ใบอนุญาตทางศีลธรรม-ภาพจำเหมารวม-อิทธิพลคนต้นแบบ: รวมเกร็ดชวนอ่านจากหนังสือ “ออกแบบเพื่อเท่าเทียม”

เรื่อง: ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์
ธนัยนันท์ ศิริเรืองวัฒนา

พฤติกรรมและปรากฏการณ์ในสังคมล้วนส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและอคติทางเพศ ชวนอ่านข้อค้นพบชวนคิดและหาวิธีออกแบบ “สนามแข่งที่เท่าเทียม” เพื่อลดอคติทางเพศในสังคม จากหนังสือ ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

 

ใบอนุญาตทางศีลธรรมกับการเลือกปฏิบัติทางสังคม

 

 

คุณเคยกินอาหารสุขภาพสักมื้อแล้วคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์กินชานมไข่มุกหรืออู้ไม่ไปฟิตเนสบ้างไหม? เคยลดค่าไฟได้เพราะไม่เปิดแอร์แล้วหลงดีใจจนเปิดไฟทิ้งไว้บ่อยๆ โดยไม่รู้สึกผิดบ้างหรือเปล่า? นี่คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ใบอนุญาตทางศีลธรรม”

ปรากฏการณ์ใบอนุญาตทางศีลธรรม (moral licensing) หมายถึงการที่คนซึ่งได้ทำ (หรือแค่เชื่อว่าได้ทำ) เรื่องดีแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองได้ใบอนุญาตให้ทำเรื่องแย่ๆ

การทดลองชิ้นหนึ่งในไต้หวันช่วยให้เราเห็นประเด็นนี้ได้อย่างดี นักวิจัยบอกผู้เข้าวิจัยบางคนว่าพวกเขาได้รับวิตามินรวม แล้วบอกคนที่เหลือว่าพวกเขาได้ยาหลอก ปรากฏว่าคนที่คิดว่าตัวเองได้รับวิตามินรวมมีโอกาสสูบบุหรี่มากขึ้นและออกกำลังกายหรือเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพน้อยลง ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนล้วนได้ยาหลอกทั้งสิ้น แต่คนที่คิดว่าตัวเองได้ประโยชน์ทางสุขภาพจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้มอบใบอนุญาตทางศีลธรรมให้ตัวเองในการสูบบุหรี่มากขึ้น

ปรากฏการณ์ใบอนุญาตทางศีลธรรม หมายถึงการที่คนซึ่งได้ทำ (หรือแค่เชื่อว่าได้ทำ) เรื่องดีแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองได้ใบอนุญาตให้ทำเรื่องแย่ๆ

การให้ใบอนุญาตทางศีลธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายมิติ รวมถึงความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติด้วย ตัวอย่างเช่น คนที่ได้โอกาสสนับสนุนบารัก โอบามา ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2008 กลับมีโอกาสเลือกปฏิบัติกับชาวแอฟริกันอเมริกันมากขึ้น เพราะถือว่าตัวเองได้เลือกประธานาธิบดีผิวสีไปแล้วนั่นเอง

ปรากฏการณ์นี้รุนแรงหนักในกลุ่มคนที่มีอคติทางเชื้อชาติหรือเพศสภาพอยู่แล้ว จนกลายเป็นประเด็นว่าโครงการส่งเสริมความหลากหลายที่มุ่งเจาะกลุ่มคนที่เลือกปฏิบัติที่สุดอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะผู้จัดการจอมเหยียดเพศซึ่งผ่านการฝึกอบรมนี้อาจถือว่าตัวเองมีใบอนุญาตทางศีลธรรมแล้ว เมื่อต้องสัมภาษณ์งานครั้งต่อไป กลับกลายเป็นว่าการฝึกอบรมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพและเชื้อชาติอาจยิ่งทำให้ประเด็นเรื่องเพศสภาพและเชื้อชาติเด่นชัดขึ้นแทน

การตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังทำตัวประหนึ่งได้รับ “ใบอนุญาตทางศีลธรรม” จะช่วยให้คุณทบทวนการกระทำของตัวเองมากขึ้น เพราะคงไม่ใช่เรื่องดีหากคุณปล่อยให้การทำเรื่องดีแค่นิดหน่อยกลับเปิดโอกาสให้ตัวเองทำเรื่องแย่ๆ เพิ่มขึ้นแทน

 

“ผู้หญิงเก่งภาษา ผู้ชายเก่งเลข” — ภัยคุกคามจากภาพจำเหมารวม

 

 

“ผู้หญิงเก่งภาษา ผู้ชายเก่งเลข”

คุณเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่หวาดผวาคณิตศาสตร์หรือการคิดคำนวณ หรือเป็นผู้ชายที่มองว่าตัวเองอ่อนด้อยเรื่องวิชาสายภาษาบ้างไหม หากคำตอบคือใช่ บางทีคุณอาจไม่ได้อ่อนวิชาเหล่านั้นจริงๆ แต่ตกอยู่ภายใต้ “ภัยคุกคามจากภาพจำเหมารวม”

ภัยคุกคามจากภาพจำเหมารวม (stereotype threat) คือแนวคิดที่เสนอว่า มีปัจจัยเชิงสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้คนปักใจเชื่อภาพจำเหมารวมเชิงลบเกี่ยวกับกลุ่มที่ตัวเองสังกัดอยู่ เช่น เมื่อบอกผู้หญิงว่าข้อสอบคณิตศาสตร์นั้นยากเป็นพิเศษสำหรับผู้หญิง พวกเธอก็จะทำคะแนนสอบได้น้อยกว่าผู้ชาย แต่เมื่อบอกว่าข้อสอบนี้ยากพอกันสำหรับคนทั้งสองเพศสภาพ ช่องว่างระหว่างเพศสภาพในเรื่องคะแนนสอบก็กลับอันตรธานไป

แท้จริงแล้วสิ่งนี้เกิดจากอะไร ประสาทวิทยาศาสตร์ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อผู้หญิงเผชิญกับสัญญาณในสภาพแวดล้อมที่ส่อถึงภัยคุกคาม กิจกรรมทางประสาทจะเพิ่มขึ้นในส่วนลึกของกลีบสมองส่วนหน้าผาก ซึ่งเป็นเครือข่ายประสาทที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลเชิงลบทางสังคม และเมื่อกิจกรรมส่วนนี้เพิ่มขึ้น คะแนนสอบเลขก็จะแย่ลง

แล้วเราจะสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร อาจเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อทั้งผู้หญิงและผู้ชายในการเรียนและการทำงาน เช่น จากการทดลองในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งสุ่มนักเรียนมัธยมปลายให้เข้าเรียนในห้องเรียนสหศึกษาและห้องเรียนหญิงล้วนชายล้วน พบว่าเด็กหญิงทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้นมากและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเมื่ออยู่ในห้องหญิงล้วน

นั่นแปลว่าเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มจะทำข้อสอบคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้นเมื่อสัดส่วนเด็กผู้ชายรอบตัวลดน้อยลง ซึ่งอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าไม่ถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมรอบตัว

เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มจะทำข้อสอบคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้นเมื่อสัดส่วนเด็กผู้ชายรอบตัวลดน้อยลง ซึ่งอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าไม่ถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมรอบตัว

อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงเรียนหญิงล้วนชายล้วนไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังใช้ต้นทุนสูง เราจึงควรพิจารณาแนวทางอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้แสดงออกอย่างเท่าเทียมมากขึ้น หรือขจัดสัญญาณที่กระตุ้นภาพจำเหมารวม เช่น ย้ายคำถามที่ให้ผู้เข้าสอบระบุเพศสภาพของตนไปไว้ท้ายข้อสอบแทนที่จะไว้หัวข้อสอบ เพื่อลดการตอกย้ำภาพจำเหมารวมก่อนทำข้อสอบนั่นเอง

 

อิทธิพลของ “คนต้นแบบ” ต่อความเท่าเทียมทางเพศ

 

 

อิทธิพลของผู้นำหญิงส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำเชิงเพศสภาพในสังคมอย่างไร?

แม้ในปัจจุบันเราจะเห็นผู้หญิงก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำมากขึ้นกว่าในอดีต แต่หลายสังคมและวัฒนธรรมยังคงไม่อาจสลัดกรอบคิดเรื่องบทบาทเชิงอำนาจที่ด้อยกว่าของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม การที่ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็น ‘ผู้นำ’ นับเป็นเรื่องดี เพราะปรากฏการณ์นี้จะส่งอิทธิพลต่อความลำเอียงทางเพศในสังคมโดยรวมไม่น้อย

การที่ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็น ‘ผู้นำ’ นับเป็นเรื่องดี เพราะปรากฏการณ์นี้จะส่งอิทธิพลต่อความลำเอียงทางเพศในสังคมโดยรวม

ในปี 1993 รัฐบาลอินเดียแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มบทบัญญัติว่า นับแต่นี้ไป สภาหมู่บ้านต้องกันที่นั่ง 1 ใน 3 ไว้ให้ผู้หญิง ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “กฎหมายที่เป็นหมุดหมายสำคัญ”

งานศึกษาชิ้นหนึ่งจากรัฐมหาราษฏระของอินเดียแสดงให้เห็นว่า หากกำหนดให้ผู้หญิงเป็นผู้นำสภาไว้ในการเลือกตั้งรอบก่อน ผู้หญิงจะมีโอกาสลงเลือกตั้งมากขึ้นในรอบต่อไป การได้เห็นผู้นำหญิงนั้นช่วยเปลี่ยนมุมมองให้ผู้หญิงมั่นใจมากขึ้นว่าตัวเองก็ลงสมัครชิงตำแหน่งได้ และทำให้ผู้ชายยอมรับผู้หญิงในฐานะผู้นำมากขึ้น แบบทดสอบชี้ว่า ชาวบ้านชายที่ไม่เคยมีผู้นำหญิงมาก่อนจะให้คะแนนผู้นำหญิงน้อยกว่าผู้นำชายอยู่เสมอ แต่ชาวบ้านชายที่เคยมีผู้นำหญิงมาแล้วจะบอกว่าผู้นำชายทำงานได้ผลน้อยกว่า

นอกจากนี้ เมื่อมีผู้หญิงเป็นผู้นำในสภามากขึ้น ก็มีผู้หญิงลุกขึ้นพูดในการประชุมสภามากกว่าที่เคย และยังส่งผลให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาแจ้งความเรื่องการถูกละเมิดมากขึ้น เพราะพวกเธอมั่นใจมากขึ้นว่าตำรวจจะลงมือสอบสวนเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่อาจจะน่าตื่นตะลึงที่สุดก็คือ คนต้นแบบที่เป็นผู้นำหญิงยังส่งผลต่อความฝันเรื่องหน้าที่การงานซึ่งพ่อแม่วาดไว้ให้ลูกของตนอีกด้วย

หลังจากมีผู้นำหญิงมาสองคนแล้ว พ่อแม่จะมีแนวโน้มอยากให้ลูกสาวของตนเรียนสูงกว่าระดับมัธยมมากขึ้น ซึ่งนับเป็นการขจัดช่องว่างระหว่างเพศสภาพในเรื่องความคาดหวัง อิทธิพลของเรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่พ่อแม่ แต่ยังลามไปถึงลูกสาวด้วย เด็กหญิงที่ผ่านการมีผู้นำหมู่บ้านหญิงมาแล้วจะใช้เวลากับกิจกรรมในบ้านน้อยลงและอยากแต่งงานช้าลง ระบบโควตาสร้างคนต้นแบบให้เด็กหญิงและพ่อแม่ ทำให้คนทั้งสองกลุ่มได้จินตนาการและมองเห็นถึงคุณค่าของอนาคตในรูปแบบที่ต่างออกไป

 

ร่วมหาวิธีออกแบบ “สนามแข่งที่เท่าเทียม” และขจัดความลำเอียงทางเพศสภาพเพิ่มเติมได้ในหนังสือ

ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
What Works: Gender Equality by Design
Iris Bohnet เขียน
ฐณฐ จินดานนท์ แปล