ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน
ในชั้นเรียนที่มีบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ นักเรียนจะผ่อนคลายและปลอดภัยที่จะทดลองสิ่งท้าทายด้านวิชาการ กล้าแสดงความคิดเห็น บรรยากาศดังกล่าวยังช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจและดึงศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กๆ ออกมาได้อย่างเต็มที่
ความเข้าใจหลักสำหรับการสร้างบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์คือ บรรยากาศมีความสำคัญอย่างยิ่งและคุณมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของนักเรียนมากกว่าที่คิด!
ในชั้นเรียนที่มีบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ นักเรียนจะผ่อนคลายและปลอดภัยที่จะทดลองสิ่งท้าทายด้านวิชาการและพฤติกรรม ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน บรรยากาศในชั้นจะเปี่ยมด้วยพลังงาน มีส่วนร่วม เคารพซึ่งกันและกัน การลงมือทำ รับฟัง แบ่งปัน ให้คำแนะนำ และมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุดจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูง
มายาคติ
“หน้าที่ของครูคือสอนเนื้อหา คุณอยากให้นักเรียนสนุกเพลิดเพลินอย่างนั้นหรือ? บอกให้พวกเขาตื่นมารับรู้โลกความเป็นจริงเสียที นักเรียนในชั้นไม่จำเป็นต้องรู้สึกดีหรอก!”
แนวคิดหลักของชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์
“ฉันให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็นต่อความสำเร็จของนักเรียน และนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งแวดล้อมด้านการเรียนและสังคมทุกๆ วัน”
ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์
- สร้างการมีส่วนร่วมทางความคิดและวิสัยทัศน์
>> กระตุ้นให้นักเรียนมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ด้วยวิธีต่อไปนี้
– ให้นักเรียนร่วมบอกเล่าความต้องการ
– ให้นักเรียนเล่าปัญหาส่วนตัวกับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ
– ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าทำเรื่องแปลกใหม่
– ส่งเสริมให้นักเรียนเขียนหรือพูดต่อสาธารณะ
>> ตัวอย่างขั้นตอนค้นหา–ค้นพบวิสัยทัศน์ของนักเรียน
- ถามถึงความใฝ่ฝันระยะยาวของนักเรียน
- ช่วยนักเรียนปรับเป้าหมายที่ใฝ่ฝันด้วยหลักการ SMART
– S มีกลยุทธ์และเจาะจง (Strategic and specific)
– M วัดและประเมินผลได้ (Measurable)
– A เหนือความคาดหมาย (Amazing)
– R มีความเกี่ยวโยง (Relevant)
– T มีกรอบเวลาชัดเจน (Time bound)
- ตั้งเป้าหมาย
- สร้างบรรทัดฐานของห้องเรียนปลอดภัย
>> สร้างความปลอดภัยทางร่างกาย ทบทวนแผนการรักษาความปลอดภัยทุกเดือน ขจัดวัตถุไม่ปลอดภัยออกไป จัดกลุ่มพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน
>> สร้างความปลอดภัยทางอารมณ์ ด้วยตัวอย่างต่อไปนี้
– เมื่อนักเรียนแสดงความคิดเห็นต่างๆ ให้ขอบคุณทุกครั้ง
– สบตาตลอดเวลาที่นักเรียนกำลังพูด
– เมื่อคนอื่นๆ ขัดจังหวะ หัวเราะ หรือล้อเลียน ให้หยุดสอน เตือนถึงกฎในชั้นเรียนและความจำเป็นที่ต้องเคารพกัน
>> ตั้งกฎเจ๋งๆ
– มีอัธยาศัยดี เป็นคนดี ยุติธรรม และโอบอ้อมอารี
– ขยัน ถึงชั้นเรียนอย่างพร้อมจะใช้ทุกนาทีให้เป็นประโยชน์
– ไม่แก้ตัว ไม่โทษผู้อื่นหรือเล่นบทเหยื่อ จงรับผิดชอบ
– เลือกให้ดี ชีวิตเต็มไปด้วยตัวเลือก จงคิดให้รอบคอบ
- เสริมสร้างการมองโลกแง่ดีเชิงวิชาการ
>> 5 กลยุทธ์เสริมสร้างบรรยากาศในห้องเรียน
- เปลี่ยนบทบาท ให้นักเรียนตอบ 2 คำถาม ได้แก่ “ในชีวิตนี้อยากเป็นอะไร” และ “คนคนนั้นจะตอบคำถามนี้อย่างไร”
- แสดงหลักฐาน ครูแสดงตัวอย่างรูปธรรมว่างานที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร เช่น จัดนิทรรศการที่นักเรียนรุ่นก่อนทำไว้ ฉายสารคดีและการแสดง
- เปลี่ยนเกม ด้วยกิจกรรม “เก้าอี้นักเขียน” ให้นักเรียนนั่งหน้าชั้นแล้วอ่านเรื่องราวของพวกเขา โดยคนอื่นร่วมแสดงความเห็น
- พุ่งเป้าไปที่ความเชี่ยวชาญ เล่าเรื่องของนักเรียนรุ่นก่อนที่บรรลุความเชี่ยวชาญ ชี้ให้เห็นว่าใครมาถูกทางแล้วบ้าง และฉลองเมื่อบรรลุเป้าหมายย่อยๆ
- สร้างความเป็นเจ้าของ ใช้คำว่า “เรา” ชวนให้นักเรียนเห็นว่าประสบการณ์ในห้องเรียนเป็นสิ่งที่มีร่วมกัน เมื่อนักเรียนเป็นเจ้าของบรรยากาศ ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป
เมื่อรักษาพลังงานในห้องเรียนให้เป็นไปในเชิงบวกอยู่เสมอ คุณก็ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมที่ดีขึ้น และเมื่อคุณสร้างบรรยากาศที่ดีเยี่ยมสำหรับการเรียนรู้ได้สำเร็จ คุณก็สามารถดึงศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนออกมาได้เต็มประสิทธิภาพ
อ่านสรุปความพร้อมงานวิจัยอ้างอิงและตัวอย่างกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่นี่
สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่