vdo: ความรู้ใหม่ด้านจิตวิทยาเด็กที่นำไปใช้ได้จริง

 

หลังจากวงคุย “เรียนรู้-อยู่กับเด็ก: ถอดรหัสประสบการณ์การใช้จิตวิทยาเด็กผ่านมุมมองหลากหลายอาชีพ” จบลง วิทยากรทั้งสี่ท่านและผู้ดำเนินรายการขอร่วมแบ่งปันความประทับใจและความรู้ใหม่ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ได้จริง เริ่มต้นที่ นิดนก-พนิตชนก ดำเนินธรรม นักเขียนและคุณแม่ลูกอ่อน เจ้าของเพจ NidNok 

 

คำกล่าวที่ว่า “เด็กๆ เหมือนผ้าขาว” เป็นความเข้าใจผิดในแง่จิตวิทยาเด็กหรือไม่ ปัจจุบัน มีการวิจัยหรือค้นพบอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับพัฒนาการหรือสมองของเด็กบ้าง และบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองในช่วงต้นของชีวิตเด็ก สำคัญมากแค่ไหน อย่างไร ฟังคำตอบจาก อ.ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้แปลหนังสือ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา

 

พญ.ดาริน จตุรภัทรพร (หมอเป้) แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลกรุงเทพ และคุณแม่ลูกสอง เจ้าของเพจ “รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด” แบ่งปันว่าสิ่งใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้หลังจากอ่าน จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา คือ เด็กๆ นั้นรู้เรื่องมากกว่าที่เราคิด ทำให้เธออยากใช้เวลากับลูกทั้งสองมากขึ้น จะได้สังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และนำมาปรับใช้ได้จริง อีกเรื่องที่หมอเป้บอกคือ หลังจากมีความรู้และประสบการณ์มากขึ้นในการเลี้ยงลูกคนแรก เวลามีลูกคนที่สอง คุณแม่อย่างเธอรู้สึกชิลล์ขึ้น ไม่เกร็งเท่ากับตอนเลี้ยงคนแรก

 

เมื่อเด็กๆ ได้ลงมือทำงานศิลปะ ศิลปะก็ทำงานกับเด็กๆ

ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด “สตูดิโอ ๗ Arts Inner Place” ผู้เชี่ยวชาญการระบายสีสำหรับเด็กในแนวมนุษยปรัชญา เห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เป็นตัวของตัวเอง และเริ่มลงมือทำศิลปะ ซึ่งจะก่อร่างเป็นรากฐานด้านในที่สำคัญสำหรับพวกเขาในวันข้างหน้า

 

ปิดท้ายด้วยการเลี้ยงลูก “แนวทดลอง” ของ ไผท ผดุงถิ่น ตัวแทนคุณพ่อยุคใหม่ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ BUILK Thailand สตาร์ทอัพไทยรุ่นบุกเบิก ว่ามีการควบคุมเวลาหน้าจอของลูกมากน้อยแค่ไหน และพ่อแม่สมัยนี้จะเท่าทันพฤติกรรมด้านเทคโนโลยีของลูกได้อย่างไร

ไผทมองว่าจำเป็นที่ผู้ปกครองควรตามเทคโนโลยีให้ทัน คือพอรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีไปพร้อมกับลูก ไม่ใช่ว่าห้ามทุกอย่าง หรือคอยหยิบยื่นไปเสียทุกอย่าง แต่สุดท้ายปลายทางการเลี้ยงลูกสำหรับครอบครัวเขาก็คือ “อยากให้ลูกมีความสุขในชีวิต”