บันทึกการออกแบบ “Common Sense” ฉบับภาษาไทย

 

เรื่อง: กิตติพล สรัคคานนท์

 

งานออกแบบปก Common Sense หรือ สามัญสำนึก ของ โธมัส เพน ใช้วิธีการที่เรียกว่า โบราณคดีวิทยา (Archaeology) ในความหมายของการสืบย้อนกลับไปยังต้นตอที่มา บริบททางประวัติศาสตร์ที่ตัวบท (text) หรือหนังสือเล่มนี้มีความเกี่ยวข้อง

เป็นที่ทราบกันว่า Common Sense ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรูปแบบ ‘จุลสาร’ หรือ pamphlet ที่นำเสนอประเด็นถกเถียงทางการเมือง ซึ่งมักไม่ลงชื่อผู้แต่ง หนึ่งพันฉบับแรกของ Common Sense ถูกแจกจำหน่ายหมดไปอย่างรวดเร็ว และได้ถูกส่งต่อ/พิมพ์ซ้ำจนสร้างผลสะเทือนต่อการเมืองการปกครองในอเมริกา ซึ่ง ณ เวลานั้นยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

จากข้อมูลข้างต้นนี้เองทำให้เราได้หยิบยืมใช้สอยรูปแบบดั้งเดิมของ Common Sense มาใช้เป็นสารตั้งต้น เริ่มจากรูปเล่มที่เป็นหนังสือขนาด octavo ไม่เข้าเล่ม ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับขนาด 16 หน้ายกธรรมดาในยุคปัจจุบัน แต่เมื่อเปรียบกับขนาดสิ่งพิมพ์ในศตวรรษที่ 18 แล้วก็ต้องถือว่า Common Sense มีขนาดย่อมกว่าหนังสือมาตรฐานพอสมควร

ปกของ Common Sense ฉบับดั้งเดิมมีเพียงแค่ชื่อเรื่อง และคำโปรยต่างๆ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ กระดาษปกก็จะเป็นเช่นเดียวกับเนื้อใน (หรือจะเรียกว่าไม่มีปกก็ได้) การออกแบบฉบับแปลไทยเลยได้หยิบยืมลักษณะความเป็นปกขาวดำ เรียบง่าย มาสื่อสารกับคนอีกยุคหนึ่งผ่านการจัดวางตัวอักษร (typography) ให้ดึงดูดสายตา

เราเลือกชุดอักษรละติน (typeset) ที่ชื่อ Didot มาเป็นพระเอก แบบอักษรตัวนี้ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของศตวรรษที่ 18 โดยถ้าเรามองโธมัส เพน เป็นเหมือนกลไกขับเคลื่อนความคิดให้กับความเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลานี้ Didot ของพี่น้องตระกูลดิโดต์ก็เป็นเหมือนพาหะในการสื่อสารองค์ความรู้ของศตวรรษที่ 18 ในรูปแบบของหนังสือ หรือพูดง่ายๆ ว่า Didot เป็นแบบอักษรที่ใช้พิมพ์งานของนักปรัชญาในยุคแสงสว่างทางปัญญาจนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่คนจดจำได้

เครื่องหมาย (symbol) แนวคิดเรื่องความเสมอภาคถือว่าเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของ Common Sense ซึ่งเราเลือกสื่อสารออกมาด้วยเครื่องหมาย = และ ≠ ที่พิมพ์ลงบนแจ๊กเก็ต (วัสดุโปร่งแสง/กระดาษไข) และปกด้านใน โดยเราได้แยกเครื่องหมาย / ไว้ในส่วนของแจ๊กเก็ต ซึ่งตีพิมพ์พร้อมๆ กับชื่อผู้แต่ง-ชื่อเล่ม ตราสำนักพิมพ์ และมีเพียงเครื่องหมาย = ไว้บนปกด้านใน เมื่อถอดแจ๊คเก็ตออกก็จะพบเพียงเครื่องหมาย = บนหน้าปกที่สื่อถึงความเสมอภาค

แน่นอนว่าเราต้องการให้หนังสือเล่มนี้ส่งสารไปยังผู้อ่านรุ่นใหม่ๆ ดังนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาจึงจะไม่ใช่เพียงแค่งานคลาสสิก แต่ยังคงต้องมีรูปแบบที่ร่วมสมัย และทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้ว่า Common Sense ฉบับแปลไทยนี้เป็นเรื่องของพวกเขา หรือเป็นหนังสือที่พวกเขาควรได้ลองอ่าน

 

 

 

สามัญสำนึก (Common Sense)
Thomas Paine เขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บทนำ
ปราบดา หยุ่น บทตาม
กิตติพล สรัคคานนท์ ออกแบบ
176 หน้า
215 บาท

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่