Brief – Workshop “The Growing Classroom” พัฒนาห้องเรียนเติบโตผ่านความคิดสร้างสรรค์

ภูรินท์ เทพสถิตย์ เรื่อง
ตรัยภูมิ จงพิพัฒนสุข ภาพ

ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) – บางครั้งเราอาจเชื่อว่าเป็นเรื่องพรสวรรค์ หรือน้อยคนนักที่จะมี แต่ความเป็นจริงนั้น ทุกคนสามารถฝึกฝนและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้ กิจกรรมเวิร์กชอป The Growing Classroom” จะเป็นอีกครั้งที่ยืนยันว่า การเรียนรู้ที่ดีจะช่วยให้เราพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้

The Growing Classroom” จัดขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2565 โดยความร่วมมือระหว่าง bookscape กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ Inskru

วราลี เนติศรีวัฒน์ และ แพร คมลักษณ์ ผู้ผันตัวมาเป็นนักออกแบบการเรียนรู้และกระบวนกรจาก Inskru แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างครูกับคนรักการสอน จะนำทุกคนไปร่วมกันค้นหาคำตอบว่า growth mindset หรือชุดความคิดแบบเติบโต และความคิดสร้างสรรค์ ทำงานร่วมกันอย่างไร

“เราเชื่อว่ามันจะเข้มข้น เพื่อให้คุณครูฝึกปฏิบัติและไปประยุกต์ใช้ได้จริง” วราลีกล่าวเริ่ม

 

Creative Wake Up!

แพรเริ่มกิจกรรมโดยแจกกระดาษขนาด A4 ให้ผู้เข้าร่วมพับกระดาษออกเป็นสี่ส่วน โดยให้เขียนหมายเลข 1-4 ลงไปในแต่ละช่องของกระดาษ

กระดาษส่วนที่หนึ่ง แพรให้ผู้เข้าร่วมเขียนชื่อสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าช้าง แล้วไล่ขนาดให้เล็กลงไปเรื่อยๆ ให้ได้มากที่สุด ภายในเวลาหนึ่งนาที

จากนั้นแพรพาไปยังกระดาษส่วนที่สอง ให้ผู้เข้าร่วมเลือกสัตว์หนึ่งตัวจากทั้งหมดที่เขียนในกระดาษส่วนแรก โดยเป็นสัตว์ที่รู้สึกถูกโฉลกกับตนเองที่สุด แพรยิงโจทย์ไปยังผู้เข้าร่วมว่า “ถ้าสัตว์ตัวที่เราเลือกมานั้นคันก้น จะทำยังไงดี ขอห้าวิธีค่ะ”

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างมีสัตว์ที่ตนเองเลือกแตกต่างกันไป และคิดคำตอบสุดสร้างสรรค์ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นนกที่แก้คันด้วยการถูก้นกับต้นไม้ หรือแกะที่ใช้ดอกไม้เกาก้น

แพรขยับไปสู่กระดาษส่วนที่สาม โดยให้ผู้เข้าร่วมเลือกตัวเลขหนึ่งตัวจากเลข 1-3 และแพรได้เฉลยคำศัพท์ที่ผูกไว้กับแต่ละตัวเลข หมายเลขหนึ่งคือ “หมูกระทะ” หมายเลขสองคือ “ลิซ่า” และหมายเลขสามคือ “มูเตลู” จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำสัตว์ที่ตนเองเลือกในกิจกรรมที่สอง มาผูกเป็นเรื่องราวเชื่อมโยงกับคำศัพท์ที่ผูกติดกับหมายเลขของตน ความน่าสนใจของกิจกรรมนี้คือการได้รู้ว่าเรื่องราวจากคำศัพท์ที่ประกอบขึ้นใหม่นั้นชวนอลเวงอย่างไร

เมื่อแต่งเรื่องราวในกระดาษส่วนที่สามแล้ว แพรชวนขยับมากระดาษส่วนที่สี่ โดยตั้งโจทย์ว่า “สัตว์คู่ใจที่เราเลือกมา น่าจะมีมุมมองจากระดับสายตา (eye view) เป็นอย่างไร” โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวาดรูปแนว perspective ในกระดาษส่วนที่สี่ ด้วยมุมมองจากสายตาของสัตว์ที่ตนเลือกภายในเวลาสองนาที และนำมาให้เพื่อนๆ ดู

เมื่อเสร็จกิจกรรม แพรชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาดูกระดาษของตนและอธิบายว่า กระดาษแต่ละส่วนเชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์อย่างไร โดยกระดาษส่วนที่หนึ่งคือการคิดแบบเส้นตรง กระดาษส่วนที่สองคือการคิดแบบขยาย กระดาษส่วนที่สามคือการคิดแบบเชื่อมโยง และกระดาษส่วนที่สี่คือการคิดเป็นภาพ

“การคิดสี่แบบนี้ คือการคิดที่เรียกว่าการคิดสร้างสรรค์ โดยครูสามารถนำกิจกรรมนี้ไปใช้กับเด็กๆ เพื่อวอร์มอัป (warm up) ชุดความคิดสร้างสรรค์ได้” วราลีและแพรช่วยกันอธิบาย

 

ความคิดสร้างสรรค์คืออะไรกันแน่

วราลีเริ่มต้นกิจกรรมโดยแจกโพสต์อิตจำนวนสองแผ่น เพื่อชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตอบคำถามสองข้อ ได้แก่

“ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร” และ “ความคิดสร้างสรรค์สำคัญต่อผู้เรียนและวิชาที่สอนอย่างไร” วราลีเน้นย้ำว่าคำตอบไม่มีผิดมีถูก สามารถตอบได้ตามความเข้าใจของตนเอง

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนมีคำตอบแตกต่างกันไป ความคิดสร้างสรรค์อาจเป็นได้ทั้งการคิดริเริ่ม คิดแปลก คิดใหม่ คิดแก้ปัญหา คิดนอกกรอบ หรือคิดต่อยอด และมีความสำคัญต่อผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีมุมมองใหม่ๆ ปรับตัวได้กับทุกเรื่อง สามารถลองผิดลองถูก ช่วยพัฒนาศักยภาพ และนำไปสู่นวัตกรรมต่างๆ

วราลีช่วยสรุปว่า ความคิดสร้างสรรค์คือความคิดแบบอเนกนัย (divergent thinking) ซึ่งเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์แบบดั้งเดิม ประกอบด้วย ความคิดริเริ่ม ความคิดคล่องตัว ความคิดยืดหยุ่น และความคิดละเอียดลออ ความคิดทั้งสี่ลักษณะนี้จะทำงานร่วมกันเวลาเราโยนโจทย์ไปให้เด็กๆ โดยครูต้องกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการกระตุ้นให้เด็กได้คิด เช่น ในกรณีความคิดริเริ่ม ครูอาจให้คำศัพท์หรือโยนเงื่อนไขที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าได้ริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ต่างไปจากเดิม วราลีอธิบายว่า

“คำว่าใหม่ในที่นี้อาจไม่ได้ใหม่ที่สุดในโลก แต่อาจใหม่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาทำก่อนหน้าหรือกับบริบทที่เขาอยู่”

สำหรับความคิดคล่องตัวและความคิดยืดหยุ่น ครูต้องมีกระบวนการในการให้เด็กได้คิดซ้ำๆ เมื่อเด็กคิดซ้ำๆ ก็จะคิดได้เร็วและยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนความคิดละเอียดลออคือการชวนให้เด็กๆ ได้สังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการทำอะไรบางอย่าง

วราลีชวนคุยต่อเกี่ยวกับความเข้าใจผิดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และยกตัวอย่างความเข้าใจผิดต่างๆ เช่น การมองว่าความคิดสร้างสรรค์คือการแสดงออกทางศิลปะ การคิดว่ามีคนอยู่ไม่มากที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการคิดที่แวบขึ้นมาจากข้างใน หรือแม้กระทั่งความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ อย่างไรก็ดี วราลีช่วยเน้นย้ำว่าชุดความคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ เธอเชื่อว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมี growth mindset ซ่อนอยู่ หมายถึงแนวคิดที่เชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากฝึกฝน อดทน และเพียรพยายาม

“จริงๆ แล้ว growth mindset ทำงานร่วมกับทุกอย่าง หากเราเชื่อว่าความสร้างสรรค์สามารถพัฒนากันได้ ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่านี่คือ growth mindset” วราลีกล่าว

 

Japan Exhibition

คราวนี้วราลีพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นด้วยจินตนาการของตน ผ่านคำถามง่ายๆ ว่า “นึกถึงประเทศญี่ปุ่น นึกถึงอะไร” โดยคำตอบที่ได้จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกิโมโน ซูชิ ภูเขาไฟฟูจิ แอนิเมะ เกมซ่าท้ากึ๋น อิคิไก ฯลฯ

จากนั้นวราลีชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำนิทรรศการเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น โดยจับฉลากสุ่มสิ่งจะต้องนำมาทำนิทรรศการ ในฉลากนั้นมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน สัตว์เลี้ยง สถานที่ท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งเครื่องสำอาง โจทย์ของการนำเสนอนิทรรศการนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องนำเสนอโดยอธิบายสิ่งที่ได้จับฉลากด้วย “กลอนไฮกุ” พร้อมกับสร้างสรรค์ผลงานให้สวยงามตามสไตล์ของตนเอง

เมื่อเวลาเริ่มเดิน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกระจายไปทำกิจกรรมตามตามโต๊ะต่างๆ รอบห้อง ข้าวของและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในห้อง ทั้งกระดาษสี ปากกา เทปกาว ตุ๊กตากระดาษ หรือดินน้ำมัน ถูกแปรเปลี่ยนเป็นผลงานสร้างสรรค์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางคนเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลสิ่งที่ตนเองจับฉลากได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือไอแพด บางคนเริ่มด้วยการพับกระดาษหรือม้วนกระดาษ บางคนลงมือเขียนหรือวาดบางอย่างลงบนกระดาษ บางคนเดินไปหยิบยืมอุปกรณ์จากโต๊ะอื่นๆ เพื่อนำไปเติมเต็มงานของตน

เมื่อจวนหมดเวลา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทยอยนำผลงานและกลอนไฮกุประกอบการอธิบายของตนมาจัดแสดงไว้ที่โต๊ะหลังห้องอย่างกระตือรือร้น ไม่น่าเชื่อว่าด้วยเวลาเพียงไม่นาน ผลงานต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงนั้น กลับเต็มไปด้วยพลังงานของความสดใหม่และความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียต่างๆ พรั่งพรูออกมาผ่านผลงานของผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่น้อย จากนั้นวราลีเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานของตนเอง และชวนให้เข้ามาดูผลงานหรืออ่านกลอนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ

“อยากให้ลองดูการตีความของแต่ละท่าน บางท่านอาจได้โจทย์เหมือนกัน แต่ก็อาจจะตีความต่างกัน” วราลีเสริม

วราลีชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนกันว่าได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นบ้าง และหลังจากสร้างสรรค์ผลงานแล้ว เกิดข้อค้นพบอะไรเกี่ยวกับตนเองบ้าง

 

เกลียวการเรียนรู้สร้างสรรค์

หลังการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม วราลีอธิบายว่ากิจกรรม Japan Exhibition ออกแบบโดยอิงกับทฤษฎีเกลียวการเรียนรู้สร้างสรรค์ หรือ creative learning spiral (Resnick, 2019) คือกระบวนการสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ด้วย 5 ส่วน ได้แก่ จินตนาการ (imagine) สร้าง (create) เล่น (play) แบ่งปัน (share) สะท้อน (reflect) และจะวนเป็นวงจรไปเรื่อยๆ

ที่มา: Inskru

วราลีชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนมุมมองความเห็น โดยตอบคำถามสามข้อหลังจากทำกิจกรรม คือ หนึ่ง รู้สึกอย่างไร สอง คิดว่าตนเองได้ใช้ทักษะอะไรบ้าง สาม หากถอดรหัสตามหลักการเกลียวการเรียนรู้สร้างสรรค์ แต่ละขั้นตอนในกิจกรรมนั้นๆ อยู่ในขั้นตอนไหนในทฤษฎีเกลียวการเรียนรู้สร้างสรรค์บ้าง

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกระจายออกเป็นสองกลุ่มล้อมรอบกระดาษแผ่นใหญ่และกองโพสต์อิตที่ใช้สำหรับตอบคำถาม หลายคนเริ่มเขียนคำตอบและแปะโพสต์อิตในส่วนที่ตอบได้ไม่ยาก เช่น รู้สึกอย่างไร คำตอบที่ได้คือ “ตื่นเต้นที่ได้คิด” “สนุก น่าสนใจ ท้าทาย” “ขัดแย้ง กังวล ไม่แน่ใจ” หรือคำถามที่ว่า คิดว่าตนเองได้ใช้ทักษะอะไรบ้าง คำตอบที่ได้คือ “การคิด การแก้ปัญหา การหาข้อมูล การเชื่อมโยง การวางแผน การออกแบบ การคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ”

จากนั้นผู้ช่วยวิทยากรชวนทุกท่านถอดรหัสว่าแต่ละกิจกรรมย่อยใน Japan Exhibition คือส่วนใดของทฤษฎีเกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์

หลังจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย วราลีช่วยสรุปคำตอบและอธิบายตามหลักการดังนี้

  • จินตนาการ     คือการทำให้เด็กรู้สึกถูกกระตุ้น เร้าความ “เอ๊ะ” และความสนใจ

  • สร้าง              คือการให้โจทย์ให้เด็กลงมือทำ โดยโจทย์ต้องมีแกนให้ยึด เพื่อไม่ให้กว้างจนเกินไป

  • เล่น                คือสภาวะ flow หรือความรู้สึกเพลินกับการได้ทำอะไรบางอย่าง ในส่วนนี้ครูสามารถช่วยเด็กได้ จากการสังเกตว่าเด็กมีอะไรติดขัดตรงไหนหรือไม่ หรืออาจคอยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนและผลักดันให้เด็กทำผลงานต่อยอด

  • แบ่งปัน           คือการให้เด็กนำผลลัพธ์สุดท้ายมาแลกเปลี่ยนกัน เช่น การนำเสนอ หรือการร่วมกันทำนิทรรศการแล้วให้ทุกคนได้เดินดู หรือให้ทุกคนได้เห็นงานของเพื่อนๆ เพื่อให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่าตนสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง

  • การสะท้อน       คือการชวนเด็กมาตั้งคำถามเพื่อดึงความรู้ การตั้งคำถามขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของครูว่าอยากพาห้องเรียนไปในทิศทางไหน

“บางคำถามอาจไปได้ไกลกว่าวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้ สังเกตได้จากในห้องนี้ ที่ทุกคนไม่ได้ตอบเพียงแต่รู้สึกอะไรหรือใช้ทักษะอะไร แต่ไปถึงการตกตะกอนว่าเพราะอะไรจึงเกิดแบบนี้ขึ้น หรือเชื่อมโยงว่าแต่ละด้านนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร” วราลีช่วยเสริมตอนท้าย

วราลีอธิบายเพิ่มเติมว่า ในการนำทฤษฎีเกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ไปใช้ อาจเริ่มต้นจากส่วนใดของเกลียวก่อนก็ได้

“บางครั้งอาจเริ่มจาก ‘จินตนาการ’ ไป ‘สร้าง’ แล้วกลับไป ‘จินตนาการ’ แล้วมาที่ ‘สร้าง’ อีกครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือเด็กที่ครูได้พบ” วราลีอธิบาย

 

ออกแบบการเรียนรู้ด้วย Creative Learning Spiral

วราลีชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเอง ด้วยการใช้ทฤษฎีเกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่าน canvas หรือแผนผังที่ทาง Inskru พัฒนาขึ้น

ก่อนลงมือทำ วราลีเน้นว่าในการจะสร้างความสร้างสรรค์และเพิ่ม growth mindset เราต้องไม่ลืมเพิ่มความท้าทายลงไป แพรเสริมว่าครูอาจต้องเพิ่มความท้าทายลงไปในแผนการสอน ทั้งกระบวนการสอนหรืองานที่กระตุ้นให้นักเรียนสงสัยใคร่รู้ เปิดโอกาสให้เด็กกล้าทำในสิ่งที่ท้าทายและเอาชนะอุปสรรค โดยไม่ลืมคำนึงถึงเด็กที่มีระดับความสามารถที่แตกต่างกัน

วราลีให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มกันกลุ่มละสามคน แล้วผลัดกันแลกเปลี่ยนแผนการจัดการเรียนรู้ที่ตนออกแบบและสลับไปให้ฟีดแบ็กกับผลงานเพื่อน (ได้แก่ I like – ฉันชอบอะไร และ I wish – ฉันอยากจะให้ปรับปรุงตรงนี้หน่อยนะ) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนแผนกิจกรรมของตนเองอย่างกระตือรือร้น และผู้ฟังก็ฟังและฟีดแบ็กความคิดนั้นอย่างตั้งใจ วราลีเปรียบเทียบให้เห็นว่า การพัฒนาแผนการเรียนรู้นี้ก็เป็นการทำกิจกรรมภายใต้กรอบทฤษฎีเกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์เช่นกัน

เมื่อจบกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมสะท้อนกิจกรรมเวิร์กชอปวันนี้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ “สิ่งที่ได้เรียนรู้วันนี้” และ “สิ่งที่จะลองนำไปปรับใช้” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าได้เรียนรู้เรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่ทำงานร่วมกับ growth mindset และได้เห็นถึงความสำคัญของการฟีดแบ็ก ที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาซึ่งกันและกัน รวมถึงการนำตัวอย่างกิจกรรมและแผนการเรียนรู้ที่ตนเองพัฒนาขึ้นในวันนี้ไปใช้ในห้องเรียน

“ขอปรบมือและชื่นชมทุกคน เราเชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์และมีศักยภาพอยู่แล้ว พอได้มาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันจึงเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย วันนี้รู้สึกขอบคุณมากๆ ที่ทุกคนไว้ใจและกระโจนเข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน และยินดีมากๆ ที่กิจกรรมในห้องนี้จะถูกนำไปสานต่อ” วราลีกล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านรายละเอียดหนังสือประกอบงานเวิร์กชอปได้ที่

The Growth Mindset Coach: คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve

The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก