อ่าน ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง’

ชลิดา หนูหล้า เขียน

 

วันหนึ่งในคลินิกของวิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) หรือบิล หนึ่งในสองผู้เขียน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง แม่ของเด็กคนหนึ่งที่บิลให้ความช่วยเหลือกล่าวว่า “สิ่งที่เราเรียกว่าการอุ้มชูลูกควรเรียกอีกอย่างว่าการลดระดับพ่อแม่”

น่าแปลกที่หนทางที่รวดเร็วที่สุดในการทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอย่างสมวัยและพึ่งพาตนเองได้ กลับเป็นการถอยห่างและปล่อยให้ลูกเผชิญความไม่สบายกายไม่สบายใจเพื่อเรียนรู้วิธีจัดการมันด้วยตัวเอง

แม้จะได้ยินประโยคอย่าง “ปล่อยให้เด็กทำเองเถอะ เดี๋ยวจะทำอะไรไม่เป็น” กันจนคุ้นหู การปล่อยมือให้ลูกเผชิญปัญหาและแก้ไขปัญหาลำพังก็ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เราจึงยังเห็นพ่อแม่ที่กลัดกลุ้มเพราะลูกวัยแปดขวบทะเลาะกับเพื่อนที่โรงเรียน กระวนกระวายเมื่อลูกวัยรุ่นจวนเข้ามหาวิทยาลัย และแม้ลูกๆ จะ “เป็นฝั่งเป็นฝา” ไปแล้ว ก็ยากที่จะ “หมดห่วง” ได้อย่างแท้จริง

หนังสือเล่มนี้จะนำทางพ่อแม่ผ่านเส้นทางนั้นโดยไม่ต้องเจ็บปวดหรือวิตกกังวลเกินไป ผ่านการบ่มเพาะ “ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง” (sense of control) ของเด็ก ให้พวกเขาเขียนเส้นทางชีวิตที่ใช่ แล้วก้าวไปบนเส้นทางนั้นได้อย่างมั่นคง

 

ทำไมความสามารถในการกำกับดูแลตนเองจึงสำคัญ

 

“เราทุกคนจะทำเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกรอบตัวเราได้ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเรายังกดปุ่มปิดประตูลิฟต์ทั้งที่ปุ่มปิดส่วนใหญ่ไม่ทำงานแล้ว”

จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเด็กนับทศวรรษ บิลผู้เป็นนักประสาทจิตวิทยา และเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ผู้ก่อตั้งสถาบันกวดวิชาและให้คำปรึกษาทางการศึกษา “เพร็ปแมตเทอร์ส” (PrepMatters) เชื่อว่าสิ่งที่บั่นทอนศักยภาพในการเติบโตของมนุษย์มากที่สุดคือ “ความเครียด” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าตนไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ จึงเลือกจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือถอยหนีเสีย และกุญแจสำคัญสู่การกำจัดความเครียดที่บ่อนเซาะศักยภาพอย่างยั่งยืน คือแรงจูงใจในตัวเองและความเชื่อมั่นในการกำกับสถานการณ์ของตนนั่นเอง

“ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง” คือความเชื่อมั่นในศักยภาพของตน เชื่อว่าตนจะใช้มันก้าวข้ามสถานการณ์เลวร้ายและความผันผวนโดยทั่วไปในชีวิตได้ คือความสงบนิ่งยามเผชิญสิ่งไม่คาดฝันเพราะรู้ว่าจะหาทางออกได้ในที่สุด ดังที่บิลและเน็ดเสนอว่า

“ก่อนหน้านี้มีงานศึกษาความเครียดของหนู พบว่าหากให้หนูวิ่งในกงล้อที่เมื่อหมุนแล้วหนูจะไม่ถูกช็อตไฟฟ้า หนูจะวิ่งในกงล้อนั้นอย่างมีความสุขและไม่เครียดนัก แต่เมื่อนำกงล้อออกไปหนูจะเครียดจัด และหากนำกงล้อกลับเข้าไปในกรง ระดับความเครียดของหนูจะลดลงมากแม้ว่ากงล้อจะ ไม่ได้เชื่อมต่อ กับเครื่องปล่อยกระแสไฟฟ้าแล้วก็ตาม ในมนุษย์ก็เช่นกัน … กลายเป็นว่า ความรู้สึก ถึงความสามารถในการกำกับสถานการณ์ต่างหากที่สำคัญมากกว่าสิ่งที่คุณทำ หากคุณมั่นใจว่าเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ ความเครียดก็จะลดลง”

ปัญหาคือความคิดและความรู้สึกเช่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับให้เกิดขึ้นได้ แล้วเราจะบ่มเพาะให้ลูกมีความสามารถดังกล่าวได้อย่างไร

 

“เราทุกคนจะทำเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกรอบตัวเราได้ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเรายังกดปุ่มปิดประตูลิฟต์ทั้งที่ปุ่มปิดส่วนใหญ่ไม่ทำงานแล้ว“

 

ลูกพึ่งพาตนเองได้ เริ่มต้นจากความคิดของพ่อแม่

 

ก่อนอื่น บิลและเน็ดขอให้พ่อแม่กำจัด “ข้อสันนิษฐานอันเป็นเท็จ” ที่ขัดขวางการพัฒนาทักษะนี้ของลูก ได้แก่

 

  1. ข้อสันนิษฐานว่าหนทางสู่ความสำเร็จนั้นมีเพียงไม่กี่สาย ทั้งยังเป็นถนนแคบๆ ที่ก้าวพลาดครั้งเดียวก็ร่วงหล่นสู่หุบเหว ดังนั้นการปล่อยให้เด็กเป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นสำคัญจึงอันตรายเกินไป ทว่าแท้จริงแล้ว เส้นทางสู่ความสำเร็จไม่ได้มีสายเดียว และความสำเร็จไม่มีแบบแผนตายตัว การเลี้ยงลูกให้ยืดหยุ่นและพลิกแพลงกลยุทธ์แก้ไขปัญหาของตนได้จึงสำคัญกว่า
  2. ต้องเรียนให้ดีหรือดีมากเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จได้ ข้อสันนิษฐานนี้ไม่ทำให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีความสุขและเปี่ยมศักยภาพ การมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดดเด่นหรือเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ไม่ได้การันตีความสำเร็จในระยะยาว ยิ่งกว่านั้น เด็กที่ทำได้ไม่ดีบนถนนสายวิชาการยังถูกกดดันด้วยข้อสันนิษฐานนี้ให้ท้อถอยและดูแคลนตนเอง ทั้งที่พวกเขาอาจยังมีความสามารถอื่นๆ ที่โรงเรียนไม่ได้โอบอุ้มรอวันฉายแสงอยู่
  3. ข้อสันนิษฐานว่ายิ่งผลักดันมากเท่าไร เด็กยิ่ง “เก่ง” ได้ดังใจเท่านั้น หากมีข่าวลือว่าเด็กๆ ต่างชาติจะเข้ามาแย่งอาชีพ ก็ต้องทำให้ลูกๆ ของเราเรียนได้ดีกว่านั้น หรือลูกชายของเพื่อนอ่านหนังสือได้ในวัยสามขวบ ท่องตารางธาตุได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมยังไม่ร่วง ลูกของเราก็ต้องทำได้เช่นกัน ความขยันไม่ผิดอะไร แต่จะดีกว่าไหมถ้ามันเป็นความขยันที่ขับเคลื่อนด้วยความพร้อมและแรงจูงใจของเด็กเอง
  4. ข้อสันนิษฐานว่า “สังคมสมัยนี้” อันตรายกว่าในอดีต จึงต้องสอดส่องดูแลไม่ให้ลูกตัดสินใจผิดพลาด เพราะข้อเท็จจริงคือโลกปัจจุบันปลอดภัยกว่าในอดีตมาก มีแต่ปริมาณข่าวสารและแนวทางการนำเสนอข่าวชวนสะพรึงขวัญเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 

ภายใต้การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เชื่อในข้อสันนิษฐานสี่ข้อนี้ จะแปลกอะไรหากเด็กๆ รู้สึกว่าตนต้องแข่งขันตลอดเวลา เพราะเมื่อไรที่ชะล่าใจหรือเกียจคร้านก็จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หรือกระทั่งจบชีวิต ความเชื่อเช่นนี้จะเปิดใช้งาน “อะมิกดาลา” (amygdala) หรือสมองส่วนที่บิลและเน็ดเรียกว่า “นักสู้สิงโต” อย่างเต็มสูบ

อะมิกดาลานั้นทำหน้าที่ตอบสนองต่อความเครียดซึ่งจะมีบทบาททันทีที่มันสัมผัสได้ว่าเรากำลังเผชิญอันตราย หรือแม้แต่จินตนาการถึงอันตราย! ปัญหาคืออะมิกดาลาไม่ได้คิดอย่างมีสติ แต่จะรับรู้แล้วตอบสนองทันทีทันใด ทำให้ลูกดื้อรั้น เตลิดหนี หรือหลายกรณีก็ก้าวร้าว

อะมิกดาลาไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะเมื่อเราเผชิญอันตราย มันจะกระตุ้นให้เราเอาชีวิตรอดได้ด้วยการหลั่ง “อะดรีนาลิน” (adrenaline) ซึ่งทำให้มนุษย์ตื่นตัว อย่างไรก็ตาม หากเด็กหรือพ่อแม่เครียดติตต่อกันเป็นเวลานาน ฮอร์โมนที่ถูกหลั่งออกมาจะเป็น “คอร์ติซอล” (cortisol) ซึ่ง “ใช้เวลาเตรียมการหลั่งมากกว่า คล้ายกับการเตรียมทัพเพื่อรบในสงครามยืดเยื้อ” ระดับคอร์ติซอลที่สูงเรื้อรังจะทำให้เซลล์ในฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งมีหน้าที่สร้างและจัดเก็บความทรงจำเสื่อมลงหรือตาย ทั้งยังลดทอนความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการกดดันเด็กให้ตื่นตัวอย่างเกินพอดี ในที่สุดจะให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับที่เราปรารถนา

ระดับคอร์ติซอลที่สูงเรื้อรังจะทำให้เซลล์ในฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งมีหน้าที่สร้างและจัดเก็บความทรงจำเสื่อมลงหรือตาย ทั้งยังลดทอนความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการกดดันเด็กให้ตื่นตัวอย่างเกินพอดี ในที่สุดจะให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับที่เราปรารถนา

 

คำแนะนำของบิลและเน็ดคือเปิดใช้งานอะมิกดาลาของเด็กให้น้อยลง และพัฒนาสมองสามส่วนต่อไปนี้ ได้แก่ 1) คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้วิจารณญาณ โดยการรับรู้ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของสมองส่วนนี้เองที่จะตัดสินว่าเราคิดได้อย่างมีสติเพียงใด 2) สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งโดพามีน (dopamine) ฮอร์โมนแห่งความพึงพอใจและกระตือรือร้น เมื่อเด็กๆ ได้ทำสิ่งที่มีความหมายต่อตนเองอย่างแท้จริง 3) เครือข่ายอัตโนมัติ (default mode network) ซึ่งทำหน้าที่จัดระเบียบความคิด สมองส่วนนี้จะทำงานต่อเมื่อเราไม่ได้จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษเท่านั้น

หนทางสู่การบ่มเพาะความสามารถในการกำกับดูแลตนเองในเล่มนี้จึงแบ่งเป็นสามหัวข้อใหญ่ๆ คือการเปิดโอกาสให้เด็กๆ เป็นผู้ตัดสินใจและวางแผนการดำเนินชีวิต การหล่อเลี้ยงแรงจูงใจของพวกเขา และการช่วยเหลือเด็กๆ ให้ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

 

“ลูกเลือกได้” เปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจและจัดการชีวิตด้วยตนเอง

 

เราต่างชื่นชมเด็กที่ “ว่านอนสอนง่าย” และปฏิบัติตามคำสั่งได้โดยไม่บิดพลิ้ว อย่างไรก็ตาม บิลและเน็ดเชื่อว่าจะดีกว่าหากพ่อแม่เลือกจะเป็น “ที่ปรึกษา” ไม่ใช่ “ผู้บังคับบัญชา” ของลูก ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจในเกือบทุกประเด็นของชีวิต ร่วมกับการให้ข้อมูลและคำแนะนำอย่างจริงใจ

จริงอยู่ที่สมองของเด็กยังไม่มีพัฒนาการเต็มที่ กระนั้น สองผู้เขียนกลับไม่เห็นว่ามีทางลัดอื่นใดในการทำให้สมองของเด็กเติบโตเข้มแข็ง นอกจากความอดทนไม่เข้าไปจัดแจงหรือแทรกแซงเกินควรของพ่อแม่ เพราะประโยค “รอจนกว่าลูกจะพร้อม” นั้นไม่อาจปฏิบัติได้จริงทั้งในทางความรู้สึกและด้วยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิจารณญาณจะไม่เติบโตเต็มที่จนกว่าเด็กจะมีอายุราว 25 ปี ขณะที่สมองส่วนที่ควบคุมการแสดงออกจะสมบูรณ์พร้อมในวัย 32 ปี การฝึกฝนลูกให้คุ้นเคยกับการคิดอย่างมีสติและจัดการตนเองได้ย่อมดีกว่าการประคบประหงมเด็กถึงจุดหนึ่งที่พ่อแม่คิดว่า “โตแล้ว” เช่น เมื่อบรรลุนิติภาวะ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ฯลฯ จากนั้นก็สาดความรับผิดชอบใส่พวกเขาโครมใหญ่จนตั้งตัวไม่ทัน

ก้าวแรกที่พ่อแม่เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้คือการหมั่นถามตัวเองว่า “นี่เป็นปัญหาของใครกัน เป็นปัญหาของฉัน หรือเป็นปัญหาของลูก”

แน่นอนว่ามันเป็นปัญหาของลูก ไม่ว่าพ่อแม่จะพยายามนำมาเป็นปัญหาของตัวเองมากเพียงใด เมื่อตอบคำถามข้อนี้ได้ชัดเจนแล้ว ให้เริ่มต้นสามก้าวต่อไป คือ 1) ประพฤติตนเป็นที่ปรึกษาผู้ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ให้ลูกเชื่อว่า “ลูกเลือกได้” 2) เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือที่ลูกเป็นผู้ขอ และ 3) การทำให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย

 

เราต่างชื่นชมเด็กที่ “ว่านอนสอนง่าย” และปฏิบัติตามคำสั่งได้โดยไม่บิดพลิ้ว อย่างไรก็ตาม บิลและเน็ดเชื่อว่าจะดีกว่าหากพ่อแม่เลือกจะเป็น “ที่ปรึกษา” ไม่ใช่ “ผู้บังคับบัญชา” ของลูก ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจในเกือบทุกประเด็นของชีวิต ร่วมกับการให้ข้อมูลและคำแนะนำอย่างจริงใจ

 

มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสามารถในการตัดสินใจของเด็กวัย 9-21 ปี โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีอายุหลากหลายถูกถามว่าจะจัดการสถานการณ์ที่อ่อนไหวมากๆ อย่างไร ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยอายุ 14 ปีตัดสินใจคล้ายกลุ่มอายุ 18 ปี และ 21 ปี และยังใกล้เคียงกับคำตอบของผู้เชี่ยวชาญที่สุด ที่น่าสนใจคือครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีอายุ 9 ปีก็มีคำตอบคล้ายคลึงกัน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเพียงขาดองค์ความรู้เท่านั้น เด็กๆ ไม่ได้ขาดวิจารณญาณ

การบ่มเพาะให้ลูกเชื่อว่า “ลูกเลือกได้” ไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิด อาจเริ่มต้นจากการให้ลูกเป็นผู้เลือกเสื้อผ้าที่จะสวมใส่เอง ให้เลือกว่าจะเล่นอะไร จะใช้เวลาระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อนอย่างไร จะรับผิดชอบงานบ้านประเภทใดบ้าง บิลและเน็ดพบว่า แม้ “ลูกเลือกได้” จะไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ลูกตัดสินใจอย่างไรก็ได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจได้ดีทีเดียวหากได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ และหากการตัดสินใจนั้นไม่บ้าบิ่นหรือเป็นอันตรายเกินไป การได้เดินบนเส้นทางที่ตนเป็นผู้ตัดสินใจก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิตของเด็กในระยะยาว

แน่นอนว่าการตัดสินใจในวัยเด็กย่อมไม่ราบรื่น จุดนี้เองที่พ่อแม่ก้าวเข้ามาช่วยเหลือได้ด้วยการเสนอแนวทางแก้ไข “แบบอาศัยความร่วมมือ” กล่าวคือเสนอความช่วยเหลือให้ และให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะรับความช่วยเหลือนั้นหรือไม่

ตัวอย่างการให้ความช่วยเหลือที่ลูกเต็มใจรับมีหลากหลาย เช่น หากลูกทำการบ้านเองไม่ได้ พ่อแม่อาจเสนอเวลาว่างหนึ่งหรือสองชั่วโมงเพื่อให้คำปรึกษา หากหมดเวลาแล้วและลูกยังทำการบ้านไม่เรียบร้อย ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ในวันถัดไป ยกเว้นลูกแสดงให้เห็นความตั้งใจอย่างแท้จริงระหว่างทำการบ้านหรือการบ้านยากเป็นพิเศษ ฯลฯ การเสนอความช่วยเหลือโดยให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับทำให้เด็กตระหนักว่าปัญหานั้นเป็นของพวกเขา และตนต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหานั้นเอง ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการกำกับดูแลตนเองงอกงาม

 

 

เห็นได้ชัดว่าทั้งสองก้าวใช้กำลังใจของพ่อแม่ไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นการอดทนดูลูกล้มเหลวหรือเผชิญความรู้สึกอกสั่นขวัญแขวนว่าจะเกิดอันตรายกับลูกหรือไม่ บิลและเน็ดจึงแนะนำให้พ่อแม่ประพฤติตนเป็น “ตัวตนไร้กังวล” (nonanxious presence) ของลูก เพื่อทำให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้วย

“ความกังวลของเราจะถ่ายทอดสู่ลูก เด็กๆ ไม่ต้องการพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ แต่เด็กจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากพ่อแม่ที่สามารถเป็นตัวตนไร้กังวลของพวกเขาได้ เมื่อเราไม่เครียด  กังวล โกรธ หรือเหนื่อยเกินไป เราจะปลอบทารกได้ดีกว่า รับมือพฤติกรรมท้าทายของเด็กเล็กได้มากกว่า รวมถึงตอบสนองต่อขีดจำกัดของวัยรุ่นได้โดยไม่พลั้งพูดหรือทำอะไรที่จะสร้างบาดแผลให้ลูก”

ความกังวลของพ่อแม่ไม่ใช่สิ่งที่จะซ่อนตัวจากสายตาของลูกได้ บิลและเน็ดเรียกใบหน้าของพ่อแม่ว่า “เขตแดนที่ลูกรู้จักทุกซอกทุกมุม” เพราะพวกเขาเห็นมันมาตั้งแต่เกิด การพยายามซ่อนความเครียดจากลูกรังแต่จะทำให้เด็กตีความไปต่างๆ นานา พวกเขาอาจคิดว่าตนเป็นต้นตอของความเครียดของพ่อแม่ และไม่ต้องการบอกเล่าปัญหาให้ฟังอีกต่อไป หรืออาจรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความไว้วางใจให้แบ่งเบาความเครียดนั้น

 

การพยายามซ่อนความเครียดจากลูกรังแต่จะทำให้เด็กตีความไปต่างๆ นานา พวกเขาอาจคิดว่าตนเป็นต้นตอของความเครียดของพ่อแม่ และไม่ต้องการบอกเล่าปัญหาให้ฟังอีกต่อไป หรืออาจรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความไว้วางใจให้แบ่งเบาความเครียดนั้น

 

บนเครื่องบิน พนักงานต้อนรับมักจะบอกเราว่า “ในกรณีที่สูญเสียความดันภายในห้องโดยสาร สวมหน้ากากให้ตนเองก่อนแล้วจึงสวมให้ผู้อื่นภายใต้ความดูแลของท่าน” และในชีวิตจริงก็เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตนให้ดี หมั่นตรวจจับความวิตกกังวล พร้อมสื่อสารกับตนเองว่าการคิดเช่นนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ ตลอดจนสื่อสารกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ให้พวกเขาร่วมแก้ไขปัญหาในบ้าน แล้วบ้านจึงจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกๆ อย่างแท้จริง

 

วิธีหล่อเลี้ยง “แรงจูงใจ” ให้ลูกมุ่งสู่อนาคตได้โดยไม่ทำร้ายตนเอง

 

เมื่อเด็กๆ มีพื้นฐานที่แข็งแรงแล้วก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ใช่และมีชีวิตที่เติมเต็ม โดยต้องบริหารพลังงานระหว่างทางอย่างพอเหมาะ ไม่ใช่ก้าวไปอย่างกระท่อนกระแท่น หรือพุ่งฉิวไปอย่างไม่คิดชีวิต

บิลและเน็ดแบ่งเด็กๆ ตามระดับและลักษณะของแรงจูงใจเป็นสี่ประเภทพร้อมวิธีรับมือ ดังนี้

 

  1. ผู้บ่อนทำลาย เด็กที่ดูไม่มีแรงจูงใจจะทำอะไรเสียเลย ราวกับพวกเขาจงใจบ่อนทำลายตัวเอง สิ่งที่พ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้ทำได้คือชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่ดูไม่สลักสำคัญในปัจจุบันอาจสำคัญต่อเป้าหมายระยะยาวของพวกเขาอย่างไร อาทิ หากลูกให้ความสำคัญแก่ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ มากที่สุด การชี้ให้พวกเขาเห็นว่าสักวันหนึ่งทักษะนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออาชีพในอนาคต อย่างครู นักจิตวิทยา นักกฎหมาย หรือผู้จัดการฝ่ายขายย่อมเป็นประโยชน์ พร้อมกับที่บอกพวกเขาว่าอาชีพต่างๆ ที่อาศัยทักษะเหล่านี้ต้องการวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือโทเช่นกัน นอกจากนั้น พ่อแม่ยังเสริมแรงขับเคลื่อนในตัวลูกได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกจินตนาการความสำเร็จหรือเขียนเป้าหมายในกระดาษแล้วติดไว้ในจุดที่เห็นได้เสมอ ที่สำคัญคือให้ลูกเป็นผู้ตามหาแรงบันดาลใจนั้นเอง ต่อยอดมันจากสิ่งที่พวกเขามี เพื่อให้แรงจูงใจนั้นเป็นของลูก ไม่ใช่ของพ่อแม่
  2. ผู้กระตือรือร้น เด็กที่มีไฟล้นเหลือ แต่ไม่ใช่สำหรับการเรียน นักประสาทจิตวิทยาอย่างบิลไม่กังวลเกี่ยวกับเด็กกลุ่มนี้นัก เขาเชื่อว่า “ตราบใดที่ลูกยังมุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งที่ชอบ เขาก็ไม่กังวล เพราะรู้ว่าเด็กๆ กำลังปั้นแต่งสมองที่สักวันหนึ่งจะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ” หากลูกไม่มีอาการบกพร่องทางการเรียนรู้หรือสมาธิสั้น จงจริงจังกับความฝันและความคิดเห็นของลูก เชื่อมโยงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับการต่อยอดความฝันนั้นๆ ของลูก และร่วมมือกับลูกเพื่อกำหนดเส้นทางสู่จุดหมาย อาทิ กรณีของเซบาสเตียน เด็กคนหนึ่งที่บิลเคยให้ความช่วยเหลือ เขารักการทำงานในหน่วยกู้ภัยจนละทิ้งการเรียน บิลจึงแนะนำให้เซบาสเตียนฝันถึงความก้าวหน้าระยะยาวในวิชาชีพนี้ ด้วยการลดเวลาทำงานในหน่วยกู้ภัยลงเล็กน้อยเพื่อเข้าเรียนในวิทยาลัยชุมชน จากนั้นจึงสะสมหน่วยกิตแล้วศึกษาต่อในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์อัคคีภัยที่วอชิงตัน ดี.ซี. อย่างสง่างาม
  3. เด็กอียอร์ ที่ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรเลย เด็กกลุ่มนี้มักมีความความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองต่ำ แม้พบสิ่งที่ตนทำได้ดีก็มักจะคิดว่ามันเป็นความสามารถดาษดื่น เด็กอียอร์จำนวนมากติดบ้านและต่อต้านการทำกิจกรรมใหม่ๆ ตลอดจนนิยามคำว่าพื้นที่ปลอดภัยไว้อย่างแคบ พวกเขาชอบอ่านหนังสือหรือเล่นคนเดียวมากกว่าตกอยู่ในสถานการณ์ทางสังคมที่ไม่คุ้นเคย พ่อแม่ต้องใจเย็นกับเด็กอียอร์ให้มาก พยายามสานสัมพันธ์อันดีกับลูก ถามพวกเขาว่าต้องการมีความมั่นใจมากขึ้นไหมและเสนอความช่วยเหลือในการพาไปพบผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงค่อยๆ เสนอแนะกิจกรรมใหม่ๆ ให้ลูกเลือกทำอย่างอดทน
  4. เด็กแบบเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ ที่ช่างกดดันตัวเอง เด็กแบบเฮอร์ไมโอนีมุ่งเติมเต็มความคาดหวังของผู้อื่น ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ไม่ดีต่อตนเอง แรงจูงใจนี้มีที่มาจากความกลัว เด็กกลุ่มนี้จะกังวลหากไม่สามารถพิชิตเป้าหมายสูงๆ ที่ตนเองหรือผู้อื่นกำหนดได้ นอกจากไม่กดดันลูกแล้ว พ่อแม่ควรบ่มเพาะความยืดหยุ่นให้เด็กแบบเฮอร์ไมโอนี พาพวกเขาไปรู้จักชีวิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้ที่เคยล้มเหลวแต่ยังประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ พ่อแม่อาจแนะนำให้เด็กแบบเฮอร์ไมโอนีรู้จักทฤษฎีปลาใหญ่ในสระเล็ก (big-fish-little-pond theory) กล่าวคือบางครั้งการเป็นผู้มีความสามารถโดดเด่นในพื้นที่ที่มีการแข่งขันน้อยกว่าอาจดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาวกว่าการผลักดันตัวเองไปสู่สระที่ใหญ่กว่าและหลงทาง ในที่สุด ความมั่นใจจากการเป็นปลาใหญ่ในสระเล็กนั้นจะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความมั่นใจในตนเองซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในทุกด้านด้วย

 

 

“พักให้เป็น” ในโลกที่การพักผ่อนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการก้าวเดิน

 

นอกจากการเสริมสร้างวินัยและแรงจูงใจแล้ว อีกองค์ประกอบหนึ่งของความสามารถในการกำกับดูแลตนเองที่บิลและเน็ดให้ความสนใจคือการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

การพักผ่อนดูจะไม่ใช่ประเด็นที่มีผู้สนใจนักเมื่อกล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพ แต่บิลและเน็ดเชื่อว่าการพักผ่อนคือ “รากฐานของทุกกิจกรรม” เพราะการพักผ่อนเป็นหนทางพัฒนา “เครือข่ายอัตโนมัติ” ในสมองที่ดีที่สุด

เครือข่ายอัตโนมัติที่จะทำงานเมื่อเด็กไม่ได้จดจ่อกับอะไรเป็นพิเศษนั้นมีบทบาทสำคัญในการคงไว้ซึ่งสุขภาวะที่ดีของสมอง โดยมันจะปล่อยให้สมองวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และสร้างสถานการณ์ทางเลือก จนได้พัฒนาความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ พิจารณาความหมายของปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนทบทวนอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น

การพักผ่อนที่บิลและเน็ดกล่าวถึงในเล่มประกอบด้วยการพักผ่อนสองประเภทใหญ่ คือการตัดขาดจากความอลหม่านรอบกาย และการพักผ่อนที่มนุษย์ (ควร) ใช้เวลาด้วยมากที่สุดในแต่ละวันคือการนอนหลับ

ศัตรูที่ทั้งสองคิดว่าบ่อนทำลายความสามารถในการพักผ่อนของลูกๆ มากที่สุดคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้เด็กเชื่อมต่อกับความเป็นไปในทุกส่วนของโลกตลอดเวลา ผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ เพราะ “ทุกชั่วโมงที่เด็กใช้ไปกับหน้าจอสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่สูงขึ้น ขณะที่ทุกชั่วโมงในการอ่านจะทำให้ความดันโลหิตลดลง ผลข้างเคียงเหล่านี้เป็นอิสระจากเวลาที่ใช้ออกกำลังกาย หมายความว่าการวิ่งรอบสนามหนึ่งชั่วโมงนั้นไม่เพียงพอหากใช้ช่วงเวลาที่เหลือในวันนั้นเพื่ออยู่กับหน้าจอ”

เครือข่ายอัตโนมัติที่จะทำงานเมื่อเด็กไม่ได้จดจ่อกับอะไรเป็นพิเศษนั้นมีบทบาทสำคัญในการคงไว้ซึ่งสุขภาวะที่ดีของสมอง โดยมันจะปล่อยให้สมองวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และสร้างสถานการณ์ทางเลือก จนได้พัฒนาความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ พิจารณาความหมายของปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนทบทวนอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น

 

นอกจากนี้ การเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์ตลอดเวลายังทำให้เด็กๆ รู้สึกเหมือนกำกับดูแลชีวิตได้น้อยลง เพราะมันกระตุ้นให้พวกเขาต้องแบ่งปันประสบการณ์ส่วนบุคคลกับผู้คนที่เมื่อไม่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้าแล้วก็อาจขาดความเห็นอกเห็นใจขณะแสดงความคิดเห็น เช่น การถูกวิจารณ์การแต่งกายหรือรูปลักษณ์ ฯลฯ ขณะที่จำนวนไลก์และแชร์ที่หลายคนคิดว่าเป็นการแสดงออกซึ่งการยอมรับนั้น บิลและเน็ดกล่าวว่าในปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ ตัวเลขที่ดูจะไม่มีความหมายเหล่านี้ “เปรียบเทียบได้กับการถูกเพื่อนโอบกอดหรือผลักไสในชีวิตจริงเลยทีเดียว”

ผู้เขียนทั้งสองจึงแนะนำให้พ่อแม่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างในการใช้งานเทคโนโลยี บอกลูกว่าไม่ว่าใครก็มีปัญหาในการควบคุมการใช้เทคโนโลยีทั้งนั้น กระทั่งพ่อแม่เอง จากนั้นจึงเสนอเคล็ดลับที่ได้ผลกับตนและผู้อื่น ตลอดจนอนุญาตให้ลูกตำหนิหากลูกพูดด้วยแล้วพ่อแม่ยังง่วนกับโทรศัพท์ ขอโทษลูก และแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่กำลังพยายามปรับปรุงตนเองเช่นกัน

 

 

ทั้งนี้ การแสดงออกว่าพ่อแม่มั่นใจความสามารถของลูกๆ ในการควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีก็สำคัญ และเมื่อประกอบกับการให้ข้อมูลข้อดีและข้อเสียของการใช้งานเทคโนโลยี ตลอดจนให้คำแนะนำเพื่อลดใช้งาน ก็จะได้ผลดีกว่าการบังคับให้หยุดใช้ หรือกำหนดเวลาใช้งานที่ลูกไม่มีส่วนร่วมกำหนดด้วย

บิลและเน็ดยังแนะนำอีกด้วยว่าการหาเวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติจะทำให้ทั้งการลดการใช้งานเทคโนโลยีและการนอนหลับมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การนอนหลับนั้นสำคัญต่ออะมิกดาลา เพราะการนอนหลับลดความเครียด และทำให้อะมิกดาลาไม่ตอบสนองรวดเร็วเกินควร ยิ่งกว่านั้น การนอนหลับยังสำคัญต่อการเรียนรู้ โดยในงานวิจัยที่เด็กชั้น ป.6 ต้องนอนหลับมากกว่าปกติหนึ่งชั่วโมงหรือนอนน้อยกว่าปกติหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันสามคืนนั้น เด็กที่นอนน้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ เพียง 35 นาทีมีผลการทดสอบเชาวน์ปัญญาเท่ากับเด็กชั้น ป.4 หรือสูญเสียความสามารถในการคิดไปถึงสองปี!

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการนอนหลับจะ “ฉายซ้ำประสบการณ์ของเรา ส่งสัญญาณระหว่างคอร์เทกซ์กับฮิปโปแคมปัสที่สร้างและจัดเก็บความทรงจำกลับไปกลับมา แล้วผสมผสานและรวบรวมความทรงจำเข้าด้วยกัน สิ่งที่เพิ่งเรียนรู้ได้ไม่นานจะฉายซ้ำในสมอง กระทั่งซึมลึกและเชื่อมโยงกับสิ่งที่เคยเรียนรู้เมื่อนานมาแล้ว” และการพยายามอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สัมผัสแสงปริมาณมากน้อยในแต่ละช่วงเวลาโดยสอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ จะทำให้ผ่อนคลายและหลับได้ดีขึ้นนั่นเอง

 

การแสดงออกว่าพ่อแม่มั่นใจความสามารถของลูกๆ ในการควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีก็สำคัญ และเมื่อประกอบกับการให้ข้อมูลข้อดีและข้อเสียของการใช้งานเทคโนโลยี ตลอดจนให้คำแนะนำเพื่อลดใช้งาน ก็จะได้ผลดีกว่าการบังคับให้หยุดใช้ หรือกำหนดเวลาใช้งานที่ลูกไม่มีส่วนร่วมกำหนดด้วย

 

นอกจากการนอนหลับแล้ว การพักผ่อนระยะสั้นเพื่อตัดขาดจากความว้าวุ่นทางอารมณ์อย่างการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิแม้ในระดับพื้นฐานก็มีประโยชน์มาก กล่าวคือเพียงการกำหนดสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออกและสังเกตความผันผวนของความคิด ตลอดจนการจดจ่อกับปัจจุบันขณะโดยไม่ตัดสินหรือโต้ตอบ ก็ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ปฏิกิริยาของตนเองต่อความคิดเหล่านั้น ได้สำรวจร่างกายของตนเพื่อหาที่มาของความเครียด และได้เสริมพัฒนาการด้านจริยธรรมอันเกิดจากการทบทวนตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความอดทน ความเชื่อใจ หรือความเห็นอกเห็นใจแล้ว

งานวิจัยเกี่ยวกับผลของการเจริญสติต่อเด็กยังอยู่ในระยะเริ่มแรก ทว่ามีผลการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่าการเจริญสติบรรเทาความเครียด ความก้าวร้าว และความวิตกกังวลทางสังคมได้ ทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะบริหารจัดการ (executive function) เช่น ทักษะการยับยั้งชั่งใจ ความจำใช้งาน (working memory) ฯลฯ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพด้านคณิตศาสตร์ เปลี่ยนแปลงของการทำงานของสมองและการแสดงออกของยีน คือกระตุ้นการเปิดหรือปิดการทำงานของหน่วยพันธุกรรมบางตัวที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความเครียด

แม้บิลและเน็ดจะเชื่อว่าการปฏิบัติสมาธิเป็นประโยชน์ต่อเด็ก พวกเขาก็ไม่เชื่อว่าการบังคับให้เด็กๆ ปฏิบัติสมาธินั้นถูกต้อง พวกเขาเชื่อว่าเด็กๆ จะปฏิบัติสมาธิด้วยตนเองหากได้รับการปลูกฝังว่าการปฏิบัติสมาธิเป็นเครื่องมือบรรเทาความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ และ/หรือเพิ่มพูนผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนได้ ทั้งนี้ เพราะการยอมรับจากเพื่อนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับวัยรุ่น เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะปฏิบัติสมาธิหากมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันสนับสนุน บิลและเน็ดจึงแนะนำให้พ่อแม่ชี้ให้ลูกเห็นประโยชน์ของการเจริญสติ ร่วมมือกันหาวิธีแทรกการปฏิบัติสมาธิเข้าไปในตารางงาน รวมถึงซื้อใจลูกให้ได้ก่อนเริ่มปฏิบัติ โดยนอกจากบอกประโยชน์ของการเจริญสติแล้ว การปฏิบัติสมาธิด้วยตนเองก่อนจึงชวนลูกมาปฏิบัติด้วยก็ได้ผลดี

 

มีผลการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่าการเจริญสติบรรเทาความเครียด ความก้าวร้าว และความวิตกกังวลทางสังคมได้ ทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะบริหารจัดการ (executive function) เช่น ทักษะการยับยั้งชั่งใจ ความจำใช้งาน (working memory) ฯลฯ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพด้านคณิตศาสตร์ เปลี่ยนแปลงของการทำงานของสมองและการแสดงออกของยีน คือกระตุ้นการเปิดหรือปิดการทำงานของหน่วยพันธุกรรมบางตัวที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความเครียด

 

 

เห็นได้ชัดว่ากระบวนการบ่มเพาะต้นกล้าในวันนี้ให้ “อยู่เองได้ โตเองเป็น” นั้นไม่ซับซ้อน เพียงพ่อแม่ยอม “ลดระดับ” ตัวเอง หรือเปิดโอกาสให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเอง มอบความเชื่อใจให้ลูกและอยู่เคียงข้างพวกเขาระหว่างการลองผิดลองถูกก็เพียงพอ เพราะย่อมไม่มีอะไรเป็นครูที่ดีได้มากกว่าประสบการณ์ การมอบโอกาสให้เด็กสัมผัสประสบการณ์การตัดสินใจ และแสดงความรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจของตัวเอง จึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พ่อแม่ปล่อยมือจากลูกได้อย่างมั่นใจ

หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงอธิบายแนวทางการเลี้ยงดูที่สอดคล้องกับทฤษฎีประสาทวิทยาศาสตร์และการบำบัดพฤติกรรมเท่านั้น แต่ยังตอบตัวอย่างคำถามหลากหลายจากพ่อแม่มากหน้าหลายตาที่บิลและเน็ดได้ให้ความช่วยเหลือตลอดหลายสิบปี จึงแน่ใจได้ว่า อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง จะมอบทางออกที่ครอบคลุมให้ทุกความวิตกกังวลของพ่อแม่ ซึ่งเมื่อบรรเทาได้แล้วก็จะเป็นผลดีต่อการบ่มเพาะเด็กที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และก้าวต่อไปด้วยตนเองได้อย่างมั่นคง

 

 

อ่านเพิ่มเติมได้ใน

อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

416 หน้า

 

 

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่