ภาพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากปัญหายอดฮิตเวลาเลี้ยงลูก อย่างลูกเอาแต่ใจ ไม่ฟังพ่อแม่ ลูกกินยาก เลือกกิน กินหกเลอะเทอะ หรือกระทั่งลูกติดหน้าจอมากกว่าพ่อแม่ นำมาสู่คำพูดติดปากที่ว่า “ทำไมการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งจึงยากจัง”
ร่วมไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ในวงเสวนาสาธารณะ “เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก” เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2562 ณ ห้อง Library ชั้น 32 ดีแทคเฮาส์ จามจุรีสแควร์ กับ 2 หมอและ 1 นักจิตวิทยาเด็กเจ้าของเพจชื่อดัง
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’
ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ (หมอวิน) กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา และมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกตามใจหมอ’
เมริษา ยอดมณฑป (คุณเม) นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’
ชวนคิดชวนคุยโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential
กับสารพันปัญหาด้านพัฒนาการและการเลี้ยงลูก ที่ต่อยอดจากหนังสือ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แล้วคุณจะรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก จริงๆ แล้วอาจแก้ได้ตั้งแต่ที่ตัวคนเลี้ยง

Top List ปัญหาที่คนถามมากที่สุด
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ บอกว่า เวลาพูดถึงปัญหา ให้นึกถึงสมการง่ายๆ คือ
ปัญหา = ความคาดหวัง – สิ่งที่เป็นอยู่
หลายครั้งปัญหาเกิดจากความคาดหวังที่อาจจะเยอะเกินไป โดยเฉพาะความคาดหวังที่เรามีต่อเด็กและวัยรุ่นคนหนึ่ง โดยที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติของตัวเขา เราคาดหวังให้เด็กคนหนึ่งควบคุมอารมณ์ได้ พูดอะไรแล้วก็ทำตาม คาดหวังให้เขาเป็นเด็กที่เชื่อฟัง รู้จักเแบ่งปัน มีน้ำใจ
เราคาดหวังความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเด็ก นั่นทำให้พ่อแม่รู้สึกว่า ลูกของฉันมีปัญหาจังเลย แต่เราไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเด็กทุกคนต้องเรียนรู้ ผ่านการเป็นตัวเอง ผ่านการเห็นแก่ตัวเอง เอาแต่ใจตัวเอง เพื่อรู้ว่าตัวเรามีตัวตน แล้วค่อยเรียนรู้จากตัวเองเผื่อแผ่ออกไปเป็นเรื่องโลกภายนอก
สองปัญหาคลาสสิกคือ ลูกเอาแต่ใจและลูกไม่ฟัง ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็มีความคาดหวังสูง แต่ลงทุนกับสิ่งที่เป็นอยู่น้อย ทำให้ปัจจุบันของเด็กที่ควรพัฒนาได้ดี กลับพัฒนาไม่ได้
“ถ้าเราเข้าใจว่าการเติบโตของเด็กคนหนึ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะวัยตั้งต้นของชีวิต นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุดในฐานะพ่อแม่ คือการเป็นคนที่สำคัญจริงๆ ในชีวิตของลูกในช่วงตั้งต้นของชีวิต”
พ่อแม่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจตรงนี้ และการเลี้ยงลูกตามปกติในบ้านเราคือ ตอนเล็กๆ ให้ญาติๆ หรือปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยง พอโตขึ้นหน่อยจึงค่อยมาอยู่กับพ่อแม่ แบบนี้ความเชื่อใจ ไว้ใจ (trust) ก็เกิดยาก
ปัญหาที่เจอในเด็กวัยรุ่นเยอะมากๆ เลยคือ ปัญหาความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ พูดอย่างทำอย่าง พ่อแม่พูดอะไร เด็กก็ไม่พร้อมฟัง พอไม่ฟังก็ยิ่งพูดมากขึ้น บ่นมากขึ้น สอนมากขึ้น ชดเชยความรู้สึกที่เมื่อก่อนไม่ได้ทำ และนี่ยิ่งทำให้ลูกเริ่มห่างพ่อแม่ขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันโลกภายนอก ที่ช่างดึงความสุข สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งให้กับตัวฉัน มีเฟซบุ๊ก มีกรุ๊ปไลน์ มียอดไลก์ ทำให้มีตัวตน ทำให้เด็กคนหนึ่งก็พร้อมที่จะวิ่งออกจากบ้าน ตัวอาจจะยังอยู่ แต่ใจไปอยู่ในโลกออนไลน์ เกมออนไลน์ อยู่กับเพื่อน แล้วก็อาจจะออกไปในชีวิตจริงๆ ด้วย
ในฐานะหมอวัยรุ่น สาเหตุที่หมอโอ๋ตั้งใจเปิดเพจขึ้นมา เพราะรู้สึกว่า
การสร้างเด็กคนหนึ่งให้มาเป็นวัยรุ่นที่มีคุณภาพ ง่ายกว่าการซ่อมวัยรุ่นคนหนึ่งมากๆ
การลงทุนสร้างเด็ก โดยการสร้างให้สมองของเขามีคุณภาพ เป็นเรื่องที่อยากให้พ่อแม่ลงทุน ซึ่งข้อจำกัดก็คือพ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ การทำหน้าที่คุณแม่เต็มเวลาเป็นไปได้ยาก
แต่อย่างไรก็ตาม หมอโอ๋ย้ำว่า เราต้องทำให้เวลาของลูกเป็นเวลาสำคัญ และเราบริหารจัดการเรื่องนี้ได้

พ่อแม่สมัยนี้เลี้ยงลูกไม่เป็น
ก่อนที่หนอนจะฟักตัวเป็นผีเสื้อตอนวัยรุ่น ปัญหาจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนดูแลดักแด้
ปัญหาที่ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ (หมอวิน) กุมารแพทย์ เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ เจอบ่อย และคาดว่าคุณพ่อคุณแม่ก็คงเจอ มีด้วยกัน 3-4 ข้อ คือ
“หนึ่ง ปัญหาเรื่องการกิน เด็กไม่กิน เลือกกิน ไม่งดมื้อดึก นอนยาวไม่ได้ สอง เด็กที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งอะไรทั้งนั้น ตั้งแต่สองขวบขึ้นไป สาม เด็กจอมบ่น บ่นลมบ่นฟ้า บ่นไปเรื่อยเปื่อย มีอะไรก็บ่นไว้ก่อน และกลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรง ตีพ่อ ตีแม่ ตียาย ใช้คำพูดด่าทอหยาบคายตั้งแต่เด็ก แล้วก็มีปัญหาตอนไปโรงเรียน”
คำถามก็คือ ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร
ประโยคเดียวที่อธิบายทุกอย่างคือ ‘พ่อแม่สมัยนี้ส่วนใหญ่เลี้ยงลูกไม่เป็น’ คำว่า ‘ไม่เป็น’ คือเราฝึกได้นะ เพราะไม่มีใครเลี้ยงลูกเป็นมาตั้งแต่เกิด
นั่นคือพ่อแม่ไม่เข้าใจพัฒนาการตามวัยของเด็ก และไม่สามารถถอนความช่วยเหลือตามวัยของเขาได้ เช่น ถึงวัยที่เขาใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้แล้ว แต่ไม่เคยให้เขาใช้หยิบจับอาหารเอง พ่อแม่เลือกจะป้อน แทนที่จะให้เด็กหยิบจับอาหารเอง
จริงๆ แล้ว สิ่งที่จะทำให้เด็กกินได้มากที่สุดคือการทำให้ดู และควรพูดให้น้อย หมอวินยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น พูดแค่ว่า “อาหารนะลูก กินมั้ย” จับมือเขา ยกช้อนจ่อปากแล้วก็ป้อนเขา หลายครั้งพ่อแม่จะเจอปัญหาว่าเด็กใช้มือหยิบจับอาหารและเริ่มทำเลอะเทอะ ซึ่งทำให้พวกเขาหมดความอดทน สุดท้ายก็ถูกบังคับป้อน จนกลายเป็นเด็กที่มีความทุกข์ทรมานตอนกิน
“ทุกอย่างเกิดจากการที่เราไม่เข้าใจพัฒนาการเด็ก ไม่เข้าใจพัฒนาการตามวัย ไม่เข้าใจพัฒนาการทั้งสี่ด้านของเด็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ภาษา และจิตสังคม”
หมอวินพูดชวนคิดว่า ถ้ามองกันดีๆ ส่วนใหญ่พ่อแม่เป็นคนทำให้ลูกมีปัญหา เนื่องจากความเข้าใจด้านพัฒนาการเด็กมีจำกัด

พ่อแม่ต้องมีอยู่จริง
หลังจากฟังมุมมองทั้งหมอเด็กและหมอวัยรุ่นแล้ว อีกมุมที่ช่วยเติมเต็มวงคุยวงนี้ได้ดีคือนักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เมริษา ยอดมณฑป (คุณเม) เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’
ความต่างชัดเจนระหว่างนักจิตวิทยากับจิตแพทย์คือ จิตแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโรคและสั่งจ่ายยา รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ สำหรับพ่อแม่ที่อยากฝึกลูก แล้วต้องการการฝึกที่ใกล้ชิด อาจจะต้องมาหานักจิตวิทยา หรือให้จิตแพทย์ส่งไปหานักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดอีกที
เมยอมรับว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกเยอะมากแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดกันคือการลงมือทำ
“ปัญหาที่พบมากๆ คือเรามีความรู้มากมาย แต่มักจะหาความรู้ที่ตรงกับความเชื่อตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เราเชื่อว่าเราจะเลี้ยงลูกแบบปล่อยอิสระ เราก็จะพยายามหาข้อมูลที่มาสนับสนุนเรา แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ ว่าสุดท้ายแล้วเกิดอะไรขึ้น แล้วเป็นอย่างไร”
“ถ้าเรารู้ว่าพัฒนาการของลูกวัย 0-2 ปี ต้องการความเชื่อใจ ความเชื่อมั่นในตัวพ่อแม่ เราอยู่ตรงนั้นกับเขาไหม หรือเราส่งเขาไปอยู่ที่อื่น”
ในวัย 3 ปี เด็กๆ ต้องการทดสอบร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ทำอะไรได้บ้าง เขาอยากจะหยิบอาหารมากิน
“ขอย้ำตรงนี้ว่า ของทุกชิ้นในสายตาลูกเป็นของเล่นหมด แม้แต่อาหาร คุณพ่อคุณแม่ต้องทราบพัฒนาการตรงนี้แล้วเตรียมพื้นที่ให้เขา เพื่อที่เราจะพูดว่าหยุดหรือห้ามให้น้อยที่สุด คือรู้ว่ายังไงลูกกินก็ต้องเลอะ ก็ไม่เป็นไร ทำความสะอาดได้ ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียม ไม่ใช่เตรียมป้อน แต่เตรียมผ้าปู อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องรู้”
ส่วนในวัย 3-4 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยเป็นวัยที่ลูกเตรียมตัวเข้าโรงเรียน ซึ่งการแยกจากตามวัยจะพร้อมเมื่อเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป เมบอกว่า ในเมื่อบริบทเป็นแบบนี้ ก็ไม่เป็นไร สิ่งที่ต้องทำคือ ผู้ปกครองควรเตรียมลูกเพื่อการแยกจากให้ดีที่สุด ดังต่อไปนี้
พ่อแม่มีอยู่จริง
- มีเวลาคุณภาพ
- มีสายสัมพันธ์
- ให้เล่นตามวัย
- อ่านหนังสือนิทาน
- สอนอดทนรอคอย
- ช่วยเหลือตัวเองตามวัย
- ทำงานบ้านด้วยกัน
ปัญหาสำคัญที่สุดคือ เราไม่ได้อยู่ตรงนั้นเพื่อลูก แล้วลูกจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีอยู่จริงสำหรับเขาไหม เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าถ้าเขาล้ม จะมีใครช่วยเขาลุก เขารู้ได้อย่างไรว่าโลกใบนี้เชื่อใจได้ ขนาดคนใกล้ตัว เขาร้องก็ยังไม่มาหาเขา อุ้มเขาเลย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ลูกต้องการเรา ไม่ได้ต้องการแท็บเล็ตหรือคนอื่น ลูกต้องการพ่อแม่
เคยมีคุณพ่อคุณแม่ปรึกษาเมว่า ขอชดเชยให้ลูกวันเสาร์ทั้งวันได้ไหม แทนการให้เวลาช่วงจันทร์ถึงศุกร์ เมก็เปรียบเทียบง่ายๆ แต่เห็นภาพเลยว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่กินมื้อเช้ากับมื้อเที่ยง ยกยอดไปกินหนักมื้อเย็นทีเดียวเลยได้ไหม
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้ลูกจึงสำคัญมากในการมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ทำให้เขารู้ว่า “พ่อแม่มีอยู่จริง” และจะอยู่ตรงนี้เพื่อเขาเสมอ แม้ในวันที่ลูกหันหลังออกไปเผชิญโลกแล้วก็ตาม
“ในวันที่เรามีปัญหาเรื่องงานจนไม่ไหวแล้ว ถ้าลูกมีพ่อแม่ ก็จะยังไม่เป็นไร ต่อให้หนักหนาแค่ไหน เขาก็จะเผชิญมัน เขาจะไม่ซึมเศร้า จะไม่เป็นอะไรก็ตามที่ทุกวันนี้เราเป็นกันอยู่ พ่อแม่ที่มีอยู่จริงจึงสำคัญกับลูกมาก”
ปัญหาที่สำคัญที่สุดในมุมมองของเมก็คือ พ่อแม่ในปัจจุบันมีอยู่จริงแค่ร่างกาย แต่จิตใจและสายตาเรามีให้กับลูกน้อยเกินไป ลูกนั้นต้องการทั้งตัว หัวใจ และสายตาของเรา
เมยกคำจากเพจของหมอวินที่เธอประทับใจมาแบ่งปันว่า “เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ยิ่งใหญ่สำหรับลูก แต่เราต้องเป็นอะไรก็ได้ที่ลูกให้เป็น”

ส่งเสริม EF ทำเองได้ที่บ้าน
หมอโอ๋เสริมว่า เมื่อพ่อแม่ไม่มีอยู่จริงในวัยต้นของชีวิตเด็ก ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องรีบพาเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร ปัญหาที่ตามมาคือ สถานศึกษาไม่เข้าใจบริบทการพัฒนาเด็ก เร่งอ่าน เร่งเขียน เร่งเรียน เร่งติว พ่อแม่เองก็พลอยทำให้ลูกๆ ตกอยู่ในวังวนเหล่านี้
“นี่คือสิ่งที่บั่นทอนการพัฒนาตัวตนของเด็กอย่างมาก เด็กในวัยเล็ก ถ้าศึกษาด้านจิตวิทยา เราจะรู้เลยว่า เขาเรียนรู้ผ่านการเล่นและลงมือทำ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เรียนรู้ผ่านการขยำดินน้ำมัน เล่นกับธรรมชาติ ปีนป่ายต้นไม้ สิ่งเหล่านี้สร้างวงจรใยประสาท สร้าง executive function (EF) ซึ่งเป็นเรื่องของสมองส่วนหน้า ที่มนุษย์พัฒนามากกว่าสัตว์”
โดยหมอโอ๋ยกแกนหลักๆ ของ EF มาเล่าให้ฟัง 3 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง ความจำใช้งาน (working memory) ที่เราจะเอามาใช้ได้ บางทีก็ผ่านความจำเรื่องภาษา (verbal memory) คือพูดภาษาได้ ใช้คำแทนสิ่งนั้นได้ เรื่องนี้ไม่ได้เรียนรู้ผ่านการลากบนสมุดคัดไทย แต่เรียนรู้ผ่านการเห็น การสัมผัส การดมกลิ่น การได้ยิน
สอง การควบคุมตัวเอง (self-control) ความน่าสนใจก็คือ การควบคุมตัวเองของมนุษย์ หลายครั้งพัฒนาผ่านความจำใช้งาน ซึ่งเป็นทฤษฎีที่หมอโอ๋เองก็เพิ่งทราบไม่นาน เพราะเพิ่งมีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาว่า สิ่งที่ทำให้เด็กควบคุมตัวเองได้ดีคือการที่เด็กมีเสียงในใจ
พูดง่ายๆ คือการที่เด็กคนหนึ่งสามารถพูดกับตัวเองได้ว่า ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร ฉันกำลังคิดอะไร ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ฉันแปลการเข้ามาของคนคนนี้อย่างไร ทำให้เด็กควบคุมอารมณ์และการกระทำของตัวเองได้ดีขึ้น
การที่เด็กคนหนึ่งพร้อมมากกว่า เพราะวงจรประสาทสร้าง EF มาดีกว่า มีการควบคุมตนเองดีกว่า มีความจำใช้งานดีกว่า
และ สาม มีความคิดยืดหยุ่น (mental flexibility) ซึ่งพัฒนาผ่านการเล่น แต่เด็กหลายคนถูกให้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือไปฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กเขียนหนังสือในวัยที่ยังไม่ใช่ สุดท้ายมันบั่นทอนการพัฒนาศักยภาพที่ควรจะเป็น
เวลาใครถามหมอโอ๋ว่า เลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกอย่างไร เธอจะตอบสั้นๆ เพราะเชื่อว่า ปัจจัยการเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกขึ้นกับหลายเรื่อง ไม่ว่าเศรษฐานะของพ่อแม่ แม้แต่การให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นพื้นฐานที่หมอโอ๋แนะนำพ่อแม่เสมอคือ หนึ่ง เลือกโรงเรียนที่ไม่ใช้เวลาในการเดินทางมาก เพราะเวลาเดินทางทำให้เด็กเสียเวลาเล่น และ สอง เลือกโรงเรียนที่เล่นเยอะๆ สอนเรื่องวิชาการน้อยๆ ไม่ต้องกลัวเรื่องอ่านเขียนไม่ทัน สุดท้ายเด็กได้เหมือนกันหมด แต่เด็กที่สร้างผ่าน EF ได้จะไปไกลกว่า

ทำไมการเลี้ยงลูกถึงยากจัง
ปัญหาของพ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบันมักรู้สึกว่า ทำไมการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งถึงยากขนาดนี้ หมอวินให้ข้อมูลภาพรวมว่า สาเหตุของปัญหาการเลี้ยงลูกในปัจจุบันมาจาก 3 ปัจจัย คือ
หนึ่ง วิธีการเลี้ยงลูกที่อาจจะไม่ถูกต้อง เช่น เด็กเจเนอเรชั่น Z และแอลฟ่า ถูกเลี้ยงโดยคนเจเนอเรชั่น Y ซึ่งเติบโตมากับเทคโนโลยี คนกลุ่มนี้จะอดทนรอคอยไม่ค่อยได้ ใช้เงินแก้ปัญหา แล้วก็พึ่งข้อมูลโซเชียล หรือข้อมูลที่หยิบจับหาง่าย และใช้เครื่องมือแทนการลงมือทำด้วยตัวเอง
สอง เรื่องเทคโนโลยีกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ ดึงสมาธิ ดึงความสนใจของเด็กออกจากสิ่งที่ควรจะได้เล่นตามวัย ไปนั่งมองหน้าจอซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว
[su_note note_color=”#e5e5d9″ radius=”0″]เมเสริมเรื่องเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อเด็ก โดยเล่าถึงการวิจัยโดยบีบีซี ในเด็ก 4-5 ขวบ วางไอแพดไว้ให้คนละเครื่อง แล้วก็มีของกิน ของเล่นเต็มไปหมด ซึ่งเด็กเหล่านี้ ไม่ว่าจะมีของกินที่มีกลิ่นยั่วยวนแค่ไหน พวกเขากลับเลือกไอแพด เพราะอะไรหนึ่ง ไอแพดตอบสนองเขาได้ทันที สอง ไม่อยากดูตรงนี้ ข้ามได้ สาม เขารู้สึกว่าตัวเขาเป็นผู้ควบคุม ขณะเดียวกัน เคยเจอปัญหาไม่สามารถควบคุมลูกๆ ได้หรือไม่ แต่ไอแพดสามารถควบคุมเด็กๆ ได้ พ่อแม่อาจต้องถามตัวเองว่า ลูกเราเลือกไอแพด แทนที่จะเล่นตามวัยของเขาหรือเปล่า[/su_note]
และ สาม สิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยน ปกติเด็กๆ จะมีต้นทุนชีวิตอยู่ 5 อย่าง (ปรับปรุงจากนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว) คือ หนึ่ง ตัวเด็กเอง มีสมองส่วนอารมณ์ ความอยาก ทั้งหมดนี้จะถูกล้อมรอบด้วย 4 อย่าง คือ ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน และสังคม
หากทั้งสี่อย่างผสานกันได้ดีจะได้สิ่งที่เรียกว่าพลังแห่งตัวตน (power of self) ซึ่งทำให้เด็กอยู่รอดได้ในอนาคต ขณะที่ในปัจจุบัน ครอบครัว เพื่อน และสังคม นั้นเปลี่ยนไปหมดเลย
ในสามอย่างนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถสร้างความเข้มแข็งขึ้นได้ นั่นคือ “ครอบครัว”

การเลี้ยงลูกเหมือนการวิ่งมาราธอน
เมตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งหนึ่งที่เราลืมเลือนไปคือแทนที่จะโฟกัสเรื่องลูก สิ่งที่สำคัญที่พ่อแม่มักลืมเลือนคือการดูแลตัวเอง
“ก่อนจะไปลงทุนลงแรงกับลูก พ่อแม่บางคนยังปวดหลัง ซึมเศร้า หรือบางครั้งยังไม่พร้อม ต้องเจอเรื่องมากมาย แต่ก็ดันตัวเองเพื่อลูก
“สุดท้ายการเลี้ยงลูกเหมือนการวิ่งมาราธอน ลูกไม่ได้ต้องการเราแค่สามปีแรก เขาต้องการเรามากกว่านั้น ยาวนานกว่านั้น ฉะนั้น อย่าลืมดูแลตัวเองก่อน”
หมอโอ๋เสริมว่า ในปัจจุบัน เมื่อทุกคนเข้าถึงความรู้กันได้มากขึ้น ก็ทำให้รู้มากขึ้นว่า วิธีที่เราทำแบบนี้ไม่ดีนะ แต่จะเปลี่ยนตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
การจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง ไม่ได้อาศัยแค่ความรู้ ต้องอาศัยสติ ความตั้งใจ การฝึกฝน เพราะฉะนั้น มันเลยดูเป็นเรื่องยาก เพราะสุดท้าย ไม่ใช่การจัดการลูก แต่มันคือการจัดการตัวเราเอง
แม่หลายคนจะรู้สึกเหนื่อยใจ ขณะเดียวกัน ก็จะเจอข่าวอันตรายเต็มไปหมด หมอโอ๋เล่าว่า มีแม่เด็กขวบหนึ่งปรึกษาว่าลูกกำลังจะเดินได้ ควรซื้อหมวกกันน็อกให้ไหม
หรือไม่กล้าให้ขึ้นรถโรงเรียนเพราะกลัวไม่ปลอดภัย หลายครั้งกลายเป็นการปกป้องมากเกินไป พ่อแม่เลือกเลี้ยงลูกแบบละสายตาไม่ได้ ปล่อยไม่ได้ ให้เผชิญความเสี่ยงไม่ได้
“อีกอย่างคือพ่อแม่นิยมใช้ช่องทางลัด อย่างเช่นถามหมอนี่แหละ ง่ายดี เพราะว่าเราเป็นพวกรอไม่ค่อยเป็น อะไรก็ต้องได้ทันที ช่องทางลัดไหนมีก็ไป และหลายครั้งพ่อแม่ก็เลี้ยงลูกโดยใช้ทางลัด เพื่อให้สบายที่สุด
“โดยนิสัยของพ่อแม่เองก็มีความอดทนต่ำลง เราไม่มีวันนึกภาพเรามีลูก 10 คนเหมือนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเราได้เลย”
สิ่งหนึ่งที่อยากฝากพ่อแม่คือ เวลาเลี้ยงลูกจริงๆ อย่ามุ่งพัฒนาลูก ให้มุ่งพัฒนาตัวเรา การเลี้ยงลูกคือการพัฒนาตัวเองขั้นสูง ก็ต้องพัฒนาเรื่องความมีสติ พัฒนาความรู้ พัฒนาการเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะสุดท้ายเด็กจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราสอนเขา และเขาจะเป็นอย่างที่เราเป็น
สำหรับหมอโอ๋ ยอมรับว่าโชคดีมากๆ ที่ได้เจอการเลี้ยงดูเชิงบวก เพราะเป็นความรู้ที่อธิบายได้โดยวิทยาศาสตร์สมองของมนุษย์จริงๆ
“การเลี้ยงลูกเชิงบวกอธิบายได้ว่า ทำไมสมองของมนุษย์ถึงตอบสนองต่อวิธีการดีๆ ได้ดีกว่าวิธีการลบๆ ซึ่งมันจะตอบคำถามเราได้เลยว่า ทำไมลูกถึงก้าวร้าว หรือลูกถึงเป็นเด็กยอม หงอ ใช้ทำอะไรก็ทำ”
เมื่อไรก็ตามที่สมองเชิงอารมณ์ความรู้สึกถูกกระตุ้น หรืออยู่ในที่ไม่ปลอดภัย สามสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ สู้ หนี หรือยอม ซึ่งแต่ก่อนความไม่ปลอดภัยของมนุษย์ถ้ำคือสัตว์ป่า
ปัจจุบัน หากถามว่าสัตว์ร้ายของเด็กคือใคร แน่นอนว่าหนีไม่พ้นพ่อแม่และครูของเด็กที่โรงเรียน
คือเด็กยอมทำการบ้าน ไม่ได้กลัวการบ้าน แต่กลัวคนคุมการบ้าน อีกแบบก็คือเด็กยอม ถ้ายอมอยู่เสมอ จะพัฒนาเป็นความรู้สึกว่า ตัวเราไม่ได้เรื่อง สู้เขาไม่ได้ เราไม่เก่งพอ นำมาซึ่งปัญหาความนับถือตัวเองต่ำ
ความนับถือตัวเองคือเกราะป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของวัยรุ่น
เด็กที่ท้องไม่พร้อมหลายคนมีปัญหาความนับถือตัวเอง ฉะนั้น การเลี้ยงลูกให้รู้สึกว่าอยู่กับเราแล้วปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญมาก เขาจะได้เปิดสมองส่วนคิด แทนที่จะมุ่งแต่สมองส่วน สู้ หนี หรือยอมตลอดเวลา

สู้กับการศึกษาก่อนวัยเรียน
เด็กๆ ในวัย 2-7 ขวบหลายคนอาจต้องเริ่มรับมือกับการศึกษากระแสหลัก เจอทั้งการแข่งขัน การสอบ เจอสังคมที่เป็นจริงมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อเด็กบ้าง
“ปัญหาหลักที่โรงเรียนคือ ต้องทำตามกระทรวง ทำตามหลักสูตร เราโดนให้วัดผลในสิ่งเดียวกัน ทั้งๆ ที่มนุษย์เกิดมาก็ไม่เหมือนกันแล้ว เราตัดสินเขาด้วยมาตรวัดมาตรเดียว ซึ่งมันไม่ยุติธรรมเลย” เมแลกเปลี่ยนว่า เด็กๆ มีอะไรดีๆ มากมาย แต่เขาถูกตัดสินจากคะแนนสอบเท่านั้น
“เราทราบกันหรือเปล่าว่า เด็กวัย 2 ปี สมาธิเขาอยู่แค่ 5-7 นาที แต่เราให้เขานั่งเรียนเป็นชั่วโมงเลย ถามว่า 5-7 นาที บางครั้งอ่านนิทานหนึ่งเล่มยังไม่จบเลย แต่เราคาดหวังว่าเขาต้องเข้าใจมันทั้งชั่วโมงเลย แล้วก็วัดผลเขา”
แล้วในเด็กวัย 2-7 ปี มีความภาคภูมิใจจากการแข่งกันว่า ใครจะช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่ากัน
“เด็กคนหนึ่งบอกว่า ฉันทอดไข่เจียวได้แล้ว อีกคนบอกเปิดเตาแก๊สได้แล้ว หรือถ้ามีคนบอกว่าติดกระดุมได้แล้ว ก็จะมีคนบอกว่าตัวเองรูดซิปหลังได้แล้ว เขาขิงกัน ภาษาวัยรุ่นคือเขาข่มกันว่าใครช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่ากัน”
เมื่อเห็นลูกยังใส่และผูกเชือกรองเท้าตัวเองไม่ได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ ไม่ใช่ผูกเชือกแทนเขา แต่ควรจับมือเขาผูกเชือกไปพร้อมกัน
การจับมือเด็กทำ สมองของเขาจะจำการเคลื่อนที่เอาไว้เมื่อได้รับการเคลื่อนไหวแบบนั้นซ้ำๆ คือเขาจำการเคลื่อนไหว ถ้าเราทำให้ ดูเหมือนใจดี แต่ความจริงนี่คือการทำร้ายเขา
“ดังนั้น สิ่งที่คุณครู หรือคุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือ ลงไปทำกับเขา เคียงข้างเขา ทำไปด้วยกัน เด็กทำไม่ได้ เขาไม่ได้อยากทำไม่ได้ เขาต้องการคนบอก พ่อแม่อาจจะไม่ได้สอนเขา ไม่ได้มีเวลา เมื่อมาถึงมือคุณครู เราจะให้โอกาสเด็กคนนี้ หรือเราจะปิดโอกาสเด็กคนนี้ตลอดไปอยู่ที่มือเราละ ถ้าเรามองว่าเราอยากช่วยเขาจริงๆ เราแค่ลงมือ แค่นั้นเอง”
อยากให้เด็กนิ่ง ต้องให้เขาปล่อยพลังออกมาก่อน
หลายคนคงทราบดีว่าพลังงานเด็กเทียบเท่ากับนักวิ่งมาราธอน คือวิ่งเล่นได้ไม่เหนื่อย วิ่งแล้วพักไม่นานก็กลับมาวิ่งได้อีก ขณะที่พ่อแม่วิ่งจนหอบแฮ่กแล้ว ลูกกลับสนุกกับการวิ่งเล่นได้ทั้งวัน
ในฐานะครูที่มีโอกาสได้ดูแลเด็กๆ เมบอกว่า ถ้าอยากให้เด็กนิ่ง อย่าหยุดเขา ให้เขาวิ่งให้เพียงพอเลย จากนั้นค่อยมานั่งทำงานด้วยกัน ถ้าพ่อแม่จะสอนอะไรเด็กสักอย่างหนึ่ง อาจจะซอยเป็นขั้นตอนย่อยๆ ให้เห็นภาพง่ายขึ้น เรียกว่า task analysis
ยกตัวอย่างเช่น การสอนลูกผูกเชือกรองเท้า เราคงสงสัยว่า แค่การผูกเชือกรองเท้า ยังต้องซอยอะไรอีก แต่เมลองซอยเป็น 3 ขั้นย่อยๆ ให้ดู คือ หนึ่ง ลูกเอาเท้าสวม สอง ดึงลิ้นรองเท้าแล้วดึงเชือกรองเท้าขึ้นมา สาม จับเชือกแล้วผูก
“คุณครูที่จะสอนเด็ก 2-7 ปี ต้องมองในมุมของเด็กด้วยว่า เขารู้ไหมว่างานชิ้นนี้ต้องทำอะไรบ้าง แล้วเราก็ทำให้เป็นภาพ เพราะเด็กไม่ได้เข้าใจนามธรรม เช่น ใส่รองเท้าสิ นามธรรมมากเลย ยิ่งกว่าตีความภาพปีกัสโซ่อีก”
ถ้าเราบอกแค่ว่า “ใส่รองเท้าสิ” เด็กอาจจะงงว่าต้องเริ่มจากอะไร เช่น หยิบรองเท้าก่อนไหม แล้วรองเท้าอยู่ไหน เท้าซ้ายหรือเท้าขวา การจะใส่รองเท้าสักข้างหนึ่งจึงไม่ใช่เรื่องง่ายของเด็กๆ เลย
“การจะเป็นครูสอนเด็ก 2-7 ปี เราต้องมองในมุมว่า เขาเป็นเด็กที่เพิ่งเรียนรู้โลก ทุกอย่างใหม่สำหรับเขา เขาเป็นเด็กที่มีพลังงานเยอะ อยากจะให้เด็กนิ่ง คือต้องให้ใช้พลังงานให้หมด ไม่ใช่กักเก็บพลังงานไว้ เพราะสุดท้ายเขาก็รอเวลาระเบิดออกมา”

พัฒนาการเด็กอยู่ที่ความใจถึงของพ่อแม่
เรื่องโรงเรียน หมอวินเสริมว่า เมื่อเลือกไม่ได้ พ่อแม่ก็จำเป็นต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนตามระบบปกติ
“คำถามที่ต้องถามเสมอคือ เวลาส่งลูกไปโรงเรียน ลูก ‘สูญเสีย’ ความเป็นเด็กและพัฒนาการตามวัยไปหรือเปล่า ถ้าเขาสูญเสีย เพราะถูกเร่งเรียนในโรงเรียน คำแนะนำก็คือ จง ‘ชดเชย’ เวลาเล่นอยู่บ้านให้เต็มที่”
หมอวินแนะนำให้เล่นแบบไม่มีเงื่อนไขหรือเล่นแบบไม่มีโครงสร้าง (unstructured play) คือ ให้เด็กหยิบเอาเองว่าสนใจอะไร แล้วเราไปต่อกับเขา
การเล่น ไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นราคาแพง คุณพ่อคุณแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก
ส่วนขอบเขตการเล่น ขึ้นอยู่กับความใจถึงของแต่ละครอบครัวเป็นสำคัญ หมอวินเล่าว่า เด็กสวีเดนสามารถครอบครองเลื่อย มีด และกรรไกร ตั้งแต่ 3-4 ขวบ สำหรับคนไทยต้องถามว่า เราใจถึงแค่ไหน
“อาจารย์ประเสริฐบอกว่า การปีนต้นไม้เป็นการพัฒนา EF ได้ดีที่สุด อาจารย์บอกว่า อย่างมากที่สุดก็แขนหัก ใครใจถึงบ้าง บางบ้านก็ใจถึงนะ เมื่อความใจถึงของแต่ละบ้านต่างกัน เราก็เลือกที่เหมาะสมกับบ้านเรามากที่สุด”
การไปโรงเรียนเป็นการทำลายกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้วย คือการจับเด็กตรึงอยู่กับที่ และใช้กล้ามเนื้อแค่สามนิ้วในการหัดเขียน อยู่ที่บ้านกรุณาชดเชยการเล่นให้ลูกอย่างเพียงพอ
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ ปกติเราควรจะต้องให้อะไรบ้าง หนึ่ง ความรัก สอง ให้เงื่อนไข
“ทุกอย่างที่ทำต้องมีเงื่อนไข เช่น วันนี้กลับบ้านมาตอนเย็นต้องทำอะไรก่อน ล้างมือ ถอดรองเท้า เก็บขึ้นชั้น เล่นเต็มที่ เสร็จแล้ว อ่านนิทานก่อนนอน แล้วเข้านอน ถ้ามีการบิดพลิ้วจากเงื่อนไข จริงๆ ก็ไม่ต้องถึงลงโทษ ก็ให้เขารับผลไป เช่น เล่นนานเกินไปก็อดฟังนิทานก่อนนอน ให้เห็นชัดๆ ว่าอะไรที่เป็น limit หรือขอบเขตที่ควรจะรับได้
“ที่สำคัญอีกอย่างคือ ให้ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะความรับผิดชอบในตัวเอง ดูแลตัวเองได้ กินได้ด้วยตัวเอง หรือ 2 ขวบสามารถกินได้ไม่หกเลอะเทอะ ก็ถือว่าแฮปปี้มากแล้ว”
คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่หากไม่รู้จะเริ่มต้นเลี้ยงลูกอย่างไร พ่อแม่มีหน้าที่ 3 อย่าง คือ เลี้ยงดี มีเวลาให้ และเป็นแบบอย่างที่ดี
“แล้วก็ให้ความรัก เงื่อนไข และความรับผิดชอบ รวมถึงให้การสนับสนุนลูกในด้านต่างๆ นี่ถือเป็นพื้นฐานที่เราให้ลูกได้ แล้วก็ปล่อยให้เรียนตามระบบไป” หมอวินย้ำว่า ควรประเมินบ่อยๆ ว่าลูกทรมานกับระบบการศึกษาบ้านเรามากน้อยแค่ไหน

ตั้งเป้าหมายให้ลูกไปทำไม?
หมอโอ๋เห็นว่า พ่อแม่มักจะตั้งเป้าหมายให้ลูกๆ ไม่ว่าจะอยากให้ลูกเข้าประถม-มัธยมโรงเรียนอะไร เรียนม.ปลายสายอะไร จบปริญญา ฯลฯ คำถามสำคัญคือ เมื่อเราตั้งเป้าหมายเหล่านี้ไว้ เราต้องการอะไรในชีวิตลูก และสิ่งที่เราตั้ง แปลว่าลูกเราจะมีความสุขและประสบความสำเร็จจริงไหม
“ทุกวันนี้หมอเป็นอาจารย์แพทย์ สอนนักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีความสุขเยอะมาก เป็นซึมเศร้าก็เยอะ ฆ่าตัวตายก็มี แค่ไม่ได้เป็นข่าว แต่ว่านี่คือความสำเร็จหรือความสุขในชีวิตของเด็กคนหนึ่งไหม ถ้าไม่ใช่ เราก็ต้องตั้งเป้าหมายให้ถูกต้อง เพราะการที่เราส่งลูกเข้าระบบการศึกษา เราไม่ได้ต้องการให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยแล้วออกมาตกงาน”
โลกของเด็กในยุค 10-20 ปีข้างหน้า หมอโอ๋คาดการณ์ว่าปริญญาจะไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป เพราะเราเรียนผ่านออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ ไอเดียดีๆ หลายอย่างก็ไม่ได้เกิดขึ้นผ่านระบบการศึกษาที่เรามีอยู่ แต่ผ่านการศึกษาที่ฝึกให้เด็กคิด วิเคราะห์ มองโอกาส หรือเป็นการศึกษาที่เรียกว่า problem-based learning (PBL)
“หมอคิดว่าเราต้องตั้งเป้าหมายให้ถูก จะได้ไม่ต้องกดดันให้ลูกเราต้องเก่ง ต้องได้ที่หนึ่ง นั่นคือกลับมาสู่คำถามที่ว่า เป้าหมายจริงๆ ของการศึกษาคืออะไร”
เป้าหมายของการศึกษาคือการพยายามให้เด็กคนหนึ่งค้นพบตัวเอง ว่ามีทักษะอะไร มีความสามารถอะไร และพัฒนาทักษะนั้นจนสามารถทำเป็นงาน ประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้ตัวเอง ช่วยเหลือสังคม พัฒนาคุณภาพคนในสังคมให้ดีขึ้นได้
“มันสำคัญมากจริงๆ ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งค้นพบตัวเอง และสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผ่านการท่องจำจากตำรา แต่ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งหลายครั้งไม่ต้องผ่านโรงเรียนแล้ว”
คำแนะนำจากหมอโอ๋คือ พ่อแม่อาจจะถามตัวเองว่า อยากให้โรงเรียนให้อะไรกับลูก แล้วก็โฟกัสตรงนั้นพอประมาณ ขณะเดียวกัน อาจจะลองหาว่าลูกยังขาดอะไร แล้วช่วยหาประสบการณ์ให้ลูกเยอะๆ ลูกจะได้สัมผัสชีวิตว่าเขาชอบหรือมีความสุขกับอะไร
หมอโอ๋มองว่าโรงเรียนไทยทำลาย EF เด็กเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กคิดไม่เป็น เพราะทุกอย่างต้องทำตามที่ครูบอก แต่อย่างน้อย พ่อแม่สามารถช่วยฝึก EF ให้เด็กๆ ด้วยวิธีง่ายๆ และทำได้ที่บ้าน
“ถ้าอยากให้ความจำใช้งานดี ก็ฝึกผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย อยากให้การควบคุมตัวเองที่ดี ให้ฝึกทำงานบ้าน ฝึกการอ่าน ฝึกการทำงานเสร็จแล้วเล่น”
หมอโอ๋บอกว่า ถ้าพ่อแม่คิดอะไรไม่ออก แล้วอยากฝึก EF ลูก ให้ลองฝึกทำงานบ้าน เพราะเวลาที่ต้องอยู่กับอะไรที่น่าเบื่อแต่ต้องทำ จะช่วยเรื่องควบคุมตัวเองได้ดีมาก
ส่วนการฝึกเรื่องความคิดยืดหยุ่น ก็ให้ลูกลองกิจกรรมที่ท้าทายหน่อย เช่น ปีนต้นไม้ หรือขี่ม้า คือเมื่อไรก็ตามที่มีความเสี่ยง เมื่อนั้นจะพัฒนาความคิดยืดหยุ่นให้ดีขึ้นเสมอ
“บางคนถามว่าไม่กลัวเหรอ ลูกเล่นอะไรแล้วอาจจะอันตราย หมอบอกว่า การไม่ให้ลูกทำอะไรที่เขารู้สึกว่ารักและอยากทำ นั่นก็เป็นความเสี่ยงเหมือนกัน”
อย่าลืมฟังเสียงข้างในตัวเด็ก
เมเสริมเรื่องการตั้งเป้าหมายของพ่อแม่ว่า เธอเข้าใจดีถึงความหวังดีที่มีต่อลูกๆ แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่การตัดสินใจของตัวเด็กเอง แต่เด็กกลับต้องรับผลนั้นเต็มๆ
“บางครั้งถ้าเด็กทำได้ดี ก็โชคดีไป แต่ถ้าวันหนึ่งวันใดเขาผิดหวังขึ้นมาล่ะ เขาจะลงมายังไง เหมือนขึ้นทางด่วนไปแล้ว มันกลับลงมาไม่ง่าย ตรงนี้เราไม่ได้มีทางออกให้เขา แล้วสุดท้าย เด็กจะคิดว่า เขาทำไปเพื่ออะไร ชีวิตเขามีความหมายหรือเปล่า ตรงนี้ต้องเกิดตั้งแต่วัยเยาว์แล้วว่า ความต้องการเขาได้รับการได้ยินบ้างไหม”
คนเรามักจะคิดว่า สภาพแวดล้อมกับยีนเป็นสิ่งที่สร้างคนคนหนึ่งมา ขณะที่เมเชื่อว่า มีอีกอย่างที่เราลืมเลือนไป นั่นคือ เสียงข้างในเด็กคนนั้น (individual choice)
“มากกว่าสภาพแวดล้อมที่กำหนด มากกว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ มากกว่ายีนที่มากับเขาตั้งแต่ต้น มันคือตัวตนของเขา สุดท้ายแล้ว เด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง ไม่ได้เป็นใครเลย”
สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือรับฟังลูก แล้วให้เขาเลือก ให้เขารับผิดชอบตั้งแต่เด็ก ถึงจะล้ม จะพลาด เขาพลาดด้วยตัวเขาเอง ดีกว่าเขาเลือกบนเส้นทางที่เราเลือกให้ แล้วสุดท้ายพอพลาด เขาต้องรับผิดชอบมัน ไม่ใช่เรา เพราะมันคือชีวิตของเขาเลย
สิ่งหนึ่งที่เมอยากขอให้พ่อแม่ทำ ถ้าเป็นไปได้ คือ หนึ่ง ฟังเสียงลูก อย่าคิดว่าเขาเด็ก เขาไม่รู้อะไร เขารู้เรื่องมากกว่าที่เราคิด
“ฟังเสียงเขาเถอะ ถึงมันจะเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าเรื่องเล็กๆ นี้ได้รับการรับฟัง เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้รับฟังสิ่งใหญ่ๆ ที่เขาจะบอกเราในอนาคต”
สอง คือ ถ้าเขาต้องผิดพลาด ให้เขารับผิดชอบมัน อย่าให้ลูกเรียนรู้ที่จะโทษคนอื่น ก่อนที่จะรับผิดชอบผลของตัวเอง ปกติเวลาลูกเจอปัญหา พ่อแม่มักจะกระวนกระวายใจและรีบเข้าไปช่วยเหลือทันที ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนทำมันผิดพลาด กลับไม่สอนเขาแก้ แต่ช่วยเขาแก้เลยไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ สุดท้ายลูกจะแก้ด้วยตัวเองได้อย่างไร เขาจะไม่ได้เรียนรู้ความรับผิดชอบของตัวเองเลยแม้แต่น้อย
สาม สร้างภูมิคุ้มกันให้เขาบ้าง คือ ผิดหวังบ้างก็ไม่เป็นไร ลูกไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างดั่งใจ ให้เขาเรียนรู้ อดทนรอคอย และพยายามด้วยตัวเองบ้าง ความผิดหวังจะเป็นกำลังสำคัญเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะรู้จักความผิดหวังแล้วมีแรงลุกขึ้นมาใหม่ได้
เมอยากให้พ่อแม่ทำสามอย่างนี้ คือ ฟังเสียงลูก สอนความรับผิดชอบ และสร้างภูมิคุ้มกันความผิดหวังให้ลูกตั้งแต่เล็ก แล้วเมื่อผิดพลาด คอยอยู่เคียงข้างเขา ไม่ทิ้งเขา และไม่ดุด่าลูก ลูกไม่ต้องการการซ้ำเติมแล้ว
“สุดท้าย ลูกเราเกิดมาเป็นตัวเขาเอง เขาไม่ได้ต้องการจะเกิดมาเป็นคนอื่น ไม่ต้องไปหาภาพมาทาบเขา ไม่ต้องบอกเขาว่า ลูกเป็นแบบนี้สิ ลูกพี่ลูกน้องคนนี้เป็นหมอเก่งมากเลย ลูกพี่ลูกน้องคนนี้เป็นทนายระดับนี้ ลูกเรียนทางนี้นะ เขาไม่ได้ต้องการเงาของใคร เขาเติบโตมาเพื่อเดินบนเงาของตัวเขาเอง
“ขอให้พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวลูก ถ้าเราเลี้ยงเขามาดีพอ เราจะมั่นใจว่าจะปล่อยให้เขาเดินเองได้ วินัย การเล่น และความสัมพันธ์จะช่วยตรึงเขาไว้ ในวันที่เขาไม่ได้ยินเสียงใครเลย เหมือนที่หมอโอ๋พูดว่า ลูกจะได้ยินเสียงเขาเอง และเสียงพ่อแม่กรอกหูเขาว่า อันนี้มันไม่โอเคนะ ก็ทำใหม่ และเริ่มใหม่ได้”
จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา
Usha Goswami เขียน
สุภลัคน์ ลวดลาย, วรัญญู กองชัยมงคล แปล
229 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือได้ที่นี่