การรับฟังเสียงส่วนน้อย-การอู้งานเชิงสังคม-การมองผู้อื่นต่ำกว่ามนุษย์: รวมเกร็ดจากหนังสือ “จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา”

เรื่อง: ชาลิสา เพชรดง

 

ชวนอ่านเรื่องสนุกชวนคิดที่ชี้ให้เห็นอิทธิพลของสังคมต่อปัจเจกบุคคล จากหนังสือ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา

 

 

เหตุใดเมื่อคนกลุ่มใหญ่ตัดสินใจจึงต้องฟังเสียงส่วนน้อยด้วย?

ในการตัดสินใจเรื่องใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น การปรับแก้กฎหมาย การกำหนดทิศทางการเมือง หรือแม้แต่การตัดสินใจว่าทริปสุดสัปดาห์จะไปเที่ยวไหนกันดี ล้วนเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความเห็นต่างหลากหลาย

ในกรณีที่ความเห็นไม่ลงรอยกันเช่นนี้ วิธีตัดสินหลักที่เรามักใช้กันคือ ยึดถือเสียงส่วนใหญ่ หลายครั้งความเห็นส่วนน้อยมักถูกปัดตกไป หรือกระทั่งถูกมองว่าเป็นเพียงความคิดที่มาขัดขวางกระบวนการตัดสินใจหรือมุ่งสร้างความแตกแยก

อย่างไรก็ดี การไม่รับฟังเสียงส่วนน้อยอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘พวกมากลากไป’ (groupthink) ซึ่งอาจปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และนำไปสู่ความผิดพลาดรุนแรงในการตัดสินใจ

นอกจากนี้ อันที่จริงการนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างหรือแนวทางใหม่ๆ ยังเป็นอีกหนทางหนึ่งที่อาจนำไปสู่ทางออกของปัญหาได้

ตัวอย่างหนึ่งจากการศึกษาพบว่า เมื่อกำหนดให้ลูกขุนต้องลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์โดยที่ไม่ยึดเพียงเสียงข้างมาก แม้สุดท้ายการตัดสินใจอาจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเสียงส่วนน้อยเสมอไป แต่ก็ทำให้กระบวนการคิดพิจารณาถี่ถ้วนและระมัดระวังมากขึ้น เกิดการโต้แย้งและไตร่ตรองความเห็นของเสียงส่วนน้อยที่เป็นทางเลือกภายในกลุ่ม ในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นหากใช้การตัดสินใจจากเพียงเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น

เท่ากับว่าการมีพื้นที่สำหรับเสียงที่เห็นต่างและนำความคิดของพวกเขาเหล่านั้นมาพิจารณาร่วมด้วย แม้จะเป็นเพียงเสียงส่วนน้อยในกลุ่มหรือในสังคม ถือเป็นการสนับสนุนการตัดสินใจอย่างพินิจพิเคราะห์ แม้อาจต้องใช้เวลาเพิ่มในการรับฟังทุกเสียง แต่ถึงอย่างไรการมองรอบด้านโดยคำนึงถึงความคิดที่เห็นต่างย่อมดีกว่าการตัดสินใจอย่างง่ายๆ โดยมองเพียงด้านเดียวอย่างแน่นอน

 

 

ปรากฏการณ์ “การอู้งานเชิงสังคม” เมื่ออยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก

เวลาเห็นคนหกล้ม คุณเคยลังเลแล้วรอดูปฏิกิริยาคนอื่นๆ ก่อนที่จะเข้าไปช่วยหรือไม่? คุณเคยรู้สึกกระอักกระอ่วนในสถานการณ์ที่ไม่มีใครเข้าไปช่วยผู้สูงอายุข้ามถนนโดยทันทีไหม? เคยลังเลที่จะเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ดูเหมือนกำลังพลัดหลงกับพ่อแม่ในห้างสรรพสินค้าหรือเปล่า? หากคุณรู้สึกลังเลในสถานการณ์เหล่านี้ เพราะคิดว่าคนอื่นๆ คงเข้าไปช่วย คุณอาจกำลัง “อู้งานเชิงสังคม” อยู่ก็เป็นได้

“การอู้งานเชิงสังคม” เป็นผลจากปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาสังคมขั้นพื้นฐานที่เรียกว่า “การกระจายความรับผิดชอบ” (diffusion of responsibility) แน่นอนว่าหากเกิดเหตุการณ์สักอย่างเมื่อเราอยู่ท่ามกลางผู้อื่น เราจะไม่คิดว่านี่เป็นความรับผิดชอบของเราคนเดียว เพราะมีคนอื่นๆ ที่เราคิดไปเองว่าจะแบกความรับผิดชอบไว้ด้วยกัน จนนำมาสู่การเพิกเฉย ไม่เข้าไปแทรกแซงหรือให้ความช่วยเหลือ

บางเหตุการณ์ที่เราเพิกเฉยอาจไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนัก แต่หากเรายังคงละเลยและหวังว่าคนอื่นๆ จะทำหน้าที่นั้นแทนในสถานการณ์ฉุกเฉินก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้ เช่น กรณีคนถูกแทงกลางที่สาธารณะโดยไม่มีใครเข้าไปช่วย

มีงานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าคนเรา “อู้งานเชิงสังคม” มากขึ้นตามจำนวนคนที่รายล้อม และเราก็มีแนวโน้ม “อู้งาน” ตามคนอื่นด้วย มีการทดลองหนึ่งที่ย้ำว่าอิทธิพลของสังคมส่งผลต่อพฤติกรรมของปัจเจก โดยปล่อยควันเข้าไปในห้องที่ผู้เข้าร่วมวิจัยอยู่ ผลปรากฏว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมการวิจัยที่อยู่ในห้องคนเดียวแจ้งเตือนภัยแทบจะทันที แต่เมื่อมีคนอื่นอีกสองคนอยู่ด้วย กลับมีคนแจ้งเตือนภัยเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อมีหน้าม้าคนหนึ่งนั่งนิ่ง ไม่ร้อนใจขณะที่ควันเข้ามาเต็มห้องอย่างรวดเร็ว ก็มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากผู้เข้าร่วมวิจัยที่ลุกขึ้นมาแจ้งเหตุฉุกเฉิน

การศึกษานี้ให้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ เพราะกลับกลายเป็นว่ายิ่งมีคนอยู่ในสถานการณ์นั้นมากเท่าไร การเข้าไปช่วยเหลือยิ่งเกิดช้าและน้อยลงด้วยซ้ำ

ปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ช่วยอธิบายได้ว่าบ่อเกิดพฤติกรรมของเราไม่ได้มาจากนิสัยเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยภายนอกคือสังคมหรือสถานการณ์ที่มีส่วนทำให้เราแสดงพฤติกรรมบางอย่างโดยที่เราก็ไม่รู้ตัว

มื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณอาจตัดสินใจง่ายขึ้นเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่ทำให้คุณคิดว่า “แล้วใครจะช่วย?” เพราะคนอื่นๆ ก็คงกำลังคิดเหมือนคุณอยู่เช่นกัน

 

 

เหตุใดคนเราจึงเลือกปฏิบัติและมองผู้อื่นว่า “ต่ำกว่ามนุษย์”?

ปัญหาการเลือกปฏิบัติ (หรือที่มักเรียกติดปากว่า “เหยียด”) เป็นประเด็นสำคัญในสังคมปัจจุบัน ผู้อพยพหรือแรงงานต่างชาติในหลายประเทศยังถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง และไม่นานมานี้ในประเทศไทยเพิ่งมีข้อเรียกร้องเรื่องการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันและสิทธิทางกฎหมายที่พึงได้รับ เหตุใดเราจึงไม่ยอมรับสิทธิของคนบางกลุ่มในฐานะบุคคลที่เท่าเทียมกับเราในฐานะ “มนุษย์”?

ในทางจิตวิทยาแบ่งอารมณ์ได้เป็นสองประเภท คืออารมณ์ปฐมภูมิและอารมณ์ทุติยภูมิ อารมณ์ปฐมภูมิคืออารมณ์ที่มนุษย์และสัตว์มีเหมือนกัน เช่น ความสุข ความตื่นตระหนก หรือความเศร้า ส่วนอารมณ์ทุติยภูมินั้นซับซ้อนกว่าและถูกมองว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่รับรู้อารมณ์เหล่านี้ ซึ่งทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ เช่น ความชื่นชม ความหวัง ความโกรธแค้น ความหดหู่

การมองผู้อื่นต่ำกว่ามนุษย์ คือการมองว่าคนอื่นหรือกลุ่มอื่นมีอารมณ์ทุติยภูมิที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์น้อยกว่าตนเองหรือกลุ่มของตน นั่นหมายถึงการมองไม่เห็นว่าผู้อื่นก็สามารถอยู่ในห้วงของความหดหู่หรือมีความหวังเหมือนที่ตนเองรู้สึกได้

กระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ยังถูกนำมาสร้างความชอบธรรมให้การเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะความแตกต่างทางสีผิว เชื้อชาติ การนับถือศาสนา รสนิยมทางเพศ หรือความเห็นทางการเมือง ต่างถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการมองว่าผู้อื่นนั้นมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าตน และไม่สมควรได้รับสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้การมองว่าผู้อื่นต่ำกว่ามนุษย์ยังส่งผลต่อการตัดสินใจว่าเราจะช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ดังที่งานวิจัยของเอมี คัดดี้ ในปี 2007 เผยให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่มองผู้อื่นเป็นมนุษย์เท่ากันมีแนวโน้มว่าตั้งใจจะทำงานอาสาสมัครมากกว่าผู้ที่มองผู้อื่นต่ำกว่ามนุษย์

ทุกวันนี้กระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ยังปรากฏในทุกระดับของสังคม และอาจใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เป็นเรื่องที่น่าย้อนกลับมาทบทวนว่าเราเคยใช้กรอบความคิดนี้ตัดสินและลิดรอนสิทธิผู้อื่นหรือไม่

บางทีการสร้างความเท่าเทียมในสังคมอาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพียงเริ่มจากเปลี่ยนแว่นตาทางความคิดที่เราใช้มองโลกใบนี้และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

ชวนอ่านเรื่องสนุกชวนคิดที่ชี้ให้เห็นอิทธิพลของสังคมต่อปัจเจกบุคคลด้านอื่นๆ ได้ในหนังสือ

จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา
Social Psychology: A Very Short Introduction
Richard J. Crisp เขียน
ทิพย์นภา หวนสุริยา แปล