รวม misc – Growth Mindset เพราะทุกคนเรียนรู้ได้

ทำไมต้องอ่าน The Growth Mindset Coach?

ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วไม่มีใครเป็นคนโง่หรือคนฉลาด ทว่าทุกคนล้วนมีความเป็นไปได้นับพันรอคอยพวกเขาอยู่?

คุณคงเคยได้ยินนักเรียนพูดกันว่า “ฉันไม่ใช่นักกีฬา” หรือ “ฉันเป็นพวกตกเลข” หรือคุณอาจเคยพูดประโยคเหล่านี้เสียเองด้วยซ้ำ ความเชื่อว่าคุณสมบัติบางอย่างในตัวเรานั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เป็นตัวอย่างของชุดความคิดแบบตายตัว (fixed mindset) ซึ่งคอยฉุดรั้งเราไม่ให้ทำสิ่งท้าทายและผลักเราให้ไกลออกไปจากความสำเร็จ

ในขณะเดียวกัน ผลการวิจัยหลายฉบับชี้ให้เห็นว่าชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ช่วยให้นักเรียนมีคะแนนสอบเพิ่มขึ้น ได้รับการประเมินที่สูงขึ้น ทั้งยังมีส่วนร่วมในห้องเรียนได้ดีขึ้นอีกด้วย เมื่อนักเรียนตระหนักว่าระดับสติปัญญาของพวกเขาไม่ได้มีข้อจำกัด นักเรียนจะประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน การปรับชุดความคิดจึงเป็นเหมือนกุญแจที่เปิดประตูสู่การเติบโตให้กับนักเรียน

แต่การเปลี่ยนชุดความคิดของใครสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย ครูจำเป็นต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ เวลา และความพยายามมหาศาล แอนนี บร็อก และเฮเธอร์ ฮันด์ลีย์ ครูผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังชุดความคิดแบบเติบโตในชั้นเรียนจึงเขียน คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset (The Growth Mindset Coach) ขึ้น เพื่อเป็นคู่มือโดยครูและเพื่อครู ที่จะช่วยปลดปล่อยศักยภาพของทั้งครูและนักเรียนผ่านบทเรียนสร้างสรรค์ ถ้อยคำสร้างแรงบันดาลใจ และนวัตกรรมการสอนแบบใหม่ๆ

The Growth Mindset Coach ฉบับภาษาอังกฤษ

หนังสือเล่มนี้อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาครอบคลุมทุกประเด็นที่จำเป็นต่อการบ่มเพาะชุดความคิดแบบเติบโตให้แก่นักเรียน ตั้งแต่แผนการสอนรายเดือนที่ใช้ได้จริง กิจกรรมที่ออกแบบโดยอ้างอิงผลงานวิจัย ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สมอง ไปจนถึงตัวอย่างจดหมายถึงผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถบ่มเพาะชุดความคิดแบบเติบโต ส่งเสริมนักเรียนให้เชื่อมั่นในตนเอง และพาพวกเขาไปสู่เป้าหมายทุกรูปแบบได้

 

เพราะทุกคนเรียนรู้ได้

คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset ได้รับแรงบันดาลใจและกรอบคิดจากองค์ความรู้ด้านชุดความคิดแบบเติบโต ของแครอล ดเว็ก (Carol Dweck) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งทำวิจัยในหัวข้อหนทางสู่ความสำเร็จของมนุษย์มายาวนานกว่า 30 ปี

ดเว็กนำเสนอชุดความคิดสองประเภท แบบหนึ่งเรียกว่าชุดความคิดแบบตายตัว อีกแบบเรียกว่าชุดความคิดแบบเติบโต

ชุดความคิดแบบตายตัวเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับสติปัญญาและความสามารถที่จำกัด คนที่ใช้ชีวิตด้วยชุดความคิดนี้มีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงความท้าทายและความล้มเหลว

ชุดความคิดแบบเติบโตเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการฝึกฝนและความเพียรพยายาม คนที่ดำเนินชีวิตด้วยชุดความคิดนี้จะรับมือกับความท้าทายด้วยความมั่นใจ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เป็นสำคัญ

การเลือกใช้ชีวิตด้วยกรอบชุดความคิดที่แตกต่างกันจะส่งผลใหญ่หลวงต่อชีวิตตามมา

แน่นอนว่าทุกคนมีชุดความคิดทั้งสองผสมผเสอยู่ในตัว แต่จะทำอย่างไรให้ชุดความคิดเติบโตที่อาจหลบอยู่ด้านใน เจริญเติบโต งอกงาม และยั่งยืน

หนังสือเล่มนี้คือคู่มือสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยหวังบ่มเพาะชุดความคิดแบบเติบโตให้เกิดผล ผ่านการออกแบบเส้นทางการฝึกฝนและเรียนรู้ตลอดทั้งปีโดยผู้เขียนซึ่งเป็นครูมืออาชีพ

หนังสือเล่มนี้คือคู่มือสำหรับครูและผู้สนใจด้านการเรียนรู้ที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อชุดความคิดแบบเติบโต ด้วยเชื่อมั่นว่าการสร้างชุดความคิดแบบเติบโตจะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งชีวิตด้านใน และชีวิตด้านนอก

 

ไอน์สไตน์ ความมุ่งมั่นไม่รู้จบ ความสงสัยใคร่รู้

ทุกวันนี้พอพูดถึงชื่ออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ชื่อนี้แทบจะพ้องกับคำว่า “อัจฉริยะ” ไปแล้ว แต่ตัวไอน์สไตน์กลับปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้ เขามักบอกว่า

“ผมไม่มีพรสวรรค์พิเศษใดๆ ผมแค่สงสัยใคร่รู้”

“ใช่ว่าผมจะมีสติปัญญาล้ำเลิศ ผมแค่จดจ่อกับปัญหานานกว่าคนอื่น”

อาจจะเป็นแค่คำพูดถ่อมตัว หรืออาจจะเพราะเขามองว่าตัวเขาเป็นคนธรรมดาเหมือนๆ กับเราๆ แต่นั่นแหละ ถามไปใครจะรู้ว่าตอนที่พูดเขาคิดอย่างไร

อันที่จริงชีวิตช่วงแรกของไอน์สไตน์ออกจะไม่ใกล้เคียงกับคำว่าอัจฉริยะด้วยซ้ำ ตอนที่ไอน์สไตน์ยังเด็ก พ่อแม่ต้องไปปรึกษาแพทย์ เพราะเขาเริ่มหัดพูดช้ากว่าเด็กทั่วไปมาก ทั้งยังอ่านหนังสือออกช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ และเคยต้องทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยสองรอบ หลังสอบไม่ผ่านในครั้งแรก

ไอน์สไตน์บอกว่าที่เขาค้นพบองค์ความรู้อันยิ่งใหญ่ในสาขาฟิสิกส์ได้ ไม่ใช่ด้วยสติปัญญาที่ติดมาแต่กำเนิด หากแต่ด้วยความมุ่งมั่นอันไม่รู้จบของเขาต่างหาก เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลว เขาจะพยายามและพยายาม

และอันที่จริงก็มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าปัจจัยทางพันธุกรรมและการเรียนรู้ต่างก็มีบทบาทสำคัญต่อระดับสติปัญญาอันเป็นเลิศของไอน์สไตน์ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเขาเป็นคนธรรมดาก็คงไม่ใช่ แต่ดีน ฟอล์ก นักมานุษยวิทยา ก็เห็นว่า แม้ลักษณะทางพันธุกรรมที่ไม่ธรรมดาของสมองไอน์สไตน์อาจส่งผลต่อความสำเร็จอันน่าเหลือเชื่อของเขา แต่ปัจจัยแวดล้อมก็มีอิทธิพลสำคัญไม่แพ้กัน

ไอน์สไตน์เองก็มีสิ่งที่คนธรรมดาทุกคนมีได้เหมือนๆ กัน นั่นคือเรื่องของการใฝ่รู้และให้ความสำคัญกับความผิดพลาด ไอน์สไตน์นิยมยกย่องความล้มเหลวและข้อผิดพลาดว่าคือโอกาสในการเรียนรู้ เขาขึ้นชื่อเรื่องความดื้อรั้นในการเรียนรู้และความอดทนในการรับมือกับความล้มเหลวและสิ่งท้าทาย

ไอน์สไตน์เป็นเด็กแปลก มีปัญหาเข้ากับเพื่อน ถูกครูมองว่าเป็นเด็กเรียนอ่อนและด้อยความสามารถ หากไอน์สไตน์มี “ชุดความคิดแบบตายตัว” เขาคงเชื่อว่าตัวเองต้องเป็นอย่างที่คนอื่นพูด แต่เพราะไอน์สไตน์มี “ชุดความคิดแบบเติบโต” จึงผลักให้เขาก้าวข้ามความล้มเหลว ความพ่ายแพ้ และอุปสรรค ไปสู่อีกระดับที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในวงการวิทยาศาสตร์

เมื่อคนที่มีชุดความคิดแบบตายตัวทำผิดพลาด พวกเขามักไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุ หรืออาจไม่ยอมรับด้วยซ้ำไปว่าเกิดความผิดพลาดขึ้น พวกเขาจะเลี่ยงความท้าทายและยึดติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ไม่ยอมเสี่ยงขายหน้าเพราะความผิดพลาด แต่กลับยอมเสียโอกาสที่จะได้เจอผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปอย่างน่าเสียดาย

ในทางกลับกัน ชุดความคิดแบบเติบโตมีคุณลักษณะเด่นอยู่ตรงที่ความกระตือรือร้น อยากจะทดลองวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เพราะความผิดพลาดนั้นคือเรื่องปกติ หากไอน์สไตน์อยากจะฝากอะไรถึงคนวันนี้ เขาคงจะบอกว่า

“ความล้มเหลวคือความคืบหน้าไปสู่ความสำเร็จ” และ “คนที่ไม่เคยผิดพลาดคือคนที่ไม่เคยลองทำอะไรใหม่ๆ เลย”

เพราะความผิดพลาดคือโอกาสในการเรียนรู้ และความใคร่รู้คือสิ่งที่จะพาเราไปสู่พรมแดนใหม่ๆ นั่นคือสิ่งที่คนธรรมดาทุกคนทำได้เหมือนๆ กัน

 

คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่