รวมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ปี 2563 – 2564

ตลอดปี 2563 – 2564 สำนักพิมพ์ bookscape ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการที่ต่อยอดจากหนังสือในโครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก ครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ปีที่ 2 ทั้งหมด 4 กิจกรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) Online Workshop “เพศศึกษากติกาใหม่ในโรงเรียน: เซ็กซ์ ความยินยอม และการล่วงละเมิด”

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.00 – 16.30 น.

เพศศึกษาแบบเดิมๆ สอนให้เกลียดเซ็กซ์และกลัวความสัมพันธ์ แทนที่จะเป็นเกราะคุ้มครองเด็กๆ เพศศึกษาแบบเก่ากลับเป็นกรอบกั้นวัยรุ่นจากความรู้ความเข้าใจและความสามารถที่จะปกป้องดูแลตัวเอง กิจกรรมนี้อยากชวนคุณครูชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปแบบออนไลน์ Workshop “เพศศึกษากติกาใหม่ในโรงเรียน: เซ็กซ์ ความยินยอม และการล่วงละเมิด”

  • ความยินยอมคืออะไร ใครยินยอมได้บ้าง
  • การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศคืออะไร
  • ครูจะป้องกันความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนได้อย่างไร
  • ครูควรทำอย่างไร เมื่อนักเรียนถูกคุกคามทางเพศ
  • ครูควรทำอย่างไร เมื่อนักเรียนมีเซ็กซ์ไม่พร้อม
  • ครูจะเป็นคนที่นักเรียนไว้ใจคุยเรื่องเซ็กซ์ด้วยได้อย่างไร

กะเทาะเปลือกมายาคติเรื่องเพศในสังคม เรียนรู้แก่นของเพศศึกษา ทำความเข้าใจเรื่องราวแสนสามัญของมนุษย์ผ่านสายตาที่เข้าใจและหัวใจที่พร้อมรับฟังแบบไม่ตัดสิน

นำกิจกรรมโดย ทีม Life Skills Thailand

  • อโนพร เครือแตง นักจิตวิทยา family therapy และผู้ก่อตั้ง Life Skills Thailand
  • ชนิตา สุขวัจนี ผู้ร่วมก่อตั้ง Life Skills Thailand

Life Skills Thailand ทำงานเรื่อง sex education และ empowerment กับนักเรียน นักศึกษา คุณครู อาจารย์ และผู้ที่สนใจ ในมุมมองเรื่องเพศวิถี เพศสภาพ และความหลากหลายทางเพศ โดยพยายามสร้างความเข้าใจ ให้ชุดข้อมูล สร้างอำนาจภายใน เพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดด้วยเหตุแห่งเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน

2) Workshop “Reconnection เข้าใจและเชื่อมต่อกับคนใน “โลกซึมเศร้า” “

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

เมื่อซึมเศร้าไม่ใช่แค่เรื่องของ “โรค” แต่เชื่อมโยงกับ “โลก” และชีวิตรอบด้านของมนุษย์ หนทางหนึ่งที่จะช่วยเยียวยา “โลกซึมเศร้า” จึงเป็นการทำความเข้าใจปัจจัยรอบด้านในชีวิต เพื่อหาหนทางนำพาคนที่อยู่ในโลกซึมเศร้าให้กลับมา “เชื่อมต่อ” กับโลกและสังคม พร้อมฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสิ่งสำคัญในชีวิต

ชวนพ่อแม่ ครู คนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว สื่อมวลชน ผู้กำหนดนโยบาย และผู้สนใจทั่วไป ร่วมค้นหาหนทางทำความเข้าใจและเชื่อมต่อกับคนใน “โลกซึมเศร้า” โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เผชิญปัญหานี้เป็นจำนวนมาก พร้อมเสริมสร้างทักษะและเครื่องมือที่จำเป็นในการทำความเข้าใจโลกซึมเศร้าผ่านมิติทางสังคมและจิตวิทยา ผ่านกิจกรรม workshop “Reconnection – เข้าใจและเชื่อมต่อกับคนใน ‘โลกซึมเศร้า’ “

วัตถุประสงค์ของกิจกรรม

  1. สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในมิติรอบด้านของชีวิตและสังคม พร้อมชี้ให้เห็นทางเลือกที่หลากหลายในการรับมือกับโรคซึมเศร้า
  2. เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และเครื่องมือในการดูแล ช่วยเหลือ และเยียวยาผู้มีภาวะซึมเศร้

*Workshop นี้ ‘เหมาะ’ กับใคร?

– พ่อแม่ ครู คนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว สื่อมวลชน ผู้กำหนดนโยบาย คนที่ต้องทำงานร่วมกับผู้มีภาวะซึมเศร้า และผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการทำความเข้าใจหรือดูแลผู้มีภาวะซึมเศร้า

*Workshop นี้ ‘ไม่เหมาะ’ กับใคร?

– workshop นี้มุ่งเน้นให้ความรู้เพื่อต่อยอดในการทำงานหรือการดูแลช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้า จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือสงสัยว่าตัวเองกำลังมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งต้องการวินิจฉัยโรคหรือมองหาหนทางรักษาโรค
– workshop นี้เป็นเพียงการชี้ให้เห็นทางเลือกในการทำความเข้าใจ ไม่สามารถใช้ทดแทนการวินิจฉัยหรือการรักษาทางการแพทย์

นำกิจกรรมโดย

รู้จัก Knowing Mind Center

Knowing Mind Center คือองค์กรที่ให้บริการด้านจิตวิทยาที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้คนรับมือกับปัญหาในชีวิตอย่างสร้างสรรค์และมีสุขภาวะที่ดีในการดำเนินชีวิต โดยอาศัยแนวคิดและวิธีการทางจิตวิทยา ดำเนินการโดยนักจิตวิทยาการปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้มากกว่า 10 ปี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ การส่งเสริมคุณลักษณะเชิงบวก และการแก้ปัญหาของบุคคล โดยอาศัยองค์ความรู้จากศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษา ผสมผสานกับหลักปรัชญาและศาสนา เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม

3) Workshop “รู้จักตัวเอง รู้จักลูก เติบโตไปด้วยกัน”

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ CONNEXT ชั้น 3 Clazy Cafe’ The Seasons Mall (BTS สนามเป้า)

ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากเติบโตไปพร้อมกับลูก เข้าร่วมกิจกรรม workshop ที่จะชวนคุณมาทำความรู้จักตัวเอง รู้จักลูก และร่วมกันสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงในครอบครัว กับกิจกรรม Workshop: “Know yourself, Know your child, and grow together” “รู้จักตัวเอง รู้จักลูก เติบโตไปด้วยกัน”

สายสัมพันธ์ในครอบครัวที่แข็งแกร่งมั่นคงคือรากฐานสำคัญของชีวิตในทุกด้าน สายสัมพันธ์พ่อแม่-ลูกที่ดีเริ่มต้นจากพ่อแม่ต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเองในฐานะพ่อแม่ และรู้จักลูก เข้าใจลูกในแบบที่เขาเป็น เข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูกทั้งด้านร่างกาย ความคิด และอารมณ์ หัวใจสำคัญของการสร้างสายสัมพันธ์คือการสื่อสารที่ดีในครอบครัว เพื่อนำไปสู่การยอมรับและการเคารพซึ่งกันและกัน และลดระยะห่างระหว่างพ่อแม่กับลูกให้ใกล้กันมากที่สุด โดยไม่ทำให้ฝ่ายใดอึดอัดเกินไป และในวันที่ลูกเติบใหญ่ สายสัมพันธ์นี้จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันทางใจ รู้จักเห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมฝ่าฟันอุปสรรคและเติบโตไปด้วยกัน

นำกิจกรรมโดย

  • เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ผู้ก่อตั้ง ห้องเรียนครอบครัว
  • สิริสักก์ เจริญรวิภักดิ์ (ผู้ช่วยวิทยากร) นักกิจกรรมบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับพฤติกรรมเด็ก ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนครอบครัว

4) Workshop “ออกแบบเพื่อเท่าเทียม ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม”

จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2563 เวลา 10.30 – 17.00 น. ณ CONNEXT ชั้น 3 Clazy Cafe’ The Seasons Mall (BTS สนามเป้า)

ชวนผู้สนใจมาเรียนรู้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และร่วมกันออกแบบ ‘สนามแข่งที่เท่าเทียม’ เพื่อทลายกรอบคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศ ในกิจกรรม workshop “ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด’ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม”

‘ความเหลื่อมล้ำทางเพศ’ คือปัญหาใหญ่ที่แฝงอยู่ในหลากหลายพื้นที่ในสังคม แม้ในปัจจุบันผู้คนจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมมากขึ้น แต่อคติและความลำเอียงในเรื่องเพศสภาพยังคงหยั่งรากลึกในความคิดและดำรงอยู่แทบทุกพื้นที่ ตั้งแต่ภายในครอบครัว โรงเรียน หน่วยงาน แวดวงการเมือง ธุรกิจ วงการกีฬา ตลอดจนสังคมโดยรวม

‘การออกแบบอิงพฤติกรรม’ คือเครื่องมือที่จะช่วยลดทอนช่องว่างทางเพศสภาพ โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมา ‘สะกิด’ เพื่อปรับเปลี่ยนกรอบคิดเรื่องเพศที่ปรากฏในกิจกรรมต่างๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสอบเข้าเรียน การรับสมัครคนทำงาน การเลือกตำแหน่งผู้นำ ตลอดจนการออกแบบนโยบายทางสังคม

กิจกรรมนี้จะพาไปรู้จักการใช้ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ มาออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ นี่คือเครื่องมือสำคัญที่เหมาะกับคนทำงานทุกระดับ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ในการปรับใช้เพื่อเปลี่ยนกรอบคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาอื่นๆ ในองค์กรและในสังคม ในระดับที่ทุกคนสามารถลงมือทำได้จริง

นำกิจกรรมโดย

  • ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์
    ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง
    คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี 2565 สำนักพิมพ์ bookscape ยังมีจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB Page: bookscape