7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน: 4. ชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน

 

ความหมายของคำว่า “บริบูรณ์” คือ ครบถ้วน สมบูรณ์​ เอื้อเฟื้อ และอุดม การใช้คำเปรียบเทียบกับบรรยากาศการเรียนนี้สำคัญ เพราะบรรยากาศการเรียนในชั้นเรียนควรเปี่ยมด้วยการสนับสนุน ความเชื่อมโยง การมีส่วนร่วม และความสัมพันธ์อันดี

ในชั้นเรียนที่มีบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ นักเรียนจะรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัยที่จะทดลองสิ่งท้าทายด้านวิชาการและพฤติกรรม ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจและเป็นปากเป็นเสียงให้กับนักเรียนในบรรยากาศที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน บรรยากาศที่ประกอบไปด้วยพลังงาน การมีส่วนร่วม ให้กำลังใจ เคารพซึ่งกันและกัน การลงมือทำ รับฟัง แบ่งปัน ให้คำแนะนำ และมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุดจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง ความบริบูรณ์ที่คุณส่งต่อให้กับนักเรียนต้องให้ความรู้สึกของคุณภาพชีวิตที่ดี

เป้าหมายในฐานะครูคือส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมในชั้นเรียนที่กระตุ้นให้นักเรียนเข้าชั้นเรียนตรงเวลา เตรียมตัวก่อนมาเรียน และพร้อมจะฝึกทักษะการควบคุมตนเอง ความอดทน และการสานสัมพันธ์ในห้องเรียน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากคุณต้องการบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือนักเรียนยากจน คุณจำเป็นต้องทำอย่างสุดความสามารถทุกๆ วัน

เช่นนี้ คุณถึงจะพูดได้เต็มปากว่า “นักเรียนรู้ดีว่าห้องเรียนของฉันเป็นสวรรค์แห่งการเติบโต เพราะทุกคนเป็นตัวของตัวเอง ลองผิดลองถูกได้ ท้าทายตัวเองด้านการเรียนได้ โดยมีฉันอยู่เคียงข้างเสมอ” เมื่อคุณทำตามที่กล่าวมาและสนับสนุนการกระทำของตัวเองด้วยวิธีสอนที่นำเสนอ คุณย่อมสามารถปลูกฝังชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ได้

หมายเหตุ: สรุปความจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน

 

ชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์: พิจารณาผลวิจัยโดยสังเขป

 

หลายคนใช้คำว่า บรรยากาศ และ วัฒนธรรม การเรียนรู้ปะปนกันในการสื่อความหมาย แต่จริงๆ แล้วสองคำนี้แตกต่างกัน

วัฒนธรรมคือ สิ่ง ที่เราปฏิบัติ (พฤติกรรมและลักษณะนิสัย) แต่บรรยากาศจะสะท้อนว่าเรารู้สึก อย่างไร วัฒนธรรมจะพัฒนาและคาดการณ์พฤติกรรมของคน (ตัวตนของเรา) ส่วนบรรยากาศเกิดจากคนส่วนรวมและความรู้สึก ณ ขณะนั้นๆ ทั้งยังเป็นสภาวะโดยรวมของเด็กนักเรียนอีกด้วย เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ เราจำต้องตัดสินใจและลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมในภาพรวม กล่าวได้ว่า วัฒนธรรมเปลี่ยนได้ด้วยความตั้งใจ ขณะที่บรรยากาศเปลี่ยนได้ตามช่วงเวลา ดังตาราง

 

 

เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างต่อนักเรียนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับนักเรียนคนโปรด หรือคนที่เข้าเรียนตรงเวลา วัฒนธรรมประเภทที่ยอมรับผลสะท้อนว่าพฤติกรรมของเราส่งผลอย่างไรต่อตัวเรา ต่อผู้อื่น และต่อโรงเรียน ตลอดจนส่งเสริมความเชื่อที่มีร่วมกันว่าทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และพิเศษ สร้างวัฒนธรรมที่บ่มเพาะวิธีการสื่อสารที่จะกระตุ้นความภูมิใจในเป้าหมาย และพลังในตัวเอง ตอกย้ำคำพูดและถ้อยคำเชิงบวก และกระตุ้นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเรียนให้คงอยู่ตลอดเวลา

หลายคนเชื่อว่าบรรยากาศในการเรียนคือศูนย์รวมของทุกสิ่ง ไม่ว่าความสัมพันธ์ รูปแบบ การสอน การเรียนรู้ร่วมกัน กฎระเบียบ หลักสูตร ความคาดหวัง และการมีส่วนร่วม นี่คือคำตอบว่าเหตุใดบรรยากาศการเรียนจึงสำคัญมาก ครูผู้สอนที่เก่งๆ จะพูดว่า “ฉันจะสอนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความแตกต่างได้ อย่างไร

 

 

การจะใช้บรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบบริบูรณ์นั้นไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ด้วยกลวิธีทางสังคม อารมณ์ความรู้สึก และวิชาการที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ผสานกับคำแนะนำ กิจกรรม และประสบการณ์เชิงบวกรายวัน ที่ค่อยๆ ส่งเสริมกำลังใจและความเชื่อมั่นให้กับนักเรียนในชั้น นอกจากนี้ บรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกยังบ่งชี้ถึงโอกาสแห่งความสำเร็จของนักเรียนในโรงเรียนด้อยโอกาสที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย

มีงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ศึกษาโรงเรียนด้อยโอกาส 10 แห่ง (เป็นโรงเรียนที่นักเรียนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ได้รับอาหารแจกฟรีหรืออาหารราคาพิเศษจากรัฐบาล) โดยโรงเรียนครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดมีผลประเมินการเรียนการสอนดี (อยู่ในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำ (กลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย) ผลวิจัยชี้ว่าครูผู้ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการเรียนที่ดีทั้งในชั้นเรียนและโรงเรียนนั้นสอนอยู่ในกลุ่มโรงเรียนประสิทธิภาพสูงมากกว่าอีกกลุ่มประมาณสี่เท่าตัว

งานวิจัยดังกล่าวยังระบุด้วยว่าประสิทธิภาพด้านการสอนของครูเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการทางวิชาการของนักเรียน เมื่อผู้สอนส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ และกระตุ้นขนาดผลกระทบการเรียนรู้ด้วยการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เท่ากับว่าคุณมีส่วนผสมที่ลงตัวและทรงพลังอยู่ในมือ

 

3 กลยุทธ์เพื่อบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์

 

ขอเพียงปลูกฝังชุดความคิดบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ คุณก็จะเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้แสนมหัศจรรย์ ทั้งยังทำให้คุณรักงานที่ทำอยู่ทุกๆ วันอีกด้วย จากนี้เราจะมาศึกษา 3 กลยุทธ์ที่ช่วยปลูกฝังชุดความคิดบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์กัน

 

-1-

สร้างการมีส่วนร่วมทางความคิดและวิสัยทัศน์

 

ผู้สอนแสดงให้นักเรียนเห็นว่าพวกเขาเป็นคนอย่างไร ใส่ใจเรื่องอะไร และรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องต่างๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว นักเรียนจะรู้สึกว่านี่คือชั้นเรียน “ของคุณ” ไม่ใช่ชั้นเรียน “ของพวกเรา”

เนื้อหาส่วนนี้ว่าด้วยสามประเด็นหลักเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับนักเรียน ได้แก่ (1) ความเกี่ยวโยง (2) ความคิดเห็นของนักเรียน และ (3) วิสัยทัศน์ของนักเรียน

 

ความเกี่ยวโยง

 

นักเรียนสนใจใคร่รู้เสมอว่า “เรื่องนี้เกี่ยวกับฉันอย่างไร” ความเกี่ยวโยงจึงสำคัญมากกับนักเรียน เพราะหากสมองของนักเรียนไม่ยอมรับความสำคัญของการเรียนในชั้น การเปลี่ยนแปลงทางสมองย่อมไม่เกิดขึ้น เมื่อสมองไม่ปรับเปลี่ยน การเรียนรู้ก็ไม่เกิดขึ้น และเมื่อไม่เกิดการเรียนรู้ นักเรียนก็ไม่มีเหตุผลที่จะมาโรงเรียน

ความเกี่ยวโยงช่วยตอบคำถามนักเรียนว่า “ทำไมฉันต้องเรียนเรื่องนี้” ส่วนตัวคุณเลือกได้ว่าจะเป็นครูที่คาดหวังว่านักเรียนจะหาความเชื่อมโยงเองได้ทั้งหมด หรือครูผู้กระตุ้นให้เกิดความเชื่อมโยงในชั้นเรียน นักเรียนจะรู้สึกว่าได้รับความสำคัญเมื่อครูเข้าใจพื้นฐานของตน และนำความเข้าใจนั้นไปปรับใช้โดยการสร้างความเชื่อมโยงในชั้นเรียน ดังนั้น จงสร้างความรู้สึกว่าตนเองมีความหมายและเป็นส่วนหนึ่งให้กับนักเรียน แล้วจึงให้เกียรติและแสดงการยอมรับพื้นฐานและวัฒนธรรมของนักเรียน โดยการให้นักเรียนมีส่วนร่วมทางความคิดและวิสัยทัศน์

ความเชื่อมโยงจะกระตุ้นให้สมองปรับตัวและช่วยตอบคำถามของนักเรียนที่ว่า “ครูรู้จักฉัน หรือสนใจใช่ไหมว่าฉันเป็นใคร” หากจะกล่าวอีกทางหนึ่งคือ คุณเชื่อมโยงเนื้อหาที่สอนเข้ากับวิถีชีวิตของนักเรียนบ้างหรือไม่ ผมคิดว่าครูทุกคนน่าจะพอมองออกว่า กระบวนการนี้เป็นการต่อยอดจากแนวคิดชุดความคิดสานสัมพันธ์ที่เราศึกษากันไปแล้ว

วิธีการสำคัญในการตอบคำถามที่ว่า​ “เรื่องนี้เกี่ยวกับฉันอย่างไร” และ “ทำไมฉันต้องเรียนเรื่องนี้” คือการเชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับวัฒนธรรมของนักเรียน และความเชื่อมั่นของนักเรียนว่าครูจะเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมของพวกเขาได้ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ลองตั้งคำถามกับตัวเองด้วยคำถามสี่ข้อนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการเรียนที่ดี

 

  1. คุณสนับสนุนนักเรียนหรือไม่ การสอนโดยเชื่อมโยงวัฒนธรรมคือการประเมินและสนับสนุน เพราะวิธีการนี้ตระหนักถึงพลังของความแตกต่างทางพื้นฐานชีวิตของนักเรียน ครูผู้สอนที่มุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์จะสนับสนุนให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวกับเพื่อนในชั้น ทำความเข้าใจ และแนะนำปัจจัยที่จำเป็นในการใช้ชีวิตระหว่างสิ่งแวดล้อมสองประเภท ได้แก่ สังคมที่บ้านและโรงเรียน เมื่อนักเรียนเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่บ้านหรือในชุมชนที่ตนอาศัย ให้กล่าวขอบคุณพวกเขาเสมอ
  2. การสอนของคุณมีความหลากหลายหรือไม่ การสอนโดยเชื่อมโยงวัฒนธรรมอาศัยความเข้าใจ เพราะเป็นวิธีการที่ใช้ความคุ้นเคยทางวัฒนธรรมเพื่อสอนความรู้ ทักษะ คุณค่า และทัศนคติ โดยอาศัยบรรยากาศการเรียนการสอน กลวิธีด้านการสอน ตลอดจนการประเมินการเรียนการสอน คุณจึงควรใช้ประโยชน์จากหลักสูตรที่มีความหลากหลายให้เป็นดั่งภาพสะท้อนตัวนักเรียนของคุณ ใช้บทเรียนที่สะท้อนมุมมองด้านวัฒนธรรมของนักเรียนในชั้น ใช้วิธีการสอนแบบผลัดเปลี่ยนบทบาท ซึ่งทั้งนักเรียนและครูจะสลับหน้าที่กันสอนและนำชั้นเรียนในหัวข้อย่อยต่างๆ และใช้วิธีการสอนแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนมีบทบาทและผลัดกันส่งเสริมการเรียนรู้ได้
  3. คุณส่งเสริมความเป็นผู้นำให้นักเรียนหรือไม่ การสอนโดยเชื่อมโยงวัฒนธรรมกระตุ้นให้นักเรียนตระหนักถึงความสามารถของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นและนอกชั้นเรียน “การส่งเสริมความเป็นผู้นำส่งผลดีต่อความสามารถทางวิชาการ ความเชื่อมั่นในตัวเอง ความกล้า และความตั้งใจที่จะลงมือปฏิบัติ” แนะนำให้นักเรียนได้รู้จักกับตัวอย่างดีๆ ในสังคมและวัฒนธรรมของตัวเอง และจากวัฒนธรรมอื่นๆ อาจลองเปิดโอกาสให้นักเรียนสัมผัสบทบาทความเป็นผู้นำในห้องเรียน รวมถึงเชิญวิทยากรจากสังคมและวัฒนธรรมเดียวกับนักเรียนในชั้นมาให้ความรู้ดูบ้าง
  4. คุณเปลี่ยนแปลงชีวิตนักเรียนอยู่หรือเปล่า การสอนโดยเชื่อมโยงวัฒนธรรมคือการเปลี่ยนแปลง เพราะนักการศึกษาและนักเรียนต้องท้าทายธรรมเนียมการศึกษาแบบเดิมและสถานภาพที่เป็นอยู่เสมอ คุณช่วยแนะนำนักเรียนระหว่างกระบวนการสมัครชิงทุนหรือไม่ คุณสอนวิธีการสมัครงานให้กับนักเรียนบ้างหรือเปล่า คุณช่วยให้นักเรียนได้เรียนเสริม เพื่อให้เด็กๆ สามารถลงเรียนในรายวิชายากๆ ได้บ้างหรือเปล่า หากคุณไม่ยื่นมือเข้าช่วย วงจรแห่งความยากจนและความด้อยโอกาสก็จะยังหมุนเวียนไม่รู้จบสิ้น

 

ครูที่คำนึงถึงความสำคัญของวัฒนธรรมจะทำความรู้จัก ให้เกียรติ และใส่ใจนักเรียนทุกคน ด้วยการตั้งความคาดหวังไว้สูงสุด ใส่ใจกับหลักสูตรที่เข้มข้น และสนับสนุนนักเรียนในทุกรูปแบบที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุความคาดหวังสูงสุดที่ตั้งเป้าไว้ ครูเหล่านี้จะตั้งใจทบทวนอคติที่ตนมี และพยายามหาคำตอบว่าทัศนคติของตนนั้นจะส่งผลต่อรูปแบบพฤติกรรมของนักเรียนอย่างไรบ้าง

ผลที่ตามมาคือ การหลีกเลี่ยงถ้อยคำหรือการกระทำที่สื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติหรือเลือกปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัย คำแนะนำจากผู้เขียนคือ “หากรองเท้ามีขนาดพอดี ให้ลองสวมดู”

 

ความคิดเห็นของนักเรียน

 

ความคิดเห็นของนักเรียนคือการแสดงออก ณ ขณะนั้นๆ ด้านความรู้สึก ความคิดเห็น และความเชื่อ หากนักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน พวกเขาจะรู้สึกว่าเสียงของตัวเองมีผู้รับฟังและพิจารณา วิธีนี้ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าสามารถควบคุมความก้าวหน้าและส่งเสริมความเชื่อมั่นในตัวเองด้านการเรียนได้ เพราะสามารถควบคุมไฟในตัวได้แล้ว ครูควรช่วยให้นักเรียนค้นพบความคิดเห็นของตน เพื่อให้การบรรลุเป้าหมายเป็นเรื่องส่วนตัว มีความหมาย และเกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนมากยิ่งขึ้น จากนั้นช่วยนักเรียนประเมินความคิดเห็น ด้วยการสนับสนุนและค่อยๆ ชี้แนะให้เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดเห็นส่วนตนกับข้อเท็จจริง โดยกล่าวว่า “ครูชอบนะที่เธอแบ่งปันความคิดเห็นของเธอให้เราทุกคนฟัง หวังว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรมาเล่าให้เราฟังอีกนะ”

การมีความคิดเห็นและมีผู้รับฟังเป็นความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของมนุษย์ มนุษย์เรานั้นแสดงความคิดเห็นของตนผ่านศิลปะผนังถ้ำ ท่าทาง การเขียน ศิลปะ การลงคะแนนเสียง ดนตรี และการรวมกลุ่มแสดงออก การแสดงความคิดเห็นทำให้เราทุกคนรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ ได้รับการชื่นชม ได้รับเกียรติ และความเคารพ เมื่อมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น นักเรียนจะรู้สึกว่าตนเองควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ เพราะนักเรียนจะได้เห็นตัวเลือกจากความพยายามของตน ทั้งยังมีความรู้สึกและจิตวิญญาณร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะนักเรียนฐานะยากจนมักมีความเครียดสะสม และการมอบอำนาจควบคุมการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ก็เท่ากับคุณมอบเครื่องมือจัดการความเครียดบางส่วนให้กับพวกเขา เมื่อความสามารถในการควบคุมเพิ่มขึ้น การตระหนักถึงความสามารถส่วนตนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าการรับรู้ถึงการยอมรับในชั้นเรียนและการกระตุ้นให้เป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกๆ จะช่วยเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนตลอดภาคการศึกษา และลดอัตราการถอนรายวิชา และห้องเรียนย่อมจะกลายเป็นห้องเรียน “ของเรา” ไม่ใช่เพียงห้องเรียน “ของครู” ดังภาพประกอบด้านล่าง

 

 

พิจารณาโอกาสต่อไปนี้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง

 

  • ให้นักเรียนร่วมบอกเล่าความต้องการ ตั้งคำถาม สังเกตรูปแบบการเรียนรู้ หาตัวช่วย แนะนำวิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพ (เช่น เรียนเสริม) ใช้กล่องรับความคิดเห็น และยืนหยัดเพื่อสิทธิของตน เช่น ประเด็นเรื่องเพศ รสนิยมทางเพศ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา
  • ประเมินและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่นักเรียนมี ทำความเข้าใจระดับความรู้พื้นฐาน ทักษะเสริม (soft skills) ทักษะทางสังคม (social skills) และเครือข่ายความสนใจร่วม (network affiliation)
  • ให้นักเรียนบอกเล่าปัญหาส่วนตัวกับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ กระตุ้นให้นักเรียนพูดคุยกับครูผู้สอน ที่ปรึกษา หรือใครก็ได้ที่เคารพสิทธิส่วนบุคคลและเป็นผู้ฟังที่ดี
  • ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าทำเรื่องแปลกใหม่ นักเรียนอาจเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ลงรับสมัครเลือกตั้ง ทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักในโซเชียลมีเดีย ทำประโยชน์ให้ชมรมต่างๆ มีส่วนร่วมรับมือปัญหาของโรงเรียนและชุมชน
  • กระตุ้นให้นักเรียนมีผู้สนับสนุนในชีวิต แสดงให้นักเรียนเห็นและเชื่อว่าผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี ช่วยให้นักเรียนสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้ได้ดียิ่งขึ้น และเรียนรู้ว่าวิธีการใดที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • ส่งเสริมให้นักเรียนเขียนหรือพูดต่อสาธารณะ ความคิดเห็นของนักเรียนจะมีผู้รับฟังหากพวกเขาเผยแพร่ความคิดเหล่านั้นออกไป คุณช่วยได้ด้วยการส่งความคิดเห็นของเด็กๆ ไปถึงบุคคลต่างๆ ที่ยินดีรับฟัง

 

เมื่อนักเรียนแสดงความคิดเห็น ยึดมั่นในความฝัน ความคิด เรื่องราว การแสดงออก ความสนใจ และประสบการณ์ชีวิต ลองพิจารณาใช้คำพูดต่อไปนี้ โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้เลย

 

  • “ครูดีใจนะที่เราได้คุยกัน เพราะความรู้สึกของเธอสำคัญสำหรับครู”
  • “ครูชอบความใฝ่ฝันของเธอมาก เรามาช่วยกันดูนะว่าจะทำอะไรให้ไปสู่เป้าหมายได้บ้าง”
  • “ขอบคุณมากเลยที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ครูชอบฟังเรื่องราวของเธอนะ”
  • “ครูชอบน้ำเสียงตื่นเต้นในคำตอบของเธอนะ คำตอบนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากไหนหรือ”
  • “ที่ตอบมาฟังดูไม่ค่อยมั่นใจและลังเลนะ พอจะบอกได้ไหมว่าเธอยังกังวลที่ตรงไหน”[bullet]

 

หากคุณให้โอกาสนักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและยืนยันในความคิดนั้น ก็เปรียบเสมือนคุณได้มอบของขวัญสุดพิเศษที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมอบให้กับผู้อื่น พร้อมกันนั้นคุณได้สื่อสารออกไปว่า “เธอสำคัญสำหรับฉัน และความคิดของเธอก็คู่ควรแก่การรับฟัง”

ความคิดเห็นของนักเรียนแต่ละคนยังเป็นสิ่งสะท้อนตัวตนของพวกเขา ครูผู้ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาตัวตนด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ได้ช่วยปลดล็อกปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียน มีงานวิจัยระบุว่าในช่วงเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นเป็นช่วงเวลาในการค้นหาและกำหนดตัวตนที่สำคัญ ต่อเนื่อง และเป็นระบบมากที่สุด การบ่มเพาะความภาคภูมิใจและการกำหนดตัวตนของวัยรุ่นตามกลุ่มเชื้อชาติของแต่ละคนนั้นเกี่ยวโยงโดยตรงกับการปรับตัวและพัฒนาการเชิงบวก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจัดการในวัยแรกรุ่นโดยไม่มีการควบคุมจากผู้ปกครอง

เมื่อคุณช่วยให้นักเรียนเข้าใจตัวตนของตัวเองด้วยการค้นพบความคิดเห็นในแบบฉบับของตน ก็เท่ากับว่าคุณได้ช่วยให้นักเรียนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

คุณจำเป็นต้องรู้จักชื่นชม ให้เกียรติ และเข้าใจวัฒนธรรมของนักเรียน เพื่อดึงความสนใจของพวกเขาเอาไว้ได้ นักเรียนจะรับรู้ได้เมื่อคุณแสดงความจริงใจและใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา คุณสมบัติข้อนี้สำคัญมาก เมื่อคุณต้องสอนนักเรียนที่แตกต่างทั้งทางเชื้อชาติและสถานะทางเศรษฐกิจสังคม หากคุณพิจารณานำปัจจัยทางวัฒนธรรมไปประยุกต์ใช้กับการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในแต่ละวัน ก็เท่ากับคุณได้ลดช่องระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกจำลองในห้องเรียนที่นักเรียนจินตนาการเอาไว้ นักวิจัยที่ศึกษาความสำเร็จระดับต่ำกว่าเกณฑ์ในกลุ่มนักเรียนชาวแอฟริกันอเมริกันพบว่าทักษะการเชื่อมโยงโลกแห่งความเป็นจริงจะนำไปสู่แรงกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นและความสำเร็จ

 

วิสัยทัศน์ของนักเรียน

 

วิสัยทัศน์หมายถึงความคาดหวังของนักเรียนที่มีต่ออนาคตของตนเอง ความคาดหวังที่กระตุ้นพลังใจส่งผลโดยตรงต่อทักษะการตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์และการจัดการชีวิตของตนเอง ซึ่งก็คือทุกสิ่งที่นักเรียนต้องการ โดยเฉพาะนักเรียนฐานะยากจน แต่ก็ยังประโยชน์มากต่อนักเรียนที่ไม่ได้มาจากครอบครัวฐานะยากจนเช่นกัน หากคุณยอมให้นักเรียนปรับวิสัยทัศน์เชิงบวกของตนเข้ากับการเรียนในโรงเรียน บรรยากาศของโรงเรียนจะเปลี่ยนไป ราวกับว่านักเรียนเป็นเจ้าของโรงเรียนอย่างแท้จริง

ในชุดความคิดแห่งความสำเร็จ คุณได้เรียนรู้ถึงการตั้งเป้าหมายสุดท้าทายซึ่งเป็นกระบวนการที่นำโดยครูเพื่อช่วยนักเรียนกำหนดหมุดหมายทาง วิชาการ ทำให้เด็กๆ มุ่งมั่นสู่เป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น แต่กรณีนี้ การกระตุ้นให้นักเรียนค้นหาและค้นพบวิสัยทัศน์ของตัวเองนั้นมีเป้าหมายต่างออกไป เพราะด้วยวิสัยทัศน์ของนักเรียน ครูจะค้นพบความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่และยินยอมให้พวกเขาทำความฝันนั้นให้เป็นจริง โดยวิสัยทัศน์นั้นเกี่ยวโยงโดยตรงกับชีวิตส่วนตัวของนักเรียน หน้าที่ของคุณคือการทำให้มั่นใจว่าทั้งเป้าหมายสุดท้าทายและวิสัยทัศน์สอดคล้องกันดี บางกรณีก็ทำได้ง่าย แต่ในหลายโอกาสก็ต้องอาศัยการทุ่มเทอย่างหนัก ต่อไปนี้คือตัวอย่างวิธีค้นหาและค้นพบวิสัยทัศน์ของนักเรียน ดังนี้

 

  1. เริ่มด้วยการถามถึงความใฝ่ฝันระยะยาว (วิสัยทัศน์) วิสัยทัศน์มักเริ่มต้นจากความคิดที่ชวนสับสน คนที่ยังไม่รู้วิสัยทัศน์ของตัวเองอาจได้รับประโยชน์จากการรับฟังความใฝ่ฝันของผู้อื่น ลองเสิร์ชว่า “วัยรุ่นและนักเรียนผู้เปลี่ยนแปลงโลก” (teens or students who have changed the world) ในกูเกิลดู โดยตัวอย่างที่โดดเด่นก็เช่น ซาน ไห่ตี (Zhan Haite – นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวจีนวัย 15 ปี) จอร์แดน โรเมโร (Jordan Romero – นักปีนเขาเด็กที่สุดที่เคยปีนสู่ยอดเอเวอร์เรสต์ ในวัย 13 ปี) และเคลวิน โด (Kelvin Doe – วิศวกรจากแอฟริกาฝั่งตะวันตก ผู้เรียนรู้ด้วยตนเองวัย 17 ปี และเป็นวิศวกรฝึกหัดอายุน้อยที่สุด ณ MIT) วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่มักต้องการความช่วยเหลือเพื่อสะท้อนความฝันนั้นให้เป็นเป้าหมายชัดเจน ทุกครั้งที่คุณถามถึงเป้าหมายหรือความใฝ่ฝันของนักเรียน อย่าลืมว่าต้องเป็นผู้รับฟังไม่ใช่ผู้ตัดสิน เปิดโอกาสให้นักเรียนเขียนความใฝ่ฝันของตัวเองและเล่าให้คนอื่นฟัง และลงมือทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
  2. ช่วยนักเรียนปรับเป้าหมายที่ใฝ่ฝันด้วยหลักการ SMART (ประกอบด้วย Strategic และ Specific ต้องมีกลยุทธ์และความเฉพาะเจาะจง Measurable เป้าหมายต้องวัดประเมินผลได้ Amazing แปลกใหม่และน่าทึ่ง Relevant เกี่ยวข้องและเชื่อมโยง และ Time bound มีระยะเวลากำหนดชัดเจน) ถามนักเรียนว่าผลลัพธ์ที่ได้มีลักษณะอย่างไร ฟังดูเป็นอย่างไร และก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างไร เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง คุณช่วยนักเรียนปรับวิสัยทัศน์ดังกล่าวสู่เป้าหมายที่มองเห็นชัดเจนได้ เพื่อให้เด็กๆ สามารถอธิบายและประเมินวิสัยทัศน์ที่มีได้ เช่นนี้ นักเรียนที่มีวิสัยทัศน์ก็จะเห็นเป้าหมายที่คุ้มค่าต่อการฝ่าฟัน และคุณกับนักเรียนจะร่วมกันกำหนดเป้าหมายย่อยเพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ เข้าใกล้ความฝันของตนได้
  3. ตั้งเป้าหมาย ให้นักเรียนใช้แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก หรือกระดาษฟลิปชาร์ตเขียนกำหนดการของตัวเอง โดยเขียน จุดเริ่ม ที่ฝั่งหนึ่งและ เป้าหมาย ที่อีกฝั่ง กระบวนการนี้จะมีประโยชน์ยิ่งขึ้นหากจับคู่กับเพื่อนและทำร่วมกัน จากนั้นปล่อยให้นักเรียนเขียนหมุดหมายต่างๆ ที่จำเป็นต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ในชีวิต และเมื่อนักเรียนเพิ่มหมุดหมายใดๆ ลงไป ให้นักเรียนลองนึกย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น จำเป็นต้องมีเกรดที่ดีไหม ซึ่งปกติแล้วจำเป็น แค่นี้ก็ถือว่าเริ่มต้นได้ด้วยดีแล้ว ลองสังเกตดูว่าวิสัยทัศน์อาจเชื่อมกับเป้าหมายสุดท้าทาย ณ จุดๆ หนึ่ง เพราะทั้งสองปัจจัยล้วนเริ่มจากการฝึกทักษะในโรงเรียนและการกระตุ้นจากครู นักเรียนจะเกิดแรงบันดาลใจต่อโอกาสและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

เมื่อนักเรียนค้นพบความใฝ่ฝันและวิสัยทัศน์ของตัวเองแล้ว ลองฝึกให้พวกเขาคุ้นเคยกับความสำเร็จ โดยให้นักเรียนแสดงให้คุณเห็นว่าความสำเร็จที่ตั้งเป้าไว้เป็นอย่างไร ให้นักเรียนลุกจากที่นั่ง และยืนขึ้น จังหวะนี้แนะนำให้เปิดเพลงอย่าง “Gonna Fly Now” เพลงประกอบภาพยนตร์ Rocky หรือ “Unbelievable” โดย EMF ขณะที่ดนตรีบรรเลงและนักเรียนยืนอยู่นั้น ลองฝึกซ้อมท่าทางที่จะใช้เมื่อความสำเร็จมาถึง อย่างท่าสำหรับการสำเร็จการศึกษา ได้รับรางวัล ได้งานตามที่ต้องการ ชนะการแข่งขัน หรือได้แชมป์ในการแข่งขันต่างๆ ให้นักเรียนลองทำสักสามท่าทางเพื่อฉลองความสำเร็จ จากนั้นจึงค่อยเริ่มทำตามเป้าหมายขั้นต่อไป

กิจวัตรง่ายๆ เช่นนี้จะปรับสารเคมีในสมองของนักเรียน เพราะการแสดงท่าทางแห่งอำนาจจะกระตุ้นระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ลดฮอร์โมนคอร์ติซอล (ความเครียด) เพิ่มความรับรู้ถึงพลังอำนาจและความอดทนต่อความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงที่ยกตัวอย่างมานี้จะส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ ทั้งยังเป็นการฉลองความสำเร็จที่ทรงพลัง

 

-2-

สร้างบรรทัดฐานของห้องเรียนปลอดภัย

 

เมื่อนักเรียนเดินเข้ามาในห้องเรียนเป็นครั้งแรก บรรยากาศโดยรวมของห้องบอกพวกเขาว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและน่ารื่นรมย์สำหรับการเรียนรู้หรือไม่ ถ้าห้องเรียนให้ความรู้สึกปลอดภัย นักเรียนย่อมรู้ว่าจะมีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นขณะเรียนอยู่ ถ้าห้องเรียนให้ความรู้สึกปลอดภัย นักเรียนจะลดความหวาดระแวง ต่อต้านน้อยลง และเสี่ยงที่จะเรียนรู้มากขึ้น เมื่อนักเรียนไม่รู้สึกปลอดภัยหรือไม่มั่นใจกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์จะคาดเดาไม่ได้เลย ชั้นเรียนของคุณจะไม่ได้ผลดีนักเพราะนักเรียนรู้สึกระแวดระวังอยู่ตลอดเวลา

ทั้งครูและนักเรียนต่างต้องการห้องเรียนที่สะอาดสะอ้าน น่าสนใจ ปลอดภัย และเป็นระเบียบ นักเรียนใช้เวลามากกว่า 900 ชั่วโมงต่อปีในห้องเรียน นั่นแทบจะเป็นที่อยู่แห่งที่สองสำหรับนักเรียนส่วนใหญ่และที่อยู่หลักสำหรับนักเรียนไร้บ้านก็ว่าได้

เรามุ่งเน้นไปยังเรื่องที่ว่าคุณจะจัดการให้แน่ใจว่านักเรียนของคุณมีความปลอดภัยทางร่างกายและอารมณ์ และตั้งกฎเจ๋งๆ สำหรับชั้นเรียนซึ่งก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ได้อย่างไร หากร่วมมือกัน คุณก็แน่ใจได้เลยว่าห้องเรียนมีบรรยากาศที่ปลอดภัยและเป็นไปในเชิงบวก

 

ความปลอดภัยทางร่างกาย

 

เพื่อให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย ให้ทบทวนแผนการรักษาความปลอดภัยทุกเดือน แต่พุ่งเป้าไปที่ความกังวลที่เป็นไปได้สูงในแต่ละเดือน ช่วงต้นปี อย่าลืมอธิบายเรื่องความกังวลและการดำเนินงานด้านความปลอดภัยสำหรับทุกเดือน ซึ่งรวมถึงเหตุเพลิงไหม้ น้ำท่วม หรือพายุ สอนเรื่องผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแก้วทุกอย่าง และประเด็นความปลอดภัยที่เกิดขึ้นควบคู่กัน

คุณต้องรู้ว่านักเรียนคนไหนออกจากห้องเรียนและกลับเข้ามา หลีกเลี่ยงการปล่อยให้นักเรียนสองคนไปห้องน้ำติดต่อกัน ดูให้แน่ใจว่าคนหนึ่งกลับมาแล้ว ก่อนที่อีกคนจะออกไป ในห้องเรียนที่ปลอดภัย คุณขจัดอุปสรรคและวัตถุไม่ปลอดภัยออกไป ทั้งยังจัดกลุ่มพร้อมวางช่องทางเข้าถึงที่เข้าออกได้ง่ายหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ใช้เวลาอึดใจหนึ่งก่อนเปิดเรียนนึกภาพว่า คุณจะทำอย่างไรหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่พบบ่อยที่สุดหนึ่งในห้าอย่างขึ้น (เพลิงไหม้ เหตุยิงกัน น้ำท่วม พายุ หรือมีผู้บาดเจ็บ) ถ้าคุณนึกภาพกิจกรรมทั้งหมดนั้นโดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างราบรื่นและทางออกที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน ก็ถือว่าคุณมีห้องเรียนที่ปลอดภัยแล้ว

 

ความปลอดภัยทางอารมณ์

 

นอกจากพัฒนาการแสดงความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ของพวกเขาแล้ว การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความรู้สึกนึกคิดในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยยังสร้างความปลอดภัยทางอารมณ์ขึ้นด้วย คุณต้องจัดการให้มั่นใจได้ว่าความคิดเห็นของนักเรียนได้รับการเคารพ นั่นหมายถึงไม่มีการหัวเราะ ยิ้มเยาะ หรือความเห็นที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกด้อยค่า กฎตายตัวของคุณในห้องเรียนสำหรับการเป็นคนอัธยาศัยดีหมายถึงการให้คุณค่ากับความคิดเห็นของทุกคน เมื่อคุณเห็นคนอื่นๆ ทำตามกฎข้อนี้ ให้แสดงความขอบคุณ เป็นต้นว่า “ครูชอบที่เธอเข้ามาช่วยเพื่อนคนข้างๆ พูด นั่นทำให้ทั้งชั้นเห็นว่าการเป็นคนอัธยาศัยดีได้ผลดีอย่างไร” พิจารณาบรรทัดฐานในห้องเรียนต่อไปนี้

 

  • เมื่อนักเรียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวสาร ละแวกบ้าน หรือเหตุการณ์ส่วนบุคคล ให้ขอบคุณพวกเขาเสมอ
  • สบตาตลอดเวลาที่นักเรียนคนหนึ่งกำลังพูด ละสายตาต่อเมื่อคุณเปลี่ยนไปฟังนักเรียนอีกคน และได้ขอบคุณผู้ร่วมพูดคุยคนเดิมแล้วเท่านั้น
  • ไม่โต้เถียง มองข้าม หรือเปลี่ยนไปฟังนักเรียนคนต่อไปจนกว่าจะขอบคุณนักเรียนคนที่กำลังพูดแล้วเท่านั้น (“ขอบคุณที่เข้ามาร่วมพูดคุยกัน” หรือ “ดีใจที่ได้ฟังเธอพูดเสมอนะ หวังว่าเธอจะกลับเข้ามาร่วมพูดคุยอีกเร็วๆ นี้”)
  • เมื่อคนอื่นๆ ขัดจังหวะ หัวเราะ เยาะเย้ย หรือเอาคำตอบของนักเรียนคนอื่นมาล้อเลียน ให้หยุดสอน เตือนถึงกฎในชั้นเรียนและความจำเป็นที่ต้องเคารพกันและมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อย่าเข้มงวดกับเรื่องนี้เกินไป นักเรียนส่วนใหญ่ทำเช่นนี้กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันหรือที่บ้าน และมันดูเป็นเรื่องธรรมดา ให้นักเรียนรู้ว่ามีกฎสองชุด ได้แก่ อะไรที่ไม่เหมาะสมสำหรับชั้นเรียน และอะไรที่ใช้ได้ผลดีที่บ้าน

 

ทุกอย่างที่คุณทำสื่อให้นักเรียนรู้ว่าคุณ พวกเขา และบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นอย่างไร สำหรับครูส่วนใหญ่ เมื่อนักเรียนทำผิดพลาด พวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องเลวร้าย และเป้าหมายคือการนำความผิดพลาดนั้นซุกไว้ใต้พรม แล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น นั่นเป็นความคิดที่แย่! ใช้เวลาคิดเรื่องนี้สักอึดใจหนึ่ง ถ้าอยากให้นักเรียนเต็มใจที่จะทำผิดพลาดมากขึ้นเพื่อเรียนรู้และเติบโต คุณจำเป็นต้อง แสดงให้เห็น ว่านั่นคือบรรทัดฐานของชั้นเรียน

อ่านคำพูดต่อไปนี้แล้วพิจารณาดูว่าทั้งหมดนี้มีอะไรเหมือนกันบ้าง

 

  • “ให้นักเรียนพิจารณาทางเลือกเหล่านี้ เอาละ ทางเลือกไหนน่าจะเป็นคำตอบที่นักเรียนชอบมากที่สุดและเพราะอะไร”
  • “ครูดีใจนะที่เธอให้ครูดูว่าเธอผิดพลาดตรงไหน นั่นจะทำให้ครูสอนเธอได้ดีขึ้นในปีนี้”
  • ถ้านักเรียนชี้ให้เห็นความผิดพลาดของคุณ ให้พูดว่า “ว้าว! ขอบคุณที่ทำให้ครูเห็นความผิดพลาดที่ดีที่สุดในเดือนนี้ของครู! ดีมากจ้ะ”
  • “เหตุผลที่คำตอบที่ผิดของเธอมีประโยชน์ เป็นเพราะมันบอกให้รู้ว่าเราออกนอกเรื่องไปในทางไหน คราวนี้เราก็แก้ไขมันได้และฉลาดขึ้นด้วย”
  • “ครูกำลังจะขอคำตอบ แต่ครูคาดว่าจะมีคำตอบที่แตกต่างกันมาก และนั่นก็เป็นเรื่องดี มาดูกันว่าครูคิดถูกหรือเปล่า”

 

คำตอบเหล่านี้ทุกข้อแสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องยอมรับได้ ในชั้นเรียน เลิกให้ความสำคัญกับคำตอบเพียงอย่างเดียวเสียที สิ่งที่คุณอยากรู้จริงๆ คือ นักเรียนคนนั้นได้คำตอบนั้นมาอย่างไรและอะไรคือข้อสันนิษฐานของเขาหรือเธอ รวมทั้งความรู้เดิมและกระบวนการให้ได้คำตอบนั้นมา นั่นหมายความว่า เมื่อคุณทบทวนหรือตรวจแบบทดสอบกับนักเรียนในชั้น จงขอให้นักเรียนช่วยให้คุณเข้าใจวิธีคิดของพวกเขา

ถ้าคุณคาดหวังเป็นประจำว่านักเรียนจะ (หรือควร) ทำถูก คุณจะหงุดหงิดและผิดหวังบ่อยครั้ง จงคาดหวังว่านักเรียนจะทำผิดพลาด สมองของมนุษย์เจริญเติบโตด้วยการเป็นหน่วยประมวลผลสาระเป็นหลัก ถ้าเราจับสาระสิ่งต่างๆ ได้ เราจะอยู่รอด อย่างไรก็ดี โรงเรียนต้องการรายละเอียดที่ถูกต้อง ไม่ใช่สาระ การยอมรับความผิดพลาดว่าเป็นโอกาสสำหรับเติบโตเป็นทักษะใหม่ที่ต้องอาศัยเวลา การฝึกสอน และการสนับสนุน ความสนุกในงานของคุณคือเมื่อคุณสามารถช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ขั้นตอนการคิดทีละขั้นเพื่อให้พวกเขาได้คำตอบที่ดีกว่าในครั้งต่อไป

เมื่ออากัปกิริยาของคุณเปลี่ยนจากเป็นกลางไปเป็นบวกเล็กน้อยกระทั่งเป็นบวกเต็มที่ ความคิดเชิงบวกจะทำให้นักเรียนมีความเอนเอียงด้านการปรับตัวที่จะก้าวเข้าไปหาและสำรวจความรู้ ผู้คน หรือสถานการณ์ใหม่ๆ ดังที่เราได้กล่าวไปแล้วในชุดความคิดเชิงบวก

คุณจำเป็นต้องมีความคิดเชิงบวกในห้องเรียนอย่างมากเพราะผลกระทบจากความคิดเชิงลบที่นักเรียนบางคนได้รับที่บ้านนั้นรุนแรงกว่าผลกระทบเท่าๆ กันของเรื่องดีๆ เพื่อเอาชนะความเป็นพิษในห้องเรียนจากความคิดเชิงลบ ความเฉยเมย และความเคลือบแคลงสงสัย คุณไม่เพียงจำเป็นต้องเป็นพลังที่เป็นกลาง แต่ยังต้องเป็นพลังบวกอันแข็งแกร่งในชีวิตของนักเรียนด้วย

 

กฎเจ๋งๆ

 

ครูต่างเข้าใจคุณค่าของกฎดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่พบบ่อยคือ เมื่อมีกฎมากไป นักเรียนจะจำและนำมาใช้ได้ยาก ดังนั้นคุณจำเป็นต้องมีกฎในห้องเรียนนับสิบข้อ หรือมากกว่านั้นจริงหรือ ในการสร้างบรรยากาศที่ได้ผลนั้นสำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะต้องมีกฎเพียงไม่กี่ข้อ แต่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้และมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เราเรียกมันว่า กฎเจ๋งๆ ดังตัวอย่างสี่ข้อต่อไปนี้

 

  1. มีอัธยาศัยดี (เป็นคนดี ยุติธรรม และโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น)
  2. ขยัน (มาถึงชั้นเรียนอย่างพร้อมจะใช้ทุกนาทีให้เป็นประโยชน์)
  3. ไม่แก้ตัว (ไม่โทษผู้อื่นหรือเล่นบทเหยื่อเคราะห์ร้าย แต่จงรับผิดชอบ)
  4. เลือกให้ดี (ชีวิตเต็มไปด้วยตัวเลือก จงคิดให้รอบคอบ)

 

มีอัธยาศัยดี

กฎนี้หมายถึงไม่มีการเรียกกันด้วยคำหยาบคาย การทุบตี ผลัก ดูหมิ่น ถองกัน ล้อเลียน ตบ หรือตำหนิติเตียนนักเรียนคนอื่นๆ หรือครู การเป็นคนอัธยาศัยดียังหมายถึงการพูดว่า “โปรด” “ขอบคุณ” “ขอโทษ” และ “ฉันผิดเอง” อีกด้วย กฎข้อนี้หมายถึงไม่โกหก ไม่สบถ ไม่ทะเลาะ ไม่ฟ้อง ไม่โกงหรือแซงคิว เพราะนั่นไม่ใช่การกระทำของคนอัธยาศัยดี

นอกจากนี้ยังหมายถึงการไม่ขโมยอะไรก็ตาม เพราะการเอาของคนอื่นไปไม่ใช่การกระทำของคนอัธยาศัยดี มีอัธยาศัยดี ยังหมายถึงนักเรียนทำตามคำสั่งและยกมือเพื่อขอพูด แทนที่จู่ๆ ก็พูดโพล่งขึ้นมาอีกด้วย

ความเข้าอกเข้าใจสำคัญต่อกฎข้อนี้อย่างยิ่ง คุณต้องแสดงให้นักเรียนเห็นว่าคุณเชื่อในกฎนี้มากแค่ไหน ครูที่ประสบความสำเร็จในการใช้กฎข้อนี้กับนักเรียนล้วนสามารถเข้าใจว่านักเรียนมาจากไหนและมีความต้องการอย่างไร เมื่อแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจ นักเรียนจะรู้สึกปลอดภัยขึ้นและลดความหวาดระแวงลง จากนั้นพวกเขาจึงสามารถผ่อนคลายและเริ่มมีส่วนร่วมกับชั้นเรียน นั่นนำไปสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่สำหรับทั้งนักเรียนและครู

อย่างไรก็ดี ถ้านักเรียนพูดอะไรไม่เหมาะสม ให้พูดเพียงว่า “เราไม่ใช้คำพวกนั้นในชั้นเรียนนะ ยังไงเลิกเรียนแล้ว รออยู่ในห้องสักประเดี๋ยวนะ” จากนั้นจึงพูดคุยกับเขาหรือเธอเป็นการส่วนตัวหลังเลิกเรียน พิจารณาเทคนิคต่อไปนี้ดู

 

  • สร้างสายสัมพันธ์ขึ้นใหม่ “ฟังนะ เธอเป็นเด็กดี และครูก็ดีใจที่มีเธออยู่ในชั้นเรียนของครู” (นักเรียนจำเป็นต้องไว้ใจคุณได้ เป้าหมายของคุณคือนักเรียนรู้สึกถึงสายสัมพันธ์ อันจะทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาของพวกเขาเอง และทำหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของทีมที่ยอดเยี่ยม)
  • สร้างความเกี่ยวโยง “ครูขอให้เธออยู่ต่อหลังเลิกเรียนเพราะครูอยากให้เธอเรียนจบจริงๆ จำงานที่เธอบอกครูว่าอยากทำได้ไหม เธอต้องมีปริญญาจึงจะทำได้ ตอนเธอพูดสิ่งที่พูดก่อนหน้านี้ในชั้นเรียน ครูรู้สึกกังวล จำไว้นะ กฎข้อแรกของเราคือมีอัธยาศัยดี” (ลดการพบปะพูดคุยเกี่ยวกับบทลงโทษ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และการตำหนิติเตียน การอยู่ต่อหลังเลิกเรียนไม่ได้มีไว้เพื่อลงโทษ แต่ให้สงวนการพบปะพูดคุยนี้ไว้เพื่อช่วยให้นักเรียนแต่ละคนประสบความสำเร็จแทน)
  • สร้างพันธมิตร “ครูอยู่ข้างเธอนะ และครูก็รู้ว่าเธอเป็นเด็กดี แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือผู้ใหญ่คนอื่นๆ อาจไม่รู้จักเธอดี ถ้าพวกเขาได้ยินเธอพูดแบบนั้น พวกเขาจะโกรธมากและหาทางให้เธอถูกไล่ออก นั่นอาจทำให้เธอเรียนไม่จบได้นะ” (พยายามเข้าใจนักเรียนเป็นอันดับแรก เพราะทุกคำที่คุณพูด ทุกสิ่งที่คุณทำ และทุกความคิดที่คุณมีอาจส่งเสริมหรือไม่ก็ทำลายโอกาสที่นักเรียนจะเรียนจบได้เลย)
  • หาทางแก้ไข ถ้านักเรียนระบุถึงปัจจัยกระตุ้น เช่น คน คำพูด ให้หาว่ามันคืออะไร จากนั้นจึงถามนักเรียนคนนั้นว่า “คราวหน้า เวลาโกรธจัดขึ้นมา เธอควรทำอะไรที่จะไม่ทำให้ต้องตกที่นั่งลำบาก” เปิดโอกาสให้นักเรียนตอบ ถ้าเขาหรือเธอตอบไม่ได้ค่อยถามว่าพวกเขาอยากได้คำแนะนำหรือไม่ เมื่อตกลงกันได้แล้ว ให้บอกว่า “มาทดสอบทางแก้ของเธอกัน ครูจะกระตุ้นปฏิกิริยาโต้ตอบเดิมๆ ที่เธอเคยทำ แล้วเธอก็แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบแบบใหม่ ตกลงไหม”
  • ยืนยันให้แน่ใจอีกครั้ง “มาทบทวนข้อตกลงของเรากัน เอาละ เพื่อให้แน่ใจว่าครูพูดถูก บอกครูสิว่าเธอได้ยินอะไรบ้าง” (ปล่อยให้นักเรียนทบทวนสิ่งที่คุณพูด)
  • จบการพบปะพูดคุย “ฟังดูดีนะ เธอมาถูกทางแล้วละตอนนี้ เอาละ ขอบคุณสำหรับเวลา เจอกันพรุ่งนี้ โชคดีนะ”

 

เพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่ดีขึ้น พึงรักษาพลังงานในห้องเรียนให้เป็นไปในเชิงบวกอยู่เสมอ นักเรียนที่อารมณ์ขุ่นมัวและโกรธเคืองจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่านักเรียนที่มีความสุข เมื่อนักเรียนมีความสุข สมองจะหลั่งโดพามีนในระดับสูงขึ้น สารสื่อประสาทชนิดนี้ก่อให้เกิดความรื่นรมย์ ความคาดหวังที่จะรู้สึกรื่นรมย์ ความจำใช้งาน และความพยายาม

ข้อดีของกฎการ มีอัธยาศัยดี คือมันประยุกต์ใช้ได้กับแทบทุกสถานการณ์ และไม่จำเป็นต้องเป็นกฎเพียงข้อเดียวของคุณเสมอไป

 

ขยัน

เครื่องเตือนความจำอันเรียบง่ายแต่ชัดเจนว่าสิ่งดีๆ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการเตรียมตัว ความพยายาม และความมุมานะ ความขยันหมายถึงนักเรียนมาโรงเรียนในสภาพเตรียมพร้อม พร้อมด้วยอุปกรณ์การเรียน และคาดหวังที่จะทลายอุปสรรค มันหมายถึงการเปลี่ยนกลยุทธ์เมื่อคุณเผชิญกับสิ่งกีดขวางเข้าจริงๆ นักเรียนอาจต้องตั้งคำถามมากขึ้นในชั้นเรียน ตลอดจนดึงปัญหาของพวกเขาออกมา ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ทำงานกับบัดดี้เพื่อนเรียน หรือทบทวนความรู้เพื่อมองหาเบาะแส ถ้าคนอื่นเรียนรู้ได้เร็วกว่า นักเรียนคนนั้นจำเป็นต้องรู้ว่าเขาหรือเธอไม่ได้โง่

การตีกรอบความพยายามของคุณมีความสำคัญยิ่ง อธิบายเป้าหมายที่แท้จริงของความขยันขันแข็งให้ชัดเจน “ยิ่งพยายามมากขึ้นเท่าไร นักเรียนจะยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น” และ “การขยันมากขึ้นทำให้นักเรียนฉลาดขึ้น” เมื่อคุณเริ่มสอนความรู้ใหม่ๆ จงทำให้ความท้าทายเหล่านั้นเป็นเรื่องสนุกและเจ๋ง มองข้ามแบบฝึกหัดง่ายๆ โดยถือว่าน่าเบื่อและไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อสมอง สุดท้าย มองข้ามคำพูดที่บอกเป็นนัยว่าสมองของเราเหนื่อยง่าย เราไม่ได้ถอดใจอย่างรวดเร็วดังที่คนส่วนใหญ่คิด การเรียนรู้ถือเป็นการทำงาน หาไม่แล้ว พวกเขาคงไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลย

 

ไม่แก้ตัว

ทางออกง่ายๆ จากทุกปัญหาคือการโยนความผิดให้คนอื่น หรือเล่นบทผู้อ่อนแอ ทว่าแนวทางนี้ไม่ส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบส่วนบุคคล กฎข้อนี้ช่วยให้นักเรียนมีความรับผิดชอบส่วนบุคคล

ไม่แก้ตัวหมายถึงเมื่อคุณไม่ทำสิ่งที่คุณบอกว่าจะทำ อย่าแก้ตัว ให้พูดความจริง (“ครูทำไม่เสร็จ”) จากนั้น ถ้าเหมาะสมก็ให้ขอโทษ (“ครูขอโทษที่ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับนักเรียน”) และสุดท้ายคือแก้ปัญหา (“ครูเอามาให้วันศุกร์ได้ไหม”) นี่อาจเป็นข้อความที่ไม่น่าฟังสำหรับนักเรียน แต่มีอยู่เพียงทางเดียวที่พวกเขาจะได้ข้อความนี้จากคุณ นั่นคือด้วยความรัก

เช่นเคย ความเข้าอกเข้าใจของคุณสำคัญมาก ถ้าครูไม่ใส่ใจและคอยสังเกตนักเรียนทุกคนอย่างแท้จริง นักเรียนจะเลิกสนใจ การจะใช้กฎข้อสามนี้อย่างได้ผลในห้องเรียน คุณจำเป็นต้องทำให้เห็นเป็นแบบอย่างในชีวิตคุณเอง เมื่อคุณอยากบ่น โทษผู้อื่น หรือเล่นบทเหยื่อเคราะห์ร้าย จงหยุดตัวเองเสีย เตือนตัวเองว่านักเรียนของคุณต้องการแบบอย่างที่เข้มแข็ง คุณไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เพียงจำไว้ว่าจะต้องเป็นแบบอย่างของคุณสมบัติข้อนี้และคอยปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยตัวคุณเอง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เห็นว่าคุณรับผิดชอบเมื่อทำผิดพลาดเช่นกัน

 

เลือกให้ดี

กฎข้อนี้เตือนให้นักเรียนระลึกถึงคุณค่าของการมีระเบียบวินัยในตนเองและอำนาจของการเลือก เราควบคุมทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้ แต่เราควบคุมวิธีตอบสนองของเราได้

ความเป็นตัวของตัวเองและมีทางเลือกนั้นสำคัญมาก ใช้คำว่า ทางเลือก ในเชิงบวกเพื่อให้นักเรียนมองว่ามันเป็นข้อดี เช่น “นักเรียนจะมีโอกาสเลือกหัวข้องานชิ้นนี้” และ “เธอเลือกได้ดีนะ” ถ้านักเรียนเห็นว่าการเลือกเป็นความรับผิดชอบอันหนักหนาของผู้ใหญ่ พวกเขาอาจถอยหนีได้

ความจริงคือเมื่อนักเรียนเล็งเห็นความรู้สึกของอำนาจและอิสระในการเลือกมากขึ้น พวกเขาจะมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น เราตอบสนองความรู้สึกของเราด้วยการเลือก เราตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ด้วยการเลือก เราตอบสนองต่อความกดดัน เส้นตาย และเหตุฉุกเฉินด้วยการเลือก สิ่งที่คุณเลือกจะเสริมความแข็งแกร่งให้เรื่องเล่าของคุณหรือกระทั่งสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมา สอนนักเรียนว่าพวกเขามีทางเลือกในชีวิตเสมอ เลือกให้ดี คือเครื่องย้ำเตือนให้ระลึกถึงของขวัญชิ้นนี้

 

-3-

เสริมสร้างการมองโลกแง่ดีเชิงวิชาการ

 

เนื้อหาส่วนนี้เป็นเรื่องการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่นักเรียน เชื่อ ว่าพวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายสุดท้าทายได้ ในโรงเรียน นักเรียนเข้าใจได้อย่างรวดเร็วว่าพวกเขาเก่งหรือไม่เก่งเรื่องอะไรหรือไม่ เช่นเดียวกับพวกเราส่วนใหญ่ พวกเขาเรียนรู้ที่จะคาดคะเนว่าพวกเขาจะทำได้ดีแค่ไหนในชั้นเรียน โดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์ การคาดคะเนความหวังนี้สำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดว่าพวกเขาจะเต็มใจใช้ความพยายามมากแค่ไหน ในฐานะครู คุณควรรู้ว่าทำไมจึงใช้พลังงานเพื่อสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนลักษณะนี้ขึ้นมา

นับตั้งแต่วันแรก ครูที่มีประสิทธิภาพสูงเข้าควบคุมแต่ละชั้นเรียนอย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกระดับและสร้างความหวังใหม่อันแข็งแกร่งที่เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น ถ้าคุณไม่ยกระดับมาตรฐานด้านจิตใจและวิชาการด้วยความกระตือรือร้นและเป้าหมายสุดท้าทาย ก็เท่ากับคุณปล่อยให้นักเรียนคาดหวังในระดับต่ำและใช้ชีวิตด้วยความคาดหวังที่ต่ำ และการทำเช่นนั้นจะเปลี่ยนบรรยากาศในชั้นเรียนของคุณไปในทางที่แย่ลง

ส่วนนี้ต่อยอดมาจากชุดความคิดเชิงบวกด้านการมองโลกแง่ดีและความหวัง เพื่อกำหนดกลยุทธ์ห้าประการสำหรับเสริมสร้างบรรยากาศเช่นนั้นขึ้นในห้องเรียนของคุณเอง ได้แก่ (1) เปลี่ยนบทบาท (2) แสดงหลักฐาน (3) เปลี่ยนเกม (4) พุ่งเป้าไปที่ความเชี่ยวชาญ และ (5) สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ

 

เปลี่ยนบทบาท

 

ครูจำนวนมากพบว่า วิธีที่เร็วที่สุดที่นักเรียนจะคิดต่างออกไปคือการก้าวเข้าไปรับอีกบทบาทหนึ่ง ในโรงเรียนที่มีความยากจนสูงแห่งหนึ่งในนิวออร์ลีนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษนามว่าวิตนีย์ เฮนเดอร์สัน ดึงดูดความสนใจของนักเรียนด้วยเครื่องมือน่าสนใจ นั่นคือ วิสัยทัศน์ เพื่อเปลี่ยนมุมมองนักเรียน เธอขอให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับคำถามสองข้อ ข้อแรก พวกเขาต้องตอบว่า “ในชีวิตนี้นักเรียนอยากทำอาชีพอะไร” การเปลี่ยนแปลงตัวตนของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง วิธีนี้ชวนให้นักเรียนเริ่มเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ทำอาชีพดังกล่าว พร้อมทั้งกระตุ้นให้พวกเขานึกภาพและพัฒนาบุคลิกลักษณะของอาชีพในฝันอย่างที่พวกเขาอยากเป็นขึ้นมา

ข้อสอง ต้องตอบว่า “คนคนนั้นจะตอบคำถามนี้อย่างไร” นักเรียนเหล่านี้กำลังเริ่มกระบวนการพัฒนาคำบรรยายลักษณะทางจิตวิทยาและเรื่องเล่าใหม่ๆ ในชีวิตสำหรับการคิดที่แตกต่างออกไปในฐานะต้นแบบผู้ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ถ้านักเรียนกล่าวว่าเขาหรือเธออยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาหรือเธออาจตอบว่านักวิทยาศาสตร์จะใฝ่รู้และแสวงหาคำตอบอย่างไม่ย่อท้อ การตอบลักษณะนี้ทำให้นักเรียนเข้าใจอุปนิสัยที่พวกเขาต้องมีอย่างถ่องแท้ การเปลี่ยนแปลงบทบาทเช่นนี้สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังขึ้นกับชุดความคิดที่เสริมสร้างการมองโลกแง่ดีเชิงวิชาการได้

 

แสดงหลักฐาน

 

เคที ลียง ครูสอนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากชิคาโก อยากให้นักเรียนรู้ว่าความสำเร็จนั้นเป็นไปได้และความสำเร็จเกิดขึ้นได้ในชั้นเรียนของเธอ ในการนี้ เธอบันทึกและฉายสารคดีและการแสดงที่นักเรียนเป็นผู้ผลิตขึ้น เธอจัดแสดงนิทรรศการที่นักเรียนรุ่นก่อนๆ พัฒนาไว้ และอวดรายงานที่นักเรียนเป็นคนเขียน เธอแสดงให้ทุกชั้นเรียนเห็นว่านักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเขาทำอะไรได้บ้างเมื่อพวกเขาเอื้อมคว้าดาว เมื่อถึงเวลาที่ต้องขอให้นักเรียนทำเต็มที่ นักเรียนทุกคนต่างรู้ว่านั่นหมายถึงการพุ่งเป้าไปให้ถึงดวงดาว พวกเขาได้เห็นตัวอย่างของจริงอันละเอียดลออและเป็นรูปธรรมว่างานที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร หลักฐานลักษณะนี้ทำให้นักเรียนมีวิสัยทัศน์และความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายของพวกเขาบรรลุได้

 

เปลี่ยนเกม

 

บางครั้งนักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาทำงานบางอย่างให้สำเร็จไม่ได้ เมื่อสัมผัสได้ว่านักเรียนมีความรู้สึกทำนองนี้ ให้เปลี่ยนเกมเพื่อปรับบรรยากาศในห้องเรียนให้ดีขึ้น นั่นหมายถึงเปลี่ยนความคิดของนักเรียนที่ว่าพวกเขาเป็นใคร มองวิชานี้อย่างไร และพวกเขาเชื่อว่าครูเป็นคนแบบไหน

ครูทุกคนต้องโน้มน้าวให้นักเรียนเชื่อในความจริงที่ว่า สิ่งที่ให้พวกเขาทำในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ มีความเกี่ยวโยงกับพวกเขา และต้องทำอย่างเร่งด่วน ในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษ วิตนีย์ เฮนเดอร์สัน อาจให้นักเรียนดูหนังสือที่เปลี่ยนเส้นทางของมวลมนุษย์ผ่านข้อเขียนอันทรงพลัง วิธีนี้ทำให้นักเรียนรู้จักตั้งคำถามว่า ทำไม และชี้ัชวนให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นในงานเขียน คุณอาจบอกนักเรียนว่าพวกเขาสามารถเขียนเพื่อเปลี่ยนโลก ในจำนวนหนังสืออันทรงพลังจำนวนมากที่คุณอาจรวมไว้ด้วย ลองพิจารณาเรื่อง มนุษย์ล่องหน (Invisible Man) โดยราล์ฟ เอลลิสัน และ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ (The Diary of a Young Girl) โดยแอนน์ แฟรงค์ ข้อความเดียวนั้นบ่งบอกถึงเป้าหมายสุดท้าทายและการมองโลกแง่ดี งานเขียนของนักเรียนบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเองได้อย่างทรงพลังและอาจเปลี่ยนแปลงโลกได้

ใช้กิจกรรมเก้าอี้นักเขียน โดยให้นักเรียนนั่ง “เก้าอี้นักเขียน” หน้าชั้นแล้วอ่านเรื่องราวของพวกเขา นักเรียนคนอื่นๆ อาจตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นด้วยก็ได้ พวกเขากำลังกลายเป็นนักเขียนที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกเรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มต้นจากตัวพวกเขาเอง เกมเปลี่ยนไปแล้ว

 

พุ่งเป้าไปที่ความเชี่ยวชาญ

 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าความเชี่ยวชาญเป็นกระบวนการและจุดหมายปลายทาง กระบวนการสั่งสมความเชี่ยวชาญเป็นเรื่องของการพัฒนาทักษะที่คงอยู่ไปตลอดชีวิต เช่น ความบากบั่น ซึ่งทำให้การเรียนรู้อันซับซ้อนและท้าทายเป็นเรื่องคุ้มค่า ปัจจัยนี้ไม่ใช่แค่การสอนที่ดีเท่านั้น เมื่อพูดถึงความเชี่ยวชาญจะไม่มีการพยายามอย่างหนัก นี่เป็นเรื่องของการแสวงหาส่วนบุคคล นักวิจัยคนหนึ่งถือว่าความเชี่ยวชาญเป็นกลยุทธ์สำคัญเหนืออื่นใดสำหรับวิทยาศาสตร์ ขณะที่นักวิจัยคนอื่นๆ พบว่าความเชี่ยวชาญมีขนาดผลกระทบในระดับสูงต่อนักเรียนที่ด้อยโอกาสและมีความสามารถต่ำกว่า เจ. เอ. แฮตตี จัดให้การเรียนรู้เพื่อความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยอันดับที่ 29 จาก 138 อันดับ (25 เปอร์เซ็นต์แรก) ที่มีส่วนในความสำเร็จของนักเรียน แม้ความเชี่ยวชาญอาจใช้เวลาในห้องเรียนเพิ่มเติมอีก 10-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมักเกิดขึ้นได้ยาก ทว่าผลการเรียนสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากเวลาพิเศษนี้ต้องนับว่าเกินคุ้ม

ในการนี้ ให้ตั้งเป้าหมายสุดท้าทาย แล้วคอยเสริมความแข็งแกร่งให้เป้าหมายใหญ่นั้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับความสำเร็จของเป้าหมายย่อยๆ หยิบยกเรื่องราวของนักเรียนรุ่นก่อนๆ ที่บรรลุความเชี่ยวชาญมาเล่าเป็นตัวอย่าง และชี้ให้เห็นว่าใครมาถูกทางที่จะบรรลุความเชี่ยวชาญแล้วบ้าง และอย่าลืมฉลองเมื่อบรรลุเป้าหมายย่อยๆ ได้

 

สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ

 

ใช้คำว่า เรา เวลาพูดว่า “เราทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้วนะ” วิธีนี้ชวนให้นักเรียนเห็นว่าประสบการณ์ในห้องเรียนเป็นสิ่งที่มีร่วมกัน การมีประสบการณ์ร่วมกันนี้ทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะแสดงอำนาจควบคุมโลกในห้องเรียนในทางที่ดีมากขึ้น พวกเขาอาจอ้าแขนรับโอกาสที่จะได้รับผิดชอบห้องเรียน เมื่อนักเรียนเป็นเจ้าของบรรยากาศ ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป

โปรแกรมความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีหลากหลายรูปแบบ ทว่าสาระสำคัญของโปรแกรมนี้คือการซ่อมแซมความสัมพันธ์ ถ้านักเรียนคนหนึ่งประพฤติตนไม่เหมาะสม เขาหรือเธอจะได้รับโอกาสให้ก้าวออกมาแก้ไขให้ถูกต้อง ในบางกรณี เขาหรือเธอจะนั่งในวงกลมแล้วเปิดอกพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับครูและฝ่ายอื่นๆ ผู้ไกล่เกลี่ยจะตั้งคำถามเพื่อสร้างความสมานฉันท์อย่างเช่น “เกิดอะไรขึ้น? มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? เราจะทำให้มันถูกต้องได้อย่างไรบ้าง?” ท้ายที่สุด ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การวางแผนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ขณะที่ความสัมพันธ์ก็ได้รับการซ่อมแซมและเสริมความแข็งแกร่ง ที่สำคัญที่สุดคือนักเรียนไม่ได้ถูกบังคับให้มีระเบียบวินัย

จากระดับอนุบาลถึงชั้น ป.5 คุณอาจใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือและการทำงานในชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนได้ควบคุมสถานการณ์เอง จำไว้ว่างานระดับอนุบาลถึง ป.5 ทั้งหมดควรมีชื่อที่คุ้นหูซึ่งทำเงินได้จริงในโลกแห่งความเป็นจริง สำหรับชั้น ป.6 ถึง ม.6 คุณอาจติดภาพวาดไว้ในห้องเรียน เขียนรายชื่องานต่างๆ ไว้ข้างหน้า แล้วให้นักเรียนเขียนประวัติประกอบการสมัครงานหรือสัมภาษณ์ให้ครบทุกงานที่มีอยู่ งานเหล่านี้จะใช้เวลางานละ 4-6 สัปดาห์ นักเรียนแลกเปลี่ยนงานกันได้ตามใจชอบถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ลักษณะสำคัญของความเป็นเจ้าของคือ งานนั้นจำเป็นและมีความเกี่ยวโยงต่อการช่วยให้ชั้นเรียนได้ผล ตารางด้านล่างเป็นรายชื่องานสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาอันประกอบไปด้วยชื่องานในห้องเรียนแบบเก่าและใหม่

 

 

ตารางถัดไปเป็นรายชื่องานระดับสูงขึ้นพร้อมคำบรรยายลักษณะงานสำหรับนักเรียน ป.6 ถึง ม.6 แน่นอนว่า คุณอาจนึกตำแหน่งงานในห้องเรียนซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งออกอีกนับสิบอย่าง (การใช้ชื่องานในโลกแห่งความเป็นจริงสำคัญมาก)

 

 

เพราะคุณมีทางเลือกเสมอ เลือกชุดความคิดของตัวคุณเองได้เลย

“ชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์”

 

ความเข้าใจหลักสำหรับการสร้างบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์คือ บรรยากาศมีความสำคัญอย่างยิ่งและคุณมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของนักเรียนมากกว่าที่คิด ครูส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์ที่แนะนำไว้ในส่วนนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ แต่น้อยคนนักที่ใช้กลยุทธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่หรือทั้งหมด

เราขอเชิญชวนให้คุณนำกลยุทธ์ไปใช้สักข้อสองข้อ แล้วจะค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทรงพลังได้เพียงไร

สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรกและทุกสิ่งที่เหลือเป็นอันดับต่อมา ครั้งแรกที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมชั้นเรียนของครูผู้มีบรรยากาศการสอนอันน่าทึ่ง เขาเห็นการเริ่มต้นด้วยกลยุทธ์อันรวดเร็ว (“หันไปหาเพื่อนคนข้างๆ” แล้วให้กำลังใจ) จากนั้นจึงเพิ่มกลยุทธ์อีกข้อ (ตัวกระตุ้น) และกิจกรรมอื่นๆ (ยิ้มแย้มเมื่อเรียกให้นักเรียนทุกคนตอบและขอบคุณนักเรียนแต่ละคน) ผลที่ตามมาไม่ได้สังเกตเห็นได้ง่ายดายในตอนแรก แต่ก็รู้ว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น สิ่งที่สัมผัสได้คือห้องเรียนที่จัดขึ้นอย่างพิถีพิถันให้เป็นสถานที่อันยอดเยี่ยมสำหรับเรียนรู้

ภายใน 20 นาที ห้องเรียนนั้นเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ความคิดเชิงบวก และความปลอดภัย มีความเป็นชุมชนที่มุ่งสู่เป้าหมายสุดท้าทายอย่างเดียวกัน นักเรียนและครูร่วมกันสร้างสถานที่อันยอดเยี่ยมสำหรับเรียนรู้ขึ้นมา กุญแจสำคัญคือการสร้างสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่ช่วยดึงศักยภาพของนักเรียนให้กลายเป็นคนที่ดีที่สุดที่พวกเขาจะเป็นได้ ห้องเรียนของคุณส่งเสริมความเป็นเลิศหรือไม่ ถ้าไม่ อ่านกลยุทธ์เหล่านี้ซ้ำอีกครั้งเพื่อหาเครื่องมือที่คุณจำเป็นต้องใช้เพื่อก้าวไปข้างหน้าให้เจอ

ความจริงแล้วผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อบรรยากาศในห้องเรียนคือครู คุณอาจบอกว่า “ไม่จริงหรอก นักเรียนต่างหากที่สร้างบรรยากาศขึ้นมา!” อันที่จริง ถ้าคุณไม่ทำงานเชิงรุกก็จริงอย่างที่คุณพูด บรรยากาศจะปรากฏขึ้นเองจากนักเรียนถ้าคุณไม่ทำอะไร อย่าลืมว่าคุณควรใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์และคว้ามันไว้!

 

อ่านซีรีส์ ‘7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน’ ย้อนหลังได้ที่นี่

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่