“ครูหนึ่งคนก็เปลี่ยนการศึกษาได้” คุยกับกุ๊กกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย ว่าด้วยพลังของแรงกระเพื่อมเล็กๆ และหนังสือชุด The Growth Mindset

เมื่อหนังสือเรื่อง The Growth Mindset Coach และ The Growth Mindset Playbook ออกสู่ตลาด ทีมงานของ Bookscape ก็ได้พบกับครูหลายคนที่ยังกังขาว่า growth mindset หรือชุดความคิดแบบเติบโต จะหยั่งรากในระบบการศึกษาไทยที่มีกรอบเกณฑ์ค่อนข้างจะตายตัวได้อย่างไร แต่ไม่ใช่สำหรับครูคนนี้

“ครูหนึ่งคนก็เปลี่ยนการศึกษาได้” คือคำขวัญประจำใจของ กุ๊กกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนศาลาประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ผู้มีบทบาทในการพัฒนาแผนการสอนหน้าเดียว เป็นพิธีกรรายการห้องพักครู รวมทั้งยังมีกิจกรรมและวีรกรรมเกี่ยวกับการศึกษาอีกมากมาย

เราจึงชวนเขามานั่งพูดคุยกันว่าอะไรทำให้เขาเชื่อในพลังของครู ทั้งยังยืนยันว่าเราปลูกฝังชุดความคิดแบบเติบโตได้ในทุกโรงเรียนในประเทศไทย เรื่อยเลยไปถึงประเด็นที่กุ๊กกั๊กได้ทบทวน สะท้อน และต่อขยายจากหนังสือชุด The Growth Mindset

บทความสรุปหนังสือ The Growth Mindset Coach

ชุดความคิดแบบเติบโตในระบบการศึกษาแบบตายตัว

สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เติบโต

“เด็กม.สี่ สามห้อง ไม่มีใครรู้จัก growth mindset เลยสักคน”

“มันคืออะไรอะครู” คำตอบของนักเรียนเมื่อถามว่าพวกเขารู้จัก growth mindset หรือชุดความคิดแบบเติบโตบ้างไหม สะท้อนให้เห็นว่าหัวข้อเรื่องชุดความคิดแบบเติบโต (ชุดความคิดที่จะเชื่อว่าทุกคนเรียนรู้และเติบโตได้ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานเป็นเช่นไร) ยังคงแพร่หลายอย่างจำกัดเต็มทีในห้องเรียนไทย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ว่านักเรียนไม่รู้จักนิยามของคำว่าชุดความคิดแบบเติบโต แต่รวมถึงระบบการศึกษาโดยรวมที่ไม่เอื้อให้เมล็ดพันธุ์ของความคิดใหม่ๆ ได้ฝังรากเท่าไรนัก ไม่เว้นแม้แต่สำหรับตัวบุคลากรเอง

ปัจจุบัน กุ๊กกั๊กสอนนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 รวมสามร้อยกว่าคน ดังนั้น “การที่ให้ครูต้องสอนตาม personalized learning แม่งเป็นไปไม่ได้” นำมาสู่ความรู้สึกผิดบาปในใจกุ๊กกั๊กและครูหลายๆ คนว่า “จริงๆ เราทำได้ดีกว่านั้น แต่เราไม่มีเวลา” แต่ไม่ว่าครูจะขมขื่นเท่าใด ก็ยังไม่มีวี่แววว่าภาระงานของครูจะลดลงแต่อย่างไร

“ทางโรงเรียนก็จะอ้างว่าเป็นครูก็ต้องช่วยงานโรงเรียน แต่โรงเรียนไม่เคยช่วยงานครู” กุ๊กกั๊กกล่าว

“บรรยากาศที่สัมผัสได้ที่โรงเรียนเวลาเสนอวิธีการทำอะไรใหม่ๆ คือครูมักจะกลัว เต็มไปด้วยคำถามว่า มันจะผ่านไหม เขตจะยอมไหม เขาเล่าว่าเคยพยายามแล้ว แต่เสนออะไรไปผู้บริหารก็ตีตกหมด ทำให้เขาเกิดชุดความคิดแบบตายตัว (fixed mindset ชุดความคิดที่ว่าทุกคนมีขีดจำกัดและพัฒนาได้จำกัด) ได้ง่าย ก็ไม่โทษเขาเลย เป็นโครงสร้างการบริหาร”

“แต่ถ้าถามว่าในตัวครูมีชุดความคิดแบบเติบโตไหม ก็มีนะ เขาก็พร้อมจะเปลี่ยนอยู่ เพียงแต่อาจจะต้องการตัวเปิด ซึ่งเราก็ไม่มีปัญหา โอเค เราเปิดให้” (หัวเราะ)

ครูหนึ่งคนที่ต้องการเปลี่ยนการศึกษา

เป็นตัวเปิดตลอด โดยมีคนสนับสนุนอยู่ไม่กี่คนนี่เหนื่อยไหม

“อาจจะชินแล้วมั้ง” กุ๊กกั๊กตอบ

พร้อมอธิบายความเคยชินของเขา ด้วยการชวนให้นึกภาพไข่ดาว โดยมองว่าไข่แดงคือพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ไข่ขาวคือพื้นที่ความกลัว (fear zone) นอกไข่ขาวคือพื้นที่อันตราย (dangerous zone) กุ๊กกั๊กบอกว่าเขาอยู่ตรงพื้นที่นอกไข่ขาวมานานแล้ว เลยสนุกกับการผลักดันชุดความคิดแบบเติบโตอย่างโดดเดี่ยวและไม่ได้กังวลอะไรอีกต่อไป

“เราทำในห้องเรียนได้ แต่กับครู หรือกับระบบภาพรวมเนี่ยยากหน่อย” เพราะบางครั้งเพื่อนร่วมงานก็กังวลกับแนวทางการสอนแบบใหม่ๆ และบางครั้งก็ได้รับการตอบรับมาในเชิงว่า “ที่กรุงเทพทำได้ แต่ต่างจังหวัดทำไม่ได้หรอก มันเป็นคนละบริบทกัน”

แล้วจากประสบการณ์ สถานการณ์ที่ต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ต่างกันจริงไหม

“เด็กต่างจังหวัดน่ารักเลย พวกเขาพร้อมที่จะฟังครูเสมอ แต่พอเป็นเด็กที่กรุงเทพฯ อันไหนที่เหตุผลไม่ตรง เขาพร้อมจะเถียง” หลายคนอาจคิดว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะเด็กนักเรียนที่กรุงเทพฯ หาความรู้บ่อยกว่า แต่กุ๊กกั๊กมองว่าอาจเป็นเพราะพวกเขา “ไม่มีอะไรทำ”

“เด็กที่นี่ (นครสวรรค์) ถ้าไม่มีอะไรทำ ก็ตามพ่อไปขุดมัน ทำสวนทำไร่ จบมาก็ทำสวนทำไร่ ถูกปลูกฝังมาแบบนี้ ไม่ได้ว่าทำสวนทำไร่ไม่ดีนะ แต่มันไม่เห็นโอกาสอื่นๆ เท่าไร” เมื่อคุยกับครูหลายๆ คน ก็ได้ความว่า “เด็กๆ หวังแค่จบม. หก เพราะเงินเขาก็มีแค่นี้ ฟังแล้วเราก็หดหู่นะ ถ้าเราอยากให้ประเทศเจริญ ทำไมเราลงทุนกับการศึกษาแค่นี้” ทั้งๆ ที่โรงเรียนที่มีทุนทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนเฉพาะทางก็ล้วนได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี

“แล้วทำไมไม่ทำกับโรงเรียนอื่นด้วยเล่า (หัวเราะ) ทำไมถึงคิดไม่ออกว่าโรงเรียนต่างจังหวัดก็ต้องทำเหมือนกัน หรืออาจจะไม่ได้คิดไม่ออก แต่ไม่เห็นความจำเป็น”

ในสถานการณ์ทั้งหมดนี้ รักษาไฟในการเป็นครูไว้ได้อย่างไร

“ก็รักษาไว้ไม่ได้ไง” คำตอบจากกุ๊กกั๊กกลับไม่ใช่เหตุผลที่ยังมีไฟอยู่ดังที่คาดไว้

“เราเพิ่งกลับมาหัวเราะกับมันได้ตอนเปิดเทอมได้ประมาณสองสัปดาห์เอง ก่อนหน้านั้นก็หมดไฟเหมือนกัน” กุ๊กกั๊กเล่าว่าความรู้สึกหมดไฟมาเยือนในวันที่เขาบรรลุเป้าหมายที่เคยตั้งไว้

“เราไม่ได้ต้องการเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ หรือได้ยศอะไรใดๆ เราต้องการเป็นครูเฉยๆ ที่ทำงานของเรา จนกว่างานของเราจะพาเราไปสู่จุดที่เราต้องการ ทำงานจนวันหนึ่งมีผู้ใหญ่ตำแหน่งไหนก็ได้ในกระทรวง เรียกเราเข้าไป ในฐานะเรา หรือในฐานะกลุ่มอะไร เพื่อฟังเสียงจากครูจริงๆ”

ในที่สุด วันหนึ่งกุ๊กกั๊กก็มีโอกาสได้เข้าพบกับ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน (ณ เดือนธันวาคม 2565) และเล่าปัญหาต่างๆ ให้ แต่พอสิ่งที่ต้องการมาตลอดเกิดขึ้นจริง เขากลับต้องผิดหวังรุนแรง

“เขาฟังนะ แต่มันเหมือนเวลาเราอธิบายเรื่องยากๆ ให้เด็กฟัง แล้วเด็กนั่งมอง คือเขาไม่ได้เข้าใจจริงๆ”

“เราก็เลยเฟลตั้งแต่วันนั้น ต่อมาพอย้ายโรงเรียน เราไปเจอสภาพโรงเรียนที่หลายคนมองว่าเราเป็นครูหัวรุนแรง เพราะถ้าเสิร์ชชื่อ ‘ร่มเกล้า ช้างน้อย’ ในกูเกิล ก็จะขึ้นมาว่าเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิ” ซึ่งสำหรับกุ๊กกั๊กเอง เขามองว่าความคิดความเชื่อเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนที่ครูทุกคนมี ในเมื่อครูทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตนอกห้องเรียนด้วย

“การที่ครูยอมให้เด็กโดนตัดผม กลิ้ง หมอบคลาน อันนี้ก็เป็นความรุนแรงหรือเปล่า มันก็เป็นความเชื่อของคุณ แล้วทำไมร่มเกล้าโดนตัดสินแบบนี้วะ” เขาอ่อนล้าที่ต้องเถียงกับคนที่คิดว่าเขาพร้อมจะปะทะอยู่ตลอดเวลา

“พอผ่านไปอีกสองวัน ต้องไปนอนห้องนอนเวรเฝ้าโรงเรียน ได้เห็นหยากไย่ ใยแมงมุม เราเสิร์ชเลยนะว่าเปลี่ยนสายงานต้องทำยังไงบ้าง ไม่อยากเป็นครูแล้ว เรานั่งหาเลยว่าเป็นศึกษานิเทศต้องทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนอีกแล้ว”

ข้ามผ่านอาการหมดไฟมาได้อย่างไร

“ผ่านมาได้ด้วยเด็กนักเรียนเลย” กุ๊กกั๊กตอบอย่างรวดเร็วและชัดเจน

“ผ่านไปสัปดาห์เดียว เด็กๆ ก็เปิดใจรับเราแล้ว ก็จบเลย”

แล้วตอนนี้ไฟในการต่อสู้เรื่องระบบการศึกษามาจากไหน

“คงเป็นความโกรธต่อระบบ ความรำคาญว่าเราต้องทำแบบนี้อีกแล้วเหรอวะ”

ในภาพรวมการทำงานตอนนี้เป็นอย่างไร

“เรารู้สึกว่าในพื้นที่โรงเรียนรัฐบาลก็ยังสนุกอยู่นะ มีอะไรให้เขาปวดหัวกับเรา” กุ๊กกั๊กหัวเราะ

เวลาที่เหนื่อยจากงาน ฟื้นฟูตนเองอย่างไร

“เราฟื้นฟูตนเองด้วยการเล่นดนตรี เล่นกีต้า เปียโน”

“เราเพิ่งกลับมาเล่นดนตรีเมื่อไม่นานมานี้ ก็เลยนึกได้ว่าเราลืมเล่นดนตรี! เพราะเราทำงานมาตลอดสองเดือนโดยไม่ได้เล่นดนตรี เราเลยรู้สึกไม่ดี เราก็ถามตัวเองตลอดว่าเมื่อไรเราจะได้เล่น คำตอบก็คือก็มาเล่นซะ!”

“เราแค่ต้องเล่นดนตรีที่เราอยากเล่นก็เท่านั้นเอง”

คำขวัญชุดความคิดแบบเติบโต

ในหนังสือ The Growth Mindset Coach และ The Growth Mindset Playbook มีคำขวัญประจำแต่ละบท เราจึงชวนกุ๊กกั๊กเลือกคำขวัญที่ชอบจากในหนังสือ พร้อมเรื่องราวและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ

หากดอกไม้ไม่ผลิบาน

สิ่งที่ต้องจัดการคือสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ดอกไม้

– อเล็กซานเดอร์ เดน เนห์เยอร์

ประโยคหนึ่งในหนังสือ The Growth Mindset Playbook ที่กุ๊กกั๊กชอบมากคือ “หากดอกไม้ไม่ผลิบาน สิ่งที่ต้องจัดการ คือสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ดอกไม้” เขาบอกว่า “เด็กก็เหมือนต้นไม้ เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน พอเป็นดอกไม้ ถ้ามันไม่บาน เราไม่เคยไปตัดดอกมันทิ้ง เราเพิ่มปุ๋ย หรือเพิ่มการดูแลแทน แต่พอเป็นเด็ก เรากลับพยายามเปลี่ยนเขา”

กุ๊กกั๊กชวนเราคิดว่ากระทั่งอุณหภูมิในห้องเรียน ก็อาจจะมีผลกระทบกับเด็กมากกว่าที่คิด

“เราค่อนข้างจะใส่ใจเรื่องความร้อนนะ เราไม่แน่ใจว่ามันมีคนทำหรือยัง แต่เราอยากทำบทความหรือวิจัย สำรวจว่าอุณหภูมิส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กไหม ดูจากประเทศที่อุณหภูมิคุมได้ในห้องเรียน เด็กมันเรียนดีทุกคนเลย แต่ประเทศไหนร้อนๆ มันไม่อยากเรียนอะ มันเหนื่อย มันร้อย มันเหงื่อออก มันเหม็นอะ เราเป็นครู เรายังไม่อยากสอนเลย”

มีตัวอย่างที่เคยจัดการสภาพแวดล้อม แล้วเด็กเปลี่ยนไปบ้างไหม

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราเฟลกับการสอนความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กม.หก เราสอนเรื่องที่สนุกมากเลยนะ แต่เด็กนั่งหลับ เราก็พูดเลยว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวครูไปนั่งเสียใจแป๊บนึงก็ได้ แต่ขอสอนให้จบเถอะ”

“พอมาอีกคาบหนึ่ง เราก็ลองใหม่ ที่ห้องเรียนเป็นเก้าอี้แบบเก้าอี้เลกเชอร์ คาบต่อไป เราเลยเอาเก้าอี้ออก แล้วก็เอานักเรียนมานั่งล้อมวงกันเลย มาเล่นกัน กลายเป็นว่ามันดีว่ะ เด็กตกใจไงว่าครูทำอะไรวะ เอาเก้าอี้ออกทำไม ก็เลยเล่นด้วยกัน กลายเป็นคาบที่ดีที่สุดในรอบหนึ่งเดือนไปเลย”

“จริงๆ เรารู้อยู่แล้วว่าวิธีนี้มันเวิร์ก แต่ด้วยความที่เราต้องสอนสามรหัสน่ะ เราก็เลยลืม เราต้องมาคิดว่าเดี๋ยวต้องไปสอนวิชานู้นอีกแล้ว วิชานี้ยังไม่เสร็จเลย เราเลยไม่มีโฟกัส งานเยอะทำให้ครูไม่มีโฟกัสในงานที่ต้องโฟกัส”

อันนี้ก็เป็นเรื่องสภาพแวดล้อมเหมือนกัน แต่เป็นสภาพแวดล้อมของครูที่อาจไม่เอื้อให้สอนเท่าที่ควร

หนังสือ The Growth Mindset Playbook เขียนไว้ว่าครูอเมริกันไม่ค่อยได้หยุดพักในช่วงฤดูร้อน เพราะพวกเขายุ่งอยู่กับการออกแบบหลักสูตร ประชุม สอนเสริมภาคฤดูร้อน กุ๊กกั๊กอ่านแล้วสะท้อนใจว่า “ถ้าเป็นคนไทยเขียนก็จะบอกว่า ครูไม่ได้หยุดภาคฤดูร้อน เพราะต้องมารับสมัครเด็ก แล้วก็นั่งเคลียร์เอกสารธุรการ พออ่านก็ตั้งคำถามว่าทำไมหน้าที่ครูที่นู่นเขาทำแบบนี้ ทำไมของเราทำอีกแบบวะ”

เข้าใจสภาพแวดล้อมของนักเรียน

“อย่างโรงเรียนที่เราอยู่ตอนนี้เป็นโรงเรียนต่างจังหวัด นอกจากจะมีทั้งบ้านพักครูแล้ว ก็มีบ้านพักนักเรียนด้วย เพราะเด็กในห้องเราที่อยู่ไกลที่สุด อยู่ห่างจากโรงเรียนไป 45 กิโลเมตร แต่เป็น 45 กิโลเมตรแบบอยู่บนเขา จะเดินทางไปกลับทุกวันก็ไม่ไหว เขาเลยต้องมาพักที่โรงเรียน”

“ที่ไทยมีการเยี่ยมบ้าน ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นอกเห็นใจนักเรียนมากขึ้น กว่าเราจะขับรถไปถึงบ้านเด็ก เราก็จะเห็นภาพเลยว่าถ้าเราเป็นนักเรียน นักเรียนจะต้องตื่นกี่โมง กว่าจะเดินทางมาถึงโรงเรียน เมื่อเราลองจินตนาการว่าทุกเช้าเย็นเขาต้องเดินทางไปกลับยังไง เราก็เข้าอกเข้าใจเขามากขึ้น”

บทความสรุปหนังสือ The Growth Mindset Playbook

 

หากกะลาสีไม่รู้ว่าจะเทียบท่าที่ใด

ย่อมไม่มีกระแสลมใดที่จะพัดพาไปได้ถูกทาง

– เซเนกา

คำคมที่ครูกุ๊กกั๊กชอบที่สุดจากหนังสือชุด The Growth Mindset เป็นเนื้อหาจากหนังสือ The Growth Mindset Playbook เช่นกัน

“ตอนอ่านเจอรู้สึกว่าใช่เลย เราอยากมีเพลงออกใน Joox มานานมาก แค่อยาก ไม่ได้วางแผน จนปีที่แล้ว ตั้งเป้าว่าจะมีเพลงออกในสตรีมมิ่ง เราก็โพสต์เพลงลงไปประมาณสองสามเพลง จนรุ่นน้องที่ครุจุฬาที่ทำเพลงลงสตรีมมิ่งอยู่แล้วมาเห็น ก็บอกว่าพี่ เดี๋ยวผมช่วย กลายเป็นว่าเราเลยมีเพลงลงสตรีมมิ่งแล้ว ใช่ นี่มันคือสิ่งนี้แหละ มันต้องมีเป้าหมาย มีการวางแผน มีกระบวนการ เราถึงจะไปถึงความสำเร็จได้”

“เราก็เลยทำสิ่งนี้กับเด็กทุกห้องเลย ว่าให้เด็กลองเขียนดูว่าเป้าหมายในชีวิตตัวเอง ในสามเดือน หกเดือน ห้าปี สิบปี อยากทำอะไร”

กุ๊กกั๊กเล่าว่าระหว่างกระบวนการนี้ เขาจะเดินเข้าไปฟังเป้าหมายของเด็กทุกคน

“มีเด็กผู้หญิงคนนึงเขียนว่าอยากเป็นทหาร เราเคยไปสอบมาก่อนเหมือนกัน เราก็เล่าให้ฟังว่าตอนเราสอบ เราต้องทำอะไร ต้องเตรียมอะไร เด็กก็มีแววตาของคนที่เห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้น”

“เราเองก็ไม่แน่ใจว่ามันทำงานกับเด็กตอนไหน แต่ตอนนี้เด็กคนนี้คือเด็กที่ตั้งใจเรียนที่สุดในห้อง”

“แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนนะ บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจทำสิ่งที่เราให้ทำ บางคนก็เขียนว่าอยากมีรถ ตรงกลางก็เลยมีแค่คำว่าเก็บเงินไง มันเลยอาจจะมีแรงบันดาลใจอะไรไม่มาก แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็ค่อยให้เขาทำใหม่”

อันนี้คือในวิชาคณิตศาสตร์

“ใช่” (หัวเราะ) “ในหนังสือก็มีเขียนว่าเราไม่จำเป็นต้องสอนตลอดเวลา นอกเรื่องบ้างก็ได้ เล่มนี้ทำให้พี่รู้สึกว่าพี่ไม่ได้ผิดเลย ก่อนนี้รู้สึกผิดมาตลอดเวลาสอดแทรกเรื่องอื่นๆ เข้าไปในบทเรียน แม้ตัวเด็กเองจะไม่เคยก็ตาม”

มีงานสอนส่วนไหนที่รู้สึกว่ายากไหม

“ความยากจะเกิดกับเด็กม.สามอีกห้องหนึ่ง เพราะม.ต้นเป็นการศึกษาภาคบังคับเนอะ พอบอกว่าบังคับ มันก็จะย้อนกลับไปถึงบทนึงในหนังสือที่บอกว่าผู้เรียนต้องมีความต้องการก่อน ซึ่งอันนี้จริงๆ เราเรียนมาตอนป.โท อยู่ในทฤษฎีที่เรียกว่า andragogy เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ส่วนสำคัญที่สุดของทฤษฎีการเรียนรู้ผู้ใหญ่คือผู้ใหญ่ต้องมีความต้องการก่อน” ซึ่งเด็กเองก็ไม่ต่างกัน

“นึกภาพเวลาที่เราอยากเรียนป.โท ป.เอก เราต้องการ เราจะตั้งใจเรียนกว่าตอนมัธยมแน่นนอน อาจจะด้วยเงินมันแพง หรือวิชาที่เราชอบ”

“ถ้าเราสามารถสร้างให้เด็กสร้างความต้องการของตัวเองได้ในระบบการศึกษาไทย ครูจะไม่เหนื่อย เด็กจะได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โอเค มันอาจจะมีวิชาบังคับ แต่วิชาบังคับที่เราจะออกแบบใหม่ มันก็ต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์คนไทยจะต้องมี รู้สึกว่าถ้าเราแก้ตรงนั้นได้ก็คงดี”

“มีตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมาก เราเคยเปิดชุมนุมทำเพลงเมื่อปีก่อน ตอนเราสอนเลข มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เอาอะไรสักอย่าง ไม่ชอบ นักเรียนกลุ่มนี้ จริงๆ เป็นนักฟุตบอล เขาสมัครเข้ามาด้วยความสามารถพิเศษ แต่พอเด็กสมัครเข้าห้องพิเศษจำนวนไม่มากพอ ก็ถูกสลายออกมาอยู่ตามสาย ตามห้องต่างๆ จากเด็กที่ต้องการจะเป็นนักฟุตบอลที่เก่ง ก็ต้องมาเรียนสายศิลป์คำนวณที่ไม่ต้องการ”

“เราเข้าใจพวกเขามากเลย เราก็ต้องสอนแบบนั้นไป มีเนื้อหาบางบทที่เขาทำได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ทำไม่ได้ ก็เทไป พอคาบเรียนชุมนุมปั๊บ เราให้เด็กเรียนตั้งแต่สิบโมงถึงเที่ยง เราไล่มันไปแล้วนะ แต่มันไม่ไป มันอยากอัดเสียงของตัวเองลองคอมเราให้เรียบร้อย จนเราไปกินข้าวเสร็จ กลับมาบอกว่าไปเรียนได้แล้ว เด็กก็บอกว่าครู ขออีกหน่อยนึง ไม่ได้ ต้องไปเรียนแล้ว”

“มันแปลว่าเด็กไม่ได้ไม่มีความใส่ใจในการเรียน แต่ว่าเนื้อหาที่เรียนต่างหากที่มันไม่ตรงกับความสนใจของเด็ก ลองคิดดูว่าถ้าเด็กคนนี้ได้เรียนเรื่องการทำเพลงตั้งแต่ม.สี่ ม.หกคงจะเป็นศิลปินได้เลยมั้ง หลักสูตรเองแหละที่แคบไป”

“ในหนังสือก็มีบทหนึ่งที่เขียนด้วยว่าเด็กสนใจคาบชุมนุม หรือคาบที่เลือกเองมากกว่า ซึ่งจริงๆ เราควรเพิ่มคาบชุมนุมนะ แค่นี้หลักสูตรจบเลย”

“เราว่าการศึกษาไทยไม่จำเป็นต้องมีของใหม่ เพราะว่าของเก่ายังใช้ไม่หมด” กุ๊กกั๊กว่า “คนที่เรียนครูทุกคน เรียนเรื่องการบรรยายเป็นหัวข้อหนึ่ง ที่เหลือการสอนอะมีอีกเพียบ แต่ไม่เห็นเอามาใช้เลย เพราะว่าหลักสูตรมันกำหนดด้วยเวลา ถ้าไม่สอนด้วยการบรรยายไม่มีทางสอนทัน”

แล้วตอนนี้สอนอย่างไรให้เด็กอยากเรียน

ในเล่ม The Growth Mindset Playbook จะเขียนไว้ว่า “ขั้วตรงข้ามของความเบื่อหน่ายไม่ใช่ความสนุกแต่เป็นการมีส่วนร่วม” กุ๊กกั๊กก็พยายามทำเช่นนั้น โดยเน้นสอนสิ่งที่นักเรียนน่าจะสนใจ จะได้รู้สึกมีส่วนร่วมกับบทเรียน

เขาคุยกับโรงเรียนว่าไม่อยากสอนวิชาเลขเพิ่มเติมสำหรับสายศิลป์ “ลองนึกภาพเด็กสายศิลป์ภาษาต้องมาเรียนแคลคูลัส เราก็ฮะ เอาไปใช้ทำอะไรวะ คนทำหลักสูตรก็งงเหมือนกัน” แต่เลือกจะเปลี่ยนเป็นวิชาเลขที่เด็กนำไปใช้ได้จริงแทน ทั้งวิชาที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ Design Thinking และความคิดแบบเปิด รวมถึงวิชาคณิตศาสตร์การเงิน ส่วนใครที่สนใจอยากเรียนแคลคูลัส หรือเนื้อหาของวิชาเลขเพิ่มเติม ก็ให้มาเรียนกับกุ๊กกั๊กส่วนตัวในตอนเย็น

เขาบอกว่า “เราก็ยอมที่จะช่วยเด็กแบบนี้ เพื่อให้เราได้สอนทั้งวิชาที่เราคิดว่าควรจะสอน”

“เราน่าจะเป็นคนประหลาดด้วยมั้ง สมัยเรียนก็มักจะไปเรียนวิชาที่คนไม่เลือกกัน ไปเรียนวิชาการตลาดเบื้องต้นที่คณะบัญชี เป็นต้น เราว่าที่จุฬาฯ ดีนะ เปิดโอกาสให้เราไปเรียนวิชาของคณะอื่นได้เต็มที่ ไม่ได้มาเป็นแพ็กเกจตายตัว ทำให้เราได้มีโลกกว้างบางอย่างไปคุยกับเด็ก แล้วพอเราเป็นคนที่ชอบสำรวจโลกกว้าง เราก็เลยชอบเอานู่นเอานี่มาใส่ในบทเรียน”

“อย่างในวิชาคณิตศาสตร์ เราก็สอนเรื่องปรัชญาชินโดกุ เป็นปรัชญาของญี่ปุ่นเรื่องการเอาของที่ไม่เกี่ยวข้องกันสองอย่างมาเจอกัน แล้วสร้างของไร้สาระขึ้นหนึ่งอย่าง ถ้าเราเคยเห็นรูปที่เป็นร่มที่หงายแล้วกรอกน้ำลงมา เอาไปกินน้ำต่อ เราก็เอามาสอนเรื่องเซ็ต ว่าสิ่งที่มันไม่เกี่ยวข้องกันก็อาจจะมาเจอกันได้นะ มันมีปรัชญาแบบนี้อยู่ เรายกตัวอย่างเป็นคำว่าประยุทธ์กับคำว่าไก่ทอด ซึ่งเด็กก็สนุกกันมาก”

“เราใส่เนื้อหาที่น่าสนใจพวกนี้เข้ามาเอง แต่ก็ยังสอนตรงกับหลักสูตรอยู่นะ เราเหนื่อยกับตรงนี้แหละ แต่ก็สนุกด้วย”

ชุดความคิดแบบเติบโตในระบบการศึกษาแบบตายตัว (อีกครั้ง)

 

สรุปว่าเราจะสร้างชุดความคิดแบบเติบโตให้เบ่งบานในประเทศไทยได้ไหม

“สร้างได้ทุกที่ เพราะทำมาแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย”

แล้วครูคนที่กังขาล่ะ

“อย่างแรก เราอยากให้ครูเหล่านั้นไปหาลองหาข้อมูลดูก่อน ไปอ่านหรือดูสื่ออะไรก็ได้เกี่ยวกับชุดความคิดแบบเติบโต สอง ลองสะท้อนตัวเองว่าตอนนี้ตัวครูใช้ชุดความคิดแบบไหนอยู่ และสาม ลองเลือกดูว่าจะทำงานต่อด้วยชุดความคิดแบบไหน เราเชื่อว่าเขาจะเลือกเองได้ว่าเองอยากจะเป็นครูแบบไหน บางทีสุดท้ายแล้ว เขาก็อาจจะไม่ได้อยากใช้ชุดความคิดแบบเติบโตก็ได้”

“ต่อไปเป็นช่วงขายของ” กุ๊กกั๊กพูดกลั้วหัวเราะ “ถ้าถามตัวเองแล้วพบว่าอยากเข้าใจชุดความคิดแบบเติบโต ก็ลองไปซื้อหนังสือ The Growth Mindset Coach กับ The Growth Mindset Playbook อ่านดู เพราะว่าสองเล่มนี้มีทั้งแผนการสอนและตัวอย่างที่ไปลงกับเด็กได้จริง นอกจากจะได้ความรู้เรื่องชุดความคิด และทบทวนตัวเอง แล้วก็ยังได้แผนมาใช้ได้เลยด้วย”

พูดถึงคำขวัญในหนังสือมาเยอะ แล้วคำขวัญประจำใจของครูกุ๊กกั๊กคืออะไร

“ครูหนึ่งคนก็เปลี่ยนการศึกษาได้” คือคำขวัญที่กุ๊กกั๊กเชื่อ

“เราเชื่อว่างานที่เราทำ ถ้าเราตั้งใจทำมันให้ดี สุดท้ายก็จะมีคนเรียกเราไป สุดท้ายมันจะเปลี่ยน แม้เราเริ่มต้น แล้วมีคนมาต่อยอด แต่มันก็เริ่มมาจากเราจริงๆ”

“ถ้าเราเปรียบห้องเรียนเหมือนสระน้ำ เราเอาเท้าจุ่ม น้ำก็กระเพื่อมแล้ว หรือถ้าเปรียบเป็นมหาสมุทร เราขยับ มหาสมุทรก็เปลี่ยนอยู่ดี ถึงแม้ตอนเริ่มต้นมันจะเล็ก แต่เดี๋ยวมันก็ใหญ่อยู่ดี”

“ถ้าเราเปรียบห้องเรียนเหมือนสระน้ำ เราเอาเท้าจุ่ม น้ำก็กระเพื่อมแล้ว

หรือถ้าเปรียบเป็นมหาสมุทร เราขยับ มหาสมุทรก็เปลี่ยนอยู่ดี ถึงแม้ตอนเริ่มต้นมันจะเล็ก แต่เดี๋ยวมันก็ใหญ่อยู่ดี”

“เราเลยเชื่อว่า ครูหนึ่งคนก็เปลี่ยนการศึกษาได้”

– ร่มเกล้า ช้างน้อย

อ่านรายละเอียดหนังสือชุด The Growth Mindset ได้ที่

The Growth Mindset Coach: คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve

The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก