เรื่อง: ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์
ถ้าคุณ (เคย) เป็นเด็กที่โตมากับการศึกษาระดับประถมและมัธยมในประเทศไทย เชื่อว่าคุณจะนึกไม่ค่อยออกหรอกว่าได้อะไรมาบ้างจากห้องเรียนวิชาเพศศึกษา อาจมีภาพจำรางๆ เป็นรูปหน้าตัดของมดลูก ท่อนำไข่ หรืออัณฑะ และกว่าครึ่งของสิ่งที่คุณรู้เกี่ยวกับเซ็กซ์มาจากหนังโป๊ ไม่ก็นิยายหรือการ์ตูน เมื่อโตขึ้นก็พบว่าสิ่งที่รู้มามากมายเป็นความเข้าใจผิดๆ จากการจินตนาการไปเอง หลายคนอาจถึงกับรู้สึกผิดเมื่อมีอารมณ์ทางเพศและอับอายเมื่อต้องช่วยตัวเองทั้งๆ ที่เราก็ทำในที่ลับ ไม่ได้มีใครเห็น และบางคนก็รู้สึกว่าตัวเองประหลาดเมื่อมีรสนิยมทางเพศไม่เหมือนค่านิยมที่สังคมบอก
คุณปกติดีและคุณเป็นคนส่วนใหญ่
หลักสูตรและองค์ความรู้ประเด็นเรื่องเพศ ถูกผลักเข้าไปอยู่ในมุมอับ เป็นบทสนทนาน่าอับอาย ยิ่งพูดกันน้อยเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น ยิ่งกับเรื่องอารมณ์ทางเพศหรือเซ็กซ์ยิ่งหนักกว่านั้นคือ ตำราบอกให้เรากดข่มอารมณ์ไว้ อย่างที่เคยเป็นเรื่องขำขันแห่งทศวรรษว่า เมื่อนักเรียนเกิดอารมณ์ทางเพศต้องทำอย่างไร คำตอบตามเฉลยคือ ให้ไปเตะบอล
ชวนมองเรื่องเซ็กซ์และการล่วงละเมิดผ่านสายตาแพทย์ตำรวจ หมอพลอย พ.ต.ต. พญ. ลักขณา จักกะพาก สูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ ที่จะมาตอบบทสนทนาทั้งในมิติเชิงการแพทย์ แง่มุมเชิงกฎหมาย จนถึงในฐานะคุณแม่คนหนึ่ง
จินตนาการสำคัญเท่ากับความจริง
เปิดประเด็นด้วยประสบการณ์เพศศึกษาในห้องเรียนที่หมอพลอยเล่าว่า ได้รู้เรื่องเพศจริงๆ ก็ตอนเรียนหมอด้วยซ้ำไป ชั้นมัธยมต้นจะสอนอวัยวะต่างๆ ของร่ายกาย อะไรคือมดลูก อัณฑะ อวัยวะเพศชายหญิง และเมื่อขึ้นมัธยมปลายถึงรู้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ต้องมีการสอดใส่อวัยวะเพศชายเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง แต่ไม่รู้กระบวนการนอกเหนือจากนั้นเลย ไม่มีใครสอนว่าก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นเป็นอย่างไร ก่อนจะสอดใส่ผู้หญิงจะมีความหวาดกลัวไหม เจ็บหรือเปล่า เตรียมพร้อมอย่างไร ต้องมีการให้ความยินยอมหรือไม่ หรือต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อนหรือเปล่า ทั้งที่ขั้นตอนต่างๆ ล้วนเป็นส่วนสำคัญของการเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้น
“เราเรียนเพศศึกษากันเหมือนเรียนเรื่องอวัยวะสืบพันธุ์ อธิบายแบบวิทยาศาสตร์ ให้ความรู้สึกเหมือนเรียนเรื่องดอกไม้ มีเกสรตัวเมีย เกสรตัวผู้ เมื่อถึงเวลาที่เติบโตก็ต้องสืบพันธุ์ แต่เราไม่เข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์หรอก สัมพันธ์คืออะไร สัมพันธ์แค่ไหน สัมพันธ์อย่างไร สัมพันธ์คือเอามาใส่รวมกัน จบ”
นอกจากนี้ ตำรายังบอกให้นักเรียนต้องยับยั้งชั่งใจเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ อารมณ์ทางเพศเป็นสิ่งที่ควรกดเอาไว้ การช่วยตัวเองก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ สมัยที่หมอพลอยเรียน หนังสือเรียนเขียนไว้ว่า ถ้าผู้หญิงมีอารมณ์ทางเพศให้ใช้น้ำฝักบัวล้างอวัยวะเพศจะทำให้อารมณ์ทางเพศผ่อนคลายลง หรือนั่งสมาธิ ดูหนังฟังเพลงเพื่อหันเหความสนใจไปเรื่องอื่น
ซึ่งไม่แปลกสำหรับสังคมที่บทสนทนาเรื่องเพศยังเป็นประเด็นที่นับว่าอยู่ในที่ลับ ประเจิดประเจ้อเกินจะแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา
และเช่นเดียวกับเราๆ แหล่งการเรียนรู้หลักของคุณหมอเองก็คือการ์ตูนญี่ปุ่น และสื่ออื่นที่ไม่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งหมอพลอยบอกว่า หลายครั้งเป็นความเข้าใจผิดๆ ถูกๆ ต้องใช้หลักการเชื่อมโยงมาจินตนาการเอาเอง เด็กและวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่น่าจะทำความเข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์ด้วยหลักการนี้ นั่นคือเชื่อมโยงและจินตนาการ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ การเป็นแฟน และเซ็กซ์ พระเอกนางเอกต้องเป็นแบบในการ์ตูน พระเอกต้องจับนางเอกกดลงบนเตียง นางเอกต้องขัดขืนเล็กน้อย ซึ่งสื่อเหล่านี้มาเติมเต็มช่องโหว่ของกระบวนการการมีเพศสัมพันธ์ที่หายไปจากหลักสูตรเพศศึกษา ที่สอนเรื่องอวัยวะเพศหญิงและเพศชายเป็นอย่างไรแล้วกระโดดไปเรื่องสอดใส่เลย เมื่อสื่อมาพบกับจินตนาการก็สามารถเติมเต็มได้พอดี
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สื่อเหล่านี้มีแนวเนื้อหาที่หลากหลาย หรือเรียกว่า sexual fantasy ก็เพื่อรองรับรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เพราะบรรยากาศที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศของคนเราไม่เหมือนกัน ประเด็นที่หมอพลอยเห็นว่าสำคัญที่สุดคือ เราต้องสอนให้เด็กแยกแยะได้ว่าอะไรคือเรื่องจริง อันไหนคือเรื่องแต่ง ตรงไหนคือจินตนาการ อะไรถูกและอะไรผิด
บางคนอาจชอบเสพเนื้อหาการมีเพศสัมพันธ์รุนแรง การมีเพศสัมพันธ์กับมนุษย์อวกาศ กับสัตว์ชนิดต่างๆ และอีกหลายสิ่งที่สังคมมองว่าประหลาด คุณหมอบอกว่านี่เป็นเรื่องของรสนิยม และไม่ผิดเลยที่ใครคนหนึ่งจะมีรสนิยมที่มีอารมณ์ทางเพศเมื่อเสพเนื้อหาเหล่านี้ ตราบใดที่พฤติกรรมของคนคนนั้นไม่ได้รบกวนหรือละเมิดผู้อื่น การอ่านแล้วเก็บไปจินตนาการช่วยตัวเองไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่หากรสนิยมเหล่านี้ทำให้ตัวเขาเองต้องรู้สึกแย่ เกิดภาวะเครียด หรือเริ่มเกิดความขัดแย้งภายในจิตใจจนใช้ชีวิตต่อไม่ได้กับความรู้สึกนี้ ‘โอ๊ยเครียด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด ฉันไม่อยากคิดแบบนี้เลย แต่ก็หยุดคิดไม่ได้ ห้ามสมองตัวเองไม่ได้ คิดวนเวียน ไม่อยากอยู่กับความรู้สึกแบบนี้แต่หาทางออกไม่ได้’ หากคิดแบบนี้ต้องมาเข้ารับการรักษา
หมอพลอยเล่าว่าขณะนี้เทรนด์ที่เรียกว่า sexual medicine กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นแล้วในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่มองเรื่องเพศและเซ็กซ์ในมุมมองใหม่ ว่าเป็นเรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องลามกอนาจารหรือเรื่องน่าอายเหมือนในอดีต เมื่อเราดูแลสุขภาพเพศตัวเองได้ไม่ดี จัดการกับอารมณ์ทางเพศตัวเองได้ไม่เหมาะสม จนทำให้ตัวเองเกิดความเครียด หรือเกิดปัญหาจนใช้ชีวิตอย่างปกติไม่ได้ ก็ถือว่าเราป่วย ต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ที่เข้าใจ ไม่ใช่แก้ไขโดยการหลบซ่อนหรือกดสิ่งเหล่านั้นเอาไว้
จากวัยเตาะแตะถึงวัยว้าวุ่น
จาก oral stage ถึงอารมณ์ทางเพศ
การจะให้ความรู้ความเข้าใจ หรือสอนให้เด็กมีความฉลาดรู้และเท่าทันสื่อที่กล่าวไปข้างต้นได้ หมอพลอยบอกว่าถ้าโรงเรียนหรือครอบครัวไม่พูดเรื่องเพศให้เป็นบทสนทนาปกติ ก็ยากที่จะสอนเขา และยิ่งหากเรายังมองว่าอารมณ์ทางเพศหรือการช่วยตัวเองเป็นเรื่องผิดปกติ ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกระดับ
นั่นอาจหมายความว่า เราต้องปฏิวัติทัศนคติและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยเริ่มต้นจากผู้ใหญ่ก่อน
หมอพลอยอธิบายเรื่องนี้โดยใช้พัฒนาการเด็กที่พ่อแม่และครูส่วนใหญ่ทราบกันอยู่แล้ว นั่นคือ oral stage ซึ่งเด็กวัยเตาะแตะจะแสวงหาความสุขจากการหยิบจับสิ่งของใส่ปาก เขาจะหยิบอะไรก็ตามที่อยู่ตรงหน้าเข้าปาก ซึ่งสิ่งของนั้นอาจเป็นอันตราย อาจสกปรก หรือเด็กอาจเผลอกลืนเข้าไป ผู้ปกครองก็จะห้ามว่า ‘อย่าลูก อย่าเอาใส่ปาก มันอี๋ๆ มันอันตราย’ จากนั้นก็ป้องกันโดยเอาสิ่งของที่เด็กอาจหยิบใส่ปากออกจากพื้นที่เด็ก ตรงนี้เองที่มีนวัตกรรมขึ้นมารองรับ นั่นคือ ยางกัดสำหรับเด็ก แล้วบริษัทผู้ผลิตสินค้าก็จะแข่งกันผลิตของดีๆ ขึ้นมา โฆษณาว่าเป็นพลาสติกอย่างดี ผลิตจากวัสดุ food grade ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย และพ่อแม่ก็ลงทุนซื้อให้ลูก เพราะรู้ดีว่านี่เป็นสัญชาตญาณธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามวัย
ทว่ากับเรื่องอารมณ์ทางเพศซึ่งถูกจุดขึ้นมาด้วยกลไกทางธรรมชาติ ไม่ได้แตกต่างอะไรกับ oral stage เลย พ่อแม่กลับไม่พูด ส่วนโรงเรียนก็บอกว่าอย่าทำ กดไว้ หันเหความสนใจไปเรื่องอื่นแล้วมันจะหายไปเอง จากนั้นก็เอาสิ่งเหล่านี้ออกจากโรงเรียนทั้งหมด โรงเรียนต้องปลอดสื่อลามก อินเทอร์เน็ตต้องไม่มีภาพเปลือยหรือหนังโป๊ คุณหมอบอกว่า ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คุณไม่รู้เลยว่าตอนนี้ลูกของคุณกำลังเสพอะไร เข้าใจผิดหรือถูก และอันตรายหรือเปล่า
“เอาสื่อลามกออกจากบ้านและโรงเรียนให้หมด แล้วอย่างไรต่อคะ เด็กจะหายมีอารมณ์ทางเพศหรือไม่ เขากดเอาไว้ได้จริงหรือเปล่า เราอดกลั้นกันได้จริงหรือเปล่า ในทางกลับกัน ยิ่งปิดกั้นเด็กก็จะยิ่งค้นหา แย่ไปกว่านั้นคือ เด็กต้องเสพแบบหลบซ่อน ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกหรือนักเรียนของเราเอาอะไรเข้าปากบ้าง จะอันตรายกว่าเดิมหรือไม่ เพราะเขาอยู่ในที่ลับจนเรามองไม่เห็นอะไรเลย”
การช่วยตัวเองที่ถูกมองเป็นเรื่องผิด ทำให้เด็กโดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย จะทำแบบรีบๆ เพื่อให้เสร็จเร็วๆ เพราะกลัว ทั้งกลัวใครจะมาเห็น กลัวแม่จะเปิดประตูเข้ามา หมอพลอยบอกว่า เมื่ออายุมากขึ้นทำให้ผู้ชายหลายคนมีปัญหาเรื่องการหลั่งเร็วด้วยซ้ำ เพราะปัญหามาจากความรีบในสมัยวัยรุ่นที่ต้องรีบช่วยตัวเองรีบเสร็จ ดังนั้น ถ้าเรื่องอารมณ์ทางเพศเป็นเรื่องปกติ ก็จะทำให้เราไม่กลัว มีเวลาให้กับตัวเอง ทั้งนี้เด็กต้องรู้ว่าแค่ไหนถึงพอเหมาะ แค่ไหนผิดปกติจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน และเมื่อรู้ว่าผิดปกติเขาก็จะกล้าพูด กล้าไปหาหมอ หรือเข้ารับการแนะนำ…ทั้งหมดก็เท่านั้นเอง
คุณหมอยังคิดว่าวันหนึ่งในอนาคต ไม่ช้าก็เร็ว ประเทศไทยอาจเปิดกว้างเรื่องอารมณ์ทางเพศมากขึ้น วันนั้นเราอาจมองเห็นว่าแท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งเดียวกับอาการคันฟันคันเหงือกของเด็กวัยเตาะแตะ ทุกอย่างอาจดีขึ้น และเราอาจได้เห็นบริษัทต่างๆ แข่งกันผลิตสินค้าคุณภาพดีและไม่เป็นอันตรายเพื่อช่วยให้ลูกคุณบำบัดความใคร่ด้วยตัวเองอย่างปลอดภัยก็ได้
ความยินยอม ค่านิยมใหม่ที่ต้องสร้าง
แนวคิดเรื่องความยินยอมเป็นความคิดที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในบริบทไทยที่มีเรื่องค่านิยมเดิม อำนาจ และสังคมรอบข้างเข้ามาเกี่ยวข้อง หมอพลอยขยายความว่า เด็กคนหนึ่งหรือกระทั่งผู้ใหญ่คนหนึ่งจะพูดคำว่า “ยอม” หรือ “ไม่ยอม” ออกมาได้ ความคิดและการตัดสินใจของคนนั้นๆ ถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วนบรรทัดฐานทางสังคม จึงไม่ได้มีอิสระในความคิดมากขนาดนั้น
หนึ่ง สังคมและคนรอบข้าง โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่เพื่อนมีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิต และการยอมรับจากเพื่อนก็ถือเป็นยอดเขาที่เด็กต้องการปีนขึ้นไปให้ถึง เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการตรวจหลังมีเซ็กซ์ บอกว่า ตนมีแฟนเพราะเพื่อนๆ มีแฟนกันหมด ใครไม่มีแฟนหรือไม่มีคนมาจีบกลายเป็นเรื่องประหลาด สังคมของวัยรุ่น ณ ขณะนั้นเขาให้ค่าความสวยหล่อ ความนิยม และการยอมรับจากการมีแฟน
“เพื่อนๆ มีแฟนกันหมด คนที่ไม่มีก็หาแฟน ใครมาจีบก็คุยกับเขา คุยไปก่อน พอคบกัน แล้วถูกหลอกไปมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะ date rape แล้วทำไมเด็กต้องทำแบบนั้น ก็เพราะเพื่อนๆ มีแฟนกันหมด ใครไม่มีแฟน เพื่อนอาจจะมองว่าคนนั้นไม่โอเค ดังนั้น เวลามีคนมาจีบ มาขอคบ จะยินยอมไหม ยอมสิ เพราะเหมือนเขาได้เกียรติยศ
“แล้วถ้าถามต่อไปว่าทำไมเด็กไม่รู้จักปฏิเสธ ก็อยากให้ลองย้อนกลับไปมองตัวเราเองในวัยนั้นแล้วถามว่าทำไม เพื่อนและสังคมในโรงเรียนคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญสำหรับเราที่สุดใช่ไหม เราจะไปบอกเขาว่า หนูต้องมั่นใจในตัวเอง หนูอย่าให้คนอื่นมาวัดคุณค่าในตัวหนูนะคะ พูดน่ะมันง่าย แต่ทำยากมาก ทำไม่ได้จริงหรอก” หมอพลอยให้ภาพ
สอง ค่านิยมและความเชื่อ ดังที่เราเห็นได้จากเนื้อหาในสื่อทั้งข่าวและละคร เช่น ละครที่มีเนื้อหารุนแรง พระเอกคุกคามนางเอกด้วยวาจาและทางเพศ นางเอกทำอะไรไม่ได้ สู้ไม่ได้ กลายเป็นเซ็กซ์ที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอม ขณะที่ในบางประเทศ เลือกจะใช้ละคร “สร้างค่านิยม” ใหม่ขึ้นมา
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่คุณหมอเห็นว่าน่าสนใจ ด้วยสังคมที่มีความคิดแบบชายเป็นใหญ่ครอบอยู่ และมีอัตราความรุนแรงในครอบครัวสูงมาตลอด ละครจึงเข้ามามีบทบาทในการชี้นำความคิดผู้คนเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ที่ทำให้สังคมเห็นว่า ผู้ชายที่ได้รับความนิยมเป็นที่ชมชอบของผู้หญิงต้องเป็นสุภาพบุรุษ อ่อนโยน ให้เกียรติผู้หญิง และให้ความเป็นธรรมกับเพศหญิงมากขึ้น
“ทำไมเราทำไม่ได้ ละครบ้านเราที่เรียกว่า ‘สะท้อนสังคม’ คืออะไร เพื่ออะไร เพื่อบอกว่ามีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นในสังคม? เพื่อบอกว่าสิ่งที่พระเอกทำนั้นผิด? แล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก็ยังได้เป็นพระเอก แฮปปี้เอนดิ้ง”
หมอพลอยอธิบายว่าหลักคิดเรื่องความยินยอมทางเพศนั้นง่ายมาก เพศเป็นของใครของมัน เป็นตัวตนของคนนั้นๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อมาสัมพันธ์กันก็จะไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียวอีกต่อไป ต้องมีการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน มีสัมพันธภาพเกิดขึ้น ตรงนี้เองที่หากเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความยินยอม นั่นคือการละเมิด ซึ่งการจะสอนเรื่องความยินยอมได้นั้น เด็กต้องถูกสอนให้รู้ก่อนว่า อะไรคือสิทธิของเขา อะไรคือสิทธิของผู้อื่น อะไรคือตัวเขา ร่างกายเขา และหากรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตที่ตัวคนนั้นๆ รู้สึกไม่โอเค นั่นคือการละเมิด
คุณหมอยืนยันว่าความเชื่อและค่านิยมใหม่นั้นสร้างขึ้นมาได้ ยิ่งหากต้องการกระตุ้นความรู้ความเข้าใจแนวคิดเรื่อง sexual consent ให้ได้อย่างเป็นระบบ ยิ่งต้องไปเริ่มสร้างจากค่านิยม
เอาความรู้สึกเป็นที่ตั้ง และเอากฎหมายเป็นที่มั่น
แล้วสรุปว่าเด็กวัยรุ่นวัยเรียนไม่ควรมีแฟน?
สำหรับคำถามนี้ หมอพลอยจะเอาความรู้สึกของคนคนนั้นเป็นตัวตั้ง ถ้ามีแฟนแล้วรู้สึกดี มีเพื่อนเรียนหนังสือ มีเป้าหมายร่วมกัน ได้ไปดูหนังฟังเพลงกัน ได้โทรคุยกันก่อนนอน ผู้ใหญ่จะห้ามเขามีแฟนหรือ เด็กหลายคนต้องการความสุขเล็กๆ น้อยๆ เท่านี้เอง ที่เราต้องสอนกันจริงๆ จังๆ เสียทีคือเรื่องความสัมพันธ์ เช่น เพื่อนคืออะไร เพื่อนต่างเพศคืออะไร แฟนต่างจากเพื่อนอย่างไร รวมถึงสอนให้เด็กรู้จักสำรวจตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร ตัวเราคือใคร ตัวเราเป็นของเรา ความรู้สึกเราเป็นของเรา ต้องทำให้เด็กมั่นใจในตัวเองว่าตัวเขารับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ทัน
“เราพูดชัดๆ ไปเลยว่าการมีแฟนคืออะไร มีได้ไหม ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับเพื่อนต่างกันอย่างไร โรงเรียนเคยสอนไหม ต้องรู้สึกดีที่คบกัน ถ้ารู้สึกไม่ดี ก็ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ควรถอยออกมา ต้องหัดให้เขาถามตัวเอง ฟังเสียงตัวเอง เคารพความรู้สึกตัวเอง และชั่งน้ำหนักความรู้สึกให้เป็น”
“จงเคารพความรู้สึกตัวเองและตระหนักสิทธิเหนือร่างกายของตัวเอง เรื่องมันง่ายๆ เท่านั้นเอง”
แต่บางทีเขาก็มาจับนมหนูนะคะ…
เรื่องนี้ก็ต้องพูดตรงๆ อีกเช่นกัน หมอพลอยยกข้อกฎหมายว่าด้วยการล่วงละเมิดต่อเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นความผิดทางอาญายอมความไม่ได้ เด็กทุกคนในประเทศควรรู้ข้อกฎหมายนี้ว่าอายุของเขายังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะยินยอม ไม่ใช่ว่าผู้ออกกฎหมายไม่เคารพการตัดสินใจของเด็ก แต่จากการทำงานของแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทำการบ้านกันจนได้บทสรุปที่ตัวเลข 15 ปี ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้เราเชื่อว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปียังต้องได้รับการปกป้อง เชื่อว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีอาจให้ความยินยอมโดยไม่ใช่ความยินยอมที่แท้จริง และสำคัญที่สุดคือเพื่อเป็นการป้องปรามผู้ที่คิดจะล่วงละเมิดเด็ก
หากเราเป็นเหยื่อ
หมอพลอยแนะนำว่าในกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือข่มขืน หลังจากรู้สึกตัว ให้ตั้งหลัก สำรวจร่างกาย ถ้ามีอาการบาดเจ็บ เลือดตกยางออก มีสติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วน หรือคลื่นไส้เวียนหัว ตรงที่ไปที่โรงพยาบาลก่อนเพื่อรักษาร่างกายก่อนเป็นลำดับแรก โดยสามารถบอกทางโรงพยาบาลได้เลยว่าว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศมา ซึ่งโรงพยาบาลรัฐแทบทุกแห่งมีบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถรักษาและตรวจภายในเก็บหลักฐานได้ หรือหากเป็นกรณีโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเป็นโรงพยาบาลเล็กในต่างจังหวัด ก็ให้รักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อนแล้วค่อยไปเก็บหลักฐานที่อื่นได้ตามคำแนะนำแพทย์
หากเป็นกรณีที่รู้สึกตัวเองดี ร่างกายภายนอกไม่ได้รับอันตราย และรู้สึกว่าพร้อมที่จะไปโรงพัก ไม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ไม่ต้องอาบน้ำหรือล้างตัว ไม่ต้องกลั้วปาก ให้ไปแจ้งความเพื่อขอลงบันทึกประจำวัน ทางโรงพักก็จะให้ใบส่งตัวให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล เราก็ไปตรวจตามนั้น
ส่วนเรื่องการฟ้องร้องเอาผิดนั้น ในกรณีเป็นความผิดทางเพศที่ยอมความได้ ถ้าไม่ไปแจ้งความภายในสามเดือน จะหมดอายุความไปเลย ส่วนความผิดที่ยอมความไม่ได้ เช่น กระทำชำเราเด็ก ข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้อาวุธรุนแรง จะไม่มีกำหนดหมดอายุความ เหยื่อจะไปแจ้งความเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเหตุที่กฎหมายเปิดกว้างให้เรื่องเวลาให้ เพราะทราบดีว่าว่าผู้ถูกกระทำได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจและร่างกาย รวมถึงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก
“การตั้งหลักแล้วไปแจ้งความทันทีนั้นทำได้ยาก และหลายครั้ง ผู้ถูกกระทำยังต้องกลับไปคิดทบทวนความรู้สึกตัวเองและชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของการแจ้งความด้วย เราต้องคิดถึงสภาพความเป็นจริง ผู้เขียนกฎหมายก็พยายามคิดถึงมุมนี้เสมอ”
ทั้งนี้ ในทางคดีและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ตำรวจเน้นย้ำว่า หากรีบแจ้ง รีบไปตรวจ ก็จะเก็บหลักฐานได้แม่นยำกว่า มีโอกาสพบหลักฐานได้มากกว่าปล่อยไว้ให้เนิ่นนาน
ในกรณีสามีภรรยา มีข้อกฎหมายน่าสนใจว่าด้วยการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว หมอพลอยเล่าว่าเคสการข่มขืนระหว่างสามีภรรยากันเอง หรือความรุนแรงอื่นๆ ในครอบครัวอาจซับซ้อนกว่าเคสอื่นๆ เนื่องจากครอบครัวยังต้องการดำรงความเป็นครอบครัวไว้ รวมถึงหลายครั้งไม่สามารถใช้กฎหมายอาญามาเอาผิดได้ ฉะนั้นจึงมีกฎหมายข้อนี้ขึ้นมาโดยความร่วมมือบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงานในการดูแลและไกล่เกลี่ยเพื่อช่วยลดหรือยุติความรุนแรง
ขั้นตอนในทางคดีกินระยะเวลาดำเนินการยาวนานมาก อาจนานนับปี หรือหลายเคสก็นานกว่านั้น คุณหมอบอกว่า แพทย์และหน่วยงานที่ดูแลต้องช่วยดูแลและเยียวยาไม่ให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกทรมานหรือรู้สึกเจ็บปวดนานขนาดนั้น โดยสิ่งแรกช่วยได้ คือการตรวจดูแลรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ
ด้านร่างกาย หลังจากตรวจรักษาอาการบาดเจ็บแล้วต้องให้ยาป้องกันโรคติดต่อบางชนิด เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ยาป้องกันเอชไอวี และโรคติดต่ออื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ด้านจิตใจ แพทย์จะประเมินสุขภาพจิต ซึ่งอาการทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นทันทีทันใดคือ อาการตกใจ หวาดกลัว หวาดระแวง และในระยะยาวอาจเป็นกลุ่มอาการซึมเศร้า แน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่ตอบตรงๆ ว่ามีอาการที่ว่ามาหรือไม่ เพราะบางครั้งตัวเหยื่อเองก็ไม่รู้ว่ากำลังเศร้า เสียใจ เครียด กลัว หมอพลอยจึงใช้คำถามว่า ช่วงนี้นอนหลับหรือเปล่า มีฝันร้ายบ้างไหม มีผวาตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนหรือเปล่า ออกไปข้างนอกคนเดียวรู้สึกกลัวหรือเปล่า คำตอบจากคำถามเหล่านี้จะทำให้แพทย์ประเมินสุขภาพจิตได้ นอกจากรักษาอาการเหล่านี้แล้ว แพทย์และหน่วยงานดูแลยังต้องทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ กลับไปอยู่ในสังคมได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความเจ็บปวดทางอารมณ์มากและยาวนาน เราต้องบอกคนไข้ที่เข้ารับการรักษาเสมอว่า ปล่อยให้เรื่องคดีเป็นเรื่องของคดีไป ถ้าอยากรู้ว่าคดีไปถึงขั้นตอนไหนแล้วเราจะติดต่อประสานให้ สิ่งสำคัญ ณ ตอนนี้ สำหรับตัวคนไข้คือ ‘ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจะไม่เกิดซ้ำอีก การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ จะไม่เกิดซ้ำอีก’ เขาต้องรู้สึกว่าเขาปลอดภัยจากคนที่เคยกระทำเขา หรือคนอื่นที่มีโอกาสจะกระทำเขาซ้ำ”
แล้วหากเราเป็นผู้พบเห็นล่ะ?
จากประสบการณ์ของตัวคุณหมอเองเคยทดลองถามหลายๆ คนว่า ถ้าคุณกำลังยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์แล้วเห็นผู้ชายคนหนึ่งกำลังฉุดมือผู้หญิงคนหนึ่ง คุณในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์จะทำอย่างไร จะเข้าไปช่วยเหลือไหม หลายคนตอบว่า ช่วยแน่นอน ถามต่อไปว่าถ้าผู้ชายคนนั้นบอกว่า นี่เป็นเรื่องผัวเมีย คนอื่นอย่ายุ่ง คนที่จะเข้าไปช่วยเหลือก็จะน้อยลงอีกหรือไม่มีเลย ยังไม่นับว่าหากผู้ชายมีอาวุธก็ยิ่งไม่มีใครเข้าไปช่วย
นำมาสู่คำถามสำคัญอีกประการคือ หากเราเห็นเหตุการณ์ว่ามีผู้ถูกล่วงละเมิดหรือตัวเราเองเป็นผู้ถูกกระทำ เราต้องแจ้งใคร ต้องโทรเบอร์ไหน คำตอบคือ 1300 สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคมของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ช่วยคุณได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“สิ่งเหล่านี้เคยเข้าไปอยู่ในหลักสูตรเพศศึกษาของเด็กไหม เขารู้ไหมว่าวันหนึ่งถ้าเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันจะทำอย่างไร วันหนึ่งถ้าเด็กเห็นเพื่อนบ้านทะเลาะกันจะทำอย่างไร วันหนึ่งถ้าเด็กโตขึ้นมาแล้วแต่งงานเข้าไปอยู่ในบ้านที่กระทำความรุนแรง เด็กจะทำอย่างไร เคยให้ความรู้และทางออกแก่เขาไหม เรามีแต่บอกว่าอย่ามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อย่าท้องก่อนแต่ง อย่าติดโรค ถุงยางอนามัยปลอดภัยนะจ๊ะ ซึ่งมันไม่พอ มันไม่พออย่างรุนแรงค่ะ”
ทางนี้มีอำนาจให้คุณยืม
การล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศ จนถึงการข่มขืนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบ้าน โรงเรียน หรือชุมชน หมอพลอยสะท้อนว่า เราต่างรู้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การที่ใครคนหนึ่งจะละเมิดใครอีกคนได้ เป็นเพราะเขาอยู่เหนือกว่าหรือมีอำนาจมากกว่า และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้เหยื่อจำใจปิดปากเงียบเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา และคิดว่าตนเองไม่มีอำนาจอะไรจะไปสู้กับผู้กระทำซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าได้ ทางทฤษฎีก็เขียนไว้อย่างนี้เช่นกัน แต่ไม่บอกเลยว่าเราต้องทำอย่างไรต่อ ผู้ถูกล่วงละเมิดต้องทำอย่างไรต่อ
“เราต้องเริ่มจากตีโจทย์อำนาจให้แตก สมมติให้เห็นภาพว่าเรามองอำนาจเป็นเรื่องเงิน คนหนึ่งรวย อีกคนหนึ่งจน เราจะทำอย่างไรให้คนที่จนกว่ามีเงินเท่ากับคนรวยหรืออย่างน้อยก็พอจะทัดเทียมเท่าเทียมกัน ต้องยืมมาใช่ไหม เรื่องอำนาจก็เหมือนกัน ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องไปยืมอำนาจคนอื่นมาเพื่อต่อกรกับผู้มีอำนาจมากกว่า กฎหมายทั้งหมดที่ออกมาคือความพยายามที่จะให้อำนาจตรงนี้แก่ผู้ด้อยอำนาจ ประเด็นต่อไปคือ แหล่งกู้อำนาจนี้ คุณจะเข้าถึงไหม คุณจะเข้าไปกู้ยืมอำนาจนี้มาได้หรือเปล่า”
ฉะนั้น หมายความว่าเราในฐานะพลเมืองผู้มีสิทธิจะได้รับการปกป้องตามกฎหมายจำเป็นต้อง…
รู้กฎหมาย ไม่ต้องถึงขนาดจบนิติศาสตร์ ขอเพียงรู้ว่าประเทศเรามีกฎหมายต่างๆ ปกป้องคุณอยู่
รู้แหล่งกู้ยืมอำนาจ ก็คือการรู้ว่าคุณจะนำกฎหมายมาใช้ได้อย่างไร ต้องปรึกษาใครหรือหน่วยงานไหน และคนนั้นๆ ที่นั้นๆ ต้องเชื่อถือได้ ไม่ใช่ว่าเข้าไปหาแล้วเขาตอบกลับมาว่า ฉันไม่ให้เงินคุณหรอก ไม่ให้อำนาจคุณหรอก คุณเอาไปก็สู้เขาไม่ได้
“เด็กถูกล่วงละเมิดที่โรงเรียนก็ไม่กล้าบอกครู เพราะไม่รู้ว่าครูคนที่จะไปบอกจะเข้าข้างเราหรือเข้าข้างเพื่อนครูด้วยกัน เด็กถูกพ่อเลี้ยงล่วงละเมิดที่บ้านก็ไม่กล้าบอกแม่ เพราะไม่รู้ว่าแม่จะเชื่อเราหรือเชื่อพ่อเลี้ยงมากกว่า เด็กถูกผู้มีอำนาจในชุมชนล่วงละเมิดก็ไม่กล้าจะไปแจ้งความ เพราะไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นพวกของผู้กระทำหรือเปล่า นี่แปลว่าเขาหาแหล่งอำนาจที่จะให้หยิบยืมอำนาจไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อใจได้เลย ฉะนั้น เราจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อบอกว่าตรงนี้เป็นแหล่งกู้ยืมอำนาจ คุณเข้ามาได้เลย คุณรู้สึกว่ามีความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจใช่ไหม ฉันมีอำนาจให้ ผู้กระทำเป็นครูใช่ไหม เราจะมีหน่วยงานที่ใหญ่กว่าครู ใหญ่กว่าผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าไปดูแล เข้าไปช่วยสู้ ผู้กระทำเป็นพ่อเลี้ยงใช่ไหม เราจะหาคนที่ใหญ่กว่าและเชื่อใจได้กว่านั้นไปดูแล หรือคนนั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงในชุมชน เราจะมีคนที่ใหญ่กว่านั้นอีกไปช่วยคุณ”
นอกจากสายด่วน 1300 ที่เหยื่อหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์สามารถโทรแจ้งได้ 24 ชั่วโมงแล้ว หมอพลอยเพิ่มเติมว่าสามารถส่งข้อความไปที่เพจ because we care (https://www.facebook.com/BWC.PGH/) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. กับโรงพยาบาลตำรวจได้เช่นกัน
ประเด็นเรื่องเพศนั้น นอกจากเราต้องรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายเราแล้ว อีกสิ่งที่หมอพลอยเน้นย้ำไม่ขาดคือ เราต้องรู้จักสิทธิตัวเอง ต้องรู้กฎหมาย รู้ว่าเราจะขอความช่วยเหลือจากใครได้เมื่อเราถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆ เพราะหากไม่รู้แล้วก็เท่ากับเสียสิทธิไปโดยปริยาย
เรียนก่อนสาย รู้ก่อนวายวอด
เพศศึกษาต้องนำหน้าเด็กหนึ่งก้าว
ทั้งในฐานะสูตินรีแพทย์ ในฐานะหมอตำรวจ และคุณแม่ ถามว่าหลักสูตรเพศศึกษาในฝันของคุณหมอพลอยมีหน้าตาเป็นอย่างไร เด็กควรรู้อะไรบ้าง รู้เมื่อไหร่ และรู้แค่ไหนจึงจะเหมาะสมและเพียงพอ สำหรับประเด็นนี้หมอพลอยคิดว่าต้องแบ่งเนื้อหาการเรียนให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
อนุบาลจนถึงชั้นประถมต้น เด็กควรรู้เรื่องอวัยวะของตัวเอง เขารู้ว่าสิ่งนี้คือตา จมูก ปาก มือ เขาก็ต้องรู้ว่าจู๋ทำหน้าที่อะไร จิ๋มทำหน้าที่อะไร โดยยังไม่ต้องรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งเราสามารถสอนได้ตั้งแต่ช่วงนี้เลยว่า อวัยวะเพศของเราห้ามให้ใครดูหรือจับ และเราก็ห้ามไปดูหรือจับอวัยวะเพศของคนอื่นเช่นกัน
ชั้นประถมปลาย หลังจากรู้จักเพศแล้ว เด็กต้องรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ การสอดใส่คืออะไร อารมณ์ทางเพศคืออะไร รู้สึกอย่างไร การตื่นตัวทางเพศรู้สึกอย่างไร และควรจัดการกับอารมณ์นั้นอย่างไร
ชั้นมัธยมต้น เด็กต้องรู้เรื่องเซ็กซ์ปลอดภัย เรื่องความหลากหลายทางเพศ และเรื่องการนำความยินยอมทางเพศไปใช้ หลักสูตรทั้งหมดควรจบอย่างเข้าใจตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น เด็กควรรู้ทั้งหมดแล้ว แล้วจะสบายขึ้นเยอะ
ถ้าถามว่าทำไมเขาต้องรู้ก่อน คุณหมออธิบายว่า เขาต้องรู้ก่อนสิ่งที่มันจะเกิด ต้องรู้วิธีแก้ปัญหาเพื่อป้องกันการเผชิญกับปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายด้วยความสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก เช่น เมื่อเด็กขึ้นมัธยมต้น เขาจะเข้าสู่ช่วงวัยแรกรุ่น (puberty) ซึ่งเป็นช่วงพัฒนาการที่เด็กเริ่มมีอารมณ์ทางเพศ เขาต้องรู้วิธีจัดการตัวเอง และรู้ด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นเรื่องปกติ
“ลูกหมออายุห้าขวบ เขารู้ว่าอวัยวะเพศตัวเองคืออะไร รู้ว่าเด็กคลอดออกมาจากช่องคลอด ไม่ใช่ว่านกกระสาคาบเขามาส่งให้เราเลี้ยงดู เขาเกิดจากเรา เกิดจากพ่อแม่แต่งงานกัน รักกัน กอดกัน ก็มีเขาขึ้นมา เขารู้ความแตกต่างของอวัยวะเพศ รู้ว่าอวัยวะเพศของตัวเองจะให้ใครมาดูหรือจับไม่ได้ และลูกก็ไม่มีสิทธิไปดูอวัยวะเพศคนอื่น ถ้ามีใครจะมากอดลูกต้องขออนุญาตลูกก่อน เขาจะไปกอดใครก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน และเขามีสิทธิจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ ระดับชั้นประถมต้นต้องรู้เรื่องนี้หมดแล้ว”
หมอพลอยเล่าเคสเด็กสี่ขวบที่แวะเข้าห้องน้ำที่ร้านสะดวกซื้อก่อนกลับบ้านเป็นประจำ ระหว่างที่เด็กปัสสาวะในห้องน้ำ แม่ก็เลือกซื้อของรอ วันหนึ่งเด็กเดินออกมาแล้วบอกว่ามีผู้ชายเข้ามาในห้องน้ำแล้วให้จับอะไรก็ไม่รู้ตรงขา นี่คือเหตุผลว่าเด็กควรรู้จักอวัยวะเพศตั้งแต่ชั้นอนุบาล ลองสมมติว่าเด็กที่ไม่ถูกสอนเรื่องอวัยวะเพศของเพศตรงข้ามแล้วมาเจอเหตุการณ์นี้ แล้วก็บังเอิญว่าเด็กไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แปลก เด็กบังเอิญไม่ได้เล่าให้แม่ฟัง จะเกิดเรื่องเลวร้ายอะไรกว่านี้ขึ้นหรือไม่
พญ.ลักขณา ทิ้งท้ายว่า ถ้าเริ่มวางรากฐานความเข้าใจและค่านิยมใหม่ตั้งแต่เด็ก ย่อมเริ่มได้ง่าย แล้ววันหนึ่งทุกอย่างจะดีขึ้น เรื่องเพศเป็นเรื่องใกล้ตัวและไม่ยากเกินเด็กจะเข้าใจเลย และถ้าเริ่มจากเด็กได้ ในอนาคตทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น
แต่ใครอีกต้องเรียนเพศศึกษา ผู้ใหญ่จำนวนมากที่คิดว่าตัวเองยังไม่รู้ก็สามารถเรียนได้ การเรียนรู้ทำได้ตลอดชีวิต และที่หมอพลอยย้ำเป็นพิเศษบุคคลที่ต้องสื่อสารเรื่องนี้กับเด็กและสังคม ครูต้องรู้เชิงลึก ต้องรู้ลึกแค่ไหน ต้องรู้ให้มากที่สุดเท่าที่ครูจะรู้ได้ ครูจะตอบเด็กไม่ได้ถ้าครูไม่รู้ ครูทุกคนจำเป็นต้องรู้หรือ ครูทุกคนที่จำเป็นต้องตอบบทสนทนาเด็กต้องรู้ คนเขียนบทหนังก็ต้องรู้เพื่อผลิตสื่อที่เสริมสร้างค่านิยมใหม่ นักข่าวต้องรู้เพื่อไม่ให้ตัวเองไปล่วงละเมิดเหยื่อซ้ำ
ที่ผ่านมาเราอาจสอนลูกหรือนักเรียนของเราให้เรียนเรื่องเซ็กซ์เหมือนเรียนเรื่องดอกไม้ สอนให้กดข่มอารมณ์ทางเพศไว้ทั้งที่มันเป็นกลไกธรรมชาติ บอกให้โรงเรียนและบ้านเป็นเขตปลอดสื่อลามกโดยไม่ฉุกใจคิดเลยว่าเป็นการผลักเด็กเข้าสู่มุมอับที่เรามองอะไรไม่เห็นเลย แต่ไม่เคยสอนเรื่องความสัมพันธ์ ความยินยอม และไม่สอนกระทั่งว่าเขาจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร มีข้อกฎหมายใดพิทักษ์สิทธิเขาอยู่ หมอพลอยยืนยันว่า หลักสูตรเพศศึกษาควรนำหน้าเด็กอยู่อย่างน้อยหนึ่งก้าวเสมอ ซึ่งสอดคล้องกับที่เจนนิเฟอร์ แลง เขียนไว้ใน เพศศึกษากติกาใหม่ ว่าเราควรสอนเรื่องเพศให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย และการเรียนเรื่องเพศไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก
เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น
(Consent: The New Rules of Sex Education: Every Teen’s Guide to Healthy Sexual Relationships)
Jennifer Lang เขียน
ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปล