อ่าน “Long Life Learning : เรียนรู้ใหม่ ไม่รู้จบ”

อภิรดา มีเดช เรื่อง

รายงานดัชนีอายุขัยทั่วโลก (Global AgeWatch Index) คาดการณ์ว่าภายในปี 2100 จำนวนคนที่มีอายุ 80 ปีหรือมากกว่านั้นจะมากขึ้นถึงเจ็ดเท่าตัว คือจาก 125 ล้านคนเป็น 944 ล้านคน

ช่วงชีวิตคนเราที่ยืดยาวออกไปทำให้เราต้องหันมาขยายระยะเวลาการทำงานอย่างจริงจัง กล่าวคือ ในอนาคตเราอาจจะต้องทำงาน 60 80 หรือ 100 ปี เรียกได้ว่า ชีวิตการทำงาน 100 ปีไม่ใช่สิ่งเกินจินตนาการอีกต่อไป

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 นั่นคือ ตำแหน่งงานยอดนิยมจากการจัดลำดับของลิงด์อินคืองานที่ห้าปีก่อนหน้านั้นไม่เคยมี แล้วตลอดเส้นทางการทำงาน 100 ปีจะมีอาชีพที่วันนี้เราไม่รู้แม้แต่ชื่ออีกจำนวนเท่าไรกัน

ในชีวิตการทำงานที่ยืดยาวขึ้นขนาดนี้ เราอาจเผชิญความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทักษะหลักๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะการเปลี่ยนงาน 20-30 ตำแหน่งจะกลายเป็นเรื่องปกติ และการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่

แนวคิดว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะทำให้กฎหนึ่งในชีวิตเราชัดเจนขึ้น กล่าวคือการศึกษาและการพัฒนาทักษะจะทวีความสำคัญต่อเราอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะพนักงานแห่งอนาคตคือ พวกเรา ทุกคนนั่นเอง

“หากวันนี้เราลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับอนาคตแล้ว ย่อมมั่นใจได้ว่าผู้เรียนรุ่นหลังจะมีทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพในวันข้างหน้า”

มิเชลล์ อาร์. ไวส์ อดีตนักนวัตกรรมการเรียนรู้และนักยุทธศาสตร์การศึกษา
ผู้เขียน “Long Life Learning: เรียนรู้ใหม่ ไม่รู้จบ”

หนังสือเล่มนี้มุ่งให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมพลิกโลกต่อกลุ่มเป้าหมายอย่าง ผู้ไม่บริโภค (nonconsumer) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วยความบกพร่องของระบบการศึกษาและโครงสร้างตลาดแรงงาน เพราะในระบบนิเวศ นอกจากต้องคิดถึงการเติบโตจากทรัพยากรที่มี ยังต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่ขาดแคลนที่สุดซึ่งเปรียบเสมือนข้อจำกัดด้วย

ในห่วงโซ่อันประกอบด้วยบุคลากรในภาคการศึกษา ผู้เรียน นายจ้างหลายล้านคน รวมทั้งนโยบายที่ทับซ้อนทั้งของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และหน่วยงานในท้องถิ่น องค์ประกอบสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแลคือกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

ชนชั้นแรงงานในสหรัฐอเมริกาคือกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายอย่างยิ่งทั้งในแง่เชื้อชาติ พื้นเพของครอบครัว และประสบการณ์ชีวิต “พวกเขาคือคนหมู่มากในระบบนิเวศของเรา ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ก็มีประชากรชาวอเมริกันมากกว่า 41 ล้านคนแล้วที่ต้องดิ้นรนหางานที่สร้างรายได้มากพอต่อการดำรงชีพ” ไวส์ กล่าว

เราทุกคนต่างเชื่อมโยงกัน และหากพลเมืองจำนวนมากของเราไม่สามารถก้าวหน้าได้ในวันนี้ ก็ย่อมส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในระบบนิเวศด้วย การมองหาทางออกโดยอาศัยความต้องการของกลุ่มคนที่เผชิญความยากลำบากมากที่สุดเป็นแกนจะทำให้เรามองเห็นและแก้ไขปัญหาสำคัญ ทลายอุปสรรคและสิ่งกีดขวางต่างๆ ได้สำเร็จ 

ปัญหาและความท้าทาย

  • บริษัทละเลยการลงทุนพัฒนาพนักงาน ขาดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคนทำงานในสถานที่ทำงาน
  • พนักงานต้องมีภาระในการดูแลคนในครอบครัวมากขึ้น
  • การช่วยเหลือดูแลแรงงานอายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากระบบบำนาญของทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับอายุคาดเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้น
  • มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครงานวัยเกษียณ มีงานวิจัยชี้ว่า “การเลือกปฏิบัติเนื่องจากอายุของผู้สมัครคือสาเหตุที่แรงงานสูงวัยโดยเฉพาะผู้หญิงไม่สามารถหางานใหม่ได้”
  • ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบ ไม่ว่าภาคธุรกิจ หน่วยงานที่สนับสนุนเงินทุน นักลงทุน ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย และนวัตกรต่างพิจารณาปัญหาทั้งหมดนี้แบบแยกส่วนกัน

“งานแห่งอนาคต” หน้าตาเป็นอย่างไร

แม้ยังไม่มีใครรู้ว่าอาชีพใหม่ในอีกห้าปีข้างหน้าจะเป็นอะไรบ้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ก็พอคาดการณ์ได้ว่า งานแห่งอนาคตมีลักษณะผสมผสานโดยธรรมชาติ 

งานเหล่านี้ “ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยรายละเอียดงานที่ตายตัว หรือชื่อตำแหน่งที่เรียบง่าย งานเหล่านี้ต้องอาศัยทั้งทักษะเฉพาะด้าน ทักษะเชิงอุตสาหกรรม การบริหารจัดการ และการคิดแบบบูรณาการ เช่นเดียวกับทักษะการสื่อสาร การโน้มน้าว และการทำงานเป็นทีม” จอช เบอร์ซิน อธิบาย

แรงงานที่ทรงคุณค่าที่สุดในปัจจุบันและอนาคตคือกลุ่มคนที่สามารถผสมผสานทักษะมนุษย์กับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรียกสั้นๆ ว่า “ทักษะมนุษย์+” และพร้อมจะปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดแรงงาน

ทักษะมนุษย์+ นี้มีหลายแง่มุมที่คล้ายคลึงกับแนวคิดทักษะแบบตัวที ซึ่งปรากฏในปทานุกรมศัพท์เฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1990 โดยตัวทีมาจากกราฟการผสมผสานระหว่างความรู้รอบกับความเข้าใจที่ลึกซึ้งของปัจเจกบุคคล

เมื่อเรามีชีวิตการทำงานยาวนานขึ้นและยากจะคาดเดาได้ แม้แต่ทักษะแบบตัวทีก็ล้าสมัย รูปแบบองค์ความรู้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเส้นคดเคี้ยวขณะที่เราก้าวไปข้างหน้าและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดทาง ขึ้นอยู่กับบริบทการทำงานของเรา ส่งผลให้ภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิตอันยืดยาวมีหน้าตาแบบนี้แทน

เราอาจเริ่มสงสัยว่า เมื่อไรกันที่เราจะเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตอันยืนยาวได้ และจะพัฒนาทักษะมนุษย์+ ได้ที่ไหน แล้วหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรที่จะมาแทนที่มนุษย์อย่างที่หลายคนกลัวกันล่ะ

“นี่ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อเอาชนะเครื่องจักร เราจะแพ้แน่นอนถ้าคิดจะแข่งขันกับพวกมัน แต่นี่คือการแข่งขัน ร่วมกับ เครื่องจักร ในอนาคต คุณจะได้ค่าตอบแทนดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้เก่งฉกาจแค่ไหน เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของเพื่อนร่วมงานคุณคือเครื่องจักรที่มองไม่เห็น” เควิน เคลลี คาดการณ์แนวโน้มเทคโนโลยีแห่งอนาคตไว้ในหนังสือ The Inevitable 

ข่าวดีคือสิ่งที่เป็นแกนกลางของประสบการณ์มนุษย์ หรือสิ่งที่เราในฐานะมนุษย์ทำได้ดีโดยไม่ต้องพยายาม อาจเป็นกำลังส่งให้เราเอาชนะเครื่องจักร รวมถึงทำงานร่วมกับพวกมันได้ดีขึ้น การศึกษาเกี่ยวกับงานแห่งอนาคตต่างชี้ให้เห็นความต้องการ ทักษะมนุษย์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นความสามารถซึ่งหุ่นยนต์หรือการเรียนรู้ของเครื่องจักรไม่อาจจำลองได้

ทักษะและความสามารถของมนุษย์นั้นมีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น ทักษะทางสังคม ทักษะทางอารมณ์และสังคม ทักษะด้านพฤติกรรม ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทักษะเพื่อการทำงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบของมนุษย์เมื่อเทียบกับเครื่องจักร ซึ่งการแสดงทักษะของมนุษย์ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้

การเรียนระดับอุดมศึกษาจำเป็นแค่ไหน?

“การเรียนระดับอุดมศึกษาคือการเตรียมพร้อมสำหรับชีวิต ไม่ใช่การฝึกฝนเพื่อตำแหน่งงานแรกหลังเรียนจบ” ทิม จอห์นสตัน สภาวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าว

ผลสำรวจความคิดเห็นประชากรกว่า 350,000 คน ระหว่างปี 2017-2019 โดยสถาบันสตราดา (Strada Institute for the Future of Work) ร่วมกับแกลลัป ทำการสำรวจเชิงลึกในกลุ่มคนวัยทำงานพบว่า ไม่ว่าจะเรียนสาขาวิชาใดก็ตาม มีบัณฑิตเพียงหยิบมือเท่านั้นที่เห็นว่าสิ่งที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยมีประโยชน์หรือจำเป็นต่องานที่ทำ 

เหล่านักศึกษาสาขาวิชาสเต็ม (STEM) ภาษาและปรัชญา ต่างก็ไม่พึงพอใจหลักสูตรในระดับใกล้เคียงกัน โดยมีบัณฑิตเพียง 59 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าตนนำเนื้อหาในชั้นเรียนมาใช้ประโยชน์ได้จริง

ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้เรียนวัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคใหม่ของอุตสาหกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ขยับขยายมุมมองต่อกลุ่มนักศึกษา รวมถึงปรับวิธีให้บริการที่สอดคล้องกับผู้เรียนที่มีเงื่อนไขในชีวิตที่หลากหลาย อีกทั้งอุปสรรคสำคัญของคนหางานคือนายจ้างยังคงเลือกใช้ใบปริญญาเป็นตัวคัดกรองเบื้องต้นในการสมัครงาน 

งานวิจัยเมื่อปี 2013 ของมาร์ก ชไนเดอร์ จากสถาบันวิจัยแห่งอเมริกา พบว่าบางกรณี ประกาศนียบัตรจากการฝึกอบรมก็เพียงพอแล้วสำหรับงานซึ่งสร้างรายได้ระดับชนชั้นกลาง และบางครั้งก็อาจสร้างรายได้มากกว่าของบัณฑิตระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเดียวกัน

แต่ปัญหาใหญ่คือผู้เรียนส่วนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีโครงการฝึกอบรมเหล่านี้อยู่ คนทั่วไปมักเข้าใจว่าปริญญาบัตรคือเส้นทางที่แน่นอนที่สุดในการประสบความสำเร็จ โดยไม่รู้เลยว่ามีเส้นทางอื่นๆ ที่น่าสนใจและให้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยมเช่นกัน

เปลี่ยนจากเรียนรู้อิงหน่วยกิต เป็น “เรียนรู้ฐานสมรรถนะ”

ระหว่างที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มนำเสนอหลักสูตรออนไลน์แก่ผู้เรียน ซึ่งยังคงวัดผลการเรียนรู้โดยอิงกับจำนวนหน่วยกิต ผู้เขียนได้นำเสนอช่องทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (competency-based education – CBE) ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญหรือการสร้างสมรรถนะในวิชานั้นๆ โดยไม่สนใจว่าผู้เรียนใช้เวลามากน้อยเท่าไร หมายความว่านักศึกษาต้องได้รับความรู้ โดยเวลาที่ใช้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะออนไลน์มีเป้าหมายเพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านระหว่างโลกของการเรียนรู้กับการทำงานราบรื่นขึ้น พร้อมกับที่สื่อสารกับนายจ้างอย่างชัดเจนว่าผู้เรียนประยุกต์ใช้ความรู้นั้นๆ เพื่อ ทำ อะไรได้บ้าง

หลังจากนั้น หลายสถานศึกษาได้หันมาจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จสมความตั้งใจ หากขาดสองปัจจัยที่บ่มเพาะนวัตกรรมนี้ ได้แก่ การแบ่งการเรียนรู้เป็นหน่วยย่อยๆ และชุดคุณค่าใหม่ของเหล่านายจ้าง

สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะออนไลน์สามารถผสมผสานและเรียงร้อยหน่วยการเรียนรู้เข้าด้วยกันในรูปแบบแตกต่างกันไปเพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายของนักศึกษา เปรียบเสมือนเลโก้ที่สามารถประกอบเป็นสะพานหรือบ้านได้ตามความต้องการ 

ขณะเดียวกันประสบการณ์การเรียนรู้ที่ออกแบบร่วมกับนายจ้างหรือได้รับการยอมรับจากนายจ้างมีศักยภาพในการสร้างชุดคุณค่าที่แยกขาดจากชุดเดิมหรือทรงพลังยิ่งกว่า ซึ่งอาจกระทั่งก้าวเข้ามาแทนที่บทบาทอันทรงอิทธิพลของใบปริญญาในตลาดแรงงาน

มุ่งสู่ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่

5 หลักคิดสู่ระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ทำงานได้ดีกว่าเดิม และบรรลุเป้าหมายในโลกการทำงานแห่งอนาคต

  1. ฉายให้เห็นภาพใหญ่ (Navigable)
  2. สนับสนุนอย่างรอบด้าน (Supportive)
  3. การศึกษาอย่างมีเป้าหมาย (Targeted) 
  4. มีลักษณะบูรณาการ (Integrated)
  5. การจ้างงานที่โปร่งใส (Transparent) 

ทั้งห้าหลักคิดต่างเชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่ใช้การได้ดีขึ้น

ตัวอย่างนวัตกรรมส่งเสริมผู้เรียนวัยทำงานจากองค์กรดาวรุ่ง

เข็มทิศทักษะ

เครื่องมือสกิลส์แมตช์ (SkillsMatch) โดยบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเอ็มซี หลังจากผู้ใช้งานใส่ข้อมูล เช่น ประสบการณ์ในอดีต รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากเอกสารสมัครงานเข้าไป จะได้ผลลัพธ์เป็นความสามารถด้านต่างๆ ซึ่งผู้ใช้งานใช้เพื่อพัฒนาประวัติของตนให้สมบูรณ์ขึ้นได้ 

สกิลส์แมตช์ยังเสนอเส้นทางอาชีพจำนวนหนึ่งที่เป็นไปได้ โดยที่ตำแหน่งงานเหล่านี้ไม่เคยเป็นหนึ่งในตัวเลือกของพวกเขาด้วยซ้ำ อีกทั้งประมาณการช่องว่างทางทักษะได้ว่าหากต้องการทำงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรือถ้าอยากผันตัวไปเป็นนักวิเคราะห์โครงข่าย ต้องเพิ่มทักษะอีกกี่เปอร์เซ็นต์ และยังเชื่อมโยงกับสถานศึกษาโดยเจาะจงระดับหลักสูตรและเนื้อหาที่จะถมช่องว่างเหล่านั้นด้วย

บริการสนับสนุนอย่างรอบด้าน

เพราะเข้าใจความยุ่งเหยิงของชีวิตวัยทำงาน เป็นที่มาของบริการสนับสนุนอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเรียนรู้ไปจนถึงหลังได้งาน ซึ่งประกอบด้วยการให้คำปรึกษา บริการด้านสุขภาพจิต คำแนะนำทางการเงิน หรือกระทั่งความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย เช่น ค่าที่พักและค่าเดินทาง  

ตัวอย่างน่าสนใจคือ สไตรฟ์ (STRIVE) บริษัทก่อตั้งในนิวยอร์ก และขณะนี้มีเครือข่ายครอบคลุม 20 เมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ช่วยเหลือผู้เรียนวัยทำงานด้วยการจัดให้ทุกคนมีผู้จัดการประจำตัวที่ดูแลทุกเรื่อง ตั้งแต่สุขภาพจิต เสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในครอบครัว

หรือกรณีของจ็อบเคส (Jobcase) ที่ขึ้นแท่นแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ใหญ่ที่สุดอันดับสี่ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 หรือเป็นหนึ่งใน “แอปที่ทุกคนต้องมีติดเครื่อง” โดยประกอบด้วยสามส่วนหลัก ได้แก่ หน้าข้อมูลผู้ใช้งาน พื้นที่เชื่อมต่อ และชุมชนออนไลน์ที่ได้ชื่อว่า “สูตรลับความสำเร็จ”

ชุมชนในโลกเสมือนของจ็อบเคสยังมีพัฒนาการที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างการก่อตั้งสหภาพสมัยใหม่เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของเหล่าแรงงานอีกด้วย

การถ่ายโอนความรู้ระยะไกล

“บางทีความท้าทายที่สำคัญที่สุดในศาสตร์การศึกษาคือปัญหาในการถ่ายโอนความรู้” สตีเฟน คอสลิน อดีตคณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด แสดงความเห็น

“การถ่ายโอนความรู้ระยะไกล” หมายความว่าเมื่อโครงสร้างความรู้ยืดหยุ่นอย่างยิ่งจนสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในขอบเขตของศาสตร์อื่นหรือสถานการณ์ที่แปลกใหม่ นับเป็นโจทย์สำคัญและสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเรียนรู้

แทนที่จะท่องจำเนื้อหา ผู้เรียนต้องสร้างอุปนิสัยในการคิดที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา และถ่ายโอนความรู้จากบริบทหนึ่งไปสู่อีกบริบทหนึ่งให้ได้

หลักสูตรยกระดับสร้างโอกาส

ไม่ว่าสถานการณ์ปัจจุบันของเราจะเป็นอย่างไร ในอนาคตเราย่อมต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยระหว่างการทำงาน อาจจะก้าวสลับไปมาระหว่างการเรียนรู้กับการทำงาน หรือทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน

หนึ่งในความท้าทายของเราคือการเข้าไม่ถึงหลักสูตรยกระดับที่ก้าวสลับไปมาระหว่างโลกแห่งการเรียนรู้และการทำงานได้ แม้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนพูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่สิ่งที่พูดกลับไม่สอดคล้องกับการกระทำ เพราะทรัพยากรและเม็ดเงินถูกทุ่มเทให้กับการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนวัย 18-24 ปี โดยแทบไม่ได้ปันส่วนมาให้คนวัยทำงานซึ่งปัจจุบันเป็นผู้เรียนกลุ่มใหญ่ที่สุดและเติบโตอย่างต่อเนื่องเลย

หลักสูตรยกระดับเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เรามองหา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คงเหมือนทางแยกต่างระดับบนทางหลวง เมื่อเราเลี้ยวรถขึ้นทางยกระดับนั่นหมายถึงเรากำลังเก็บเกี่ยวทักษะจากระบบการศึกษา และเมื่อได้ทักษะที่ต้องการก็กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างราบรื่น

เพื่อให้เหล่าผู้ใหญ่จำนวนมากขึ้นประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ตำแหน่งงานใหม่ การสร้างสรรค์ประสบการณ์การเรียนรู้ที่แบ่งเป็นหน่วยย่อยๆ ได้และมีเป้าหมายชัดเจนจึงสำคัญยิ่ง

4 ประเภทของหลักสูตรยกระดับ

  1. เรียนรู้ตามบริบท
  2. เรียนรู้ผ่านประสบการณ์
  3. เรียนรู้ทักษะด้วยเทคโนโลยี
  4. ประสบการณ์การเรียนรู้แบบผสมผสาน 

เราต้องการโอกาสการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนยิ่งขึ้น ตรงจุดขึ้น เป็นการเรียนรู้ที่เรียกร้องเวลาไม่มากและใส่เข้าไปในตารางชีวิตอันแน่นขนัดเพื่อความอยู่รอดของพวกเขาได้

ตัวอย่างการพัฒนาเส้นทางการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์กว่าเดิมเพื่อเพิ่มโอกาสให้เหล่าแรงงาน คือแนวคิด “รูปร่างทักษะ” (skill shapes) เป็นศัพท์ใหม่ที่คิดค้นขึ้นเพื่อปิดช่องว่างความไม่เข้าใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดแรงงาน หมายถึงอุปสงค์ต่อทักษะที่เจาะจง ซึ่งสอดคล้องกับสาขาอาชีพ ภูมิภาค หรือบุคคลนั้นๆ โดยนำประกาศรับสมัครงานหรือเอกสารสมัครงานในพื้นที่ต่างๆ มาเข้ากระบวนการวิเคราะห์ล้ำสมัยโดยสถาบันสตราดาและเอ็มซี

ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เห็นรายละเอียดมากกว่าเพียงประเภทอาชีพหรืออุตสาหกรรม โดยสามารถบอกได้ว่านายจ้างกำลังมองหาทักษะใดอย่างเจาะจง เช่น การควบคุมเครื่องจักร การผลิตด้วยมาตรฐานจีเอ็มพี แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกับอุปทานแรงงานที่มีทักษะเหล่านั้นในพื้นที่

รากฐานของระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ ได้เวลาเชื่อมต่อข้อมูล

ปัญหาที่เรากำลังเผชิญไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนข้อมูล แต่ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอุดมศึกษา และหลักสูตรพัฒนาแรงงานยังกระจัดกระจายและไม่เชื่อมร้อยกันต่างหาก

ตัวอย่างน่าสนใจคือ “ทรัสต์ข้อมูล” สำหรับตลาดแรงงาน โดยบริษัทไบรต์ไฮฟ์ (BrightHive) พูดง่ายๆ คือทำให้ข้อมูลของสถาบันต่างๆ ได้สื่อสารระหว่างกัน ทั้งยังเชื่อมต่อข้อมูลได้อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ

นับเป็นงานยากในการทำให้สามภาษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงสื่อสารกันได้ ทั้งภาษาของนายจ้าง ภาษาของสถานศึกษา และภาษาของคนหางาน ซึ่งไบรต์ไฮฟ์ก้าวข้ามความท้าทายนี้และทำได้สำเร็จ

ยังมีโครงการริเริ่มอื่นๆ ที่สะท้อนภารกิจอันสลับซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องบรรลุ เพื่อเชื่อมโยงและขับเคลื่อนให้นายจ้าง ผู้กำหนดนโยบาย แหล่งเงินทุน รวมถึงสถานศึกษา ใช้ภาษาเดียวกันในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนวัยทำงานอย่างตรงจุด 

งานอันยิ่งใหญ่นี้มีจุดเริ่มต้นที่การลงทุนออกแบบระบบนิเวศใหม่สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอันยืนยาว ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม การทำงานของคนเราไม่ได้ตอบโจทย์เพียงประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น คนจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับ “ศักดิ์ศรีของการทำงาน” ที่สะท้อนจุดหมายในการทำงานและการได้รับพลังจากการรู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

หากเริ่มต้นด้วยความเข้าอกเข้าใจคนที่กำลังเผชิญอุปสรรคที่สาหัสที่สุด เราย่อมสามารถออกแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่เพื่อขจัดความยุ่งยากเหล่านั้นและสร้างเส้นทางการเรียนรู้ไร้รอยต่อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่เพียงสำหรับพวกเขาเท่านั้น แต่สำหรับเราทุกคน

อนาคตของคนทำงานคืออนาคตของเราทุกคน เรื่องราวว่าด้วยอนาคตของการทำงานและการเรียนรู้คือเรื่องราวที่เราเล่าให้ตัวเองฟัง และเป็นเรื่องราวแห่งอนาคตที่ต้องลงมือเขียนด้วยตัวเราเอง


สั่งซื้อหนังสือ Long Life Learning: เรียนรู้ใหม่ ไม่รู้จบ

Long Life Learning: เรียนรู้ใหม่ ไม่รู้จบ

Original price was: 395฿.Current price is: 356฿.

สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ พร้อมรับมืองานแห่งอนาคตที่วันนี้ยังมาไม่ถึง อนาคตมาถึงแล้ว อายุขัยของมนุษย์ยืนยาวขึ้นจนชีวิตการทำงานอาจยาวนานถึง 100 ปี พร้อมการเปลี่ยนงาน 20-30 ครั้ง! 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยไม่เพียงพออีกต่อไป การเรียนรู้ใหม่ตลอดชีวิตคือคำตอบสุดท้าย แต่คนทำงานรายได้น้อย ภาระหนัก จะหาเงินและเวลาเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างไร แรงงานวัย 50 ปีขึ้นไปเริ่มต้นใหม่ได้จริงหรือ เราจะแข่งขันในเกมเปลี่ยนสายงานได้หรือไม่หากใบปริญญาในมือไม่ตอบโจทย์อนาคต แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการออกจากงานเพื่อเรียนรู้ใหม่จะให้ผลลัพธ์คุ้มค่า มิเชลล์ อาร์. ไวส์ อดีตนักนวัตกรรมการเรียนรู้และนักยุทธศาสตร์การศึกษา จะพลิกแนวคิด lifelong learning เป็น long life learning เพื่อรับมืองานแห่งอนาคต ผ่านระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการศึกษาสู่ตลาดแรงงาน ด้วยหลักคิดห้าประการเพื่อเชื่อมต่อความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา และนายจ้าง พร้อมนวัตกรรมการเรียนรู้จากหลากหลายองค์กรดาวรุ่ง ไม่ว่าจะเป็น …   จีพีเอสการศึกษาที่ระบุช่องว่างทักษะได้แม่นยำ พร้อมเสนอเส้นทางไปต่อที่คุ้มเวลาและค่าใช้จ่าย บริการสนับสนุนอย่างรอบด้านทั้งค่าเล่าเรียนและคำปรึกษา ตั้งแต่เริ่มเรียนรู้จนถึงหลังได้งาน หลักสูตรที่ยืดหยุ่น ออกแบบเองได้ดังใจนึก สอดรับกับตำแหน่งงานใหม่ ระบบจ้างงานที่โปร่งใส สมเหตุสมผล เปิดโอกาสให้ผู้มีทักษะทุกวัยและทุกที่มา   อนาคตของคนทำงานคืออนาคตของเราทุกคน ถึงเวลาสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เพิ่มโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคนนับล้าน เพื่อยกระดับสังคมแห่งศตวรรษใหม่ให้เท่าเทียม เปี่ยมความหวัง และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง