‘สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คำตอบห้องเรียนไทยในศตวรรษที่ 21?

 

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง, วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, อภิรดา มีเดช

ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราจำเป็นต้องแก้ไขที่ระบบ แต่การแก้ไขที่ระบบอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เมื่อวัฒนธรรมหรือแนวคิดบางอย่างที่แฝงอยู่ในระบบมีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาและห้องเรียนไทยไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องก้าวข้ามระบบและแนวคิดเดิม แล้วมองหาทางออกใหม่ๆ ให้กับการศึกษาไทย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชยประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute – TDRI) คือหนึ่งในผู้ที่ติดตามนโยบายสาธารณะและเอาจริงเอาจังด้านปฏิรูประบบการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องยาวนาน มาร่วมพูดคุยกับ bookscape ว่าด้วยการหาทางออกเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ต่อยอดจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต โดยเอริก เจนเซน ครูและนักการศึกษาชื่อดัง

หนึ่งในโครงการด้านการศึกษาน่าสนใจที่ TDRI และ ดร.สมเกียรติมีส่วนร่วมผลักดันคือ “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งทดลองทำจริงแล้วใน 266 โรงเรียนตั้งแต่ปี 2562 นี่คือพื้นที่ทดลองทางการศึกษาที่มอบอิสระให้โรงเรียนและครูได้ลองใช้แนวคิดและวิธีการใหม่สร้างการเรียนรู้คุณภาพ เพื่อประโยชน์และความสำเร็จของเด็กทุกคน

 

อยากให้อาจารย์เล่าถึงโครงการที่ TDRI ร่วมทำเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาของบ้านเรา

สิ่งที่ TDRI ทำคือช่วยออกแบบ ติดตาม ประเมินผลและถอดบทเรียน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ทุกวันนี้ทุกคนเชื่อกันหมดแล้วว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหา และตัวอย่างหนึ่งก็คือ ระบบการศึกษาซึ่งเต็มไปด้วยกฎระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินอุดหนุน การทดสอบ การประเมินผล ทั้งระบบมันเกาะเกี่ยวไปด้วยกัน และถูกดำเนินการด้วยตรรกะแบบราชการ คือการรวมศูนย์ ทำให้เหมือนกัน ต้องมีมาตรฐานเดียว และติดกับวัฒนธรรมราชการ คือ สนใจกระดาษ ไม่ได้สนใจชีวิตจริงหรือการเปลี่ยนแปลงจริง

 

ระบบรวมศูนย์ที่ใช้มาตรฐานเดียวแบบราชการ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบการศึกษา เพราะการต้องทำทุกอย่างตามเกณฑ์เหมือนกันไม่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือชุดความคิดใหม่ๆ ซึ่งลามมาถึงบรรยากาศในห้องเรียน อาจารย์มองว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

หลังจากทำวิจัยด้านการศึกษามา 4-5 ปี ที่ TDRI เสนอว่าต้องหาสนามทดสอบใหม่ มีคนทำสนามทดสอบใหม่มาเยอะแล้วในเมืองไทย ทำในระดับห้องเรียน มีเครื่องมือสำหรับห้องเรียน มีนวัตกรรมในห้องเรียน มีการทำในระดับโรงเรียน มีเป็นช่วงๆ ตั้งแต่โรงเรียนทางเลือก สมัยคุณพิภพ ธงไชย อาจารย์รัชนี ธงไชย และอีกหลายๆ โรง รวมทั้งโฮมสกูล ตลอดจน มีแนวคิดจากต่างประเทศอย่างโรงเรียนมอนเตสซอรีต่างๆ เข้ามา

นอกจากนี้มีการสร้างนวัตกรรมในระดับโรงเรียน เช่น มหิดลวิทยานุสรณ์ กำเนิดวิทย์ และมาอีกระลอกหนึ่ง เช่น โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนร่วมพัฒนา ที่ต่อยอดมา ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์มากมายทั้งสิ้น เมื่อมองโดยรวม ก็จะเห็นว่าเริ่มจากโรงเรียนทางเลือก ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก มาถึงโรงเรียนวิทยาศาสตร์ และขยายมาจนถึงกลุ่มโรงเรียนที่กระจายในจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 1-2 โรงเรียน ไปจนถึงหลายโรงเรียน

อีกมุมหนึ่งมีกระแสปฏิรูปซึ่งเน้นการแก้กฎหมาย ทำในกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะกระแสปฏิรูปตั้งแต่สมัยปี 2540 สมัยที่ออกกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ และพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่คนปฏิรูปคาดฝันนั้นออกมาต่างกันเยอะ สังคมเองก็ดูเหมือนว่ายังไม่พอใจกับการปฏิรูปที่เกิดขึ้น

สิ่งที่ TDRI และหน่วยงานอีกจำนวนหนึ่งภายใต้ชื่อที่เรียกว่า “ภาคีเพื่อการศึกษาไทย” หรือทีอีพี (Thailand Education Partnership – TEP) เข้าไปเกี่ยวข้องส่วนหนึ่งก็คือ การพยายามนำทุกส่วนมาพบกัน การปฏิรูปในกระทรวงเป็นตัวนำ มีประโยชน์ เพราะกระทรวงเป็นตัวสำคัญ กฎระเบียบจำนวนมากออกโดยกระทรวง การปฏิรูประดับพื้นที่ก็สำคัญ แต่สองส่วนนี้ไม่เคยมาเจอกัน เช่น กลุ่มโรงเรียนทางเลือกกับกลุ่มปฏิรูปกระทรวง ดูคล้ายๆ มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอยู่บ้าง หรืออย่างน้อยไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกัน โรงเรียนทางเลือกจะมองว่าตัวเองไม่อยู่ในกระแสหลักเลย และกลุ่มโรงเรียน STEM ก็มีข้อดีเยอะ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตัวอย่างดีๆ มากมาย แต่มีจุดอ่อนคือขยายผลได้ยาก เช่น โรงเรียนกำเนิดวิทย์เป็นโรงเรียนต้นแบบ ในมุมหนึ่งยอดเยี่ยมมาก แต่ต้องการทรัพยากรมหาศาล

ในเวลาเดียวกันก็เห็นว่ามีคนมีใจอยากพัฒนาการศึกษาจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการศึกษาไทยไม่ได้สิ้นหวังเลย เพราะมีเชื้อดีๆ มีความตั้งใจดีๆ  มีครูดีๆ ข้าราชการดีๆ ก็ยังมี ภาคประชาสังคมอยากปฏิรูปก็เยอะ ภาคธุรกิจอยากช่วยก็เยอะ เงินจำนวนหนึ่งของภาคธุรกิจที่ทำซีเอสอาร์ ก็ลงเรื่องการศึกษา เพราะฉะนั้นมันมีเชื้อดีๆ อยู่มากพอสมควร แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมาเจอกัน จึงมีการตั้งทีอีพีเพื่อนำหลายฝ่ายที่อยากปฏิรูปการศึกษามาทำงานร่วมกัน และร่วมกับรัฐบาล เป็นเวทีหนึ่งที่มีกิจกรรมหลายอย่าง

 

 

การจัดตั้งทีอีพีทำให้หลายภาคส่วนมาคุยกันมากขึ้นเลยไหม และการพูดคุยกันนี้นำมาสู่ทางออกใดเพื่อระบบการศึกษาที่ดีขึ้น

มีภาคส่วนที่หลากหลายขึ้น แต่ก่อนหน้าทีอีพีก็มีคนที่ทำตรงนั้นตรงนี้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์กันมาแล้ว 1-2 ปี คล้ายๆ ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งความคิดก็ตกผลึก มีการเสนอกันว่าเรามาทดลองในระดับที่ใหญ่ขึ้น เราหวังว่าจะขยายผลได้ และต้องไปเปลี่ยนระบบได้ด้วย จึงเป็นที่มาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้จัดการศึกษาแบบใหม่ได้โดยไม่ผิดกฎ ไม่ใช่โรงเรียนทางเลือกที่ตัดขาดจากตัวระบบ เพราะการตัดขาดจากระบบ เป็นธรรมดาที่จะได้บทเรียนเยอะกว่า แต่จะไม่สามารถขยายผลได้โดยง่าย

เมื่อคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันไปเปลี่ยนตัวระบบได้ด้วย จึงเห็นโจทย์ว่า ถ้าการทดลองใหญ่ๆ เราสามารถชวนคนมาร่วมลงทุนได้จำนวนมาก ทั้งเอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ และคนอื่นๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขยายผลได้จริง การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีฐานที่แน่นพอสมควร ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนรัฐมนตรีครั้งหนึ่งแล้วเปลี่ยนนโยบายไป กลายเป็นเพียงโครงการหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ

 

แม้จะมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่ทำให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขึ้นมาแล้ว ระหว่างทางก็น่าจะมีอุปสรรคและข้อกังวลหลายอย่าง ทำอย่างไรจึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะดำเนินต่อไปจนสามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ห้องเรียนได้จริง

สิ่งที่กังวลตอนนั้นคือกระทรวงศึกษาฯ มีโครงการเยอะ และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามรัฐมนตรี เราหวังให้การทำพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีเสถียรภาพพอสมควร จึงผลักดันให้เป็นกฎหมาย เป็นที่มาของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในเดือนเมษายน 2562 อนุญาตให้จัดการศึกษาแบบใหม่โดยที่ระบุว่าพื้นที่ใดจะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คล้ายกับด้านเศรษฐกิจที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ

พอเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแปลว่าแต่ละพื้นที่มีอิสระในการจัดการศึกษาสูงกว่าที่เป็นมาในอดีตอย่างมาก ยังไปไม่ถึงการกระจายอำนาจทางการศึกษา ซึ่งเมืองไทยเคยทดลองแล้ว ก็พบว่าพอดำเนินการไปถึงจุดหนึ่งก็เจอทางตัน มีการโอนโรงเรียนให้ อบจ. จำนวนหนึ่ง สุดท้ายการโอนต่างๆ ก็หยุด ครูจำนวนหนึ่งไม่อยากไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทางนั้นได้ทดลองแล้ว พบว่ามีอุปสรรคเยอะ จึงมาทดลองวิธีใหม่ โดยการทำพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นการกำหนดพื้นที่ระดับจังหวัดขึ้นมา ตอนนี้ที่ดำเนินการอยู่โดยทางทีอีพีเข้าไปช่วยมีสามพื้นที่ ได้แก่ ศรีสะเกษ ระยอง และสตูล แต่ละที่ก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

ระยองเป็นจังหวัดที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง อยู่ใน EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) มีอุตสาหกรรมเยอะ แต่ก็เป็นจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เกิดอาชญากรรมสูงที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย มีปัญหาสังคมเยอะเพราะเศรษฐกิจโต มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ระยองมีพื้นที่ที่ประชาคมระยองเริ่มรวมตัวกัน และมีประชาคมการศึกษาจังหวัดระยองที่ต้องการทำหลักสูตรของจังหวัดของเขาเอง

 

หมายความว่าการเลือกพื้นที่หนึ่งให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำเป็นต้องนำปัจจัยด้านปัญหาและความพร้อมมาพิจารณาร่วมด้วย

ใช่ ดูหลายปัจจัย อย่างศรีสะเกษเป็นจังหวัดหนึ่งที่จนเป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย ขณะที่ระยองมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในประเทศ เพราะระยองเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม ส่วนสตูลก็เป็นจังหวัดที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง ทีอีพีจึงเสนอให้จัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในสามพื้นที่นี้ โดยรัฐบาลเสนอเพิ่มเติมอีกสามพื้นที่คือ เชียงใหม่ กาญจนบุรี และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หลักๆ ที่ทีอีพีเข้าไปช่วยและติดตามผลอยู่ตลอดคือที่ศรีสะเกษ ระยอง และสตูล

 

แต่คนตัดสินใจสุดท้ายก็จะเป็นระดับโรงเรียนใช่ไหมว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่

ใช่ ตั้งแต่แรกเลยว่าจะเข้าโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหรือเปล่า เช่น ที่ศรีสะเกษเขต 4 ก็ไม่ใช่ทุกโรงเรียนในเขต 4 ที่ทำพร้อมกัน ต้องคุยกันว่า หนึ่ง โรงเรียนอยากทำไหม ถ้า ผอ. กับครูบอกไม่เอา ก็ยังไม่ต้องเข้า สำหรับโรงเรียนที่อยากเข้า ทางทีมที่ดูแลจังหวัด ก็คือมูลนิธิสยามกัมมาจลจะเลือกว่าโรงเรียนไหนควรเข้าก่อนหลัง เพราะทำพร้อมกันหมดไม่ไหว

 

ทำอย่างไรต่อกับโรงเรียนที่ยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ มีความพยายามดึงโรงเรียนเหล่านี้มาเข้าร่วมไหม

เรื่องนี้อยู่ในแผนขั้นต่อไป แต่ยอมรับว่าอาจยังไม่ตกผลึกเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์และเป็นแผนที่ไม่ง่าย ก็คือ สมมติว่าปีแรกเรามีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 100 โรงเรียน ก็ตั้งใจว่าให้ 100 โรงเรียนเป็นพี่เลี้ยง และไปช่วยโรงเรียนอื่นในปีต่อไป โดยที่ปีต่อไปควรช่วยโรงเรียนอื่นได้ 4 โรงเรียน แปลว่าปีต่อไปจะเกิดโรงเรียนในโครงการอีก 400 โรงเรียน รวมเป็น 500 โรงเรียน แล้วปีต่อไปก็จะเกิดใหม่ กลายเป็น 2,000 โรงเรียน นี่คือกลไกหนึ่งในการขยายผล แต่คงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการรอบแรกเป็นโรงเรียนที่พร้อมที่สุด

ฉะนั้นจากโรงเรียนที่พร้อมที่สุดก็จะมีพี่เลี้ยงเข้าไปทำให้โรงเรียนเหล่านั้นพร้อมยิ่งขึ้น โรงเรียนพร้อมจะได้ช่วยโรงเรียนอื่นๆ ที่จะเข้ามาต่อไป ก็จะได้อีก 4 เท่า แต่ความเข้มข้นอาจลดลง เพราะเกิดการถ่ายทอดสองชั้น แล้วความพร้อมของโรงเรียนกลุ่มที่สองอาจไม่เท่ากลุ่มแรก ความยากก็คือ จะขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นๆ โดยที่ความเข้มข้นยังคงเดิมได้อย่างไร นี่คือความท้าทายและโจทย์ที่ต้องคิดกันอีกเยอะ ก็ยังอยู่ระหว่างคิดไปทำไปอยู่ครับ

 

แล้วกลุ่มโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการก็มีความหลากหลายด้วยใช่ไหม

ใช่ครับ มีสารพัดขนาดเลย วิธีที่เครือข่ายคัดเลือกโรงเรียนก็คือ ผอ. กับโรงเรียนเอาด้วยและมีใจ และพร้อมจะร่วมมือกัน นี่คือเรื่องสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนระดับจังหวัดจึงจะเข้าร่วมได้

 

เท่ากับว่าโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีอิสระในการออกแบบหลักสูตร โดยไม่ต้องยึดตามหลักสูตรแกนกลางเลย

ใช่ แต่มีขั้นตอนว่าจะทำระดับไหน ในกฎหมายระบุว่าสามารถนำหลักสูตรแกนกลางมาปรับได้ หรือไปไกลกว่านั้นก็ได้ นำหลักสูตรอินเตอร์จากประเทศอื่นมาใช้ก็ได้ เช่น สมมติว่าโรงเรียนมัธยมอยากทำหลักสูตรแบบ IB (International Baccalaureate) ก็ทำได้ อยากทำหลักสูตรแบบอังกฤษก็ทำได้ มีอิสระ อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี

 

เด็กที่เรียนจบจากโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรต่างจากหลักสูตรแกนกลางจะได้รับวุฒิรับรองเหมือนกันไหม

มันมีความซับซ้อน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยปลดล็อกหลักสูตรได้ ทีอีพีก็มองว่า แต่ละส่วนเกาะเกี่ยวเป็นระบบ ถึงเรียกว่าระบบการศึกษา เช่น เมื่อเปลี่ยนตัวหลักสูตรได้ ตำราก็ต้องเปลี่ยนตามหลักสูตร แต่ทุกวันนี้เงินอุดหนุนของรัฐให้โรงเรียนซื้อหนังสือในรายการที่กระทรวงศึกษาฯ กำหนดเท่านั้น กฎหมายจึงไปปลดล็อกให้ซื้อหนังสือแตกต่างจากลิสต์ได้หากสอดคล้องกับหลักสูตร เรื่องการจัดสอบ ถึงแม้ตำราเปลี่ยน หลักสูตรเปลี่ยน แต่ถ้าข้อสอบออกแบบเดิม และต้องไปสอบโอเน็ตแบบเดิม ก็ต้องเปลี่ยนกลับไปหมด ไม่สามารถเปลี่ยนไปข้างหน้าได้ จึงมีการอนุญาตให้ออกข้อสอบแตกต่างได้ ถ้าอยากจะทำ

 

ถ้าเด็กไม่ได้สอบโอเน็ต ความรู้ที่มีจะนำไปใช้เทียบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ไหม

มีวิธีเทียบได้ เช่น มีลูกของทูตหรือนักธุรกิจไปอยู่เมืองนอกแล้วกลับมาเมืองไทยมากมาย ทำไมเข้าโรงเรียนไทยได้ จะเห็นว่ามีแรงต้านอยู่ตลอดเวลาว่า คุณอย่าไปเปลี่ยนระบบ เพราะคุณเอาเด็กไปทดลอง แล้วเด็กจะย้ายโรงเรียนได้อย่างไร เด็กจะเรียนต่อได้อย่างไร ซึ่งจริงๆ เขาทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว ลูกทูตหรือนักธุรกิจก็กลับมาทำได้ ใครๆ ก็ทำได้กันทั้งนั้น แต่พอจะเปลี่ยนระบบ ก็จะมีแรงต้านจากระบบเก่า กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต

หลักสูตรเปลี่ยนได้ ตำราเปลี่ยนได้ ข้อสอบเปลี่ยนได้ การประเมินผล การเข้าไปรับรองคุณภาพโรงเรียน ก็ไม่ต้องทำแบบ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) ก็ได้ และไม่ต้องทำโครงการที่กระทรวงศึกษาฯ อยากให้ทำ หรือกระทรวงอื่นอยากให้ทำก็ได้ อะไรที่เห็นว่าเหมาะสม เป็นประโยชน์ เลือกทำได้ หรือถ้าไม่อยากทำก็ได้

 

 

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงใดอีกที่จะช่วยส่งเสริมให้ครูได้ทำหน้าที่สอนได้อย่างเต็มที่

มีการศึกษาของ สสค. (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน) เคยศึกษาพบว่า ในปีหนึ่ง ช่วงเวลาเปิดเทอมสองร้อยกว่าวัน ครูใช้เวลาอยู่นอกโรงเรียน 84 วัน ครูไทยไปโรงเรียนแต่ไม่ได้สอน เพราะต้องไปทำเอกสาร หรือพาเด็กไปแข่ง

ทาง สสค. ศึกษาพบว่าครูเสียเวลาไป 84 วัน ซึ่งนับว่าเยอะ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็เสนอว่า ถ้าไม่อยากทำโครงการใด สามารถปฏิเสธได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็จะปลดล็อกเยอะ อีกเรื่องที่ปลดล็อกยากเพราะผูกกับระบบราชการเยอะคือเรื่องบุคลากร เช่น วิธีเลื่อนตำแหน่งครู ปัญหาที่โรงเรียนในไทยเจอเยอะๆ คือทั้งครูและ ผอ. บางส่วนมองโรงเรียนเล็กเป็นทางผ่านเพื่อไปหาโรงเรียนใหญ่ เพราะฉะนั้นเกณฑ์เรื่องเลื่อนตำแหน่ง เรื่องคัดเลือกครู ผู้อำนวยการ เป็นโจทย์ใหญ่ และอำนาจไม่ได้อยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ แต่อำนาจอยู่ที่ ก.ค.ศ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา)

 

แม้จะบอกว่าครูไม่ต้องทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีประโยชน์กับห้องเรียนแล้ว แต่วิธีการประเมินวิทยฐานะก็ยังผูกติดอยู่ในระบบที่ทำให้ครูยังต้องทำกิจกรรมบางอย่างอยู่ดีใช่ไหม

ใช่ เพราะฉะนั้นก็จะหนีไม่พ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงนี้จึงประนีประนอมกันได้แค่ว่า ถ้าหากคณะกรรมนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาควรมีระเบียบบริหารบุคลากรที่แตกต่างจากระเบียบกลาง ก็สามารถขอให้ ก.ค.ศ. ออกกฎพิเศษขึ้นมา ในทางกฎหมาย ไม่ใช่ไปหักดิบว่า ก.ค.ศ ไม่ต้องออกกฎ แล้วให้พื้นที่นวัตกรรมพื้นที่ทางการศึกษาไปออกแทน เพราะในระบบราชการเอง จะเกิดความรู้สึกว่ามีหลายหน่วยงานตัดสินใจ ซึ่งราชการเน้นความเป็นเอกภาพ

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเห็นว่าต้องปรับระบบบุคลากร ก็ให้คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมพื้นที่ทางการศึกษาขอความร่วมมือให้ ก.ค.ศ. ออกกฎให้แตกต่างได้ กับอีกเรื่องคือ งบประมาณ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของระบบราชการทั้งหมด รวมทั้งระบบการศึกษาด้วย ทั้งในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน จะมีการกำหนดงบประมาณว่างบก้อนนั้นต้องใช้กับอะไร งบก้อนนี้ต้องใช้กับอะไร พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็จะทำให้การใช้งบยืดหยุ่นขึ้น ให้เป็นคล้ายๆ เงินอุดหนุนรายหัวให้กับโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่

พูดง่ายๆ จะคล้ายกับกรณีงบประมาณ 30 บาทรักษาทุกโรค คือโรงพยาบาลได้งบต่อหัวไป และที่เหลือก็ไปเกลี่ยกันภายในได้ ทำให้บริหารจัดการได้คล่องตัวขึ้น งบประมาณอาจไม่ต้องเพิ่ม แต่ก็ช่วยลดความสูญเสียได้มาก

 

การกำหนดงบประมาณแบบที่ทำกันอยู่โดยทั่วไป นับว่าเป็นอุปสรรคในการนำงบประมาณไปใช้สำหรับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ สำหรับนักเรียน ปัญหานี้สะท้อนออกมาอย่างไรในโรงเรียน

มีโรงเรียนจำนวนหนึ่งบอกนักวิจัยว่า การกำหนดเงินสำหรับซื้อหนังสือแบบตายตัว ก็ทำให้มีหนังสือกองอยู่ในโรงเรียนเต็ม ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ และไม่จำเป็นต้องใช้ หนังสือที่อยากจะใช้แต่ซื้อไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในรายการ กลับต้องซื้อหนังสือที่ไม่อยากใช้มากองไว้ ก็จะมีปัญหาอย่างนี้เยอะ

 

แต่โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถนำเงินไปซื้อหนังสืออย่างอื่นก็ได้ หรือไปซื้อสื่อแบบอื่นก็ได้ใช่ไหม

ครับ ซื้อสื่อแบบอื่นก็ได้ หรือเอาไปทำอย่างอื่นก็ได้ และทำให้ไม่ต้องใช้เงินเยอะกว่าโรงเรียนอื่น เพราะเป็นการออกแบบเพื่อให้สามารถขยายผลได้ ถ้าออกแบบโดยการทุ่มทุนสร้าง หมายความว่า มันคงสำเร็จได้ 5-10 โรงเรียน แต่จะไม่เกิดขึ้นเป็นพันเป็นหมื่นโรงเรียนได้ เพราะต้องการทรัพยากรมากเกินไป ซึ่งมันทำไม่ได้ ทีอีพีจึงช่วยเสนอสิ่งนี้ขึ้นมา

มีคนไปทำในพื้นที่สามจังหวัดแล้ว เช่น สยามกัมมาจล ไปลงที่ศรีสะเกษ ก็ไปชวนคนที่มีนวัตกรรมดีๆ เช่น ที่ขอนแก่น อาจารย์ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ (อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ก็นำการสอนคณิตศาสตร์แบบญี่ปุ่นไปสอนที่ศรีสะเกษ มีนวัตกรรมของอาจารย์สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ทำเรื่องเพาะพันธุ์ปัญญา ก็จะรวมนวัตกรรมต่างๆ ในเมืองไทย ระยองก็มีสถาบันอาศรมศิลป์เข้าไปช่วย ที่สตูลก็มี สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย) เดิม เข้าไปช่วย

ในทางปฏิบัติ ทางทีอีพีต้องไปคุยกับโรงเรียนก่อนว่าเขายินดีจะรับเงื่อนไขนี้หรือเปล่า ไปคุยกับทั้งระบบราชการ ในจังหวัด เขตการศึกษา ใช้เวลาคุยกันมาพักหนึ่ง เช่น ศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ใหญ่มาก โรงเรียนเยอะมาก ก็ไปเริ่มที่ศรีสะเกษ เขต 4 ก่อน เขต 4 คือเขตยากจน ก็ไปคุยกับ ผอ.เขต และผู้ว่าฯ จนผู้ว่าฯ ก็ร่วมมือด้วย และแถมยังช่วยสมทบเงินมาอีก

 

ขณะนี้โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเดินทางมาถึงขั้นไหนแล้ว

มีกฎหมายออกมาหนึ่งปีแล้ว ก่อนมีกฎหมายออกมา มีคนเข้าไปช่วยเตรียมความคิดกับโรงเรียน เช่น ที่ศรีสะเกษ ก็ได้ความช่วยเหลืออย่างมากจากครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ที่โรงเรียนลำปลายมาศในบุรีรัมย์ เครือข่ายทางอีสานใต้ก็มี ก่อนสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลง (change management) ต้องกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน

ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือมากรีดเลือดสาบานว่าเราจะร่วมมือไปด้วยกันนะ มาเข้าแคมป์ด้วยกัน เราก็จัด boot camp ให้มาเข้าร่วมกัน ส่วนที่ระยอง เป็นจังหวัดชายทะเล ก็มีการมาแล่นเรือใบกัน ก็ร่วมถอดบทเรียนว่าแล่นเรือใบนั้นหมายถึงการที่เรากำลังฝ่าคลื่นลมและมรสุมเพื่อไปให้ถึงฝั่ง แต่ละพื้นที่ก็จะมีเรื่องราวเฉพาะของเขา

 

ตอนนี้มีการนำไปปรับใช้จริงในการเปลี่ยนแปลงระดับห้องเรียนไหม

เป็น whole school approach หมายความว่า เปลี่ยนทั้งโรงเรียน เพราะมีบทเรียนว่า การเปลี่ยนต้องทำทั้งโรงเรียน ไม่ใช่ทำเฉพาะห้อง ระดับห้องเรียนนั้นไม่พอ เพราะถ้าครูอยากทำ ครูอยากเปลี่ยนวิชานี้ แต่ ผอ. ไม่เห็นด้วย สุดท้ายมันเปลี่ยนไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนในระดับโรงเรียน

และเราเริ่มเปลี่ยนในระดับการเรียนการสอนในห้องเรียนมาหนึ่งปีแล้ว อาจารย์ไมตรีเข้าไปช่วย แต่กฎหมายมีผลออกมาปีที่แล้ว กฎหมายจะดำเนินการช้าที่สุด เพราะฉะนั้นจะค่อยๆ ปลดล็อกทีละตัวๆ ตอนนี้โรงเรียนสามารถซื้อหนังสือเรียนได้อย่างอิสระแล้ว แต่บางเรื่อง เช่น ออกข้อสอบมาแทนโอเน็ต ยังไม่มีความสามารถทำได้ ต้องค่อยๆ เปลี่ยนแปลง มีเวลาตามกฎหมาย 14 ปี เป็นกฎหมายฉบับแรกในประเทศไทยที่มีอายุจำกัด เรียกว่า sunset law หมายความว่าพอครบ 7 ปี ถ้า ครม. เห็นว่าสิ่งที่ทำมาไม่ได้ผล ก็บอกยกเลิก

ถ้าอยากจะทำต่อ สามารถทำต่อได้อีก 7 ปี เป็น 14 ปี ถ้าครบ 14 ปีแล้ว กฎหมายจะหมดสภาพไปโดยปริยาย และตอนนั้นก็หวังว่าสิ่งที่ทดลองกันมา ถ้ามันดี มันควรขยายผลไปทั่วประเทศแล้ว หรือไปอยู่ในระบบของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ในกระทรวงศึกษาธิการก็มีการตั้งสำนักขึ้นมาใหม่ เป็นสำนักบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อยู่ภายใต้ สพฐ.

 

มีการประเมินอย่างไรว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ผลดีกับการเรียนของเด็กๆ จริง

ดูผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก ทั้งทัศนคติ ทักษะและความรู้ นั่นคือประเมินสุดท้าย ส่วนประเมินระหว่างทาง ก็คือเด็กขาดเรียนน้อยลงไหม เด็กมาโรงเรียนแล้วเข้าไปสังเกตดูว่าครูและเด็กมีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้นไหม ทีม TDRI เข้าไปช่วยเก็บข้อมูลพื้นฐานต่างๆ และทำเครื่องมือช่วยโรงเรียนวางแผนและประเมินว่าควรทำอย่างไรต่อไป

 

การเปลี่ยนโครงสร้างหลายอย่างทำให้ครูและโรงเรียนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ถ้าครูไม่เคยถูกสอนว่าต้องใช้วิธีการหรือแนวคิดใหม่ๆ ในการสอน จะทำอย่างไรให้ครูสอนโดยใช้ทั้งวิธีการใหม่และด้วยแนวคิดใหม่

เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีผู้ช่วย อย่างทีมอาจารย์ที่ศรีสะเกษมีทีมสยามกัมมาจลเข้าไปเตรียมการเปลี่ยนแปลง (transformation) ของโรงเรียน และทีมจากอาจารย์ไมตรี ทีมจากอาจารย์สุธีระ เข้าไปช่วยเป็นเรื่องๆ และมีทีมช่วยด้าน brain-based learning ของอาจารย์พรพิไล เลิศวิชา เป็นต้น

 

ซึ่งเขาต้องไปทำการฝึกอบรมให้กับครูที่โรงเรียนด้วย

ใช่ อย่างโรงเรียนในศรีสะเกษ บางโรงเรียนเลือก brain-based learning approach บางโรงเรียนเลือกวิธีอาจารย์สุธีระ แต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน ด้วยทั้งความชอบของโรงเรียน ด้วยทั้งการที่พี่เลี้ยงที่เข้าไปช่วยแต่ละราย ไม่มีกำลังไปทำได้เป็นร้อยโรงเรียน เพราะฉะนั้นต้องแบ่งกันช่วยกันทำ เรียกว่าเป็นการผสานกำลังครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

 

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นทำให้เกิดพื้นที่ในการนำร่องโครงการได้ง่ายขึ้นไหม และต้องใช้เวลากี่ปี จึงจะรู้ว่าประสบผลสำเร็จ

2-3 ปีน่าจะเห็นผล แต่ส่วนเรื่องโครงสร้างการกำกับดูแลไปโยงกับกฎหมายจะมีสองส่วน ในระดับห้องเรียนก็เริ่มทำไปแล้ว ส่วนที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลเกี่ยวกับราชการและกฎระเบียบจะดำเนินการช้ากว่า เช่น กฎหมายออกมาปีกว่าแล้ว เพิ่งประชุมกรรมการนโยบาย ซึ่งนายกฯ เป็นประธานได้ครั้งเดียว ครั้งที่สองที่กำลังจะประชุมในเดือนกรกฎาคม เพื่อบอกว่าใครเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัด เพื่อให้มีอิสระจริงๆ โดยกฎหมายให้อิสระไว้ แต่ยังไม่มีคณะกรรมการมาใช้ความอิสระนี้

แต่ละจังหวัดมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน มีศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขานุการ อันนี้เป็นโครงสร้างที่ติดมากับระบบเดิม แต่ในแต่ละจังหวัด ในมุมหนึ่ง ถ้าผู้ว่าฯ เข้าใจ และสนับสนุนการศึกษาก็จะไปเร็ว เพราะผู้ว่าสามารถเรียกคนโน้นคนนี้มาทำงานร่วมกันได้ แต่ถ้าผู้ว่าฯ ไม่สนใจ ก็จะช้า เพราะฉะนั้นปัญหาการย้ายผู้ว่าฯ ก็เป็นโจทย์ใหญ่ บางจังหวัดคุยกับผู้ว่าฯ ไว้แล้ว แต่ต่อมาผู้ว่าฯ ย้ายแล้ว ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ประเด็นสำคัญที่ทีอีพีมองเห็นคือ ความไม่ต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ มีการเปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนผู้ว่าฯ เปลี่ยนนายกฯ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้การศึกษาไทยเดินต่อไปได้ ไม่ใช่เอาความหวังไปฝากไว้ทางนั้นทั้งหมด แต่หมายความว่าประชาสังคมต้องไม่เปลี่ยน ประชาสังคมต้องพูดแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง เช่น ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐมนตรี เปลี่ยนกี่รัฐบาล พวกเราอยากได้อย่างนี้ พวกคุณช่วยทำกันหน่อย

ก่อนการเลือกตั้งปีที่แล้ว จึงมีการจัดเวทีทีอีพีพบกับ 6 พรรคการเมือง นำผู้ลงสมัครของพรรคการเมืองที่คิดว่าอาจได้ดูเรื่องการศึกษามาพูดคุย เช่น ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ จากพรรคอนาคตใหม่ อาจารย์สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งสุดท้ายไปอยู่ อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) หรือคุณกรณ์ จาติกวณิช เป็นต้น

เราบอกว่าเรามีความคิดนี้นะ ถ้าคุณเป็นพรรคการเมือง เราอยากได้การสนับสนุนของคุณ ซึ่งทุกพรรคตอบรับดีหมดเลย พอตั้งรัฐบาลขึ้นมา ทีอีพีก็ตามไปคุยด้วย คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ท่านก็สนับสนุนอยู่

เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ประชาสังคมคุยแล้วตรงกัน เพราะฉะนั้น ทีอีพีจึงมี 30 องค์กรพันธมิตร ตั้งแต่ประชาสังคมที่ทำเรื่องการศึกษามานาน ร่วมด้วยองค์กรธุรกิจอย่างเช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร และมีงานใหญ่ 2-3 งาน หนึ่ง คือ ทำพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สอง คือฟอรัม ที่จัดมา 2 ปี เพื่อมาระดมความคิดและทุกคนก็ได้พลังกลับไปทำงานกันต่อ

 

หนังสือ “สอนเปลี่ยนชีวิต” เล่มนี้มุ่งไปที่ห้องเรียนและเรียกร้องครูให้เปลี่ยนเยอะ ถ้าอาจารย์วิเคราะห์บริบทไทย อะไรน่าจะเป็นอุปสรรคที่อาจทำให้ครูทำสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกได้ยาก แล้วเราจะแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง

ส่วนหนึ่งก็โยงกับโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับโจทย์ปฏิรูปไทยโดยรวม ระบบบริหารบุคลากร การเติบโตทางอาชีพของทั้งครูและ ผอ. ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่เลย ประสบการณ์ของเครือข่ายทีอีพีทั้งหลาย จะบอกว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) สำคัญในโรงเรียนเลย คือ ผอ. ซึ่งก็ตรงไปตรงมาเหมือนกับองค์กร CEO ต้องร่วมด้วยก่อน ถ้าเป็นจังหวัด ผู้ว่าฯ ก็ต้องร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ตรงนั้นจะสำคัญ

แต่โจทย์ก็คือ ผอ. ย้ายไปย้ายมา ถ้าเป็นโรงเรียนในประเทศที่มีการกระจายอำนาจอย่างฟินแลนด์หรือญี่ปุ่น โรงเรียนเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของเทศบาล เพราะฉะนั้น ผอ. หรือครู เป็นพนักงานของเทศบาลหรือจังหวัด เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ย้ายไปย้ายมา แต่ในไทยเนื่องจากเป็นข้าราชการของกระทรวงศึกษาฯ เขาก็ย้ายไปย้ายมา เพราะฉะนั้นครูจากจังหวัดหนึ่งไปสอนจังหวัดหนึ่ง สักพักก็อยากย้ายไปจังหวัดอื่น อยากย้ายไปโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น นี่คือจุดสำคัญที่ทำให้การพัฒนาโรงเรียนไม่ต่อเนื่อง และเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งไปผูกโยงกับกฎระเบียบซึ่งน่าจะมีปัญหา

เริ่มตั้งแต่การจะเป็น ผอ. ได้ ต้องสอบ ต้องทำผลงาน ซึ่งไม่ใช่ฝีมือการบริหารจัดการโรงเรียนจริงๆ มีคนจำนวนมากซึ่งเป็นครูที่ดี แต่ด้วยการเป็นครู การไต่เต้าทางอาชีพจะช้ากว่าการไปเป็น ผอ. เพราะฉะนั้นก็จะมีคนเตรียมสอบเป็น ผอ. แล้วก็ย้ายกันไปเรื่อย ครูย้ายจากโรงเรียนเล็กไปโรงเรียนใหญ่ เพราะโรงเรียนเล็กมีงานเยอะกว่าโรงเรียนใหญ่ เช่น โรงเรียนเล็ก ครูต้องสอนหลายวิชา โรงเรียนใหญ่ครูสอนวิชาเดียว เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นเรื่องบริหารบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องระบบ

 

ในการกระจายงบประมาณ ทุกวันนี้แต่ละโรงเรียนได้รับงบในสัดส่วนที่เท่ากันไหม และความจริงแล้วโรงเรียนเล็กควรได้รับทรัพยากรต่อหัวมากกว่าหรือเปล่า

งบจะแบ่งเป็นงบรายหัวและงบอุดหนุนอื่นๆ เช่น เงินอุดหนุนค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน เงินอุดหนุนค่าอาหาร ฯลฯ เรื่องที่ว่าโรงเรียนเล็กควรได้รับทรัพยากรต่อหัวมากกว่านี้ผมเห็นด้วย

แต่นี่เป็นเรื่องซับซ้อนมาก เพราะมีอีกแนวคิดหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการที่จะยุบโรงเรียนเล็ก ซึ่งทำมาแล้วหลายยุค ค่อยๆ ยุบบางโรงเรียนไปได้ ในเวลาเดียวกันก็เจอแรงต่อต้านจากชุมชนท้องถิ่นว่า ถ้ายุบโรงเรียน ชุมชนก็เสียประโยชน์ เรื่องนี้ผมมองว่ายังหาจุดเหมาะสมที่ได้ผลจริงๆ ยากพอสมควร

 

จะแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาครูที่อยากสอนเด็กที่ขาดแคลน แต่ระบบไม่เอื้อ ต่อให้ครูมีใจที่จะพัฒนาระบบการศึกษา แต่ครูต้องทำงานหนักกว่าในโรงเรียนขนาดเล็ก การย้ายไปสอนที่โรงเรียนใหญ่จึงเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า

ถ้าได้ครูในท้องถิ่น คนในพื้นที่ รักบ้านเกิด อยากพัฒนาพื้นที่ แล้วคิดว่ายังไงก็อยู่กันไปยาวๆ ถ้าได้ระบบแบบนี้จะพัฒนาง่าย แต่ระบบปัจจุบันไม่เอื้อกับการทำแบบนี้

 

ครูที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลได้รับเบี้ยกันดารด้วยไหม

ได้ครับ แต่ไม่เยอะพอ และงานเยอะ ปัญหายาก โรงเรียนเล็กถูกมองว่าไม่มีศักดิ์ศรีเท่าโรงเรียนใหญ่ ผอ. โรงเรียนเล็ก และโรงเรียนใหญ่ ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่ากัน ทั้งๆ ที่โจทย์โรงเรียนเล็กยากกว่าโรงเรียนใหญ่

อีกอย่างคือโดยเส้นทางก้าวหน้าในอาชีพ ถ้าคุณเป็น ผอ. โรงเรียนใหญ่ สักพัก เดี๋ยวคุณก็ขึ้นมามีอาชีพอยู่ในระบบบริหารการศึกษา เช่น เป็น ผอ. เขต ขึ้นมาอยู่ในกระทรวงศึกษาฯ มันเป็นอาชีพอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่อาชีพสอนแบบครู ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่มาก ประเด็นนี้ นพ.ธีระเกียรติ (เจริญเศรษฐศิลป์) อดีตรัฐมนตรีศึกษาฯ เองก็เคยตั้งข้อสังเกตว่าระบบสนับสนุนการศึกษา ระบบบริหารส่วนกลางของเราใช้ทรัพยากรมากเกินไป

 

แล้วระบบการประเมินปัจจุบันนี้ ไม่ได้พิจารณาเรื่องเหล่านี้ใช่ไหม เช่น ครูเอาเวลาไปโรงเรียนมากขึ้นหรือมีชุดความคิดสานสัมพันธ์ ถ้าจะแก้ปัญหาควรปรับเปลี่ยนวิธีการวัดผลงานครูหรือเกณฑ์วิทยฐานะครูใช่ไหม

ส่วนนี้ถูกผูกด้วยกฎของ กคศ. ระบบราชการที่รวมศูนย์และแต่ละกระทรวงมีโครงการตัวเอง และมี KPI (Key Performance Indicator – ตัวชี้วัดความสำเร็จ) ของตัวเอง เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน จะแก้อย่างไร ต้องแก้ที่โรงเรียน เด็กฟันผุ แก้ที่โรงเรียน ข้าราชการมีปัญหาคอร์รัปชั่น แก้อย่างไร แก้ที่โรงเรียน จึงมีโครงการมากมายมหาศาล แต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงานมี KPI ตัวเอง เช่น ถ้า ป.ป.ช. ไปทำงานเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่นกับโรงเรียน นั่นคือ KPI ของ ป.ป.ช. เอาไปฝากไว้กับโรงเรียน

และภายใต้ระบบที่ต้องมีความช่วยเหลือกัน ผอ. โรงเรียนจะปฏิเสธโครงการที่ผู้ใหญ่ส่งมา ในทางสังคมที่ต้องอยู่ด้วยกันนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงมีต้นทุนมหาศาลไปตกที่โรงเรียน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็จะแก้ปัญหานี้ส่วนหนึ่ง คือทำให้ปฏิเสธได้ง่ายขึ้น ถ้าอยากปฏิเสธ หรือสามารถเอาโครงการต่างๆ มาบูรณาการร่วมกันจะได้ประหยัดเวลา

 

อยากให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ว่าระบบต้องเปลี่ยนอะไรอีกบ้าง เพราะถ้าจะให้มีแค่ครูที่เปลี่ยน คงเป็นการเรียกร้องมากเกินไป ในอีกมุมหนึ่ง ครูจาก Teach For Thailand มีความพร้อม มีอุดมการณ์บางอย่าง และพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ก็อาจไม่ชำนาญหรือเปล่า ขณะเดียวกันในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความเชื่อแบบหนึ่งอยู่ ซึ่งหากอยากไปเปลี่ยนตรงนั้น อาจจะขัดกับวัฒนธรรมบางอย่างที่เขามีอยู่ บางทีก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที

Teach For Thailand เป็นโครงการที่มีคุณูปการเยอะมากกับประเทศไทย ไม่ได้ไปเปลี่ยนโรงเรียนตรงๆ ซึ่งยากมาก แต่กลายเป็นที่บ่มเพาะใหญ่มากสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสาธารณะ และคนพวกนี้ช่วยเป็นกำลังขับเคลื่อนสังคม ในจุดเล็กๆ ตรงนั้นตรงนี้เต็มไปหมด เราก็ชื่นชมโครงการอย่างนี้นะ แต่จะให้ Teach For Thailand ไปเปลี่ยนโรงเรียนก็เป็นการเรียกร้องที่มากเกินไป

 

ปกติโครงการลักษณะนี้ใช้เวลาประมาณกี่ปี

ถ้าเป็น Fellow ของ Teach For Thailand ใช้เวลาสองปี อุปสรรคที่โครงการ Teach For Thailand เจอคือ เนื่องจากโรงเรียนของเมืองไทยเกือบทั้งหมดเป็นโรงเรียนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. หรือ อปท. ถ้าผู้นำในซีกรัฐบาลไม่เล่นด้วย เช่น ในสมัยที่ Teach For Thailand เริ่มต้นใหม่ๆ ก็ทำงานร่วมกับ กทม. ทาง กทม. ก็ร่วมมือ แต่ก็ยังไม่ใช่แบบเต็มที่จริงๆ เพราะฉะนั้น โครงการจึงไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเท่าที่ควร

 

การมีห้อง Gifted หรือห้อง EP (English Program) น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาไทย เพราะรัฐบาลให้งบสนับสนุน เป็นการส่งเสริมความเก่งและความฉลาดของเด็กๆ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สวนทางกับการบ่มเพาะ growth mindset เรื่องนี้อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

ผมคิดว่าเรื่องนี้พูดยากนะ จริงๆ ควรต้องสนับสนุนทุกคน แต่อย่างเวลาที่ กสศ. อธิบายเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาให้คนเข้าใจง่ายๆ ก็คือ เด็กๆ ไปดูกีฬากัน แล้วเด็กตัวเล็กสุดจะดูกีฬาไม่เห็น เพราะมีรั้วกั้นอยู่ วิธีคือต้องต่อขาเก้าอี้ให้สูงเลยรั้วไป ถ้าพูดในมุมนี้ก็คือ ทุ่มทรัพยากรไปยังจุดที่เดือดร้อนเยอะที่สุด แต่สุดท้ายแล้วแต่ละประเทศก็คงต้องมีเป้าหลายเป้าด้วยกัน

เป้าเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาก็เป็นเป้าใหญ่เป้าหนึ่ง แล้วก็ต้องจัดสรรงบให้กับ กสศ. มากกว่านี้อีกมาก เหมือนตอนร่างกฎหมายกัน ควรได้งบประมาณที่ระดับหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ระดับพันล้านต่อปี สเกลก็ผิดไปพอสมควร แต่เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด งบจึงถูกเกลี่ยออกมาเท่าที่ทำได้

 

โควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการดำเนินการของ TDRI ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ก่อนหน้านี้ทีม TDRI ที่ทำเรื่องนี้อยู่ลงพื้นที่ทุกเดือนไปในจังหวัดที่สังเกตการณ์เพื่อถอดบทเรียน พอเจอโควิดก็หยุดไป เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสนามที่เอาไว้ใช้ทดลองสิ่งใหม่ๆ เช่น กระทรวงศึกษาฯ ก็อยากทำ competency-based learning ซึ่งเป็นความคิดกระทรวงอยู่แล้ว แต่จะเริ่มกันอย่างไร เราก็บอกว่า เรื่องอย่างนี้ไม่ควรเริ่มสเกลใหญ่ พอเริ่มสเกลใหญ่ทั้งประเทศสามหมื่นโรงเรียน มีโอกาสล้มเหลวสูง

วิธีที่ดีกว่าคือการทำโครงการนำร่องที่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ถ้าทำตรงนี้สำเร็จก็จะได้รับบทเรียน จากนั้นจึงนำบทเรียนไปถอด และขยาย ก็น่าจะเดินกันด้วยวิธีนี้

 

ตอนนี้พอโรงเรียนต้องปิดไปเพราะสถานการณ์โควิด โรงเรียนเคยเป็นที่ที่เด็กไปกินอาหารกลางวันกัน เด็กๆ หลายคนก็เลยขาดอาหารซ้ำไปอีก

นี่ก็เป็นโจทย์ใหญ่เลย เพราะโรงเรียนไม่ใช่แค่ที่เรียน ยังเป็นที่รับประทานอาหารกลางวัน และเป็นที่หลบภัยสำหรับเด็กที่ครอบครัวมีความรุนแรงอีกด้วย

 

ขนาดครอบครัวที่พร้อมก็ยังบ่นกันสุดๆ ว่า พอลูกอยู่บ้านแล้วพ่อแม่ก็ทำงานไม่ได้ แล้วนึกถึงว่าครอบครัวที่เขาไม่พร้อมจะเป็นอย่างไร

ใช่ มีโจทย์เยอะ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาถ้าการศึกษาเรามีการกระจายอำนาจมากกว่านี้ โรงเรียนในหลายจังหวัดซึ่งไม่เคยมีประวัติติดเชื้อโควิดเลยไม่ควรต้องปิด แต่เพราะว่าทุกอย่างรวมศูนย์ แล้วต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

แต่เรื่องนี้จะไปโทษฝ่ายการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนในสังคมจำนวนมากก็เป็นห่วงและกลัวการเปิดโรงเรียนมากเกินไป ตอนนั้นถ้าไปเสนอให้เปิด ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า เปิดไม่ได้ เดี๋ยวเด็กติดโรค คือมีความกลัวที่เกินเหตุ แม้กระทั่งในจังหวัดที่ไม่เคยมีประวัติการระบาดแม้แต่กรณีเดียวเลย อย่างโรงเรียนบนดอย ทำไมต้องปิดโรงเรียนด้วย เพราะการศึกษาไทย ทุกคนต้องแบบ ทั้งหมด…แถวตรง…หน้าเดินไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้เสียโอกาสเยอะ

 

จริงๆ มีเรื่องหนึ่งในหนังสือที่ กสศ. พูดบ่อย และมีงานวิจัยเรื่อง growth mindset กับความสำเร็จ โดยอิงกับผลประเมินของ PISA แล้วทำให้เห็นว่า เด็กไทยมี growth mindset ค่อนข้างต่ำ ตรงนี้ทีมการศึกษา TDRI เคยทำวิจัยเรื่องพวกนี้บ้างไหม และถ้าจะสร้าง growth mindset เราควรต้องปรับเปลี่ยนเรื่องอะไรบ้าง นอกจากต้องการครูผู้ทุ่มเทซึ่งโรงเรียนหนึ่งอาจจะมีสักคนสองคน

เราถึงต้องการครูแบบซูเปอร์แมน ซูเปอร์วูแมนแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายครับ

สำหรับแนวทางสร้าง growth mindset ผมนึกถึงบางแนวทางที่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทำในเชิงปลุกให้ครูตื่นตัวในการทำหน้าที่ของตัวเอง คือครูจำนวนหนึ่งก็มีสำนึกความเป็นครู แล้วก็มีแนวทาง อย่างเช่น “การศึกษาชั้นเรียน” ที่เรียกว่า Lesson Study ของอาจารย์ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ในมุมหนึ่งมีบางอย่างคล้ายกับชุดความคิดในเล่ม สอนเปลี่ยนชีวิต เพียงแต่ออกมาคนละแบบกัน เช่น ในหนังสือจะมีมุมที่ว่า ครูบอกว่า ไม่ได้มีคำตอบเดียว ครูเองก็ผิดได้ เพื่อนก็ผิดได้ นี่ก็เป็นคล้ายๆ soft side ส่วนของอาจารย์ไมตรีเป็นเรื่อง teaching side ในมุมเทคนิค

Lesson Study ก็คือ ครูไม่บอกคำตอบเด็ก แต่ให้ช่วยกันเสนอคำตอบมาว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า กรงไหนมีกระต่ายอยู่กันหนาแน่นที่สุด ซึ่งมีวิธีคิดหาคำตอบได้หลากหลายวิธี เด็กแต่ละคนก็คิดแล้วไปเขียนบนกระดาน ซึ่งชุดความคิดแบบนี้มันเสริมกันเลย อันหนึ่งเป็นเรื่องการนำไปใช้ (implement) ด้วยเทคนิคการสอน ตัวนี้เป็นเรื่องของ soft side มันก็เสริมกัน

 

จริงๆ ที่อาจารย์เล่ามาก็เข้าไปอยู่ในหลายๆ ชุดความคิดในหนังสือได้ ไม่ว่าการมีส่วนร่วม หรือการสร้างบรรยากาศห้องเรียนแบบบริบูรณ์ เพียงแต่อาจไม่ได้เรียกชื่อแบบในหนังสือเท่านั้นเอง

ใช่ครับ แต่ว่าถ้าจะนำไปใช้ ด้วยวิธีแบบ Lesson Study จะเห็นเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 แล้วมันได้เห็นตัวอย่างห้องเรียนจริง มันก็จะช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนเห็นภาพชัดขึ้น

ขณะที่ชุดความคิดต่างๆ ในเล่มนี้ เนื่องจากมันไม่ได้ผูกชุดความคิดเข้ากับการสอนโดยตรง คล้ายๆ ว่ามันอยู่รอบๆ การสอน ก็เลยไม่เห็นว่า กระดูกสันหลังของมันเป็นอย่างไร ผมคิดว่ายังต้องผสมผสาน (integrated) เข้าไปอีกนิด เพราะการสอนในเมืองไทย คือการสอนเป็นรายวิชา พอสอนเป็นวิชา ชุดความคิดเหล่านี้อยู่ตรงไหนของวิชาต่างๆ คือจริงๆ มันก็ต่อเข้ากับวิชาได้ แต่ตอนนี้อาจยังไม่เห็นตัวอย่าง เพราะเราถอดเนื้อวิชาต่างๆ ออกไป อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าชุดความคิดทั้งหมดนี้คือจิ๊กซอว์สำคัญแล้วละ

 

ไม่ทราบว่าอาจารย์เคยไปดูหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์เมืองไทยไหม เท่าที่ทราบคือคณะผลิตครูไม่ได้สอนชุดความคิดเหล่านี้ให้นักศึกษา อาจารย์เคยศึกษาไหมว่าตัวหลักสูตรต้องปรับตรงไหน อย่างไร หรือพอจะวิจารณ์โดยรวมได้ไหมว่าระบบการศึกษาเพื่อสร้างครูของเราต้องแก้ไขอะไรบ้าง

จริงๆ ก็มีวงที่พยายามทำเรื่องนี้อยู่ อย่างเช่นอาจารย์อรรถพล (อนันตวรสกุล) พยายามสร้างเครือข่ายครูด้านสังคมศึกษา ที่ทำชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community – PLC) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผมคิดว่าถ้ามีวงอย่างนี้เยอะๆ จะเป็นจุดสำคัญให้เชื่อมต่อกันได้

แน่นอนว่าการเปลี่ยนระบบจากข้างใน โดยตัวมันเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงต้องมีกลุ่มต่างๆ กระจายอยู่ แล้วทำอย่างนั้นอย่างนี้ สักวันหนึ่ง ถ้ากลุ่มเหล่านี้ตกผลึกและเข้าไปเปลี่ยนระบบ มันถึงจะเปลี่ยนได้ 

เรื่องนี้ ตัวผมเองไม่ค่อยกล้าเสนอไอเดียมากเพราะเป็นคนนอกซึ่งอยู่ไกล แต่ผมเคยถามนักวิจัยในทีมที่จบครุศาสตร์มา เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้เรียนเรื่องอย่างนี้มาก่อน

 

น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ถูกเตรียมเพื่อรับเรื่องพวกนี้ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่สอนกันยาก แต่สำหรับคนที่ได้อ่านจะเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับคนเป็นครูหรือทำงานด้านเด็ก

ใช่ครับ สอนกันยาก แต่จะเรียกว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่ายนะ ถ้าเริ่มจากขอให้มีความเข้าอกเข้าใจ (empathy) แล้วถ้ามีจัด boot camp แล้วเริ่มด้วยเน้นว่า ถ้ามี empathy มีใจ เดี๋ยวมันมีทางไปเอง อย่างนั้นจะเรียกว่าง่ายก็ง่าย

แต่ถ้าดูในระดับแนวคิด หรือใช้สมองนำหน้า มันจะไม่ง่ายเท่าไร เพราะมีถึงเจ็ดชุดความคิด แล้วตรงไหนมันเกี่ยวกับตรงไหน อย่างไร แบบผมพยายามเข้าใจแบบนักวิชาการ แต่ถ้าคนเขาเริ่มด้วยใจอาจจะง่ายกว่าครับ

 

คือที่มองว่ายากเพราะคิดว่า การทำเรื่องพวกนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย คือเขาต้องเจอ ต้องรู้สึก ต้องเห็น ซึ่งมันสอนกันไม่ได้ แล้วเขาจำเป็นต้องไปเจอประสบการณ์ตรง จากนั้นจึงค่อยปรับใช้เครื่องมือหรือกิจกรรมต่างๆ จากในหนังสืออีกที

ครับ ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้จำเป็นต้องมีระบบพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษา (mentorship) ถ้าอยู่ในคณะครุศาสตร์ ในระบบฝึกงานได้ไปเจอในโรงเรียนที่อยู่ไกลหน่อย ลำบากหน่อย ไม่ใช่เรียนครุศาสตร์ ของคณะครุศาสตร์ในกรุงเทพฯ แล้วไปสอน รร.เตรียมอุดมฯ รร.สาธิตฯ แต่หมายความว่าไปสอน รร.ในคลองเตย ก็จะได้เห็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง

ผมมองว่าถ้าเจอโจทย์แบบนี้เขาถึงจะเข้าใจ เพราะเด็กอย่างใน รร.เตรียมฯ หรือ รร.สาธิตฯ ส่วนใหญ่เขาไม่ใช่ “poor students” โจทย์ก็คนละแบบ แล้วพอเข้าไปในโรงเรียน ถ้ามีระบบพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษากันแบบที่ญี่ปุ่นหรือฟินแลนด์มี ครูที่สอนเก่งก็จะไกด์ครูใหม่ ว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ต้องรับมืออย่างไร แล้วควรมีเวลาให้ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มี PLC ในโรงเรียน เช่น มีเวลาแลกเปลี่ยนในห้องพักครู

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญเลยคือ เขาจะไม่เอาโหลดงานที่เยอะเกินไปใส่ครู เพราะถ้าครูงานเยอะเกินไป ครูก็ไม่มีเวลามาสะท้อนความคิด ไม่มีเวลามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน