อ่าน “The Growth Mindset Coach คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset”

เมธาวี รัชตวิจิน เขียน

ชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เป็นยอดปรารถนาของใครหลายคน เพราะจะมีทักษะใดเหมาะกับโลกที่ผันผวนป่วนปั่นไปกว่าความเชื่อที่ว่าทุกคนเติบโตได้ด้วยความพยายาม และไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้งก็ยังมีโอกาสหน้าให้ลุกขึ้นมาลองใหม่เสมอ

หนังสือ คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset เขียนขึ้นโดยสองครูมืออาชีพ แอนนี บร็อก (Annie Brock) และเฮเธอร์ ฮันด์ลีย์ (Heather Hundley) เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับครู ผู้ปกครอง และผู้สนใจการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่คิดอยากพลิกโฉมพื้นที่เรียนรู้ของตนให้เป็นพื้นที่บ่มเพาะชุดความคิดแบบเติบโต ผ่านบทเรียนสร้างสรรค์ ถ้อยคำสร้างแรงบันดาลใจ และนวัตกรรมการสอนแบบใหม่ๆ ที่ร้อยเรียงออกมาเป็นแผนการสอนที่ใช้ได้จริงตลอดทั้งปี

ไม่ว่านักเรียนหรือบุตรหลานของคุณฝันอยากทำอะไร หรืออยู่ในระบบการศึกษาแบบใด ชุดความคิดแบบเติบโตจะเป็นทักษะติดตัวตลอดชีวิต เพื่อให้พวกเขาสร้างอนาคตด้วยมือตัวเองได้อย่างมั่นใจ และออกเดินไปบนเส้นทางที่วาดหวังได้อย่างมั่นคง

ชุดความคิดสองรูปแบบ

เนื้อหาใน คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานวิจัยของแครอล ดเว็ก (Carol Dweck) ศาสตราจารย์จิตวิทยา ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับหนทางสู่ความสำเร็จของมนุษย์มากว่า 30 ปี ดเว็กเสนอแนวคิดว่าเราทุกคนมีชุดความคิด (mindset) อยู่สองแบบ ได้แก่ชุดความคิดแบบตายตัวและชุดความคิดแบบเติบโต โดยทั้งสองแนวคิดมีนิยามดังนี้

ชุดความคิดแบบตายตัว (fixed mindset)

เชื่อว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับสติปัญญาและความสามารถที่จำกัด ไม่สามารถพัฒนาได้ ”

ชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

“เชื่อว่ามนุษย์เราสามารถพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการฝึกฝนและความเพียรพยายาม”

 

สิบสองเดือนสู่ปีแห่งการเติบโต

เราไม่อาจพัฒนาชุดความคิดได้ภายในวันเดียว หนังสือเล่มนี้จึงนำเสนอแผนการสอนรายเดือนที่แต่ละเดือนมีเป้าหมายการเรียนรู้ชัดเจน พร้อมกับมี คำขวัญประจำเดือน แทนชื่อบท ผู้อ่านจะได้ทำความเข้าใจแก่นของชุดความคิดแบบเติบโตทีละน้อย ผ่านงานวิจัย ประสบการณ์ในห้องเรียน สื่อการเรียนการสอน ตลอดจนเทคนิคและกลวิธีต่างๆ ที่นำมาใช้ได้จริง

เราได้รวบรวมประเด็นสำคัญจากทั้งสิบสองเดือน (ตามตารางเรียนของอเมริกา) ไว้แล้วในบทความนี้ มาเริ่มต้นการเดินทางเพื่อสร้างชุดความคิดแบบเติบโตกันเลย!

สิงหาคม: การสอนคือการฝึกฝน ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ

ก่อนจะเริ่มฝึกฝนชุดความคิดแบบเติบโต เราจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าในตัวเราทุกคนมีชุดความคิดทั้งสองแบบซ่อนอยู่และไม่มีทางที่จะกำจัดชุดความคิดแบบตายตัวออกไปได้อย่างหมดจด เราทำได้เพียงแค่ฝึกฝนตนเองให้ชินกับการใช้ชุดความคิดแบบเติบโตจัดการปัญหาต่างๆ เท่านั้น

ดังที่ผู้เขียนย้ำเอาไว้ว่า “ชุดความคิดแบบเติบโตให้ความสำคัญต่อกระบวนการมากกว่าความสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเมื่ออ่านบทแรกจบ สิ่งที่คุณจะได้รับจะไม่ใช่ชุดความคิดแบบเติบโตที่ไร้ข้อกังขาหรือแผนการสอนซึ่งไร้ที่ติ เพราะเรายังอยู่ระหว่างการทำทุกวิถีทางไปให้ถึงเป้าหมายนั้น! แต่จะบอกความลับให้นะคะ วิธีที่ดีที่สุดที่จะบอกว่าคุณมีชุดความคิดแบบเติบโต ก็คือการที่คุณเชื่อว่าตัวเองกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการไปสู่เป้าหมายนั่นเอง!”

เมื่อเข้าใจชุดความคิดทั้งสองแบบแล้วรวมถึงผลที่ตามมาแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาชุดความคิดแบบเติบโตตลอดปีนี้ โดยพยายามตั้งเป้าหมายที่ SMART ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้

Specific (เจาะจง) เป้าหมายต้องเจาะจงและชัดเจน

Measureable (วัดผลได้) ต้องมีวิธีการประเมินความก้าวหน้า

Actionable (ปฏิบัติได้) มีขั้นตอนการทำงานชัดเจน

Realistic (เป็นไปได้) มีทรัพยากรและแรงสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายได้

Timely (มีกรอบเวลา) มีกรอบเวลาในการปฏิบัติงานชัดเจน

ผู้เขียนยกตัวอย่างเป้าหมายที่ SMART ไว้ว่า “ฉันจะจำชื่อนักเรียนทุกคนให้ได้ภายในสองสัปดาห์ เพื่อให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ ฉันจะเรียกชื่อนักเรียนให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ฉันจะทบทวนความจำและทดสอบความก้าวหน้าของตัวเองทุกอาทิตย์”

หากมีเป้าหมายที่ชัดเจน การเริ่มพัฒนาและปลูกฝังชุดความคิดแบบเติบโตก็จะเหมือนกับการทำภารกิจท้าทายเพื่อพิชิตเป้าหมายเหล่านี้

 

กันยายน: ทุกคนเรียนรู้ได้!

“หากต้องสรุปใจความสำคัญของชุดความคิดแบบเติบโตให้กระชับที่สุด
คงได้เป็นประโยคที่ว่า ‘ทุกคนเรียนรู้ได้!’

เมื่อมองดูคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หลายคนอาจมองว่าพวกเขาเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่เมื่อลองย้อนคิดดีๆ แล้ว แม้แต่คนเก่งอย่างไอน์สไตน์ก็ต้องเคยนับเลขได้ไม่ถึงสิบมาก่อน ดังที่สะท้อนให้เห็นในวิดีโอเรื่อง “You Can Learn Anything” (เธอเรียนรู้ได้ทุกอย่าง) จากสถาบันคาน (Khan Academy)

เราจะเริ่มสอนให้เด็กๆ เข้าใจและเชื่อในชุดความคิดแบบเติบโต ชวนให้เด็กๆ ดูวิดีโอข้างต้น แล้วเขียนเรื่องที่พวกเขาทำได้แล้วตอนนี้ คู่ไปกับทักษะพื้นฐานที่เขาต้องเรียนก่อนจึงจะทำเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น “ตอนนี้หนูเขียนหนังสือได้ แต่เมื่อก่อนหนูต้องท่อง ก-ฮ ให้ได้ก่อน” เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าความชำนาญเกิดจากการค่อยๆ เรียนรู้ หากวันนี้เรายังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีทางทำได้ แต่เราแค่ ยัง ทำไม่ได้ต่างหาก

การปลูกฝังชุดความคิดแบบเติบโตไม่อาจสำเร็จได้เพียงด้วยการสอน แต่เราจำเป็นต้องจัดห้องเรียน หรือสิ่งแวดล้อมของนักเรียนให้สะท้อนชุดความคิดแบบเติบโต เราสร้างพื้นที่แห่งการเติบโตได้ด้วยการจัดวางของให้เอื้อต่อการเข้าถึงครูหรือผู้ใหญ่ในพื้นที่ จัดวางที่นั่งให้ง่ายต่อการระดมความเห็นระหว่างเพื่อน ใช้ป้ายแสดงคำแนะนำ (เช่น ช่วยเหลือกันเสมอ) แทนที่จะเป็นป้ายคำสั่งห้าม (เช่น ห้ามคุยเสียงดัง!) ติดข้อความกระตุ้นความคิดแบบเติบโต (เช่น จงกล้าที่จะผิดพลาด) ไปจนถึงการตกแต่งห้องด้วยผลงานเด็กๆ ที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบที่สุดแต่แสดงให้เห็นถึงความพยายาม

 

ตุลาคม: สมองฉันเหมือนกล้ามเนื้อที่พร้อมเติบโต

หลายคนคิดว่าสมองเหมือนกับห้องเก็บของที่มีพื้นที่จำกัดและตายตัว ใครเกิดมากับสมองแบบไหนก็จะต้องอยู่กับสมองแบบนั้นไปชั่วชีวิต ทว่าแท้จริงแล้วสมองของเราเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

“งานวิจัยฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neuroscience ระบุว่าสมองของผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิดจะปรับประสาทส่วนที่ใช้ประมวลผลทางเสียงไปช่วยเสริมการทำงานของประสาทสัมผัสและการมองเห็นแทน”

สมองมนุษย์มีความยืดหยุ่น (plasticity) ดังนั้น หากเราออกกำลังสมองบ่อยๆ สมองก็จะเติบโตได้ ไม่ต่างจากที่เราสร้างกล้ามเนื้อให้ร่างกายได้ด้วยการออกกำลังกาย

ผลการศึกษาโดยแครอล ดเว็ก และลิซา แบล็กเวลล์ (Lisa Blackwell) พบว่านักเรียนเกรดเจ็ดที่ได้เรียนรู้ว่าสมองเติบโตและแข็งแรงขึ้นได้เมื่อได้รับการฝึกฝน จะกระตือรือร้นที่จะเรียนมากกว่า อีกทั้งยังทำคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเพื่อนกลุ่มที่ไม่ได้เรียนรู้ว่าสมองเติบโตได้

นอกจากการเรียนรู้การทำงานของสมอง เราควรสอนให้เด็กๆ รู้จักกับอภิปัญญา (metacognition) ควบคู่กันไปด้วย อภิปัญญาหรือการรู้คิดหมายถึงการพิจารณา ไตร่ตรอง ให้รู้เท่าทันวิธีคิดของตัวเอง เช่นรู้ว่าตอนนี้กำลังใช้ชุดความคิดแบบใดอยู่ หรือรู้ว่าตนเองเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านกระบวนการเช่นใด หากเข้าใจทั้งหลักวิทยาศาสตร์ของสมอง และวิธีการประยุกต์ใช้ที่เหมาะกับตัวเอง นักเรียนก็จะไม่มีขีดจำกัดในการเติบโตในอีกต่อไป และจะพัฒนาตัวเองได้ด้วยแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

พฤศจิกายน: ฉันเป็นสมาชิกคนสำคัญของชุมชนการเรียนรู้แห่งนี้

“เธอรู้รึเปล่าว่าเด็กนักเรียนน่ะ ไม่อยากเรียนรู้จากคนที่พวกเขาไม่ชอบหรอก”

–  ริต้า เพียร์สัน (Rita Pierson) นักการศึกษา

ในการก้าวข้ามชุดความคิดแบบตายตัว และเปิดรับชุดความคิดแบบเติบโต เด็กๆ ต้องการสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความจริงใจ ความไว้ใจ และความรู้สึกว่ามีคนใส่ใจและเห็นคุณค่าในตัวพวกเขา ซึ่งการมีผู้ใหญ่ที่พวกเขาไว้ใจจะช่วยได้มากในจุดนี้ ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อนร่วมงาน หรือผู้บริหารจึงเป็นเรื่องจำเป็น

กลยุทธ์หนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับใครก็ตาม คือการหาสิ่งที่ชอบเหมือนกัน

“ฮันเตอร์ เกห์ลแบช (Hunter Gehlbach) และทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทดลองให้นักศึกษาปีหนึ่งและครูตอบแบบสอบถามด้านความสใจ ค่านิยม และวิธีการเรียนรู้ที่ชอบ จากนั้นจึงคัดเลือกข้อมูลจากแบบสอบถามและแจ้งต่อครูและนักศึกษา โดยเน้นความสนใจและค่านิยมที่ตรงกันระหว่างครูและนักศึกษาแต่ละคน”

พวกเขาพบว่า หากครูกับนักเรียนมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นตามไปด้วย

หลักการเดียวกันนี้ใช้ได้กับทั้งผู้ปกครอง เพื่อนร่วมงาน และผู้บริหาร หากเราต้องการเรียนรู้ร่วมกับใคร เราต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้รับความสำคัญและความไว้ใจก่อน และแน่นอนว่าความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเติบโตแบบครบวงจร

 

ธันวาคม: เรารักความท้าทาย!

“ความท้าทายคือหัวใจของชุดความคิดแบบเติบโต
เพราะหากปราศจากความท้าทาย นักเรียนจะขาดโอกาสในการลองผิดลองถูก
เรียนรู้ที่จะล้มเหลว และฉุดตัวเองให้ยืนหยัดขึ้นอีกครั้ง”

เราอาจเคยชินกับห้องเรียนที่ให้ทุกคนเรียนเรื่องเดียวกัน ในระยะเวลาเท่ากัน และวัดผลด้วยวิธีเดียวกัน แต่ในโลกความเป็นจริงไม่มีเด็กคนไหนเหมือนกัน การต้องทำทุกอย่างเหมือนกันจึงทำให้เด็กบางคนได้รับความท้าทายในระดับที่ไม่เหมาะสม

เด็กที่มีความรู้เกินระดับชั้นจะรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ไปในที่สุด ในขณะที่เด็กที่ตามเพื่อนไม่ทันเองก็มักจะไม่กล้าถามคำถามและนำมาสู่การหมดกำลังใจในการเรียนรู้เช่นกัน

เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าทุกคนมีจังหวะในการเรียนรู้ของตนเอง และนั่นเป็นสิ่งที่โอเค เราจะสอนให้เด็กๆ ได้เข้าใจความหมายของคำว่าเสมอภาค (equality) กับเท่าเทียม (equity) หนึ่งตัวช่วยคลาสสิกตลอดกาลสำหรับอธิบายสองแนวคิดนี้คือรูปภาพด้านล่าง

ความเสมอภาคหมายถึงทุกคนได้รับทรัพยากรเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงความต้องการส่วนบุคคล ในขณะที่ความเท่าเทียมให้ความสำคัญกับความต้องการของแต่ละคน แต่ละคนจะได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการเพื่อจะบรรลุเป้าหมาย

เมื่อเด็กๆ ได้รู้จักแนวคิดนี้แล้ว พวกเขาจะเข้าใจมากขึ้นหากเพื่อนบางคนที่ทำแบบฝึกหัดเสร็จเร็ว ได้รับมอบหมายให้ช่วยสอนเพื่อนคนอื่น หรือเพื่อนบางคนเลือกทำวิดีโอสรุปเนื้อหาส่งแทนจะทำรายงาน ฝ่ายผู้สอนเองก็จะมีโอกาสออกแบบการเรียนการสอนให้รองรับความหลากหลายได้มากขึ้น ให้เด็กที่เก่งได้รับการท้าทาย ส่วนเด็กที่ช้าก็ได้รับการดูแลโดยไม่รู้สึกแปลกแยก และรับรู้ได้ว่าครูมีความคาดหวังในตัวทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ไม่ได้ทอดทิ้งใคร

 

มกราคม: จงเปิดใจ คำติชมเปรียบดั่งของขวัญ

ในการทดลองครั้งหนึ่งของแครอล ดเว็ก เธอให้เด็กเกรดห้า 400 คนทำแบบทดสอบแก้ปริศนาง่ายๆ ชุดหนึ่ง เมื่อทำเสร็จแล้ว นักวิจัยจะกล่าวชมนักเรียนด้วยประโยคใดประโยคหนึ่งระหว่าง “เธอต้องเก่งเรื่องนี้แน่ๆ” กับ “เธอทุ่มเทเต็มที่เลยสินะ” จากนั้นก็ให้นักเรียนเลือกว่าจะทำแบบทดสอบชุดที่สองที่ระดับเท่าเดิมหรือยากขึ้น

“ผลลัพธ์ออกมาน่าสนใจอย่างยิ่ง นักเรียนที่ได้รับคำชมว่าเก่งอยู่แล้วเลือกทำข้อสอบระดับง่าย ขณะที่ 90 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนที่ได้รับคำชมเรื่องความทุ่มเทเลือกข้อสอบที่ยากขึ้น”

“ดเว็กสังเกตว่าเมื่อนักเรียนได้รับคำชมว่าฉลาด พวกเขาก็อยากจะรักษาคำชมนั้นไว้ และมีแนวโน้มไม่กล้าเสี่ยงเพราะไม่ต้องการให้สถานะ “เด็กฉลาด” สั่นคลอน” คำชมแบบนี้เรียกว่าคำติชมตัวบุคคล

“ในทางกลับกัน เด็กที่ได้รับคำชมเรื่องความทุ่มเทไม่มีความหวั่นไหวดังกล่าว พรวกเขาจึงปรับตัวเข้ากับชุดความคิดแบบเติบโตที่ว่าความผิดพลาดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างหนักและการลองผิดลองถูกได้” คำชมเรื่องความทุ่มเท เป็นตัวอย่างคำติชมกระบวนการ

การติชมตัวบุคคลจะเกี่ยวโยงโดยตรงกับระดับสติปัญญาหรือคุณสมบัติของนักเรียน ซึ่งไม่ได้เสียหายอะไรหากนักเรียนประสบความสำเร็จ แต่ยามใดที่นักเรียนพบอุปสรรค หากพวกเขาเชื่อว่าความสำเร็จเป็นผลจากตัวพวกเขา พวกเขาย่อมเชื่อว่าตัวพวกเขาเองเป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวด้วยเช่นกัน ส่งผลให้พวกเขาถูกผลักลงสู่วังวนของความไม่มั่นใจ

หากเรายึดโยงกับกระบวนการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวนักเรียนโดยตรง ความมุ่งมั่นของนักเรียนที่จะรับมือกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ และปรับตัวเมื่อเกิดข้อผิดพลาดย่อมไม่ถูกลดทอนลงไป เพราะตัวตนของพวกเขาไม่ได้ผิดอะไร พวกเขาเพียงแต่ต้อง “พยายามให้มากขึ้น” เท่านั้นเอง

กุมภาพันธ์: เป้าหมายที่ขาดแผนการก็เป็นเพียงความปรารถนา

“การเรียนรู้วิธีการตั้งเป้าหมายและวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างชั้นเรียนที่เน้นการเติบโต เพราะหากปราศจากการตั้งเป้าหมาย นักเรียนจะไม่สามารถจดจ่ออยู่กับปลายทางของการเรียนรู้ได้ อีกทั้งการตั้งเป้าหมายยังจำเป็นต่อการบ่มเพาะลักษณะนิสัยแห่งความเพียร ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในวงการการศึกษาปัจจุบัน”

“ความเพียร” (grit) หมายถึง ความมุ่งมั่นที่จะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายโดยไม่ย่อท้อ ดังที่ไมเคิล จอร์แดน เคยว่าไว้ในโฆษณาของไนกี้ที่ชื่อ “Failure”

“ผมชูตบาสพลาดมาแล้วกว่า 9,000 ครั้งตลอดชีวิตนักกีฬา ผลแพ้การแข่งขันมากว่า 300 นัด และกว่า 26 ครั้งที่ผมได้ทำหน้าที่ชูตลูกตัดสินแพ้ชนะแต่ทำไม่สำเร็จ ผลล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และนั่นเองคือเหตุผลที่ประสบความสำเร็จ”

 

ไม่ใช่เพียงไมเคิล จอร์แดน แต่คนที่ประสบความสำเร็จทุกคนไม่ว่าจะเป็น โธมัส เอดิสัน, เจ.เค. โรว์ลิง หรือบิล เกตส์ ล้วนต้องทุ่มเทอย่างมากจึงจะบรรลุเป้าหมาย คนในสังคมมักเชิดชูคนที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ แต่เมื่อลองสืบค้นข้อมูลของคนดังเหล่านี้ดูแล้ว เราจะได้รู้ว่าหากต้องการประสบความสำเร็จ เราจำเป็นต้องทุ่มเทฝึกฝนเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครที่ทุ่มเทอย่างมากแล้วจะไม่พัฒนาขึ้นเลย

มีนาคม: ความผิดพลาดคือโอกาสที่จะเรียนรู้

“คนที่ไม่เคยผิดพลาดคือคนที่ไม่เคยลองทำอะไรใหม่ๆ”

กระบวนการเรียนรู้เต็มไปด้วยเรื่องยุ่งเหยิงและคาดเดาไม่ได้ แต่ที่คาดเดาได้อย่างหนึ่งคือเราจะต้องทำผิดพลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างการเรียนรู้แน่ๆ

“ข้อผิดพลาดและการเอาชนะอุปสรรคในการเรียนรู้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่ความแตกฉานตามหลักชุดความคิดแบบเติบโต แต่ความกลัวที่จะผิดพลาดมักจะฉุดรั้งไม่ให้นักเรียนทำสิ่งที่ท้าทาย”

“เราจึงนำเสนอเทคนิคการปรับมุมมองให้ความผิดพลาดกลายเป็นโอกาสสำคัญแห่งการเรียนรู้ พร้อมกับแนวทางในการฝึกฝนให้นักเรียนก้าวข้ามปัญหา การเรียนรู้ไม่ใช่หนทางที่ราบรื่นสวยหรู แต่เป็นหนทางแห่งความยุ่งเหยิง เต็มไปด้วยหน้าผาสูงชันและหุบเหวลึก มันคือการเดินหน้าสองก้าวและถอยหลังหนึ่งก้าว เมื่อใช้ชุดความคิดแบบเติบโต คุณไม่เพียงแต่ต้องพร้อมที่จะรับมือกับความผิดพลาด แต่ต้องพร้อมที่จะยอมรับมันในฐานะขั้นตอนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วย”

เมื่อเด็กๆ เล่นเกมไม่ผ่านด่าน พวกเขาไม่เคยหยุดเล่นง่ายๆ แต่มักจะกดเริ่มใหม่แล้วเล่นต่อทันที หลายชั่วโมงที่เด็กๆ ทุ่มเทให้กับการฝึกฝีมือในเกม แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วพวกเขาเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณที่ไม่ท้อถอยง่ายๆ

มาเปิดโอกาสให้เด็กๆ เริ่มใหม่ได้เสมอโดยไม่ถูกดุด่า ยิ้มรับความผิดพลาดอย่างมั่นใจ และเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เหมือนเวลาเล่มเกมกันเถอะ

เมษายน: “ไม่รู้” กับ “ยังไม่รู้” นั้นต่างกัน!

คำว่า ไม่รู้ เป็นเหมือนกำแพงที่ปิดตาย

ในขณะที่ ยังไม่รู้ เปรียบเหมือนประตูที่ยังไม่ได้เปิดไปสำรวจ

การประเมินผลการเรียนล้วนแล้วแต่มีขึ้นเพื่อช่วยวัดประเมินความก้าวหน้าของนักเรียนเทียบกับเป้าหมายการเรียนรู้ ซึ่งบางครั้งก็ไม่อาจแสดงให้เห็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนของนักเรียนในภาพรวมได้

แต่ปัญหาก็คือบางครั้งนักเรียน รวมถึงครู ผู้ปกครอง และผู้บริหาร กลับให้ความสำคัญกับระดับคะแนนในการประเมินเหล่านี้มากเกินไป

ไมเคิล เวสซ์ (Michael Wesch) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสสเตตได้แสดงความเห็นไว้ว่า ใน

“ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกแห่งข้อมูลอันฉับไวและไร้ขีดจำกัด การที่นักเรียนต้องรู้ ท่องจำ และจดจำไว้ในใจจึงสำคัญน้อยลงไปทุกขณะ สิ่งที่สำคัญความกว่าคือความสามารถในการสืบค้น จำแนกประเภท วิเคราะห์ แบ่งปัน ปรึกษาแลกเปลี่ยน วิพากษ์ และสร้างสรรค์ข้อมูลใหม่ๆ”

เราจำเป็นต้องเลิกยึดติดว่านักเรียนต้องมีความรู้และช่วยให้พวกเขารู้จัก “แสวงหาความรู้”

ให้พวกเขาพูดกับตัวเองว่า ยังไม่รู้  และเริ่มเรียนรู้ใหม่ได้เสมอ

 

พฤษภาคม: ฉันทำได้!

ก่อนจะเริ่มทำสิ่งใหม่ ให้บอกตัวเองว่า “ฉันทำได้!”

การพูดคุยกับตัวเองคือเครื่องมือล้ำค่าที่จะช่วยให้เด็กๆ ฝึกฝนชุดความคิดแบบเติบโตได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่โรงเรียน ปิดเทอมหรือเปิดเทอม

สอนให้เด็กๆ ฝึกตอบกลับเสียงของชุดความคิดแบบตายตัวด้วยชุดความคิดแบบเติบโต เป็นต้นว่าเมื่อความคิดว่า “ฉันไม่มีวันว่ายน้ำเป็นแน่ๆ” ผุดขึ้นมา ให้รู้ตัวว่านั่นคือเสียงของชุดความคิดแบบตายตัว และตอบกลับไปว่า “เราควรลองขอพ่อแม่ไปเรียนว่ายน้ำ เราจะได้ว่ายน้ำเป็น” เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ เสียงของชุดความคิดตายตัวก็จะค่อยเงียบลง และชุดความคิดแบบเติบโตของเราก็จะแข็งแกร่งขึ้น

เริ่มต้นด้วยการบอกตัวเองตอนนี้เลยว่า “ฉันทำได้!”

มิถุนายน: ฉันจะดูแลคนอื่นได้อย่างไร ถ้ายังดูแลตัวเองไม่ได้

หลังจากที่เรียนรู้เรื่องการดูแลเด็กๆ มาตลอดทั้งเล่ม ถึงเวลาที่จะทบทวน ผ่อนคลาย และเริ่มต้นใหม่

นั่งลงเขียนบันทึกตอบคำถามต่างๆ เช่น หลังจากลองใช้ชุดความคิดแบบเติบโตในการเรียนการสอน ความสัมพันธ์ของเรากับเด็กๆ รวมถึงเพื่อนร่วมงานเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ ที่เพิ่งประสบความพ่ายแพ้มาคืออะไร หรือชุดความคิดของเด็กๆ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างตลอดหนึ่งปี เพื่อทบทวนประสบการณ์แห่งชุดความคิดแบบเติบโตอย่างลึกซึ้ง

นอกจากนี้ อย่าลืมให้กำลังใจตัวเองด้วยว่าเราทำได้ดีมากแล้วในปีนี้ เมื่อมีเวลาในช่วงปิดเทอม เราเองก็ควรหาโอกาสให้ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณได้ผลิบานอีกครั้งหลังภารกิจอันหนักหน่วงตลอดปีที่ผ่านมาด้วย ไม่ว่าจะด้วยการเดินหรือวิ่งออกกำลัง ปลูกต้นไม้ ลงเรียนคอร์สโยคะ เข้าชมรมที่สนใจ นัดพบเพื่อนที่ร้านกาแฟ อ่านหนังสือในกองดอง ทำสมาธิ ทำงานศิลปะ หรือออกไปเที่ยวในธรรมชาติ

การฟื้นฟูตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่คำขวัญประจำเดือนนี้ว่าไว้ “ฉันจะดูแลคนอื่นได้อย่างไร ถ้ายังดูแลตัวเองไม่ได้

 

กรกฎาคม: วันใหม่คือโอกาสแห่งการเติบโต

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะจบลงพร้อมๆ กับที่ปีการศึกษาจบลง แต่การเรียนรู้ชุดความคิดแบบเติบโตไม่เคยจบ

หนังสือแนะนำแหล่งเรียนรู้ตามหลักชุดความคิดแบบเติบโต ตลอดจนเทคนิคและกลวิธีในการฝึกทักษะการใช้ชุดความคิดแบบเติบโตในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ส่วนบุคคลด้วยทวิตเตอร์และสื่อโซเชียลมีเดียประเภทต่างๆ เพื่อเสริมฐานการสนับสนุนและก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งด้วย

สำหรับผู้เริ่มต้นสนใจชุดความคิดแบบเติบโต หนังสือได้แนะนำหนึ่งในเว็บไซต์ที่รวบรวมเครื่องมือสำหรับเอาไว้มากมาย นั่นก็คือ https://www.mindsetkit.org/ นั่นเอง

 

ศึกษาแนวทางการสร้างชุดความคิดแบบเติบโตอย่างละเอียดได้ใน

The Growth Mindset Coach คู่มือออกแบบการเรียนรู้ เพื่อสร้าง Growth Mindset

(The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve)

Annie Brock, Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

344 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่