อ่าน ‘หน้าจอ-โลกจริง’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

 

[su_note note_color=”#fcf5e2″]หนังสือ หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (The Art of Screen Time: How Your Family Can Balance Digital Media and Real Life) เขียนโดย Anya Kamenetz คู่มือไขข้อข้องใจหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับการใช้ “หน้าจอ” โดยเฉพาะข้อมูลที่เคยรับรู้กันมา เข้าใจบทบาทและผลกระทบที่แท้จริงของหน้าจอ เพื่อให้ทุกคนใช้งานหน้าจอได้อย่างสนุก และทวงความสุขของชีวิตกลับคืนมาได้อีกครั้ง

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือเล่มนี้ อธิบายและขยายความประเด็นที่น่าสนใจให้เข้าใจง่าย พร้อมสอดแทรกตัวอย่างและคำแนะนำที่เอาไปใช้ได้จริง[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

เมื่อหนังสือ หน้าจอ-โลกจริง เล่มนี้ ตั้งข้อกังขาต่อคำแนะนำของสมาคมแพทย์ทั่วโลกว่าการห้ามเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบดูหน้าจอยังจะเป็นคำแนะนำที่ใช้การได้อยู่หรือเปล่า อีกทั้งพยายามตอบคำถามที่ว่าหน้าจอมีประโยชน์หรือโทษกันแน่ ผมเป็นคนหนึ่งที่พูดและเขียนเสมอว่าไม่ให้เด็กดูหน้าจอก่อน 2 ขวบก็คงต้องอ่าน

หลังจากอ่านบทที่ 1 “การเลี้ยงลูกยุคดิจิทัลในโลกแห่งความจริง” ซึ่งมีความยาว 11 หน้าจบ พบว่าช่างเป็นเรื่องเสียเวลาอย่างยิ่ง เพราะผู้เขียนปิดท้ายด้วยคำพูดแทงกั๊กเหมือนนักวิชาการทั่วไป (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) ว่า

“จงสนุกกับการใช้หน้าจอ อย่าใช้มากเกินไป และขอให้ใช้ด้วยกันให้มาก”

บทที่ 1 เต็มไปด้วยประโยคที่ผมเรียกว่าพูดอย่างไรเขียนอย่างไรก็ถูก เหมือนบอกผู้ป่วยว่าให้ออกกำลังกายทุกวัน แปรงฟันวันละสองครั้ง สุราเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และงดสูบบุหรี่ แต่ไม่มีความหมายในคำพูดเหล่านี้ เอาไว้พูดผ่านหูว่าเราพูดแล้วเท่านั้น อีกประโยคหนึ่งที่ได้ยินบ่อยคือให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านบทที่ 2 และ 3 ซึ่งยาวไปถึงหน้าที่ 87 จึงพบว่าผู้เขียนได้ทำการบ้านมาอย่างดี และแม้ว่าหลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจน แต่สำหรับเรื่องที่ชัดเจนผู้เขียนได้ฟันธงลงไปตรงๆ เช่นเดียวกับที่ผมทำเสมอมา ข้อแตกต่างคือหนังสือเล่มนี้มีเอกสารอ้างอิงเรียงเป็นตับท้ายเล่ม มิหนำซ้ำเป็นวิธีเขียนเอกสารอ้างอิงที่อ่านสะดวกน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ส่วนตัวผมเวลาเขียนอะไรเขียนจากตำราแพทย์ ตำราจิตวิเคราะห์ดั้งเดิม และประสบการณ์ตรงเสียมากกว่า หากจะมีงานวิจัยใหม่ๆ ก็ออกแนวเล่าสู่กันฟังอย่างตั้งใจ เพื่อมิให้ข้อเขียนกลายเป็น “ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง” อยู่แค่นั้น

เอาแค่ข้อความแรกที่แทบจะเป็นปฐมสัจพจน์ (prime directive) คือห้ามเด็กก่อนสองขวบดูหน้าจอ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ค้นคว้ามาแล้วพบว่าตอนที่สมาคมแพทย์แห่งแรกออกประกาศนี้ครั้งแรกนั้น พวกเขาไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์อะไรเลย เป็นเพียงความห่วงใยแล้วเขียนขึ้นจากประสบการณ์ ไม่มีข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนว่าเด็กที่ดูหน้าจอก่อนสองขวบจะพัฒนาการผิดปกติหรือเกิดโรคทางจิตเวชร้อยละเท่าไรด้วยระเบียบวิธีการวิจัยและการคำนวณทางสถิติ แม้ว่าภายหลังจะมีงานวิจัยออกมาสนับสนุนข้อความนี้มากขึ้นแต่ก็เป็นงานวิจัยที่โต้เถียงได้ แล้วในที่สุดสมาคมแพทย์เองก็ได้ลดตัวเลขการห้ามดูลงไปบางส่วน บางแห่งตั้งไว้ที่ 18 เดือน แม้ว่าส่วนใหญ่จะยังคงไว้ที่ 2 ปีถึงทุกวันนี้ อีกทั้งบางแห่งยังยืนที่ 3 ปี

เพราะอะไรจึงไม่มีงานวิจัยเสียที?

ผู้เขียนอธิบายไว้สองข้อ

ข้อแรกคืองานวิจัยในมนุษย์ทั้งที่รู้ว่าอาจจะเกิดผลเสียหายต่อมนุษย์กลุ่มทดลองอย่างร้ายแรงเป็นเรื่องทำมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กยิ่งทำมิได้ ความข้อนี้ผิดจริยธรรมการวิจัยอย่างชัดแจ้ง กล่าวคืองานวิจัยที่ได้มาตรฐานจำเป็นต้องแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้งดหน้าจอ 2 ปี อีกกลุ่มหนึ่งให้ดูหน้าจอ 2 ปี แล้วเปรียบเทียบกัน การออกแบบง่ายที่สุดเช่นนี้ทำมิได้ในเด็กจริงๆ แต่พอทำได้ในลูกหนูทดลองหรือลูกลิงซึ่งก็มีผลการทดลองที่น่าเป็นห่วงจริงๆ ท่านที่สนใจหาอ่านรายละเอียดได้ในหนังสือเล่มนี้

ที่จริงการออกแบบงานทดลองที่ดีที่สุดควรเป็น double-blind กล่าวคือผู้ถูกวิจัยทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองไม่รู้ว่าตัวเองได้รับอะไรกันแน่ ดังที่กำลังทำกับวัคซีนโควิดอย่างเร่งรีบวันนี้ แต่งานวิจัยเรื่องห้ามเด็กดูหน้าจอทำได้ยากกว่า เริ่มตั้งแต่หน้าจอคืออะไร คนรุ่นผมรู้ว่าหน้าจอคือทีวี แต่สำหรับวันนี้หน้าจอมีอยู่ทุกหนแห่งตั้งแต่บนฝ่ามือไปจนถึงบิลบอร์ดกลางถนนทั้งกลางวันและกลางคืน เท่าไรจึงเรียกว่าหน้าจอ ทำการบ้านด้วยจอนับด้วยหรือไม่ วิดีโอคอลกับปู่ย่าตายายนับด้วยหรือเปล่า

เมื่อวิจัยไปข้างหน้ามิได้ วิจัยไปข้างหลังได้หรือไม่ กล่าวคือมีกลุ่มชนหรือวัฒนธรรมที่ดูหน้าจอน้อยมากในโลกใบนี้รอให้ศึกษาอยู่แล้ว แต่เมื่อเอาเข้าจริงก็ทำมิได้เพราะบริบทของกลุ่มชนหรือวัฒนธรรมเหล่านั้นเองที่จะเป็นตัวกวนผลงานวิจัย เช่น สมมติว่าวิจัยความแตกต่างระหว่างบ้านที่ปล่อยเด็กดูหน้าจอกับบ้านที่ไม่ปล่อยเด็กดูหน้าจอในสังคมเมืองวันนี้ เราพบว่าบ้านที่ปล่อยเด็กดูหน้าจอมากกว่ามักมีความเป็นอยู่ย่ำแย่กว่า ยากจนกว่า พ่อแม่ไร้การศึกษมากกว่า ดังนั้นผลเสียที่เกิดแก่เด็กอาจจะมิใช่เพราะหน้าจออยู่ดีแต่เป็นสภาพแวดล้อมอื่นๆ เป็นต้น

ยังมีข้อสอง งานตีพิมพ์งานวิจัยเหล่านี้มีอคติตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง กล่าวคือผู้ให้ทุนมีแนวโน้มที่จะให้ทุนกับงานที่ตั้งใจแสดงข้อเสียของหน้าจอมากกว่า และให้ตีพิมพ์บทความที่ชี้ข้อเสียมากกว่า ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับอารมณ์ของสังคมที่พร้อมจะกล่าวโทษอะไรบางอย่างก่อนแล้ว งานวิจัยที่มุ่งแสดงข้อดีหรือค้นพบข้อดีมักได้รับความสนใจน้อยกว่าและมีผลงานตีพิมพ์ออกสู่ที่สาธารณะน้อยกว่าตั้งแต่แรก

ก่อนจะเข้าไปดูรายละเอียดของงานวิจัยและข้อค้นพบในบทที่ 2 และ 3 ว่าหน้าจอมีข้อเสียอะไรบ้าง ผมขอแสดงบัญชีทรัพย์สินสักเล็กน้อย

ตอนที่เราสองคนเลี้ยงลูกเล็ก บ้านเราไม่มีลูกจ้าง บางเวลาผมออกไปทำงาน แม่บ้านรับมือลูกเล็กสองคนซึ่งอายุน้อยกว่า 3 ขวบทั้งสองคน บางครั้งที่แม่บ้านไม่มีหนทางอื่นที่จะสะกดจิตลูกให้นิ่ง เราเสียบม้วนวิดีโอการ์ตูนเดอะไลอ้อนคิงหรือแบมบีของดิสนีย์ให้เด็กๆ ดู แต่ละครั้งไม่เกิน 20-30 นาทีคือเวลาที่แม่บ้านต้องเข้าไปทำครัว วิธีการนี้ได้ผลแน่นอน เด็กสองคนนิ่งสนิท ตามองจอไม่กะพริบ โดปามีนไหลหลั่ง เป็นซอมบี้ไปเลย ฮา ฮา

ลูกชายร้องไห้จ้าเมื่อพ่อซิมบ้าตาย ลูกสาวร้องไห้จ้าเมื่อแม่แบมบีตาย ผมมักเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเสมอๆ

ข้อความออกตัวอีกข้อหนึ่งคือคำเตือนหลายอย่างที่เคยพูดเคยเขียน ผมมักจะชี้แจงตามไปด้วยว่าได้จากประสบการณ์ตรวจผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากกว่ามากในระยะเวลา 35 ปีที่รับราชการ เพราะทำแต่งานจึงไม่มีเวลาทำวิจัย แต่จำนวนผู้ป่วยที่ตรวจต่อวันนั้นมากมายเสียจนได้เห็นกระสวนของพัฒนาการซ้ำๆ ว่าพ่อแม่ทำอะไรแล้วผลลัพธ์จะได้อะไร ประสบการณ์ตรงเหล่านี้มิใช่งานวิจัย แต่เป็นความรู้แฝงซึ่งมีคุณค่าทางวิชาการในอีกลักษณะหนึ่ง เป็นคนละอย่างกับสิ่งที่เรียกว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีนัยยะสำคัญ

กล่าวอย่างรวบรัด ผลกระทบของหน้าจอต่อเด็กๆ ที่มั่นใจได้มีเพียงสองเรื่องคือ คุณภาพการนอนหลับ และโรคอ้วน มีงานวิจัยที่ออกแบบอย่างดีเพื่อพิสูจน์สองเรื่องนี้แม้ว่าจะยังคงมีตัวกวนหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม

แต่อะไรอื่นๆ ที่เรากลัวกัน เช่น สมาธิสั้น ก้าวร้าว ผลการเรียนลดลง ไปจนถึงเรื่องสำคัญยิ่งยวด เช่น เสพติดจอ และออทิสติกเทียม เหล่านี้เป็นเพียงความเป็นไปได้เสียมากกว่า อย่างไรก็ตามในฐานะผู้อ่าน ผู้บริโภค คุณพ่อคุณแม่ที่จะได้รับหรือไม่ได้รับผลประโยชน์ของงานวิจัยเหล่านี้ พวกเรามีลูกเล็กๆ และชีวิตทั้งชีวิตของลูกเป็นเดิมพัน

คำถามคือจะลงเดิมพันเท่าไร

มาดูเฉพาะเรื่องออทิสติกเทียม มิใช่เด็กทุกคนจะเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่าออทิสติกเทียมหลังจากที่พ่อแม่ปล่อยให้ดูหน้าจอก่อน 2 ขวบ ได้แก่ ไม่สบตาแม่ ไม่ยิ้มตอบแม่ ตามด้วยไม่พูด และพัฒนาการติดขัดหรือผิดปกติ จะว่าไปแล้วเด็กส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเป็น แต่คำถามสำคัญยังคงเป็นคำถามเดิม เราจะเดิมพันเท่าไร

ในเวชปฏิบัติด้านจิตเวชศาสตร์ รวมทั้งจิตเวชเด็กและวัยรุ่น กระบวนการค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมผิดปกติหรือโรคจิตเวชที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยาก และยุ่งยาก ใช้เวลาหลายเดือน แล้วในที่สุดก็เป็นได้เพียงสมมติฐาน

ในบ้านเราอย่าลืมคิดเรื่องเวลาที่ใช้ในการพาลูกเดินทางไปโรงพยาบาล หาที่จอดรถ (ถ้ามีรถ) หาห้องทำบัตร แล้วไปนั่งรอคิว ทั้งนี้ยังไม่นับค่ารักษาพยาบาลหรือการตรวจค้นพิเศษที่หลักประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม (ซึ่งช่างมีออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ) เรายินดีเสี่ยงที่จะแลกความยากลำบากและทุกข์ทรมานใจของทุกฝ่ายเพื่อให้ลูกดูคลิปวิดีโอวันละกี่นาทีที่อายุก่อน 2 ขวบ

ถ้าแพ้พนันเราขาดทุนย่อยยับ

ความรู้ด้านจิตวิเคราะห์ และหนังสือที่อิริกสัน (Erik H. Erikson) เขียนบอกเราว่าพัฒนาการมีลักษณะเป็นลำดับชั้น (epigenesis) เมื่อพัฒนาการชั้นที่ 1 คือขวบปีแรก และพัฒนาการชั้นที่ 2 คือขวบปีที่สองและสามบกพร่อง ความพร่องนั้นจะกระแทกและส่งผลตามกันไปเป็นลูกโซ่ จนถึงปัจจุบัน เราไม่สามารถเขียนลูกศรเชื่อมความบกพร่องหนึ่งไปที่อีกความบกพร่องหนึ่งเป็นเส้นตรงเพราะพัฒนาการมนุษย์เป็นองค์รวม อีกทั้งไม่สามารถบอกได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีวัดใดๆ ว่า “เท่าไรจึงเป็นเรื่อง”

ด้วยเหตุนี้อะไรที่สมาคมแพทย์ผู้เขียนคำประกาศว่าห้ามเด็กก่อนสองขวบดูหน้าจอ และผมเขียนเสมอมา แม้ว่าบางที่จะลดลงเหลือ 18 เดือนในขณะที่บางที่ยังตั้งมั่นอยู่ที่ตัวเลข 3 ขวบ คำแนะนำเหล่านี้เป็นไปด้วยความหวังดีอย่างแท้จริง โดยมีตำราจิตวิเคราะห์และจิตวิทยาพัฒนาการเป็นเอกสารอ้างอิงซึ่งนับได้ว่าเป็นเอกสารชั้นต้นด้วย

ตอนต่อไป เรามาลงรายละเอียดทีละเรื่อง

 

หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล

Anya Kamenetz เขียน

บุณยนุช ชมแป้น แปล

360 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่