อ่าน ‘เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)

[su_note note_color=”#fcf0e2″]นี่คือข้อเขียนเพื่อขยายความหนังสือ เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน เขียนโดย Philippa Perry แปลโดยดลพร รุจิรวงศ์

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เข็มทิศที่คอยชี้นำทางให้พ่อแม่ แต่เปรียบเสมือน “กระจก” ที่สะท้อนภาพความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างเข้าอกเข้าใจและไม่ตัดสิน เพื่อให้คุณและลูกเปิดใจพร้อมจะซ่อมแซมความสัมพันธ์ และก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางนี้ได้อย่างมั่นคง[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

พฤติกรรมของลูกนั้นสร้างร่วมกับพฤติกรรมของคุณอย่างไร

 

บทที่ 6 เริ่มด้วยประโยคที่บอกว่าอาจจะเป็นประโยคที่โหดร้ายคือ พฤติกรรมของลูกนั้นสร้างร่วมกับพฤติกรรมของคุณอย่างไร หมายความว่าอะไรที่คุณเห็นคุณก่อมาได้อย่างไร

แทนที่เราจะแบ่งพฤติกรรมเด็กออกเป็น ดี หรือ ร้าย เราควรรู้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมาจากตัวเราเอง

เวลาลูกทำลายข้าวของ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านตัวเอง ที่บ้านคนอื่น หรือที่ร้านอาหาร พ่อแม่สมัยใหม่ส่วนหนึ่งทำเพียงเงยหน้าจากมือถือแล้วพูดว่าอย่าทำนะ จากนั้นก้มหน้าเล่นมือถือต่อ ปู่ย่าตายายทำเพียงพูดว่าอย่าทำนะแต่ไม่มีแรงกายหรือแรงใจทำมากกว่านี้ เด็กๆ จึงเรียนรู้ได้ว่าพ่อแม่และทุกคนอนุญาตให้ทำได้ เป็นพฤติกรรมที่ก่อร่างขึ้นมาร่วมกับพฤติกรรมของเรานั่นเอง

แต่จะว่าเพราะ “เรา” ไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรกก็ใช่

“ลูกสาวชนะใช่ไหม” เป็นคำพูดของคนสูงอายุคนหนึ่งต่อผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ในสถานการณ์ที่ผู้เขียนเล่าให้ฟัง ประโยคนี้บอกอะไรเราหลายอย่าง อย่างแรกสุดคือไม่ควรมีเกมแพ้-ชนะระหว่างลูกและพ่อแม่ และถ้ามี ปัญหามักอยู่ที่เด็กๆ มักรู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเอาชนะพ่อแม่ได้ เช่น กรี๊ด ร้องไห้ ตีคน พ่อแม่ยังดูก้มมือถือต่อหรือใช้คำพูดห้ามปรามที่ไม่ได้ผล ส่วนคนแก่มักตามใจในสถานการณ์ที่เด็กควบคุมตนเองมิได้อยู่แล้วเพราะมันหนวกหูเหลือกำลัง ไม่นับเรื่องการทำลายข้าวของอีกต่างหาก

เวลาเด็กเอาชนะพ่อแม่ได้ สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือพ่อแม่อับอาย รู้อยู่ว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่มิได้เรื่อง แต่แทนที่จะวางงานลงแล้วเริ่มต้นใกล้ชิดลูกอย่างจริงจังกลับใช้การตามใจและยอมแพ้เป็นเครื่องมือเพื่อให้เสียงของลูกสงบลงโดยเร็ว ตัวเองจะได้ไป “เล่น” ของเล่นที่ตัวเองชอบต่อ

พ่อแม่พวกนี้เป็นเด็ก ปล่อยให้เด็กเลี้ยงเด็กแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขียนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการติดดาวหรือสติ๊กเกอร์เมื่อเด็กทำความดีหรือการเอาของรางวัลมาล่อเด็ก ซึ่งหลายคนใช้คำศัพท์ว่าสินบน เหตุผลเพราะเป็นวิธีตัดสินพฤติกรรมมากกว่าที่จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ ช่างเป็นคำอธิบายที่เรียบง่ายแต่จริงอย่างที่สุด โดยทฤษฎีแล้วปัญหาพฤติกรรมเด็กเกิดจากสายสัมพันธ์ที่มีมากไม่พอจริงๆ แทนที่เราจะฟื้นฟูตรงนี้เรากลับไปเน้นที่ผลลัพธ์อย่างฉาบฉวย

อย่างไรก็ตามผมควรเติมที่ตรงนี้ว่าสำหรับเด็กพิเศษหรือเด็กที่ป่วยด้วยโรคทางสมองหรือทางจิตเวชบางชนิด การใช้สตาร์ชาร์ตเพื่อดึงพฤติกรรมส่วนขาดหรือลดพฤติกรรมส่วนเกินบางชนิดมีที่ใช้จริงๆ แต่เป็นกรณีเฉพาะกิจมาก

ตัวผมเองพูดเสมอเรื่องการ อ่าน-เล่น-ทำงาน แต่ไม่เคยบอกให้ดูผลลัพธ์ อ่านมิใช่เพื่อให้ลูกฉลาดหรือรักการอ่าน เล่นมิใช่เพื่อให้ชนะหรือได้ออกกำลังกาย ทำงานบ้านมิใช่เพื่อให้งานเสร็จหรือบ้านสะอาด อะไรที่เล่ามาเป็นเพียงผลพลอยได้ถ้าจะได้ หรือเป็นเป้าหมายลวงที่ต้องมีบ้าง แต่ที่เราต้องการเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทั้งหมด

อ่าน เพื่อสร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริงและสายสัมพันธ์

เล่น เพื่อสร้างสายสัมพันธ์และพ่อแม่ที่มีอยู่จริง ซึ่งจะนำไปสู่วงจรประสาท EF

ทำงาน เพื่อสร้างความสามารถและวงจรประสาทที่รับผิดชอบ delayed gratification

เวลาพบเรื่องร้าย พ่อแม่จำนวนมากมักไม่บอกความจริงแก่ลูก อาจจะเพราะคิดว่าเด็กเกินไปหรือกลัวว่าจะทำให้ลูกไม่สบายใจ แต่แท้จริงแล้วความไม่สบายใจคือส่วนหนึ่งของชีวิต เรื่องเลวร้ายของชีวิตก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราจึงแนะนำให้บอกความจริงแก่ลูกเสียจะดีกว่า เด็กๆ มักรับรู้ได้เองจากบรรยากาศรอบตัวแล้วหาคำอธิบายเอาเองซึ่งไม่เป็นผลดี

ฐานะการเงินไม่ดี มีคนตาย เราสองคนจะเลิกกัน ฯลฯ เราควรบอกเด็กตามจริงได้ทั้งนั้น จากนั้นเราดูที่ความสัมพันธ์ มิได้ดูที่ผลลัพธ์อยู่ดี เรายืนยันความสัมพันธ์ที่จะยังคงอยู่ เด็กๆ จะรับมือได้ทุกเรื่องเสมอ

หน้า 230 เล่าเรื่องคำโกหกได้ดีที่สุดจนไม่รู้ว่าจะตัดทอนมาอย่างไร ทุกกรณีเกี่ยวกับเรื่องเด็กโกหกปรากฏอยู่ในหน้า 230 นี้หมดแล้ว สรุปสั้นที่สุดคือคุณก็โกหก ลองอ่านดู

 

คำโกหกของลูก

 

“ครั้งหนึ่งฉันไปร่วมงานปฐมนิเทศผู้ปกครองนักเรียนใหม่ที่โรงเรียนมัธยมของลูกสาว ครูใหญ่ชื่อมาร์กาเร็ต คอนเนลล์ (Margaret Connell) มองหน้าผู้ปกครองทุกคนแล้วพูดอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ‘วันหนึ่งลูกจะโกหกคุณ’ ฉันคิดว่า ‘ลูกสาวไม่มีทางทำอย่างนั้นแน่ เราสนิทกันจะตาย’ แต่ครูเสริมว่า ‘ต่อให้คุณคิดว่าลูกสาวเล่าทุกอย่างให้คุณฟัง แต่พอเธอเป็นวัยรุ่นเธอจะโกหกคุณ’ ครูยังพูดต่ออีกว่า ‘และหน้าที่ของคุณคือ อย่าตีโพยตีพาย’

“หลายปีต่อมาฉันถามครูมาร์กาเร็ตเรื่องนี้ เธอบอกว่า ‘เราโกหกกันทุกคนนั่นละค่ะ’ ในบรรดาการทำบาปทั้งหมด การโกหกเป็นสิ่งที่เราทำบ่อยที่สุด แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างพ่อแม่ดูจะให้ความสำคัญกับบาปข้อนี้มากกว่าข้ออื่นๆ ถ้าลูกทำสิ่งที่ไม่ควรทำซึ่งอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยมากๆ แล้วยืนยันว่าไม่ได้ทำ พ่อแม่จะพูดว่า ‘เรารู้จักลูกสาวเราดี แกไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่แกไม่โกหกแน่นอน’ แต่ปัญหาคือคำพูดเช่นนี้ทำให้ลูกจนมุม และนั่นแปลว่าคุณจะไม่มีวันได้ข้อสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม

“เด็กทุกคนโกหกค่ะ ผู้ใหญ่ทุกคนก็โกหกเช่นกัน จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดถ้าเราไม่โกหกเลย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เปิดอกสนทนาและใกล้ชิดกัน แต่เราทุกคนล้วนเคยโกหกทั้งนั้น และเราก็ไม่ควรทำเหมือนลูกทำผิดบาปมหันต์เวลาลูกโกหกเช่นกัน

“ทั้งนี้ทั้งนั้น เราสอนลูกได้สับสนคลุมเครือเหลือเกินเรื่องการโกหกและเรื่องว่าเมื่อไรที่โกหกได้โดยไม่ผิด เราสอนลูกไม่ให้โกหก แต่กลับบอกให้ลูกทำเป็นซาบซึ้งเมื่อคุณย่าถักผ้าพันคอที่แสนจะไม่สวยเอาเสียเลยให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสติดกันสามปีแล้ว คุณจะเห็นว่าเด็กต้องเรียนรู้บทเรียนที่ซับซ้อนทีเดียวว่าจะโกหกได้เมื่อไร”

ตัวอย่างที่ให้มาในหนังสือก็ดีมาก “ปลาทองของหนูตายค่ะ” เด็กบอกคุณครู แต่แม่รู้ในเวลาต่อมาว่า “บ้านเราไม่เคยเลี้ยงปลาทองนี่คะ” ตัวอย่างนี้ทำพ่อแม่หลายบ้านเขียนจดหมายมาถามผมนักต่อนักแล้วว่าทำอย่างไรดีเมื่อลูกโกหก

สำหรับเด็กที่อวกาศและเวลา (space & time) ยังไม่ตั้งมั่น การพูดไม่ตรงกับความจริงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และจะไม่ติดอยู่กับที่ (fixation) ถ้าพวกเราไม่ตีโพยตีพายเกินเหตุ ผู้เขียนหนังสือนี้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่าปลาทองอาจเป็นสัญลักษณ์ของอะไรก็ได้ เช่น คุณป้าที่เพิ่งเสียชีวิตไป เหตุเพราะสิ่งที่เด็กมีคือ “ความรู้สึก” ว่ามี “บางอย่าง” เกิดขึ้นหลังจากคุณป้าตายไป บางอย่างนั้นน่าจะคล้ายๆ กับที่ปลาทองตาย ถ้าหนูเลี้ยงปลาทองอะนะ ปัญหาคือหนูไม่ได้เลี้ยง

บางทีเป็นเพราะลูกรับมือเรื่องคุณป้าตายมิได้ เพราะระหว่างเกิดเหตุทุกคนยุ่งอยู่กับงานศพจนไม่มีใครใส่ใจลูกเลย ลูกจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการย่อยคุณป้าเหลือเป็นปลาทอง นี่คือวิธีทำงานของจิตใต้สำนึกจริงๆ

อันนี้เป็นเรื่องเด็กเล็ก ตอนลูกโตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถึงวัยรุ่น พวกเขาจะโกหกคุณแน่นอน ด้วยเหตุผลที่หลากหลายมากขึ้น แต่เชื่อเถอะว่าหากความสัมพันธ์หรือสายสัมพันธ์ยังดีอยู่ อะไรๆ จะดีเอง วัยรุ่นที่ผ่านไปเป็นผู้ใหญ่แล้วมักสนุกกับการบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าถ้าพ่อแม่รู้ว่าตอนนั้นเขาทำอะไรพ่อแม่ต้องชักตายแน่ๆ ความจริงก็คือในที่สุดแล้ววัยรุ่นต้องการเก็บเรื่องบางเรื่องเป็นส่วนตัวไว้ในพื้นที่ส่วนตัวจริงๆ มิเช่นนั้นเขาเติบโตต่อไปไม่ได้

หลายคนไม่ต้องโกหก แต่แค่ปิดบัง การที่เราไล่ต้อนหรือบีบบังคับเขาพูดเขาจะหาข้ออ้างมาให้เราแทน และถ้าเราบีบต่อไปเขาจะหาข้ออ้างที่ซับซ้อนมาให้เราเรื่อยๆ เหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์และความไว้วางใจเราลดน้อยลงไปทุกที แล้ววันหนึ่งก็จะไปถึงเรื่องเพศและยาเสพติด เราคงไม่อยากให้ลูกถูกต้อนจนจนมุมแน่ๆ

ความรู้เรื่องการตีโต้ข้อเท็จจริงที่เคยเล่าให้ฟังในบทก่อนๆ ใช้ได้กับช่วงวัยรุ่นนี้ด้วย ถ้าเราต้อนลูกเข้าสู่เกมตีโต้ข้อเท็จจริง ย่อมมีการแพ้ชนะ และเมื่อนั้นเราจะวนอยู่ในเกมแพ้ชนะกับลูกวัยรุ่น แทนที่จะพาตัวเองถอยออกมาแล้วดูที่ความสัมพันธ์ สายสัมพันธ์ และความไว้วางใจเป็นหลัก

มิใช่แค่เรื่องลูกไว้ใจเรา

เราต่างหากที่ต้องไว้ใจลูก

 

เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน

Philippa Perry เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

280 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่