เพศศึกษากติกาใหม่ (ฉบับย่อ)

มุมมองเรื่องเพศแบบเก่าไม่อาจเหนี่ยวรั้งวัยรุ่นไว้ได้ แต่กลับผลักให้พวกเขาต้องเผชิญกับเซ็กซ์โดยไม่พร้อม

ในอดีตที่ผ่านมา และแม้แต่ในปัจจุบัน เพศศึกษามักนำเสนอความน่ากลัวและเลวร้ายของเซ็กซ์ เพื่อขมขู่โน้มน้าวให้เด็กๆ หลีกหนีให้ห่างจากเซ็กซ์ แต่เราก็ได้เห็นมาครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามุมมองเรื่องเพศแบบเก่าไม่อาจเหนี่ยวรั้งวัยรุ่นไว้ได้ แต่กลับผลักให้พวกเขาต้องเผชิญกับเซ็กซ์โดยไม่พร้อม ไม่มีทั้งความรู้และเครื่องมือที่จะปกป้องตัวเอง เจนนิเฟอร์ แลง แพทย์ด้านนรีเวชและคุณแม่ลูกสาม นำเสนอเพศศึกษาแบบใหม่ ที่เป็นมิตร ตรงไปตรงมา และถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ใน “เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น” มาเปิดใจ และเปิดหูเปิดตา ทำความรู้จักเซ็กซ์และความสัมพันธ์ในมิติใหม่ ผ่านแก่นแกนหลักอย่าง “ความยินยอม” ที่จะทำให้วัยรุ่นได้มีความสัมพันธ์ทางกายที่ปลอดภัย และความสัมพันธ์ทางใจที่แข็งแรง

 

เซ็กซ์

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักเซ็กซ์กันเสียก่อน เซ็กซ์นั้นเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบมากมาย เป็นเรื่องทางกาย เกี่ยวข้องกับอวัยวะทางเพศและการสัมผัสลูบไล้ เป็นเรื่องทางเคมี คือฮอร์โมนและองค์ประกอบทางเคมีอื่นๆ ในร่างกาย เป็นเรื่องทางอารมณ์ ซึ่งหลากหลาย ส่งผลต่อเพศวิถีของเรา เป็นเรื่องทางสังคม เนื่องจากเพศวิถีเป็นรูปแบบความเกี่ยวข้องกันระหว่างมนุษย์ และสุดท้าย เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อมุมมองและการแสดงออกเรื่องเซ็กซ์และเพศวิถีของเรา

องค์ประกอบทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้และแสดงออกของเราด้านเพศวิถีหรือเซ็กซ์ ก็คือสาร จากผู้คนรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อน และสื่อ ที่สำคัญที่สุดคือสื่อลามกอนาจาร ซึ่งมักจะบิดเบือนภาพของเซ็กซ์ ทำให้เราเข้าใจเซ็กซ์ต่างจากที่เป็นจริง และคาดหวังถึงเซ็กซ์แบบผิดๆ

สารเหล่านี้ยังนำไปสู่แรงกดดันทางเพศ อาจมีอิทธิพลในระดับความคิดความเชื่อ ส่งผลต่อระบบความเชื่อของเราเรื่องเพศวิถี ทำให้เรายับยั้งชั่งใจไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง หรือทำบางสิ่งบางอย่าง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องถูกต้อง สารจากคนรอบข้าง เช่น ครอบครัวหรือพ่อแม่ ก่อให้เกิดแรงกดดันภายนอก ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราเช่นกัน เราควรได้ย้อนคิดทบทวนบ้าง ว่าความคิดความเชื่อของตัวเองนั้นเกิดจากแรงกดดัน หรือเป็นของเราเองจริงๆ

กลับมาที่เรื่องของเซ็กซ์ หากตัดอิทธิพลจากสารรอบตัว รวมทั้งแรงกดดันออกไป เซ็กซ์จะมีลักษณะอย่างไรกันแน่ เซ็กซ์นั้นแตกต่างหลากหลาย ความรู้สึกที่เกิดจากเซ็กซ์ก็หลายหลาก นักวิทยาศาสตร์พยายามแบ่งระยะต่างๆ ของการมีเซ็กซ์เพื่ออธิบายลักษณะของเซ็กซ์ เช่น ระยะตื่นตัว ระยะตื่นเต้น ระยะสุดยอด และระยะผ่อนคลาย ถึงอย่างนั้น แต่ละคนก็มีประสบการณ์เซ็กซ์ต่างกัน แม้กระทั่งเมื่อมีเซ็กซ์กับคนคนเดิม

เราจึงไม่ควรตั้งความหวังหรือคาดหมายว่าเซ็กซ์จะต้องเป็นแบบไหน ที่สำคัญคือการค่อยๆ เรียนรู้ ทำความรู้จักตัวเองไปพร้อมๆ กับคู่ที่เข้าใจและให้เกียรติเรา

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้เมื่อมีเซ็กซ์คือการกำหนดและเคารพขอบเขตของกิจกรรมทางเพศ เมื่อเติบโตขึ้น คนเราจะมีอำนาจแห่งตน (agency) มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เรามีอำนาจตัดสินใจในเรื่องร่างกายและการแสดงตัวตนของเราเองได้ รวมถึงมีอำนาจที่จะตัดสินใจเรื่องเซ็กซ์และความสัมพันธ์ ใครก็ตามล้วนต้องเคารพอำนาจนั้น เช่นเดียวกับที่เราต้องเคารพอำนาจแห่งตนของคนอื่น ไม่ว่าจะเพศภาวะใด เราล้วนมีสิทธิบอกว่าเราต้องการหรือไม่ต้องการอะไร สบายใจหรือไม่สบายใจอะไร ทั้งสองฝ่ายต้องรู้จักสื่อสารความรู้สึกของตัวเอง เพื่อให้เซ็กซ์นั้นเป็นเซ็กซ์ที่ดีสำหรับทุกคน

แน่นอนว่าการเลือกจะไม่มีเซ็กซ์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกแต่อย่างใด หากเราเลือกโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ ปราศจากแรงกดดันใดๆ

 

ความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์คือการที่คนสองคนเชื่อมโยงกัน หากเป็นความสัมพันธ์ชิดใกล้ในเชิงเพศ หรือความสัมพันธ์แบบแฟน เราอาจเริ่มจากการเดตเพื่อทำความรู้จักกันก่อน อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจคาดหวังไปเองว่าการเดตนั้นจะต้องจบลงด้วยการมีเซ็กซ์เสมอไป อีกฝ่ายอาจยอมมาหาเราสองต่อสอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะยอมมีเซ็กซ์กับเรา อีกฝ่ายอาจเลี้ยงมื้อเย็นเรา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยอมมีเซ็กซ์กับเขา เราจะมีเซ็กซ์หรือกิจกรรมทางเพศใดๆ ได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายยินยอมเท่านั้น

เมื่อคบกันเป็นแฟนแล้ว รูปแบบความสัมพันธ์ก็เป็นไปได้หลากหลายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ชิดใกล้ ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด หรือความสัมพันธ์แบบเพื่อนคู่นอน ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ล้วนเป็นปกติ ไม่มีถูกผิด แม้บางรูปแบบอาจจะท้าทายมากกว่า ตราบใดที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันและยินยอมมีความสัมพันธ์แบบนั้น

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหน ความสัมพันธ์นั้นควรเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ได้แก่ ทั้งสองฝ่ายมีความรู้สึกร่วมกัน มีความจริงใจ ให้การสนับสนุนกันและกัน เคารพกัน ประนีประนอมกัน และไม่ทารุณกัน

แต่แม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่ดี วันหนึ่งมันก็อาจพังไม่เป็นท่า จะทำอย่างไรดีถ้าเราถูกปฏิเสธ ถูกบอกเลิก หรือต้องบอกเลิกอีกฝ่าย

หากถูกปฏิเสธ จำไว้ว่านั่นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน มันไม่อาจตัดสินคุณค่าของเราได้ หากสองฝ่ายรู้สึกไม่ตรงกัน เราก็อาจจะได้ไปพบกับคนอื่นที่เหมาะสมกับเรากว่า ให้เวลาตัวเองเสียใจให้เต็มที่ เพื่อเรียนรู้และเติบโต

การบอกเลิกไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถึงอย่างนั้นก็มีวิธีบอกเลิกที่รับผิดชอบและไม่รับผิดชอบ เราควบคุมความรู้สึกอีกฝ่ายไม่ได้ แต่เราควบคุมความรู้สึกเราได้ หากเราบอกเลิกเขาอย่างซื่อตรงและเห็นอกเห็นใจ เราก็จะไม่ต้องรู้สึกผิดในภายหลัง สิ่งที่เราควรทำเมื่อบอกเลิกอีกฝ่ายคือ บอกเลิกต่อหน้า พูดอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา แต่ไม่จำเป็นต้องอธิบายใดๆ ว่าทำไมเราถึงอยากเลิกกับเขา

ความรู้สึกว่าอยากเลิกนั้นเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เราจะบอกเลิกใครสักคน

อย่าแจกแจงข้อเสียของอีกฝ่าย หรือเก็บงำความรู้สึกไว้แล้วนอกใจเพื่อเป็นข้ออ้างในการบอกเลิก สุดท้าย แม้ว่าอีกฝ่ายจะต้องเจ็บ แต่จงซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง หากเราต้องการบอกเลิก เราก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม หากจะจบความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เช่น ความสัมพันธ์ที่มีการทำร้ายหรือทารุณ เราอาจต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเริ่มจากการหาผู้คนที่จะสนับสนุนเราได้หากเราต้องการ จากนั้นค่อยบอกเลิกอีกฝ่าย หากรู้สึกเป็นอันตรายก็ไม่จำเป็นต้องบอกเลิกต่อหน้า และควรบอกผู้ใหญ่ให้รับรู้ไว้ เผื่อเราต้องการความช่วยเหลือ สุดท้ายคือเราควรดูแลตัวเองหลังการเลิกราด้วย ทั้งร่างกายและจิตใจ

 

ความยินยอม

สิ่งสำคัญที่ต้องมีอยู่ในสถานการณ์ทางเพศทุกครั้งคือความยินยอม ทั้งจากเราและจากอีกฝ่าย

ความยินยอมนี้เกิดจากการสื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพระหว่างสองฝ่าย และต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะการที่เราให้ความยินยอมครั้งหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเราจะยินยอมไปทุกครั้ง

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่ให้ความยินยอมได้เสมอไป ผู้ที่จะให้ความยินยอม ต้องมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจ อันเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ผู้ให้ความยินยอมต้องมีอายุถึงเกณฑ์ที่จะให้ความยินยอมตามกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่หรือประเทศ
  • ผู้ให้ความยินยอมต้องมีความสามารถทั้งทางสติปัญญาและพัฒนาการ หากคนผู้นั้นมีความบกพร่องใดๆ ต้องมีการตรวจสอบกับผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบก่อน
  • ทั้งสองฝ่ายต้องไม่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อันก่อให้เกิดแรงกดดันให้ยอมรับหรือปฏิเสธกิจกรรมทางเพศใดๆ ก็ตาม
  • ทั้งสองฝ่ายต้องไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดจนมีระดับการรับรู้ต่ำกว่าปกติหรือไร้สติ

วิธีที่ดีที่สุดในการขอและให้ความยินยอมคือการสื่อสารด้วยวาจา เพราะเป็นวิธีสื่อสารที่ชัดเจนที่สุด การยินยอมด้วยวาจาใช้ได้กับทุกเพศภาวะและรสนิยมทางเพศ เมื่อมีความสัมพันธ์ครั้งแรกหรือเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ต้องมีการยินยอมด้วยวาจาเสมอ และแม้หลังจากนั้นก็ยังต้องยินยอมด้วยวาจาทุกครั้งที่มีกิจกรรมทางเพศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันมากขึ้นและผ่านระยะเวลามาช่วงหนึ่ง คู่รักบางคู่อาจเริ่มสื่อสารกันด้วยอวัจนภาษาได้ ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างไร แต่ทั้งสองฝ่ายต้องหมั่นสังเกตกันและกันอยู่เสมอ หากรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ ควรรีบสื่อสารกันด้วยคำพูด ซึ่งเป็นวิธีที่แน่นอนที่สุด

ความยินยอมนั้นคล้ายการสนทนา คือดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างลื่นไหล มีการสื่อสารสองฝ่าย และอาจเปลี่ยนทิศทางได้ทุกเมื่อ ทุกฝ่ายที่มีส่วนในความสัมพันธ์หรือกิจกรรมทางเพศจึงต้องให้ความยินยอมอย่างกระตือรือร้น ชัดเจน และต่อเนื่องตลอดการปฏิสัมพันธ์

ความยินยอมไม่มีอำนาจผูกมัด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยกเลิกความยินยอมได้ทุกเมื่อ ความยินยอมมีผลเฉพาะกิจกรรมดังกล่าวและช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น เมื่อได้รับความยินยอมมาครั้งหนึ่ง จึงไม่ได้หมายรวมว่าเราจะทำกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ กับอีกฝ่ายได้ หรือทำกิจกรรมรูปแบบเดิมนั้นกับอีกฝ่ายได้อีกในช่วงเวลาอื่นๆ สุดท้าย ไม่ว่าเพศสภาวะใดต่างก็มีความรับผิดชอบเท่าๆ กันในการให้และรับความยินยอม เช่น ผู้หญิงไม่ได้มีหน้าที่ให้หรือไม่ให้ความยินยอมอยู่ฝ่ายเดียว และผู้ชายก็ไม่ได้มีหน้าที่ขอความยินยอมอยู่ฝ่ายเดียว

หากเราได้รับความยินยอมให้มีเซ็กซ์กับอีกฝ่าย เซ็กซ์นั้นต้องดำเนินไปอย่างเต็มใจ ไม่ได้มีข้อผูกมัดระหว่างกัน การทำบางสิ่งให้อีกฝ่ายต้องไม่เกิดจากการคาดหวังว่าเราจะได้รับบางสิ่งตอบแทน และหากได้รับบางสิ่ง เราก็ไม่ต้องตอบแทน หากไม่ได้รู้สึกว่าต้องการให้

หากถูกอีกฝ่ายปฏิเสธ ไม่ให้ความยินยอม เราต้องรับฟังและเคารพคำตอบอีกฝ่าย อย่าโกรธแค้นอีกฝ่าย แต่หันมาดูแลเยียวยาตัวเอง ที่สำคัญคืออย่ากดดันให้อีกฝ่ายให้ความยินยอมกับเรา เพราะนั่นจะกลายเป็นการบีบบังคับหรือประทุษร้ายทางเพศ

 

เซ็กซ์ที่ปลอดภัยขึ้น

ไม่มีเซ็กซ์ที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แต่เรามีเซ็กซ์ที่ปลอดภัยขึ้นได้หากรู้จักป้องกัน

เมื่อเข้าวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์ เด็กๆ ควรได้พูดคุยกับแพทย์ที่เหมาะสมกับทั้งเพศวิถีและเพศสภาพของพวกเขา ผู้ปกครองควรให้เวลาลูกๆ ได้อยู่กับแพทย์ตามลำพัง เพื่อให้เขาได้พูดคุยและถามคำถามได้อย่างสะดวกใจ ทำให้พวกเขาได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง เหมาะสม และตรงไปตรงมา

จากนั้นเมื่อเริ่มมีเซ็กซ์ กุญแจสำคัญของเซ็กซ์ที่ปลอดภัยขึ้นคือการสื่อสารอย่างซื่อสัตย์และเปิดเผยเรื่องความเสี่ยง รับฟังและไม่ตัดสินเมื่อพูดคุยกัน จากนั้นค่อยตกลงกันว่าอยากใช้วิธีป้องกันแบบไหน หากอีกฝ่ายไม่เข้าใจหรือมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการป้องกัน อันเป็นเหตุให้เขาปฏิเสธการป้องกัน เราก็อาจค่อยๆ อธิบายให้เขาเข้าใจได้

วิธีป้องกันทั้งการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์นั้นมีหลากหลาย แต่ละรูปแบบมีวิธีใช้และประสิทธิภาพต่างกัน สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

 

วิธีป้องกันด้วยสิ่งกีดขวาง

คือการใช้บางสิ่งมาขวางกั้นระหว่างผิวหนังของเรากับอีกฝ่าย ป้องกันได้ทั้งการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ ได้แก่ ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง หรือแผ่นยางอนามัย

 

วิธีป้องกันด้วยฮอร์โมน

คือการใช้ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเอสโทรเจนและฮอร์โมนโพรเจสทิน เพื่อควบคุมร่างกายของผู้หญิงไม่ให้ตกไข่ ทำให้เมือกปากมดลูกข้นขึ้นเพื่อกันไม่ให้อสุจิเข้าไป หรือสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนป้องกันแค่การตั้งครรภ์ ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ วิธีป้องกันด้วยฮอร์โมนได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แผ่นแปะคุมกำเนิด วงแหวนคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด หรือห่วงคุมกำเนิด

 

วิธีผ่าตัดแบบถาวร

ได้แก่ การทำหมันหญิงและการทำหมันชาย สองวิธีนี้ไม่ป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน

 

วิธีอื่นๆ

วิธีเหล่านี้เคยเป็นที่นิยม ทว่าได้รับความนิยมน้อยลงมากเมื่อเทคโนโลยีการคุมกำเนิดก้าวหน้า เพราะใช้งานยากกว่าวิธีที่ว่ามาก่อนหน้านิดหน่อย นอกจากนั้นยังได้ผลน้อยกว่า จึงควรใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นหรือเจลฆ่าอสุจิ วิธีเหล่านี้ได้แก่ ฝาครอบปากมดลูก หมวกครอบปากมดลูก และฟองน้ำคุมกำเนิด

 

การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เราก็ควรป้องกัน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์คือป้องกันด้วยสิ่งกีดขวาง เช่น ถุงยางอนามัย นอกจากนั้น หากอยู่ในช่วงที่ยังมีเซ็กซ์อยู่ เราควรหมั่นตรวจหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ และฉีดวัคซีนป้องกันด้วย หากพบว่าตัวเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ต้องรีบไปรักษา เพื่อลดความเสี่ยงของผลในระยะยาว จากนั้นรีบแจ้งคู่นอนทั้งคนเก่าและคนปัจจุบัน หากเรายังมีเพศสัมพันธ์อยู่ขณะมีเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ก็ควรใช้วิธีป้องกันอย่างเหมาะสม และซื่อสัตย์กับอีกฝ่าย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

ในทางกลับกัน หากอีกฝ่ายบอกเราว่าเขาติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินในแง่ลบ แต่ให้ขอบคุณเขาสำหรับความกล้าหาญที่บอกกับเราอย่างซื่อสัตย์ รับฟังเขา จากนั้นไปปรึกษาแพทย์ว่าเราจะมีความสัมพันธ์กับคนคนนี้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร

 

ความรุนแรงทางเพศ

การทำความเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศต้องเริ่มจากความเข้าใจมิติด้านกฎหมายก่อน เพื่อเข้าใจกรอบเบื้องต้นว่ากฎหมายกำหนดว่ากิจกรรมทางเพศแบบใดบ้างที่นับเป็นอาชญากรรม เช่น

  • อายุที่ให้ความยินยอมทางเพศได้ (age of consent) คืออายุที่ถือว่าโตพอจะยินยอมมีเซ็กซ์ได้แล้ว ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่หรือประเทศ
  • การข่มขืนกระทำชำเราผู้เยาว์ (statutory rape) ใช้เมื่อผู้ใหญ่มีเซ็กซ์ที่ได้รับความยินยอมกับผู้ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์จะให้ความยินยอมทางเพศได้
  • การข่มขืน (rape) คือการมีเพศสัมพันธ์หรือการสอดใส่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยที่ฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมพร้อมใจ
  • การประทุษร้ายทางเพศ (sexual assault) กินความหมายกว้างๆ หมายถึงการสัมผัส ลูบคลำ เล้าโลมในเชิงเพศ โดยที่เหยื่อไม่ยินยอม
  • การบีบบังคับทางเพศ (sexual coercion) คือการกดดัน ขมขู่ หรือบังคับด้วยวิธีที่ไม่ใช่ทางกายภาพ เพื่อบีบบังคับให้อีกฝ่ายมีกิจกรรมทางเพศอันไม่พึงประสงค์
  • การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) อาจเป็นในทางกายภาพหรือไม่ก็ได้ เช่น การข่มขู่ หรือแสดงความคิดเห็นเชิงเพศ

การทารุณนั้นเป็นการใช้ความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ อาจเป็นการทารุณทางอารมณ์/วาจา ทางกาย หรือทางเพศก็ได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางจิตใจหรือกายกับอีกฝ่าย การทารุณรูปแบบหนึ่งมักนำไปสู่การทารุณรูปแบบอื่นๆ และหลายครั้งการทารุณก็ไม่อาจเห็นได้ชัดเจน เราจึงควรพึงระวังไม่ทำทารุณต่อคนอื่น และต้องไม่ให้คนอื่นมาทารุณเราด้วย

 

การทารุณทางอารมณ์/วาจา

เป็นการทารุณทางจิตใจโดยใช้คำพูดหรือการกระทำโดยไม่ใช้กำลัง เพื่อข่มเหงรังแก หรืออ้างสิทธิในการครอบงำอีกฝ่าย คนที่ถูกทารุณในรูปแบบนี้มักมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ ซึมเศร้า และวิตกกังวล การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ก็นับเป็นการทารุณลักษณะนี้เช่นกัน

 

การทารุณทางกาย

ยกระดับมาจากการทารุณทางอารมณ์/วาจา เป็นการใช้กำลังทำร้ายอีกฝ่าย ไม่ว่าจะรุนแรงในระดับใดก็ตาม

 

การทารุณทางเพศ

เป็นการทารุณเพื่อบีบบังคับให้อีกฝ่ายมีกิจกรรมทางเพศโดยไม่ยินยอม

 

หากเราเป็นเหยื่อของการทารุณทางเพศ หลังเกิดเหตุทันที เราควรติดต่อหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเพื่อตรวจร่างกายและเก็บหลักฐานการทำร้ายร่างกายทางเพศ ซึ่งอาจมีประโยชน์ในภายหลังหากเราต้องการดำเนินคดี

จากนั้นจึงแจ้งความ หากเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล เราสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ว่าเราต้องการแจ้งความ หรือเราอาจแจ้งความโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการโทรศัพท์หรือไปสถานีตำรวจ

เมื่อแจ้งความแล้ว เราค่อยตัดสินใจว่าจะฟ้องร้องหรือไม่ แม้การฟ้องร้องจะเป็นผลดีต่อผู้อื่นที่อาจตกเป็นเหยื่อในอนาคต

แต่เราควรรู้ว่าการกระบวนการฟ้องร้องอาจยิ่งเพิ่มบาดแผลให้เรา และสุดท้ายแล้วผู้กระทำผิดก็อาจไม่ถูกตัดสินให้รับโทษก็ได้

หากเราเป็นเด็กและถูกทารุณทางเพศ ให้ไปบอกผู้ใหญ่เพื่อขอความช่วยเหลือ หากผู้ใหญ่คนนั้นไม่รับฟัง ก็ให้บอกผู้ใหญ่คนอื่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและความเข้าอกเข้าใจที่เราต้องการ

ผู้ที่ถูกทารุณทางเพศมามักจะบอบช้ำทางทางร่างกายและจิตใจ เราต้องเข้าใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าเราจะทำอะไรลงไป และไม่ว่าคนอื่นจะโทษเราอย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ทำอะไรผิด ให้ไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มคนที่สนับสนุนเราได้ ที่จะช่วยให้เราได้ฟื้นฟูเยียวยาตัวเอง

หากเราไม่ได้เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ แต่เป็นผู้พบเห็นการกระทำเช่นนั้น เราก็มีส่วนช่วยหยุดมันได้ เราอาจพูดแทนคนที่ด้อยกว่า หากเราเป็นผู้ได้เปรียบ เช่น ผู้ชายด้วยกันมักจะฟังกันมากกว่าจะฟังผู้หญิงที่อาจจะเป็นเหยื่อ ตามคนมาช่วยถ้าทำได้ เพื่อขัดขวางสถานการณ์ และทำให้ผู้กระทำผิดเห็นว่าคนอื่นๆ ไม่ยอมรับการกระทำของเขา เราอาจเข้าไปขัดจังหวะเพื่อให้ผู้กระทำผิดรู้ว่ามีคนเห็นเหตุการณ์ และหาจังหวะให้เหยื่อหนีออกมาได้ ถ้าเห็นใครมึนเมาเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ จงอย่าประมาท แฮลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่พบบ่อยในการประทุษร้ายทางเพศ อย่าปล่อยพวกเขาไว้ตามลำพังในสถานการณ์เสี่ยง นอกจากนั้น ในโลกออนไลน์ก็เกิดความรุนแรงทางเพศได้เช่นกัน อย่านิ่งเฉยหากเห็นพฤติกรรมน่าสงสัยหรือเลวร้ายในโลกออนไลน์ ผู้กระทำผิดจะปฏิบัติตัวต่างออกไปเมื่อถูกท้าทายจากคนรอบข้าง

สุดท้าย หากเราพบผู้รอดจากเหตุการณ์ประทุษร้ายทางเพศมา ให้พาเขาไปอยู่ในที่ปลอดภัย และช่วยให้เขาได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุน โดยอาจติดต่อเพื่อนของเขา พาไปโรงพยาบาล และเน้นย้ำให้เขามั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความผิดของเขาแต่อย่างใด

 

เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น

(Consent: The New Rules of Sex Education: Every Teen’s Guide to Healthy Sexual Relationships)

Jennifer Lang เขียน

ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปล