รวบรวมประโยคประทับใจจากเสวนาสาธารณะ “Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์” โดยมุ่งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทย
“การศึกษานั้นมีที่มาจากระบบคิด บริบทประวัติศาสตร์ฟินแลนด์เอื้อต่อการจัดการศึกษาเสมอภาค ไทยก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องอาศัยเวลาและการปรับตัว ไม่ใช่เพียงนักเรียนที่ต้องเปลี่ยนแปลง ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงด้วย”
เมนู – สุพิชฌาย์ ชัยลอม
“ไม่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก มีเพียงระบบการศึกษาที่เหมาะสมที่สุด เราจึงต้องสร้างพื้นที่สำหรับหารือ และกำหนดเป้าหมายร่วมกันของทุกฝ่ายในทุกประเด็น ไม่เพียงประเด็นการศึกษา”
เมนู – สุพิชฌาย์ ชัยลอม
“เรามีสำนวนผิดเป็นครู แต่น่าแปลกที่เรากลัวครู กลัวความผิดพลาด ไม่กล้าลองผิดลองถูก สังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน ก้าวข้ามความกลัวเป็นความหวัง ความกลัวจะผลักสังคมไปถึงจุดสมดุล และนั่นคือความหวัง”
ครูทิว – ธนวรรธน์ สุวรรณปาล
“การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ต้องอาศัยวัฒนธรรมที่เอื้อให้นักเรียนมีอำนาจกำหนดทิศทางการเรียนรู้ หากครูยังไม่อาจละวางความพยายามควบคุม กำหนดคุณค่า หรือตัดสินนักเรียนได้ ก็ไม่อาจสร้างชั้นเรียนที่เรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์”
ครูทิว – ธนวรรธน์ สุวรรณปาล
“การจัดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์นั้นเน้นการเรียนรู้เพื่อนำการเรียนรู้ของตน โดยมุ่งสร้างมนุษย์และพลเมืองดี เพราะหลัง Digital Disruption เทคโนโลยีจะมีบทบาทยิ่งขึ้น มนุษย์จึงต้องกลับเป็นมนุษย์อีกครั้ง”
ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม
“เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ในฟินแลนด์คือทักษะการเรียนรู้ ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้จึงสำคัญกว่าเนื้อหา คือไม่ว่าจะจัดการเรียนรู้เนื้อหาใด เด็กต้องมีทักษะนี้ สมรรถนะนี้ หากปรับใช้โดยมุ่งสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหา ก็จะเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ผิดพลาด”
ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม
“ด้วยโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน การจัดการศึกษาในแต่ละประเทศไม่อาจให้ความสำคัญแก่เพียงปัญหาในประเทศ ไม่อาจเตรียมเพียงพลเมืองของตน แต่ต้องเตรียมพลเมืองของโลกด้วย เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีที่จะกระจายไปอาศัยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก”
ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ
“การเปลี่ยนผ่านสู่การจัดการเรียนรู้ที่เน้นสร้างสมรรถนะต้องใช้เวลา จะยกเลิกหลักสูตรเก่าทันทีไม่ได้ หากต้องดำเนินการวิจัยคู่ขนานกันและเสริมสร้างความเข้าใจ ครูต้องรู้ว่าจะปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ของตนภายใต้หลักสูตรการศึกษาที่ครอบอยู่อย่างไร แนวทางการวัดและประเมินผลการศึกษาก็ต้องถูกปรับปรุงเช่นกัน”
ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ
“ระบบการศึกษาฟินแลนด์อุดมความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่จับผิดกัน โดยถือว่าการให้เสรีภาพเป็นการควบคุมที่ดีที่สุด ให้มีเสรีภาพในการคิดตัดสินใจ โดยมีที่มาจากความเข้าใจกัน และเข้าใจในประวัติศาสตร์ของตน ดังนั้นก้าวแรกของการปฏิรูปการศึกษาคือการยอมรับประวัติศาสตร์ของตน”
ดร.อุดม วงษ์สิงห์
“โรงเรียนต้องมีชุดความคิดแบบเติบโต เชื่อในการพัฒนา ต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองและครู กลุ่มครูในโรงเรียนก็ต้องปฏิบัติงานร่วมกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเห็นความพยายามนั้นและให้ความช่วยเหลือ ครูซูเปอร์แมนทำคนเดียวก็หมดแรงได้ ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน”
ดร.อุดม วงษ์สิงห์
ชวนอ่านสรุปความเสวนา “Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์” ได้ที่นี่