รู้จัก ‘ซัมมิต’ เครือโรงเรียนสุดล้ำจากอเมริกา จบในโพสต์เดียว

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

จะเป็นอย่างไรหากเด็กๆ ‘ทุกคน’ ได้เข้าโรงเรียนใหม่หมดจดที่ถือกำเนิดจากความหวังอันไร้ขีดจำกัดของนักการศึกษาผู้ปรารถนาดี เพื่อเตรียมพวกเขาให้ ‘พร้อมสู้อนาคต’ อันผันผวนอย่างแท้จริง

‘ซัมมิต’ คือเครือโรงเรียนที่ว่านั้น ประกอบด้วยโรงเรียนสิบเอ็ดแห่งซึ่งกระจายตัวในรัฐแคลิฟอร์เนียและวอชิงตัน พร้อมชื่อเสียงและความสำเร็จที่ยากปฏิเสธ คือการสามารถผลักดันนักเรียนกว่าร้อยละ 99 ให้เข้ามหาวิทยาลัย ตลอดจนสำเร็จการศึกษามากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึงสองเท่า

ยิ่งกว่านั้น นักเรียนของซัมมิตยังไม่ใช่นักเรียนหัวกะทิผู้ได้รับคัดเลือกเข้าโรงเรียนด้วยแบบทดสอบสุดหิน พวกเขาเป็นเพียงเด็กๆ ที่มีทักษะ ปัญหา และบุคลิกภาพแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือมีอุปนิสัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประสบความสำเร็จ ทำให้หลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนรู้ของซัมมิตดึงดูดความสนใจของเหล่านักการศึกษา นำไปสู่โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกฤดูร้อนหรือซัมมิตเลิร์นนิ่ง (Summit Learning) ที่ปัจจุบันมีโรงเรียนนับร้อยแห่งเข้าร่วม

ไดแอน ทาเวนเนอร์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเครือโรงเรียนนี้ รวมถึงผู้เขียน Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การออกแบบและพัฒนาโรงเรียน ได้บอกใบ้ว่าเพราะเหตุใดเด็กๆ เหล่านี้จึงประสบความสำเร็จและยืดหยัดได้ด้วยตนเองในวิดีโอด้านล่าง

 

 

“ซัมมิตถือกำเนิดจากภูมิปัญญาของเหล่านักการศึกษาที่ฉันได้เรียนรู้ที่สแตนฟอร์ด” ไดแอนกล่าว “ผู้เยี่ยมชมโรงเรียนมักตื่นตระหนกเมื่อเห็นความไม่เป็นระเบียบในชั้นเรียน พวกเขาหาครูไม่พบด้วยซ้ำ และเด็กๆ ก็ทำอะไรต่อมิอะไรอยู่ทุกที่ แต่ในที่สุด พวกเขาก็จะบอกว่าฉันว่า ‘ไดแอน คุณรู้ไหม เด็กทุกคนที่นี่ รู้แน่ชัด ว่าพวกเขากำลังทำอะไร’ และนั่นทำให้ฉันมีความสุข”

“ประเด็นที่ซัมมิตใส่ใจคือเด็ก ๆ ต้องเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง พวกเขาใส่ใจการเรียนรู้เพราะรู้ว่าตนกำลังเรียนรู้อะไร เพราะเหตุใดจึงต้องเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ ตลอดจนการเรียนรู้นั้นมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร”

 

กว่าจะเป็น ซัมมิต

อย่างไรก็ตาม การเดินทางของโรงเรียนที่เหมือนความฝันของนักการศึกษาทั่วโลกนี้ไม่ได้ราบรื่น และต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทั้งครู นักการศึกษา ผู้บริหารในชุมชน รวมถึงผู้ปกครอง เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคและเรียนรู้จากความล้มเหลวของตนครั้งแล้วครั้งเล่า

 

ไดแอน คุณมีวิสัยทัศน์พัฒนาโรงเรียนที่ต่างออกไป และวิสัยทัศน์นั้นก็ดีกว่าที่เรามีทุกวันนี้ ฉันเห็นวิสัยทัศน์ของคุณนะ มันเหมือนรถม้าสวยงามสมบูรณ์แบบที่ใครก็อยากขึ้นไป แต่ความจริงคือโรงเรียนของเราเพิ่งเริ่มต้นและยังไม่ใช่รถม้าที่สวยงามอะไร เป็นแค่เกวียนที่โคลงเคลง ดูอย่างไรก็ไม่ปลอดภัยที่จะใช้เดินทาง ไม่ว่าภาพที่คุณวาดไว้จะสวยงามเพียงใด คนส่วนใหญ่ก็ไม่พร้อมเสี่ยงให้ลูกนั่งบนเกวียนโคลงเคลงนี่หรอก ดังนั้นคุณต้องสร้างรถม้าที่สวยงามให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

— Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต, หน้า 83

 

ผู้ปกครองคนหนึ่งบอกไดแอนอย่างนั้นก่อนวันเปิดโรงเรียน

ใครเลยจะรู้ว่า กว่าซัมมิตจะเป็น ‘โรงเรียนในฝัน’ ทิศทางของโรงเรียนที่ผู้ก่อตั้งเช่นไดแอนเสนอถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียง ‘ความเพ้อฝัน’ ของ ‘ผู้หญิงพิลึก’ คนหนึ่งมาก่อน

ก่อนหน้าการก่อตั้งซัมมิต ผู้ปกครองในชุมชนแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนียซึ่งไม่สบอารมณ์กับคุณภาพโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในท้องถิ่นได้รวมตัวกัน และเรียกร้องให้สร้างโรงเรียนใหม่ นักการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจึงแนะนำพวกเขาให้รู้จักไดแอน ทาเวนเนอร์ ผู้เป็นศิษย์เก่า และขณะนั้นก็ดำรงรองผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งริมอ่าวซานฟรานซิสโก

ไดแอนออกแบบซัมมิตจากการบ้านที่ได้รับมอบหมายเมื่อเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คือการออกแบบโรงเรียนใหม่จากความว่างเปล่า ปราศจากอุปสรรคหรือข้อจำกัดใดๆ ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ประสบในปัจจุบัน ซัมมิตจึงเป็นโรงเรียนที่โอบรับเด็ก ‘ทุกคน’ โดยไร้แบบทดสอบคัดเลือกหรือการผลักไส ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้น

แน่นอนว่าข้อเสนอของไดแอนนำไปสู่การถกเถียงและแตกหักในหมู่ผู้ปกครอง การถกเถียงเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากความกังวลในการบุกเบิกเส้นทางการจัดการศึกษาใหม่ และความไม่ไว้ใจว่าเส้นทางนั้นจะนำไปสู่ชัยชนะ โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนกลุ่มแรกที่ซัมมิตอ้าแขนรับไม่ใช่เด็กที่หลายคนเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ กระนั้น ด้วยความศรัทธาผู้ปกครองที่เหลือ ซัมมิตถือกำเนิดในปี 2007 และสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ในไม่กี่ปีให้หลัง

อาจเพราะเป็นโรงเรียนที่ถือกำเนิดจากความหวังอันไร้ข้อจำกัด ซัมมิตจึงเป็นโรงเรียนที่บิล เกตส์ ต้องเอ่ยปากว่าเขา “ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน” และหนังสือที่ไดแอนเขียนก็เป็นหนึ่งในห้าหนังสือที่นักธุรกิจผู้มีความคิดริเริ่มผู้นี้แนะนำให้อ่านในปี 2019 สำหรับบิล เกตส์ แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ซัมมิตนั้นล้ำหน้า เพราะทำให้เด็กๆ ‘พร้อม’ ต่ออนาคตอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามหาวิทยาลัย การประกอบอาชีพ และการมีชีวิตที่ผาสุก ด้วยองค์ความรู้ลึกซึ้ง ตลอดจนทักษะและอุปนิสัยที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางยกระดับสามคุณสมบัติข้างต้น ดังต่อไปนี้

 

บิล เกตส์ กล่าวถึงหนังสือของไดแอนในนาทีที่ 1:11

 

การเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานที่ ‘ไม่ใช่ของหวาน’
และ ‘เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน’

 

ไดแอนเชื่อในการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงาน เพราะผลการวิจัยทางการศึกษาต่างชี้ว่า หลังการจัดทำโครงงาน นักเรียนจะจดจำเนื้อหาที่เรียนรู้ได้นานขึ้น มีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งยังยังทำแบบทดสอบสำคัญๆ อาทิ แบบทดสอบมาตรฐานระดับชาติ ได้ดีเท่ากับหรือดีกว่านักเรียนที่ผ่านการจัดการเรียนรู้ทั่วไป นอกจากนี้ นักเรียนที่เรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานยังแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ดีกว่า มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ใส่ใจประเด็นสังคมและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่า พวกเขาเข้าเรียนสม่ำเสมอว่า และใส่ใจการเรียนรู้ของตนมากกว่าด้วย

สำหรับโครงงานที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่ซัมมิตนั้น คณะครูจะเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างของแต่ละโครงงานตั้งแต่การกำหนดหัวข้อถึงการนำเสนออย่างพิถีพิถัน กระทั่งแน่ใจว่าเป็นโครงงานที่พัฒนาทักษะอันพึงประสงค์ เช่น ทักษะการสื่อสาร การใช้เหตุผล การจัดการเวลา ฯลฯ ได้จริง โครงงานเหล่านี้จึงไม่ใช่ ‘ของหวาน’ ที่ไดแอนนิยามว่า นักเรียนจะใส่ใจหรือไม่ก็ได้ เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของพวกเขา ครูและรวมถึงผู้บริหารโรงเรียนจะใส่ใจพัฒนาโครงงานหรือไม่ก็ได้ เพราะไม่ใช่แนวทางการเรียนรู้หลัก หรือ ‘อาหารจานหลัก’ ของโรงเรียน

ทั้งหมดนั้น ไดแอนเชื่อว่าเพราะการจัดทำโครงงานเป็นแนวทางจัดการเรียนรู้ที่อาจ ‘ออกหัวหรือก้อย’ ระหว่างพัฒนา กระนั้น เธอก็ไม่เชื่อว่าความกลัวดังกล่าวจะให้ประโยชน์ได้มากกว่าความริเริ่มสร้างสรรค์ ซัมมิตมักกำหนดเป้าหมายเป็นประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนก่อนเสมอ และค่อยๆ แผ้วถางเส้นทางสู่จุดหมายด้วยความมุ่งมั่น ตลอดความเข้าอกเข้าใจระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง

 

เพราะการลองอะไรใหม่ๆ ต่างจากเดิมย่อมนำมาซึ่งความไม่แน่นอน หลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหาร หรือพ่อแม่ จึงเห็นว่าการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ดังนั้นครูจึงเพียงสอนนักเรียนอย่างที่พวกเขาคุ้นเคย หรือก็คืออย่างที่ทำมาโดยตลอด

ครูหรือผู้บริหารโรงเรียนอาจชอบแนวทางการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงาน แต่การที่พวกเขาชอบไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะทุ่มเทเพื่อมัน เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขาก็มีหน้าที่รักษาอันดับของโรงเรียน หากพวกเขาเสี่ยงเลือกใช้แนวทางที่ต่างออกไป ทุกคนก็จะชี้นิ้วโบ้ยความผิดให้พวกเขาทันที

พ่อแม่เองก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องให้มีหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานเช่นกัน จะเป็นไรไปในเมื่อเราส่วนใหญ่ต่างก็เรียนรู้ด้วยแนวทางดั้งเดิมและเติบโตได้เป็นปกติ โรงเรียนอาจจะไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่อย่างน้อยพวกเขาก็รู้ว่าจะกำหนดทิศทางเพื่อเดินหน้าต่อไปอย่างไร

— หน้า 86-87

 

โดยนอกจากประสิทธิภาพในการพัฒนาผู้เรียนแล้ว โครงงานเหล่านั้นยังมีความท้าทาย และยึดโยงกับประเด็นหลากหลายในชีวิตประจำวัน นักเรียนของซัมมิตจะเป็นผู้เลือกหัวข้อที่พวกเขาสนใจ และขอความช่วยเหลือเพื่อจัดทำโครงงานได้จากครูได้ไม่จำกัดรายวิชา โครงงานของเด็กๆ จึงครอบคลุมองค์ความรู้หลากแขนง ทั้งยังอัดแน่นด้วยความใฝ่ฝัน มีทั้งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ศึกษาการให้เงินอุดหนุนการเกษตรในสหรัฐอเมริกา และนำเสนอโครงงานด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ว่าเงินอุดหนุนการเกษตรข้างต้นเป็นภาษีที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างไร และนักเรียนชั้นปีสุดท้ายที่จัดทำโครงงานซิม ซิตี้ (Sim City) โดยออกแบบเมืองใหม่ที่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอต่อนักออกแบบผังเมืองโดยตรง!

แล้วจู่ๆ เด็กๆ ที่ไม่ใช่นักเรียนหัวกะทิเหล่านี้รู้วิธีจัดทำโครงงานอันน่าทึ่งจนตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร พวกเขารู้ได้อย่างไรว่า ‘มาถูกทางแล้ว’ หรือต้องขอความช่วยเหลือเมื่อไร และจากใคร เด็กทุกคนรู้ว่าตน ‘กำลังทำอะไร’ อย่างที่ผู้เยี่ยมชมโรงเรียนมักประทับใจได้อย่างไร คำตอบของคำถามนี้อยู่ในชั้นเรียนพิเศษเพื่อกำหนดเป้าหมายที่ S.M.A.R.T ของซัมมิต

 

การเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานของนักเรียนที่ซัมมิต

 

เพราะจุดสูงสุดแห่งการเรียนรู้ คือการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ก่อนจะไปถึงชั้นเรียนพิเศษนั้น ควรเข้าใจเสียก่อนว่าซัมมิตมีกลไกใดในโรงเรียนที่รองรับชั้นเรียนดังกล่าว แม้กลไกนั้นอาจสร้างความกังวลให้ผู้ปกครองอยู่บ้าง นั่นคือเด็กๆ จะไม่เข้าเรียนในชั้นเรียน และจะไม่ใช้แบบเรียนด้วย!

ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน เพราะซัมมิตได้ออกแบบทางเลือกการเรียนรู้ที่หลากหลายให้ใช้ โดยที่ใช้เป็นหลักคือเพลย์ลิสต์การเรียนรู้ซึ่งเด็กๆ ลำดับเนื้อหาวิชาที่ต้องการเรียนรู้และเลือกเวลาทดสอบได้เอง บางคนเลือกเรียนรู้เนื้อหาที่ชอบก่อน บ้างเลือกกำจัดเนื้อหาที่ไม่ชอบ และบ้างก็พยายามหาสมดุลระหว่างเนื้อหาสองประเภทนั้น ทั้งยังเรียนรู้ที่ใดก็ได้ ตามแต่พวกเขาต้องการ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเด็กๆ ประสบปัญหาในการเรียนรู้ มีข้อสงสัย หรือต้องการความช่วยเหลือจากครู พวกเขาก็เพียงต้องไปที่บาร์กวดวิชาเพื่อขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการเรียนรู้จากครูได้โดยตรง แทนที่การเรียนรู้ในห้องเรียนที่อาจตอบสนองความต้องการของเด็กได้ไม่ครบทุกคน บางคนอาจล้ำหน้ากว่าใครเพื่อน ขณะที่บางคนยังสับสน ไล่ตามครูและเพื่อนๆ ไม่ทัน แรกๆ คณะครูไม่เห็นด้วยกับบาร์กวดวิชาเสียเลย ทว่าเมื่อพวกเขาใช้องค์ความรู้และทักษะที่ตนมีได้อย่างถูกที่ถูกทางด้วยบาร์กวดวิชา ครูทุกคนก็พอใจ และไม่ต้องสงสัยเลยบาร์กวดวิชานี้เป็นแนวทางง่ายๆ ที่พลิกโฉมการจัดการศึกษาได้น่าทึ่งเพียงใด

เมื่อนักเรียนของซัมมิตได้สำรวจและทำความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตนอย่างสม่ำเสมอผ่านทางเลือกเหล่านี้ พวกเขาจึงสามารถประยุกต์ใช้ความเข้าใจดังกล่าวในชั้นเรียนพิเศษวันละหนึ่งชั่วโมง เพื่อสร้าง “วัฏจักรการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง” ผ่านการกำหนดเป้าหมายที่ S.M.A.R.T คือเจาะจง (Specific) ประเมินผลได้ (Measurable) ทำได้จริง (Actionable) เป็นไปได้จริง (Actionable) และมีกรอบเวลาชัดเจน (Timebound) โดยเป้าหมายนั้นต้องเชื่อมโยงกับโครงงานที่นักเรียนกำลังจัดทำ เช่น กำหนดเป้าหมายว่าวันนี้จะทำความเข้าใจสมการทางคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้ในการจัดทำโครงงานให้ได้ และแสวงหาแนวทางบรรลุเป้าหมายในชั้นเรียนนั้น

ไม่ช้า พวกเขาจึงคุ้นเคยวัฏจักรการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง คือกำหนดเป้าหมาย วางแผนการเรียนรู้และดำเนินการตามแผนนั้น แสดงให้เห็นว่าตนได้เรียนรู้อะไร และสะท้อนคิดเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ในอนาคต โดยในชั้นเรียนพิเศษนี้ ครูผู้ดูแลจะคอยสอบถามให้พวกเขาได้สะท้อนคิดด้วยว่า พวกเขาได้แสดงพฤติกรรมของผู้นำการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือไม่ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างทันท่วงที การแสวงหาความท้าทาย ความพากเพียร การจัดการอุปสรรค และการขอความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเมื่อไม่อาจบรรลุเป้าหมายด้วยตนเอง

เห็นได้ชัดว่าทั้งชั้นเรียนพิเศษ บาร์กวดวิชา เพลย์ลิสต์การเรียนรู้ และการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานล้วนเกื้อหนุนกันและกัน เด็กๆ จะจัดทำโครงงานที่ท้าทายเหล่านั้นจนได้มาซึ่งองค์ความรู้ลึกซึ้งได้อย่างไร หาก ปราศจากทักษะการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเด็กๆ จะรู้ว่าพวกเขายังต้องพัฒนาทักษะใดได้อย่างไร หากไม่ได้ลองผิดลองถูกผ่านการจัดทำโครงงาน

ทั้งนี้ ซัมมิตยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น ทว่ามุ่งหน้าต่อไปเพื่อให้การสนับสนุนเด็กๆ อย่างตรงจุด ผ่านอีกกลไกในโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ มี ‘ที่ปรึกษา’ ที่พวกเขาไว้วางใจ เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพและอุปนิสัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ ตลอดจนการมีชีวิตที่เติมเต็มด้วยความสามารถในสานและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วย ‘ครูพี่เลี้ยง’ ที่รู้จักเด็กๆ ทุกคนและครอบครัวของพวกเขาอย่างถ่องแท้

 

https://www.youtube.com/watch?v=XB1DZCyGQVE&list=LL&index=1

การสร้างวัฏจักรการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ซัมมิต

 

ครูพี่เลี้ยงที่เป็นมากกว่า ‘ครูที่ปรึกษา’

ไดแอนกล่าวถึงประสบการณ์ของเธอเมื่อเป็นรองผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียว่า นักเรียนหัวกะทิหลายคนของเธอถูกมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดปฏิเสธ เพราะไม่พอใจ “จดหมายแนะนำตัว” ที่มีเนื้อหาเหมือนหรือคล้ายคลึงกันแทบทุกฉบับ โดยให้เหตุผลว่า หากครูไม่อาจสละเวลาเพื่อเขียนจดหมายแนะนำตัวซึ่งทำให้ผู้คัดเลือกรู้จักนักเรียนอย่างลึกซึ้ง หมายถึงนักเรียนคนนั้นๆ ไม่มีความโดดเด่นเพียงพอจะเข้าเรียนเช่นกัน และแทนที่จะขุ่นเคือง ไดแอนกลับเข้าใจทันทีว่าเพราะอะไร

 

ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วไปที่มีนักเรียน 1,500 คนนั้น ครูแนะแนวมีนักเรียนให้รับผิดชอบล้นมือถึง 400 หรือ 500 คน ครูแนะแนวมีเวลาพบนักเรียนเพียงสองครั้ง แต่ละครั้งกินเวลาเพียง 20 นาที พวกเขาจึงไม่ได้ให้คำปรึกษาหรือ คำแนะนำใดๆ ทำได้เพียงประมวลข้อมูลนักเรียน

เราต้องการแนวทางที่แตกต่างจากนี้ จะทำอย่างไรให้นักเรียนเป็นที่รู้จักดีของบรรดาครูและครูพี่เลี้ยงของพวกเขาในปีสุดท้ายของการเรียน การเขียนจดหมายแนะนำตัวใหม่สำหรับนักเรียนแต่ละคนจึงจะเป็นไปได้ และอาจถึงขั้นง่ายดายด้วยซ้ำ

— หน้า 121-122

 

ไดแอนจึงตัดสินใจสร้างกลุ่มครูพี่เลี้ยงที่ซัมมิตหลังศึกษางานวิจัยที่ล้วนสนับสนุนการให้คำปรึกษาในโรงเรียน นักวิจัยเหล่านี้เชื่อว่า เด็กที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ใหญ่ในโรงเรียนนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าเด็กที่ไม่มีมาก และเธอก็เชื่อว่าการสร้างสายสัมพันธ์นั้นต้องไม่ใช่ภาระของนักเรียนหรือครูโดยตรง ทว่าโรงเรียนต้องสนับสนุนการสร้างสายสัมพันธ์นั้นด้วย โดยไดแอนเรียกครูผู้ให้คำปรึกษาแก่เด็กๆ เหล่านี้ว่าครูพี่เลี้ยง เพราะครูที่ปรึกษามักหมายถึงผู้ให้คำปรึกษาเท่านั้น ขณะที่ครูพี่เลี้ยงเป็นผู้แนะแนวทางผู้มากประสบการณ์ที่นักเรียนให้ความไว้วางใจ

ครูพี่เลี้ยงที่ซัมมิตนี้จะมีความสัมพันธ์กับนักเรียนในความดูแลเป็นรายบุคคล และยังเป็นผู้นำกลุ่มนักเรียนราว 15-20 ซึ่งจะได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ คณะครูจะจัดกลุ่มนักเรียนอย่างรอบคอบ โดยต้องมีความหลากหลายทั้งทางเพศ เชื้อชาติ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ เพราะพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งนักเรียนทุกคนต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสานความร่วมมือกับผู้อื่นได้ทั้งในสังคมและสถานประกอบการต่างๆ

กลุ่มนักเรียนและครูพี่เลี้ยงจะพบปะกันเป็นประจำเพื่อแลกเปลี่ยนเป้าหมายของแต่ละคน และช่วยแก้ไขปัญหาของกันและกัน โดยนักเรียนแต่ละคนยังต้องพบครูพี่เลี้ยงของตนเป็นการส่วนบุคคลทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ครูพี่เลี้ยงยังรู้จักครอบครัวของนักเรียนอย่างดี พวกเขาไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนและเรียนรู้รายละเอียดของแต่ละครอบครัว เช่น นักเรียนคนนี้มีเชื้อสายโซมาเลีย มีพี่น้องชายหญิงหกคน พี่สาวคนใดที่ครูพี่เลี้ยงจะพูดด้วยได้กรณีที่ไม่สามารถติดต่อแม่ หรือแม่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษนัก ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุดคือ ครูพี่เลี้ยงจะดูแลนักเรียนกลุ่มเดิมทุกปี จึงไม่ต้องถามเลยว่าใครจะเป็นผู้เขียนจดหมายแนะนำตัวให้เด็กๆ เหล่านี้เมื่อพวกเขาเข้ามหาวิทยาลัย ยิ่งกว่านั้น ครูพี่เลี้ยงยังเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเมื่อเด็กๆ ขัดแย้งกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว รวมถึงเมื่อพวกเขาประสบปัญหาส่วนบุคคลอื่นๆ ด้วยการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการสะท้อนคิดโดยอาศัยองค์ความรู้จิตวิทยาการปรึกษา เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจสถานการณ์ที่ตนเผชิญ และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นด้วยตนเอง

 

บทบาทของครูพี่เลี้ยง

 

เห็นได้ชัดว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดของการก่อตั้งโรงเรียนในฝันเช่นซัมมิต กลับไม่ใช่อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่เช่นกฎหมายการศึกษา หรือนโยบายด้านการศึกษาในรัฐหรือประเทศหนึ่งๆ แต่เครือโรงเรียนที่จุดประกายความหวังและความร่วมมือในกว่า 27 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา และไม่ช้าก็เร็วความหวังเหล่านั้นคงเติบโตสู่ระดับนโยบายและวัฒนธรรม กลับถูกฉุดรั้งเมื่อเริ่มต้นด้วยความกังวลและความกลัวจนไม่อาจบุกเบิกเส้นทางใหม่

ด้วยเหตุนี้ ไดแอนจึงย้ำเสมอในหนังสือของเธอ ว่ามนุษย์เรียนรู้จากความสำเร็จมากพอๆ กับความผิดพลาด ความหวัง ความกล้าหาญ และการร่วมแรงร่วมใจดังที่ซัมมิตถ่ายทอด และบ่มเพาะจนงอกงามในหมู่นักเรียนต่างหาก คือหนทางสู่แนวทางใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กๆ ในวันนี้ต้องเผชิญอย่างแท้จริง

และด้วยเหตุนั้น ขณะที่ซัมมิตเตรียมเด็กให้พร้อมๆ  นั่นเอง โรงเรียนแห่งนี้จึงได้เติบโต พร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคในอนาคตไปพร้อมๆ กับพวกเขา ความมุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนนำมาซึ่งการพัฒนาตนเองของผู้ใหญ่ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนสองวัยที่ต่าง ‘พร้อม’ จะเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ก็นำมาซึ่งประโยชน์ต่อสังคม ทั้งในระดับชาติและระดับโลก ดังที่ไดแอน ทาเวนเนอร์กล่าวในบทแรกของหนังสือว่า

 

ระหว่างมองดูเด็กๆ ด้วยความยินดีที่เห็นพวกเขามาได้ไกลถึงเพียงนี้ ฉันก็ตระหนักว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ฉันเองได้เดินทางมาไกลเพียงใดพร้อมๆ กับพวกเขาด้วยเช่นกัน

— หน้า 24

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการซิม ซิตี้ได้ที่นี่

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลลัพธ์ของระบบครูพี่เลี้ยงได้ที่นี่

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเว็บไซต์เคล็ดลับการเลี้ยงดูลูกของซัมมิตได้ที่นี่

 

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต

Diane Tavenner เขียน

รสลินน์ ทวีกิตติกุล แปล

304 หน้า