quote – bookscape club อ่าน “ปฏิวัติฝรั่งเศส” ผ่านพลังของ “ฐานันดรที่สาม”

 

ทำไมการเมืองไทยต้องสนใจการปฏิวัติฝรั่งเศส?

ปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก ในช่วงเวลาที่การเมืองไทยแหลมคมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เช่นนี้ บทเรียนจากการปฏิวัติฝรั่งเศสอาจช่วยจัดวางว่าเราจะไปต่อกันอย่างไร และที่แท้แล้ว ‘การปฏิวัติ’ หมายถึงอะไร

bookscape club จัดกิจกรรม อ่าน “ปฏิวัติฝรั่งเศส” ผ่านพลังของ “ฐานันดรที่สาม” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ร่วมกันอ่านหนังสือ 2 เล่ม คือ ฐานันดรที่สามคืออะไร? (What Is the Third Estate?) ของเอ็มมานูแอล โจเซฟ ซิแยส งานต้นทางการปฏิวัติฝรั่งเศส และ ปฏิวัติฝรั่งเศส: ความรู้ฉบับพกพา (French Revolution: A Very Short Introduction) ของวิลเลียม ดอยล์ ที่ทำความเข้าใจการปฏิวัติฝรั่งเศสผ่านสายตาคนนอก และแจกแจงความเคลื่อนไหวทั้งหมดของการปฏิวัติฝรั่งเศส

ผู้ร่วมสนทนาหลัก ได้แก่

ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ชำนาญเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสและผู้เขียนบทตามใน “ฐานันดรที่สามคืออะไร”

ปรีดี หงษ์สต้น ผู้แปล ‘ปฏิวัติฝรั่งเศส: ความรู้ฉบับพกพา’ นักวิจัยประจำศูนย์อาณานิคมและหลังอาณานิคมศึกษา มหาวิทยาลัยลินเนียส ประเทศสวีเดน

ชวนสนทนาโดย ปกป้อง จันวิทย์

ขอชวนเชิญร่วมอ่านข้อความคัดสรรจากงานสนทนา

.

รูปปิยบุตร แสงกนกกุล โดย เมธิชัย เตียวนะ

รูปปรีดี หงษ์สต้น โดย ชลธร วงศ์รัศมี

ฟังบทสนทนาย้อนหลังเต็มคำได้ที่นี่

 

สังคมไทยมองปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างไร?

“เท่าที่ผมสังเกต เวลาเราพูดถึงเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส สังคมไทยมักมองสุดขั้วต่างกันไปเลยอยู่สองด้าน ด้านแรกคือรังเกียจ กลัว ต่อต้าน เหมือนเห็นผี ปีศาจ พอได้ยินชื่อปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วเกิดอาการขนลุกพอง ต่อต้านทันที โดยที่ไม่รู้เลยว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรกันอยู่ กับอีกขั้วหนึ่งคือ หมกมุ่นอยากมีฝัน อยากเห็น อยากเป็น [อย่างการปฏิวัติฝรั่งเศส] หมกมุ่นอยู่ที่การทลายคุกบาสตีลย์ การผลิตเครื่องกิโยตีน การตัดหัวพระเจ้าหลุยส์ การล้มสถาบันกษัตริย์

“ในความเห็นผม การมองการปฏิวัติฝรั่งเศสในมิติแค่นี้มันไม่เพียงพอต่อการศึกษา ทำให้มองการปฏิวัติฝรั่งเศสในเชิงละคร มองเหมือนเกมกีฬามวยปล้ำที่มีฝ่ายธรรมะฝ่ายอธรรม ถ้าคุณเป็นพวกอนุรักษนิยมคุณก็จะเชียร์ฝ่ายสถาบันกษัตริย์ ถ้าคุณเป็นฝ่ายที่เชียร์การเปลี่ยนแปลงคุณก็จะเชียร์ฮีโร่ของการปฏิวัติต่างๆ

“จริงๆ การปฏิวัติฝรั่งเศสมีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง ทั้งในแง่มิติการตีความของนักประวัติศาสตร์ ว่าตีความการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างไร มองไปที่มูลเหตุปัจจัยว่าอะไรทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และยังมีประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ สถาบันการเมืองใหม่ๆ การต่อสู้ทางชนชั้น หรือแม้กระทั่งสุนทรพจน์ที่ภาษาสวยงามมากของสมาชิกสภาหลายๆ คน หรือจะมองในมิติของโลกก็ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมันเป็นกระแสของโลก เป็นระเบียบของโลกในช่วงเวลานั้น เป็นกระแสการเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมพีที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ หรือเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันกับช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม มันมีหลากหลายมิติน่าสนใจมากกว่าเพียงมองเป็นเหมือนละครว่าฉันเป็นฝ่ายนี้ ฉันเป็นฝ่ายนั้น”

— ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

สู่เสรีและความเท่าเทียม การเมืองของการปฏิวัติ

“ผมอยากใช้วิธีคิดแบบอาแล็ง บาดิยู (Alain Badiou) เข้าไปจับเรื่องการปฏิวัติ เขาเป็นนักปรัชญาคนสำคัญที่จะฟื้นเกียรติภูมิให้กับความคิดแบบคอมมิวนิสต์ หากถามว่าสารัตถะสำคัญของการปฏิวัติคืออะไร มันก็คือ มีสิ่งหนึ่งที่เป็นอยู่เช่นนี้ เป็นมาแบบนี้ และเราไม่ทน เราจะล้ม เราจะสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม การเมืองของการปฏิวัติคือการปลดปล่อยคนให้ไปสู่เสรี สู่อิสระ การเมืองของการปฏิวัติคือการทำให้คนเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน ยุติธรรม คือไม่มีใครจะมาเป็นนายเหนือหัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี นักการเมือง

“ในการปฏิวัติจะมีอารมณ์ (emotion) สองด้านที่ผสมผสานกัน อารมณ์แรกที่ต้องเกิดขึ้นก่อนคือความโกรธ โกรธสิ่งที่เป็นอยู่ กูทนไม่ไหวแล้ว กูจะล้มมึง อีกหนึ่งอารมณ์คือความหวัง เราจะไปสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม

เส้นทางตรงนี้ทั้งหมดคือการเมืองของการปฏิวัติที่ไปสู่การปลดปล่อย ไปสู่ช่วงเวลาที่เราจะไม่มีนาย ที่เราจะไปสู่ช่วงเวลาที่ความเสมอภาคต่างกว่าเดิม ความยุติธรรมต่างกว่าเดิม ผมไม่เคยมอง la Terreur ในแง่ว่ามันสยดสยอง นองเลือด เราต้องมองการปฏิวัติว่ามันคือการปฏิวัติความคิด ส่วนรูปแบบการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในหลากหลายที่นั้นไม่เหมือนกัน แต่ไอเดียพื้นฐานของการปฏิวัติคือล้มสิ่งเดิมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม ไปสู่ความเสมอภาคกว่าเดิม ความยุติธรรมกว่าเดิม ปลดปล่อยคนให้เป็นอิสระ”

— ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

อนุรักษนิยมที่ดี

“ปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้ให้กำเนิดเฉพาะแต่ฝ่ายซ้าย แต่กำเนิดอนุรักษนิยมสมัยใหม่ด้วย อนุรักษนิยมเองเขาก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เขาเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ปฏิวัติฝรั่งเศสได้ define หรือกำหนดการเกิดขึ้นของอนุรักษนิยมสมัยใหม่ เนื้อหาเรื่องนี้อยู่ในบทที่ 5 [ปฏิวัติฝรั่งเศส: ความรู้ฉบับพกพา] โดยเขา define ตัวเองใหม่จากการปฏิวัติฝรั่งเศส ถ้าหากเป็นอนุรักษนิยมที่ดีก็ควร recognize หรือยอมรับมรดกของปฏิวัติฝรั่งเศส ว่ามันสามารถทำให้การเคลื่อนไหวของอนุรักษนิยมเป็นรูปเป็นร่าง เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้”

— ปรีดี หงษ์สต้น

 

กษัตริย์จากโลกเดิมสู่โลกใหม่

“สิ่งที่น่าสนใจของการปฏิวัติฝรั่งเศสคือ การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในแผ่นดินเดียวกัน หากเทียบกับเหตุการณ์การปฏิวัติของอังกฤษ สุดท้ายสถาบันกษัตริย์เขากลับมาใหม่ได้และก็มีการปฏิรูป ส่วนสหรัฐอเมริกาก็เป็นการประกาศอิสรภาพ แต่ฝรั่งเศสมันอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน ตอนเกิดเหตุการณ์ปี 1789 คุณก็ยังมีกษัตริย์อยู่ด้วย แล้วคุณจะทำยังไงกับกษัตริย์คนนี้ที่อยู่ในโลกเดิมแต่ก็มาอยู่ในโลกใหม่ด้วย คุณอยู่ในระบอบเดิมแต่คุณต้องปรับเปลี่ยน (transform) ตัวเองมาอยู่ระบอบใหม่ คุณจะเอาตัวรอดยังไง”

— ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

The Persistence of the Old Regime

“ดอยล์อธิบายว่าในการรุดหน้าของประวัติศาสตร์ก็มี persistence of the old regime หรือการดื้อรั้นที่จะไม่ตายลง การไม่ยินยอมที่จะตายลง หรือการลังเลที่จะยอมเปลี่ยนผ่านของระบอบเก่า ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการอภิปราย อย่าลืมว่าในคำของวิลเลียม ดอยล์ นั้นคือปี 1848-1852 และฝรั่งเศสยังเป็นรัฐที่อย่างน้อยมีกษัตริย์ต่อไปจนถึงปี 1870 คือในทางโครงสร้างมันเปลี่ยนแล้ว แต่ในทางพิธีกรรมยังดำรงอยู่ ยังล้มล้างไปโดยไม่สำเร็จสมบูรณ์ และใช้เวลา 100 ปีกว่าจะพ้นไป ดอยล์บอกว่าการปฏิวัติได้ล้มล้างอะไรบ้าง แต่ขณะเดียวกันการล้มล้างก็ใช้เวลา”

— ปรีดี หงษ์สต้น

 

“สำหรับฝ่ายซ้าย ความน่าสะพรึงกลัวเป็นความโหดร้ายที่จำเป็น และเป็นอาเพศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากศัตรูแห่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนได้พยายามสังหารสองสิ่งนี้เมื่อแรกเกิด สำหรับฝ่ายขวา การปฏิวัติเป็นความรุนแรงตั้งแต่ต้น ตั้งแต่หมายมั่นจะทำลายความน่าเคารพนับถือและความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา รวมถึงระบบระเบียบทั้งหลาย บางคนเสนอว่า จุดสูงสุดของการปฏิวัติไม่ใช่ความน่าสะพรึงกลัว แต่เป็นการสังหารหมู่ในระดับเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

— จาก ปฏิวัติฝรั่งเศส: ความรู้ฉบับพกพา (หน้า 45)

 

เปิดประตูสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส

“หนังสือ ‘ปฏิวัติฝรั่งเศส ความรู้ฉบับพกพา’ เขียนโดยนักวิชาการอังกฤษ และตระหนักถึงการที่ตนเป็นคนอังกฤษ พูดง่ายๆ คือเป็นคนนอกที่พูดถึงเหตุการณ์ในฝรั่งเศส เขาเริ่มต้นด้วยมุมมองจากข้างนอก

“หนังสือเล่มนี้เป็นประตูเล็กๆ หรือท่านผู้ฟังอาจนึกถึงประตูโดราเอม่อนก็ได้ ที่จะเปิดไปให้เห็นสถานที่อื่นๆ ที่เราควรไป เพื่อให้ไปพบ หรือเพื่อไปศึกษาให้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกในยุคสมัยใหม่

“หนังสือเล่มนี้พยายามจะพูดว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสมีสถานะอย่างไร มีข้อถกเถียงเรื่องอะไรและอย่างไร”

— ปรีดี หงษ์สต้น

 

ถอดรหัส “ฐานันดรที่สามคืออะไร?”

“หนังสือเล่มนี้ของซิแยส มันมีความดีงาม มีความน่าชื่นชมในประเด็นไหนบ้าง มีข้อเด่นตรงไหนบ้าง ผมเรียบเรียงและสรุปมา 3 ข้อ ข้อแรก หนังสือออกมาเหมาะกับช่วงเวลาเหมาะกับสถานการณ์ มันถูกเขียน ถูกพิมพ์ออกมาเพื่อรับใช้สถานการณ์ เรียกได้ว่าจงใจเขียนเพื่อสถานการณ์นี้และหวังให้เกิดผลสำเร็จ

“ซิแยสเขียนเล่มนี้ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 1788 และพิมพ์เผยแพร่ในเดือนมกราคมต้นปี 1789 ซิแยสเขียนเล่มนี้ เพราะตอนนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีพระบรมราชโองการเรียกประชุมสภาฐานันดร และกำหนดไว้ว่าจะมาประชุมกันในเดือนพฤษภาคม 1789 [ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1614 สภาประกอบด้วยฐานันดรที่หนึ่ง—พระ ฐานันดรที่สอง— ขุนนาง ฐานันดรที่สาม—สามัญชน] พอซิแยสรู้ข่าวก็เขียนงานเรื่องนี้ออกมาเลย เพราะรู้แล้วว่าการประชุมสภาฐานันดรที่จะเกิดขึ้นในปีถัดไป ต้องมีฐานันดรที่สามในสภา และต้องมีการทำงานทางความคิดเบื้องต้นไว้ก่อน

“ข้อที่สอง งานเขียนของซิแยสเล่มนี้ใช้ เขาใช้ argument แบบใหม่และมันทะลุทะลวง เช่น เอากฎของจำนวนมาใช้ คือประชาชนที่เป็นฐานันดรที่สามนั้นมีจำนวนตั้งเยอะ แล้วทำไมเขามีผู้แทนฯ ได้นิดเดียว ทำไมเขาไม่มีอำนาจ เขาไม่มีบทบาทอะไรเลย

“… วิธีคิดของซิแยสในการอธิบายเรื่องนี้จะไปอีกแบบหนึ่งเลย ซิแยสบอก ทุกอย่างจะรวมกันเป็นเอกภาพภายใต้ nación หรือชาติ และชาติก็ประกอบไปด้วยฐานันดรที่สามทั้งหมด อธิบายแบบล้ำไปเลย ชาติคือทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศนี้ซึ่งก็คือฐานันดรที่สาม ฐานันดรที่หนึ่งและฐานันดรที่สองถ้าอยากเข้ามาอยู่ คุณต้องเข้ามาอยู่ในฐานันดรที่สาม ต้องสละอภิสิทธิ์และต้องมาผลิตด้วย ถ้าไม่ผลิตก็เป็นกาฝาก

“สุดท้าย ข้อที่สาม ความสวยงามของเรื่องนี้ ผมใช้คำว่า art of writing หรือศิลปะของการเขียน ถ้าลองอ่านดู หรืออ่านที่คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลก็แปลได้ลื่นมาก สำนวนภาษาสวยงามมาก คือเวลาเราอ่านงานที่เป็นหนังสือที่เอามาใช้ปลุกระดมความคิดในทางการเมือง ภาษามันต้องสวย ต้องจับใจ อ่านแล้ว เฮ้ย จะออกไปสู้แล้วว่ะ แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องมีเหตุผล เนื้อหา ทฤษฎีกำกับด้วย ไม่ใช่ปลุกระดมว่าให้ออกไปๆ ต่อสู้ๆ แค่นี้ จบ มันก็กลวง”

— ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

“เค้าโครงของงานเขียนชิ้นนี้เรียบง่ายมาก มีคำถามสามข้อที่เราต้องถามตัวเอง กล่าวคือ

1°. ฐานันดรที่สามคืออะไร?—ทุกสิ่งทุกอย่าง

2°. จวบจนบัดนี้ ฐานันดรที่สามเป็นอะไรในระเบียบการเมืองที่ดำรงอยู่?—ไม่เป็นอะไรเลย

3°. ฐานันดรที่สามต้องการอะไร?—ขอเป็นบางสิ่งบางอย่าง”

— จาก ฐานันดรที่สามคืออะไร? (หน้า 44)

 

ชีวิตของซิแยส

“ชีวิตของซิแยสมีสองด้าน มุมหนึ่งเป็นปราชญ์ นักคิด นักทฤษฎี อีกมุมเป็นนักปฏิบัติการทางการเมือง เอาทฤษฎีที่เขาคิดไปใช้และลงมือเล่นเอง มุมหนึ่งเขาเป็นตัวเปิดประตูปฏิวัติ อีกมุมหนึ่งพอปฏิวัติเสร็จแล้วจะปิดประตู เขาบอก ไม่ได้ พอได้ระบอบที่เขาต้องการแล้วห้ามเปลี่ยนระบอบแล้วนะ กีดกันคนอื่นไม่ให้เข้ามามีอำนาจ

“อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เขามีอายุยืนยาวมาก ส่วนใหญ่นักปฏิวัติฝรั่งเศสอายุสั้นหมด ฝ่ายนี้ขึ้นมาอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาย พออีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาอีกฝ่ายก็ตาย ใครก็ตามที่เราเห็นว่าอายุยืนตอนในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสแสดงว่าหมอนั่นเอาตัวรอดเก่ง

“เขามีความน่าสนใจตรงนี้ เขาใช้ชีวิตอยู่หลายระบอบการปกครอง จากผู้เปิดประตูปฏิวัติเป็นผู้ปิดประตูปฏิวัติด้วยการรัฐประหารของนโปเลียน โบนาปาร์ต และเขาก็ออกแบบนวัตกรรมในทางรัฐธรรมนูญ หรือในทางกฎหมายมหาชนหลายๆ เรื่อง นอกจาก ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร’ เขายังมีงานอีกหลายชิ้น ไอเดียเรื่องศาลรัฐธรรมนูญรากเหง้าก็สืบไปเจอซิแยสได้เหมือนกัน เรื่องประชาธิปไตยแบบผู้แทน เรื่อง ส.ส. แต่ละคน ที่คุณไม่ใช่เป็นผู้แทนในเขตของคุณ แต่คุณเป็นผู้แทนของทั้งประเทศ เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ”

— ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

ความคิดของซิแยส

“จุดยืนของซิแยส คือการหาที่อยู่ที่ยืนในทางการเมืองให้กับฐานันดรที่สาม พูดง่ายๆ คือไม่เอาขุนนาง ไม่เอาพระ พร้อมกันนั้นก็ไม่เอาประชาชนแบบที่ภาษาสมัยนี้อาจเรียกกันว่ารากหญ้า หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้ผลิต ไม่ได้จ่ายภาษี

“ดังนั้น คำว่าชาติประชาชนของซิแยส มันคือเฉพาะกลุ่มเดียว โดยผ่านอรรถาธิบายเรื่องการผลิต ก็ในเมื่อถ้าคุณไม่ได้จ่ายภาษี คุณจ่ายภาษีไม่ถึงเกณฑ์ ดังนั้นคุณก็ไม่ต้องมีบทบาททางการเมือง

“ถ้าใช้เฉดสีขวาซ้ายแบบปัจจุบันไปมอง ผมยืนยันชัดเจนว่าซิแยสเป็นขวาเสรีนิยม คือต้องการล้มสถาบันกษัตริย์ มีเสรีภาพในการประกอบกิจการ มีกรรมสิทธิ์ คนที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองคือกลุ่มคนที่มีชนชั้น มีฐานะทางเศรษฐกิจ มีอาชีพ มีรายได้เป็นของตนเอง จ่ายภาษีให้กับรัฐ เขาไม่ได้สนับสนุนเรื่องของประชาชนคนเล็กคนน้อย เวลาซิแยสสนับสนุน เขาชอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ไม่เอาประชาธิปไตยทางตรงแบบรุสโซ (Jean-Jacques Rousseau)”

— ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

การปฏิวัติของชายขอบ

“นักประวัติศาสตร์ที่ทำงานเรื่องประวัติศาสตร์ยุโรปหลายท่านพบว่า เราสามารถสืบเสาะหาการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ก่อนที่จะเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่จริงๆ ในศูนย์กลางได้ที่ชายขอบ ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติครั้งใหญ่ เราจะเห็นการเคลื่อน การเปลี่ยน การลุกฮือ การขยับ การจัดลำดับความสำคัญใหม่ การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินหลายครั้งเกิดขึ้นที่ชายขอบก่อน

“ผมพูดในฐานะคนที่อยู่ชายขอบของยุโรปภาคพื้นทวีป ทำให้ผมพอเห็นว่า หนึ่งในดีเบตเรื่องการปฏิวัติที่เขาพูดกันคือการปฏิวัตินั้นเป็น ‘กระบิ’ หรือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ หรือจะรวมไปถึงการปฏิวัติข้ามแอตแลนติกด้วยก็ได้ รวมไปถึงการพิจารณาปัญหาเรื่องอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศสด้วยก็ได้ จึงทำให้เห็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์”

— ปรีดี หงษ์สต้น

 

ชายขอบของการปฏิวัติ

“เขามีการตั้งสมการใหม่ว่า จริงๆ แล้วการปฏิวัติฝรั่งเศสจะไม่สำเร็จหากปราศจากการปฏิวัติเฮติ (Haitian Revolution) จุดตั้งต้นของการอธิบายและการเข้าใจเรื่องการปฏิวัติของมนุษยชาติ ต้องตั้งต้นอธิบายที่ข้างนอกก่อนข้างใน อย่างที่เฮติก็เป็นการลุกขึ้นเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญของคนผิวดำที่แรกของโลก ผมคิดว่าคนที่สนใจการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึง หรือไม่สนใจ หรือคิดว่ามันเป็นส่วนเดียวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส

“อย่างในอเมริกา การพูดถึงการปฏิวัติเฮติกลับกลายเป็นสดมภ์หลักของการเข้าใจการปฏิวัติฝรั่งเศสไปแล้วด้วยซ้ำไป และผมคิดว่าต้องทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ด้วย โอเค เถียงได้ว่าจริงๆ ต้อง [เริ่มจาก] ฝรั่งเศสก่อน ในงานของวิลเลียม ดอยล์ เขาบอกว่าถ้าไม่มีการปฏิวัติฝรั่งเศสก็จะไม่มีการปฏิวัติในเฮติ แต่ว่าคนในลาตินอเมริกาในปัจจุบัน ผมคิดว่าเขามาถึงจุดที่ว่า ‘คุณจะมีหรือไม่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่มันก็มีการเคลื่อนไหวในแคริบเบียน และนี่คือการเคลื่อนไหวของเรา’ จบ แล้วอย่างนี้เราจะไปคุยกับเขาอย่างไร ผมเชื่อว่านี่เป็นเรื่องใหม่ในศตวรรษที่ 21 ก่อนหน้านี้เราก็พูดถึงสำนักดั้งเดิม สำนักลัทธิแก้ สำนักหลังลัทธิแก้ [กลุ่มศึกษาการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยแนวทางที่แตกต่างกัน] แต่ในปัจจุบันมันมาถึงจุดที่ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นไม่ใช่จุดตั้งต้นที่สำคัญอีกต่อไป”

— ปรีดี หงษ์สต้น

สะท้อนย้อนคิด จากปฏิวัติฝรั่งเศสถึงสังคมไทย

“ถามว่าปฏิวัติฝรั่งเศสสะท้อนอะไรในสังคมไทย ผมคิดว่าเวลาดูเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ว่าคุณมีจุดยืนความคิดทางการเมืองแบบใดก็ตาม คุณจะอยากให้ประเทศเป็นอย่างที่เป็นอยู่ หรือคุณจะอยากให้มีการปฏิรูป มีการเปลี่ยน ล้ม หรือปฏิวัติ ไม่ว่าคุณจะมองมาจากจุดยืนความคิดแบบใด เวลาเข้ามาอ่านเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสมันเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

“สมมติผมเป็นคนที่อยากได้แบบเดิม อยากอยู่อย่างนี้ต่อไป อยากอยู่แบบ status quo [พอใจกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่] เมื่อไปดูเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วอาจฉุกคิดได้ว่า เออ เดี๋ยวตัวเราอาจจะไม่รอด ส่วนคนที่อยากแค่ปฏิรูป อยากเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ทำทีละนิด ค่อยๆ ทำ อ่านเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วอาจจะฉุกคิดว่า ปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ มันไม่พอนะ มันไม่ทันต่อสถานการณ์ และมันอาจจะสายเกินไป ส่วนฝ่ายที่อยากจะล้มเลย ไม่ต้องมีแล้ว ปฏิวัติ อ่านดูแล้วจะได้คิดว่า ถ้าหากไม่มีแล้วจากนั้นต้องทำอย่างไรต่อ และจะต้องต่อสู้อย่างไร เพราะฉะนั้นเวลามองการปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ว่าคุณมีจุดยืนแบบใด คุณสามารถเอามารับใช้ เอามาปรับปรุง เอามาประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มากขึ้น

“ผมอยากชวนว่าเวลามองการปฏิวัติฝรั่งเศส ให้มองว่ามันเป็น ‘เหตุการณ์หนึ่ง’ ในการปฏิวัติ มองมันในฐานะ ‘ตัวอย่าง’ ของการปฏิวัติ หลักใหญ่ใจความสำคัญที่สุดที่ต้องยึดกุมของคนที่ชอบศึกษาเรื่องปฏิวัติ อยากเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ดีกว่าเดิม เปลี่ยนสังคมให้ดีกว่าเดิม ให้ยึด ‘ความคิด’ เรื่องปฏิวัติเป็นหลัก ส่วนจะเกิดที่ฝรั่งเศส หรือเกิดที่รัสเซียอะไรนั้น นั่นคือเรื่อง ‘รูปแบบ’ ที่มันเกิดขึ้นในหลากหลายที่ แต่อยากให้ยึดกุมเรื่อง ‘ความคิด’ เรื่องปฏิวัติเป็นหลักเอาไว้ ว่าการปฏิวัติคือการหลอมรวมพลังของทุกๆ คนเพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ ทำลายสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ที่เสมอภาคและยุติธรรมกว่าเดิม อย่าไปคิดว่าเมื่อพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วต้องสุดยอดที่สุด เราต้องเลียนแบบ เอาให้เหมือนตาม เรื่องรูปแบบนั้นปรับปรุงปรุงแต่งกันได้ แต่แก่นความคิดเรื่องปฏิวัติต้องยึดไว้ให้สำคัญ”

— ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

“ผมอยากชวนว่าเวลามองการปฏิวัติฝรั่งเศส ให้มองว่ามันเป็น ‘เหตุการณ์หนึ่ง’ ในการปฏิวัติ มองมันในฐานะ ‘ตัวอย่าง’ ของการปฏิวัติ หลักใหญ่ใจความสำคัญที่สุดที่ต้องยึดกุมของคนที่ชอบศึกษาเรื่องปฏิวัติ อยากเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ดีกว่าเดิม เปลี่ยนสังคมให้ดีกว่าเดิม ให้ยึด ‘ความคิด’ เรื่องปฏิวัติเป็นหลัก ส่วนจะเกิดที่ฝรั่งเศส หรือเกิดที่รัสเซียอะไรนั้น นั่นคือเรื่อง ‘รูปแบบ’ ที่มันเกิดขึ้นในหลากหลายที่ แต่อยากให้ยึดกุมเรื่อง ‘ความคิด’ เรื่องปฏิวัติเป็นหลักเอาไว้ ว่าการปฏิวัติคือการหลอมรวมพลังของทุกๆ คนเพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ ทำลายสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ที่เสมอภาคและยุติธรรมกว่าเดิม อย่าไปคิดว่าเมื่อพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วต้องสุดยอดที่สุด เราต้องเลียนแบบ เอาให้เหมือนตาม เรื่องรูปแบบนั้นปรับปรุงปรุงแต่งกันได้ แต่แก่นความคิดเรื่องปฏิวัติต้องยึดไว้ให้สำคัญ”

— ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

อ่านสรุปแล้วชวนฟัง bookscape club: อ่าน ‘ปฏิวัติฝรั่งเศส’ ผ่านพลังของ ‘ฐานันดรที่สาม’

นำสนทนาโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ปรีดี หงษ์สต้น และ ปกป้อง จันวิทย์

ฟังบทสนทนาย้อนหลังได้ที่นี่

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

ฐานันดรที่สามคืออะไร? (Qu’est-ce que le Tiers-Etat? — What Is the Third Estate?)

เอ็มมานูแอล โซเซฟ ซิแยส (Emmanuel Joseph Sieyès) เขียน

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล

สายัณห์ แดงกลม บรรณาธิการ

264 หน้า

 

ปฏิวัติฝรั่งเศส ความรู้ฉบับพกพา (French Revolution: A Very Short Introduction)

วิลเลียม ดอยล์ (William Doyle) เขียน

ปรีดี หงษ์สต้น แปล

232 หน้า