ออกแบบชีวิตและธุรกิจด้วย Design Thinking

ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

ทุกวันนี้ Design Thinking คือคำที่คนพูดถึงเยอะมาก มีคอร์สเปิดสอนไม่น้อย และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หลายองค์กรใช้คิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภค ซึ่งแนวคิดเดียวกันนี้เองสามารถนำมาใช้ออกแบบชีวิตตัวเราไปจนถึงตั้งต้นธุรกิจอย่างมีความสุขได้

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังมีคำถามกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ฉันเลือกเรียนคณะถูกไหม จะรู้ได้อย่างไรว่านี่คืองานที่ใช่ หรือถ้าเรียนจบแล้วอยากทำงานไม่ตรงสายที่เรียนมาล่ะจะทำอย่างไรดี

เพราะชีวิตไม่ได้มีเพียงทางเลือกเดียว และไม่มีคำว่าสายเกินไปถ้าคุณจะลองปรับมุมคิดอย่างนักออกแบบ แล้วคุณจะรู้ว่าเวอร์ชั่นอื่นๆ ของคุณก็เป็นไปได้และอาจสนุกกว่าเวอร์ชั่นที่เป็นอยู่นี้

bookscape ร่วมกับ TK Park ชวนคุณมาร่วมออกแบบชีวิตและธุรกิจ ด้วยแนวคิด Design Thinking จากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรง ในงาน book talk สุดเข้มข้น “ออกแบบชีวิตและธุรกิจด้วย Design Thinking” พร้อมเปิดตัวหนังสือ คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking (Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life)

ร่วมพูดคุยโดย รวิศ หาญอุตสาหะ CEO บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เจ้าของเพจ Mission To The Moon เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล CEO บริษัท ลูกคิด (Lukkid) จำกัด ผู้แปลหนังสือ Designing Your Life และ นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve แนะแนว “อาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ” สำหรับเด็กไทย

ชวนสนทนาโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล พิธีกรและผู้ประกาศข่าว ช่อง Money Channel เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กันยายน ณ อุทยานการเรียนรู้ TKpark ชั้น 8 Central World

 

Design Thinking 101

หลังจากคำถามแรกว่าใครเคยได้ยินคำว่า design thinking มาก่อนบ้าง และเห็นผู้ฟังยกมือกันเกินครึ่ง เมษ์เล่าว่าเดิม design thinking เป็นศาสตร์เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของคณะสถาปัตย์ จากนั้นทางมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ตั้งโรงเรียนขึ้นมาชื่อ Stanford d.school ตัว D ย่อมาจาก design ก็คือโรงเรียนที่นำกระบวนการนี้มาคิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้กับองค์กรต่างๆ

หลักการของ design thinking ก็คือ ถ้าจะคิดอะไรใหม่ๆ ให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ บริการ หรือประสบการณ์ มันเริ่มจากเราคิดเองเออเองไม่ได้ เราต้องออกไปทำความเข้าใจลูกค้าว่าจริงๆ แล้ว ลูกค้าอยากได้อะไร แล้วเก็บข้อมูลเหล่านี้มานั่งคิดต่อว่าจะมีผลิตภัณฑ์อะไรตอบโจทย์ได้บ้าง

นั่นคือในกรณีลูกค้า บิลล์ เบอร์เนตต์ กับเดฟ อีวานส์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของเมษ์มีความคิดว่า ถ้าคนที่เราไปทำความเข้าใจ ไม่ใช่ลูกค้า แต่ว่าเป็นตัวเราเอง เราอาจจะเข้าใจมากขึ้นไหมว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร

“เป็นการนำกระบวนการที่ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า จริงๆ แล้วมันจะเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตัวเอง หาวิธีการทดลองอะไรใหม่ๆ ให้ตัวเองเรียนรู้มากขึ้นได้ไหมว่า จริงๆ ตัวเราจะหาความสุขได้อย่างไร” เมษ์เล่า

ส่วนสำคัญของ design thinking ถ้าเล่าให้เข้าใจง่ายๆ เมษ์บอกว่ามีสามส่วนด้วยกัน ได้แก่ ทำความเข้าใจตัวเอง ฟุ้งคิด และทดลองทำ

สมมติว่าตอนนี้ทุกคนมีปัญหา ไม่รู้ว่าชีวิตจะทำอะไรดี ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วอยากเป็นอะไร อยู่ในสาขาวิชาที่ตัวเองชอบจริงหรือเปล่า หรือถ้าเกษียณแล้วจะทำอะไรต่อ

design thinking บอกว่าให้ลองถอยหลังมาก่อน แล้วทำความเข้าใจตัวเองว่า จริงๆ แล้วความสุขในชีวิตเราคืออะไร

ถ้าตามหนังสือก็คือ เข้าใจทั้ง energy drainer หรือสิ่งที่ทำให้เราหมดพลังในแต่ละวัน และ energy booster หรือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขมาก จนแทบไม่รู้ตัวว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ซึ่งหากเข้าใจและรู้ว่ามันคืออะไร เราก็น่าจะจับประเด็นได้มากขึ้นว่า สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขคืออะไรกันแน่

เมื่อเรารู้แล้ว เราฟุ้งคิดอะไรต่อได้บ้าง หรือสิ่งที่จะเป็นทางเลือกให้เรามีอะไรบ้าง จุดนี้เมษ์บอกว่า คนส่วนใหญ่ไม่มีความสุขกับชีวิตเพราะคิดว่าชีวิตเรามีทางเลือกเดียว โตมาฉันต้องเป็นหมอถึงจะแฮปปี้ หรือต้องทำบริษัทนี้เท่านั้น เพราะเราไป fix เองว่ามันเป็นทางเลือกเดียว

“เวลาระดมสมองคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ลูกค้าด้วย design thinking เราฟุ้งเต็มที่เลยว่าถ้าไม่มีข้อจำกัดเลยมันจะเป็นอะไรได้บ้าง แล้วถ้าเราไม่มีข้อจำกัดในการคิดทางเลือกให้ชีวิตเลย มันอาจจะเป็นอะไรได้เยอะแยะมากมายที่ก็ตอบโจทย์ชีวิตเราเหมือนกัน”

แต่ฟุ้งเสร็จแล้วเมษ์เตือนว่าหยุดแค่นั้นไม่ได้ ต้องต่อไปข้อที่สามทันทีคือ แล้วเราทดลองทำอะไรเล็กๆ ได้ไหม เพื่อจะรู้ว่าสิ่งที่เราคิดจะทำมาถูกทางแล้วหรือยัง

 

อย่าหลงลืมความสนุก

ปัญหาที่การศึกษาบ้านเรามีก็คือไม่สามารถตอบโจทย์ให้เด็กไปเจอสิ่งที่ต้องการในชีวิตได้ a-chieve มีขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยให้คำปรึกษา แต่อย่างไรเด็กก็ต้องค้นหาสิ่งที่เขาต้องการและออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง

จากประสบการณ์ นรินทร์ได้พบกับเด็กๆ ที่มีปัญหากับทางเลือกของตัวเอง ตั้งแต่เด็กที่ไม่มี choice เลย เด็กที่มี choice เยอะมากแต่ไม่รู้จะเลือกอะไร หรือเด็กที่มั่นใจแล้ว แต่อาจจะยังไม่ได้ลอง

เวลาเราแนะนำ จะพยายามให้เขาวิเคราะห์ตัวเองรอบด้าน คำว่ารอบด้านไม่ใช่แค่ ‘รู้ตัวเอง’ แต่ควรต้องรู้สิ่งที่เขากำลังจะเลือกด้วย

นรินทร์ยอมรับว่าแนวทางการทำงานของ a-chieve จริงๆ ก็คล้ายกับที่ design thinking บอกว่า เวลาที่เรามี choice อะไรบางอย่างคือการที่จะรู้ได้ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ หนึ่ง คือต้องไปหาข้อมูล สอง คือต้องลองทำ เพื่อให้มีประสบการณ์ แล้วเอา input นั้นมาตอบตัวเอง

“เราพยายามให้เด็กมีกระบวนการวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่า เขามีเป้าหมายอะไรบ้าง เขาให้คุณค่าหรือเขาชอบอะไร มีความถนัดไม่ถนัดอะไรบ้าง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือสภาพแวดล้อมรอบตัว ครอบครัว หรือสังคมมีผลอะไรต่อตัวเขาบ้าง”

ส่วนใหญ่กิจกรรมที่ a-chieve ทำจะเกี่ยวกับการแนะแนวอาชีพ นรินทร์อยากให้เด็กมีภาพที่ไปไกลกว่าแค่เรื่องการเรียน โดยเน้นให้เด็กเห็นเป้าหมายของการเรียนมากกว่า ดังนั้น จึงลองให้เด็กวิเคราะห์ว่าอาชีพทั้งหลายที่เขาอยากเป็นเชื่อมโยงกับตัวเขายังไง

“สุดท้ายพอเขามีกระบวนการคิดและวิเคราะห์ตัวเองได้แล้ว ที่เหลือคือต้องไปลองทำจริง ลองหาข้อมูล หรือหาหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาบอกว่าเขาอยากจะเป็นให้ได้มากที่สุด”

นรินทร์บอกว่าต้องพยายามให้เด็กๆ นึกถึงอาชีพที่หลากหลายเข้าไว้ ไม่ใช่มุ่งเน้นไปที่อาชีพเดียว เพราะจริงๆ หากตั้งต้นจากความเป็นตัวเรา รับรองว่าเราจะออกแบบชีวิตให้ตัวเองได้มากกว่าหนึ่งอาชีพแน่นอน

“อีกสิ่งที่เราหลงลืมไปคือความสนุก ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชอบมากก็คือ เราควรให้ความสำคัญกับความสนุกในกระบวนการออกแบบชีวิตตัวเอง ผมว่านี่คือ key สำคัญของหนังสือเล่มนี้ เพราะชีวิตเรามันไม่มีผิดไม่มีถูก แต่มันคือชีวิตเราเอง ที่เราได้ดีไซน์แล้วสนุกไปกับมัน”

นรินทร์เล่าว่าเจอคำถามจากน้องๆ หลายคนปรึกษาว่า พี่ครับทำผมอันนี้ดีหรือเปล่า จะทำดีไหม ตามด้วยเงื่อนไข 1-2-3 ที่บ้านจะคิดยังไง ทำแล้วมีเงินไหม แล้วที่เรียนมาจะอย่างไรต่อ

“ลองเลยครับ คือมันไม่มีผิดมีถูกเลยชีวิตนี้ อยู่ที่เราตัดสินใจ รับผิดชอบ แล้วก็ทำไปให้สุด แล้วถ้าไม่ใช่จริงๆ ก็เปลี่ยน คือชีวิตมันประมาณนี้ครับ ที่บอกว่าถ้ามาทางผิดแล้วชีวิตไปต่อไม่ได้ มันไม่ใช่ครับ เรารู้สึกว่ามันไปต่อได้เรื่อยๆ ถ้าเรามองอีกแบบหนึ่ง”

 

ปริมาณมาก่อนคุณภาพ

รวิศบอกว่าหนังสือประเภทแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตมีเยอะมาก เข้าใจว่าเป็นหมวดที่ขายดีที่สุดในร้านหนังสือด้วยซ้ำ ใครอ่านหนังสือประเภทนี้เยอะๆ จะรู้สึกว่าบางเล่มดูเป็นไสยศาสตร์มาก แต่เล่มนี้มีวิธีคิดที่พิสูจน์มาแล้วว่าได้ผล

“เล่มนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์มาก แล้วก็มีตรรกะที่พิสูจน์ได้ ไม่เฉพาะกับเรา แต่กับธุรกิจด้วย โดยวิธีการคิดแล้วมันเหมือนกัน ผมคิดว่ามันเวิร์กในแง่การเอามาใช้จริง” รวิศกล่าว

รวิศเองก็เคยมีโอกาสเรียนวิชา design thinking เมื่อไม่กี่ปีมานี้ และนำเอาสิ่งที่ประทับใจมากๆ เกี่ยวกับวิชานี้มาใช้ในการทำงานจริง

“เวลาคิดไอเดีย ลองเอาปริมาณออกมาก่อน ปกติเราจะได้ยินคำว่าคุณภาพก่อนเสมอ คือเราจะเลือกไอเดียที่ดี แต่มันจะไปจำกัดความคิด แล้วไอเดียที่ฟังดูบ้าๆ บอๆ จะถูกตัดทิ้งไปตั้งแต่มันยังไม่ถูกเขียนลงโพสต์อิทด้วยซ้ำ ผมว่าเราไม่ต้องไปจำกัดไอเดีย ทั้งที่ไอเดียบางคนอาจฟังดูแบบ อืม… แต่ก็แปะไปก่อน คือพอเอามาทดลองทำดูอาจจะเวิร์กก็ได้”

อีกเรื่องน่าคิดที่รวิศแบ่งปันคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานที่ทำอยู่ใช่สิ่งที่เราอยากทำต่อไปไหม

เคยมีคนพูดกับผมว่า เวลาทำงานมา 10 ปี เราทำงาน 10 ปีจริงๆ หรือทำงาน 1 ปีมา 10 ครั้ง ถ้าเกิดเป็นอย่างหลัง อาจเป็นสัญญาณว่าเราอยู่ในงานที่ผิด คงต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะเอายังไงต่อ

รวิศยอมรับว่า กว่าจะพบว่าตัวเองชอบทำอะไรจริงๆ ก็อยู่ในวัย 30 แล้ว ผ่านมาหมดทั้งเข้าเรียนในคณะวิศวฯ ที่พบว่าตัวเองไม่ได้ชอบ แต่ก็เรียนจบมาได้ เคยทำงานเกี่ยวกับ trader ซึ่งเงินดี แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต

“พอผมเริ่มรู้ว่าจริงๆ แล้วเราอยากทำอะไร ชีวิตมันเปลี่ยนไปเลยนะ มันมีความสุข แล้วมันสร้างสมดุลให้ชีวิตได้”

หลังจากนั้น รวิศก็เชื่อมโยงสิ่งที่เขาชอบอย่างการอ่านและเขียนหนังสือเข้าด้วยกัน แล้วสร้างลูปการอ่าน-เขียนที่จะได้นำมาใช้งานจริง และบ่อยครั้งก็ประมวลออกมาในรูปของพอดแคสต์ ซึ่งทุกวันนี้เขาทำมาแล้วกว่า 130 ตอน

 

ออกแบบชีวิตให้มีความสุข

ในหนังสือเล่มนี้มีคำคำหนึ่ง เรียกว่า dysfunctional beliefs แปลเป็นภาษาไทยแบบเข้าใจง่ายๆ คือ “ความเชื่อผิดๆ” ที่ทำให้เราติดกับดักชีวิต

เมษ์บอกว่าคนเรามีความเชื่อผิดๆ เยอะมาก แล้วมันเป็นความเชื่อที่ทำให้เราคิดไม่ออก ไปต่อไม่ได้ มันคือความรู้สึก “ติดกับ” เช่น อยากเปลี่ยนงานจังเลย แต่ดีกรีไม่ได้ อยากทำงานแบงก์แต่เรียนศิลปศาสตร์มา หรืออยากออกจากงานแต่ไม่รู้จะไปทำอะไรต่อ เป็นพนักงานบริษัทอยู่ อยากทำธุรกิจตัวเองแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี เป็นความรู้สึกของการติดกับ เหมือนถูกล็อกเอาไว้ มีเสียงในหัวถามขึ้นว่า “แล้วไงต่อ”

ปกติเวลาที่เราอยากมีความสุขบางอย่างในชีวิต เรามักจะเป็นเหมือนภาพซ้ายมือ (ภาพคนเดินข้ามสะพานทางซ้ายมือ ภาพคนกระโดดข้ามไปเลยทางขวามือ) คือเรายืนอยู่ฝั่งหนึ่ง กำลังจะข้ามไปอีกฝั่ง คิดว่าอีกฝั่งหนึ่งคือความสุขในชีวิตเรา คนส่วนใหญ่จะชอบคิดว่าการจะไปถึงความสุขนั้นได้ จะต้องสร้าง “สะพาน” สะพานสำหรับบางคนอาจจะเป็นการได้เป็นหมอ บางคนอาจเป็นการมีธุรกิจของตัวเอง

การมองโลกแบบดีไซเนอร์คือการมองว่า มันเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้เรากระโดดไปฝั่งตรงข้ามได้ และไม่ได้มีแค่อย่างเดียว

ในหนังสือจะบอกว่า There are many versions of you. คือเราชอบคิดว่าเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของเรามีเวอร์ชั่นเดียว คือฉันต้องเป็น XXX เท่านั้น มันคือชีวิตที่ดีที่สุดหรือความฝันที่งดงามที่สุดของฉัน

“หนังสือเล่มนี้ดึงเราถอยกลับมาว่า ถ้าเราโฟกัสที่ความสุขของเราจริงๆ จะพบว่าตัวเรามีได้หลายเวอร์ชั่นมาก มันอาจจะออกมาเป็นตัวเราเวอร์ชั่น 1-2-3 และทุกเวอร์ชั่นก็เป็นเวอร์ชั่นที่เราก็แฮปปี้ แต่เรากลับไปติดอยู่กับเวอร์ชั่นหนึ่งว่าเราต้องเป็นเวอร์ชั่นหนึ่งเท่านั้น”

เมษ์อธิบายว่าสาเหตุที่คนเราติดกับเป็นเพราะเรายังไม่ได้คิด option ในชีวิตมากพอ เรามักคิดว่าเรามี option เดียว แล้วก็ชอบคิดว่าชีวิตเราก็คงทำได้แค่นี้แหละ แต่การมองโลกแบบดีไซเนอร์คือ แล้วความสุขของเรามันเป็นอะไรได้อีก ซึ่งถ้ามี option เยอะเราจะมีความสุขกับ option เรามาก

“คนเราไม่มีความสุขเพราะเราไม่ได้สร้าง option ให้กับชีวิตนั่นเอง”

 

ร่างแผนโอดิสซีย์ตอนนี้เลย!

เครื่องมือหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Odessey Plan มันจำลองการเดินทางที่เปี่ยมไปด้วยความฝัน ความหวัง และความไม่แน่นอน จากมหากาพย์ในตำนานสู่การผจญภัยในชีวิตจริงได้อย่างน่าสนใจ (ดาวน์โหลดแผนโอดิสซีย์ได้ที่นี่)

เมษ์เล่าถึงหลักการทำแผนโอดิสซีย์ เหตุผลที่ต้องมีอย่างน้อยสามแผน (A-B-C) ก็เพราะว่า อยากให้เรา “ฟุ้ง” มากกว่าหนึ่งแบบ หลักการง่ายๆ ก็คือ พยายามฟุ้งแบบออกมาเยอะๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่คนมักมีปัญหาว่าฟุ้งไม่ออก ก็เลยมีแนวทางคร่าวๆ ว่าเราจะฟุ้งได้อย่างไร

แพลน A คือการฟุ้งว่า เราจะเป็นอย่างไรใน 5 ปีข้างหน้า ถ้าเรายังทำสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ เช่น ทุกวันนี้เป็นเจ้าของบริษัทก็ยังทำแบบเดิมอยู่ แต่เราจะเห็นว่า 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คือยังทำอย่างที่ทำทุกวันนี้เลย แต่ความเจริญก้าวหน้าหรือสิ่งที่เราอยากให้เป็นในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ส่วนแพลน B คือเราจะเป็นอะไรใน 5 ปี ถ้าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นแพลน A มันเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญมากของแพลน B ที่เมษ์ย้ำคือ มันไม่ใช่แผนสำรอง (back up plan) อาจเป็นแผนที่เราก็แฮปปี้กับมันพอๆ หรืออาจจะมากกว่าแพลน A ก็ได้

สุดท้ายแพลน C คือ เราจะเป็นอะไรใน 5 ปี ถ้าไม่ต้องคิดถึงสามอย่างต่อไปนี้ เงิน ความสามารถของตัวเอง และไม่ต้องสนใจเสียงของคนอื่น ถ้าไม่ต้องสนใจสามอย่างนี้ เราจะเห็นตัวเราเป็นอะไรได้ใน 5 ปี

สิ่งที่คนทำคือการลอง reflect กับตัวเอง ซึ่งมันจะเห็นแพลนของตัวเองว่า ตอนนี้มีออปชั่นอะไรบ้าง แล้วจะทำให้แต่ละแพลนออกมาเป็นยังไงได้บ้าง

เราจะชอบคิดว่าชีวิตมันเป็นเส้นตรงเหมือนสะพาน แต่จริงๆ design thinking และสิ่งที่หนังสือเล่มนี้บอกก็คือ ชีวิตจริงของเราไม่ได้เป็นเส้นตรงอย่างที่คิด แต่มันขยักขยือแบบนี้

“เราชอบใช้ชีวิตเหมือนว่ามันเป็นเส้นตรง แล้วพอมันไม่เป็นเส้นตรงก็รู้สึก stuck แต่ถ้าเรายอมรับมัน ซึ่งการยอมรับนี่สำคัญมากเลย เราต้องยอมรับก่อนว่ามันเป็นแบบนี้จริงๆ แล้วเราจะมีวิธีรับมือกับมันมากขึ้น เพราะมันคือการสร้างแพลนในชีวิตให้ตอบโจทย์เส้นขยึกขยือนี่ล่ะ”

เพราะชีวิตคือการเดินทาง เป็นธรรมดาที่เราต้องคอยปรับและหมุนความสนใจของเราและสิ่งที่เราอยากทำไปเรื่อยๆ แผนโอดิสซีย์คือหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยได้ และถ้าให้เวลากับมันจริงๆ เราอาจเป็นตัวเราที่มีความสุขได้หลากหลายเวอร์ชั่นในแบบที่เราเองก็คาดไม่ถึง