Brief – “สงคราม” ในระเบียบโลกใหม่: จากประวัติศาสตร์บาดแผล สู่อนาคตของความขัดแย้งข้ามชาติ

เรื่อง ชลิดา หนูหล้า

แม้จะมีภาพยนตร์สงคราม นวนิยายสงคราม บทกวีสงคราม และสารพัดผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดทั้งความโหดร้ายและตระการตาของสงคราม แต่ดูเหมือนมนุษยชาติจะรู้จักสงครามน้อยเกินไปเสมอ

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อุบัติหลังโลกมีข้อหาร้ายแรง อย่าง “อาชญากรรมสงคราม” และ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” สำหรับจำกัดความเป็นไปได้ของสงคราม ทั้งยังดำเนินไปแม้ผู้คนจำนวนมากแสดงออกว่า “ไม่เอาด้วย” อย่างชัดเจน เขย่าความเชื่อมั่นที่หลายคนมีต่อยุค “สันติภาพช่วงยาว” (long peace) หรือยุคไร้สงครามใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดูเหมือนระเบียบโลกที่เราเข้าใจจะกลับตาลปัตรจากที่คุ้นเคย หรือไม่ … ก็อาจเพราะโลกไม่เคยมีสันติภาพช่วงยาวที่แท้จริง และเราต้องรื้อองค์ความรู้เกี่ยวกับสงคราม รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสงครามกับมนุษยชาติ ก่อนที่กาลเวลาจะทำให้สงครามในอนาคตทวีความซับซ้อนจนเกินจะเข้าใจ

สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป ร่วมกับศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำนักอ่านคอประวัติศาสตร์การเมืองและผู้สนใจปมความขัดแย้งในโลกสมัยใหม่ มาร่วมวงสนทนา “สงคราม” ในระเบียบโลกใหม่: จากประวัติศาสตร์บาดแผล สู่อนาคตของความขัดแย้งข้ามชาติ ถอดบทเรียนจากหนังสือประวัติศาสตร์เล่มเยี่ยม อย่าง สัตว์สงคราม: ประวัติศาสตร์บาดหมางที่ก่อร่างสร้างโลก (WAR: How Conflict Shaped Us) จากปลายปากกาของมาร์กาเร็ต แมคมิลลาน (Margaret MacMillan) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผู้เติบโตขึ้นท่ามกลางมรดกแห่งสงคราม ในฐานะเหลนของเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้ผ่านมหาสงครามครั้งแรก ตลอดจนมีบทบาทในการกำหนดระเบียบโลกใหม่ผ่านการประชุมสันติภาพปารีส

ร่วมสนทนาโดย รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา นักศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติอาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำรวจโลกสงครามศึกษา (War Studies)

จิตติภัทรเริ่มต้นด้วยการฉายให้ผู้ฟังเห็นภาพกว้างๆ ของ “สงครามศึกษา” ทั้งที่อยู่ในหนังสือ และที่อยู่ในแวดวงวิชาการในปัจจุบัน

“สงครามอยู่คู่กับมนุษยชาติมาตลอด จริงๆ โลกมีช่วงที่มีสันติภาพยาวนานกว่า แต่สันติภาพไม่ตื่นเต้น สื่อต่างๆ ก็ให้ความสำคัญกับสงครามมากกว่า สงครามเต็มไปด้วยโจทย์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) เช่น ทำสงครามอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ หรือทำอย่างไรให้ชอบธรรม สงครามศึกษานั้นศึกษาประวัติศาสตร์สงครามและคุณลักษณะของสงครามเป็นหลัก ตั้งแต่ยุคของซุนวูและเคลาเซอวิตซ์ (Carl von Clausewitz – ผู้เขียน On War)  เคลาเซอวิตซ์คือผู้นิยามว่าสงครามคือการใช้ความรุนแรงเพื่อบีบบังคับคู่ต่อสู้ให้ทำตามเป้าประสงค์ของตน แมคมิลลานเองก็ใช้นิยามนี้”

 “สำหรับคนในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราคิดถึงสงครามในฐานะตัวแปรตามมากกว่าตัวแปรต้น พอคิดแบบนี้ก็มักศึกษาว่าอะไรคือเหตุที่นำไปสู่ผล (สงคราม) จุดเริ่มต้นของสงครามก็มีทั้งที่เป็นแรงจูงใจเชิงวัตถุ เช่น ทรัพยากร เหตุผลเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ความต้องการดินแดน และแรงจูงใจที่ไม่ใช่วัตถุอย่างศักดิ์ศรี อุดมการณ์ อารมณ์”

สำหรับงานเขียนสำคัญที่เกิดจากวิธีศึกษาสงครามเช่นนี้ จิตติภัทรยกตัวอย่างงานเขียนของเคนเนธ วอลตซ์ (Kenneth Waltz) ที่แจกแจงจุดเริ่มต้นของสงครามเป็นตัวแสดง (image) สามประเภทไว้ในหนังสือ Man, the State, and War ปี 1959 ได้แก่ ปัจเจกบุคคล ซึ่งหมายรวมถึงทั้งผู้นำรัฐและธรรมชาติที่ผูกพันกับความรุนแรงของมนุษย์ การเมืองภายในประเทศ และระบบระหว่างประเทศ ซึ่งวอลตซ์ให้น้ำหนักแก่ตัวแสดงหลังสุดนี้มากที่สุด แนวทางของวอลตซ์นำไปสู่การศึกษาของ เจ. เดวิด ซิงเกอร์ (J. David Singer) ที่เน้นจัดทำบิ๊กดาตาของสงคราม ในชื่อ Correlates of War (COW) รวมถึงข้อวิพากษ์เชิงสังคมวิทยาประวัติศาสตร์ของไมเคิล มานน์ (Michael Mann) ที่ชี้ว่าการศึกษาสงครามเชิงปริมาณอาศัยตัวแบบในโลกตะวันตกมากเกินไป และสงครามก็ไม่ใช่ตัวแปรที่ควรพิจารณาเป็นอิสระจากบริบททางสังคมหรือผลของสงครามที่ติดตามมา

“ในทางกลับกัน สงครามในฐานะตัวแปรต้นก็มีตรรกะอีกแบบหนึ่ง แนวคิดเหล่านี้มีความสำคัญในการกำหนดกระบวนทัศน์เกี่ยวกับสงคราม รวมถึงองค์ความรู้และวิธีศึกษาที่แตกต่างกันไป งานเขียนสำคัญในแนวคิดนี้คือผลงานของชาร์ลส์ ทิลลี (Charles Tilly) ที่ชี้ว่าสงครามคือเครื่องมือสร้างรัฐ เป็นการมองสงครามจากอีกมิติหนึ่ง ล่าสุดมีงานวิจัยอีกชิ้นหันมาสนับสนุนแนวคิดของทิลลี โดยแสดงให้เห็นว่าข้อมูลเชิงสถิติตอบคำถามของทิลลีได้ไม่มากก็น้อย กล่าวคือสงครามเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างของรัฐ ความสัมพันธ์ทางสสังคม และให้กำเนิดวาทกรรมในการแบ่งขั้ว”

จิตติภัทรเห็นว่ากระบวนทัศน์เกี่ยวกับสงครามในปัจจุบันต่างจากกระบวนทัศน์ในยุคของเคลาเซอวิตซ์ (ปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19) อยู่มาก โดยอาจแบ่งได้เป็นห้าประเภท ดังนี้

  • กระบวนทัศน์ว่าด้วยสงครามแบบดั้งเดิม (traditional war paradigm) ซึ่งเห็นว่าสงครามเป็นสากล ตราบที่มีสังคมมนุษย์ย่อมต้องมีสงคราม เพราะความกระหายความรุนแรงคือธรรมชาติของมนุษย์ มีที่มาจากงานเขียนของนักปรัชญายุคคลาสสิกและต้นสมัยใหม่ เช่น เพลโต, โธมัส ฮอบส์, มาเคียเวลลี และอัลเฟรด เธเยอร์ มาฮาน (Alfred Thayer Mahan) นายเรือแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา
  • กระบวนทัศน์ว่าด้วยสงครามสมัยใหม่ (modern war paradigm) ซึ่งมีหมุดหมายในยุคสงครามนโปเลียน โดยสงครามในยุคดังกล่าวทำให้เห็นปัจจัยก่อสงครามอื่นๆ นอกจากธรรมชาติของมนุษย์ เช่น โอกาสทางการเมืองและเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนในรัฐ สงครามเบ็ดเสร็จ (total war) ที่ทุกองคาพยพของสังคมร่วมรบในสงครามเพื่อประโยชน์ของรัฐชาติก็อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์นี้เช่นกัน
  • กระบวนทัศน์ว่าด้วยสงครามที่อิงวัตถุ (materialist war paradigm) ซึ่งเน้นสายสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีกับสงคราม ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าที่สงครามนำมาสู่การพัฒนานวัตกรรม หรือการพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้รูปโฉมของสงครามแปรเปลี่ยนไป
  • กระบวนทัศน์ว่าด้วยสงครามที่อิงผลประโยชน์ทางการเมือง (political war paradigm) ที่ชี้ว่าสงครามคือเครื่องมือหนึ่งที่กำหนดความเป็นไปในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีที่มาจากการพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงหลังสงครามโลกครั้งที่สองรวมถึงความตึงเครียดที่ติดตามมา
  • กระบวนทัศน์ว่าด้วยสงครามหลังสมัยใหม่ หรือสงครามอสมมาตร (post-modern war/asymmetrical war paradigm) กล่าวถึงรูปแบบของสงครามที่หลากหลายยิ่งขึ้น มีหลากลักษณะผสมผสานกัน หรือมีเส้นแบ่งไม่ชัดเจน เช่น วินาศกรรม 11 กันยายน และสมรภูมิผสมผสานในรัสเซีย-ยูเครน ที่พึ่งพาทั้งการรบแบบดั้งเดิม กลไกระหว่างประเทศ และการโจมตีทางไซเบอร์ ฯลฯ

จิตติภัทรในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่งของแมคมิลลานทิ้งท้ายว่า อาจารย์ของเขาไม่เคยเชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยกรณีที่เธอมักใช้เป็นตัวอย่างคือทศวรรษ 1920 แม้หลายคนเห็นว่าสันนิบาตชาติในยุคดังกล่าวล้มเหลวในการยับยั้งสงคราม แต่แมคมิลลานเล็งเห็นความพยายามในระดับนานาชาติเพื่อรักษาสันติภาพในโลกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะด้วยตัวบทกฎหมาย หรือการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ

“กระทั่งเหตุการณ์โฮโลคอสต์ที่หลายคนเชื่อว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมีผู้กระทำอย่างพรรคนาซีก็มีมิติและปัจจัยอื่นๆ ผสม จริงๆ แนวคิดเหยียดชาวยิวมีอยู่ทั่วไปยุโรป ไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่เยอรมนี คาดกันว่าจะเป็นรัสเซียหรืออังกฤษด้วยซ้ำไป”

จริยธรรมที่ไล่ตามรูปโฉมของสงครามไม่ทัน

ศุภมิตรบอกว่าเขามองหาบริบทเป็นอันดับแรกก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้

 “บริบท” การอ่านของเขา ซึ่งจะทำให้มีประเด็นในใจสำหรับต่อติดกับเนื้อหาหนังสือต่อไป คือข่าวการซ้อมการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลของเกาหลีเหนือ รวมถึงข่าวทิศทางการใช้งานขีปนาวุธข้ามทวีปของวลาดีมีร์ ปูติน ศุภมิตรคิดว่าโลกไม่ได้อยู่ในยุคสันติภาพช่วงยาวอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่กระทั่งยุคหลังสงคราม (post-war) แต่เป็นเป็นยุคก่อนสงคราม (pre-war) ที่คาดเดาผลลัพธ์ได้ยากยิ่ง

สอดคล้องกับที่ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้ดำเนินรายการ เสริมไว้ตอนหนึ่งว่า “ว่ากันว่าเราอยู่ในยุคสันติภาพช่วงยาวตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แต่มีประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่บอกว่ามีผู้เรียกสเปนในยุคของนายพลฟรังโกว่าสมัย ‘uncivil peace’ หรือยุคแห่งความสงบที่ไม่พึงปรารถนา คือดูเหมือนจะสงบดี แต่มีการกดทับกันซ่อนอยู่ภายใน คำถามคือจริงๆ แล้วทั้งโลกอยู่ในช่วง ‘long uncivil peace’ มาตลอดหรือเปล่า”

โดยศุภมิตรหันไปพิจารณาความพร้อมของกองทัพไทยในปัจจุบัน ในฐานะอีกบริบทหนึ่งของการอ่าน “เราอยู่ท่ามกลางหลายๆ ประเทศที่มีสงครามกลางเมือง นับว่าอยู่ในยุคสมัยของสงครามอีกแบบหนึ่งใช่ไหม คำถามที่ตามมาคือกองทัพมีไว้ทำไม มีบทบาทอะไร และควรจะจัดการกำลังทหารให้ตอบโจทย์ของไทย ซึ่งแตกต่างจากของยูเครน ไต้หวัน เกาหลีเหนือและใต้ โดยคำนึงถึงอิทธิพลของพวกเขาต่อเราด้วย อย่างไร”  

“เรารู้จักอาวุธนิวเคลียร์และการป้องปรามมาระยะหนึ่งแล้ว เราเข้าใจการกระทำของรัสเซียและเกาหลีเหนือระดับหนึ่ง แต่ภัยคุกคามใหม่คือเอไอ ที่จะทำให้เราเสียการมองเห็น เสียการได้ยิน เสียความสามารถในการกำหนดทิศทาง เหมือนขุนแผนเสกต่อแตนไปจัดการศัตรูโดยตรง ไม่ถึงตาย แต่เสียความสามารถต่างๆ กันหมด ซึ่งเกิดขึ้นเร็วมาก แต่จริยธรรมสำหรับยับยั้งตามไปไม่ทัน ความหมายของการฆ่าในสงครามอาจไม่ได้หมายถึงการเด็ดหัวแม่ทัพนายกองอีกต่อไปด้วยเช่นกัน แต่อาจเป็นการฆ่าผ่านจอ นำสิ่งที่อยู่ไกลมาอยู่ใกล้ๆ เรา ไม่ต้องไปสนามรบ แล้วการฝึกคนมาเล่นกับจอที่ว่านี้ต้องทำอย่างไร การทำให้มันเป็นมีลักษณะเป็นเกมสงครามไปจะทำให้เกิดวิธีคิดแบบไหน เมื่อไม่ได้เห็นเลือดจริงๆ แล้ว การฆ่าอาจไม่ใช่โจทย์ของสงครามในอนาคตเท่ากับการกำหนดเป้าหมายอีกด้วย แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหนในที่นี้”

เมื่อแมคมิลลานตั้งคำถามในเล่มว่าการใช้ความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่ ศุภมิตรคิดต่อไปว่าแล้วมีอะไรอื่นอีกบ้างที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ และจะนำคำตอบนั้นมาทำความเข้าใจสงครามได้อย่างไร

“ธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์ที่ต่างไปสิ่งอื่นและสัมพันธ์กับสงครามคือเรารู้ว่าเราต้องตาย เมื่อมีความสำนึกเกี่ยวกับความตาย ก็มีคำถามว่าเราจะสร้างความหมายให้การดำรงอยู่และการกระทำของตัวเองอย่างไร กล่าวคือ เมื่อก้ามข้าวข้อจำกัดไปไม่ได้ เราก็สร้างความหมายขึ้นมา มนุษย์นั้นมีทั้งเหตุผล อารมณ์ และความคิดเชิงศีลธรรม พอประกอบกันเข้าจึงได้ทางเลือกจำนวนมากเพื่อจัดการความสัมพันธ์กับความตาย ชาวแอซเท็กเห็นความตายเป็นการอุทิศ จึงอุทิศตนเองหรือทำสงครามเพื่อนำเชลยมาบูชายัญ ทำให้ความหมายในการตายเกิดขึ้น เป็นต้น ทั้งหมดนี้พาเรากลับมาหาความหมายของความรุนแรง หรือความหมายที่จะใช้ในการสร้างความชอบธรรม มาขับเคลื่อน และจัดระเบียบสังคมเพื่อก่อความรุนแรงหรือรักษาเครื่องมือสำหรับก่อความรุนแรง เราจะได้ไม่ตายโดยไร้สาระหรือแก่ตาย แต่ตายเพื่อบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา เป็นความทรงจำร่วมของสังคม และสูงส่งขึ้นมา”

ด้วยเหตุนี้ การฆ่าฟันจึงถือเป็นกิจกรรมทางสังคมด้วยเมื่อกระทำในนามของบางสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นศาสนา รัฐ หรือมนุษยชาติ โดยขึ้นอยู่กับคุณค่าและบรรทัดฐานในห้วงเวลาหนึ่งๆ คุณค่าและบรรทัดฐานเหล่านี้เองที่ศุภมิตรเห็นว่าเป็นที่มาของความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชน ขณะที่ต่างฝ่ายต่างพยายามธำรงสถาบันทางสังคมสำหรับใช้ความรุนแรงต่างๆ ไว้

ในฐานะผู้อยู่ในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศุภมิตรชี้ว่าหนทางหนึ่งในการทำความเข้าใจสายสัมพันธ์ระหว่างสังคมหนึ่งๆ กับสงคราม คือทำความเข้าใจว่าสงครามนั้นดำเนินไปอย่างไรภายใต้กฎเกณฑ์ระหว่างรัฐในยุคสมัยหนึ่งๆ

“เหนือสิ่งทั้งหมดกฎคือราชา เราจึงเห็นความแตกต่างได้ระหว่างสงครามยุคปัจจุบันกับสงครามของบรรดารัฐจารีตในอุษาคเนย์ เรากวาดต้อนผู้คนมาจากเชียงแสนเมื่อเราชนะ พร้อมกับที่มีภาระต่อพระเจ้ากรุงจีน การทำความเข้าใจกฎเกณฑ์จะทำให้เราเข้าใจสาเหตุของการศึก วิธีดำเนินสงคราม และวิธีจัดการผลลัพธ์ขอสงคราม”

“แต่ท้ายที่สุด กฎเหล่านี้ตามไม่ทันเทคโนโลยีเอาเสียเลย เราสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา แต่ควบคุมการใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้ นับว่าเราอยู่ในช่องว่างที่อันตรายอย่างยิ่ง ผมมีความกังวลเกี่ยวกับนิวเคลียร์น้อยกว่าสมรรถนะของอาวุธใหม่ๆ ที่จะสร้างสงครามรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต สงครามที่เราอาจไม่มองมันเป็นสงครามด้วยซ้ำ อย่างสงครามกลางเมือง หรือการปฏิบัติการข่าวสารระหว่างการเลือกตั้งในอเมริกาของปูติน สิ่งที่ปูตินทำอาจไม่ใช่การประกาศศึก แต่เป็นการพาสองประเทศไปสู่ความขัดแย้งอยู่ดี ดังนั้น ภูมิทัศน์ของการศึกในยุคปัจจุบันมันอาจไม่ใช่อย่างที่เราเห็นในยูเครนเท่านั้น สงครามโลกเกิดขึ้นแล้วใช่ไหม ถือว่าตอบได้ยาก”

ศุภมิตรเรียกภาวะเช่นนี้ว่า “ความเหลื่อมเลือนระหว่างสงครามกับสันติภาพ” เมื่อจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายอาจไม่ใช่เครื่องนิยามภาวะสงครามอีกต่อไป แต่รวมถึงการทำลายเอกภาพและเจตจำนงในการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ด้วย โดยที่สังคมมนุษย์ยังไม่อาจผลิตกติกาเพื่อกำกับสมรรถนะที่เลื่อนไหลเหล่านี้ได้

“แล้วอะไรคือโจทย์ของการปฏิรูปกองทัพในไทย เรายังเจาะจงเฉพาะปัญหาภายในประเทศได้หรือเมื่อบริบทเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่กระทรวงกลาโหมกำลังทำดูจะเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ ในภาพใหญ่ และถ้าเราไม่นำภาพใหญ่มาพิจารณากัน เราจะกระโจนไปสู่สมรภูมิความมั่นคงได้อย่างไร สิ่งที่เรากำลังเผชิญไม่ใช่สงครามเบ็ดเสร็จรูปแบบเดียวกับสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เป็นสงครามเบ็ดเสร็จแบบใหม่ที่ทุกองคาพยพของสังคมกลายเป็นเป้าในการทลายพลังของสังคมนั้นๆ จนไม่อยู่ในสถานะที่จะลุกขึ้นต่อสู้ได้ เพราะจมอยู่ในปัญหาภายในและการแบ่งขั้ว ดูอย่างรัสเซียที่กำลังขยายผลการแบ่งขั้วในอเมริกา ทำให้อเมริกาเสียสถานะแบบอย่างในหมู่ชาติประชาธิปไตยและโลกเสรี จนนักวิชาการหลายคนเริ่มนึกถึงสงครามกลางเมืองครั้งใหม่แล้ว”  

แง่มุมเกินคาดฝันของสงคราม

จิตทิพย์สนใจผลลัพธ์ที่หลากหลายของสงครามในหนังสือเล่มนี้ที่สุด ทั้งการยกสถานะของสตรี การพัฒนาเทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางการแพทย์ โดยเธอชี้ให้เห็นผลลัพธ์อื่นๆ ของสงครามที่หลายคนคาดไม่ถึงด้วย ดังนี้

“การทำสงครามหมายถึงการลงทุนอย่างหนักของรัฐในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการวิจัย ซึ่งจะยังส่งผลกระทบหลังสงครามจบสิ้น ที่ชอบคือหนังสือยังฉายภาพผลของสงครามในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ภาษาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้นึกถึงทฤษฎีกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคง (securitization) ที่กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ภาษาที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น การใช้คำว่าสงครามเพื่อสร้างพลังบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือสงครามยาเสพติด เพื่ออนุญาตให้ใช้มาตรการที่เหนือปกติในการจัดการปัญหาต่างๆ”

“อีกอย่างที่ชอบเกี่ยวกับหนังสือคือผู้เขียนมีความระมัดระวังในการเขียน และมีลักษณะวิพากษ์ตัวเอง เธอไตร่ตรองถึงอคติที่สังคมตะวันตกมีในการจัดการสงคราม จริงๆ แล้วกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่โลกตะวันตกกำหนด เช่น หลักการเพื่อคุ้มครองเชลยสงคราม ก็มีอคติเชิงเชื้อชาติอยู่ ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กฎเหล่านี้ใช้บังคับในหมู่ชาติตะวันตกเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงชาติต่างๆ ในเอเชียหรือแอฟริกาด้วย”

“ทำให้คิดต่อไปว่ามีมรดกอะไรของสงครามที่หนังสือไม่ได้กล่าวถึงไหม ที่นึกออกคือองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่ถูกหล่อหลอมด้วยงานวิจัยในยุคสงครามเย็น เพราะการลงทุนในงบประมาณการวิจัยอย่างที่กล่าวไปแล้ว สาขาวิชาที่ได้รับการสนับสนุนมากๆ ในยุคนั้นก็คือฟิสิกส์ อย่างที่เห็นในภาพยนตร์ Oppenheimer

อย่างไรก็ตาม จิตทิพย์ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับสงครามไม่ได้ให้ผลลัพธ์เชิงบวกเสมอไป

“เวลาเราพูดถึงเทคโนโลยีและสงคราม เรามักพูดกันว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นทำให้สังคมดีขึ้น แต่ก็มีเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสร้างผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์เช่นกัน และมักจะถูกลืม อย่างประเด็นอาณานิคมนิวเคลียร์ (nuclear colonialism) ที่ชี้ว่าการผลิตและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์มักเกิดขึ้นนอกพื้นที่อาศัยของคนขาว หรืออยู่ไกลจากที่ที่กลุ่มชนชั้นสูงในสังคมอยู่ และดำเนินไปโดยไม่มีความเป็นธรรมเลย ระหว่างการทดสอบระเบิดในภาพยนตร์ Oppenheimer ทุกคนมีความสุข แม้ออปเพนไฮเมอร์จะมีความรู้สึกผิดจากการใช้งานระเบิดในสงคราม แต่สิ่งที่ภาพยนตร์ไม่ได้ฉายให้เห็นและคนไม่ค่อยพูดถึงคือการทดสอบระเบิดที่นิวเม็กซิโกนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่อาศัยของชนพื้นเมืองอเมริกันโดยไม่มีการเตือนให้อพยพ เพื่อรักษาความลับของโครงการ”

เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีในสงครามแล้ว เธอจึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงสงครามไซเบอร์ที่อยู่ในความสนใจของเธอด้วย โดยจิตทิพย์ชี้แจงสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดเกี่ยวกับ “การป้องปรามทางไซเบอร์” (cyber deterrence) หรือการคุกคามทางไซเบอร์เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำบางสิ่งที่ตนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หรืออาจหมายถึงการคุกคามด้วยวิธีทางทหารเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ได้เช่นกัน เช่น การที่รัสเซียประกาศจะใช้งานอาวุธบางประเภทหากชาติตะวันตกเข้าแทรกแซงในสงครามรัสเซีย-ยูเครน และทำให้ชาติตะวันตกทั้งหลายเลือกไม่แทรกแซง

“ปัญหาของการป้องปรามคือมันไม่ใช่ยุทธวิธีที่มีลักษณะเป็นสองขั้ว เช่น ถ้าเธอไม่ยอม ฉันจะยิงหัวรบนิวเคลียร์แน่นอน เพราะการโจมตี โดยเฉพาะการโจมตีทางไซเบอร์นั้นเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งจนไม่สามารถป้องปรามได้ทุกครั้งไป ถ้าการโจมตีนั้นไม่สร้างผลกระทบที่รุนแรง เช่น ดิฉันเจาะระบบอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็อาจพิจารณาไม่โจมตี สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในปัจจุบันก็ใช้นโยบายป้องปรามที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้น โดยไม่ตัดสินใจจากการโจมตี แต่ตัดสินใจจากผลกระทบที่รุนแรง เช่น การทำลายเขื่อนหรือสาธารณูปโภค”

อนาคตของความขัดแย้ง

สำหรับจิตติภัทร โจทย์ยากของความขัดแย้งในอนาคตคือการไร้กฎเกณฑ์แทบจะโดยสิ้นเชิง

“ถ้าถามว่าวันนี้เรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน ต้องตอบว่าฉากทัศน์ของสงครามยังเคลื่อนที่อยู่ บางคนเรียกสงครามในปัจจุบันว่าสงครามอสมมาตร (หมายถึงสงครามที่อำนาจทางทหารและยุทธวิธีของสองฝ่ายต่างกันอย่างสิ้นเชิง) บางคน เช่น แมรี โคลเดอร์ (Mary Kolder) เสนอในทศวรรษท 1990 ว่าเรากำลังเผชิญสงครามรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่สงครามระหว่างรัฐเช่นเดิม เพราะมีมาตรการป้องกันสงครามระหว่างประเทศมากขึ้น สงครามใหม่ๆ จึงมีลักษณะเป็นสงครามภายในมากขึ้นด้วย”

“นอกจากนี้ ความรุนแรงยังอยู่ในมือของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมากขึ้น อย่างการใช้แรงงานเด็ก หรือทหารรับจ้าง เทคโนโลยีสารสนเทศก็กลายเป็นอาวุธมากขึ้น แล้วยังไม่มีใครสร้างฉันทามติเกี่ยวกับกติกากำกับได้ชัดเจน หลายตัวแสดงก็อาศัยความคลุมเครือนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง” จิตติภัทรอธิบายความกังวล “สงครามยุคใหม่อาจไม่มีการประกาศอย่างชัดเจน เส้นแบ่งระหว่างการใช้ความรุนแรงกับสันติภาพจึงพร่าเลือน เราเห็นทั้งชาติเผด็จการและประชาธิปไตยใช้กลไกเหล่านี้ในการแทรกแซงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตัวเองในประเทศอื่น คือทั้งเครื่องมือทางการทหารและเครื่องมืออื่นอย่างข่าวลวงและวัฒนธรรม สงครามลักษณะนี้มีจุดเด่นอีกอย่างคือความสามารถในการปฏิเสธความรับผิด (plausible deniability) ของรัฐจะสูงมาก ว่าตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เป็นการกระทำของภาคเอกชน”

เช่นเดียวกับจิตทิพย์ เขาเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในการใช้ภาษากำลังก่อประเด็นชวนกังวล “สงครามถูกใช้ในฐานะอุปลักษณ์มากขึ้น เราเห็นการใช้คำว่าสงครามในความขัดแย้งที่แต่เดิมไม่ใช่สงคราม ทั้งสงครามต่อต้านยาเสพติด สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สงครามชิป สงครามโควิด เมื่อคำนี้หลุดจากนิยามเดิมที่เรารับรู้ หลายเรื่องที่แต่เดิมไม่ได้มีสองขั้วก็ถูกแบ่งขั้วไป ทำให้แก้ไขข้อขัดแย้งยากขึ้น มีลักษณะแบ่งเราแบ่งเขามากขึ้น แถมถูกทำให้เกี่ยวข้องกับศีลธรรมมากขึ้น สันติภาพก็เกิดขึ้นยากตามไปด้วย เพราะมันทำให้คู่ตรงข้ามในการแข่งขันตามปกติกลายเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมกันในสังคมไม่ได้”

ศุภมิตรมีความเห็นคล้ายคลึงกัน โดยยังเน้นความสำคัญของจริยธรรมในการดำเนินสงครามที่ย่อมแปรเปลี่ยนไปเมื่ออาวุธยุทโธปกรณ์ “ไฮเทค” กว่าที่เคยเป็นมา

“เทคโนโลยีใหม่จะมีนัยสำคัญต่อการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมมากขึ้นด้วย เราจะจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเรากับปัญญาประดิษฐ์อย่างไร เป็นต้น  ยิ่งพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ว่าเพื่อใช้ในสงครามหรือในชีวิตประจำวัน ยิ่งจำเป็นต้องมีการจัดการความสัมพันธ์ที่เป็นธรรม”

ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมนานาชาติก็อาจนำมาซึ่งโจทย์ใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงเช่นกัน “เราต้องพร้อมอยู่ในสังคมนานาชาติที่มีความหลากหลาย ทั้งรัฐศาสนา รัฐที่มีปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากร ปมปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่พร้อมกับที่โลกมีปมปัญญาใหม่ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คำถามคือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรหากศักยภาพของเราไม่เท่าเทียมกัน และเมื่อผสมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากด้วย อีกคำถามจึงเป็นว่า เราจะเตรียมความพร้อมในการรบแบบใด”

 เขาเห็นว่าโจทย์ดังกล่าวสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเกณฑ์ทหารและการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองอย่างยิ่ง กระนั้น แนวโน้มที่ไทยและอาเซียนจะปรับตัวตอบรับโจทย์นั้นได้ก็ยังเลือนราง “บทบาทหนึ่งของการเกณฑ์ทหารคือการสร้างความรู้สึกว่าเป็นพลเมือง เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนการเมืองที่ตนพร้อมจะสละชีวิตให้  แต่ชุมชนการเมืองแบบนี้ไม่เพียงพอแล้ว มันขยายออกไปเป็นชุมชนโลก เป็นมนุษยชาติ โจทย์คือเราจะทำอย่างไรต่อไป ชุมชนที่พอจะเห็นความเป็นไปได้คือประชาคมยุโรป แต่อาเซียนเองก็ยังสร้างความรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกันไม่ได้ เวียดนามก็ยังกอดความเป็นพลเมืองเวียดนาม กัมพูชายิ่งกอดและใช้ไทยเป็นเป้าหมายของการสร้างความรู้สึกนั้น เมื่อชาติอาเซียนยังกอดความเป็นตัวเองโดยใช้เพื่อนบ้านเป็นเป้าของกันและกัน เราจะขยายความเป็นพลเมืองไปถึงอาเซียน เอเชีย และประชาคมโลกได้อย่างไร”

ขณะที่จิตทิพย์ให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันเทคโนโลยีทางการทหาร โดยชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีไม่อาจชี้ขาดชัยชนะ และการทุ่มเทเพื่อจัดซื้อหรือพัฒนาเทคโนโลยีอย่างหมดหน้าตักก็ควรเป็นที่ตั้งคำถามและถูกตรวจสอบ

“เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเทคโนโลยีนั้นๆ ก่อนจะไปต่อกับมัน เพราะในแง่หนึ่ง เทคโนโลยีในสงครามเป็นเหมือนอุปกรณ์ใหม่ๆ ในกล่องเครื่องมือหนึ่งๆ เท่านั้น คือไม่ได้แปลว่าของใหม่แล้วของเก่าจะหมดความหมายโดยสิ้นเชิง อย่างในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีการใช้โดรนและสนามเพลาะในเวลาเดียวกัน ท้ายที่สุดแล้ว เราก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบท”

เธอยังอธิบายด้านมืดของการใช้งาน “โดรน” อีกหนึ่งอาวุธทันสมัยในยุคปัจจุบันไว้ด้วยว่า “เรามักคิดว่าโดรนเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพมาก แต่โดรนยังมีข้อจำกัดอยู่ในปัจจุบัน มันบินได้ช้า บินต่ำ และเสี่ยงถูกยิง ส่วนใหญ่จึงถูกใช้ในบ้าน ในประเทศที่เราควบคุมระบบป้องกันภัยทางอากาศได้แล้ว หรือใช้สอดแนมบริเวณใกล้เคียงความขัดแย้งมากกว่า ไม่น่าแปลกใจเลยที่โดรนของยูเครนถูกฝ่ายรัสเซียยิงตกเกือบทั้งหมด นัยสำคัญของข้อมูลนี้คือ โดรนอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วงนักในสงครามระหว่างประเทศ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือการที่รัฐใช้มันในพื้นที่ของตัวเอง ถ้ารัฐบาลไทยจะจัดซื้อโดรน เราต้องตั้งคำถามว่ามันเป็นโดรนแบบไหน และจะใช้มันกับใคร”

“นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า แม้จะใช้โดรนสังหารจากระยะไกล คนที่สั่งการก็ยังมีแผลใจอยู่ดี พวกเขาตระหนักรู้ว่าเพิ่งฆ่าคนไป แต่ความตระหนักรู้นั้นจะเหมือนการฆ่าคนด้วยมือจริงๆ ไหมก็ไม่ เรายังต้องทำความเข้าใจมันต่อไปอีกมาก”

ท้ายที่สุด เมื่อสงครามย่อมอยู่คู่กับมนุษยชาติและสันติภาพอย่างแยกไม่ออก หรืออย่างน้อยก็ไม่อาจแยกได้ในเร็ววันนี้ โจทย์แห่งสงครามที่วิทยากรทั้งสามฝากไว้ จึงสำคัญและน่าขบคิดไม่ต่างจากโจทย์แห่งสันติภาพที่ผู้ดำเนินรายการทิ้งท้ายไว้ด้วย

“หนังสือบอกว่าสงครามอยู่ร่วมกับมนุษย์มาตลอด หล่อหลอมสังคมมนุษย์อย่างที่เราเห็น บางครั้งก็มีส่วนลดความเหลื่อมล้ำในโลก มีส่วนเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงชนชั้น เพราะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดิมล่มสลายและขาดแคลนแรงงาน รัฐจึงต้องพยายามสร้างสวัสดิการและเพิ่มค่าตอบแทนให้แรงงาน” ประจักษ์บอก “พูดอย่างนี้หมายถึงเราให้ความชอบธรรมกับสงครามในมิตินี้ได้ไหม ก็คงไม่ใช่ เพราะโจทย์จริงๆ ที่ยากกว่านั้นคือเราจะทำให้สังคมมีสิ่งดีๆ เหล่านี้โดยไม่ต้องมีสงครามได้อย่างไร”

รับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่

วงสนทนา “สงคราม” ในระเบียบโลกใหม่: จากประวัติศาสตร์บาดแผล สู่อนาคตของความขัดแย้งข้ามชาติ

หรือดูรายละเอียดหนังสือ สัตว์สงคราม: ประวัติศาสตร์บาดหมางที่ก่อร่างสร้างโลก ได้ที่นี่