“China 5.0” มองจีนยุคใหม่ ภายใต้สีจิ้นผิง

ภาพ: ยุทธภูมิ ปันฟอง

 

เมื่อพูดถึงมหาอำนาจของโลกยุคนี้ ไม่มีใครนึกถึงแต่สหรัฐอเมริกาอีกต่อไป หนึ่งในมหาอำนาจโลกที่ทุกคนเฝ้าจับตาคือจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5 หรือสีจิ้นผิงที่มีแนวโน้มจะครองอำนาจไปอีกนาน

งานเสวนา “China 5.0: เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และกฎหมาย ในจีนยุคใหม่” โดยคณะนิติศาสตร์ และศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape มุ่งหวังจะฉายภาพจีนสมัยใหม่ในหลากหลายมิติ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในแบบติดจรวด จากยุค 4.0 คือเทคโนโลยีดิจิทัล ก้าวสู่ยุค 5.0 คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งจะเป็นกุญแจชี้อนาคตของประเทศ

ร่วมสนทนาโดย ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายพัฒนาธุรกิจจีน ธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ไอที Blognone และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียน China 5.0

ชวนสนทนาโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ bookscape วันพุธที่ 5 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุม ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ชั้น 5 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากจะเป็นเสวนาเพื่อทำความเข้าใจความคิดผู้นำจีนอย่างรอบด้านแล้ว ยังอาจช่วยจุดประกายให้เราเห็นโอกาสและความท้าทายในยุคประเทศไทย 4.0 มากขึ้นกว่าเดิม

 

ทำไมต้อง China 5.0

สาเหตุที่ตั้งชื่อหนังสือว่า China 5.0 อาร์มอธิบายว่ามีสามความหมายหลัก นั่นคือ

หนึ่ง ในทางการเมือง นับเป็นการเมืองจีนภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5 ซึ่งก็คือสีจิ้นผิง จากสมัยเหมาเจ๋อตุงคือรุ่นที่ 1 หรือ 1.0 สมัยเติ้งเสี่ยวผิงคือ 2.0 สมัยเจียงเจ๋อหมิน 3.0 สมัยหูจิ่นเทา 4.0 และสีจิ้นผิงก็เป็นผู้นำรุ่นที่ 5 จึงใช้ว่า 5.0

สอง ในทางเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ คือฉีกและแตกต่างจากยุคปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง จนมีคำเรียกเฉพาะว่า “สีโคโนมิกส์”

และสาม คือนัยว่าจีนกำลังก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5.0 ถ้าเราเข้าใจ 4.0 ว่าเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล ตอนนี้เรื่องฮิตที่สุดในจีนหนีไม่พ้นเรื่อง AI

“AI คือสิ่งที่ผมเรียกว่า 5.0 แล้วผมก็พยายามบอกว่ามันจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศจีนไปอย่างมาก”

เจมส์ ฟาลโลวส์ คอลัมนิสต์ชื่อดังของนิตยสาร The Atlantic เคยเขียนไว้อย่างน่าคิดว่า “ในเวลาเดียวกัน จีนนั้นทั้งร่ำรวยและยากจน ทั้งเจริญและล้าหลัง ทั้งก้าวไปข้างหน้าและถอยหลังลงคลอง ทั้งสร้างนวัตกรรมเองและเป็นจอมเลียนแบบ ทั้งเปิดเสรีและปิดกั้นต่างชาติ ทั้งหยิ่งผยองและขาดความมั่นใจ ทั้งเดินตามและเดินสวนกับแนวทางทุนนิยมตะวันตก”

เมื่อจีนซับซ้อนและย้อนแย้งขนาดนี้ อาร์มจึงแนะนำให้เราใช้แว่นตาที่ชื่อว่า CCH ในการทำความเข้าใจและศึกษาจีน

C – connection คือความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงกฎหมาย หากต้องการจะเข้าใจจีน ต้องเข้าใจในแบบเชื่อมโยง ไม่ใช่แยกส่วน

C – complexity คือความซับซ้อน อย่างคำกล่าวของเจมส์ ฟาลโลวส์ คือพูดอย่างไรก็ถูก บอกว่าเศรษฐกิจจีนนำโดยรัฐก็ถูก บอกว่าเศรษฐกิจจีนกำลังจะปรับให้นำโดยเอกชนก็ถูก การเมืองจีนเป็นการเมืองเผด็จการก็ถูก แต่ขณะเดียวกันจะมีหลายมิติที่ซับซ้อนมากๆ ในเมืองจีน

H – humility หรือความถ่อมตัว นั่นคือก่อนที่เราจะพยายามเปลี่ยนแปลงหรือสั่งสอนให้ใครทำอะไร เราต้องพยายามทำความเข้าใจเขาก่อน และจริงๆ ต้องยอมรับว่าคนข้างนอกมีความเข้าใจเกี่ยวกับจีนน้อยมาก

ความพยายามของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ต้องการฉายภาพที่ซับซ้อนของจีนออกมาให้เห็น ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เราจะสามารถฟันธงไปด้านใดด้านหนึ่งได้

“อย่างตัวผมไปจีนทีไรก็พบว่าความรู้ผมล้าสมัยไปแล้ว สมัยเรียนกับตอนนี้มันคนละเรื่องกันแล้ว ก็ต้องเรียนรู้อยู่ทุกวัน”

เสวนา “China 5.0” คือความพยายามที่จะเชื่อมโยงและเกาะเกี่ยวมิติต่างๆ ในเบื้องต้น เพื่อให้เราเห็นภาพและมองจีนยุคใหม่ได้ชัดกว่าเดิม

 

การเมือง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสีจิ้นผิงครั้งนี้ ถือได้ว่าสวนทางกับแนวทางที่ผู้นำรุ่นที่ 2 อย่างเติ้งเสี่ยวผิงวางรากฐานไว้ แม้โดยระบอบจะเป็นเผด็จการ แต่ถ้าผู้นำผลัดเปลี่ยนกันไป อย่างน้อยก็ทำให้คนจีนรู้สึกว่าไม่มีใครใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

วรศักดิ์เท้าความว่า ตอนเติ้งเสี่ยวผิงก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด ได้สรุปบทเรียนจากผู้นำรุ่นที่ 1 เหมาเจ๋อตุง ซึ่งตอนนั้นไม่มีการเกษียณอายุและไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง โดยชี้ให้เห็นว่ามันเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นมากมาย ที่สำคัญคือ ทำให้ผู้นำรุ่นต่อมาเตรียมการไม่ทัน ซึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้จีนแทบพังพินาศไปเลยในยุคของเหมาก็คือเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม

กล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์กว่า 3,000 ปีของจีนไม่เคยมีประชาธิปไตยเลย มีแต่จักรพรรดิ ทุกวันนี้ที่จีนถูกแวดล้อมด้วยโลกเสรีประชาธิปไตย ถามว่าคนจีนต้องการเสรีภาพทางการเมืองไหม น้อยคนคงปฏิเสธ แต่พวกเขาก็เข้าใจดีว่า มันมีเงื่อนปมอันหนึ่งคือ แม้ไร้เสรีภาพทางการเมือง แต่ถ้าเศรษฐกิจดี อย่างนี้ยังพอรับได้

ถ้าถามคนจีนอย่างลึกๆ ว่าเขาต้องการเสรีภาพทางการเมืองมากกว่านี้ไหม ทุกคนที่ผมไปสัมผัสบอกว่าต้องการ แต่ดูเหมือนจะเป็นด้านรอง เขาจะมุ่งไปที่เศรษฐกิจมากกว่า

แต่มาถึงรุ่นที่ 5 คือสีจิ้นผิง ทำไมจึงกลับไปรวบอำนาจอีก วรศักดิ์ตั้งสมมติฐานไว้ 4 ข้อด้วยกัน

หนึ่ง หรือว่าจีนตีบตันที่จะหาผู้นำรุ่นต่อจากสีจิ้นผิง ถ้าจีนตันขนาดนั้น แต่จีนเติบโตทางเศรษฐกิจขนาดนี้ คงไม่น่าเป็นไปได้

สอง เป็นกิเลสทางการเมืองของสีจิ้นผิง คือหลงอำนาจและอยากอยู่ต่อ แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะพูดอย่างนี้ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นสีจิ้นผิงใช้อำนาจในทางลบ

สาม หรือเกิดความขัดแย้งอะไรภายในที่ทำให้สีจิ้นผิงต้องผนึกอำนาจ ซึ่งโดยลักษณะการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นการเมืองแบบการนำรวมหมู่ หรือทำงานเป็นทีม ทีมในที่นี้คือคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ หมายความว่าการที่สีจิ้นผิงจะได้มีอำนาจผูกขาดอย่างนี้ ต้องผ่านมติของคณะกรรมการกลางด้วย ฉะนั้นคงเป็นไปไม่ได้

สี่ วรศักดิ์มองว่าน่าสนใจที่สุด คือเกิดแรงเสียดทานขึ้นตั้งแต่ยุคของหูจิ่นเทา ผู้นำรุ่นที่ 4 เขายกตัวอย่างปี 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ซึ่งปีเดียวกันนั้นเองเกิดเหตุการณ์ใหญ่สองเรื่อง หนึ่ง แผ่นดินไหวที่เสฉวน คนตายไปนับแสน อีกเรื่องคือการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศของชาวทิเบตที่รัฐบาลใช้อำนาจเข้าปราบปราม

ตอนเกิดแผ่นดินไหว การบัญชาการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต้องเด็ดขาด แล้วที่เข้าไปช่วยคือกองทัพ แต่คนนำคือหูจิ่นเทาที่เป็นพลเรือน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมาธิการทหารส่วนกลาง แล้วมีข่าวออกมาว่ากองทัพไม่ฟังเสียง ทั้งที่ในระบอบคอมมิวนิสต์ พรรคต้องใหญ่กว่ากองทัพ ถ้ากองทัพเริ่มไม่ฟังพรรคจะเกิดแรงเสียดทานขึ้น คือทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ลดลง

ขณะที่ในสมัยเหมาและเติ้ง ผู้นำทั้งสองคนเรียกได้ว่ามีทั้งอำนาจและบารมี วรศักดิ์มองว่าทั้งคู่มีฐานะไม่ต่างจาก “จักรพรรดิ” แต่ผู้นำตั้งแต่เจียงเจ๋อหมินถึงหูจิ่นเทาไม่ใช่แบบนั้น และเมื่อถึงยุคสีจิ้นผิงการปรับสมดุลอำนาจครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น

วรศักดิ์ให้ข้อมูลที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่า จีนมีเลือกตั้งทางตรงแบบประเทศประชาธิปไตยเพื่อทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนประชาชน (มีทั้งเลือกตั้งทางตรงและทางอ้อม) ซึ่งแต่ก่อนผู้ที่ได้รับเลือกจะเป็นคนของพรรค แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คือแม้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก็มีสิทธิได้รับเลือก คนเหล่านี้คือคนที่มีจิตอาสา อุทิศตัวแก่ชุมชน ซึ่งในสภาผู้แทนประชาชนมีสัดส่วนของคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น

 

เศรษฐกิจ

คำแนะนำจากผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจจีนว่าไว้ ถ้าอยากประสบความสำเร็จสูงๆ เรื่องธุรกิจ เราต้องสนใจเรื่องเมืองจีน ไม่ว่าบริษัทคุณจะทำธุรกิจกับจีนหรือไม่ก็ตาม เพราะตอนนี้เศรษฐกิจจีนอยู่ในอันดับสองของโลก และจะครองอันดับหนึ่งในไม่ช้า ถึงแม้เราจะไม่ได้ไปเกี่ยวกับเขา แต่เขาก็จะมาเกี่ยวกับเราที่เมืองไทยอยู่ดี

มาณพยกคำพูดจากตำราพิชัยสงครามของจีนที่บอกว่า ต้องรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งจึงชนะร้อยครั้ง แน่นอนการที่จีนหันมาทำธุรกิจกับไทยมากขึ้น ก็มีทั้งโอกาส ความท้าทาย และความเสี่ยงกับเราด้วย

จะเข้าใจธุรกิจจีนได้ ต้องเข้าใจการเมืองจีน นี่คือคำยืนยันจากมาณพว่า จำเป็นแค่ไหนที่เราต้องเข้าใจบริบทต่างๆ ของการเมืองจีน

“เมื่อเราทำธุรกิจในเมืองจีน หรือติดตามเรื่องเมืองจีน เราต้องเข้าใจที่มาที่ไปของการเมือง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่เข้าใจจีน”

ระบบเศรษฐกิจของจีนพูดง่ายๆ ก็คือระบบเศรษฐกิจที่นโยบายนำ โดยระบบพรรคอยู่เหนือระบบบริหาร ในแต่ละมณฑลจะมีผู้บริหารเรียกว่าผู้ว่าการมาจากฝ่ายบริหาร แต่จะมีอีกตำแหน่งหนึ่งเรียกว่าเลขาธิการพรรค ถ้าในบริษัทอาจเทียบได้กับประธานบริษัท ส่วนผู้ว่าการคือ CEO ซึ่งแน่นอน ประธานบริษัทต้องมีอำนาจสูงกว่า CEO อันนี้ก็เป็นระบบของจีนไล่ลงมาเรื่อยๆ ในแต่ละมณฑล แต่ละเมือง จนถึงตำบล หมู่บ้าน ก็จะมีเลขาธิการพรรคและผู้ว่า (หัวหน้า) หมู่บ้าน

ด้วยระบบแบบนี้ ทำให้นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้าไปสู่ทุกๆ หัวระแหงของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลกลางคิด รัฐบาลท้องถิ่นก็คิดเหมือนกัน หรือเมื่อรัฐวิสาหกิจคิด บริษัทเอกชนที่ไม่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจก็คิดแบบเดียวกัน

การวางแผนธุรกิจของจีนอิงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเวลาอย่างไม่น่าเชื่อ จุดนี้เห็นได้ชัดมากๆ เลยว่า ทำให้จีนพัฒนาอย่างเป็นเอกภาพ

อีกจุดที่เห็นได้ชัดคือการดำเนินโครงการของรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็ว พอรัฐบาลจีนประกาศโครงการปุ๊บ เรียกว่าทำแทบจะเสร็จแล้ว หรือมักเสร็จก่อนกำหนด ส่วนโครงการของเอกชนอาจมีความล่าช้าบ้าง ซึ่งนับว่าตรงข้ามกับที่เราคุ้นเคยกัน

มาณพยังเล่าถึงการปรับโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นตอน หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงปี 2007-2008

ถอยกลับไปในช่วงที่สีจิ้นผิงขึ้นมามีอำนาจ การพัฒนาประเทศจีนยังมุ่งเน้นเรื่องการลงทุน มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์

แต่ก่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเติบโตปีละ 30 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้อาจจะเติบโตปีละ 5-10 เปอร์เซ็นต์ มาณพเล่าว่าสิ่งที่มาแทนคือการบริโภคและการบริการ เพราะต้องการให้การเติบโตมีสมดุลมากขึ้น

“จีดีพีของจีนช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเติบโตเร็วมาก นั่นคือไม่เคยต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ จีนเติบโต 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งในช่วงนั้นเป็นการส่งออกนำ แต่หลังวิกฤตในอเมริกา จีดีพีของจีนก็ตกลงมาค่อนข้างมาก แต่จีนได้อัดฉีดเงินเข้าไป 4 ล้านล้านหยวน ก็ทำให้จีดีพียังเพิ่มขึ้นบ้าง ถึงแม้ตัวเลขส่งออกยังติดลบก็ตาม”

จากจุดนั้นทำให้เศรษฐกิจจีนกลายเป็นเรื่องการลงทุนนำ จนถึงช่วงปี 2012-2013 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสีจิ้นผิงขึ้นมา แต่ในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา จะเป็นเรื่องการบริโภคนำ ถือว่าประเทศจีนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และประสบผลสำเร็จ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนจะบรรลุเป้าหมาย “ความคิดของสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์สำหรับจีนยุคใหม่” ที่ตั้งไว้ว่า ภายในปี 2021 (พรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี) จีนจะเป็นประเทศที่กินดีอยู่ดีพอสมควร และกำจัดความยากจนสำเร็จ และในปี 2035 (จุดกึ่งกลางระหว่างปี 2021 และ 2049) จีนจะเป็นประเทศทันสมัยได้สำเร็จ

“ผมอยู่ที่เซียงไฮ้ 9 ปี ต้องบอกว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก แม้มาตรฐานการครองชีพจะแพงกว่ากรุงเทพฯ ที่พักต่างๆ ก็แพงกว่า แต่ถนนหนทางมีการวางแผนดีมาก”

มาณพเล่าว่า ตอนไปทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2004 รถไฟฟ้าใต้ดินเซียงไฮ้มีเพียงสองสาย แต่ตอนเขากลับมา มีรถไฟฟ้าให้บริการ 10 กว่าสาย ด้วยระยะทางรวมกว่า 400 กิโลเมตร แซงหน้าลอนดอนกลายเป็นโครงข่ายรถใต้ดินที่ยาวที่สุดในโลก และอีกเกือบ 15 ปีข้างหน้า คือประมาณปี 2030 จะกลายเป็น 800 กิโลเมตร

มาณพยอมรับว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจีนถือว่าดีระดับโลกแล้ว และไม่ใช่เฉพาะบางเมืองหรือบางมณฑล แต่เป็นอย่างนี้ทุกมณฑล

หลังจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจนครอบคลุมแล้ว ตอนนี้ได้เวลาที่จีนจะเริ่มเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเต็มกำลัง

 

เทคโนโลยี

ก่อนจะไปเรื่องไกลตัวอย่างเทคโนโลยี อิสริยะเล่าว่า e-commerce ในไทยเจ้าดังๆ ตอนนี้มีด้วยกันสามราย ได้แก่ Lazada, Shopee และ JD Central ซึ่งทั้งสามรายต่างมีทุนจีนเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Lazada ที่เป็นบริษัทเยอรมัน มีฐานที่สิงคโปร์ ซึ่งแจ็ก หม่า มีหุ้นอยู่ Shopee เจ้าของคือ SEA หรือรู้จักกันในชื่อ Garena (ผู้ผลิตเกม RoV) ถือหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์โดย Tencent บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ในจีน ส่วน JD Central เป็นการร่วมทุนระหว่าง JD อีคอมเมิร์ซอันดับสองของจีนและกลุ่มเซ็นทรัล

พูดง่ายๆ คือ การแข่งขันของอีคอมเมิร์ซไทยไม่ต่างจากสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างบริษัทสามยักษ์ใหญ่ของจีน

อิสริยะตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ หนึ่ง การเมืองนำทุกอย่าง และสอง ไม่ให้ความสำคัญเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อิสริยะบอกว่าต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า AI เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก เวลาพูดถึง AI จึงควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็น AI ในระดับไหน

เราเล่นเฟซบุ๊ก แล้วมันแท็กหน้าเราอัตโนมัติ อันนี้ก็เป็น AI ไปจนกระทั่ง AlphaGo ของกูเกิลที่เล่นโกะเอาชนะคนได้ นี่ก็ AI ซึ่งหลายๆ อย่างของ AI ทำให้เราตื่นตระหนกว่า AI จะมาแย่งงานคนไหม

อิสริยะยืนยันเลยว่า “กว่า AI จะมาแทนคน ต้องใช้เวลาอีก 30-50 ปี ฉะนั้น AI ที่เราพูดกันเยอะๆ ช่วง 5-10 ปีนี้น่าจะเป็นเรื่องการทำทุกอย่างให้เป็นอัตโนมัติ (automation) มากกว่า”

เขายกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นยุคก่อนจะมีฐานข้อมูล (database) เวลาไปโรงพยาบาล จะมีเวชระเบียนที่เป็นแฟ้มกระดาษ กว่าจะหาเจอว่าเวชระเบียนอยู่ไหนก็ต้องใช้เวลาค้น ซึ่งตอนนั้นจะมีโค้ดที่แปลงชื่อเป็นตัวอักษรตามเสียงเพื่อให้หาข้อมูลได้ง่าย

“เมื่อเทียบกับยุคที่เรามีฐานข้อมูล แค่เสิร์ชชื่อในระบบปุ๊บ ข้อมูลจะขึ้นมาเลย ซึ่งปัจจุบันมันธรรมดามาก ทุกคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ก่อนจะมีฐานข้อมูลต้องถือว่านี่เป็นความมหัศจรรย์”

นั่นคือ database จะค้นหาได้เฉพาะ text (จับคู่ระหว่าง text ที่ค้นหากับ text ที่เก็บไว้) ส่วน AI ก็ทำหน้าที่จับคู่แบบเดียวกัน แต่เปลี่ยนเป็นการจับคู่ระหว่างภาพและเสียง ยกตัวอย่าง ถ้าเราถ่ายรูปใครสักคน AI จะเรียนรู้ว่านี่คือคนคนนี้ แล้วจะไปค้นมาให้ว่าหน้าตาแบบนี้คือคนไหน

ความแตกต่างสำคัญระหว่างการพัฒนา AI จีนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คือสิทธิและความเป็นส่วนตัว

อิสริยะเล่าว่าในรอบปีที่ผ่านมา เขาไปเสินเจิ้นสองรอบ ซึ่งพอไปรอบสองก็เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมาก เพราะที่สนามบินต้องให้ปั๊มนิ้วมือ ส่วนจะขึ้นไปชมตึกบางแห่งตอนตรวจตั๋วก็ต้องเดินผ่านกล้องเว็บแคม

เทียบกับในตะวันตก เขาเล่าว่าตอนที่บริษัทเอกชนที่ทำเรื่อง AI เก่งๆ อย่างกูเกิลเข้าไปช่วยเพนตากอนทำโปรเจกต์เกี่ยวกับ AI พนักงานกูเกิลก็ลาออกประท้วง แต่ในจีนกลับกัน คือรัฐบาลเป็นฝ่ายให้ไฟเขียวในการเก็บข้อมูล

อิสริยะอธิบายเพิ่มว่า AI จะทำงานได้ดีก็ต้องมีข้อมูลมหาศาล ซึ่งบริษัทจีนที่มีข้อมูลเยอะก็มีไม่กี่บริษัท หากติดตามเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีของจีนอยู่บ้าง คงพอได้ยินคำว่า BAT ที่ย่อมาจากไป่ตู้ อาลีบาบา และเทนเซนต์ สามบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการไอทีจีน สามบริษัทนี้เพิ่งเติบโตมาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้ก็เรียกได้ว่าครอบครองแทบทุกสิ่งทุกอย่าง

“กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่ว่าคุณจะเปิด startup อะไรก็ตามในจีน คุณจะต้องมีเอี่ยวสักอย่างกับ BAT ผ่านการลงทุน สมมติบริการแชร์จักรยาน จะเห็นว่ามีหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใดก็ตาม สาวลงไปสักประมาณหนึ่ง อ้าว บริษัทนี้เทนเซนต์ลงหุ้นไว้ บริษัทนี้อาลีบาบาลงหุ้นไว้ มันก็เลยเกิดการผูกขาดทางอ้อมว่า คุณไม่สามารถเป็นบริษัทที่ผงาดขึ้นมาโดยที่ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของสามบริษัทนี้ได้”

หลายๆ ครั้งจึงเกิดสงครามตัวแทนขึ้น คือเทนเซนต์ถือหางบริษัทนี้ อาลีบาบาถือหางบริษัทคู่แข่ง แล้วสองบริษัทก็ซัดกันเองโดยที่เทนเซนต์กับอาลีบาบาไม่ได้ลงมาสู้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นมาแล้วกับบริการแท็กซี่จีนหรือตีตี้ ที่สุดท้ายสู้กันจนเหลือบริษัทเดียว

“ตกลงแล้ว ถ้าอยู่เมืองจีน นวัตกรรมของคุณถูกปิดกั้นโดยสามบริษัทนี้หรือเปล่า คุณจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไปไกลกว่าสามบริษัทนี้แล้วยังสามารถยืนขึ้นมาได้โดยที่ไม่โดนสามเจ้านี้ฆ่าไปก่อนได้ไหม”

อีกเรื่องที่อิสริยะตั้งข้อสังเกตคือสายสัมพันธ์ของสามบริษัทนี้กับรัฐบาลจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสามรายให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนค่อนข้างดี คือรัฐบาลจีนขออะไร หรือขอให้เซนเซอร์อะไรก็ยอม นับว่าที่ผ่านมาบริษัทไอทีจีนสนับสนุนรัฐบาลจีนมาโดยตลอด

แต่เหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ที่รัฐบาลแบนเกมบางเกมของเทนเซนต์ซึ่งเป็นบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ของโลก ทำให้หุ้นเทนเซนต์ตกระเนระนาด อิสริยะมองว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองจีนด้วยเทคโนโลยีน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลคุมเข้ม อย่างเช่นกรณีที่เกิดกับเทนเซนต์ แต่ในระยะยาวจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดู

“ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัท AI ที่ทำงานได้ดีแค่ไหน แต่สุดท้ายลูกค้ารายใหญ่ของคุณก็คือรัฐบาลจีน”

 

กฎหมาย

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยกลไกกฎหมาย ซึ่งอาร์มเล่าว่าคำถามที่นักกฎหมายเปรียบเทียบและนักกฎหมายตะวันตกที่สนใจเรื่องเมืองจีนสงสัยก็คือ ทำไมสีจิ้นผิงถึงเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อาร์มมองว่าไม่จำเป็นต้องแก้ก็ได้ เพราะตำแหน่งสำคัญที่สุดในจีนคือเลขาธิการพรรค ซึ่งไม่ได้จำกัดวาระอยู่แล้ว ที่จำกัดวาระคือประธานาธิบดี เพียงแต่ตั้งแต่ยุคเจียงเจ๋อหมินถึงหูจิ่นเทาจะเป็นคนเดียวกัน คือผู้นำสูงสุดจะเป็นทั้งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี และประธานกรรมการทหารสูงสุด

“สีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับกฎหมายมาก เห็นได้จากคำพูดหลายๆ ครั้งก็คือ ปกครองโดยกฎหมาย ขับเคลื่อนโดยกฎหมาย เพียงแต่เป็นกฎหมายในคนละความหมายกับทางตะวันตก เวลาฝั่งตะวันตกพูดถึงปกครองโดยกฎหมาย rule of law คำสำคัญที่สุดคือ ‘of’ หรือการปกครองที่ถูกจำกัดโดยกรอบของกฎหมาย

แต่ของจีน นักวิชาการจะบอกว่าเป็น rule by law คือการปกครอง ขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ต่างๆ ด้วยกลไกกฎหมาย คือมองว่ากฎหมายเป็นตัวที่ทำให้เคลื่อนตามนโยบาย

นั่นคือเมื่อจีนประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ทุกคนต่างให้ความสนใจ อาร์มบอกว่าหมายถึงทุกวงการ รวมทั้งนักกฎหมายด้วย เพราะต่อไปกฎหมายต่างๆ ที่จะออกตามมา ก็เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายของจีน

นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ต้องมีวาระแล้ว อาร์มเล่าว่ายังมีอีกสองเรื่องที่น่าสนใจมากไม่แพ้กัน

เรื่องแรกคือระบุไว้ในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญเลยว่า ประเทศจีนนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งตลอดมามีกล่าวถึงเพียงในอารัมภบทเท่านั้น หากลองไล่อ่านมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญจีนจะหาคำว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไม่เจอ แต่ตอนนี้อยู่ในมาตราแรกเลย ก็ชัดเจนว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะกลับมานำทุกอย่าง

การปฏิรูปของสีจิ้นผิงจึงสวนทางกับที่คนคาดการณ์ไว้ว่าจะเดินไปในทิศทางที่เติ้งเสี่ยวผิงวางไว้คือพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่เบื้องหลัง แล้วให้รัฐ (ประธานาธิบดีร่วมกับนายกรัฐมนตรี) เป็นตัวนำ แต่สีจิ้นผิงเอากลไกพรรคคอมมิวนิสต์กลับมาเป็นตัวเชื่อมโยงและประสานภาคส่วนต่างๆ แทน

เรื่องที่สองคือ เมื่อห้าปีก่อนหน้านี้ การปราบคอร์รัปชันเป็นการปราบด้วยกลไกพรรค คือใช้หน่วยวินัยพรรคปราบปรามสมาชิกพรรคที่ทำผิด ฉะนั้นจึงทำได้เร็วมากเพราะไม่ต้องผ่านขั้นตอนหรือกฎหมายทางการ แต่สีจิ้นผิงเอาองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันเข้ามาเป็นอีกองค์กรหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ให้มีสถานะเทียบเท่าคณะรัฐมนตรี ศาล อัยการ คือมีความพยายามทำให้เป็นระบบทางการ

ในประเด็นกฎหมายกับเศรษฐกิจมีหลักอยู่ว่า กระบวนการยุติธรรมต้องบังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจจึงจะเดินไปได้ ซึ่งกลายเป็นว่าเรื่องพวกนี้จีนปฏิรูปและให้ความสำคัญมาตลอด อาร์มเล่าว่ามีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปศาล ทำให้กระบวนการพิจารณาเร็วขึ้น ผู้พิพากษามีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว

“เรียกได้ว่ามีมิติที่หลากหลายมาก แม้ด้านหนึ่งมันกลับมาปิดกั้นเสรีภาพ แต่อีกด้านหนึ่งกระบวนการยุติธรรมและเรื่องที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจก็ก้าวหน้าโดยตลอด”

อีกมิติที่ไม่ควรมองข้ามคือ การที่จีนเติบโตเร็วจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากพอสมควร ในอดีตเวลาพูดถึงกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศคือ กฎหมายของ WTO IMF ซึ่งเป็นระเบียบโลกที่สร้างโดยสหรัฐฯ ตอนนี้จีนเริ่มเข้ามาบทบาทในองค์กรเหล่านี้มากขึ้น จีนจึงพยายามสร้างองค์กรใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมา อย่างเช่น Asean Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB

นอกจากนี้ ยังเริ่มผลักดันให้สัญญาที่ทำในโปรเจกต์ One Belt One Road ต่างๆ แทนที่จะระบุว่าใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ก็ให้มาใช้ศาลของจีนที่จีนตั้งขึ้นมาใหม่ ที่ศึกษามาจากศาลการค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์หรือดูไบแทน

 

แล้วไทยอยู่ตรงไหนใน China 5.0

หากสงสัยว่าไทยอยู่ตรงไหนท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ จีนกับอเมริกา วรศักดิ์กล่าวว่า “ผมว่าเราเป็นหญ้าแพรก เวลาช้างสารชนกัน เราก็ต้องระวังตัว” และย้ำว่า

ถ้าเราเรียนรู้เรื่องจีนมาก เข้าใจจีนมากๆ ก็คือเรารู้เท่าทันจีน จีนจะเป็นโอกาสของเรา แต่ถ้าเราไม่รู้จักจีนเลย ไม่เข้าใจจีนเลย จีนจะเป็นภัยคุกคามของเรา

สำหรับสหรัฐฯ วรศักดิ์ก็มองในทำนองเดียวกัน เขาเห็นว่าเรายังรู้จักสหรัฐฯ กับจีนในระดับที่พอๆ กัน แต่ยังไม่ลึกซึ้งเพียงพอ

ขณะที่ปริมาณการลงทุนของจีนในไทย จากข้อมูลที่มาณพให้มายังถือว่ามีการลงทุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในช่วงปี 2016-2017 การลงทุนจีนมาอาเซียนเฉลี่ยที่ 5-8 เปอร์เซ็นต์ โดยมาเมืองไทยไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ถ้านับเฉพาะการลงทุนในอาเซียนก็มาเมืองไทยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หากนับว่าไทยมีเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของอาเซียน ต้องถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ในเรื่องการค้า การค้าของไทยไปจีนคิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของอาเซียน เรียกได้ว่าการลงทุนจากจีนมาไทยมีสัดส่วนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น มาณพมองว่ายังมีโอกาสที่จะเติบโต และพอมีช่องทางที่จะร่วมมือกับจีนเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

ขณะที่การปรับโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจจีนดูจะสอดคล้องกับธุรกิจในไทยพอสมควร ถ้าพูดถึงการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ เราอาจมีส่วนร่วมด้วยลำบาก แต่ถ้าพูดถึงการบริโภค ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศไทยก็น่าจะหาทางเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น

อิสริยะเสริมว่า เห็นได้ชัดว่าคนจีนเองก็ต้องการสินค้าคุณภาพ ที่เด่นสุดคือสินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็กที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของรายการสินค้าขายดี ซึ่งทุกวันนี้คนไทยก็มีความตื่นตัวพอสมควรกับช่องทางธุรกิจที่ยังเปิดกว้างเช่นนี้

“หากเราจะมองจีนให้เป็นโอกาส เราก็ต้องรู้เท่าทันจีนก่อน ก็อยากชวนทุกคนติดตาม และรู้เท่าทัน China 5.0 ไปด้วยกัน” อาร์มทิ้งท้าย