‘วิจารณ์ พานิช’ เพิ่มพลังครู พลิกห้องเรียน เพื่อเด็กทุกคน

เรื่อง: อภิรดา มีเดช, วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

ภาพ: โกวิท โพธิสาร / The Potential

 

เมื่อพูดถึงการศึกษาไทย ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าความยากจนทำให้เด็กไทยกว่า 600,000 คนหลุดจากระบบการศึกษา และอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ ทั้งนี้มีเยาวชนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์จากครอบครัวยากจนกลุ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

สำนักพิมพ์ bookscape มีโอกาสพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) กสศ. นายแพทย์ผู้สนใจประเด็นการศึกษา เจ้าของผลงานหนังสือด้านการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม เช่น วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21 สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21 ร่วมแลกเปลี่ยนในหลากหลายประเด็นการศึกษา

เนื่องจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นผู้ที่เห็นความพิเศษของหนังสือ Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students From Poverty เขียนโดย Eric Jensen ครูและนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์สมองชาวอเมริกัน จากนั้น ศ.นพ.วิจารณ์ ตีความหนังสือเล่มนี้โดยละเอียดและแลกเปลี่ยนไว้ในบล็อกส่วนตัว ซึ่งต่อมาได้เพิ่มเติมตัวอย่างการประยุกต์ใช้จริงในประเทศไทยแล้วตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อ สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน

ล่าสุดหนังสือเล่มดังกล่าวจัดพิมพ์ฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน ซึ่งจุดเด่นอย่างหนึ่งคือช่วยสะกิดให้เห็นว่า ผู้ที่กำลังศึกษาหรือเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นครู เมื่อจบแล้วจะต้องดูแลลูกศิษย์ที่มีความเปราะบางหรือไม่พร้อมเป็นส่วนใหญ่ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า “Poor Students” ในที่นี้ไม่ใช่เพียงความยากจนขาดแคลนเท่านั้น หากมีความแตกต่างหลากหลายอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังเป็นเล่มที่นักศึกษาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ควรอ่าน

นับเป็นโอกาสดีที่ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ทำงานด้านการศึกษา รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย จะมีโอกาสเปิดมุมมองและทำความเข้าใจชุดความคิดพลิกห้องเรียนทั้ง 7 ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีผลการวิจัยรองรับ ได้แก่

  1. ชุดความคิดสานสัมพันธ์ (relational mindset)
  2. ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ (achievement mindset)
  3. ชุดความคิดเชิงบวก (positivity mindset)
  4. ชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ (rich classroom climate mindset)
  5. ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน (enrichment mindset)
  6. ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม (engagement mindset)
  7. ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา (graduation mindset)

“หนังสือเล่มนี้จะช่วยติดอาวุธทางชุดความคิด (mindset) และทางทักษะ (skill) ที่จริงเล่มนี้เดินเรื่องด้วยชุดความคิด แต่จริงๆ แล้วเนื้อในคือทักษะ คือ how-to แต่เป็น how-to ที่มีคำอธิบายเป็นเชิงชุดความคิด ดังนั้น ถ้าหากว่าครูมีจริตแบบนี้ออกไปทำงานในบ้านเมืองเรา พลเมืองไทยจะมีคุณภาพสูงกว่าที่เป็นอยู่อย่างมากมาย” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนต้องปรับตัวเรียนออนไลน์ และโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นับเป็นการตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน ศ.นพ.วิจารณ์ มองว่าชุดความคิดจากหนังสือเล่มนี้ยิ่งจำเป็นและสำคัญมากในห้วงเวลาเช่นนี้

 

อยากทราบความพิเศษหรือแตกต่างของหนังสือเล่มนี้ เหตุใดจึงเป็นเล่มที่คุณหมอแนะนำให้นักศึกษาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ควรอ่านนอกเวลา รวมถึงเป็นเล่มที่ควรมีในห้องสมุดทุกโรงเรียน

นี่คือหนังสือที่จะทำให้ครูมีจิตวิญญาณครู ประเด็นของหนังสือเล่มนี้ก็ตรงกับชื่อหนังสือที่ลงท้ายว่า “เพื่อเด็กทุกคน” จิตวิญญาณครูต้องเพื่อเด็กทุกคน โดยที่เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วเป็นที่รู้กันว่า คนเป็นครูจะต้องออกไปเผชิญกับลูกศิษย์ที่มีความไม่พร้อม มีความเปราะบางเป็นส่วนใหญ่

เด็กบางคนดูผิวเผินอาจดูเหมือนมาจากครอบครัวที่ฐานะดี แต่ว่าเข้ามาโรงเรียนด้วยความเปราะบาง คือเป็น poor student ในลักษณะที่ว่า ครอบครัวเขาอาจจะร่ำรวย แต่ว่าเขาเปราะบางในแง่ที่ว่า ความพร้อมต่อการเรียนไม่ค่อยดี เช่น ลูกคนรวยอาจจะมาแล้วไม่ค่อยพร้อมเรียนเพราะว่า พ่อแม่เอาอกเอาใจเกินไป เขาก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างที่ควรได้เรียน หรือเป็นลูกคนรวยก็จริงแต่ว่าพ่อแม่ทะเลาะกันอยู่เรื่อย ฉะนั้น เด็กก็จะได้รับความเครียดเรื้อรังมาจากบ้าน ทั้งๆ ที่บ้านรวย อันนี้ไม่นับถึงพวกบ้านจน

ดังนั้น รวมแล้วก็คือว่า ครูควรจะได้ตระหนัก จริงๆ ก็ตั้งแต่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ควรได้บอกกับลูกศิษย์ที่จะมาเป็นครู ว่าชีวิตเขาจะไปเผชิญ ไปเจอกับลูกศิษย์ที่มีความเปราะบางหรือมีความไม่พร้อมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ก็แปลว่าเกินครึ่ง ไม่ใช่ทุกคน เพราะฉะนั้น เขาต้องมีชุดความคิด มีจิตใจ และมีทักษะในการจะช่วยให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่เข้มแข็ง เป็นคนดีได้ นั่นคือหน้าที่ครู

แล้วหนังสือเล่มนี้จะช่วยติดอาวุธทางชุดความคิด และทางทักษะ ที่จริงเล่มนี้เดินเรื่องด้วยชุดความคิด แต่จริงๆ แล้วเนื้อในคือทักษะ คือ how-to แต่เป็น how-to ที่มีคำอธิบายเป็นเชิงชุดความคิด ดังนั้น ถ้าหากว่าครูมีจริตแบบนี้ออกไปทำงานในบ้านเมืองเรา พลเมืองไทยจะมีคุณภาพสูงกว่าที่เป็นอยู่อย่างมากมาย

ผมถึงบอกว่า ครูทุกคนหรือคนที่เป็นนักศึกษาครุศาสตร์ควรได้อ่าน แล้วอ่านเฉยๆ บางทีอาจจะไม่เข้าใจ จริงๆ แล้วควรตั้งกันเป็นชมรม คุยกัน แล้วอาจจะมีอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์บางคนที่มีอุดมการณ์อย่างที่ผมกำลังพูด คล้ายๆ มาเป็นกระบวนกร (facilitator) คอยตั้งคำถาม

ผมคิดว่าประเด็นที่ว่า คนที่กำลังเรียนเป็นครู เมื่อจบออกไปแล้วจะต้องไปดูแลลูกศิษย์ที่มีความเปราะบางหรือไม่พร้อมเป็นส่วนใหญ่ ผมเชื่อว่าคนเป็นครูไม่เคยคิดประเด็นนี้ ผมเองก็ไม่เคยคิดเหมือนกัน แต่พออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วมันสะกิด ผมถึงบอกว่าทุกคนควรได้อ่าน

 

เหตุใดการแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชุดความคิดโดยตั้งต้นที่ครูจึงสำคัญมาก ไม่ว่าชุดความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) เช่น เรื่องความฉลาดเป็นสิ่งติดตัวมาแต่เกิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ กับชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ที่มองว่า คนเราเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงทักษะต่างๆ และสติปัญญานั้นสร้างได้

เรื่อง fixed mindset กับ growth mindset นี่เป็นเรื่องใหญ่มากอีกด้านหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่เฉพาะวงการครู หรือเฉพาะเรื่องของการเรียนการสอนเท่านั้น เป็นเรื่องที่เรียกว่าเกี่ยวข้องกับชีวิต หรือว่าการทำงาน การดำรงชีวิตในทุกด้าน แต่ทีนี้ประเด็นการเลี้ยงดูเด็กกับการจัดการเรียนรู้ให้เด็ก โรงเรียนรับช่วงมาจากพ่อแม่อีกที สมมติว่าพ่อแม่ดูแลลูกจนถึง 3 ขวบ แล้วพาไปเข้าอนุบาล ฉะนั้นจริงๆ แล้วการเรียนรู้ในช่วงต้นของเด็กได้จากพ่อแม่ เรื่องนี้ก็สำคัญกับพ่อแม่มากเช่นกันในฐานะครูคนแรก

กระบวนการที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกในชั้นเด็กเล็ก โรงเรียนเด็กเล็กดูแลเด็ก ไปจนถึงโตเรื่อยไปจนกระทั่งไปทำงาน ไปอยู่ในองค์กรอะไรทั้งหลาย เรื่อง growth mindset เป็นเรื่องสำคัญมาก พูดง่ายๆ ก็คือ ความสำเร็จในชีวิตคน ความมานะพยายามสำคัญกว่าความฉลาด อันนี้สำคัญมาก หมายความว่า growth mindset สำคัญกว่าสมองดี แล้วก็ถ้าเป็น fixed mindset มันทำลายสมองดีได้

ทีนี้เด็กที่เกิดมาสมองดี แต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่และการสอนของครูทำให้กลายเป็น fixed mindset เกิดขึ้นอยู่เสมอ ก็คือพ่อแม่ก็ตาม ครูก็ตาม ชมความฉลาดของเด็ก คือเด็กฉลาดจะทำอะไรได้เร็ว เขาจะไว ก็ชมความไวของเขา เสร็จแล้วเด็กจะเข้าใจผิดคิดว่า อ๋อ จะทำอะไรได้ดี ต้องทำได้ไว ทำได้เร็ว เพราะฉะนั้น พอโตขึ้นอีกหน่อย บางเรื่องเขาทำได้ไม่เร็ว แล้วอาจเป็นเรื่องสำคัญ เขาก็จะบอกว่า นั่นไม่ใช่เรื่องของเขา สุดท้ายจะไม่มีเรื่องของเขาเลยสักเรื่อง เพราะว่าเขาไม่อดทน ไม่มานะพยายาม อันนี้ก็เป็นที่รู้กัน รวมถึงมีงานศึกษาด้านจิตวิทยาการเรียนรู้สนับสนุนแนวคิดนี้จำนวนมาก

เพราะฉะนั้น เขาถึงบอกว่า เวลาเลี้ยงดูเด็กที่บ้าน รวมถึงที่โรงเรียนด้วย เมื่อเด็กทำอะไรได้ดี ให้พยายามหาวิธีชมความมานะพยายาม อย่าชมความฉลาด อย่าชมความไวของเด็ก แต่ให้ชมว่า “โอ้ อันนี้ได้มานะพยายามดี”

เรื่องนี้คนรุ่นผมจะนึกถึงเพื่อนหลายคนสมัยเรียนหนังสือ พวกเราก็อยู่ในกลุ่มเด็กหัวดี เรียนได้เร็ว ส่วนเพื่อนบางคนที่หัวช้า บางทีก็โดนครูดุด่าอะไรต่ออะไร คล้ายกับว่าเป็นคนไม่เอาไหน ใช้ไม่ได้ แต่บังเอิญโชคดีที่เขาอดทน ด่าเท่าไรก็ไม่เจ็บ เขาอดทนมานะพยายาม ชีวิตเขาก็ได้ดี คือแม้ไม่ได้เป็นคนหัวไวเท่าไร แต่ก็มีอย่างอื่นมาชดเชย เช่น ความเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส มีอัธยาศัย มีจิตใจดีกับคนอื่น เพราะฉะนั้น การเรียนรู้และพัฒนาของคนเรามีหลายมิติ แล้วมิติที่สำคัญกว่าอาจจะเรียกว่าพรแสวง อย่างที่พูดกันว่าพรแสวงสำคัญกว่าพรสวรรค์นั่นละครับ

 

เรามีวิธีสร้างความเข้าใจกับครูรุ่นอาวุโสเกี่ยวกับเรื่อง growth mindset คือครูรุ่นใหม่อาจจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายกว่าหรือเปล่า

ตรงนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้มาก ผมเองไม่เชื่อในเรื่องการที่จะไปจูงครู ไปอะไรอย่างนี้ แม้กระทั่งว่านักเรียนก็ไม่ใช่ว่าครูเป็นคนไปทำให้เขาเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เพียงแต่ว่าเราเอื้อหรือหาทางอำนวยความสะดวกให้เขาเรียนได้ดี อย่างกรณีพูดถึงเรื่อง growth mindset เราจะเห็นว่า ตัวเขาเองเป็นคนทำตัวเขา แต่ว่าเราเป็นคนที่ไปชมเขาเรื่องความอดทน มานะพยายาม อย่างนี้ growth mindset จะค่อยๆ เกิดขึ้น โดยตัวเด็กเองจะค่อยๆ เรียนรู้ไปเอง จากที่เขามีประสบการณ์ ได้สังเกต ได้เห็น

การเรียนรู้ไม่ใช่การถ่ายทอด แต่เป็นการที่เรียกว่าช่วยทำให้เอื้อ ทำให้เจ้าตัวเรียนรู้ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เรียนรู้ คนที่เรียกว่าปิดตัวจากการเรียนรู้ ผมเองไม่นึกว่าเป็นหน้าที่ของใครนะ แต่ว่าเราก็ช่วยเขาได้อีกน่ะ ถ้าเขาปิดตัว เพราะว่ายามที่เขาอับจน ยากลำบาก เราก็จะสามารถช่วยแนะ หาวิธีให้เขาได้เปลี่ยนใจ พูดง่ายๆ ก็คือเปลี่ยนชุดความคิดนั่นละครับ

แต่จริงๆ ผมไม่คิดว่าเราเป็นคนเปลี่ยนเขา เขาเปลี่ยนตัวเขาเอง เราเป็นเพียงคนช่วยอำนวยความสะดวก แต่แน่นอนว่าจะต้องอาศัยสถานการณ์ อาศัยโอกาส แต่ผมไม่มีความเชื่อว่า เราทำให้เด็กเรียนรู้ เราถ่ายทอดความรู้ให้เด็ก เราถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ใหญ่ ให้เพื่อนร่วมงาน ผมไม่เชื่ออย่างนั้น

 

คุณหมอคิดเห็นอย่างไรกับผลลัพธ์ของหนังสือเล่มนี้ซึ่งพยายามถอดบทเรียนจากงานวิจัยออกมาเป็น 7 ชุดความคิดและชุดพฤติกรรมสำหรับครูที่จะถ่ายทอดไปยังนักเรียน ไม่ว่านักเรียนในกลุ่มขาดแคลน รวมถึงเด็กนักเรียนทุกคน

ดีมากเลยครับ ผมถึงติดใจหนังสือเล่มนี้ไง แล้วถ้าได้อ่านคำนำของเขา เราจะเห็นว่าผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์ตรง เขาเองเคยเป็นครูด้วย แล้วตัวเองก็มีประสบการณ์ตรงด้วย คิดย้อนกลับไปสมัยเด็กด้วย ก็เรียนรู้จากความผิดพลาดสมัยเด็กด้วย ผมคิดว่าอันนี้ดี ผมคิดว่าตรงนี้ไม่ได้เกิดจากทฤษฎี มันเกิดจากประสบการณ์ตรง เพียงแต่ว่าตีความเป็น คือสะท้อน (reflection) เป็น ผมคิดว่าเขาเก่งมาก

 

ในทัศนะและประสบการณ์ของคุณหมอ ใน 7 ชุดความคิดที่อยู่ในเล่ม คุณหมอคิดว่าชุดความคิดไหนมีความสำคัญที่สุดในบริบทสังคมไทย และควรเร่งดำเนินการให้เกิดก่อนเป็นอันดับแรก

จริงๆ แล้วทั้ง 7 ชุดความคิดนั้นเชื่อมโยงกัน ผมคิดว่าตัวที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อว่าลูกศิษย์ของตัวสามารถเรียนสำเร็จได้ (ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ) ซึ่งบ่งบอกว่า เด็กทุกคนสามารถเรียนสำเร็จได้ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความเชื่อสำคัญที่สุดที่นำไปสู่การทำหน้าที่ครูด้วยชุดความคิดอื่นๆ แล้วก็จะเอื้อไปสู่ประเด็นที่ว่า จริงๆ แล้วครูไม่ใช่รักแต่ลูกศิษย์หัวดีเรียนเก่งที่ทำรางวัลให้ครูหรือโรงเรียนเท่านั้น ผมคิดว่าตรงนั้นสำคัญที่สุด แล้วจะมีผลทำให้การศึกษายกระดับสมรรถนะ (competency – ทักษะ ความรู้ความสามารถ) ของเด็กขึ้นมาได้ทุกคน จะไม่มีเด็กที่ถูกทอดทิ้ง

แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ครบ เพราะอย่างที่ว่า คือคิดเฉพาะเรื่องนี้เท่านั้นยังไม่พอ ก็คือพอเป็นอย่างนั้นเข้า เราก็จะรู้ว่า ที่เด็กประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากพื้นฐานเขาไม่เหมือนกัน แล้วที่บอกว่า poor students ก็ poor คนละแบบอีก แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นบางคนมาโรงเรียนด้วยพฤติกรรมเกเร แต่ถ้าครูเข้าใจ ให้การยอมรับยกย่องเขา แล้วหาวิธีให้เขาได้เรียนตามแบบที่เขาชอบ ทำให้เขาได้เป็น somebody เขาอาจจะกลายเป็นเด็กที่ปราดเปรื่องแทนที่จะเป็นเด็กที่ก่อปัญหา แล้วก็อาจจะมีน้ำจิตน้ำใจกับเพื่อน เนื่องจากว่าเด็กต้องการการยอมรับ มันก็จะโยงไปสู่ชุดความคิดสานสัมพันธ์ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่ามันโยงกันไปโยงกันมาได้ แต่ในความเห็นผม คิดว่าหัวใจสำคัญที่สุดก็คือ “เพื่อเด็กทุกคน” อย่างที่ชื่อหนังสือบอก

 

อยากให้คุณหมอช่วยอธิบายความแตกต่างระหว่าง empathy กับ sympathy เพราะยังมีความสับสนเกี่ยวกับสองคำนี้อยู่พอสมควร ซึ่งหนังสือเล่มนี้แนะนำให้ครูมี empathy หรือความเข้าอกเข้าใจต่อศิษย์รวมถึงแนะนำวิธีการต่างๆ ที่จะทำความเข้าใจนักเรียนที่มีความเปราะบางและแตกต่างหลากหลายในห้องเรียนจริง

empathy หมายถึงเราเข้าใจเขาถ้าเป็นเขา ส่วน sympathy ในหลายกรณีจะหมายความว่าสงสาร sympathy จะมีการเตือนเยอะในหมู่หมอ โดยเฉพาะในกลุ่มจิตแพทย์ เพราะจะต้องไปเผชิญกับคนไข้ที่มีบาดแผลทางใจ แล้วถ้ามี sympathy มันจะเอาเรื่องหนักๆ กลับบ้าน แล้วลงท้ายตัวเองก็ซัฟเฟอร์ไปเลย แต่ empathy หมายความว่าเข้าใจเขาในสถานการณ์ของเขา หรือที่เขาเป็นเขา ด้วยความเข้าใจนั้นก็จะช่วยให้คำแนะนำหรือหาวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยเขา

ช่วงหลังภาคธุรกิจมีการใช้ empathy กันเยอะ เวลาธุรกิจทั้งหลายต้องการปรับปรุงบริการด้วย design thinking ต้องเริ่มด้วย empathize ซึ่งแปลว่าทำความเข้าใจว่าลูกค้าอยากได้อะไร แล้วจึงคิดต่อว่าถ้าอย่างนั้นจะปรับบริการอย่างไร ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง

ทีนี้พอถึงครู ก็เอาลูกศิษย์เป็นตัวตั้ง ผมมองเป็นความสนุก แต่ครูหลายคนอาจมองเป็นความทุกข์ ผมว่าถ้ามีลูกศิษย์ 30 คน ก็ได้ 30 แบบ ถ้าครูได้รับการฝึกมาให้สนุกกับ 30 แบบนี้ ชีวิตครูคงสนุกมาก

เราจะได้ยินเรื่องแบบนี้เยอะเลย แม้กระทั่งในเมืองไทย ตัวอย่างเยอะแยะเลย ก็คือเด็กต้องการมีตัวตน ต้องการแสดงออก แต่โรงเรียนไม่ยอมให้เด็กแสดงตัวตน ต้องการให้เด็กนั่งเงียบๆ ต้องการให้ฟังครู ซึ่งเดี๋ยวนี้การศึกษาไม่ได้เป็นอย่างนั้น การเรียนรู้ไม่ใช่การนั่งฟังครู การเรียนรู้คือการหาทางตอบโจทย์อะไรบางอย่าง เอาความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์

แล้วที่บอกว่า หน้าที่ครูสำคัญที่สุด ไม่ใช่ถ่ายทอดความรู้ ไม่ใช่มีหน้าที่ที่จะจับให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัย หน้าที่ครูคือท้าทายเด็กด้วยโจทย์ ซึ่งเมื่อเด็กทำได้แล้วเขาจะภูมิใจ ทำให้เด็กสนุก แต่พูดอย่างนี้ผมก็ไม่คิดว่าจะถูกร้อยเปอร์เซ็นต์นะ สำหรับเด็กบางกลุ่มอาจจะไม่ใช่ เพราะฉะนั้น อย่างที่บอกว่า เด็กในห้อง 30 คน ก็ 30 แบบ ผมว่าเป็นจุดที่สำคัญมาก

 

ที่มา: หนังสือ “สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน”

คุณหมอพูดถึงเด็กที่เปราะบางและมีลักษณะที่หลากหลาย คุณหมออธิบายเพิ่มหน่อยได้ไหมว่าลักษณะความเปราะบางของเด็กที่หลากหลายที่คุณหมอเจอและคิดว่ามีความสำคัญที่ครูจะต้องตระหนักเพื่อเรียนรู้ที่จะรับมือ

จริงๆ ผมไม่มีประสบการณ์ตรงหรอกครับ ผมก็อ่านหนังสือมา ประกอบกับสังเกตเอาบ้าง ฟังจากผู้มีประสบการณ์คนอื่นๆ บ้าง อย่างเด็กเปราะบางก็มีสารพัดแบบเลย ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ครูชั้น ป.5 เล่าให้ฟังว่า ตอนพักกลางวัน เด็กผู้ชายก็คุยกันโขมงโฉงเฉงเรื่องเล่นอเมริกันฟุตบอล คนที่เป็นดาราอเมริกันฟุตบอลก็จะคุยกันว่า โอ้โห ต่อไปข้างหน้า เขาก็จะไปเป็นดาราฟุตบอล นั่นก็แปลว่า ชีวิตดี มีรายได้เยอะ แล้วก็เด่นดัง นั่นคือสิ่งที่เด็กผู้ชายคุยกันโขมงโฉงเฉง ทีนี้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งก็นั่งฟังอยู่เงียบๆ หน้าจ๋อยๆ ครูเดินผ่านก็พูดเปรยๆ กับเด็กผู้หญิงว่า แต่ครูรู้นะว่าถึงเธอจะเงียบๆ เรียบๆ เธอก็เหมือนกับดอกไม้ที่บานช้าหน่อย แต่เมื่อบานแล้วเธอจะเป็นดอกไม้ที่สวยงาม ใช้คำทำนองนี้นะ

ครูก็ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งผ่านไปสองสามเดือน ก็มีแม่เด็กคนหนึ่งมาขอพบตอนเลิกงาน แล้วเข้ามาคุยว่า ครูไปพูดอะไรกับลูกสาวเขา ลูกสาวเขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย จากเดิมที่เซื่องๆ ไม่มีชีวิตชีวา ตอนนี้เป็นคนมีชีวิตชีวา มั่นใจในตัวเอง เห็นไหมว่าคำพูดของครูเพียงเปรยๆ ในเชิงให้กำลังใจเพราะเห็นว่าเด็กคนนี้มีดีเท่านั้น ยังส่งผลได้ขนาดนี้

เรียกว่าเด็กคนนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ครูเลย เป็นเด็กเงียบๆ หงิมๆ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้มีกำลังใจในการตั้งหน้าเรียนอะไรให้ดี แต่พอครูแสดงความเอาใจใส่ คือครูอาจไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ เพียงแต่ครูคนนี้มีจริตแบบนี้อยู่ แล้วก็เป็นคนที่ตั้งใจ พูดง่ายๆ คือมีจิตวิญญาณครู มันก่อพลังให้เด็กขนาดนั้น นี่คือตัวอย่างหนึ่ง

ผมว่าเมืองไทยก็มีเหมือนกัน นี่ก็เป็นแบบหนึ่ง เด็กคนนี้ก็ไม่ได้เปราะบางในลักษณะใดเลย แต่พลังเขาออกมาได้ไม่มาก แล้วครูไปทำให้เขาปลดปล่อยพลังออกมาได้ โดยครูไม่ได้ใช้ความพยายามใดๆ เลย แต่ครูคนนั้นต้องมีจิตวิญญาณครูมากเลย

อีกมุมหนึ่งก็คือ ครูที่เห็นแววเด็ก หรือครูที่สนใจว่าเด็กชอบอะไร ในเมืองไทยเราได้ยินเยอะ เด็กบอกว่าชอบเล่นดนตรี ครูก็ช่วยหาว่าบ้านใครมีเครื่องดนตรีอะไรบ้าง ลองมาประกอบเป็นวงดนตรีกัน ลองมาฝึก ใครรู้จัก หาเวลามาฝึกกัน มีเวลาให้ แต่ทั้งหมดนั้น นักเรียนต้องตั้งใจเรียนหนังสือด้วย จะมีเวลาให้ได้ฝึก เด็กก็ได้ทำในสิ่งที่พอใจ ในขณะเดียวกันการเรียนก็ดีขึ้นด้วย อย่างนี้จะเห็นว่า พวกอย่างนี้ที่เป็นจิตวิญญาณครู แล้วก็จะมีแทรกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ซึ่งผมถือว่าเป็นหนังสือที่ดีมาก

 

ถ้าคุณหมอคิดว่าใน 7 ชุดความคิด ชุดความคิดแห่งความสำเร็จโดดเด่นที่สุด ขณะเดียวกันครูก็ต้องช่วยนักเรียนวางเป้าหมายสุดท้าทายไปพร้อมกับนักเรียน ซึ่งเป้าหมายนี้เองในหนังสือระบุว่าต้องเป็นเป้าหมายที่สูงและดูจะท้าทายอย่างมากสำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับเชี่ยวชาญ (mastery) คุณหมอมองประเด็นนี้อย่างไร

ตามความเชื่อของผม คำว่าระดับเชี่ยวชาญคือเป้าหมายของการเรียน ผมเชื่อว่า เด็กทุกคนเรียนตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดได้ทุกคน หมายถึงทุกคนไปถึงระดับเชี่ยวชาญได้ทุกคน แต่ใช้เวลาไม่เท่ากัน

ประเด็นก็คือ ครูต้องตั้งเป้า แล้วชวนเด็กตั้งเป้าให้เขาเรียนได้ในระดับเชี่ยวชาญ แล้วเด็กก็รู้ด้วยว่า ได้ระดับเชี่ยวชาญนี่แปลว่าอะไร วัดได้อย่างไร สังเกตได้อย่างไร แล้วครูต้องมีวิธีที่จะให้เด็กเข้าใจว่า การที่เรียนได้ถึงระดับนั้นมีคุณค่าอย่างไร ต้องมีวิธีที่จะทำให้เกิดตรงนั้น

สำหรับเด็กที่คาดว่าจะไปสู่ระดับเชี่ยวชาญได้ยาก ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้เด็กทำได้จริงๆ ถ้าเขาใช้ความพยายามพอ และถ้ามีคนช่วย อย่าลืมว่า high expectation ไม่ได้อยู่โดดๆ มันตามมาด้วย high support ครับ ถ้ามีความคาดหวังที่สูงแล้วไม่ได้ตามด้วยการสนับสนุนที่สูง เด็กจะรู้สึกโดดเดี่ยว แล้วไม่มั่นใจ

เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กมีความมั่นใจ อุ่นใจว่าครูอยู่เคียงข้างที่จะช่วยแนะ แล้วก็ทดลองให้เห็นว่า ตอนเริ่มต้นเขาก็ไม่คิดว่าจะทำอย่างนี้ได้ เพราะมันดูเสมือนเกินกำลัง แต่ในที่สุดเขาทำได้ หนสองหน เรื่องสองเรื่อง ความคาดหวังที่สูงก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ถอดใจ แล้วยิ่งเขามีความมั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่าครูจะอยู่เคียงข้าง ผมว่าที่สุดแล้วเขาทำได้ครับ

ทีนี้ ในเรื่องการดำเนินการควบคู่กันระหว่างความคาดหวังที่สูงและการสนับสนุนในระดับเดียวกัน เราต้องไปเห็นเรื่องราวจริง เด็กไทยนี่ก็มีครับ ก็คือพอจะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไร เด็กก็จะท้อเป็นระยะๆ อย่าลืมนะครับ งานแบบนี้ควรทำเป็นทีม ไม่ใช่ทำคนเดียว อย่างไรก็ตาม เด็กก็จะท้อเป็นระยะๆ หน้าที่ครูก็คือ หาวิธีที่จะทำให้เขาไม่ท้อ จนในที่สุดเขาก็ทำได้สำเร็จ ถามว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้คืออะไร ไม่ใช่ความรู้เชิงเทคนิคของการทำงาน แต่เป็นสมรรถนะในการเอาชนะความยากลำบาก นั่นคือสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตของเขาที่จะค่อยๆ ก่อเกิดขึ้นมา

 

ก็คือ growth mindset หรือเปล่า

ไม่ใช่นะ mindset คือการทำ ถ้า mindset จะหยุดอยู่แค่ความคิด แต่นี่เป็นพฤติกรรม นี่ละสำคัญที่สุด ในความเห็นผม อันนี้สำคัญกว่าท่องจำทฤษฎีต่างๆ ได้เยอะ ตอบได้เก่ง อย่าลืมนะ พวกนั้นก็ได้ไปในตัว เพราะมันเป็นการเรียนแบบประยุกต์ใช้ไง มันเรียนแก้ปัญหา ทฤษฎีก็ได้ไปในตัว แล้วถ้าครูทำเป็น ก็ชวนเด็กคิดต่อไปว่า ที่เธอทำสำเร็จอย่างนี้ เธอใช้ความรู้อะไรบ้าง ความรู้นั้นแปลว่าทฤษฎีอะไร เด็กก็จะเข้าใจทฤษฎีโดยความเข้าใจ ไม่ใช่โดยท่องจำ นี่คือการเรียนรู้ที่แท้จริงในสายตาผม แต่ในชีวิตจริง ผมคิดว่าไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับความกล้าที่จะเผชิญความยากลำบาก แล้วก็ฟันฝ่าจนสำเร็จ อันนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์

 

ชุดความคิดที่ 7 ในหนังสือพูดถึงชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา แต่โลกทุกวันนี้ เราพูดถึงความสำเร็จนอกห้องเรียนเยอะขึ้น เรายกย่องคนอย่างสตีฟ จ็อบส์ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มากกว่าคนสำเร็จการศึกษาในระบบ แบบนี้ห้องเรียนกับครูยังเป็นคำตอบของการสร้างความสำเร็จให้กับเด็กทุกคนอยู่หรือเปล่า

คำตอบผมคือห้องเรียนกับครูยังเป็นคำตอบ ครูยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็ก แต่ไม่ใช่พฤติกรรมของครูแบบที่เราคุ้นเคย หรือแบบที่พวกเราเคยได้รับ เพราะนี่เป็นเด็กยุคใหม่ อีกอย่างก็คือสมรรถนะที่ต้องการก็ไม่เหมือนกับสมัยก่อน เราต้องการสมรรถนะแบบใหม่

เพราะฉะนั้น พฤติกรรมครูจึงต้องเป็นพฤติกรรมใหม่ ซึ่งก็แปลว่าต้องมาจากชุดความคิดใหม่ เพราะชุดความคิดนำไปสู่พฤติกรรม แล้วพฤติกรรมของครูก็ต้องมีการทดลองและปรับเปลี่ยนจากการปฏิบัติว่า เรื่องแบบนี้ตั้งใจจะให้ลูกศิษย์เรียนแบบนี้ เราก็ท้าทายหรือออกแบบอย่างนี้ๆ ได้ผลเป็นอย่างไร อาจทดลองกับเด็กกลุ่มนี้แล้วได้ผลดี แต่มีเด็กอีกสัก 30-40 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ผล ทำอย่างไรจะให้ได้ผลกับเด็กทุกคน จะต้องมีความแตกต่างหลากหลายอย่างไร นี่คือประเด็นของครู

พูดง่ายๆ ก็คือ โลกยุคนี้ต้องการครูที่มีทั้งชุดความคิดและทักษะในการทำหน้าที่ครูแบบใหม่ ไม่ใช่แบบเดิม ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีส่วนผสมของสองเรื่องนี้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องทักษะ จะเห็นว่ามี how-to สำหรับครูเยอะมาก รวมถึงเครื่องมืออีกไม่น้อยให้ครูไปใช้ประโยชน์ต่อได้

 

คุณหมอพอจะยกตัวอย่างในเมืองไทยที่ประยุกต์หรือปรับใช้ชุดความคิดทั้ง 7 ในห้องเรียนเพื่อให้คนอ่านเห็นภาพชัดขึ้นได้ไหม

คือเวลาใช้จริงเขาไม่ได้พูดถึงกันครับ มันใช้ไปแบบลื่นๆ เนียนๆ ไม่รู้ตัว โรงเรียนที่เรียกว่าประยุกต์ใช้เรื่องแบบนี้อย่างเนียนๆ ก็มักจะเป็นโรงเรียนกระแสทางเลือก ก็คือจัดให้เด็กได้เรียนผ่านการลงมือทำ มีโจทย์ให้เด็กทำ แล้วเด็กก็ทำกิจกรรมเป็นทีม เรียนเป็นทีม หลังจากทำแล้ว ไม่ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ก็มีทำกิจกรรมอย่างการสะท้อน เด็กๆ อาจเขียนรายงานว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างนี้ก็จะทำให้เด็กได้พัฒนาครบทุกด้าน เรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม (holistic learning)

 

ที่มา: หนังสือ “สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน”

 

ในเล่มนี้ จะเห็นว่าพูดถึงชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา แปลว่าจบออกไปเรียนต่อ หรือออกไปทำงาน ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่เขาได้เรียนเป็นสมรรถนะที่ซับซ้อนอย่างมาก คือมีทั้งส่วนความรู้ ทักษะ อุปนิสัยและบุคลิกภาพ รวมถึงจิตใจด้านในด้วย เพราะฉะนั้น การเรียนสมัยใหม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ต้องการความรู้เป็นตัวตั้ง ความรู้อาจจะอยู่ข้างใน แล้วกระบวนการเอาความรู้ไปใช้ทำกิจกรรม มันจะหล่อหลอมบุคลิกภาพ แล้วค่อยๆ ยกระดับสมรรถนะ ของเด็กขึ้นมาเอง

เพราะฉะนั้น มันมีส่วนที่มองไม่ค่อยเห็นเยอะมาก ครูจะต้องสังเกตให้เป็นว่าลูกศิษย์ได้เติบโตตามลำดับ หรือตามระดับพัฒนาการแต่ละชั้น ประถมต้นไปประถมปลาย ไปสู่ ม.ต้น ไปสู่ ม.ปลาย อย่างไร ผมคิดว่าอันนี้ก็จะเป็นทักษะหรือสมรรถนะของครูแบบหนึ่ง

ถ้าเราไม่ระวัง การศึกษาตามระบบจะให้เด็กเข้าสอบ NT (national test – การทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ) ซึ่งก็สอบเฉพาะวิชาหลัก ทิ้งหมดเลยพวกสมรรถนะหลายๆ ด้าน บุคลิกภาพหลายๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องจิตใจที่รับผิดชอบชั่วดี ซึ่งอยู่ภายในบุคลิกภาพ

จะเห็นว่าการเรียนสมัยใหม่นั้นซับซ้อนมาก แล้วก็เน้นการศึกษาแบบองค์รวมมากๆ หนังสือเล่มนี้ก็เรียกว่า เวลาใช้จริงสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องคิดถึงทฤษฎีพวกนี้ แต่ว่าครูจะต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า จะต้องพัฒนาอะไรให้ลูกศิษย์ เช่น ครูนึกอยู่ในใจว่า เราต้องฝึกให้ลูกศิษย์เป็นคนอึด อดทน สู้ความยากลำบากได้ ไม่ท้อถอยกับสิ่งที่ยากลำบาก คำถามคือครูสังเกตลูกศิษย์ได้อย่างไร และจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นบทเรียนเพื่อฝึกความอดทนเท่านั้น เด็กๆ ก็ต้องเรียนภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไปด้วย มันเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหา และนี่คือการเรียนรู้สมัยใหม่

 

ในหนังสือจะมีตัวอย่างการออกไปฝึกงานข้างนอก รวมถึงงานบริการชุมชน เพื่อฝึกเรื่องภายในของเด็กๆ คือเน้นการลงมือทำ เพื่อให้เด็กได้เจอประสบการณ์จริง การเรียนรู้ก็น่าจะเป็นไปในรูปแบบคล้ายๆ กันนี้ใช่ไหม

ที่จริงเรื่องการเรียนที่โรงเรียน ที่พูดว่าห้องเรียน จริงๆ แล้วยุคนี้ไม่ได้แปลว่านั่งอยู่ในห้องเรียนชั่วโมงสองชั่วโมง หรือเรียนครบห้าคาบแล้วกลับบ้าน ก็มีที่ครูพาออกไปข้างนอกด้วย บางวันก็อาจจะต้องไปดูสวนของคุณลุง ที่โรงเรียนทางเลือกจะทำอย่างนี้เสมอ เด็กๆ ก็จะตื่นเต้น แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็พาไปดูสวนคุณลุงนะ ต้องคุยก่อนว่าเราไปทำไม ครูจะมีเทคนิควิธี ครูพวกนี้เขาจะฝึกมาจนเนียนมากเลย เวลาตั้งโจทย์ เด็กๆ จะตื่นเต้นมากในการได้ไปสวนของคุณลุง แล้วก็รู้ว่าจะไปสังเกตอะไร พูดง่ายๆ คือจะไปเก็บข้อมูลอะไร จะไปถามอะไรคุณลุง คือกลับมาแล้วต้องกลับมาทำโจทย์นะ

หรืออย่างโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาที่บุรีรัมย์ จะมีช่วงหนึ่งที่ให้นักเรียนได้ทำนาจริงๆ เพราะโรงเรียนมีที่นา เด็กชั้นประถม ป.4 – ป.5 ทำนา แล้วครูที่สอนทำนาก็คือพ่อแม่เด็ก เพราะเขาทำจริงๆ ก็มาสอนเด็กเลย ลงมือทำเลย แต่นอกจากทำอย่างนั้นแล้ว ต้องมีการคุยไปด้วยว่า ปีหนึ่งทำได้ฤดูกาลไหนบ้าง ทำนากี่ฤดูต่อปี ดินจะเป็นอย่างไร น้ำมาจากไหน เรียนครบทุกอย่าง แล้วเด็กได้ทำนาจริง

เพราะฉะนั้น การเรียนที่อยากให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงต้องมีการลงมือทำครับ

 

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เรียกร้องจากครูค่อนข้างมากว่าจะต้องปรับอะไรบ้างเพื่อทำให้ห้องเรียนดีขึ้นสำหรับเด็กทุกคน แต่เราควรปรับระบบอะไรที่รายล้อมครูด้วยไหม เพื่อทำให้ครูได้เรียนรู้ชุดความคิดเหล่านี้ และสามารถนำ how-to หรือเทคนิคต่างๆ ไปใช้ได้จริงในห้องเรียน

ใจผมคิดว่าต้องเริ่มตั้งแต่โรงเรียนสอนครูหรือระบบการผลิตครู แล้วก็ต้องเปลี่ยนที่ครูของครู แน่นอนขณะนี้เรากำลังพูดเรื่องครู แต่จริงๆ ระบบที่ครอบครูอยู่ต้องการการเปลี่ยนอย่างยิ่ง และต้องการการเปลี่ยนในหลายส่วนด้วย เรื่องนี้ซับซ้อนเหมือนกัน

พูดถึงระบบการผลิตครู คณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ของไทยไม่เหมือนคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ของฟินแลนด์ และไม่เหมือนของที่สิงคโปร์ คือคณะผลิตครูของประเทศที่คุณภาพการศึกษาดี เขาทำงานกับโรงเรียน แล้วอาจารย์เขาลงไปทำงานที่โรงเรียนจริง เหมือนเขารู้ว่าลูกศิษย์เมื่อจบแล้วต้องออกไปทำงานในสถานการณ์แบบไหน แต่ของไทยเราไม่รู้ อาจารย์ศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ของไทยทำงานกับทฤษฎีการศึกษา ก็ต้องเปลี่ยนตรงนั้น

ทีนี้พอครูจบออกไปแล้ว ไปทำงานในโรงเรียน ความก้าวหน้าของครูไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าลูกศิษย์เรียนดีไม่ดี แต่ขึ้นอยู่กับว่าครูทำกระดาษขึ้นมาได้ชุดหนึ่ง แล้วได้เลื่อนวิทยฐานะ พวกนี้ต้องแก้หมดเลย มีทั้งส่วนที่เรียกว่าไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะว่าความก้าวหน้าของครูไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมือในการทำให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ดี นอกจากนั้นยังมีการทุจริตด้วย คือมีระบบจ้างทำผลงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้มีครับ

เรื่องนี้ผมมองว่าเราต้องไม่แก้ไขที่จุดเดียว ต้องแก้กันหลายๆ จุด แต่คำถามของคุณเมื่อสักครู่มันสะกิดใจผมนะ ที่บอกว่าเรียกร้องจากครูมาก

 

หมายถึงถ้ามองจากฝั่งครูในฐานะปัจเจก เขาอาจจะรู้สึกอย่างนั้นได้

ใช่ๆ แต่ถ้าหากเขารู้สึกอย่างนั้นเขาก็ไม่ควรมาเป็นครู เพราะว่าการที่ต้องทำอะไรที่ซับซ้อนและหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ผมคิดว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และก็เป็นธรรมชาติของงานที่ดีๆ แล้วก็เราสามารถฝึกให้ทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันได้อย่างเชี่ยวชาญและเป็นอัตโนมัติ ในบางกรณีก็ทำไม่ง่ายหรอก แต่มันเป็นความท้าทายที่จะทำให้ได้ แล้วก็มีตัวอย่างคนที่ทำได้จริง มีวิธีฝึกที่ทำให้ได้ดี

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าเป็นการเรียกร้องจากครูมากเกินไป ตรงนี้ผมไม่เชื่อ และอันนี้ละครับที่บอกว่า high expectation, high support มันไม่ได้ใช้เฉพาะกับนักเรียนนะ ต้องใช้กับครูด้วย คือเราต้องคาดหวังจากครูสูง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนครูอย่างมากด้วยเช่นเดียวกัน นี่คือความเชื่อของผม

 

ด้วยความที่ผู้เขียนเคยเป็นครูมาก่อน ดังนั้นจึงเข้าใจระบบ รวมถึงอุปสรรคที่ครูทั้งหลายเผชิญอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ในหนังสือ ผู้เขียนก็ empower ครูอยู่ตลอดเวลา คุณหมอมองตรงนี้อย่างไร

ใช่ แล้วไม่ใช่เฉพาะครูนะ คนทุกคนควรจะเป็นอย่างนั้น เราจะมีชีวิตที่ดีและมีผลิตภาพ (productive) เราต้องอยู่ในสภาพนั้น แล้วเวลาใส่พลัง ต้องไม่ใช่แค่รอให้คนอื่นมาใส่พลัง เราต้องใส่พลังให้ตัวเองเป็น นี่คือการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง หมายความว่า เด็กทุกคน มนุษย์ทุกคน ควรใส่พลังให้ตัวเองเป็น

 

อย่างในหนังสือจะมีเรื่องชุดความคิดเชิงบวก ซึ่งเป็นการมองในมุมครูไปยังศิษย์ ก็เลยมองกลับกันด้วยว่า แล้วจะทำอย่างไรที่จะสร้างครูที่มีชุดความคิดเชิงบวกด้วยว่า ในฐานะครูมีเรื่องเชิงบวกอย่างนี้อยู่ เขามีรางวัลทางสังคมเพื่อส่งเสริมให้มีกำลังใจในการทำงาน แล้วก็ empower เด็กต่อไป

ใช่ครับ ก็เป็นชุดความคิดเชิงบวกที่ไม่ใช่ต่อนักเรียนอย่างเดียว แต่ต่อตัวเองด้วย

 

นอกจากจะเป็นหนังสือที่ครูน่าจะได้อ่านเพื่อเรียนรู้ชุดความคิดและวิธีปรับการเรียนการสอนแล้ว พ่อแม่ควรอ่านเพื่อเรียนรู้เนื้อหาไปใช้สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยหรือไม่

ใช่ครับ ผมเอาหนังสือเล่ม สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน (ตีความเล่ม Poor Students, Rich Teaching) ไปให้อาจารย์สันติ (ผศ.ดร.สันติ เจริญพรวัฒนา) สอนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตอนที่เจออาจารย์ ผมก็เอาหนังสือเล่มนี้ให้แล้วบอกว่า มันคงไม่ค่อยเกี่ยวกับอาจารย์เท่าไร เพราะว่าเป็นหนังสือสำหรับครูที่สอนเด็กๆ แกก็รับไป แล้ววันหลังเจอกันอีกที แกบอกว่า หนังสือเล่มที่ได้จากผมไป เอาไปใช้กับลูกได้ ก็จริงอย่างที่คุณว่านี่ละ

 

นอกจากเด็กกลุ่มยากจนขาดแคลนแล้ว “เด็กนอกระบบการศึกษา” หรือกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาก่อนเวลาอันควร เรามีวิธีช่วยเหลืออย่างไร

อย่างนี้น่าจะไปคุยกับคนที่ทำงานที่ กสศ. ซึ่งเขาก็ร่วมพิมพ์หนังสือ สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน นี้ด้วย คือ กสศ. ทำเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทีนี้เราก็เข้าไปพยายามเชียร์ว่า คำว่า “การศึกษา” ไม่ได้แปลว่า “โรงเรียน” เท่านั้น มันแปลว่า คนตลอดชีวิต แล้วมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหลุดไปจากโรงเรียนเร็วเกินควร เขาควรได้รับการดูแลด้วย

หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียนแล้ว ถ้าหากมีอะไรบางอย่างไปช่วยเขา ก็น่าจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์ คือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กสศ. กำลังทำอยู่เยอะทีเดียวครับ ทั้งเรื่องเด็กในวัยเรียนที่หลุดออกไปนอกระบบการศึกษา รวมทั้งในยุคโควิดที่มีคนตกงาน เรียกว่าเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำนั้นมีช่องทางให้ทำได้เยอะทีเดียว

ตรงนี้เรียกว่ายุทธศาสตร์การเข้ามวย เราก็ต้องมีวิธีว่าจะเข้าไป empower เขาอย่างไร เพราะมีด้วยกันสารพัดวิธี พอมีเรื่องนี้ผมมักพยายามเข้าไปคุยกับ กสศ. ว่า จริงๆ แล้ว ที่บอกว่าคนด้อยโอกาส หรือคนเปราะบาง เราไปมองมุมเดียวที่เขาเป็นคนอ่อนแอ เราไม่ได้เห็นมุมที่แข็งแรงของเขา ทั้งที่เขามีมุมที่แข็งแรงด้วย

แล้วในหลายกรณี ถ้าเราไปเน้นมุมที่อ่อนแอก็ไม่ค่อยได้อะไร เราไปให้ความสำคัญมุมที่แข็งแรงไม่ดีกว่าหรือ แล้วมุมที่อ่อนแอก็จะแข็งแรงขึ้นได้โดยตัวของมัน นั่นเท่ากับว่า เราไม่ใช่ไปช่วยเหลือเขา แต่เราไป empower เขาให้ช่วยเหลือคนอื่น ให้ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน ท้องถิ่น พูดง่ายๆ ก็คือ ไปหาทางให้เขาดึงเอาศักยภาพของเขาออกมา เพื่อทำอะไรบางอย่างได้ดี แล้วไม่ใช่ทำแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ ยังมีคนสนับสนุนเขาอย่างจริงจังอยู่ตลอดครับ

ในช่วงโควิด พอดีผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาก็คุยกันถึงเรื่องว่า ลูกศิษย์ที่จบจะตกงานเยอะ แล้วจะกลับไปอยู่บ้านตามชนบท ทำอย่างไรจะมีงานทำ หรือทำอย่างไรเขาจะทำประโยชน์ได้ ผมก็พยายามไปคุยว่า อย่าเพียงแค่มีงานทำ แต่ว่าต้องให้เขากลายเป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นชนบท ไปทำให้ความยากลำบากในชนบทมันคลายด้วย พูดง่ายๆ คือให้เขาเป็น actor ไม่ใช่ผู้รับ (receiver) นี่คือวิธีคิดแบบผม

จริงๆ แล้ว การฝึกคนให้เป็น actor หรือ “ผู้กระทำ” (agent) แล้วไปอีกขั้นหนึ่งก็จะเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (change agent) พวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ในหนังสือเล่มนี้มีซ่อนๆ อยู่ในที่ต่างๆ การศึกษาสมัยใหม่สร้างคนให้เป็นผู้กระทำ ไม่ใช่เป็นผู้รอรับ

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าถ้าครูมีพฤติกรรมผิด คือการสอนแบบบอกให้นักเรียนท่องจำ เป็นการฝึกให้นักเรียนเป็นผู้รอรับ ส่วนการฝึกให้นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง แล้วในการทำกิจกรรมต้องฝึกใช้ความรู้ แล้วเขาเป็นผู้ไปแก้ปัญหา หรือทำให้เกิดผลอะไรบางอย่าง ทำให้เขากลายเป็น ผู้กระทำ

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าตัววิชา แต่อย่าลืมนะว่าต้องใช้วิชาด้วย แล้วได้เรียนวิชาด้วย แต่มันเลยไปสู่การสร้างมนุษย์ให้เป็นผู้กระทำครับ

 

คุณหมอคิดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงนี้ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไหม

แน่นอนครับ ถ้าไม่ระวัง เด็กที่พ่อแม่ไม่มีเงินที่จะซื้อคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ฯลฯ เขาก็จะเข้าไม่ได้ หรืออยู่ในที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ตเลย เขาก็เรียนไม่ได้

ผมเข้าใจว่าทางกระทรวงศึกษาธิการก็เข้าใจเรื่องนี้ เมื่อไม่นานนี้ ผมฟังวิทยุจุฬาฯ รัฐมนตรีฯ ท่านพูดเรื่องนี้อยู่ ผมก็ใจชื้นนะที่ท่านบอกว่า โรงเรียนบนเขาไม่มีใครไป เพราะฉะนั้น โควิดก็ไม่ได้ไป ทำไมจะเปิดก่อนกรกฎาฯ ไม่ได้ ผมก็ว่าดีๆ คิดอย่างนี้เข้าท่า คือไม่ใช่ว่าต้องเหมือนกันหมดทั้งประเทศ แต่ต้องเข้าใจว่า ที่บอกว่าการเรียนทางไกล ถ้าไม่ระวังจะทำให้เด็กที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วด้อยโอกาสยิ่งขึ้น

 

แล้วอย่างนั้น แนวคิดในหนังสือก็ยิ่งจำเป็นใช่ไหม เพื่อให้ครูได้นำมาปรับใช้ในการเรียนการสอน

คือครูต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แล้วครูเป็นครูสอนศิษย์ คำว่า “สอน” ก็น่าจะเป็นการสอนแบบไม่สอน หลักสำคัญคือ ไม่ใช่สอนวิชา แต่สอนศิษย์ แล้วจริงๆ ก็คือ เป็นครูที่หาทางทำให้ศิษย์เป็นมนุษย์ที่มานะพยายาม มีตัวตน ต้องการเป็นคนที่มีประโยชน์ เป็นคนดี ซึ่งเด็กๆ ไม่ว่าเด็กจนหรือไม่จนอย่างไรก็ต้องการเป็นแบบนี้กันทั้งนั้น แต่เส้นทางของเขาจะไม่เหมือนกัน อย่างเด็กบางคนเรียกร้องความสนใจโดยวิธีเกเร แต่เด็กบางคนก็อ่อนน้อม อ่อนหวาน ก็ต้องมีวิธี empower เขา

หัวใจสำคัญอยู่ตรงนี้ครับว่า ลงท้ายแล้วครูมีความสุขความภูมิใจจากการทำให้ลูกศิษย์ได้เติบโตไปเป็นคนที่แข็งแรงและเป็นคนดี และเป็นกำลังของบ้านเมือง ไม่ใช่คนที่ไปสร้างความลำบาก หรือคนที่แบมือขอเพื่อรอรับ ครูต้องมีความสุขความภูมิใจตรงนั้น

 

คุณหมอมีอะไรอยากทิ้งท้ายหรือฝากถึงคุณครูไหม

ผมมีความเชื่อว่า ชีวิตครูเป็นชีวิตที่ดี ถ้าพูดด้วยคำที่หรูหน่อยก็คือ ชีวิตครูเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เพราะเป็นชีวิตที่ช่วยทำให้มนุษย์เราได้เติบโต เจริญก้าวหน้า แล้วครูยุคนี้โชคดีตรงที่ว่ามีศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเยอะมาก หนังสือเล่มนี้ก็เป็นตัวอย่าง ก็จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครูทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น

ใจผมคิดว่า การได้เป็นครูถือว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ เป็นโอกาสอันประเสริฐ แล้วอีกอย่างก็คือ เด็ก 30 คนก็ 30 แบบ อันนี้ก็เป็นโอกาสอันประเสริฐอีกเหมือนกัน ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ แล้วได้หาวิธีการทำให้เด็ก 30 แบบได้เติบโตครบด้านไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีประโยชน์ แล้วพอเวลาผ่านไป ชีวิตครูก็จะเจอลูกศิษย์ที่ไปได้ดิบได้ดี เมื่อเขากลับมาหาก็ทำให้เราชื่นใจครับ