quote – เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม: ถอดนวัตกรรมการศึกษาฉบับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน

 

รวบรวมประโยคประทับใจจากเสวนาสาธารณะ “เตรียมพร้อม เติบโต เติมเต็ม: ถอดนวัตกรรมการศึกษาฉบับ Summit School สู่อนาคตของเด็กทุกคน” เพื่อสำรวจสถานการณ์ความพร้อมต่อการมีชีวิตที่ผาสุกและมั่นคงของเยาวชน ผ่านมุมมองจากหลากหลายตัวละครในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู และนักการศึกษานอกระบบโรงเรียน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทย

 

 

“กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่กระทรวงเกรดเอของผู้บริหารประเทศ เป็นเพียงกระทรวงเกรดซีที่ไม่ได้รับความสำคัญ จึงละเลยให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน ในคลองเตยมีเด็กกว่า 500-600 คน แต่มีครูภาษาอังกฤษคนเดียว แล้วจะให้เด็กเอาอะไรไปสู่อนาคต จะให้เอาอะไรไปแข่งขันในอาเซียน”
.
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป

 

 

“ปัญหาการศึกษาไทยนั้นทับถม โดยเฉพาะการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง กระทรวงเป็นทั้งผู้บริหารโรงเรียน ทรัพยากร งบประมาณ และครู มีการถ่ายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้างแต่ไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งที่ท้องถิ่นอาจทำได้ดีกว่าส่วนกลาง”
.
นิสา แก้วแกมทอง
รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

 

“ครูต้องกลับมาทำงานกับคนตรงหน้า คือทำงานกับนักเรียน รับฟังและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กจะได้แบ่งปันทุกข์สุขและสร้างอำนาจร่วมกันกับครู การไว้ใจครูและการมีอำนาจในตนจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและความใฝ่เรียนรู้”
.
‘ครูสอญอ’ – สัญญา มครินทร์ ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น

 

 

“กำลังใจและโอกาสนั้นสำคัญ ที่เด็กหลายคนไม่มีจุดมุ่งหมายในการเรียนเพราะการเรียนไม่ตอบโจทย์และไม่ทำให้เห็นอนาคต ระบบการศึกษาต้องถูกออกแบบให้สามารถสร้างความมั่นใจว่าเรียนแล้วจะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข หาเลี้ยงครอบครัวได้”
.
‘บุ๊ค’ – ธนายุทธ ณ อยุธยา แรปเปอร์จากกลุ่ม Klongtoey Crew

 

 

“ความผูกพันในครอบครัวเป็นพื้นฐานของการพัฒนาตนเอง และเมื่อเด็กบางคนยังเติบโตขึ้นโดยถูกปล่อยปละละเลย การสร้างความผูกพัน การจัดการตนเอง และความเข้าใจผู้อื่น จึงเป็นประเด็นที่ครูทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงาน”
.
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป

 

 

“เด็กๆ นอกโรงเรียนไม่ได้ขาดแคลนแหล่งเรียนรู้ แต่พวกเขาไม่มีพี่เลี้ยงช่วยออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้ จึงต้องพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนการเรียนรู้ส่วนบุคคล (personal plan) สื่อสารกับครอบครัวของเด็ก และการจัดการทรัพยากรในชุมชนได้”
.
นิสา แก้วแกมทอง
รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

 

“วันที่ได้เรียนรู้ผ่านโครงงานที่ตัวเองเป็นเจ้าของ นักเรียนจะเข้าเรียนเยอะ เพราะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน เสริมพลังให้ทั้งเด็กและชุมชน ความเป็นผู้นำของเด็กกลุ่มนี้จะสูงมาก แต่สังคมไทยยังโฟกัสที่เอกสารประเมินคุณภาพ ถ้าโฟกัสถูกจุดคงได้เห็นอะไรดีๆ อีกมาก”
.
‘ครูสอญอ’ – สัญญา มครินทร์ ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น

 

 

“ผู้ใหญ่ชอบถามว่าในอนาคตอยากเป็นอะไร แต่ไม่มีใครถามว่าปัจจุบันอยากทำอะไร ทั้งที่หลายอย่างไม่ตอบโจทย์ เล่าปัญหาให้ฟังก็ไม่มีใครเข้าใจ เด็กหลายคนจึงรู้สึกเหมือนต้องเผชิญปัญหาลำพัง นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด”
.
‘บุ๊ค’ – ธนายุทธ ณ อยุธยา แรปเปอร์จากกลุ่ม Klongtoey Crew

 

 

“ชุมชนและองค์กรต้องเป็นมือที่โอบอุ้มเด็ก หากเด็กเข้าโรงเรียนในระบบไม่ได้ ก็ต้องเชื่อมโยงชุมชนและผู้ประกอบการเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เด็ก เป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม หากถักทอสายใยแห่งความเอื้ออาทรในชุมชนได้ ก็จะปลดปล่อยศักยภาพของเด็กได้”
.
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป

 

 

“เด็กคนหนึ่งมีจุดเตรียมความพร้อมหลายจุด อย่างปฐมวัยคือวัยทองคำแห่งการพัฒนาสมอง ม. 6 คือทางแยกระหว่างการจบการศึกษากับการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ การเตรียมความพร้อมจึงไม่มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคนและแต่ละช่วงวัย”
.
นิสา แก้วแกมทอง
รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

 

“นิยามความพร้อมของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน เด็กต้องเห็นก่อนว่าตัวเองมีทุนอะไร รู้ว่ามีอะไรพร้อม อะไรพร่อง จึงจะไปต่อได้ การกระจายอำนาจจึงสำคัญ ครูที่ถืออำนาจในห้องเรียนต้องให้เด็กมีส่วนร่วม องค์กรและชุมชนก็ต้องร่วมกันเติมเต็มทักษะของเด็กๆ ”
.
‘ครูสอญอ’ – สัญญา มครินทร์ ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น

 

 

“ระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีทางเลือก เวทีส่วนใหญ่ในโรงเรียนก็ยังเป็นเวทีแสดงความสามารถทางวิชาการ ต้องมีพื้นที่ให้กิจกรรมอื่นบ้าง เด็กที่มีทักษะอื่นๆ จึงจะเห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้สึกว่าการมาโรงเรียนนั้นดีกว่าการเรียนรู้เองในอินเทอร์เน็ต”
.
‘บุ๊ค’ – ธนายุทธ ณ อยุธยา แรปเปอร์จากกลุ่ม Klongtoey Crew

 

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต

Diane Tavenner เขียน

รสลินน์ ทวีกิตติกุล แปล

304 หน้า