สยามปฏิวัติ: ความคิดประชาธิปไตยสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 อันเป็นวาระครบปีที่ 87 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งชุมนุมเพื่ออ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร ที่ได้ประกาศในเช้าวันยึดอำนาจเมื่อปี 2475 การชุมนุมจัดขึ้นที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งในหลายปีหลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กลายเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการชุมนุมประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารโดยคณะทหาร คำขวัญและป้ายประท้วงส่วนใหญ่เสนอความคิดว่าด้วยประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การเลือกตั้ง คนเท่าเทียมกัน และสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนั้นเป็นการกระทำและความคิดที่ผิดกฎหมายของรัฐในขณะนั้น

น่าคิดมากว่าทำไมยังต้องมีการเรียกร้อง ความคิดประชาธิปไตย อันเป็นความคิดเดียวกันกับที่รองรับการปฏิวัติระบอบการเมืองการปกครองของประเทศตลอดเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำไมการเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยเสรีถึงกลายเป็นความผิดและอาชญากรรมต่อรัฐในระยะหลัง

มองอีกอย่างได้ว่า ผ่านมาจนเกือบหนึ่งศตวรรษของการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การสร้างและสืบทอดความเป็นประชาธิปไตยของไทยยังดำเนินต่อมาอย่างลุ่มๆ ดอนๆ หรือผู้ใดจะระบุฟันธงว่า ก็เพราะไทยล้มเหลวในการสร้างและธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยของประชาชน ก็คงจะไม่เกินเลยนัก

ปัญหาในเรื่องดังกล่าวนี้เคยถูกถามและตอบมาแล้ว อาจยาวนานพอๆ กับการที่ความคิดและคติประชาธิปไตยถูกนำเสนอและโฆษณาปลุกระดมในยุคแรกจนถึงปัจจุบัน ความสำเร็จและความล้มเหลวของการสถาปนาและสร้างระบอบประชาธิปไตยไม่เคยหยุดยั้งการต่อสู้ระหว่างฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายสนับสนุนเลย ทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น? การค้นหาคำตอบหลีกไม่พ้นที่จะต้องกลับไปศึกษาถึงสภาพและความเป็นมาของแต่ละสังคม นั่นคือการพิจารณาในบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ว่ามีลักษณะและธรรมชาติอย่างไรในการกำกับและสร้างความหมายทางสังคมที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อระบอบประชาธิปไตย วิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราค้นหาคำตอบข้างต้นนี้ได้คือการกลับไปอ่านหลักฐานชั้นต้นของการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามไทย

นานมาแล้วที่ความคิดทางการเมืองและสังคมผูกติดอยู่กับความเชื่อและคำสอนทางศาสนาหรือคติบรรพบุรุษและผี อำนาจที่ใช้ในการควบคุมบังคับและกล่อมเกลาผู้คนในชุมชนที่ค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้นจำต้องอาศัยความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและผีบรรพบุรุษ จนกระทั่งเมื่อสังคมวิวัฒน์มาถึงระดับที่คิดอย่างเป็นเหตุผลและเป็นนามธรรมได้แล้ว จึงเกิดศาสนาที่เป็นทางการขึ้น เช่น พราหมณ์ พุทธ คริสต์ อิสลาม และขงจื่อ สำหรับสังคมไทยนับแต่ยุคโบราณมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ก็รับแนวคิดการเมืองดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและคงทน แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในหลักการแต่ประการใด นอกจากในเรื่องรูปธรรมย่อยๆ ที่ต่างกันบ้างในแต่ละรัชกาลและอาณาจักร คลื่นความคิดการเมืองแบบใหม่มากระทบในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา จนนำไปสู่การปฏิรูปการปกครองและการบริหารอาณาจักรใหม่ให้เป็น “ศิวิไลซ์” หรือแบบตะวันตกมากขึ้น

ในบรรดาความคิดสมัยใหม่ที่เข้ามาในกรุงสยามแต่แรกนั้น ไม่มีปัญญาชนสยามคนใดที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศมากเท่ากับ “เทียนวรรณ” นักหนังสือพิมพ์และนักคิดนักเขียนคนแรกในยุครัชกาลที่ 5 เขาเสนอรูปธรรมของสิ่งใหม่ที่อยากให้เกิดในประเทศ ตั้งแต่การเลิกทาส ความเท่าเทียมของสตรี การตั้งมหาวิทยาลัย ระบบสวัสดิการสำหรับคนยากจน โรงงานผลิตอาวุธ การสร้างถนน การรถไฟ การธนาคาร ระบบไปรษณีย์โทรเลข โรงงานอาหารกระป๋อง รวมถึง “ปาแตน” หรือสิทธิบัตร

ที่สำคัญคือด้านระบบปกครองที่ว่า “จะตั้งปาลิเมน อะนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้”  ไม่ต้องแปลกใจว่าข้อเสนอทั้งหลายของเขานั้น ก่อรูปท่ามกลางสภาพสังคมที่ยังพึ่งพาเกษตรกรรมอย่างธรรมชาติ รัฐบาลคือกษัตริย์ ความคิดใหม่จึงเป็นได้แค่ “ความฝันละเมอ” ตั้งแต่ยุคนั้นจวบจนยุคปัจจุบัน

“เทียนวรรณ” หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ, ภาพจาก th.wikipedia.org

น่าคิดว่าเมื่อความคิดทางการเมืองสมัยใหม่มาถึงกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 กระทั่งถึงกลุ่มยังเติร์ก ร.ศ. 130 คำถามใหญ่ของทุกฝ่ายคือรูปแบบที่เหมาะสมของระบอบการปกครองและรัฐบาลใหม่ควรเป็นอย่างไร รูปแบบที่มีการนำเสนอและอภิปรายคือกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญกับรีพับลิก การถกเถียงในเรื่องนี้กระทำได้อย่างไม่ค่อยละเอียดและกว้างขวางนัก เพราะติดอุปสรรคของการอภิปรายในเนื้อหาและจุดหมายของความคิดทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องทางโลกฆราวาสวิสัยแบบตะวันตก การพูดถึงความคิดทางการเมืองไทยแบบตะวันออกคือการพิจารณาถึงฐานะมนุษย์ในมุมมองทางศาสนาที่ไม่อาจเป็นอิสระโดยตัวมันเองได้ ในทางปฏิบัติจึงไม่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจในรูปแบบของระบอบการปกครองและรัฐบาล หากกลับเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจหวาดระแวงว่าจะทำให้ราษฎรและคนส่วนมากไม่อยู่ในสภาพของการว่านอนสอนง่ายอีกต่อไป การมาถึงของความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ในกรุงสยามจึงมาพร้อมกับการปิดกั้นการแสดงออกในเสรีภาพทางความคิดในเวลาเดียวกัน

ความคิดทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลจนกลุ่มผู้นำจารีตต้องพิจารณาว่าจะรับหรือไม่และจะนำมาปฏิบัติอย่างไรนั้น ก็คือความคิดที่เรียกต่อมาว่า “ประชาธิปไตย” อันครอบคลุมถึงความคิดและมโนทัศน์อื่นๆ เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ความก้าวหน้า รวมถึงการนิยามพุทธศาสนาใหม่ และความจริงทางสังคม (ภววิสัย) ในทางปฏิบัติยังเปิดพื้นที่ให้กับการเข้ามาของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เกิดสถาบันที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการผลิตและการบริโภคสินค้า ซึ่งเปลี่ยนวิถีชีวิต อาชีพ และความสัมพันธ์ทางการผลิตไปอย่างมาก เช่น การเลิกระบบไพร่และทาส การปรับปรุงระบบกรรมสิทธิ์แบบศักดินา (แต่ยังไม่เลิกทั้งหมด) ที่สำคัญคือการก่อเกิดกลุ่มคนและชนชั้นที่ไม่พันธนาการกับระบบเจ้าที่ดินศักดินาแบบแต่ก่อนอีกต่อไป กลายเป็นคนที่มีอิสระขึ้นในระดับหนึ่ง แต่คนเหล่านี้ก็ต้องรับจ้างระบบทุนเพื่อทำงานเลี้ยงชีพต่อไป อีกกลุ่มคือคนชั้นกลางในเมืองที่มีอาชีพตามความชำนาญ ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น จนเริ่มเผยความคิดเห็นและความต้องการของคนกลุ่มใหม่นี้ออกมา

แต่พัฒนาการทางสังคมในด้านต่างๆ ที่พูดถึงนี้ไม่ได้ก่อเกิดและพัฒนาไปอย่างทัดเทียมกัน บางด้านก้าวหน้าไปมาก ในขณะที่บางด้านหยุดนิ่งและถอยหลัง บางความคิดได้รับอิทธิพลและสามารถสร้างอำนาจที่เป็นของตนเองขึ้นมาได้ จนกลายเป็นสถาบันหลักของชาติและสังคม ในขณะที่ความคิดสมัยใหม่หลายเรื่องถูกลิดรอนและกดทับ เปลี่ยนแปลงความหมายที่แท้จริงของมันอยู่ตลอดเวลา จนกล่าวได้ว่าโอกาสในการสร้างความเป็นปึกแผ่น กระทั่งก่อรูปเป็นสถาบันสังคมนั้น แทบไม่ได้เกิดเลย หรือถ้าเกิดก็ถูกหักล้างทำลายบั่นทอนมาตลอดเวลา ปรากฏการณ์อย่างหลังนี้แสดงออกชัดเจนในความคิดและสถาบันประชาธิปไตยที่เป็นของคนชั้นล่างในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลกในยุคสมัยนั้น ได้แก่ รูปแบบที่เรียกทับศัพท์ในตอนนั้นว่า “คอนสติตูชาแนลโมนากี” กับ “รีปับลิ๊ก” อันแรกคือระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันหลังคือระบอบสาธารณรัฐที่ปราศจากกษัตริย์เป็นประมุข  “คำกราบบังคมทูลฯ ของเจ้านายและข้าราชการ ร.ศ. 103” จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดภูมิปัญญาไทยอย่างเป็นทางการต่อการท้าทายของความคิดทางการเมืองตะวันตก เรียกได้ว่าเป็นการริเริ่ม “เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ครั้งแรกในสยามประเทศก็ได้

ความล้มเหลวของคำกราบบังคมทูลฯ ของคณะเจ้านายและข้าราชการ ในที่สุดนำไปสู่การเกิด “คนใหม่” ที่สานต่อแนวความคิดทางการเมืองต่อไป  ในสมัยรัชกาลที่ 6 กลุ่มยังเติร์ก “กบฏ ร.ศ. 130” ภายใต้การนำของ ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เสนอความคิด “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ” อันเป็นการวิเคราะห์ที่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและวางอยู่บนความเป็นจริงทางสากลของโลกสมัยนั้น จนกระทั่งสามารถสรุปความคิดได้ว่า

“ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดรู้จักจัดการปกครองดี โดยใช้กฎหมายแลแบบธรรมเนียมที่ยุติธรรม ซึ่งไม่กดขี่แลเบียดเบียนให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประเทศนั้นก็จะมีความเจรีญรุ่งเรืองแลศรีวิลัยยิ่งขึ้นทุกที เพราะราษฎรได้รับความอิศรภาพเสมอหน้ากัน”

คณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130, ภาพจาก th.wikipedia.org

คณะยังเติร์กเห็นพ้องว่าต้องปฏิวัติสยามให้ “ศรีวิลัย” โดยสมาชิกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าควรปฏิวัติให้สุดทางเป็น “รีปับลิ๊ก” อีกกลุ่มเชื่อว่าสยามเหมาะเป็น “ลีมิเต็ดมอนากี้” มากกว่า แต่สุดท้าย คณะ ร.ศ. 130 ก็ล้มเหลว ต้องรอจนกว่า “คนใหม่” จะเกิดขึ้นอีกครั้งในรุ่น “คณะราษฎร”

ในยุคนั้น สภาพบ้านเมืองของประเทศต่างๆ ในโลกได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงใหญ่นับแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สภาพการณ์ไร้ระเบียบต่างๆ หลังสงครามโลกล้วนมีอิทธิพลต่อการเกิดแนวความคิดของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นอีกวาระหนึ่ง

ในรุ่งเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

กว่าที่ “ประกาศคณะราษฎร” จะสามารถประกาศจุดหมายทางการเมืองของประชาชนที่แท้จริงได้ ก็ต้องผ่านความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงหลายประการในบ้านเมือง หากจะพิจารณาถึงเส้นทางและการก่อรูปของความคิดทางการเมืองนี้ ก็ต้องลงไปดูว่าอุดมการณ์ที่เป็นพื้นฐานให้แก่ความคิดนี้คืออะไร

ภาพจาก commons.wikimedia.org

 

กล่าวอย่างสั้นๆ นี่คือความคิดที่ย้อนแย้งคติการเมืองไทยโบราณอย่างสุดขั้ว ราษฎรเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่กษัตริย์เช่นแต่ก่อน และในทางทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ นี่คือการอ้างที่โต้แย้งอย่างยิ่งกับคติอำนาจการปกครองแต่โบราณที่ใช้ได้โดยกษัตริย์แต่ผู้เดียว เปลี่ยนมาเป็นให้อำนาจปกครองสูงสุดเหนือดินแดนและผู้คนในประเทศหนึ่งมาจากพลเมืองของประเทศหรือรัฐนั้น เรียกว่าอำนาจอธิปไตย ซึ่งบัดนี้ก็กลายมาเป็นของราษฎรไปด้วยเช่นกัน

เคียงข้างไปกับความคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร ยังมีความคิดอันเกี่ยวเนื่องกับหลักความจริงที่เรียกว่าปรัชญาด้วย ในอดีตความคิดไทยเดิมอาศัยคำสอนทางศาสนาพุทธมาอธิบายถึงสภาวะของความจริงที่เป็นนามธรรมอันจับต้องไม่ได้ หากแต่รู้ได้โดยญาณ

“ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า ‘ศรีอาริย’ นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”

มิติของ “ความใฝ่ฝัน” เป็นลักษณะความคิดทางการเมืองของคนข้างล่างที่มองออกไปยังอนาคตกาล

ก่อนที่คณะราษฎรจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในระยะเวลาใกล้กัน นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศในฐานะตัวแทนฝ่ายก้าวหน้าของประชาชนไทย กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” ได้เสนอความคิดเรื่อง “มนุษยภาพ” อันเป็นการวิพากษ์ชนชั้นปกครองอย่างรุนแรงว่าปราศจากสัจจะและความเป็นจริง ศรีบูรพามองว่าความจริงของมนุษย์ (ที่เป็นนามธรรม) นั้นควรเป็นจุดหมายของรัฐและการปกครองด้วย ที่สำคัญ ศรีบูรพายังนำเสนอแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ “คนอื่น” อย่างเป็นจริงเป็นจัง ดังที่เขาให้ความหมายของนาม “สุภาพบุรุษ” ว่าคือคนซึ่งเกิดมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นนั่นเอง

“ศรีบูรพา” หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์, ภาพจาก th.wikipedia.org

ศรีบูรพายังได้ยกระดับการวิเคราะห์ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมไปที่การดำรงอยู่ของชนชั้นปกครองและอำนาจที่พวกเขาถือครองว่ามีความเป็นมาอย่างไร คำตอบที่เขาได้ก็คือ อำนาจของผู้ปกครองนั้นไม่ใช่สิ่งธรรมชาติ หากแต่เป็นการสร้างขึ้นมาของมนุษย์เราเอง

การเรียกร้องถึง “มนุษยภาพ” หรือความเป็นคนที่วางอยู่บนความจริง ไม่ใช่บนอำนาจและการหลอกลวงของชนชั้นปกครอง เป็นการปฏิเสธความชอบธรรมตามประเพณีของผู้ปกครองสยามสมัยนั้น เช่นเดียวกับการที่ผู้นำคณะราษฎรได้จัดตั้งกลุ่มลับดำเนินการเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์แบบเดิม ก็เป็นปรากฏการณ์แบบเดียวกัน

บัดนี้คนรุ่นใหม่ได้ข้อสรุปใหม่ของพวกเขาแล้วว่า ประชาชนสามารถลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและระบอบการปกครองได้เอง ความเชื่อดังกล่าวไม่ใช่เพียงความเพ้อฝัน หากแต่คนเหล่านั้นเชื่อจริงๆ ว่า การปฏิวัติสังคมอยู่ในมือของราษฎรแล้ว และสามารถทำได้ บรรลุความสำเร็จได้ ไม่ใช่เป็นเพียงคำทำนายดังกาลก่อนด้วย

ลักษณะเด่นของความคิดทางการเมืองสมัยใหม่แบบประชาธิปไตยจึงอยู่ที่พลังแห่งการปลดปล่อย ไม่ใช่อำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบเก่าที่ยิ่งทำให้คนงมงายและยอมตนเป็นข้าทาสคนชั้นสูงอย่างโงหัวไม่ขึ้น ตรงกันข้าม ความคิดและอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยเน้นหนักให้ความสำคัญแก่ความเป็นปัจเจกบุคคล ความเป็นตัวของตัวเอง หรือความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสากลอันมนุษย์ทุกหนทุกแห่งล้วนปรารถนาและดิ้นรนเพื่อไปสู่จุดหมายนี้

ในทางปฏิบัติหมายความว่า ความคิดประชาธิปไตยส่งเสริมสนับสนุนให้มนุษย์มีอำนาจในการปกครองเหนือตัวเองและชุมชนของพวกตนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นเจ้านายและบ่าวไพร่อีกต่อไป ทุกคนต่างเป็นพลเมืองแห่งรัฐชาติสมัยใหม่ที่เสมอหน้ากันนั่นเอง

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “สยามปฏิวัติ: ความคิดประชาธิปไตยสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์,” ใน สยามปฏิวัติ, 2564.

 

สยามปฏิวัติ: จาก ‘ฝันละเมอ’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บทนำ

กษิดิศ อนันทนาธร คำบรรยายเปิดบท

ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ

กิตติพล สรัคคานนท์ ออกแบบปก

160 หน้า

195 บาท

อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่