกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น ก็เพราะเราไม่มีสนามเด็กเล่นใกล้บ้านที่มีคุณภาพ หรือไม่มีพื้นที่ให้เด็กไปเล่นกับเพื่อนได้ ผมเคยพูดคุยกับเพื่อนว่าทำไมเราไม่ไว้ใจครู คุยกันไปคุยกันมาก็ได้คำตอบเหมือนกันว่า เราไม่ไว้ใจกันเพราะระบบการศึกษาไม่มีคุณภาพ ความไว้วางใจต้องอาศัยคุณภาพหรือศักยภาพที่ทำให้คนเผยจุดเปราะบางของตัวเองได้  ไม่ต้องใช้พลังในการควบคุมมาก”

 

สังคมและความไว้เนื้อเชื่อใจ

 

คำตอบของครูและอดีตครูให้คำใบ้ที่น่าสนใจคำใบ้หนึ่ง คืออิสระและโอกาสขัดเกลาศักยภาพของผู้คนในสังคมมีที่มาจากเครื่องค้ำจุนบางประการ

“ผมนึกถึงคำที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้คือ ‘ระบบนิเวศของการเรียนรู้’ โรงเรียนใช้คำว่าระบบนิเวศ ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอน เพราะการศึกษาคือระบบนิเวศ มีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากมาย สถาบันทางสังคมทุกสถาบันต้องขยับ ไม่ใช่แค่ดีดนิ้วแล้วทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้”

“สังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเชื่อใจกัน คุณภาพชีวิตที่ดีและสวัสดิการถ้วนหน้าทำให้เราไม่ต้องแข่งขันกัน โรงเรียนไม่ต้องแข่งขันกัน เด็กไม่ต้องแข่งขันกัน มหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องแข่งขันกันเพื่อลำดับสูงๆ” อดีตครูอธิบาย “ถ้าเราไม่ต้องแข่งขันกับใคร เมื่อไม่มีใครต้องพยายามเอาตัวรอด เราก็ใช้ชีวิตด้วยความสบายใจได้และยิ่งสร้างเสริมความไว้ใจซึ่งกันและกัน เหมือนผิดพลาดกี่ครั้งก็ยังมีเบาะรองรับ ลองผิดลองถูกได้ หาเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเองได้ ไม่ใช่ล้มปุ๊บ ตายปั๊บ”

 

“สังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเชื่อใจกัน คุณภาพชีวิตที่ดีและสวัสดิการถ้วนหน้าทำให้เราไม่ต้องแข่งขันกัน เมื่อไม่มีใครต้องพยายามเอาตัวรอด เราก็ใช้ชีวิตด้วยความสบายใจได้ และยิ่งสร้างเสริมความไว้ใจซึ่งกันและกัน เหมือนผิดพลาดกี่ครั้งก็ยังมีเบาะรองรับ ลองผิดลองถูกได้”

 

เขาเชื่อว่าหากคนส่วนใหญ่เข้าถึงสวัสดิการสังคมได้ ผู้เลือกประกอบอาชีพครูก็คงมีคุณภาพและความมุ่งมั่นยิ่งขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้น “นักเรียนเองก็จะได้สัมผัสความรู้สึกที่ว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่มีโรงเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำกันมากๆ ไม่มี ‘เก้าร้อยไม่แพง’ หรือ ‘มหาวิทยาลัยเป็นเพียงทางเลือก’ และเมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็จะมีบุคลากรที่มีคุณภาพ ขับเคลื่อนสังคมได้ ระบบต่างๆ ก็จะยิ่งมีคุณภาพ ยิ่งไว้ใจกันได้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ”

“เพราะถ้าเราไม่เชื่อมั่นในการเมือง ก็ไม่แปลกที่จะไม่เชื่อมั่นในนโยบายด้านการศึกษา ไม่เชื่อมั่นในสถาบันศาสนาที่กำหนดแบบเรียนในโรงเรียน ก็ไม่แปลกที่จะไม่เชื่อมั่นในโรงเรียน ทุกสถาบันเชื่อมโยงกัน เมื่อมีสถาบันใดสถาบันหนึ่งไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนในสังคม ระบบการศึกษาก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจเต็มที่ด้วย”

อิโลนาให้คำตอบเดียวกัน เพียงแต่สถานการณ์ในฟินแลนด์เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

“เราเชื่อมั่นในสถาบันทางสังคมของเรามาก เราเชื่อในระบบยุติธรรม และเชื่อในระบบสวัสดิการ บริการสุขภาพเป็นหัวใจของความเชื่อมั่นนี้เลย เพราะบริการสุขภาพจะไร้ค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กทุกคนจนกว่าจะมีอายุครบ 18 ปี มันอาจไม่ดีพร้อม แต่ก็ทำให้เราเบาใจได้ว่าถ้ามีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้น จะมีคนดูแลเรา ฉันชอบนะที่ฟินแลนด์ไม่ใช่สังคมอุดมการแข่งขัน”

และความสบายใจ ไม่ต้องพะวงถึงการเอาชีวิตรอดนั่นเองที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น่าชื่นใจในโรงเรียน อย่างที่อิโลนาเล่าว่า

“การศึกษาของเราไม่มีค่าใช้จ่าย อาหารโรงเรียนก็เหมือนกัน ครั้งหนึ่งฉันเห็นเด็กคนหนึ่งได้พายสามชิ้น ขณะที่เพื่อนๆ ได้ชิ้นเดียว จึงรีบถามครูของเขาว่าเกิดอะไรขึ้น เธอตอบว่าเพราะเธอรู้ว่าเขาต้องหิวที่บ้านอย่างไรละ จากนั้น แผนกครัวจึงตั้งใจทำอาหารที่ดีเป็นพิเศษในวันจันทร์และวันศุกร์ เพราะเด็กหลายคนไม่ได้กินดีอยู่ดีนัก ฉันดีใจที่ระบบการศึกษาของเราใส่ใจเรื่องนี้ คุณเห็นไหมว่าการดูแลกันและกันฝังอยู่ในระบบนี้อย่างไร สำหรับครอบครัวที่ไม่มีเงินซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ สิ่งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง ถึงไม่ร่ำรวยก็จะไม่เดือดร้อน มันทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า “เฮ้ พวกเขาพยายามดูแลเรานะ เราเชื่อใจพวกเขาได้” มันอาจเป็นจุดเล็กๆ แต่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมนี้ทั้งหมด”

 

กิจกรรมสร้างสรรค์เอเลียนในจินตนาการ อิโลนากำลังสอนเด็กๆ ในชั้นให้ใช้เข็มและด้ายอย่างปลอดภัย

 

ความไว้วางใจในคุณภาพชีวิตของอิโลนานั้นเข้มแข็งเสียจนเมื่อถามว่าหากตัดสวัสดิการของรัฐอย่างหนึ่งออก อาทิ กล่องแรกเกิด (baby box) หรือกล่องที่บรรจุของใช้เด็กอ่อนซึ่งทุกครอบครัวจะได้รับเมื่อมีสมาชิกใหม่ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เธอตอบว่า “เราก็ยังมีทุกอย่างนี่ แม่ยังลาคลอดได้โดยได้รับค่าแรงเต็มจำนวน มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาพ่อแม่มือใหม่ เมื่อไปโรงเรียนก็มีพยาบาลประจำโรงเรียนดูแล สมมติเด็กมองเห็นได้ไม่ดี พยาบาลจะเป็นผู้ประเมินและพาไปพบแพทย์ คุณอาจต้องซื้อแว่นตาเอง หมายความว่าระบบของเราไม่ได้ไร้ค่าใช้จ่ายไปเสียทุกอย่าง แต่ตราบที่มีคนนำทาง เท่ากับเด็กคนนั้นยังได้รับโอกาส อันที่จริง ถ้าครอบครัวของเด็กยากจนมาก ฉันเชื่อว่าพวกเขาจะของบประมาณเพื่อซื้อแว่นตาให้ลูกได้ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่ยุคสงคราม คือโรงเรียนต้องมีอาหารฟรี และต้องมีแพทย์หรือพยาบาลดูแลเด็ก”

องค์ความรู้ว่าด้วยสวัสดิการสังคมในนานาประเทศย่อมไม่อาจเล็ดลอดสายตาของผู้กำหนดนโยบายไทยที่มีโอกาสดูงานในแดนไกลบ่อยครั้ง จึงทำให้นึกสงสัยทีเดียวว่าเหตุใดองค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้จึงไม่เคยถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การยกระดับการศึกษา

“ผมคิดว่าเป็นความไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงมากกว่า” มะพร้าวตอบ “ผมเคยเห็นโพสต์ของครูคนหนึ่ง ถามว่าเราจะไปดูงานเพื่ออะไร ถ้าดูแล้วก็บอกว่าคนละบริบทกัน เป็นตลกร้าย แต่แฝงความจริงว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงอะไร คนที่ได้ไปส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ครูตัวเล็กตัวน้อย แต่เป็นคนที่มีอำนาจที่ควบคุมทิศทางการศึกษา พอไปดูงานแล้วเห็นสิ่งที่ทำลายตัวเอง คนที่ต้องสูญเสียอำนาจก็ไม่ทำหรอก”

 

“คนที่ได้ไป (ศึกษาดูงาน) ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ครูตัวเล็กตัวน้อย แต่เป็นคนที่มีอำนาจที่ควบคุมทิศทางการศึกษา พอไปดูงานแล้วเห็นสิ่งที่ทำลายตัวเอง คนที่ต้องสูญเสียอำนาจก็ไม่ทำหรอก”

 

“แล้วการทำงานในระบบการศึกษาก็ต้องอาศัยการสั่งกันเป็นทอดๆ กระทรวงไปหาเขต เขตไปหาผู้บริหาร ผู้บริหารไปหาครู เป็นระบบที่แข็งทื่อ ขยับตัวอะไรก็ช้า ต้องรอการอนุมัติไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ต้องรอให้มีคำสั่งลงมา ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ทดลองอะไรเลย นอกจากตรวจสอบกันเป็นทอดๆ บีบให้พยายามเอาตัวรอด”

เขาเสริมว่า “จริงๆ ก็มีคนตั้งคำถามนะ ว่านี่คือความไม่ไว้วางใจหรือการจงใจควบคุมกันแน่ ที่เป็นอยู่นี้อาจไม่ใช่ความไม่ไว้ใจก็ได้ แต่เป็นการควบคุมผ่านความไม่ไว้วางใจ เป็นการแสดงอำนาจ ความห่วงใยที่นี้คือการใช้อำนาจ เรามีอำนาจที่จะตรวจสอบคุณนะ และไม่มอบอำนาจนั้นให้คุณหรอก”

 

อนาคตที่แตกต่าง

วัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจนี้ไม่เพียงหล่อเลี้ยงความหวังในปัจจุบันเท่านั้น แต่ครูและอดีตครูในสองประเทศยังเห็นอนาคตของสังคมที่แตกต่างกันด้วย สำหรับอิโลนา หากฟินแลนด์รักษาวัฒนธรรมความเชื่อใจนี้ไว้ได้ “เราจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีสุขภาวะที่ดี ได้รับการศึกษาที่ดี และจะทำงานรับใช้ชุมชนของตัวเอง อาจจะมีหลายคนที่สูญเสียจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการหรือการพยายามอย่างสุดความสามารถไป เราอาจต้องสร้างแรงขับเคลื่อนในตัวเด็กมากกว่านี้ ซึ่งฉันคิดว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ทำได้ดี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองด้วย”

เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ในฟินแลนด์ที่ผู้อพยพและโยกย้ายถิ่นฐานทวีจำนวน อิโลนาก็ไม่ได้แสดงความกังวลนักว่าวัฒนธรรมนี้จะถูกสั่นคลอนด้วยความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน “ฉันคิดว่าวัฒนธรรมความเชื่อใจจะอยู่รอด เพราะฟินแลนด์ต้อนรับผู้อพยพส่วนใหญ่อย่างดีที่สุด โรงเรียนเองก็มีบทบาทสำคัญมากในการทำให้เยาวชนของเราพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะการทำให้เด็กๆ ผู้อพยพปรับตัวได้”

ที่โรงเรียนของเธอ เด็กๆ กลุ่มนี้ “ต้องเรียนภาษาฟินนิชเป็นเวลาหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่ง เมื่อพร้อมก็เรียนในชั้นเรียนทั่วไปได้เลย โดยยังต้องเรียนภาษาฟินนิชต่อไปอีกระยะหนึ่ง ที่สำคัญคือต้องมีชั้นเรียนภาษาแม่ของพวกเขาด้วย ชั้นเรียนภาษาไทยก็มีนะ ถ้ามีเด็กสี่คนขึ้นไปพูดภาษาเดียวกัน พวกเขาจะได้รับสิทธิ์นั้นทันที เราอาจไม่มีครูบางภาษาที่นี่ อย่างภาษาจีนกลาง แต่จะมีคอร์สออนไลน์ให้พวกเขาเรียนภาษาจีนกลางกับครูที่เฮลซิงกิ”

 

“ฉันคิดว่าวัฒนธรรมความเชื่อใจจะอยู่รอด เพราะฟินแลนด์ต้อนรับผู้อพยพส่วนใหญ่อย่างดีที่สุด โรงเรียนเองก็มีบทบาทสำคัญมากในการทำให้เยาวชนของเราพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะการทำให้เด็กๆ ผู้อพยพปรับตัวได้”

 

อนาคตผ่านเลนส์ความไว้เนื้อเชื่อใจของมะพร้าวต่างหากที่อยู่บนทางแพร่งสำคัญ

“ที่น่าสนใจคือโรงเรียนควบคุมอะไรนักเรียนไม่ได้แล้ว เราเคยเชื่อว่าใครก็ตามผ่านระบบการศึกษาไปจะเชื่องต่อระบบ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เราต้านกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว โรงเรียนต้องปรับตัว ถ้ามัวแต่ต่อต้านเด็กก็จะไม่หลงเหลือบทบาทอะไรในสังคม”

ที่เขาเป็นกังวลคือการเคลื่อนไหวเรียกร้องของเด็กๆ มาจากความหมดศรัทธาในสถาบันทางสังคมรวมถึงสถาบันการศึกษาอย่างสิ้นเชิง และสถานการณ์ในปัจจุบันก็ไม่มีวี่แววจะนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจได้เลย

“เด็กไม่ไว้ใจผู้ใหญ่แล้ว เด็กเติบโตมาโดยเห็นแต่การบริหารจัดการที่ล้มเหลว ที่เห็นได้ชัดมากคือการจัดการระบบทีแคส (TCAS) เด็กๆ ได้แต่ถามว่านี่หรือผู้ใหญ่ในสังคมนี้ ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างนี้หรือ เราจะเห็นว่าเด็กๆ เคลื่อนไหวโดยไม่แยแสอะไรผู้ใหญ่แล้ว ไม่มีความพยายามประนีประนอม ไม่มีความพยายามเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีแต่ความรู้สึกว่า ‘ไม่ไหวแล้วโว้ย’”

 

ด.ญ.ดั่งใจ (Little Miss Dungjai) ภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้น
ที่สะท้อนความคับข้องใจของนักเรียนต่อระบบการศึกษา

 

“ฟังพวกเขาเยอะๆ เถอะครับ เปิดพื้นที่ให้เด็กพูดเยอะๆ คุณไม่ต้องจัดแจงอะไรมาก แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ พูด การเรียนรู้เกิดจากบทสนทนา แต่เราไม่ได้สนทนากันอย่างมีเหตุมีผลเท่าไร”

อีกประเด็นที่เขากังวลคือแทนที่ “อินเทอร์เน็ต” จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มันกลับเป็นเครื่องมือถ่างช่องว่างระหว่างวัยด้วยห้องก้องสะท้อน (echo chamber) ในโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยข้อมูลชุดเดิมๆ เพราะอัลกอริธึมป้อนข้อมูลที่ผู้ใช้คุ้นเคยให้เสมอ

หากครูจะทำอะไรให้เด็กพร้อมรับมือการประนีประนอมได้ในที่สุด สำหรับเขา เห็นจะเป็นการ “สร้างนักเรียนให้เป็นพลเมืองขี้สงสัย สร้างคนที่เห็นสิ่งผิดปกติในสังคมได้ คนรุ่นผมถูกสอนให้เอาตัวรอด แต่รุ่นนี้ นอกจากจะเอาชีวิตรอดแล้วยังต้องมีความพยายามขับเคลื่อนด้วย”

“ผมเชื่อในการทำงานทางความคิด และต้องทำให้หนักขึ้น ต้องชูประเด็นว่าเราเคารพการเรียนรู้ของนักเรียนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สังคมไทยมีอคติต่อเด็กอยู่ คือการมองเด็กเป็นผ้าขาวที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ผู้ใหญ่จึงไม่ไว้ใจเด็ก เพราะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองที่ต้องรับผิดชอบเด็ก มีข้อกำหนดต่างๆ เพื่อควบคุมเด็กมากมาย แต่หลังจากผมทำงานร่วมกับเด็กหลายครั้ง จึงรู้ว่าเด็กมีความคิด มีความเชื่อของตัวเอง ไม่ต้องพยายามกำหนดอะไรมากมาย ให้พวกเขาเรียนรู้ด้วยวิธีของตัวเองเถอะ”

อย่างไรก็ตาม ภารกิจนี้มีอุปสรรคสำคัญอยู่คือวัฒนธรรม ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนขาดจินตนาการในการเลี้ยงดูเด็กๆ ด้วยแนวทางอื่น ซึ่งมะพร้าวให้ความเห็นว่า “ผมเคยพูดคุยกับครูหลายคนที่อยากเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมนี้ แต่เมื่อถามว่าเขาจินตนาการภาพใหม่เป็นแบบไหน เขาบอกว่าเขาไม่รู้ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำได้มากที่สุดคือเปิดโลกของเด็กให้กว้าง ผมรู้ว่ามีแนวทางอื่นที่แตกต่างจากนี้ผ่านการอ่านหนังสือและสัมผัสโลกกว้าง พอเรารู้ว่ามันมีวัฒนธรรมอื่น มีวิถีปฏิบัติอื่นอยู่บนโลกใบนี้ เราก็จะรู้แล้วว่ามันเป็นไปได้ บางครั้งถ้าเราไม่เห็นภาพ เราจะจินตนาการไม่ออก”

เมื่อถามถึงความท้าทายในอนาคตของไทยซึ่งอาจจะต่างจากของฟินแลนด์อยู่บ้าง คือมีวิกฤตสังคมผู้สูงอายุและการขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานศตวรรษที่ 21 มะพร้าวเชื่อว่าการเร่งบ่มเพาะความไว้ใจในระบบการศึกษาจะแก้ไขปัญหานี้ได้เช่นกัน

 

“ผมเคยพูดคุยกับครูหลายคนที่อยากเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมนี้ แต่เมื่อถามว่าเขาจินตนาการภาพใหม่เป็นแบบไหน เขาบอกว่าเขาไม่รู้ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำได้มากที่สุดคือเปิดโลกของเด็กให้กว้าง พอเรารู้ว่ามันมีวัฒนธรรมอื่น มีวิถีปฏิบัติอื่นอยู่บนโลกใบนี้ เราก็จะรู้แล้วว่ามันเป็นไปได้ บางครั้งถ้าเราไม่เห็นภาพ เราจะจินตนาการไม่ออก”

 

“ถ้าครูมีอิสระในการทำงานก็จะปรับเปลี่ยนบทเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กได้ อย่างสกุลเงินคริปโตหรือทักษะผู้ประกอบการ ถ้าครูเห็นว่าชั้นเรียนในปัจจุบันพาเด็กไปไม่รอดแน่ พวกเขาก็เปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่หลักสูตรไทยนั้นแข็งตัว ระบบก็แข็งทื่อ เปลี่ยนแปลงอะไรได้น้อยมากทั้งที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความไว้วางใจกันจะทำให้นักเรียนของเรารอด”

แต่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงความหมายของสำนวน “แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง” ที่ต่างหยั่งรากลึกในวิถีชีวิตและความทรงจำของผู้คนนั่นเอง คือไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน ต้องอาศัยทั้งความพยายามและการร่วมแรงร่วมใจกันของคนหมู่มาก จึงจะต่อยอดเป็นวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจต่อไปในภายหลังได้

ท้ายที่สุดเมื่อขอให้ทิ้งทวนบางอย่างเป็นกำลังใจแก่ครูผู้ยังพยายามเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับความไว้วางใจในระบบการศึกษา อิโลนากล่าวว่า “ฉันเสียใจจริงๆ ที่แทบไม่มีคำตอบเลย ฉันนึกไม่ออกเลยว่าถ้าอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ฉันจะก้าวออกไปได้อย่างไร”

 

กิจกรรมอ่านหนังสือและแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกันระหว่างครูและนักเรียนในฟินแลนด์

 

กระนั้น เธอก็ยังมีความหวัง โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าครูรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกำลังพยายามก่อตั้งสหภาพครูเพื่อพิทักษ์สิทธิของครู อิโลนาตกใจที่ยังไม่มีสหภาพครูในไทย อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าความเคลื่อนไหวนั้นจะเป็นประโยชน์ในอนาคต “ฉันคิดว่าสหภาพครูคือความหวังของครูไทยเลยละ ได้โปรดหาวิธีที่สงบและเข้มแข็งเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเถอะนะ  ฉันไม่เชื่อว่าครูคนเดียวจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าระบบทั้งระบบสร้างวัฒนธรรมที่เป็นอยู่นี้ขึ้นมา แต่เมื่อรวมตัวกันจะต้องมีทางออกแน่นอน”

เช่นเดียวกับมะพร้าวที่กล่าวว่า “ให้คิดไว้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมต้องใช้ระยะเวลามากกว่าจะเกิดขึ้นได้ มันจะเป็นเกมยาว ต้องมีสะดุดแน่ อย่าทำคนเดียว ให้หาเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกันแล้วจับมือกับเขา เราจะได้เห็นว่าเราไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เราสู้กันเป็นทีมนะ เราไม่ได้อยู่บนลู่วิ่งเพียงลำพัง เราไม่ได้แข่งกับครูคนอื่นๆ แต่อยู่บนลู่เดียวกัน”

 

“ฉันคิดว่าสหภาพครูคือความหวังของครูไทยเลยละ ได้โปรดหาวิธีที่สงบและเข้มแข็งเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเถอะนะ  ฉันไม่เชื่อว่าครูคนเดียวจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าระบบทั้งระบบสร้างวัฒนธรรมที่เป็นอยู่นี้ขึ้นมา แต่เมื่อรวมตัวกันจะต้องมีทางออกแน่นอน”

 

นอกจากนี้ มะพร้าวยังเห็นแสงแห่งความหวังอีกลำหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ คือการท้าทายวาทกรรมว่าด้วย “ครูผู้เสียสละ” ที่ทำให้ครูหลายคนไม่กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไร

“ปฏิกิริยาของครูต่อคอนเทนต์ทำนองครูผู้เสียสละไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่ก่อนผมเห็นคนซาบซึ้งกับมัน เปิดดูแล้วร้องไห้กันในคณะศึกษาศาสตร์ แต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มเห็นว่ามันเป็นปัญหา และเมื่อมีครูคนหนึ่งตั้งคำถาม คนต่อไปก็ ‘เออ จริงว่ะ’ ไอ้จริงว่ะนี่ละที่จะสะสมเป็นลูกบอลหิมะขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผมจะคอยดูว่าวาทกรรมนี้จะทนต่อไปได้สักกี่น้ำ”

 

 

 

ค้นพบความหมายและเส้นทางสู่การสร้างวัฒนธรรมความเชื่อใจ

ใน เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์

(In Teachers We Trust: The Finnish Way to World-Class School)

Pasi Sahlberg และ Timothy D. Walker เขียน

ทศพล ศรีพุ่ม แปล

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่