Brief: Book Community คุยต่อ-คิดต่อจาก “สอนเปลี่ยนชีวิต” สู่ห้องเรียนจริงเพื่อเด็กทุกคน

 

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

 

กิจกรรม Book Community เปิดวงแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ คุยต่อ-คิดต่อจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน โดยพฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ bookscape ร่วมด้วยครูอาจารย์และผู้สนใจเกือบ 20 คน

วงคุยนี้ชวนหาคำตอบสำคัญสองประการ นั่นคือ ประสบการณ์ในห้องเรียนที่ได้สอนนักเรียน “Poor Students” ซึ่งตีความได้กว้างขวางกว่าเด็กยากจนขาดแคลน และเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว แต่ละคนนึกถึง “Rich Teaching” อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการเรียนการสอน หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพลิกห้องเรียน ที่เปลี่ยนชีวิตเด็กๆ และเสริมสร้างความสำเร็จให้พวกเขาได้

อีกคำถามสำคัญที่วงคุยนี้อยากไปให้ถึงคือ ถ้าอยากให้การสอนเปลี่ยนชีวิตทุกคนได้อย่างมีพลังจริงๆ เราต้องการสิ่งแวดล้อมแบบไหน ต้องการสถาบัน กฎกติกาแบบไหน นโยบายสาธารณะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร บรรยากาศในโรงเรียนและสังคมต้องเป็นแบบไหน ครูจึงจะทำหน้าที่เพื่อเด็กทุกคนได้จริง

 

ปูพื้น “สอนเปลี่ยนชีวิต”

 

ก่อนเปิดวงคุย พฤหัสอธิบายโครงสร้างหนังสือ “สอนเปลี่ยนชีวิต” ซึ่งเริ่มต้นที่ชุดความคิด 7 ชุดความคิด (mindset) นอกจากเรื่องความรู้ จะพูดถึงทั้งทัศนคติ ความเชื่อ หรือการให้คุณค่าของเราที่มีต่อเรื่องต่างๆ ฉะนั้น ชุดความคิดก็หมายถึงสิ่งที่เราให้คุณค่า ไม่ว่าระบบการศึกษา ความเชื่อที่มีต่อการศึกษา ต่อลูกศิษย์ และต่อตัวเองในฐานะครู

“ที่ผ่านมาแม้จะมีเวิร์กช็อป คู่มือการสอน ทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ฯลฯ แต่ต่อให้เปลี่ยนเทคนิคการสอนไปร้อยแปดพันเก้าขนาดไหน ก็ไม่มีผลอะไร ถ้าชุดความคิดเราไม่เปลี่ยน ถ้าความเชื่อ การให้คุณค่า หรือความคิดเชิงลึก กระบวนทัศน์เราไม่เปลี่ยน ต่อให้เปลี่ยนห้องเรียนให้ดีแค่ไหน มันก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้จึงให้น้ำหนักกับ 7 ชุดความคิดมาก”

โดยทุกชุดความคิดมีจุดเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) กับชุดความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) คือพยายามส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็กมี growth mindset ว่า ชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้ เติบโตและพัฒนาได้ “ถ้าเกิดมาจน เขาไม่จำเป็นต้องจนหรือลำบากอยู่อย่างนั้น ชีวิตเขาสามารถดีขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นได้เสมอ”

ตรงข้ามกับ fixed mindset คือเมื่อเกิดมาจน ก็ต้องจนอยู่อย่างนั้น ลำบากอยู่อย่างนั้น หรือถ้าเราจนก็คงเรียนได้ไม่ดี เพราะเข้าไม่ถึงโอกาส ทัศนคติแบบนี้ทำให้ไม่สามารถเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้

growth mindset จึงเป็นคล้ายๆ ตัวกำกับอยู่ในทุกๆ ชุดความคิด แต่ละชุดความคิดก็จะมีแนวทางกว้างๆ อีก 3 แนวทางว่าเราจะมีวิธีการในการเปลี่ยนห้องเรียนอย่างไร ใน 3 แนวทางนี้ก็จะย่อยออกไปอีก เป็นตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย

ฉะนั้น หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย 7 ชุดความคิด 20 แนวทาง และอีกร่วมร้อยกิจกรรม หลายๆ อย่างสามารถคิดต่อยอดไปจากกิจกรรมเหล่านี้ได้ เพราะบางอย่างเป็นกิจกรรมเล็กๆ หรือดูสามัญธรรมดามากเลย ซึ่งครูหลายคนทำอยู่แล้ว แต่บางครั้งอาจมองมันในเชิงความหมายไม่รอบด้าน

เล่มนี้อาจไม่ได้พูดถึงเทคนิคสวิงสวายอะไร เน้นชวนครูกลับมาที่เทคนิคพื้นฐาน แล้วสามารถนำไปใช้ได้จริงในห้องเรียน”

 

 

ว่าด้วยนิยาม “Poor Students”

 

ปกป้อง จันวิทย์ ชวนคุยว่า ที่ผ่านมา เมื่อครูแต่ละคนได้พบเจอ “Poor Students” ในที่นี้ นอกจากหมายถึงกลุ่มเด็กยากจนขาดแคลนแล้ว เรายังขยายคำจำกัดความของ “Poor Students” ให้กว้างขึ้นได้

“นิยาม Poor Students ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นเด็กจนเพียงอย่างเดียว อาจเป็นเด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กกลุ่มขาดโอกาส หรือเป็นเด็กที่มีปัญหาบางอย่างที่ท้าทายครูอย่างพวกเรา” ปกป้องกล่าว

เมื่อแต่ละคนเจอ Poor Students แล้ว มีประสบการณ์ที่ได้ช่วยพัฒนานักเรียนกลุ่มนี้อย่างไร เคยใช้วิธีไหน “สอนเปลี่ยนชีวิต” พวกเขาบ้าง

“คำว่า Poor Students ในหนังสือเล่มนี้น่าจะตีความว่าเป็นเด็กที่มีฐานะยากจนและอาจเข้าไม่ถึงโอกาส อาจอยู่ในกลุ่มชายขอบ ในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ แต่ถ้าเรามองระบบการศึกษาแบบเดิม การให้คุณค่าเด็กกลุ่มหนึ่งว่าเป็นเด็กที่เก่งด้านวิชาการ นึกภาพง่ายๆ ถึงเด็กเก่ง เด็กที่จะสอบผ่าน ได้เหรียญรางวัล สอบแข่งขันชนะ ถ้าเรามีรูปแบบการศึกษาแบบนั้น เราจะมีเด็กที่เป็น Poor Students เยอะมากเลย” พฤหัสกล่าว

อีกมุมหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้มองระบบการศึกษาเป็นมาตรฐานเดียว หรือในรูปแบบการแข่งขัน ถ้าเป็นการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง การเรียนรู้ไม่ได้แปลว่าจะต้องเกิดขึ้นในห้องเรียนแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่เด็กๆ เรียนรู้ได้จากทุกอย่างรอบตัว ไม่ว่าในทุ่งนา ในป่าชุมชน หรือในตลาดสด

“ผมคิดว่า ถ้าเรามีมุมมองการศึกษาแบบนั้น เด็กของเราก็อาจไม่ใช่ Poor Students ก็ได้ แต่ประเด็นคือ เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ระบบการศึกษาแบบเดิมที่ถูกออกแบบมาให้เราแข่งขันและมีมาตรฐานเดียว เป็นผลผลิตของศตวรรษที่ 19 ขณะที่โลกก็เปลี่ยนมาถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่เรายังต้องสมาทานวิธีการศึกษาระบบแข่งขันแบบนั้นอยู่ ก็เป็นเรื่องน่าคิด” พฤหัสกล่าว

เราจะพบว่า Poor Students ในนิยามแบบกว้างจะมีขนาดใหญ่โตมาก เพราะไม่ได้นับเฉพาะเด็กยากจน พฤหัสยกตัวอย่างเด็กชนชั้นกลางในเมืองที่ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า อัดตัวเองเข้าไปในรถ กินข้าวในรถ ฝ่ารถติดสองชั่วโมงเพื่อไปโรงเรียน เขามองว่าเด็กเหล่านี้ก็เป็น Poor Students ด้วยเช่นกัน

“สิ่งสำคัญที่มากกว่าการเปลี่ยนแปลงการสอน นอกจากเริ่มต้นจากห้องเรียนและครูแล้ว เราต้องไปให้ถึงระบบ นิเวศ หรือโครงสร้างของมัน เพราะต่อให้เราเปลี่ยนแปลงห้องเรียนแค่ไหน ต่อให้เราเป็นครูที่ดีแค่ไหน แต่เมื่อระบบมันยังเป็นแบบนี้อยู่ เราก็ยังไปได้ไม่ถึงไหน

“ฉะนั้น ต่อให้เราพยายามจะเปลี่ยนแปลงห้องเรียนแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ต้องไปเจอระบบการแข่งขันเหมือนเดิม มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ผมว่าจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจและผมก็เห็นว่าเพื่อนๆ หลายคนในที่นี้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนของตัวเองแล้วก็สร้างกระบวนการที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ขึ้น

พรรณชมพู วิสิฐธนวรรธ นักศึกษามหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ สหรัฐอเมริกา แลกเปลี่ยนว่ารู้สึกประหลาดใจพอสมควร เพราะไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะขยายความคำนี้ แง่หนึ่งรู้สึกว่าทำให้หนังสือใช้ได้ในวงกว้างมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็อยากเข้าใจปัญหาของนักเรียนกลุ่มยากจนขาดแคลนให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน

จากนั้นพรรณชมพูเล่าถึงช่วงเรียนปริญญาตรี เธอมีโอกาสกลับบ้านที่อุดรธานี และได้ทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนแถบชานเมือง ครูและ ผอ. ที่นั่นพูดเหมือนในหนังสือว่า “อย่าคาดหวังกับเด็กที่นี่มากเกินไปนะ เดี๋ยวจะผิดหวัง” เมื่อได้ฟังก็ตกใจ แล้วพอเข้าไปทำงานกับเด็กก็แปลกใจยิ่งขึ้น เพราะพบว่าเด็กๆ มีความเพียรพยายามและความคิดเชิงบวกกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่วิชาเรียน

เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า มีเด็กชายคนหนึ่งเป็นเด็กดื้อของห้อง ทุกวันหลังเลิกเรียนและเสาร์อาทิตย์เขาจะวิ่งวันละหลายกิโลเพื่อฝึกซ้อมเป็นนักกีฬาขี่ม้า เพราะที่บ้านพ่อเป็นนักกีฬาขี่ม้า

“สงสัยว่าเวลาที่เด็กแบบนี้มีความเพียร ความคิดเชิงบวกกับอะไรอย่างอื่นที่อยู่นอกโรงเรียน แต่ไม่ได้มีทัศนคติแบบนั้นอยู่ในโรงเรียน มันแปลว่าอะไร ในเมื่อมิติอื่นในชีวิต เขามีความเพียรพยายามและความคิดเชิงบวก อยากทราบว่ามีการเปรียบเทียบไหมว่า growth mindset แบบ non-academic กับ academic ของนักเรียนเป็นอย่างไร เพราะ growth mindset ก็อาจเป็นภาพสะท้อนสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้เหมือนกัน”

“เป็นเรื่องปกติถ้าเด็กในไทยจะมี growth mindset แค่ 43 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นอีกเรื่องเลยถ้า growth mindset ในเรื่องอื่น เช่น การเรียนดนตรี หรือการเล่นกีฬาของเขาอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ แล้ว growth mindset ด้านการเรียนอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเด็กๆ มีปัญหากับการเรียนในโรงเรียนมาก” พรรณชมพูตั้งข้อสังเกต

อนุสรณ์ นิลโฉม โรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้า จ.เลย เล่าว่าจากประสบการณ์การสอนในโรงเรียนขยายโอกาส ปัญหาที่พบคือการเรียนการสอนยังส่งเสริมด้านวิชาการเป็นหลัก

“ส่วนมากระบบการศึกษาของเรามุ่งหวังแต่เพียงเรื่องวิชาการ เอาเด็กเรียนเก่งที่ต้องการเรียน แต่ถ้าเด็กมุ่งหวังทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เช่น นักกีฬา อย่างเช่นกีฬาขี่ม้า ผมคิดว่าเด็กส่วนมากอยากได้ทักษะชีวิตมากกว่า แต่เราไม่ค่อยส่งเสริมเรื่องนี้”

อนุสรณ์คิดว่าสาเหตุอยู่ที่ครูติดกรอบเรื่องวิชาการและแรงจูงใจ มองว่าถ้าเด็กเก่ง แข่งขันได้ ถ้าครูใช้แรงบันดาลใจในการสอนเด็ก ก็จะเห็นว่า เด็กต้องการทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ แล้วหันมาพัฒนาเรื่องนี้แทน

“ผมคิดว่า ครูต้องเป็นผู้ที่เริ่มใช้แรงบันดาลใจในการสอนมากกว่าใช้แรงจูงใจ เพราะเด็กมีแรงบันดาลใจที่จะทำให้สำเร็จอยู่แล้ว ผมคิดว่าเมืองไทย ต่อให้ใช้หลักสูตรใหม่ล่าสุดที่บอกว่าเรียนในฐานสมรรถนะ แต่ยังใช้การประเมินแบบเดิม ดูแค่คะแนน ดูเกรด ดูตัวชี้วัด ไม่เคยดูความจริงเลยว่าเราผ่านระบบที่ให้นักเรียนเรียนผ่าน STEM หรือทักษะในศตวรรษที่ 21 จนมาถึงฐานสมรรถนะ แต่ยังใช้กระบวนการประเมินแบบเดิมๆ มันก็ไม่มีผลอะไร เราก็ต้องมีวิธีการที่ใหม่ขึ้น มีวิธีคิดที่ใหม่ขึ้น เพื่อให้ฐานการเรียนรู้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับศตวรรษที่ 21 ด้วย” อนุสรณ์กล่าว

 

แลกเปลี่ยนประสบการณ์ “เข้าถึง+เข้าใจ” นักเรียนเปราะบาง

 

หลังจากปูพื้นเนื้อหาหนังสือ “สอนเปลี่ยนชีวิต” พร้อมขยายนิยาม “Poor Students” ว่ามีความหลากหลาย ก็เปิดโอกาสให้ครูและผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในห้องเรียนซึ่งทุกคนน่าจะมีโอกาสสอนนักเรียนกลุ่มเหล่านี้มาบ้าง

 

+ สร้าง “ส่วนร่วม” ด้วยการเชื่อมโยง

ฟาตีมะห์ มุเสะ โรงเรียนเตชะปัตตยานุกูล จ.ปัตตานี เป็นครูที่โรงเรียนประจำจังหวัด สอนมัธยมปลายและเป็นครูที่ปรึกษานักเรียนมัธยมปลายด้วย เธอเล่าว่ามีโอกาสเจอนักเรียนกลุ่มเปราะบางพอสมควร

“ถ้าเป็นนักเรียนที่ปรึกษาเราจะรู้จักนักเรียนลึกหน่อยว่าที่บ้านของนักเรียนเป็นอย่างไร แต่พอเป็นนักเรียนที่สอนแต่ละรายวิชา เราจะไม่รู้จักเขามากขนาดนั้น ก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน คือพอไปเจอเขานอกคาบเรียน เขาเล่นกีฬาเก่งมาก เล่นบาสได้แชมป์เยอะมาก แต่พออยู่ในห้องเขากลับหลับ ไม่มีความสุข และหดหู่มากในการเรียน”

เมื่อเจอปัญหานี้ ฟาตีมะห์ก็ได้กลับมามองว่า นักเรียนแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ตัวชี้วัดของทุกคนคงไม่ได้เหมือนกันหมด เพราะแต่ละคนมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ความต้องการย่อมแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าครูสามารถเสริมนักเรียนได้ในเรื่องที่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร ก็ช่วยเสริมเนื้อหาในลักษณะที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเขา ก็ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนได้มากขึ้น

“อย่างเช่น มีนักเรียนที่ชอบวงเกาหลีมาก เราก็เสริมว่า จริงๆ แล้ว ในมิวสิกวิดีโอที่นักเรียนชอบ เขาพูดถึงวรรณกรรมเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วยนะ เขาก็จะสนใจ แล้วไปศึกษาต่อยอดเองได้ ช่วยเพิ่มแรงจูงใจและทำให้ตั้งใจเรียนในเนื้อหามากขึ้น”

อีกกรณีที่เจอคือ นักเรียนที่ปรึกษาซึ่งอยู่ในกลุ่ม Poor Students ต้องช่วยแม่ขายข้าวแกง หรือช่วยพ่อแม่กรีดยางตอนเช้า “ยิ่งช่วงโควิด นักเรียนก็จะไลน์มาบอกว่า ครูๆ ผมเข้าเรียนออนไลน์ใน DLTV ไม่ได้นะ เพราะต้องไปช่วยพ่อแม่ตอนเช้า แต่ยังไงผมจะมาดูย้อนหลัง”

นักเรียนกลุ่ม Poor Students ที่ฟาตีมะห์เจอนั้นมีทั้งกลุ่มที่มี growth mindset ซึ่งมีทัศนคติที่ดีที่จะสู้ชีวิตต่อ หรือค้นคว้าหาทางให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นโดยรับผิดชอบกับที่บ้านได้ด้วย กับอีกส่วนที่เธอเคยเจอคือกลุ่มที่ยังติดกับ fixed mindset ซึ่งดูจะยอมแพ้ต่อโชคชะตาไปเลย โดยมองว่า ชีวิตฉันก็คงแค่นี้แหละ แค่เรียนไปวันๆ ให้จบเท่านั้นเอง

 

+ ตั้งคำถามด้วยความเข้าใจ

ฐิตารัตน์ พันธุ์ชนะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แลกเปลี่ยนว่าลูกศิษย์ระดับอุดมศึกษาของเธอเป็นเด็กที่ “ซิ่ว” มาจากมหาวิทยาลัยอื่น และกำลังตัดสินใจจะลาออก เธอในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาได้ฟังก็ถามคำถามหนึ่งที่อาจสะกิดใจจนสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจของลูกศิษย์ในวันนั้น

“เราถามว่าทำไมถึงไม่เรียน เขาบอกว่าเรียนไม่ไหว เราเลยถามคำถามหนึ่งซึ่งอาจจะเปลี่ยนชีวิตเขาก็ได้ว่า ถ้าลาออกแล้วไปทำอะไรต่อ เขาบอกว่า ก็อาจจะเริ่มใหม่ เราก็ถามต่อว่า แน่ใจนะว่าเริ่มใหม่แล้วได้ผล ไม่ใช่ว่าต้องเริ่มใหม่ไปทุกครั้ง ทำไมไม่อดทนแล้วก็สู้ต่อดูก่อนล่ะ”

“เราก็รับฟังความลำบากของเขา เข้าอกเข้าใจเขาแล้วก็บอกว่า ก็อดทนนะ ที่อื่นอาจจะลำบาก ที่นี่ก็น่าจะลำบากเหมือนกัน แต่เราเป็นกำลังใจให้ อยู่ด้วยกันจนจบ” ฐิตารัตน์กล่าว

นักศึกษาที่เกือบซิ่วอีกรอบเปลี่ยนใจมาแล้วหลายคน ทุกวันนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเธอ และเลือกฐิตารัตน์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิจัย ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา เธอรู้สึกสบายใจที่มีโอกาสสานสัมพันธ์ รวมถึงได้เห็นนักศึกษาสานสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นจนเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

 

+ สู้กับความจนของหลักสูตร

สราวุฒิ พลตื้อ โรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นครูที่ดูแลนักเรียนที่กำลังจะจบ ม.3 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องผลการเรียน 7-8 คน ปัญหาที่พบคือ 7-8 คนนี้อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กของชั้น ม.3 แต่ไม่ยอมตอบโต้อะไร เป็นผู้รับอย่างเดียว เรื่องงานต่างๆ ครูแต่ละรายวิชาบอกว่าแจ้งไปแล้ว แต่นักเรียนกลุ่มนี้ไม่ยอมขยับ มีขยับบ้าง 3-4 คน

เหลืออยู่ 4-5 คนที่สราวุฒิต้องเข้าไปพูดคุย ปรากฏว่า นักเรียนกลุ่มนี้อยากสร้างพื้นที่ส่วนตัวเพื่อสื่อสารกัน เขาเลยชวนว่า ถ้าอย่างนั้นลองสร้างกลุ่มเฉพาะ 4-5 คนนี้ขึ้นมา พอสราวุฒิเปิดกลุ่มให้ นักเรียนก็เริ่มดึงกันเข้ามาเอง แล้วก็สื่อสารกันมากขึ้น

“น่าสนใจที่ว่า เด็กกลุ่มนี้ไม่ยอมทำงานที่เป็นวิชาการในการแก้ผลการเรียนเลย คือครูให้ทำงานง่ายก็ไม่ยอมทำ คือ งานเขียน งานคำนวณ งานที่ต้องใช้ทักษะวิชาการ พวกเขาไม่ยอมรับ จนต้องมีการต่อรองกัน บอกว่าจะขอทำงานที่เป็นทักษะอย่างเดียว ในหลายๆ รายวิชาก็ต้องเปลี่ยนเพื่อให้เด็กได้ทำงาน”

“ผมว่าตรงนี้น่าสนใจมาก คือเรียนอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเวลาวัดผลแล้วเขาไม่ผ่าน กระบวนการแก้ก็เป็นการแก้ที่ไม่ตรงกับการวัดผล แต่ก็ต้องทำให้เด็กได้ผล ซึ่งผมมองว่า นี่คือความจนของหลักสูตรที่ไม่สามารถช่วยเด็กได้ เมื่อเราปล่อยให้ติดในบางรายวิชา เด็กก็จะติดกันเยอะมาก ใน 4-5 คนนี้บอกว่าจะออกไปเฉยๆ ผู้ปกครองต้องโทรกลับมาบอกว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกเขาได้เรียนต่อมัธยมปลาย จากนั้นลูกเขาน่าจะคิดได้ ก็เลยมาร่วมกันหาหลายๆ วิธี” สราวุฒิมองว่า หลักสูตรน่าจะยืดหยุ่นและมีทางออกสำหรับเด็กๆ ที่หลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่นี้

 

+ “จน” เพราะขาดโอกาสตัดสินใจ

ในมุมของครูผู้ผลิตหมอฟัน อัจฉรา วัฒนาภา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์น่าสนใจ หลังจากอ่าน “สอนเปลี่ยนชีวิต” เธอเห็นเลยว่าถ้า Poor Students ขยายความแบบนี้ จะไม่ใช่แค่ความยากจน แต่เป็นเรื่องทักษะชีวิตที่เด็กๆ ไม่เคยมีโอกาสตัดสินใจเองด้วยซ้ำ

“ปัญหาในห้องเรียนที่พบ ส่วนใหญ่มาจากความคาดหวังของผู้ปกครอง เพราะพ่อแม่อยากให้เรียนหมอฟัน แต่เด็กบางคนไม่ได้อยากเรียน แต่ว่าถูกกรอบจากครอบครัวหรือสังคมบอกว่า ถ้าคุณเป็นลูกที่ดี อนาคตจะดี คุณต้องเรียนหมอฟัน”

“เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักได้รับการชื่นชมเพราะมีเกรดที่ดีด้วย แล้วเด็กที่ได้เกรดดีจะไปอยู่รวมกัน บางทีก็จะเจอภาวะกดดัน เพราะถ้าได้เกรดไม่ดี การจัดการอารมณ์ การจัดการด้านต่างๆ จะมีปัญหาตามมา บางคนที่เรียนในห้องเรียนไม่ได้ ดูเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยเรียนรู้เลยว่ามุมมองคนอื่นเป็นอย่างไร เราก็ต้องเข้ามาดูแล”

อัจฉราเล่าถึงนักศึกษาที่ปรึกษาคนหนึ่งที่พ่ออยากให้เรียนทันตแพทย์ ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากเมื่อเรียนไปแล้วเกรดค่อยๆ ต่ำลง ก็จำเป็นต้องมานั่งคุยว่าเกิดอะไรขึ้น

“นอกจากคุยกับเด็ก ก็ต้องคุยกับผู้ปกครองเลยว่า ตอนนักศึกษาคนนี้มาเรียน เขาทุกข์มากนะ แล้วเขาไม่ได้อยากเรียนแบบนี้ พ่อรู้สึกอย่างไร คือต้องสาวไปถึงราก แล้วไปรับฟัง สุดท้ายก็เปิดวงคุยในครอบครัว” เมื่อทุกคนได้พูดคุยและรับฟังกัน ซึ่งเห็นเลยว่าพ่อตั้งความหวังไว้มาก กลายเป็นว่าลูกก็ตัดสินใจเรียนต่อและปรับตัวมากขึ้น

แม้สุดท้ายเด็กคนนี้จะไม่ได้จบหมอฟัน ด้วยปัญหาของระบบบางอย่าง แต่วันที่เขาไม่ได้เรียนหมอฟัน อัจฉรากลับรู้สึกว่า เธอไม่เคยเห็นใบหน้าที่เขายิ้มได้ขนาดนี้มาก่อนตั้งแต่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเขามา

“ความรู้สึกตอนแรกก็คือเราก็พยายามดูแลเขา พอเขาไม่จบ เราก็เสียใจ แต่วันที่เขามาหาแล้วบอกว่า เขาจะไปเรียนอย่างอื่นต่อ เรารู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันที่เขามีความสุขมาก แล้วรู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมา ไม่ต้องดูผลหรอกว่าเขาต้องจบหมอฟัน แต่รู้สึกว่าเขามีความสุขที่สามารถเลือกชีวิตของเขาเองได้ จากนั้นเขาก็ไปเรียนเป็นเชฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามีความสุขกับมัน” อัจฉรากล่าว

 

Poor Students หรือ Poor Society?

 

“จริงๆ แล้ว Poor Students อาจไม่มีก็ได้ อาจจะมีแต่ Poor Education หรือ Poor Society”

“หมายความว่า ระบบมันไม่ตอบรับศักยภาพอันหลากหลายของผู้เรียน เด็กๆ เหล่านี้อาจไม่ต้องถูกตัดสินว่าเป็น Poor Students ก็ได้ ถ้าเรามองคำนี้ในความหมายที่กว้างออกไป มันอาจจะไม่เฉพาะเด็กที่ต้องเรียนเก่งในเชิงวิชาการ แต่อยู่ที่มันถูกให้คุณค่าอย่างไร” พฤหัสตั้งข้อสังเกตหลังจากฟังผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ยังมีการให้คุณค่าที่ไม่เท่าเทียมกัน เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงค่านิยมขึ้น พฤหัสยกตัวอย่างเช่น เด็กเก่งต้องไปเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ต้องไปเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ส่วนเด็กอาชีวะถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นเด็กเกเร ชอบตีกัน หรือเรียนไม่เก่ง เป็นกากเดนมา มีการให้คุณค่าและตีตราในลักษณะนี้อยู่

“แล้ว growth mindset จะเกิดได้อย่างไร ถ้ามีการตีตราแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การช่วยเด็ก แต่จะสู้กับค่านิยมของสังคมอย่างไร นี่ก็เป็นอีกโจทย์ที่ท้าทาย”

จีรวุฒิ ล้วนกลิ่นหอม ฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย กล่าวว่าโดยภาพรวม เด็กอาชีวะอาจถูกมองว่า ขาดโอกาสบางอย่างรวมถึงการยอมรับเรื่องการเรียน เด็กที่มาเรียนจะรู้อยู่แล้วว่าตนเองถนัดหรือมีความสามารถเรื่องทักษะปฏิบัติมากกว่า

“สิ่งที่ผมทำคือ พยายามให้เขาเห็นภาพว่าคนเรามีความสามารถที่หลากหลาย และเมื่อเขาเด่นเรื่องทักษะเชิงปฏิบัติ ก็ใช้ทักษะเชิงปฏิบัติมาเป็นตัวสร้างความภาคภูมิใจ ให้เขามั่นใจว่า ทักษะที่เขามีก็ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้”

เวลาเรียนตอนแรกๆ ก็พยายามให้เขาค้นหาความสามารถ จุดเด่น และศักยภาพตัวเองก่อน อาจจะชวนให้เห็นศักยภาพตัวเองก่อนเริ่มเรียน แล้วเชื่อมโยงว่า เมื่อเรียนจบไป เขาเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในยุค 4.0 ซึ่งเห็นว่าทักษะเชิงปฏิบัติมีความสำคัญ

“เมื่อเขาเห็นช่องทางการทำงาน เห็นอาชีพในอนาคตอย่างนี้ เขาก็จะเห็นว่า ตนเองมีช่องทางที่จะเรียนและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พอจบออกไปก็มีตลาดรองรับอย่างไรบ้าง ก็ยิ่งทำให้มั่นใจและเชื่อมั่นในการเรียน ส่งผลให้เขาเรียนในสายอาชีพไปจนจบได้ง่ายขึ้น” จีรวุฒิกล่าว

 

 

เมื่อครูต้องช่วยเหลือเด็กยากจนขาดแคลน

 

สำหรับโจทย์ที่พรรณชมพูเปิดประเด็นไว้และน่าสนใจมากคือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานะทางบ้าน เศรษฐฐานะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดชีวิตเด็กนักเรียนหลายอย่าง ฉะนั้น ในกลุ่มเด็กจนในความหมายจนด้วยทรัพยากรจริงๆ เด็กกลุ่มนี้ต้องการการดูแล การกระตุ้น การช่วยเหลือจากครูในแบบที่แตกต่างจากเด็กกลุ่มทั่วไปที่พอมี หรือพร้อมระดับหนึ่งอยู่ไหม

“ผมคิดว่าคุณูปการอย่างหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะให้ก็คือชี้ไปที่ปัญหาของเด็กกลุ่มยากจนจริงๆ ที่ผ่านมาหนังสือหลายเล่มต่างพูดถึงทางออกของโลกการศึกษาแบบเท่ากันคือ ภายใต้ข้อสมมติที่บอกว่า ทุกคนเท่ากันจริงๆ แต่ถ้าในทางปฏิบัติมีเด็กกลุ่มหนึ่งจนที่สุด เราต้องรับมือเด็กกลุ่มนี้ในแบบที่ต้องใช้พลังมากเป็นพิเศษไหม ด้วยรูปแบบพิเศษไหม ด้วยพลังแบบพิเศษไหม และพลังแบบพิเศษนี้มันทำอะไรได้บ้าง” ปกป้องกล่าว

ธีรนุช สุมขุนทด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เล่าว่านักศึกษาที่เธอสอนส่วนใหญ่มีทั้ง ปวส. ปริญญาตรี และเทียบโอนปริญญาตรี

“นักศึกษากลุ่ม Poor Students ที่เจอคือมีฐานะยากจนจริงๆ คือได้เงินมาเรียนสัปดาห์ละ 300-500 บาท แล้วโน้ตบุ๊กหรือทรัพยากรต่างๆ ที่เด็กใช้ในการเรียนก็ค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก บางคนก็ไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้”

ทางที่เธอเคยแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ เวลาจัดกลุ่มทำกิจกรรม ก็ถามว่า เพื่อนคนไหนมีโน้ตบุ๊กหรืออินเทอร์เน็ตให้ใช้ได้ ก็ให้เด็กไปเข้ากลุ่มกับเพื่อนคนนั้น หรือบางครั้งก็ให้ใช้ของครู แต่ยอมรับว่าอุปกรณ์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

“ปัญหาที่เจอคือเด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยทำอะไรเพราะแต่ละกิจกรรมต้องใช้เงิน กลายเป็นว่า จะทำอะไรก็ได้ให้ประหยัดเงินมากที่สุด อีกอย่างคือเด็กต้องไปทำงานพิเศษ เช่น เสิร์ฟอาหาร ขายของ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าเรียน นักศึกษาหลายคนพอเราสั่งงานไป ก็จะบอกว่า ไม่มีเวลาทำงานของเรา เพราะเรียนเสร็จต้องไปทำงานพิเศษ แล้วพอจะให้ร่วมกิจกรรมหรือทำอะไร เด็กก็ไม่ค่อยเข้าร่วม” ธีรนุชกล่าว

อีกปัญหาสำคัญที่เจอคือ เด็กจะคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ แล้วไม่กล้าเสนอความคิดเห็น เธอสังเกตจากช่วงทำกิจกรรม นักศึกษากลุ่มดังกล่าวมักไม่กล้าออกความเห็น เมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน

 

“สอนเปลี่ยนชีวิต” สู่ห้องเรียนจริงเพื่อเด็กทุกคน

 

หลังจากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “Poor Students” กันมาพอสมควรในหลากหลายบริบทแล้ว แต่ละคนนึกถึง “Rich Teaching” หรือกิจกรรมพลิกห้องเรียน เพื่อสอนเปลี่ยนชีวิตพวกเขาอย่างไรบ้าง

พฤหัสยกตัวอย่างกิจกรรมเชิงบวกง่ายๆ ที่เคยทำแล้วได้ผลดีมาก สามารถทำได้ในทุกๆ ห้องเรียน ไม่ว่าช่วงโฮมรูม หรือช่วงเย็นก่อนกลับบ้าน

“ให้แจกโพสต์-อิทไปคนละหลายๆ อัน แล้วให้น้องๆ ไปแบ่งกันกลุ่มละ 5 คน ลองช่วยสะท้อนเพื่อนหน่อยว่า ที่รู้จักกันมา เพื่อนคนนี้มีอะไรเป็นมุมที่ดีที่เราเห็น เช่น มีน้ำใจชอบช่วยเหลือเพื่อน ตั้งใจเรียน มีเป้าหมายชัดเจน ให้เขียนหนึ่งคุณสมบัติ หนึ่งโพสต์-อิท เสร็จแล้วเอาไปติดให้เพื่อนที่ตัวเขาเลย คือจะนั่งกันในวงเล็กๆ แล้ว empower กัน ชื่นชมเพื่อนว่า อะไรที่เป็นข้อดีที่เราเห็นในตัวเพื่อนคนนี้

“กิจกรรมนี้มีทั้งสองมุม คือฝึกการมองแง่มุมที่ดีของคนอื่น และบางครั้งการที่คนอื่นสะท้อนแง่มุมที่ดีของเรา บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเรามีแง่มุมที่ดี มันช่วยให้กำลังใจเรามากๆ เลย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและทำได้ในทุกๆ ห้องเรียน” พฤหัสกล่าว

ทวีศักดิ์ มโนสืบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.ตาก เห็นว่า เอริก เจนเซน ได้วิจัยและแนะนำเรื่อง 7 ชุดความคิดเอาไว้ ซึ่งเขาเห็นว่าควรนำ 7 ชุดความคิดนี้เข้ามาทำกิจกรรมกลุ่มได้ตลอดทั้งเทอม

“แนวคิดของช่างจะคิดเป็น input–process–output ในเมื่อผลลัพธ์เราต้องการคนที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่วิชาการและสังคม นอกจากด้านวิชาการ เราจึงควรเสริมทักษะชีวิตสังคมให้เขา ทำอย่างไรให้เขามีวัคซีนเพื่อจะเผชิญโลกได้”

“เราจะสังเกตว่าครูอาจารย์ในอดีตเน้นเรื่องวิชาการ ทำอย่างไรก็ได้อัดๆๆ วิชาการให้จบตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา ขณะที่วิธีการเรียนการสอนของผมจะสอนวิชาการหลักๆ แล้วสั่งงานให้เด็กไปทำเพิ่มเติมในสิ่งที่จำเป็น จากนั้นท้ายชั่วโมงจะมีกิจกรรม active learning หรือพอมีเรื่อง 7 ชุดความคิดและกิจกรรมต่างๆ ก็คิดว่าจะนำสิ่งเหล่านี้เสริมเข้าไปในห้องเรียน” ทวีศักดิ์กล่าว

“การนำชุดความคิดสานสัมพันธ์ไปใช้จริงก็คือ เวลาให้นักศึกษาทำงานจะพยายามให้ทำงานเป็นทีม หรือจับคู่บัดดี้ มีอะไรจะได้ช่วยเหลือกัน แล้วสำคัญที่สุด พอสอนเรื่อง input–process–output จะต้องมีผลสะท้อนกลับมา สำคัญที่สุดก็คือผลสะท้อนของข้อมูล” จุดนี้ทวีศักดิ์ให้ความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้นักศึกษาประเมินและพัฒนาตัวเองได้

“จากนั้น ทำอย่างไรให้เขามุ่งสู่ความสำเร็จ ถ้าเป็นทางช่างต้องบอกเลยว่า ถ้าคุณเรียนแล้ว ต้องประยุกต์ใช้ได้ ไม่ใช่ว่าเรียนไปๆ แค่จบ เราก็จะต้องกระตุ้นให้เขามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้กับมัน”

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามเน้นที่กิจกรรมมากกว่าเนื้อหาแล้ว เขาก็ลองถามนักศึกษาอยู่บ่อยๆ ว่ารู้สึกอย่างไรกับการเรียน เบื่อหน่ายหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนได้ทันท่วงที

จีระนัน เสนาจักร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้เข้าร่วมทั้งกิจกรรมเวิร์กช็อปและให้ความสนใจวงคุย Book Community แลกเปลี่ยนในประเด็นการนำชุดความคิดสานสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมมาใช้จริงในห้องเรียนได้อย่างน่าสนใจ

“เราทำงานอยู่คณะครุศาสตร์ซึ่งผลิตครู แล้วใช้วิธีการนี้บ่มเพาะนักศึกษาครู เช่น บอกเขาว่า เวลาจบออกไปเจอนักเรียน สิ่งสำคัญคือการมีปฏิสัมพันธ์ ในวันแรกที่ไป ทำอย่างไรให้นักเรียนรักคุณ หมายถึงว่า เข้าหาเด็กได้ มีปฏิสัมพันธ์ จำชื่อเด็กได้ สมมติไปโรงเรียน ถ้าจำชื่อเด็กภายในสองสัปดาห์ได้ คุณก็จะถามเด็กโดยใช้ชื่อ หรือถ้าเจอเด็กอยู่ข้างนอก คุณบอกชื่อเด็กถูก เด็กก็จะรู้สึกดี” จีระนันกล่าว

ขณะที่การถามความต้องการ ก็สอดแทรกไปในการทำกิจกรรม เช่น เวลาเริ่มต้นรายวิชา จะถามถึงความต้องการ ความคาดหวัง หรือความรู้เดิมเกี่ยวกับคอร์สนี้ของผู้เรียน เพื่อจะได้ไม่ต้องสอนซ้ำ ขณะเดียวกัน การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญมาก จีระนันให้นักศึกษาช่วยออกแบบในขณะเรียน เพื่อให้เอาไปใช้ได้จริง

เธอยกตัวอย่างการออกข้อสอบกลางภาค แทนที่จะถามเป็นข้อๆ เธอเลือกถามว่านักศึกษาได้เรียนรู้อะไรมาตลอดครึ่งเทอม รู้สึกอย่างไรตั้งแต่ต้นเทอมถึงกลางเทอม แล้วยังต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มอีกบ้างเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า ส่วนคำตอบจะมาในรูปแบบใดก็ได้ ไม่บังคับให้เขียนตอบเท่านั้น

“เชื่อไหมว่าแต่ละคนบอกเลยว่าตอบได้มากกว่าที่เราออกข้อสอบอีก แล้วเด็กรู้สึกดีมาก เขาบอกว่าการทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วม ที่เขาออกแบบเอง หรือได้คุยกับเพื่อน ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เขาอาจไม่กล้าถามครูในประเด็นนั้นๆ แต่เมื่อรวมกลุ่มกับเพื่อน เขาถามเพื่อนมากขึ้น แล้วพอได้อธิบายให้กันและกันฟัง ต่างคนก็เข้าใจมากขึ้น

“เราบอกว่าวิธีการเหล่านี้ คุณเอาไปใช้ตอนเป็นครูได้ เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนตอบเหมือนๆ กัน แล้วเขาจะเห็นว่าเพื่อนตอบไม่เหมือนเขา เราตั้งข้อสอบกลางภาค ทุกคนแชร์ให้กันดู จะตอบคำถามผ่านช่องทางอะไรก็ได้ บางคนทำพาวเวอร์พอยต์ บางคนใช้เฟซบุ๊ก บางคนทำอีบุ๊ก แล้วก็แลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละคนทำอย่างไร” จีระนันกล่าว

 

วงคุยต่อ-คิดต่อจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน ปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญที่ว่า ถ้าอยากให้ “Rich Teaching” ทำงานได้จริง ช่วยเปลี่ยนชีวิต “Poor Students” ได้อย่างมีพลังจริงๆ เราต้องการสิ่งแวดล้อม สถาบัน หรือกฎกติกาแบบไหน เราต้องการนโยบายสาธารณะ บรรยากาศในโรงเรียนและสังคมแบบไหน ครูจึงจะทำหน้าที่พลิกห้องเรียนได้อย่างที่ครูควรจะได้ทำจริงๆ

 

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่