จิตวิทยาสังคม (ฉบับย่อ)

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง

 

เราคือใคร? สังคม วัฒนธรรม และบริบทต่างๆ มีส่วนหล่อหลอมเจตคติ พฤติกรรม และความเชื่อของเราอย่างไร? และทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้คนรอบตัวอย่างไร? นี่คือคำถามที่จิตวิทยาสังคมพยายามหาคำตอบ

จิตวิทยาสังคม เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และความเชื่อมโยงนี้เองทำให้เราแต่ละคนได้รับอิทธิพลจากสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในสังคม เช่น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม การกดขี่ข่มเหง เราย่อมต้องการหาทางแก้ไขปัญหา และเมื่อผู้สร้างปัญหาเหล่านี้คือมนุษย์ เราจึงจำเป็นต้องหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเหตุใดมนุษย์เราจึง “คิด” และ “ทำ” เช่นนั้น ปัจจัยกระตุ้นความคิดและพฤติกรรมไม่ได้มาจากปัจจัยภายในตัวบุคคลคนใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแรงขับเคลื่อนภายนอกด้วย เช่น สถานการณ์และคนรอบข้าง การศึกษาจิตวิทยาสังคมจะช่วยไขคำตอบและนำมาสู่วิธีแก้ปัญหาในสังคมได้

 

การรู้คิดทางสังคม: กลไกพื้นฐานของจิตสังคม

 

Why we love social psychology

ที่มา: https://miuc.org/why-we-love-social-psychology/amp/

 

ในขณะที่เราอ่านข้อความหนึ่งๆ สมองของเราแปลความ เข้ารหัส และจับคู่กับความทรงจำเพื่อหาความหมายของคำ ระหว่างที่เราเข้าถึงความหมายของแต่ละคำ คำเหล่านี้ก็ถูกประกอบเข้าเป็นโครงสร้างประโยค ถูกตีความ และเก็บไว้ในความทรงจำเพื่อใช้ตีความข้อมูลอื่นๆ ต่อไป นี่คือตอนที่กลไก “การรู้คิด” เกิดขึ้น สมองเรารับรู้ ประมวลผล เก็บจำ และนำข้อมูลกลับมาใช้

กระบวนการทางสมองนี้เป็นกลไกการคิดที่ทำงานเช่นเดียวกับ “การรู้คิดทางสังคม” (social cognition) ซึ่งเป็นการทำงานพื้นฐานของจิตสังคม

การรู้คิดทางสังคมเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ เก็บจำ และใช้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนและความสัมพันธ์ มันขับเคลื่อนเจตคติและอคติ และสอดแทรกอยู่ในทุกจังหวะชีวิตของเรา

กระบวนการรู้คิดทางสังคมเกิดขึ้นกับเราได้ตลอด นับตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราเลือกทำสิ่งต่างๆ โดยที่มีกฎหรืออิทธิพลทางสังคมเป็นเหตุผลเบื้องหลัง เพียงแค่เราคิดถึงคนอื่นหรือคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดการรู้คิดทางสังคม แม้เวลานั้นจะไม่มีใครอยู่รอบตัวเราก็ตาม

ตัวอย่างเช่น เราอาจตื่นมาด้วยความกังวลเรื่องการนำเสนองาน ไม่อยากทำพลาดเพราะเป็นสิ่งที่เจ้านายสั่ง เราไม่อยากดูแย่ต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ไหนจะอยากทำผลงานให้ดีเพื่อความก้าวหน้าทางการงานหรือเพื่อให้ครอบครัวภูมิใจในตัวเรา เราอาจยืนคิดเรื่องเหล่านี้คนเดียวในครัว แต่สาเหตุที่ทำให้เราคิดเรื่องพวกนี้ล้วนเกี่ยวโยงกับผู้อื่นทั้งสิ้น

 

มนุษย์เป็นนักคิดแบบไหนกัน?

การพยายามเข้าใจโลกสำคัญกับการอยู่รอดของมนุษย์เป็นอย่างมาก นักจิตวิทยาสังคมได้เสนอ 3 วิธีคิดที่เราใช้เพื่อทำความเข้าใจโลกไว้ดังนี้

 

นักวิทยาศาสตร์ผู้ซื่อตรง (naïve scientist)

ฟริตซ์ ไฮเดอร์ (Fritz Heider) เสนอแนวคิดว่า เราไม่ได้เป็นเพียงนักสังเกตการณ์โลก แต่เราเข้ารหัส วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลทางสังคมตลอดเวลา ซึ่งช่วยให้เราบรรลุความต้องการพื้นฐานสองอย่าง นั่นคือ ความต้องการที่จะ เข้าใจ โลก และความต้องการที่จะ ควบคุม โลก คนเราพยายามเข้าใจโลกเพื่อสร้างโมเดลของ “จักรวาลทางสังคม” ที่ช่วยให้ทำนายได้ว่าคนอื่นจะมีพฤติกรรมอย่างไร และช่วยให้เป้าหมายและความปรารถนาต่างๆ เป็นจริงขึ้นมา

ไฮเดอร์เสนอแนวคิดว่า มนุษย์คือ “นักวิทยาศาสตร์ผู้ซื่อตรง” ที่สร้างโมเดลในใจมาสะท้อนภาพว่าโลกทำงานอย่างไร ทั้งยังเฝ้าค้นหาความหมายและเจตนาในทุกปฏิสัมพันธ์

ตัวอย่างเช่น การที่บรรพบุรุษของมนุษย์เข้าใจว่าเสือเป็นสัตว์ที่ไม่ควรเข้าใกล้ ในขณะที่แพะเป็นสัตว์น่าเลี้ยงนั้นเป็นการปรับตัวที่ดี และเป็นหลักการที่สามารถใช้ได้กับความสัมพันธ์ทางสังคมเช่นกัน การรู้ว่าใครหรือสัตว์เผ่าพันธุ์ใดจะเป็นภัยหรือควรหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัยจะช่วยให้มนุษย์อยู่รอดต่อไปได้

หนึ่งในวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ซื่อตรงใช้ทำความเข้าใจโลกคือทฤษฎีการระบุสาเหตุ ซึ่งคือการอนุมานสาเหตุของพฤติกรรมผู้คน แบ่งได้เป็นการระบุสาเหตุที่เป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในคือลักษณะนิสัยของบุคคลนั้น ส่วนปัจจัยภายนอกคือสถานการณ์ เช่น เราระบุสาเหตุว่าคนมีเรื่องชกต่อยกัน เพราะเขาเป็นคนก้าวร้าว นั่นคือการระบุสาเหตุปัจจัยภายใน (ลักษณะนิสัย) แต่หากเราระบุสาเหตุว่าเป็นเพราะเขาเมา นี่เป็นการระบุสาเหตุปัจจัยภายนอก (สถานการณ์)

อย่างไรก็ตาม จุดที่ต้องระวังในการระบุสาเหตุคือ “ความเอนเอียงและความผิดพลาด” ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • ความเอนเอียงพื้นฐานในการระบุสาเหตุ คือแนวโน้มที่เรามักระบุสาเหตุเชิงลักษณะนิสัย (ภายใน) มากกว่าเชิงสถานการณ์ (ภายนอก) เช่น เมื่อคุณเห็นคนชกต่อยกันในผับ ความคิดแรกของคุณคืออะไร คงไม่ใช่ว่าทั้งคู่เป็นคนอ่อนโยนมากๆ ที่เพียงแค่กำลังทำพฤติกรรมผิดแผกไปจากลักษณะนิสัยปกติของตนเองแน่ๆ คุณมีแนวโน้มจะคิดว่าเขาก้าวร้าว นั่นคือการระบุสาเหตุไปที่ลักษณะนิสัย
  • ความเอนเอียงในการระบุสาเหตุของผู้กระทำกับผู้สังเกต สตอร์มส์ (Michael D. Storms) ค้นพบว่า ขณะที่คนเรามักมีความเอนเอียงพื้นฐานในการระบุสาเหตุพฤติกรรมของผู้อื่น แต่เมื่อขอให้ประเมินพฤติกรรมเดียวกันของตนเอง เรามักระบุสาเหตุเชิงสถานการณ์มากกว่า คำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์นี้คือความเด่นชัดในการรับรู้ ซึ่งหมายความว่าความสนใจของเราถูกดึงดูดด้วยอะไรก็ตาม
    ที่โดดเด่นเห็นได้ชัดในฉากตรงหน้านั่นเอง

เมื่อต้องระบุสาเหตุของพฤติกรรมตัวเอง เรามองไม่เห็นตัวเราเองในขณะเกิดเหตุการณ์ แต่มองออกไปที่สถานการณ์ ดังนั้นสถานการณ์จึงดึงดูดความสนใจเรามากที่สุด

  • การระบุสาเหตุเอนเอียงเข้าข้างตนเอง หรือการที่คนเราเพียงแต่ระบุสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกดีนั่นเอง

 

นักประหยัดสมอง (cognitive miser)

มนุษย์เราไม่ได้คิดอย่างมีเหตุผลและระมัดระวังเสมอไป บางครั้งเราใช้ทางลัดที่เร็วกว่าและพยายามน้อยกว่าในการคิด อย่างเช่น “กฎการนึกถึงได้ง่าย” (availability heuristic) กล่าวคือ การตัดสินของเราถูกชี้นำและบางทีก็ถูกบีบบังคับด้วยสิ่งที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุด
ในบริบทตรงหน้า หรือสิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจเราได้ไวที่สุด ขั้นตอนการไตร่ตรองจะถูกตัดออกไป ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ตรงข้ามกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ซื่อตรงอย่างสิ้นเชิง

การวางกรอบการรับรู้ อย่างการใช้คำเรียกหรือการติดฉลากให้อะไรบางอย่างในสังคม เช่น การเลือกใช้คำว่า “นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” หรือ “ผู้ก่อการร้าย” เป็นการเหนี่ยวนำการรับรู้ที่มีส่วนสำคัญในการเกิดกฎการนึกถึงได้ง่าย

ในชีวิตประจำวันของเรามีกรอบการรับรู้แบบอื่นๆ ซึ่งปรากฏทั้งในรูปแบบของสคริปต์ และ ภาพเหมารวม เราสร้างสคริปต์ผ่านประสบการณ์ เช่น  เรารู้ว่าต้องเข้าแถวเพื่อรอซื้อตั๋วภาพยนตร์ ต้องนั่งตามหมายเลขที่ตั๋วระบุ และหยุดพูดคุยเมื่อภาพยนตร์เริ่มฉาย สคริปต์เหล่านี้บอกว่าพฤติกรรมใดจำเป็นและยอมรับได้ในแต่ละบริบทสังคม

ส่วนภาพเหมารวมคือหลักการกว้างๆ ที่ใช้สรุปข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับผู้คน ภาพเหมารวมช่วยให้เราสรุปความอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียเพราะทำให้เราตีความข้อมูลใหม่อย่างเอนเอียงจนอาจเกิดความไม่เท่าเทียม เช่น ผู้หญิงไม่ได้รับเลือกให้ทำงานวิศวกร เพียงเพราะเพศหญิงดูขัดกับภาพเหมารวมของวิศวกรที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

จะเห็นได้ว่า แม้วิธีการคิดแบบนักประหยัดสมองจะง่ายกว่าและเร็วกว่าในการระบุสาเหตุ  แต่ก็ไม่ช่วยให้เราระบุสาเหตุได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมเสมอไป

แล้วอย่างนี้วิธีคิดแบบใดเหมาะสมที่สุดในการระบุสาเหตุล่ะ? คำตอบอาจไม่ใช่วิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะวิธีคิดทั้งสองแบบก็ทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่ต่างกัน

 

นักกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นตามแรงจูงใจ

แม้จะมีการแบ่งวิธีคิดของมนุษย์เป็นแบบนักวิทยาศาสตร์ผู้ซื่อตรงและนักประหยัดสมอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์เราจะเลือกใช้วิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น บางครั้งเราก็ใช้ทั้งสองวิธีในการระบุสาเหตุ โดยเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่

หากมีเวลาไม่มากหรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ เราจะเลือกประมวลผลอย่างด่วนแบบที่นักประหยัดสมองทำ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เราใช้กฎอย่างง่ายในการประมวลข้อมูลในขั้นต้น เช่น เราประมวลผลข้อมูลของคนที่พบกันครั้งแรก โดยจัดเขาเข้าหมวดหมู่ทางสังคมก่อน แล้วดูว่าคนนั้นเพศอะไร อายุเท่าไร มาจากไหน หรือนับถือศาสนาอะไร เมื่อจัดหมวดหมู่ได้ เราก็จะใช้ภาพเหมารวมที่มีมากรองข้อมูลทั้งหมด

แต่หากเราไม่สามารถจัดคนนั้นเข้าหมวดหมู่ได้หรือลักษณะของคนนั้นไม่เป็นตามความคาดหวังของภาพเหมารวม นี่เป็นตอนที่วิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ผู้ซื่อตรงจะทำงาน เรามีแรงจูงใจที่จะตัดสินให้ถูกต้อง และแก้ไขโมเดลทางจิตที่ใช้รับรู้เกี่ยวกับบุคคลนั้นหรือโลกรอบตัวอย่างละเอียดและเป็นระบบ เพื่อให้สามารถเข้าใจโลกและควบคุมโลกได้ในท้ายที่สุด

 

เจตคติและพฤติกรรมมนุษย์

เจตคติ (attitude) คือชุดความเชื่อเกี่ยวกับวัตถุ คน และประเด็น เจตคติเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของโมเดลทางจิตของเรา ซึ่งเป็นข้อมูลจำเพาะเจาะจงที่ช่วยเราทำนายว่าทำไมโลกจึงเป็นแบบที่เป็นอยู่

เจตคติมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อความคิดและพฤติกรรมของเรา เพราะเจตคติเป็นหนึ่งในพื้นฐานการเรียนรู้ของโมเดลทางจิตที่เราประมวลผลข้อมูลต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจโลกนั่นเอง นักจิตวิทยาสังคมเสนอว่าเจตคติของเราเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการต่อไปนี้

  • เราสร้างเจตคตินั้นเอง เราสร้างเจตคติเพื่อแสดงออกซึ่งค่านิยมของเรา เช่น คนที่รักสัตว์อาจเกิดเจตคติที่สนับสนุนการออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์อย่างแรงกล้า
  • การพบเจอบ่อย ยิ่งเราเห็นอะไรบ่อยเท่าไร เรายิ่งมีแนวโน้มชอบมันมากขึ้นเท่านั้น เรามักชอบสิ่งที่เราคุ้นชิน เช่น หากเติบโตมาในบ้านที่เลี้ยงสัตว์ ก็เป็นไปได้ว่าเด็กที่โตมาจะรักสัตว์ไปด้วย
  • การเชื่อมโยง จริงอยู่ที่ว่ายิ่งเราเห็นอะไรบ่อยก็ยิ่งชอบ แต่การที่เราจะชอบอะไรก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกเชื่อมโยงเช่นกัน เราเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการวางกรอบประสบการณ์ที่ทำให้เรารู้ว่าควรหลีกเลี่ยงหรือเข้าหาอะไร เมื่อสองสิ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันบ่อยครั้งมากพอ เราจะคาดหวังว่าสิ่งหนึ่งจะนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง หรือแม้แต่การที่เราเห็นคำต่างๆ ปรากฏในที่เดียวกันมากพอ เช่น หากจับคู่ชนชาติหนึ่งกับคำอธิบายลักษณะเชิงบวกหรือลบบ่อยครั้ง เราก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกเชิงบวกหรือลบตามคำที่ปรากฏร่วมกับชนชาตินั้นตามไปด้วย
  • ความต้องการกลมกลืนในกลุ่ม บางครั้งเจตคติที่แสดงออกอาจไม่ใช่เจตคติที่แท้จริงของคนคนนั้นเสมอไป เราอาจยึดถือเจตคติบางอย่างเพื่อให้กลมกลืนกับกลุ่มและเพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ดี จึงแสดงเจตคติบางอย่างที่ไม่ใช่เจตคติที่แท้จริงของเรา เช่น หันมาสนใจเรื่องรถเพราะคนรักของเราชอบรถ เป็นต้น
  • การปกป้องตัวตน กลไกการปกป้องตัวตนของเราจะเกิดขึ้นจากการระบุสาเหตุจากภายนอก เช่น การระบุสาเหตุของการสอบตกว่าเป็นเพราะครูสอนไม่ดี แทนที่จะระบุปัจจัยภายในจากตัวเราเอง เช่น เราไม่มีวินัยในการอ่านหนังสือมากพอ เป็นต้น

 

เรา “คิด” และ “ทำ” ตามอิทธิพลสังคม

เจตคติและพฤติกรรมของเราสามารถเปลี่ยนได้เมื่อมีคนโน้มน้าว หรือต่อให้ไม่มีใครโน้มน้าว เพียงแค่อยู่ท่ามกลางคนอื่น ก็เพียงพอที่เราจะคล้อยตามคนอื่นๆ แล้ว แม้แต่การตอบคำถาม หากเห็นว่าคนอื่นเลือกคำตอบที่เรารู้ว่าผิด เราก็มีแนวโน้มที่จะเลือกตอบผิดตาม ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีอิทธิพลสองประเภทที่ทำให้เราคล้อยตาม ได้แก่

  • อิทธิพลเชิงข้อมูล คือการที่เราใช้เจตคติของคนอื่นเป็นหลักการกว้างๆ ในการตัดสินใจ
  • อิทธิพลเชิงบรรทัดฐาน คือความปรารถนาของเราที่ไม่อยากแตกต่างหรือแปลกแยกจากสังคม

นอกจากเราจะคิดตามคนอื่นแล้ว เรายังแสดงออกทางพฤติกรรมตามคนอื่นเช่นกัน มีการศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่า “การอู้งานเชิงสังคม” อันเป็นผลจาก “การกระจายความรับผิดชอบ” คือการที่คนเรามีแนวโน้มรับผิดชอบต่อสถานการณ์ตรงหน้าลดลงเมื่ออยู่ท่ามกลางคนอื่นๆ เพราะคิดว่าคนอื่นจะช่วยกันแบกรับภาระ

ตัวอย่างเช่น “ปรากฏการณ์ผู้เห็นเหตุการณ์ที่นิ่งเฉย” ที่เผยให้เห็นผ่านการทดลองชิ้นหนึ่ง เมื่อผู้วิจัยปล่อยควันเข้าไปเต็มห้อง ผู้เข้าร่วมวิจัยมีแนวโน้มจะแจ้งเหตุฉุกเฉินมากกว่าเมื่ออยู่ในห้องคนเดียว ในทางตรงกันข้าม เมื่อรู้ว่ามีคนอื่นๆ อยู่ด้วย ผู้เข้าร่วมวิจัยก็มีแนวโน้มเพิกเฉยต่อเหตุการณ์มากขึ้นและน้อยคนที่จะแจ้งเหตุฉุกเฉิน นี่เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่าสังคมไม่ได้มีอิทธิพลแต่เพียงความคิดเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงการกระทำของเราอีกด้วย

Social Psychologyที่มา: http://psychology.iresearchnet.com/social-psychology/

 

อิทธิพลสังคมกับความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมของมนุษย์

ความสัมพันธ์ที่เป็นอุดมคติอย่างหนึ่งของสังคมมนุษย์คือความสัมพันธ์ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน แม้จะมีคนเชื่อในแนวคิดนี้อยู่มาก แต่ในความเป็นจริง ความเท่าเทียมไม่ได้มีอยู่ทั่วไปในสังคม และสาเหตุไม่ได้มาจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลจากอิทธิพลของสังคมนั่นเอง

 

การเชื่อฟังผู้มีอำนาจและบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม

อิทธิพลทางสังคมอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความความไม่เท่าเทียมคือการเชื่อฟังผู้มีอำนาจ การศึกษาของสแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) เผยให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยเชื่อฟังผู้มีอำนาจและทำตามคำสั่งแม้เป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรม โดยมีสามปัจจัยที่ทำให้เกิดอิทธิพลทางสังคมดังกล่าวคือ จำนวน ความเข้ม และความใกล้ กล่าวคือ จำนวนผู้ออกคำสั่ง ความเข้มจากการรับรู้บทบาทในการวิจัย ความใกล้ของผู้ออกคำสั่งและผู้เข้าร่วมวิจัย

มิลแกรมมองว่าคนเราเชื่อฟังคำสั่งไร้ศีลธรรมเพราะปัจจัยอย่างบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่เคารพเจ้าขุนมูลนายโดยไม่ตั้งคำถาม ขณะที่อะดอร์โน (Adorno) บุคลิกอำนาจนิยมก่อเกิดในตัวคนเราได้จากการเลี้ยงดู จากวัยเด็กที่เก็บกดต่อผู้มีอำนาจใกล้ตัว ซึ่งก็คือพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้ผู้ถูกใช้อำนาจหันไประบายกับเป้าหมายที่อ่อนแอกว่า โดยกลไกนี้เกิดขึ้นผ่านอคติและความเกลียดชังต่อคนกลุ่มน้อยในสังคม เช่น ผู้อพยพ เพราะเป็นกลุ่มที่อ่อนแอกว่าในสังคม

 

การมองผู้อื่นต่ำว่ามนุษย์ (infrahumanization)

การมองผู้อื่นต่ำว่ามนุษย์เป็นอีกปัจจัยของความไม่เท่าเทียมที่มนุษย์ใช้สร้างความชอบธรรมให้ตนเองในการเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่ม

ในทางจิตวิทยาสามารถแบ่งอารมณ์ได้ 2 ประเภท ได้แก่ อารมณ์ปฐมภูมิและอารมณ์ทุติยภูมิ มนุษย์และสัตว์ต่างมีอารมณ์ปฐมภูมิ เช่น ความสุข ความเศร้า ความประหลาดใจ แต่สิ่งที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์คือการมองว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่รับรู้อารมณ์ทุติยภูมิ เช่น ความหดหู่ ความชื่นชม ความหวัง

การมองผู้อื่นต่ำกว่ามนุษย์จึงหมายถึงการมองว่าผู้อื่นมีอารมณ์ทุติยภูมิที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์น้อยกว่าตน

นอกจากนี้ การเรียนรู้ด้วยการเชื่อมโยงที่เกิดจากการส่งต่อภาพเหมารวมจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่วัยเด็ก เช่น ได้ยินครอบครัว เพื่อน หรือสื่อกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งในแง่ลบเสมอ หรือแม้แต่คำกว้างๆ อย่างคำว่า “ผู้อพยพ” หรือ “ผู้ลี้ภัย” ก็สามารถทำให้เราเกิดอคติต่อกลุ่มคนที่ถูกพูดถึงและทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้

 

เข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้ง
และค้นหาแนวทางแก้ไขด้วยจิตวิทยาสังคม

ความขัดแย้งในสังคมคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย เพียงวางเงื่อนไขให้มีการแข่งขันหรือการจัดประเภททางสังคมที่แตกต่างกัน แบ่งแยกความเป็น “เขา” เป็น “เรา” ก็ทำให้เกิดความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มได้แล้ว

เมื่อความขัดแย้งเกิดจากการแบ่งกลุ่ม ดังนั้นต้องแก้ปัญหาที่กลุ่มสังคม ไม่ใช่เพียงระดับปัจเจกบุคคล ตัวอย่างแนวทางของจิตวิทยาสังคมเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกมีดังนี้

  • ลดอคติด้วย “โมเดลอัตลักษณ์กลุ่มร่วม” ((common ingroup identity model) โดยสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มที่นำไปสู่ “การจัดประเภทใหม่”อันเป็นกระบวนการทางการรู้คิดที่คนเราเปลี่ยนจากการแบ่งแยกสองกลุ่มจากกันชัดเจน (“พวกฉัน” กับ“พวกเขา”) ไปสู่การมองว่าเป็น “กลุ่มตนเหมือนกัน”
  • ใช้ “สมมติฐานว่าด้วยการพบปะ” (contact hypothesis) ตามแนวคิดของกอร์ดอน ออลพอร์ต(Gordon Allport) ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
    • มีบรรทัดฐานทางสังคมที่สนับสนุนความเท่าเทียม มุ่งลดอคติและสร้างเสริมสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี
    • ความเป็นไปได้ที่จะสร้างความสนิทสนมกัน การพบปะต้องมีความถี่ ระยะเวลา และความใกล้ชิดมากเพียงพอ จึงจะช่วยให้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่มีความหมายขึ้นมาได้
    • พบปะภายใต้เงื่อนไขที่สถานะทางสังคมเท่าเทียมกัน ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกด้อยกว่า
    • พบปะในลักษณะปฏิสัมพันธ์เชิงร่วมมือ การร่วมมือกันจะมีประสิทธิผลมากขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน หากผลลัพธ์เป้าหมายเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายและเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกทุกคนจะยิ่งเป็นผลดีต่อการส่งเสริมอัตลักษณ์กลุ่มร่วม

 

การพยายามเข้าใจโลกของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอดโดยที่ไม่รู้ตัว เราอาจใช้เวลาไตร่ตรองกับบางเรื่องเมื่อสถานการณ์อำนวย หรือเมื่อมีแรงจูงใจมากพอให้เราพินิจพิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ แต่ขณะเดียวกัน ตัวเราก็ตัดสินบางเรื่องหรือตัดสินผู้อื่นอย่างไม่รอบคอบนัก เราได้ข้อสรุปมาอย่างรวดเร็วแต่ก็ไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้องหรือเป็นธรรมเสมอไป

เรา “คิด” และ “ทำ” ไปตามที่อิทธิพลของสังคมจะนำไป

หากความเกลียดชังและความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นได้เพราะอิทธิพลสังคม ความรักและความเสมอภาคก็เกิดขึ้นได้จากอิทธิพลสังคมเช่นกัน เมื่อเราตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเราต่างก็มีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ ทางออกของปัญหาในสังคมย่อมมีอยู่เสมอ เพียงแต่เราอาจต้องมองย้อนกลับมาดูสาเหตุ และทำความเข้าใจว่า “จิตสังคม” ทำงานและขับเคลื่อนโลกใบนี้อย่างไร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา

(Social Psychology: A Very Short Introduction)

Richard J. Crisp เขียน

ทิพย์นภา หวนสุริยา แปล