Brief: ‘สามัญสำนึก’ เมื่อสามัญชนปฏิวัติ

เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

“Common Sense เป็นหนึ่งในหนังสือที่ทุกคนยังต้องอ่านจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการปฏิวัติอเมริกาโดยตรง หรือความคิดทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย”

คือประโยคเปิดงาน ‘สามัญสำนึก’ เมื่อสามัญชนปฏิวัติ ที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหนังสือ Common Sense โดยโธมัส เพน จุลสารการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการปฏิวัติอเมริกา

นับเป็นวงพูดคุยเรื่องหนังสือที่เข้มข้นครบรส เนื่องจากได้ส่วนผสมจากสามมุมมอง ได้แก่ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อเมริกา ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยปูพื้นภูมิหลังของโธมัส เพน รวมถึงสถานะของอเมริกายุคอาณานิคม ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการอิสระ และผู้แปล Common Sense: สามัญสำนึก เล่าถึงเนื้อหาและการนำเสนอบริบทที่เกิดขึ้นกว่าสองร้อยปีสู่ฉบับภาษาไทย และ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชวนเราครุ่นคิดถึงคำพื้นฐานอย่างสามัญสำนึก ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ในอเมริกา และผู้ที่ไม่สนใจการเมืองหรือประวัติศาสตร์อเมริกามาก่อนน่าจะลองอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะอะไร

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก กิตติพล สรัคคานนท์ ผู้ออกแบบปกและภาพรวมของหนังสือ ร่วมบอกเล่าแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานในช่วงท้าย

 

รู้จักนักเคลื่อนไหวข้ามชาตินาม ‘โธมัส เพน’

 

“โธมัส เพน น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการเอาอุดมการณ์การเมืองจากประเทศหนึ่งไปปลุกระดมอีกประเทศหนึ่ง” ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อเมริกา ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงบุคคลอันตรายสำหรับทุกรัฐบาลในโลกนี้ ที่จุดเริ่มต้นเป็นเพียงสามัญชนธรรมดาและมีอาชีพช่างทำสเตย์เท่านั้น

สิ่งที่จุดประกายให้เพนมีความคิดทางการเมืองและต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เกิดขึ้นเมื่อเขาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอังกฤษแล้วพบการคอร์รัปชั่น แต่พอพยายามเปลี่ยนระบบกลับถูกไล่ออก

“เขาพบว่ามันเหมือนกันทุกที่ ไม่ว่าอังกฤษ ไม่ว่าอเมริกา ในระบบถ้ามีผู้เป็นใหญ่จำนวนน้อย แล้วปกครองด้วยระบบฐานันดร มันไม่มีความเป็นธรรมให้กับคนจำนวนมาก”

สิ่งที่เพนตั้งคำถามก็ได้จากประสบการณ์ตรงและชีวิตคนรอบตัวที่ไม่ว่าจะทำงานหนักเท่าไร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที หรือทำไมจึงยังเป็นเจ้าของกิจการเองไม่ได้ ซึ่งเขาก็ได้คำตอบว่า เพราะประชาชนให้อำนาจกับรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นตัวแทนพวกเขาอย่างแท้จริง “เพราะฉะนั้น เราต้องเอารัฐบาลกลับมาเป็นของประชาชน”

“สรุปสั้นๆ คือเพนเขียนเรื่องสามัญสำนึกเพื่อตอบคำถามว่า ใครจะเป็นคนตัดสินชีวิตทางการเมืองของประชาชน ซึ่งคำตอบก็คือประชาชนต้องเป็นคนตัดสิน” — ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตอนที่พวกอาณานิคมอเมริกาต่อต้านอังกฤษ เริ่มต้นด้วยการต่อต้านกฎหมายภาษีแสตมป์ เนื่องจากไม่ว่าจะทำธุรกรรมอะไรก็ต้องติดแสตมป์ ชาวบ้านที่เดือดร้อนก็เริ่มประท้วง ทำให้อังกฤษต้องยกเลิกภาษีแสตมป์ไป แต่ก็หันไปเพิ่มภาษีอย่างอื่นแทน เพนมองว่า อย่างมากก็แค่เลิกกฎหมายนี้ แล้วก็โดนกฎหมายต่อไป แล้วก็โดนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เขาสงสัยว่าทำไมคนอเมริกันจึงไม่คิดอยากเป็นอิสระบ้าง?

โธมัส เพน จึงเขียน สามัญสำนึก มาอธิบายและเสนอว่า จะต้องสร้างประชาสังคมขึ้นมา แล้วตั้งรัฐบาลที่เป็นอิสระขึ้นมาเอง เพราะหากอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์ต่อไป ก็มีแต่รัฐบาลกษัตริย์ ซึ่งแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ นี่คือที่มาของจุลสารหรือใบปลิว (pamphlet) ชิ้นสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติอเมริกา

“การปฏิวัติอเมริกาคือการปฏิวัติของมนุษยชาติ” นี่คือสิ่งที่ธเนศอ่านและตีความได้ แม้เพนไม่ได้เขียนอย่างนี้ตรงๆ (ในต้นฉบับคือ “จุดประสงค์ของอเมริกาคือจุดประสงค์ของมวลมนุษยชาติ” หน้า 41)

เพนไม่ใช่เจ้าทฤษฎีลึกซึ้ง เขาเพียงเชื่อว่า “มนุษย์ต้องมีส่วนร่วมในรัฐบาลตัวเอง ในสังคมที่ตัวเองอยู่ คือมีเสรีภาพ พูดง่ายๆ ว่า ต้องแสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้แกนนำในการปฏิวัติอเมริกาเริ่มชัดเจนขึ้นว่า ถ้าอย่างนั้นการต่อต้านอังกฤษ ไม่ใช่แค่คว่ำบาตรสินค้า ประท้วงกฎหมายภาษีแสตมป์ ฯลฯ แต่ต้องรวมตัวกันแล้วประกาศเอกราช”

ธเนศมองว่าความสำคัญของ Common Sense เล่มนี้ไม่ใช่การปลุกระดมธรรมดา หากเป็นผลงานที่ทำให้การปฏิวัติบรรลุความสำเร็จจนนำไปสู่เอกราชทางการเมือง

ธเนศยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการค้าว่ามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านยุโรปเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ แต่เหตุใดสิ่งนี้จึงไม่เกิดขึ้นในสังคมตะวันออก อย่างในจีน อินเดีย และแถบอุษาคเนย์

อีกประเด็นสำคัญคือการสร้างบรรยากาศการถกเถียงทางความคิดและการใช้เหตุผล ในยุคนั้นเมื่อใครมีความคิดหรือต้องการเสนออะไรใหม่ๆ ก็มักตีพิมพ์ใบปลิวหรือจุลสารให้คนทั่วไปได้รับรู้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอในวงกว้าง นับเป็นพื้นฐานสู่ระบบการเมืองประชาธิปไตย ซึ่งน่าเสียดายว่าประเทศทางตะวันออกแทบไม่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้

 

ปลุกระดมด้วยเหตุผล

 

งานเขียนของโธมัส เพน มีเนื้อความอ่านเข้าใจง่าย ยกตัวอย่างใกล้ตัว เข้าถึงคนทั่วไป คือคำจำกัดความอย่างย่อจาก ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการอิสระ และผู้แปล Common Sense: สามัญสำนึก

ภัควดีมองว่าสถานะของเพนอยู่ตรงกลางระหว่างปัญญาชนและคนธรรมดา จากงานเขียนเพนน่าจะเป็นคนอ่านหนังสือเยอะและสนใจหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นนักปลุกระดมที่ใช้เหตุผล ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนอ่านคิดและไตร่ตรองด้วยตัวเอง

จากประวัติของเพนซึ่งเป็นคนทำมาหากินมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นช่างทำสเตย์ ข้าราชการ เรียกได้ว่าต่อสู้ดิ้นรนมา โธมัส เพน จึงเห็นความสำคัญของทรัพย์สินและการค้า

ในประเด็นสังคมกับรัฐ เพนมองว่าสังคมเป็นสิ่งทำให้คนอยู่รอดได้ ขณะที่รัฐเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มาทีหลัง รัฐเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง ทว่าไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ ฉะนั้นจึงเปลี่ยนแปลงได้

ภัควดีอธิบายถึงรากฐานของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเพนอ้างว่ามีที่มาจากการใช้อำนาจแบบซ่องโจร ปล้นชิงประชาชนให้จ่ายค่าคุ้มครอง โดยยกตัวอย่างกรณีอังกฤษที่ดยุคนอร์ม็องดีหรือวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสที่ยกพลขึ้นบกพร้อมกองโจรติดอาวุธแล้วสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์อังกฤษทั้งที่มิได้รับความยินยอมจากประชาชน

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนผ่านอำนาจหรือการสืบทอดอำนาจทางสายเลือด โดยเพนอ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม และวิจารณ์ว่าถือเป็นการปล้นสิทธิของลูกหลานที่จะเลือกผู้นำของตนในอนาคต

สำหรับรัฐธรรมนูญอังกฤษที่ในยุคนั้นมองว่าดีที่สุดในโลก เพนเสนอว่ามีความขัดแย้งในตัวเอง ด้วยการชี้ว่าแม้รัฐธรรมนูญจะอ้างถึงการถ่วงดุลระหว่างกษัตริย์ ขุนนาง และสภาสามัญชนก็ตาม ทว่าการถ่วงดุลดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง ส่วนดีส่วนเดียวของรัฐธรรมนูญอังกฤษ (หากว่ามี) ก็คือสภาสามัญชนที่ประชาชนเลือกเข้ามา

เมื่อเพนอธิบายมาทั้งหมด เขาได้ให้ข้อสรุปว่า นอกจากสนับสนุนให้อเมริกาเป็นเอกราชไม่พอ ต้องเป็นสาธารณรัฐด้วย เพราะว่า แสดงให้เห็นตัวอย่างแล้วว่า การปกครองระบอบกษัตริย์ในอังกฤษไม่ดีอย่างไร แล้วอเมริกาจะไปเอาอย่างอีกทำไม คือนอกจากไม่อยากอยู่ภายใต้อังกฤษแล้ว ก็ควรที่จะ ถ้าเกิดมาสร้างการปกครองของตัวเอง ก็ไม่ควรจะเอาระบอบที่ไม่ดีอยู่แล้วมาอีก ก็ควรจะเป็นสาธารณรัฐ นี่ก็เป็นข้อเสนอที่เขาย้ำอยู่พอสมควร

ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ภัควดีคิดว่าถ้าอ่านด้วยสายตาคนยุคนี้อาจไม่ได้มีอะไรให้แปลกใจมากมาย แต่ถ้ามองว่าเพนเขียนเรื่องนี้เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนที่การปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังเป็นกระแสหลักในโลกอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เลยทีเดียว

“มนุษย์เรามักถูกจำกัดด้วยขอบฟ้าความคิด พูดง่ายๆ ด้วยภาษาสมัยใหม่คือถูกจำกัดด้วยกะลา ในแง่หนึ่ง คนเรามักรู้สึกว่า เราอยู่กับสิ่งต่างๆ ด้วยความเคยชิน แต่สิ่งที่เพนทำก็คือ เขาเปิดขอบฟ้าความคิดคนว่า มันมีหนทางอื่นที่เดินไปได้ แล้วเราก็น่าจะทดลองไปทางนั้น แล้วสิ่งที่เขาเสนอบังเอิญไปเสนอในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง  แล้วก็มีคนลงมือทำจริง

“ต้องถือว่าโธมัส เพน เป็นต้นแบบของการทะลวงกรอบ ทลายกรงไปสู่สิ่งใหม่ๆ” — ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

ความร่วมสมัยของ ‘สามัญสำนึก’

 

ทำไมเราถึงควรอ่าน สามัญสำนึก ในปัจจุบัน? ถ้าไม่ใช่คนสนใจการเมืองอเมริกาหรือการเมืองโลกมาก่อนอ่านแล้วจะได้อะไร?

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “สามัญสำนึกในความคิดของทุกคนแปลว่าอะไร”

อาจเป็นวิธีคิดในเรื่องราวชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็สามารถตัดสินใจได้ ว่าแต่สามัญสำนึกเป็นเรื่องที่เป็นไปโดยอัตโนมัติหรือไม่ เราเคยฉุกคิดไหมว่าใครปลูกฝังหรือบ่มเพาะสามัญสำนึกต่างๆ ให้เรา?

“เอาเข้าจริง ในสังคมทั่วโลก หรือโดยเฉพาะสังคมไทยซึ่งเราถูกแบ่งขั้วทางการเมืองมา 20 กว่าปี มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สามัญสำนึก’ หรือวิธีคิดที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันจริงๆ หรือเปล่า” — สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

แม้สามัญสำนึกส่วนใหญ่จะถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจในสังคม แต่ขณะเดียวกัน สิริพรรณมองว่าสิ่งที่โธมัส เพน พยายามทำคือการท้าทายสามัญสำนึกที่ถูกกดทับโดยอำนาจเดิม ซึ่งก็คืออังกฤษนั่นเอง

จากนั้นสิริพรรณได้กล่าวถึง 4 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

  1. ความสำคัญของหนังสือ Common Sense
  2. เทคนิคการโต้เถียงที่นำไปปรับใช้ได้
  3. ข้อเสนอรูปธรรม
  4. สิทธิธรรม

ความสำคัญของ Common Sense

ในสหรัฐอเมริกา หนังสือ Common Sense ถูกบรรจุอยู่ในวิชา Civic Education (การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง) ของนักเรียนชั้นมัธยมต้น โดยเนื้อหามีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้โต้แย้งมากมาย แต่ก็เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่จุดประกายเรียกร้องเอกราช โดดเด่นด้วยการใช้หลักของเหตุผลและสัจจะ

อิทธิพลสำคัญของ Common Sense ปรากฏอยู่ในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคม 1776 ในประโยคที่ว่า “All men are created equal”

เทคนิคการเขียนหนังสือของโธมัส เพน

  1. กระตุ้นอารมณ์ดิบๆ ตรงๆ แล้วยิงเข้าประเด็น สิริพรรณใช้คำว่า “จับสามัญสำนึกมาเสียบแล้วฉายไฟส่อง” ตัวอย่างเช่น ปล่อยเกาะเล็กๆ (อังกฤษ) มาปกครองทวีปใหญ่ๆ (อเมริกา) หรือดาวเทียมมาปกครองดาวนพเคราะห์
  2. ขยี้ด้วยการเปรียบเปรย ใช้วิธีลดทอนฝ่ายตรงข้าม แสดงให้เห็นว่าสิ่งใดที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องต่อไป ตัวอย่างเช่น ทารกกินนมมาตั้งแต่เกิด เมื่อโตขึ้นก็เปลี่ยนมากินเนื้อได้ ไม่จำเป็นต้องกินนมต่อไป
  3. ปล่อยหมัดตรงๆ ใส่คำพูดสวยหรู เช่น คำว่า “ประเทศแม่” เพนชี้ว่า มีแม่ที่ไหนทำสงครามกับลูกตัวเองบ้าง
  4. ใช้สถิติประกอบคำอธิบาย นับว่าทันสมัยมาก เช่น อังกฤษมักอ้างว่ามีคนอังกฤษอยู่ในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากโดยเหมารวมผู้อพยพจากยุโรปชาติอื่นๆ ไว้ด้วย ขณะที่ความจริงจำนวนประชากรอังกฤษในสหรัฐฯ มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

ข้อเสนอรูปธรรม

เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมต่อทั้ง 13 อาณานิคม เพนเสนอเงื่อนไขประธานควรจะมาจากการจับสลากจึงจะยุติธรรมที่สุด นอกจากนี้ มุมคิดต่อเสียงข้างมากของเขายังเป็น super majority หรือต้องได้รับเสียงสนับสนุน 3 ใน 5

สิทธิธรรม

โธมัส เพน อ้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ได้อิทธิพลจากคริสต์ศาสนา ตัวอย่างเช่น อังกฤษกับสหรัฐฯ ห่างกันถึง 8,000 ไมล์ การที่สหรัฐฯ ต้องตกเป็นอาณานิคมจึงนับว่าผิดความประสงค์ของพระเจ้า เพราะหากพระเจ้าต้องการให้สหรัฐฯ เป็นอาณานิคมต่อไป คงไม่ให้ผืนดินทั้งสองแห่งอยู่ไกลกันขนาดนี้

สิริพรรณทิ้งท้ายว่า ด้านลบของโธมัส เพน ก็มี นั่นคือหลังจากอรรถาธิบายความคิดเห็นของตนพร้อมยกตัวอย่างทั้งหมดแล้ว หากคนอ่านไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ก็แค่กลายเป็นพวกโง่เง่าเต่าตุ่นไปแล้วกัน ซึ่งถ้าเป็นยุคนี้เพนอาจถูกกล่าวหาว่าไม่ PC (political correctness)

ขณะที่ข้อดีอย่างหนึ่งในยุคนั้นคือนอกจากจะตีพิมพ์เผยแพร่ความคิดของตนเองได้อิสระแล้ว ยังพร้อมรับฟังการโต้แย้งจากฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย เรียกได้ว่ามีการตอบโต้กันไปมาด้วยหลักเหตุผลและมีหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรให้คนรุ่นหลังหยิบมาวิพากษ์อ้างอิงกันได้ตลอด

 

แนวคิดและการออกแบบ ‘สามัญสำนึก’

 

นับเป็นโอกาสดีมากที่กิตติพล สรัคคานนท์ ผู้ออกแบบได้ร่วมบอกเล่าที่มาที่ไปและแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานปกและภาพรวมของ Common Sense: สามัญสำนึก

“ช่วงศตวรรษที่ 18 มีประเด็นหนึ่งที่น่าคิดมากๆ คือรูปแบบการนำเสนอความคิดที่ว่า ถ้าอยากจะให้คิดถึงอย่างหนึ่ง เขาจะพูดถึงอีกอย่างที่อยู่ตรงกันข้าม” กิตติพลยกตัวอย่างงานพจนานุกรมของวอลแตร์ โดยสมมติว่าต้องการพูดเรื่องสันติภาพ

“วอลแตร์จะเล่าถึงฉากสงครามที่ดูน่ากลัว เต็มไปด้วยซากศพ ผู้คนล้มตาย แล้วก็ตบท้ายว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นหากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สันติภาพ’ ซึ่งผมคิดว่า งานของเพนเองก็มีลักษณะคล้ายๆ อย่างนี้คือชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม ผมจึงหยิบเอาเครื่องหมายเท่ากับมาใช้บนหน้าปก แต่ในรูปแบบเครื่องหมายไม่เท่ากับ ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้าม”

ส่วนแนวคิดในการออกแบบรูปเล่ม Common Sense จากต้นฉบับจุลสารรูปแบบเหมือนแผ่นพับ ไม่มีหน้าปก สู่ฉบับภาษาไทย เขาใช้วิธีการที่เรียกว่า Archaeology หรือโบราณคดีวิทยา สืบย้อนไปยังต้นตอที่มารวมถึงบริบททางประวัติศาสตร์ของหนังสือเล่มนี้

สำหรับตัวอักษร กิตติพลเลือกชุดอักษร Didot ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของศตวรรษที่ 18 ช่วง Enlightenment ที่นักปรัชญาฝรั่งเศสนิยมใช้ นัยว่าทำหน้าที่ปลุกและสร้างความคิดที่อาจไม่เคยมีมาก่อนให้แก่ผู้คน น่าเสียดายที่โธมัส เพน ไม่ได้ใช้ Didot เพราะเป็นชุดอักษรที่กำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับเขา

“ส่วนรูปแบบทั้งหมดที่ออกมา อาจจะดูมีความคลาสิก แต่ก็ต้องการสื่อสารกับคนทั่วไปด้วย” กิตติพลกล่าว

(ผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ใน บันทึกการออกแบบ ‘Common Sense’ ฉบับภาษาไทย)

 

ที่มา: ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม

โธมัส เพน และ ‘สามัญสำนึก’ เมืองไทย

 

ประจักษ์ตั้งคำถามน่าสนใจว่า ประเทศไทยมีการผลิตงานเขียนที่ทรงพลังขนาด สามัญสำนึก บ้างหรือไม่ ธเนศเสนอความเห็นว่า มีงานอยู่สองชิ้นที่พอเทียบกับสามัญสำนึกของเพนได้ นั่นคือ บทความ “มนุษยภาพ” โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิดและนักหนังสือพิมพ์สมัยรัชกาลที่ 7 และ “ว่าด้วยความฝันละเมอ แต่มิใช่นอนหลับ” โดยเทียนวรรณ ปัญญาชนในสมัยรัชกาลที่ 5

บทความชิ้นแรกกล่าวถึงอำนาจที่ไม่ยุติธรรมและไม่มีที่มาที่ไป ผลของการเผยแพร่ทำให้โรงพิมพ์ถูกปิด (แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่) ถึงสองแห่ง

ส่วนบทความชิ้นหลังของเทียนวรรณ แม้จะเขียนไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่เนื้อหากลับทันสมัย เช่น ไม่เห็นด้วยกับการมีทาส เรียกร้องสิทธิสตรีเท่ากับบุรุษ ไปจนถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งในปัจจุบัน หลายสิ่งที่เทียนวรรณฝันไว้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง

หลายคนที่ได้อ่านเล่มนี้แล้วยืนยันตรงกับประจักษ์ว่า “หนังสือ Common Sense เหมาะกับสังคมไทยในห้วงยามนี้เป็นอย่างยิ่ง” และการพิสูจน์ความจริงข้อนี้มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

ขอขอบคุณศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการเอื้อเฟื้อเทปบันทึกภาพเสวนา ‘สามัญสำนึก’ เมื่อสามัญชนปฏิวัติ