Brief: “เรียนรู้-อยู่กับเด็ก” ถอดประสบการณ์การใช้จิตวิทยาเด็กผ่านมุมมองหลากหลายอาชีพ

ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

หลังจากวงเสวนา “เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก” ผ่านพ้นไปและได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก วงเสวนาด้านจิตวิทยาเด็กยังดำเนินมาถึงครั้งที่สอง ด้วยส่วนผสมที่หลากหลายและได้สาระความรู้ไม่แพ้กัน

งานเสวนา “เรียนรู้-อยู่กับเด็ก: ถอดรหัสประสบการณ์การใช้จิตวิทยาเด็กผ่านมุมมองหลากหลายอาชีพ” อีกเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านมุมมองของผู้คนหลากอาชีพที่ได้คลุกคลีกับเด็กผ่านบทบาทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดการเลี้ยงลูกในแบบของตัวเอง จิตรกรและครูผู้มีประสบการณ์สื่อสารกับเด็กผ่านศิลปะ คุณหมอผู้มีประสบการณ์คลอดก่อนกำหนดด้วยอายุครรภ์เพียง 24 สัปดาห์ และอาจารย์จากคณะจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ซึ่งที่จะมาถ่ายทอดความรู้และเคล็ดลับในการประยุกต์ใช้จิตวิทยาเด็กในชีวิตจริง

ร่วมเสวนาโดย

อ.ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แปลหนังสือ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา

หมอเป้-พญ.ดาริน จตุรภัทรพร แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลกรุงเทพ และคุณแม่ลูกสอง เจ้าของเพจ รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด

ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด จาก สตูดิโอ ๗ Arts Inner Place ผู้เชี่ยวชาญการระบายสีสำหรับเด็กในแนวมนุษยปรัชญา

ไผท ผดุงถิ่น ตัวแทนคุณพ่อยุคใหม่ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ BUILK Thailand สตาร์ทอัพด้านการก่อสร้างรุ่นบุกเบิก

ชวนสนทนาโดย

นิดนก-พนิตชนก ดำเนินธรรม นักเขียนและคุณแม่ลูกอ่อน เจ้าของเพจ NidNok

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ณ ห้อง Library ชั้น 32 ดีแทคเฮาส์ จามจุรีสแควร์ จัดโดย โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape และ dtac

 

จิตวิทยาเด็กคืออะไรกันแน่

 

เพียงได้ยินคำว่า “จิตวิทยา” หลายคนเริ่มมองหาที่ตั้งหลัก นิดนกจึงชวนอาจารย์สุภลัคน์ ลวดลาย หนึ่งในผู้แปลเล่ม จิตวิทยาเด็ก ช่วยอธิบายเพิ่มเติมสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนคนนอกแวดวงจิตวิทยาให้เข้าถึงและเป็นมิตรกับจิตวิทยาเด็กได้มากยิ่งขึ้น

“จริงๆ แล้วจิตวิทยาเด็กเป็นสิ่งที่ง่ายมาก แต่เรามักละเลยกัน เพราะการจะสร้างเด็กสักคนขึ้นมานั้นมีหลายมิติ มนุษย์คนหนึ่งเกิดมา นอกจากจะดูเรื่องว่า ร่างกายแข็งแรงไหม เรียนเก่งไหม ยังมีมิติอื่นๆ เช่น นิสัย บุคลิก การรู้จักควบคุมอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม

“จิตวิทยาเด็กคือศาสตร์ที่เราจะเรียนรู้ทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมาเป็นเด็กหนึ่งคน นั่นคือ หนึ่ง ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สอง สมองคิดได้อย่างสมบูรณ์ สาม สติปัญญา พัฒนาการเรื่องการรู้ การคิด แก้ปัญหา ควบคุมอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม สี่ เรื่องบุคลิกและสังคม ดูว่าเขาเป็นคนลักษณะอย่างไร มีคุณลักษณะแบบไหน มีความถนัดอะไร มีความสามารถในการอยู่ในสังคมในระดับดีมากน้อยเพียงใด”

สุภลัคน์เสริมว่า จิตวิทยาเด็กยังรวมถึงพัฒนาการด้านจริยธรรมและพัฒนาการด้านอารมณ์

“พัฒนาการด้านจริยธรรม คือเด็กคนนี้มีความรู้จักผิดชอบชั่วดีไหม ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่เป็นเรื่องความรู้จักจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรม ส่วนพัฒนาการด้านอารมณ์ คือเด็กคนนี้แสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมไหม รู้จักวิธีควบคุมอารมณ์ไหม แล้วรู้จักใช้อารมณ์เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตัวเองต้องการหรือเปล่า”

 

ทำไมผู้ปกครองควรรู้เรื่องจิตวิทยาเด็ก

 

สมัยก่อนไม่เห็นมีใครพูดถึงจิตวิทยาเด็กเลย แต่พ่อแม่ก็เลี้ยงลูกๆ จนเติบโตกันมาได้ เคยสงสัยกันไหมว่า ถ้ามีองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กแพร่หลายตั้งแต่ยุคนั้น พ่อแม่ของเราจะเลือกเลี้ยงลูกอย่างไร หมอเป้-พญ.ดาริน จตุรภัทรพร ตั้งข้อสังเกตว่ามี 3 สาเหตุ หรือ “3 ส” ด้วยกันที่พ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสนใจเรื่องจิตวิทยาเด็กกันมาก

“ส แรก คือ มีสิ่งเร้า สิ่งเร่งเยอะ ในโลกทุกวันนี้ พอมีสิ่งเร้าสิ่งเร่งเยอะ เราก็ต้องติดอาวุธให้ตัวเอง ว่าลูกเราเจอเร่งเร้ามาแบบนี้ แล้วเราจะใช้หลักการข้อไหนที่จะทำให้ทั้งลูกและเราผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้

“มองว่าเมื่อก่อนเราก็โตกันมาได้ ไม่เห็นต้องใช้หลักจิตวิทยาเด็ก แต่ตัวเองคิดว่า คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงเรามา เรียกว่าใช้หลักจิตวิทยาเด็กแบบตามสัญชาตญาณ ความรู้ของด้านนี้น่าจะถูก ส ที่สอง คือ สั่งสม มาเรื่อยๆ จนกระทั่งอาจารย์ก็แปลหนังสือมาได้เล่มหนาเล่มหนึ่ง เพราะว่ามีองค์ความรู้ด้านนี้มากขึ้น”

สมัยก่อนเราอาจไม่แน่ใจว่า เจอเหตุการณ์นี้ ทำแบบนี้ดีไหม หรือว่าจะแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่ง แต่ตอนนี้มีองค์ความรู้ที่บอกเราว่า ถ้าแบบนี้ จากงานวิจัยที่ทำมา เราควรจะจัดการแบบนี้ จึงมองว่าองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาเด็กเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น

“ส ที่สาม น่าจะเป็นเรื่อง สื่อ ที่เอาเรื่องจิตวิทยาเด็กมาเรียบเรียงให้เราได้อ่านอีกรอบ ให้เราได้เห็นตัวอย่างอีกรอบ เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น” หมอเป้กล่าว

หากถามถึงความสำคัญของจิตวิทยาเด็กในยุคนี้ ในฐานะคุณพ่อที่เลี้ยงลูกแนวทดลองด้วยตัวเองกับภรรยามา 10 ปี ไผทมองว่า ในเมื่อโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียก็ถือเป็นสังคมไม่ต่างจากโลกออฟไลน์ และมักทำให้เราหดหู่ไปกับข่าวพฤติกรรมแปลกๆ หรือเลวร้ายของวัยรุ่น เขาจึงเห็นว่าองค์ความรู้ในแง่ดีก็ต้องได้รับการขยายความให้มากๆ ด้วย

“ทุกวันนี้ ผมเจอคุณพ่อคุณแม่ส่งไลน์หากัน เป็นคลิปนู่นนี่ หรือส่งเฟซบุ๊กลิงก์หากัน แน่นอนว่า ปัจจัยภายนอกทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเด็กๆ ก็มีข่าวคราวให้เรากังวลใจอยู่ตลอด พอเริ่มเป็นวัยรุ่น เจอ cyberbullying หรือเรื่องโดดตึกตาย ฟังดูแล้วหดหู่ แต่ต้องบอกว่า เพราะอินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีมันเป็นตัวขยายความ (amplifier)

“จริงๆ เรื่องคนโดดตึกก็มีมาตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กแล้ว รุ่นพี่ผมก็มี แต่ไม่เคยลงโซเชียลมีเดีย แล้วไม่ได้มาแชร์กันในกรุ๊ปไลน์ แต่วันนี้พอมันหนักเข้า เราก็เริ่มเห็นว่ามันเป็นประเด็น แล้วก็มีการเลียนแบบพฤติกรรมอื่นๆ ทั้งในแง่ดีและแง่ไม่ดี ผมเลยคิดว่า องค์ความรู้ในแง่ดีก็ต้องถูกขยายความด้วยเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราควรคุย และมาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน”

โดยส่วนตัว ไผทเป็นคนชอบศึกษาเรื่องเด็ก เนื่องจากตัวเขาเป็นลูกหลง คือเป็นน้องที่อายุห่างจากพี่ๆ มาก ทำให้เขามีโอกาสเลี้ยงหลานตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เมื่อได้เห็นการเลี้ยงเด็กของครอบครัวพี่ๆ มาแบบหนึ่ง เมื่อมีครอบครัวและมีลูกเอง เขาจึงนำสิ่งที่เคยเรียนรู้มาทดลองแล้วปรับใช้จริง

 

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน เลี้ยงลูกก็ต้องเปลี่ยน?

 

ในยุคนี้ที่เทคโนโลยีมีบทบาทมาก ทำให้โลกของแต่ละคนเคลื่อนเข้ามาใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กกรุงเทพฯ แชร์เรื่องเดียวกับเด็กต่างจังหวัด เด็กนิวยอร์กและเด็กเกาหลีใต้รู้เรื่องเดียวกัน นี่คือปฏิสัมพันธ์ที่น่าสนใจมาก

ไผท ผดุงถิ่น แลกเปลี่ยนในมุมคุณพ่อสายสตาร์ทอัพที่มีแนวทางการเลี้ยงลูกเป็นของตัวเอง จะว่าแนวทดลองก็คงได้ ขณะนี้ลูกสาวเขาอายุ 10 ขวบแล้ว ชอบวาดรูป ทำศิลปะ ไล่จากบนแผ่นกระดาษมาสู่จอไอแพด ตัวเขาเองก็สังเกตเห็นการทำงานของอัลกอริธึมและผลที่มีต่อลูกในยุคหลังๆ

“การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญๆ เลยคือ แต่ก่อนเราก็หา content ที่ต้องการผ่านอินเทอร์เน็ต ยังดูแผ่นซีดีอยู่ ยังซื้อซีดีการ์ตูนน่ารักๆ ให้ลูกดูอยู่ สิ่งที่ผมเห็นคือ ลูกได้มีโอกาสดูอะไรซ้ำๆ

“ความซ้ำนี่น่าสนใจกว่ายูทูบ เพราะยูทูบมันไม่ซ้ำ พอดูเสร็จแล้วมันแนะนำเรื่องถัดไปได้ทันที พอมันซ้ำถึงระดับหนึ่ง ผมรู้สึกว่าลูกได้ฝึกทักษะบางอย่าง”

ช่วงนั้นลูกสาวมีหนังที่ได้ดูประมาณ 5-10 เรื่อง แต่เก็บรายละเอียดและสคริปต์ได้หมด จากมุมคุณพ่อเห็นว่าทักษะทางภาษาของเธอพัฒนาขึ้นอย่างน่าสนใจ ต่างจากการดูยูทูบ

ผมสังเกตลูกตอนดูยูทูบ ก็เห็นว่าอัลกอริธึมเป็นตัวสร้างความเป็นปัจเจกให้เธอ เวลาดู YouTube Kids มันแนะนำตั้งแต่คลิปสอนศิลปะเด็กๆ ไปจนถึงวิธีวาดของศิลปินระดับโลกอย่างบ็อบ รอสส์ ตาลุงหัวฟูๆ วาดรูปเก่งๆ

นี่คือความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีภายใน 10 ปีที่ไผทอยากแลกเปลี่ยน ซึ่งถือว่าเร็วแล้ว แต่อีก 10 ปี เขามองว่าจะเร็วกว่านี้อีก แปลว่าเราต้องเริ่มสังเกตพฤติกรรมแบบนี้ในเยาวชนรุ่นถัดไป

ขณะที่คุณแม่ลูกสองอย่างหมอเป้ก็แบ่งปันปัญหาน่าหนักใจที่เด็กๆ และพ่อแม่ยุคนี้ต้องเผชิญ

“ปัญหาหนึ่งของเด็กยุคใหม่คือความสุขกับวัตถุมันมาง่าย แล้วมาเร็ว ทำให้แม้แต่พ่อแม่เองก็รู้สึกอยากทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุข แต่พอถึงช่วงหนึ่งก็จะรู้สึกว่าเยอะเกินไป พ่อแม่คงต้องเริ่มจากตั้งสติให้ตัวเองก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูก จากนั้นคงต้องติดอาวุธที่เรียกว่าการควบคุมตนเองให้เขาด้วย เพราะในอนาคต เขายังต้องเจอสิ่งเร้ามากกว่านี้อีกเรื่อยๆ” หมอเป้กล่าว

ตอนนี้วิธีที่เธอทดลองเพื่อฝึกลูกสาวคือ ให้ลูกเริ่มทำงาน โดยแบ่งเป็นสามส่วน ได้แก่ งานส่วนตัว งานส่วนรวม และงานหารายได้พิเศษ คือการขายของออนไลน์

“ส่วนใหญ่เป็นของเล่นไม่ใช้แล้ว ถ้าเขาอยากได้ของเล่นใหม่ๆ ก็ต้องหาดูว่า มีอะไรที่จะลองสละดูบ้าง แต่พอให้สละของเล่น เขาจะอึ้ง แล้วตื้อไปหมดเลย ก็เลยหาของไว้ให้ขายด้วย เป็นขนมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของที่บ้าน เขาจะมีหน้าที่ช่วยเขียนกล่องไปรษณีย์ ก็จะพอดีกับอายุที่เริ่มหัดเขียนได้ แล้วก็ช่วยเอาออเดอร์นี้ไปประสานกับพี่เลี้ยงที่บ้านให้ส่ง คือเป็นธุรกิจของแม่บ้านสองคนร่วมกับลูกสาว แบบนี้ก็ได้หัดทำงานเป็นทีมด้วย

“พอลูกอยากได้ตุ๊กตาบาร์บี้ตัวใหม่ คราวนี้ลูกคิดหนักเลย เพราะว่าต้องใช้เงินที่ตัวเองหามาได้ ก็เริ่มคิดเทียบว่า ส่งขนมกล่องหนึ่งได้เงินกี่บาท ถ้าจะซื้อบาร์บี้ตัวหนึ่งต้องส่งทั้งหมดกี่กล่อง ลูกเลยบอกว่า บาร์บี้ยังไม่เอา ขอเก็บเงินต่อไปอีกหน่อย”

วิธีที่หมอเป้ทำคือตัวอย่างของการยืดเวลาความสุขของลูกออกไป เพราะไม่อย่างนั้น ถ้าเร่งทุกอย่างมากเกินไป ถึงจุดหนึ่งลูกอาจจะ blank ว่าแล้วจากนี้ต้องไปต่อที่จุดไหน

 

เจอ Midlife Crisis ก่อน 30!

 

เนื่องจากธุรกิจส่วนตัวที่ไผททำ เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านการก่อสร้างที่มีพนักงานนับร้อยคน ทำให้เขามีโอกาสทำงานร่วมกับคนเจนเนเรชั่น Y (คำว่า “เจเนอเรชั่น” ไม่ได้เป็นทฤษฎีว่าต้องนับจากปีใดถึงปีใด ยังมีเรื่องสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย) ที่มีอายุห่างจากเขาที่เป็นคนเจน X ไม่กี่ปี คิดว่าน่าจะคุยกันรู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย

“คนเจน Y มากับความคาดหวังความสำเร็จเร็วกว่าคนยุคผม ผมยังเห็นพี่ๆ ยุคก่อนทำงานหนัก แลกหยาดเหงื่อมากับการสร้างฐานะ น้องๆ เจน Y ที่เจอส่วนใหญ่ครอบครัวมีฐานะทางการเงินพร้อม ชีวิตมั่นคง ได้ไปเมืองนอกตั้งแต่เด็ก

“สิ่งที่ผมเจอคือเขามาด้วยการตั้งคำถามอีกอย่างกับชีวิต คำว่า passion เป็นคำแห่งยุคเขาเลย คือชีวิตต้องมีความหมาย แล้วก็อยากจะสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย อยากอายุน้อยร้อยล้านกันไปหมด ขณะที่ล้านแรกผมได้ตอนอายุ 25”

ไผทพยายามสื่อสารกับน้องๆ เจน Y ว่าจริงๆ ความสำเร็จอาจต้องมีกระบวนการการเรียนรู้ เขาพบเด็กเจน Y หลายคนเจอ midlife crisis เร็วกว่าที่คิด ทั้งกดดันตัวเอง ถูกกดดันจากสื่อ รวมถึงสภาพแวดล้อม

“ตอนเรียน โรงเรียนสอนมาแล้วว่าเราแข่งกันด้วยเกรด จบมาปั๊บ เพื่อนๆ ถามกันแล้วว่าเงินเดือนเท่าไร สิ่งที่เข่นกันก่อนอันแรกเลยคือ เงินเดือนสตาร์ทเท่าไร โบนัสกี่เดือน ความสำเร็จถัดไป เริ่มมีพอร์ท(หุ้น)หรือยัง พอร์ทเท่าไร แล้วเริ่มเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยหรือยัง!”

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคนเจน Y คือ เขาเก่ง เรียนรู้ทุกอย่างได้เร็วจริงๆ แล้วก็ยังเข้าใจเรื่องความอดทนอยู่บ้าง แต่อาจจะสั้นกว่าเจนเนอเรชั่นผม”

ขณะที่น้องๆ เจน Z ซึ่งอยู่ในระดับอุดมศึกษาและเริ่มเข้ามาฝึกงานกับบริษัทของเขาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไผทเล่าว่า เจอคนที่เร่งตัวเองเยอะมากๆ ในฐานะคนเจน X ก็พยายามทำความเข้าใจแต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้

“ผมเห็นเด็กเจน Y เจอ midlife crisis ตอนอายุ 26-28 คือพอ 25 เขาจะเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพกับเพื่อนแล้วไม่เป็นอย่างที่คิด พอ 27-28 จะเริ่มตั้งคำถาม ซึ่งถือว่าเร็วแล้วเมื่อเทียบกับยุคผม แต่ตอนนี้ เด็กเจน Z ดูจะเร็วกว่านั้นอีก เลยเป็นความน่าเป็นห่วง แต่ก็ห่วงแบบเข้าใจและพยายามเรียนรู้ไปกับเขาด้วย”

 

เตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม

 

หากสงสัยว่า แล้วความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นปัญหาหรือไม่ และส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกอย่างไร อาจารย์สุภลัคน์ยอมรับว่ากระทบแน่ ทว่าช่วยเสริมและทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อว่า

“จริงๆ แล้ว ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยกระแสทั้งวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยี รวมถึงวิทยาการต่างๆ แต่สิ่งที่มนุษย์เรามีและเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากที่สุดในโลกใบนี้คือสมอง

“สมองของเด็กๆ มีลักษณะที่เรียกว่า plasticity คือความสามารถและศักยภาพในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ทุกสิ่งอย่าง
ไม่ต้องตกใจว่าทำไมเด็กเจน Y ถึงอยากสำเร็จเร็ว เพราะเขาเห็นตัวแบบจากทั้ง baby boomer หรือเจน X ที่ประสบความสำเร็จ แล้วความรู้มันมาเยอะมาก มาจากทุกทิศทุกทาง มีความรู้ที่เข้าถึงได้โดยไม่ต้องผ่านโรงเรียน ทำให้สมองนำความรู้เหล่านั้นมาประมวล สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ได้เร็วขึ้น ส่วนเจน Z อยากสำเร็จเร็วกว่านี้อีก เพราะว่าความรู้มันเยอะ อีกอย่างเมื่อได้เห็นว่าคนโน้นทำได้ คนนี้ทำได้ เขาเองก็น่าจะทำได้เช่นกัน”

การที่สมองมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ผนวกกับการเข้าถึงความรู้และทรัพยากรต่างๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านโรงเรียน แล้วนำความรู้นั้นมาประมวล สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ได้ คือสิ่งที่ร่นระยะเวลาแห่งความสำเร็จให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็เร่งให้เกิด midlife crisis เร็วขึ้นตามไปด้วย

สุภลัคน์ชวนตั้งคำถามว่า สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคืออะไร แล้วเราควรปลูกฝังภูมิคุ้มกันอะไรให้พวกเขา สิ่งเหล่านั้นคือศักยภาพในการจัดการกับปัญหาใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เช่น ความผิดหวัง กระทั่งวิกฤตวัยกลางคนตอนอายุ 28 ปี

“ควรถามว่าเราจะทำอะไรให้เขา ช่วยอะไรเขา สร้างเสริมอะไรให้เขา เพื่อช่วยเขารับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่างหาก ทุกเจนเนเรชั่นเปลี่ยนอยู่แล้ว แม้กระทั่งตัวเราเองยังเปลี่ยนเลย แต่ถามว่าเป็นปัญหาไหม อาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ ขึ้นอยู่กับที่เรามอง”

 

การเรียนรู้จะเปลี่ยนไปอย่างไร

 

ในยุคที่รุดหน้าไปไม่หยุดยั้ง แล้วสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา การเรียนรู้ หรือมุมมองของคนทำงาน จำต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ในฐานะผู้มีบทบาทด้านการเรียนการสอนชวนขุดค้นเรื่องนี้ลึกลงไปที่พื้นฐานอย่างครอบครัว

“ก่อนอื่นต้องดูว่าเด็กคนนั้นเติบโตมาจากครอบครัวแบบไหน ซึ่งถือเป็นแกนหลัก ถ้ายุคสมัยเปลี่ยน แต่ครอบครัวยังให้ความสำคัญกับกระบวนการบางอย่าง อย่างกระบวนการการเลี้ยงดู การให้ความอบอุ่นในบ้าน การให้เด็กได้ลงมือทำ ให้เด็กได้คิดและตัดสินใจในช่วงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น เด็กวัยรุ่น เปิดโอกาสให้เขาได้คิดตัดสินใจ ผมว่านี่คือปัจจัยหลัก

“หลายๆ คน มักพูดถึงความอดทนของเด็กสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ไปฝึกงาน แต่ว่าถ้าเด็กคนนั้นมาจากครอบครัวที่ขาดการลงมือทำในช่วง 7 ปีแรก หรือในช่วงวัยประถม เด็กได้ทำงาน ดูแลบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน ดูแล ช่วยคุณพ่อคุณแม่เก็บกวาด เรื่องของพื้นฐานชีวิต คือตื่นเช้ามายังเก็บที่นอน เด็กคนนั้นก็จะโตไปแบบมีระบบในตัวเอง เพราะฉะนั้น โลกมันจะเคลื่อนไปแค่ไหน ระบบที่สร้างชีวิตไว้ตั้งแต่วัยเด็ก แล้วเป็นรอยประทับที่ลึกมาก ทำให้เด็กคนนั้นมีหลักในตัวเอง”

ส่วนตัวครูมอสเองก็มาจากการศึกษาหนึ่งที่เรียกว่าการศึกษาในแนวมนุษยปรัชญา ซึ่งเกิดขึ้นในเยอรมนีเมื่อ 100 ปีที่แล้ว หลายคนอาจจะรู้จักว่าเป็นการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ หรือการศึกษาแบบธรรมชาติ

“เรามานั่งคุยกันในฐานะคนทำงานด้านนี้ว่า ปีนี้จะครบรอบ 100 ปี เราก็ตั้งคำถามกันว่า แล้วการศึกษาในวันข้างหน้าจะเป็นไปอย่างไร”

การศึกษาในวันข้างหน้าคือเราต้องสร้างคนให้มีสติ

คำว่ามีสติของครูมอสคือ ไม่ว่าคุณกำลังทำอะไร สร้างสรรค์อะไรอยู่ก็ตาม คุณรู้เวลา และรู้หน้าที่ในสังคมนี้ เพราะฉะนั้น ซึ่งนี่จะเป็นยุคที่มีความเป็นปัจเจกชัดมากๆ

“จำได้ไหม เราโตมากับหนังสือเรียนที่บอกว่าเรามาจากครอบครัวใหญ่ ครอบครัวขยาย ตอนทานข้าว มีปู่ย่าตายายนั่งทานข้าวด้วยกัน แต่เราก็เห็นทางตะวันตก คุณพ่อคุณแม่อยู่บ้านพักคนชรา นี่คือสิ่งที่เคลื่อนไหวในแต่ละโลก ในแต่ละสังคม เพราะทุกสังคมมีการเปลี่ยนผ่านของความรู้สึกแตกต่างกัน”

ครูมอสขอย้อนกลับไปตอบคำถามแรกที่นิดนกถามในวงคุยว่า ทำไมสังคมไทยควรตื่นรู้เรื่องจิตวิทยาเด็ก

“เพราะมันถึงเวลาแล้ว ถึงเวลาที่มีใครสักคนมาปลุกให้เราตั้งคำถามว่า เราจะเลี้ยงเด็กแบบนี้ หรือจะเลี้ยงเด็กแบบอื่น คือมีคำถามเกิดขึ้นในตัวผู้ทำงานด้านเด็ก กระทั่งคุณพ่อคุณแม่เอง

ครูมอสมองว่า เราคงได้แต่เฝ้าดูว่ามันจะเป็นไปอย่างไร และสุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดคือการกลับไปยังหลักการว่า ถ้าเราเชื่อว่า หรือศาสตร์ของจิตวิทยา หรือศาสตร์ที่พูดถึงด้านใน อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เรามีหลักยึดโยงในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

หมายถึงว่า ในช่วงเวลาหนึ่งเด็กควรเติบโตอย่างไร หรือเวลาพูดถึงคุณธรรม ก็ถามต่อด้วยว่าคุณธรรมจะมาจากไหน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่เป็นตัวอย่างให้ลูก ถ้าระบบการเรียนรู้ไม่ช่วยทำให้เขาสร้างคุณธรรมขึ้นมาเลย

ครูมอสย้ำว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการนำศาสตร์ด้านจิตวิทยาเด็กเข้าสู่การเรียนรู้ การทำงาน การเป็นตัวอย่างในห้องเรียน ไปจนถึงบริบทในชีวิตจริง

 

ร่วมปัดเป่าความเชื่อผิดๆ ในสังคมไทย

 

มีความเคยชินอย่างหนึ่งเวลาคนรู้จักพบปะกันข้างนอก โดยมารยาทแล้วจะมีการทักทายหรือพูดคุยกันตามสมควร หมอเป้เองก็เคยผ่านประสบการณ์ทำนองนี้มาแล้ว ซึ่งเป็นต้นทางของการเปิดเพจให้กำลังใจคุณแม่ที่เธอดูแลเอง

“เพจที่ทำอยู่ชื่อ ‘รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด’ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคุณแม่ที่มีลูกคลอดเกิดก่อนกำหนด ซึ่งอันนี้จะไปมีผลว่า เด็กเกิดก่อนกำหนดส่วนหนึ่งจะค่อนข้างตัวเล็ก บางทีคุณพ่อคุณแม่พาลูกออกไปข้างนอกมักจะเหมือนโดนทักว่า เลี้ยงลูกยังไง ทำไมลูกตัวเล็กอย่างนี้ แต่บางทีเขาไม่ได้รู้แบกกราวด์ว่า คุณแม่ท่านนี้ต่อสู้มาในโรงพยาบาลอย่างไรกว่าที่ลูกคนนี้จะมีชีวิตรอด

“เป็นปัญหาที่ได้รับ inbox เยอะมาก แม่ๆ จะรู้สึกกดดันว่า ญาติพูดแบบนี้ คนข้างนอกก็ทักแบบนี้ แล้วเขาจะต้องให้ลูกกินอะไรอีก ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้กินมื้อหนึ่งก็ประมาณชั่วโมงครึ่งอยู่แล้ว แล้วกินของว่างอีกสองมื้อ คือวันหนึ่งแทบไม่เหลือเวลาไปทำอย่างอื่น” หมอเป้กล่าว

เนื่องจากหมอเป้เองมีประสบการณ์ตรง เธอจึงรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นชุดความคิดที่น่ากลัวและควรแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะหากต้องเจอต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อทั้งพ่อแม่และตัวเด็กเอง

อีกหนึ่งความเชื่อผิดๆ ที่คลาสสิกที่สุดในสังคมไทย โดยเฉพาะด้านศิลปะ คงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากการระบายสี “ในกรอบ” หรือ “นอกกรอบ”

“เราได้ยินกูรู ไม่ว่าไอน์สไตน์ หรือปีกัสโซ พูดบ่อยๆ ว่าเด็กก็คือศิลปิน หรือไอน์สไตน์นั้นพูดเสมอเรื่องจินตนาการ แต่ทุกครั้งที่เดินไปเยี่ยมโรงเรียนหรือได้เห็นการเรียนรู้ของช่วงวัยอนุบาล สิ่งที่น่าสนใจและเป็นคำถามคาใจก็คือ ทำไมเราไม่เคยให้โอกาสเด็กระบายสีนอกกรอบเลย” ครูมอสกล่าว

ครูมอสเล่าเหตุผลว่าทำไมเด็กควรระบายสีออกไปจากกรอบ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราปล่อยให้เด็กเล่นในสนามแห่งหนึ่งที่มีเนื้อที่เท่าห้องเสวนา แล้วเด็กคนนั้นเกิดมีรองเท้าวิเศษคือมีสีปรากฏเป็นรอยเท้าบนสนามแห่งนั้นด้วย เราจะเห็นการวิ่งของเขาเป็นรูปร่างอย่างไร

เราจะเห็นได้เลยว่า เขาวิ่งไม่เป็นฟอร์มอะไรเลย ที่เรียกว่าฟรีฟอร์ม เราเห็นเด็กที่ไหนวิ่งเป็นสี่เหลี่ยม หรือวิ่งเป็นแถว เป็นเส้นตรงบ้าง เพราะฉะนั้น การเล่นของเด็ก เรียกว่าเล่นอย่างอิสระ เวลาเราบอกว่าฟรี คืออิสระ หรือ freedom คืออิสรภาพ

“การระบายสีของเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย เวลาเขาเห็นสีน้ำหรืองาน drawing ธรรมชาติที่มีอิสรภาพเป็นสิ่งที่มากับตรงนี้ เพราะฉะนั้น มนุษย์ตัวน้อยๆ ที่เพิ่งเกิดมาสองสามปีแรก เขารู้สึกว่ากระดาษคือพื้นที่ของเขา เวลาเขาปาดป้ายระบายสี เราจะเห็นได้เลยว่าลายเส้นบริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร”

ครูมอสอธิบายต่อว่า เวลาเด็กทำงานศิลปะ เป็นการทำงานกับระบบในร่างกายอีกระบบที่เรียกว่า ระบบเจตจำนง

“ถ้าเขาวาดรูป เขาไม่ต้องใช้ความคิด เมื่อใดที่เขาใช้ความคิด คำว่ากรอบหรือรูปทรงจะตามมา ฉะนั้นการที่ผู้ใหญ่ไม่ได้เชื้อเชิญให้เด็กระบายสีออกนอกกรอบ ทำให้เด็กๆ ขาดโอกาสที่จะได้หายใจออกไปกับโลกใบนี้ หายใจออกไปจากตัวเขาเอง แล้วสัมผัสกับความรู้สึกแรกที่ยังอยู่ในชีวิตซึ่งก็คือ อิสรภาพ”

ครูมอสอยากย้ำกับพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู รวมทั้งสังคมไทยให้เห็นว่า การระบายสีนอกกรอบนี้เป็นความรู้ ไม่ใช่ความเชื่อ และในช่วงที่เด็กสามารถควบคุมกล้ามเนื้อต่างๆ ได้ดีแล้ว หรือเมื่อถึงเวลา การระบายสีในกรอบก็จะมาเอง

“เราจะระบายสีให้อยู่ในกรอบต่อเมื่อเขามีศักยภาพด้านกายภาพ กล้ามเนื้อต่างๆ เริ่มทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการควบคุมบางอย่างได้พัฒนามากขึ้น เพราะฉะนั้น คุณครู คุณพ่อคุณแม่ ปล่อยให้เด็กๆ ได้ระบายสีนอกกรอบเถอะครับ พ่อแม่หรือครูอาจลองหากระดาษแผ่นใหญ่ขึ้น แล้วยื่นพู่กัน ยื่นสีน้ำสักสองสามสีให้เขา เราจะเห็นเลยว่าอิสรภาพของเด็กเป็นอย่างไร”

 

เพราะ “สังคม” ต้องช่วยเลี้ยงลูกของทุกคน

 

ช่วงท้ายงาน อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ bookscape กล่าวปิดท้ายด้วยการขอบคุณผู้ร่วมสนทนาทุกท่าน อีกทั้งขอบคุณ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ปรึกษาคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการจัดงานจิตวิทยาเด็กทั้งสองครั้ง นอกจากนี้คุณหมอยังช่วยเขียนเวอร์ชั่นอ่านง่ายของ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา ให้ด้วย 9 ตอน

“มีหนังสือเล่มหนึ่งน่าสนใจ บอกไว้ว่า อย่าให้การเลี้ยงลูกเป็นโปรเจกต์ของพ่อแม่ เพราะบางคนพ่อแม่รุ่นใหม่ๆ จะชอบออกแบบชีวิตลูก นึกว่าเป็นโปรเจกต์ของตัวเอง แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ลูกได้เติบโต มีโปรเจกต์ที่เขาทำเป็นของเขาเอง เราจะสร้างพื้นฐาน สร้างสิ่งแวดล้อม สร้างเนื้อดินที่เหมาะสมให้เขาเติบโตได้เต็มศักยภาพบนเส้นทางที่เขาเลือก อยากเป็น ได้อย่างไร

“อีกเรื่องคือผมรู้สึกว่า ที่มาฟังสองครั้ง ไม่ใช่เรื่องเทคนิค ว่าจะกิน นอน เรียน ใช้ชีวิตอย่างไร แต่ชีวิตของคนคนหนึ่งสัมพันธ์กับหลายอย่างเลย วันนี้ฟังแล้วเราเห็นความสัมพันธ์ของทั้งเด็กกับธรรมชาติ กับสิ่งแวดล้อม กับเพื่อนฝูง กับครอบครัว”

อย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนในการจัดงานทั้งสองครั้งก็คือพลังอันท่วมท้นของพ่อแม่ ปกป้องชวนตั้งคำถามว่า เราจะถ่ายโอนพลังของพ่อแม่ที่รักลูกไปทำอะไรต่อได้อีก

“เพราะลูกไม่ใช่แค่ลูกเราคนเดียว พลังนี้เราจะช่วยในการสร้างสังคมอย่างไร สังคมที่รักลูกของเรา ที่ลูกเราต้องเติบโตมา เพราะลูกเราไม่ได้โตมาเฉพาะอยู่ในครอบครัว หรือในบ้านของเรา เราจะแปลงพลังนี้ให้ออกไปพ้นจากการคิดถึงลูกของตัวเองอย่างไร นั่นคือเป็นสังคมที่ส่งพลังไปถึงลูกของคนอื่นๆ ด้วย เป็นสังคมที่พร้อมจะรักลูกของทุกคน” ปกป้องทิ้งท้าย