quote – bookscape club อ่าน “สยามปฏิวัติ” ต้นธารความคิด ‘ประชาธิปไตย’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ไทยเองก็ต่อสู้เยอะมาก
แต่หมุดหมายที่เราไปถึง พอมองกลับไป มันน้อยเกินไป น้อยเกินกว่าที่เราควรจะได้ น้อยกว่าที่เราสู้มา
ก็ได้แต่หวังว่าที่ทำกันอยู่นี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริง
และสอดคล้องกับความต้องการของผู้คนกว่าที่เคยเป็นมา”

นี่คือทรรศนะส่วนหนึ่งของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ถึงพัฒนาการต่อสู้ประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จวบจนปัจจุบัน

เส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยเป็นเช่นไร และเราได้เรียนรู้อะไรจากการกลับไปอ่านงานเขียนจากยุคสมัยดังกล่าวบ้าง

ร่วมหาคำตอบได้ในอัลบั้มรวมโควตจาก bookscape club: อ่าน “สยามปฏิวัติ” รวมงานเขียนการเมืองคลาสสิกของไทย ต้นธารความคิด ‘ประชาธิปไตย’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สำรวจ ‘ฝันละเมอ’ ถึงสังคม ‘ศรีวิลัย’ ของนักคิดไทย จาก 2427 สู่ 2475 ถึง 2564

นำสนทนาโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กษิดิศ อนันทนาธร และ ปกป้อง จันวิทย์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564

ฟังบทสนทนาย้อนหลังได้ที่นี่

 

ชวนอ่าน “สยามปฏิวัติ” ในปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

“ความคิดการเมืองไทย มันยากจน มันอับเฉา
เพราะว่าสภาพของการเมืองเป็นพื้นดินที่เป็นพิษ

ไม่มีปุ๋ย ไม่เอื้ออำนวยแก่การออกดอกผล
จะปลูกต้นอะไร ต้นไม้นั้นก็ต้องรักษาตัวเอง

― ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศบอกว่า “ความคิดการเมืองก็เหมือนกับวิชาอื่นๆ ที่หากต้องการให้เติบโตก็ต้องอาศัยการต่อยอดเสริมสร้างจากอดีตจนถึงปัจจุบัน” เช่นเดียวกับการเพาะปลูก “คือมันต้องปลูกอยู่เรื่อยๆ ถ้าคุณปลูกทีหนึ่งแล้วทิ้งไปสิบปี มันก็มีแต่หญ้า ไม่มีอะไรเติบโตขึ้นมาได้”

ธเนศชี้ชวนให้เราหันไปดูอเมริกา เมื่อนักการเมืองอเมริกันต้องการจะพูดถึงปรัชญาทางการเมืองใดๆ พวกเขามักจะอ้างถึงคนสำคัญในอดีตอย่างโธมัส เจฟเฟอร์สัน หรืออับราฮัม ลิงคอร์น อยู่เสมอ เพราะแนวคิดที่มาก่อนเหล่านี้เป็นฐานคิดอันแข็งแกร่ง เปรียบเหมือนดินอันอุดมพร้อมให้แนวคิดใหม่ๆ มาฝังรากและเติบใหญ่ต่อไป

ทว่าเมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ดินประชาธิปไตยของเรานั้นอับเฉา เมื่อมีผู้ต้องการพูดถึงแนวคิดก้าวหน้าขึ้นมา จึงมักจะต้องไปหยิบยืมหลักการมาจากเอกสารของต่างชาติ ยังให้ถูกครหาว่าไม่มีความเป็นไทยเอาแต่ทำตามฝรั่งอยู่เนืองๆ ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเรามีต้นธารความคิดประชาธิปไตยในไทยอยู่ เพียงแต่ไม่ถูกเอาใจใส่ ไม่ได้รับการเอ่ยถึงในวงกว้าง ดินของเราจึงแห้งผาก ยากจะต่อยอดเช่นนี้เอง

 

ทำไมเราควรจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้กันในตอนนี้
หนึ่ง การอ่านเอกสารชั้นต้นทำให้เราได้สนทนากับเจ้าของความคิดโดยตรง
ซึ่งเราอาจจะเห็นแง่มุมที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนก็ได้
สอง การเอางานห้าชิ้นมาเรียงตามกาลเวลาจะคลี่ให้เห็น
พัฒนาการของแนวคิดการเมืองข้ามยุคสมัย”

― กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศเล่าว่าเมื่อแรกรับรู้ถึงข่าวการทำหนังสือ ‘สยามปฏิวัติ’ เขาไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นนัก เพราะในสมัยนี้ การเข้าถึงเอกสารเก่าๆ นั้นไม่ยากเลย เพียงแค่กดเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตไม่กี่คลิกเท่านั้น แต่ครั้นได้เริ่มกระบวนการทำงาน กษิดิศก็พบว่าการอ่านเอกสารชั้นต้นทั้งห้าชิ้นในรูปแบบรูปเล่มเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ เพราะแม้ในหมู่คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยก็มีน้อยคนที่จะอ่านประกาศคณะราษฎรแล้วย้อนกลับไปอ่านคำกราบบังคมทูลฯ

การได้อ่านงานทั้งห้าชิ้นที่วางเรียงต่อกันตามเส้นเวลาทำให้ได้เห็นความเชื่อมโยงของการพัฒนาแนวคิดประชาธิปไตย และความเชื่อมโยงนั้นก็อาจทำงานกับความคิดของคนอ่าน ก่อร่างเป็นความคิดใหม่ออกมา

 

อยากให้อ่านแล้วช่วยวิเคราะห์ต่อ ว่าเรื่องนี้เราเคยเถียงกันมาแล้วถึงตรงนี้
ถ้าจะเถียงต่อ ช่วยต่อจากตรงนี้ได้ไหม จะได้มีที่ให้เหยียบยืน
เราจะหวังพึ่งแค่มวลชนตรงหน้าไม่ได้ เราต้องพึ่งพาบ่าของคนรุ่นเก่าด้วย

― ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ข้อถกเถียงเรื่องสิทธิ์เสรีภาพในไทยมักจะวนเวียนอยู่ในประเด็นและข้อถกเถียงซ้ำๆ เหมือนเดินหนึ่งก้าวแล้วถอยสองก้าว จึงไม่ไปไหนเสียที

ดังนั้น ในยุคนี้ที่เราต้องการจะก้าวไปข้างหน้า เรายิ่งต้องทบทวนถึงบทเรียนในอดีตเพื่อให้ก้าวไปได้พ้นกับดักเดิมๆ นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่คนในชาติควรอ่าน ‘สยามปฏิวัติ’ ในตอนนี้ ธเนศกล่าวไว้ว่าทั้งหนังสือ ‘สยามปฏิวัติ’ และ ‘ความเป็นมาของความคิดทางการเมืองในสยามไทย’ ที่ได้มีการเขียนสรุปเหตุการณ์สำคัญๆ เอาไว้ ก็เพื่อให้สื่อมวลชน คนที่ทำงานด้านการเมืองหรือกฎหมาย สามารถมาอ่านแล้วใช้เป็นบ่ายักษ์ให้เหยียบย่าง หยิบเอาเนื้อหาไปต่อยอดได้ เพื่อผลักให้ประเด็นในสังคมเคลื่อนไปข้างหน้า

 

ห้าบ่ายักษ์ประชาธิปไตยกับการเมืองไทย

คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103

“(การปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์)
อุปมาเหมือนอุบะที่แขวนไว้ด้วยเชือกเส้นเดียว
พวงอุบะซึ่งอาศัยเชือกอยู่นั้น ถ้ามีอันตรายเชือกขาดก็จะต้องตกถึงพื้น
ถึงแก่ฟกช้ำเปลี่ยนแปลงรูปพรรณไปได้ต่างๆ ฤๅบางทีทำลายยับเยินสิ้นทีเดียว


ถ้าประดุจหนึ่งไม่มีพระองค์ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงเป็นพระราชธุระในเวลาใดแล้ว
การบ้านเมืองทุกอย่างก็จะเป็นที่ฟกช้ำระส่ำระสายแลบางทีถึงจะให้เกิดจลาจลแก่บ้านเมืองได้”

― คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103
โดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และคณะ

หัวใจสำคัญของ “คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103” อยู่ที่การเสนอให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีการเปรียบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดั่งการแขวนอุบะไว้ด้วยเชือกเส้นเดียว หากเส้นเชือกเส้นเดียวนั้นขาดไป อุบะย่อมตกถึงพื้นทันที การให้อำนาจแก่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวก็มีความเสี่ยงเดียวกันนั้นเอง หากเกิดอะไรขึ้นกับกษัตริย์การบ้านเมืองย่อมระส่ำระสาย นี่แสดงให้เห็นว่าเราถกเถียงกันถึงประเด็นนี้กันมาตั้งแต่เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน แสดงให้เห็นว่าเราถกเถียงกันถึงประเด็นนี้กันมาตั้งแต่เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน

ผู้มีบทบาทสำคัญในการเขียนคำกราบบังคมทูลฯ นี้คือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ผู้เป็นเอกอัครราชทูตคนแรกประจำสถานทูตในประเทศยุโรปหลายประเทศ เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงน่าหวาดหวั่นอย่างการที่อังกฤษเข้ายึดมัณทะเลย์ของพม่า รัชกาลที่ 5 ก็ทรงไว้ใจปรึกษาพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เกี่ยวกับภัยคุกคามดังกล่าว

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงไปรวบรวมข้อมูลมาจากคณะเจ้านายและข้าราชการอีก 10 คน รวมพระองค์เองเป็น 11 คน เรียบเรียงออกมาเป็นคำกราบบังคมทูลฯ (จะเรียกว่าพระองค์เป็นบ.ก.ให้กับงานชิ้นนี้ก็ว่าได้) โดยในหนังสือ ‘สยามปฏิวัติ’ มีการตีพิมพ์จดหมายตอบกลับของรัชกาลที่ 5 คู่กันไว้ด้วย ทำให้เราได้เห็นทรรศนะต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์ในยุคนั้นที่ทรงเห็นด้วยว่าในระยะยาว สยามจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่มองว่าสยามในเวลานั้นยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

ปรีดีเขียนถึงเมื่อตนเป็นเด็ก ได้ยินพ่อเอ่ยกับชาวนาว่าพระยาไชยวิชิตฯ (นาค)*
บอกว่าที่อังกฤษมีสภาผู้แทนราษฎร ใครเดือดร้อนอะไรก็ไปหาได้
ปรีดีจึงได้รู้จักสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกจากพระยาไชยวิชิตฯ (นาค) นี้เอง

― กษิดิศ อนันทนาธร

(*ผู้มีชื่อในคำกราบบังคมทูลฯ ร.ศ.103)

คำกราบบังคมทูล พ.ศ. 2427 อาจฟังดูห่างไกลจากเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2475 มาก ทว่ากลับมีหลายส่วนที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างคาดไม่ถึง กษิดิศยกตัวอย่างความเชื่อมโยงนี้ไว้ว่า จริงๆ แล้วพระยาไชยวิชิตฯ (นาค) มีทวดคนเดียวกับปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฏร และเป็นพระยาไชยวิชิตฯ (นาค) นี่เองที่แนะนำแนวคิดของ ‘สภาผู้แทนราษฎร’ ให้ปรีดีรู้จัก

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของคำกราบบังคมทูลฯ กล่าวไว้ว่า “ให้ราษฎรมีความคิดรู้สึกตัวว่า การกดขี่แลอยุติธรรมต่างๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว จึ่งจะมีความรักบ้านเมือง จนเห็นชัดว่ากรุงสยามนั้นเป็นเมืองของราษฎร” เนื้อความส่วนนี้บอกว่าประเทศจะต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขได้เสียก่อน จึงจะคาดหวังให้ประชาชนรักบ้านเมืองได้ และประโยคที่ว่า “กรุงสยามนั้นเป็นเมืองของราษฎรก็เป็นประโยคที่สำคัญมาก เพราะในสมัยนั้นประเทศทั้งหมดนับเป็นองคาพยพของกษัตริย์ ความคิดที่ว่าสิ่งใดในประเทศเป็นของราษฎรนั้นยังไม่มี ประโยคนี้จึงแสดงถึงกรอบคิดที่เปลี่ยนไปและอาจโยงไปสู่แนวคิดเบื้องหลังการปฏิรูปใน พ.ศ. 2475 ได้อีกด้วย

 

ในคำกราบบังคมทูลฯ เขียนไว้ว่า
‘ที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นจากความกดขี่ซึ่งเป็นต้นเหตุของอันตรายนั้น
ต้องทำให้เป็นที่นับถือวางใจซึ่งกันแลกัน ที่เห็นชั่วเห็นดีเห็นผิดเห็นชอบทางเดียวกัน’
นี่เป็นรากฐานของความคิดว่า คนในสังคมต้องเท่าเทียมกัน

― ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศตั้งข้อสังเกตว่า ‘คำกราบบังคมทูลฯ’ ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2427 หรือเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ได้เอ่ยถึงประเด็นร่วมสมัยหลายข้อด้วยกัน ข้อหนึ่งคือความเท่าเทียมของคนในสังคม ดังที่ระบุไว้ข้างต้นในฐานะแนวทางสำคัญในการรักษาบ้านเมืองให้พ้นจากความกดขี่

อีกข้อหนึ่งมาจากเนื้อความว่า “ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแลราษฎรทั่วพระราชอาณาเขต ต้องมีโสตในถ้อยคำแลความคิดความเห็นของตนที่เป็นประโยชน์แลมีอำนาจที่จะแสดงออกมาให้ปรากฏในท่ามกลางที่ประชุมก็ดี ฤๅในหนังสือพิมพ์ก็ดี แต่การใส่ถ้อยความที่ไม่จริงนั้น จึ่งจะมีโทษานุโทษตามพระราชกำหนดกฎหมาย” ธเนศชี้ให้เห็นว่าเมื่อนำมาตีความจะพบว่านี่คือคอนเซ็ปต์ของ freedom of expression นั่นเอง

การที่ ‘คำกราบบังคมทูลฯ’ เต็มไปด้วยประเด็นร่วมสมัย เป็นทั้งเรื่องน่ายินดีและน่าเศร้าไปพร้อมกัน น่ายินดีที่เราสามารถสืบต้นธารความคิดปฏิวัติสยาม

 

ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ

ในเวลาที่มิได้นอนหลับนั่งลืมตาอยู่ได้ฝันเห็นไปว่า…
จะตั้งปาลิเมน อะนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้”

― ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ
โดย เทียนวรรณ พ.ศ. 2447

“ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ” ของเทียนวรรณประกอบด้วยฝันละเมอ 34 ข้อด้วยกัน ตั้งแต่การมีรัฐสภา ศาลสถิตย์ยุติธรรมที่มีคนซื่อตรงและความรู้มาเป็นผู้พิพากษาตุลาการ การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว การเลิกทาส การทหาร การขนส่งสาธารณะ การชลประทาน การสื่อสาร การตั้งธนาคาร เรือเรียนรู้ กระทั่งการทำปลากระป๋อง!

ในปี 2447 ไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเลิกทาสยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่ ‘เทียนวรรณ’ กลับฝันถึงการมีผู้แทนราษฎรมานั่งในรัฐสภา จึงไม่แปลกใจว่าข้อเสนอทั้งหมดของเขาจึงเป็นได้เพียงฝันละเมอ

อย่างไรก็ตาม ธเนศได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า เทียนวรรณอยู่ร่วมสมัยกับฟุคุซาวะ ผู้ก่อตั้งม.เคโอ ผู้เป็นต้นตอการปฏิวัติการศึกษาในญี่ปุ่น “ฟุคุซาวะขึ้นเรือที่ไปยุโรป แล้วกลับมาเขียนถึงความแตกต่างระหว่างยุโรปกับญี่ปุ่น จะเห็นว่าเหมือนกับที่เทียนวรรณทำเลย แต่ดินญี่ปุ่นให้อำนาจประชาชนมากกว่า เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ แต่ว่าของไทย ก็เป็นได้แค่ความฝันของเทียนวรรณเท่านั้นเอง”

 

“เมื่อครั้งเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพก่อนจะเข้าโรงเรียนกฎหมาย
เด็กชายปรีดีเคยไปพบเทียนวรรณซึ่งอายุราว 70 ปีที่บ้าน
ไม่มีการบันทึกไว้ว่าทั้งสองสนทนาสิ่งใด”
แต่ภายหลังปรีดีได้ยกย่องเทียนวรรณว่า
‘ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก’”

― กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศแนะนำเทียนวรรณ (ต.ว.ส. วัณณาโภ) ว่าเป็นปัญญาสามัญชน ผู้ขวนขวายเรียนรู้ทั้งกฎหมายและภาษาต่างประเทศจนแตกฉาน แต่กลับไม่ได้นำความรู้นั้นไปรับราชการจนเป็นใหญ่เป็นโตตามขนบในสมัยนั้น แต่ผันตัวมาเป็นคอลัมนิสต์ผู้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมลงในหนังสือพิมพ์เป็นคนแรก เทียนวรรณจึงได้รับยกย่องจากนักคิดของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน กระทั่งนายปรีดี พนงยงค์ ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎร ยังยกย่องว่า ‘ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก’

เทียนวรรณไม่เพียงแต่เขียนบทความเรียกร้องถึงสิทธิ์ต่างๆ แต่ยังรับว่าความให้กับประชาชนทั่วไปด้วย ส่งผลให้เขาโดนกลั่นแกล้งให้ต้องติดคุกอยู่นานถึง 17 ปี ในข้อหา “หมิ่นตราพระราชสีห์” หรือในภาษากฎหมายปัจจุบันคือการถวายฎีกาโดยไม่ชอบ แต่เหตุผลแท้จริงเบื้องหลังข้อหาดังกล่าว ก็อาจเป็นดังที่ปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนไว้ว่า “ท่านผู้นี้เคยติดคุกเพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งระบบสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะมีคำพังเพยโบราณว่า ‘กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้’ ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ”

 

เทียนวรรณเป็นคนแรกที่ประกาศอาชีวปฏิญาณของนักหนังสือพิมพ์
ที่ต้องพูดและเขียนแต่ความจริง
ผมหวังจะได้เห็น ‘รางวัลเทียนวรรณ’ เป็นเหมือนพูลิตเซอร์เมืองไทย
มอบให้กับนักหนังสือพิมพ์ที่ทำความจริงให้ปรากฏ

― ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะตั้ง ‘รางวัลเทียนวรรณ’ สำหรับนักหนังสือพิมพ์ที่พูดแต่ความจริง เพื่อยกย่องงานของเทียนวรรณ รวมถึงสืบต่อดีเอ็นเอของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยึดมั่นในความจริงต่อไป

แล้วธเนศยังเสริมอีกว่า อันที่จริงความคาดหวังของสังคมต่อสื่อมวลชนนั้นเรียบง่ายมาก ขอแค่สื่อมวลชนยืนหยัดทำความจริงให้ปรากฏ “ไม่ได้เรียกร้องเกินไปกว่ากินข้าวเลย ใช้แค่มือกับปากเท่านั้นเอง”

 

ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ 

(วิธีปกครองประเทศโดยมีกระษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย) เป็นวิธีที่ร้ายแรงมาก
… กระษัตริย์จะทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง
… เพราะเหตุนี้เองประเทศที่มีกระษัตริย์ปกครองเป็นแอ็บโซลู๊ตจึงต้องล่มจมถึงกับความวินาศ
… ดังที่ได้มีตัวอย่างมามากแล้ว

― ‘ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ’ โดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)

‘ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ’ ของคณะก่อการ ร.ศ. 130 เป็นหลักฐานที่ราชการยึดได้ในการจับกุมหมอเหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะ ร.ศ. 130

ในเอกสารดังกล่าวเขียนถึงข้อดีเสียของการปกครองในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่วิธีปกครองประเทศโดยมีกระษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย (แอ็บโซลู๊ตมอนากี้) วิธีปกครองประเทศตามแบบกระษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (ลีมิตเต็ดมอนากี้) และวิธีปกครองประเทศแบบไม่มีกระษัตริย์ (รีปับลิ๊ก)

โดย “แนวคิดที่ปรากฎในเอกสารชิ้นนี้คือ ความคิดเสรีนิยมที่เชื่อมั่นในหลักความมีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และการจำกัดอำนาจรัฐ” ดังที่กษิดิศอธิบายไว้ในหนังสือ

แม้ว่าการก่อการครั้งนั้นจะไม่สำเร็จ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ได้จุดกระแสของการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น และต่อมา กระแสดังกล่าวก็ได้รับการสานต่อโดยคณะราษฎร

 

“บ่ายของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
คณะราษฎรได้เชิญคณะ ร.ศ. 130 ไปพบ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรกล่าวกับคณะ ร.ศ. 130 ว่า
‘ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม’”

― กษิดิศ อนันทนาธร

เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้แล้วก็ได้เชิญคณะ ร.ศ. 130 ไปพบ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมโดยพระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม!” ฝ่ายหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร ก็กล่าวยกย่องคณะบุคคลนี้ว่า “พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. 130 ว่า ‘พวกพี่ๆ’ ต่อไป”

ทั้งยังเล่าต่อไปว่า เด็กชายปรีดีวัย 11 ปี ซึ่งยังอาศัยอยู่ยังพระนครศรีอยุธยานั้น เมื่อได้ฟังข่าวของคณะ ร.ศ. 130 ก็สนใจมาก และมีความเห็นใจคณะ ร.ศ. 130 มาก

ดังนั้นจึงไม่เกินจริงเลย หากจะกล่าวว่า การก่อการของคณะ ร.ศ. 130 เมื่อ พ.ศ. 2454 เป็นต้นธารของการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475

 

การจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ทหารต้องเปลี่ยนแปลง แทน ประชาชน (มองว่าทหารเท่ากับประชาชน)
ไม่ใช่เปลี่ยนแปลง ให้ ประชาชน (มองว่าทหารมีอภิสิทธิ์มากกว่า)

― ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ใน ‘ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ’ ทหารในยุค ร.ศ. 130 เขียนไว้ชัดเจนพวกเขามีหน้าที่เปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองแทนประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ในสิทธิ์ที่ควรได้

ธเนศเห็นว่านี่เป็นหมุดหมายของความคิดใหม่ เพราะเดิมทีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในบ้านเมืองเป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง การที่คนกลุ่มใหม่เริ่มรับความคิดที่ว่าพวกเขามีความรับผิดชอบโดยตรงต่อความเป็นไปทางการเมืองเข้ามา หรือหากใช้ภาษาสมัยใหม่อาจกล่าวได้ว่าพวกเขาเริ่มมีจิตสำนึกทางการเมือง จึงเป็นหลักฐานว่าสังคมในยุคนั้นเริ่มเปิดกว้างขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ ธเนศยังเพิ่มเติมด้วยว่าถ้าระบบการปกครองขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ปกติ การที่คนบางกลุ่มที่ถืออาวุธจะอ้างว่ามีอำนาจ มีสิทธิ มีหน้าที่มากกว่าคนอื่นในการปฏิรูปบ้านเมืองนั้นนับว่าไม่ถูกต้อง เพราะว่าสิ่งที่ควรเป็นดังที่คำกราบบังคมทูลฯ ร.ศ.103 เขียนไว้ คือการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นเพราะว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนเพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงเปลี่ยนแปลงเพียงเพราะใครคนใดคนหนึ่ง หรือพวกใดพวกหนึ่งต้องการได้รับอำนาจ

ดังนั้น การที่คณะ ร.ศ. 130 เห็นว่าตนควรออกมาเคลื่อนไหว ก็สะท้อนด้วยว่าระบบการปกครองในยามนั้นไม่ปกติ

 

มนุษยภาพ

ตัวเราเปนใคร มีส่วนอยู่มากน้อยเพียงไรในความเสื่อมความเจริญของประเทศชาติ
เรามีสิทธิอะไรบ้าง และควรใช้สิทธินั้นได้ภายในขอบเขตเท่าใด …
พวกเราโดยมากไม่ทราบ และไม่พยายามที่จะทราบ
ข้าพเจ้าเข้าใจไม่ได้เลยว่า เหตุใดพลเมืองสยาม
จึงพาความสนใจของเขาข้ามเขตแดนปัญหาสำคัญอย่างอุกฤษฏ์นี้ไปเสีย

― มนุษยภาพ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

มนุษยภาพเป็นงานที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวว่าทรงพลังในระดับเดียวกับประกาศคณะราษฎร เป็นงานที่กล่าวถึงสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคของมนุษย์ ความเป็นธรรมของสังคม เมื่อบ้านเมืองอยู่ในยุคปลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่โดยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่ลงพิมพ์ได้เพียงสองตอน ก็ไม่ได้ลงต่อ เพราะชนชั้นสูงไม่พอใจเนื้อหาที่ถือว่าค่อนข้างแรง

กุหลาบจึงส่งบทความนี้ไปลงพิมพ์ใหม่ในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง โดยคราวนี้ใช้ชื่อจริงในการตีพิมพ์ และได้ลงพิมพ์ครบทั้งสามตอน บทความนี้ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงถูกสั่งปิดไปเก้าวัน (ก่อนจะกลับมาดำเนินการต่อได้ด้วยการวิ่งเต้นภายใน)

 

ถ้าผมมีมนตร์วิเศษสักอย่างหนึ่ง
ผมอยากจะปลุกชีพให้คุณกุหลาบตื่นขึ้นมาเขียนหนังสือให้ผมอ่านต่อ

― กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศเล่าว่า “เวลาพูดถึงศรีบูรพา คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงข้างหลังภาพ คิดว่าคุณกุหลาบเขียนนิยายรัก”

ทั้งที่จริงๆ แล้วกุหลาบเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ยึดมั่นในวิชาชีพไม่ต่างจากเทียนวรรณเลย “งานฝั่งหนังสือพิมพ์และการเมืองของคุณกุหลาบอ่านสนุกมากๆ มีวิธีการให้เหตุผลที่ดีและมีมิติ”

ตอนออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ กุหลาบพูดไว้ว่า “ปกติคนเรายืนอยู่ตรงไหน คนก็มองเห็น ถ้าเกิดต่อไปมีฝุ่นตลบมา ฝุ่นคลุ้งบังตัวไป คนมองไม่เห็น แต่เราจะอยู่ที่นั่นแหละ เมื่อฝุ่นที่มันมาปิดตาออกไปแล้ว ก็จะเห็นว่าเราจะอยู่ที่เดิม เราจะอยู่ที่นี่” สะท้อนจุดยืนทางการเมืองของกุหลาบว่าจะพูดแต่ความจริงเสมอ และวิจารณ์ผู้ปกครองอยู่เสมอไม่ว่าสมัยไหน ซึ่งเป็นข้อคิดที่น่าสนใจมากสำหรับสื่อมวลชนทั้งหลาย

 

มนุษยภาพ ของคุณกุหลาบเป็นความฝันของนักประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองเลย
เป็นงานปรัชญาการเมืองแท้ๆ ชิ้นแรกของไทย

― ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศเล่าว่าเขาตื่นเต้นกับ ‘มนุษยภาพ’ ของคุณกุหลาบเป็นอย่างมาก เพราะโดยทั่วไป เราไม่ค่อยเห็นใครที่เขียนเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าว่าต้องการการปกครองแบบไหนเพราะอะไรเสียมากกว่า แต่ไม่มักปรากฏงานที่นำเสนอเป็นข้อเขียนสมบูรณ์พร้อมทั้งให้ฐานแนวคิดทางปรัชญาต่างๆ ที่เขียนโดยคนไทยเอง ไม่ใช่งานแปล ‘มนุษยภาพ’ จึงนับเป็นงานเขียนปรัชญาการเมืองชิ้นแรกของไทย

“คุณกุหลาบเป็นมากกว่านักหนังสือพิมพ์ เป็นมากกว่านักเขียน คุณกุหลาบเป็นผู้นำทางความคิดการเมืองสมัยใหม่หรือความคิดประชาธิปไตยเลย” ธเนศกล่าว เขายังเน้นอีกด้วยว่ากุหลาบเป็นผู้ขวนขวายความรู้ใหม่ๆ อย่างลึกซึ้งจริงจังเสมอ ทั้งยังสามารถนำเสนอปรัชญาเหล่านั้นผ่านงานเขียนหลากหลายรูปแบบได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย กุหลาบจึงเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงความหมายของวาทะว่า ‘ความรู้คือประทีป’ อย่างชัดเจน

สุดท้าย ธเนศเห็นด้วยกับกษิดิศว่าหากมีอำนาจก็อยากจะปลุกกุหลาบซึ่งเป็นคนน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งให้ฟื้นขึ้นมา และเขาบอกด้วยว่าหากกุหลาบฟื้นขึ้นมา บรรดานักการเมืองในสภาคงจะมีชีวิตยากขึ้นเป็นแน่

 

 

อ่านอดีตแล้วพินิจปัจจุบัน

ถ้าคนรุ่นปัจจุบันทำไม่เสร็จ ไม่จบที่รุ่นเรา สิ่งที่ทำไปก็ไม่ใช่ไร้ความหมาย
มันจะจุดประกาย และเป็นหลักให้รุ่นต่อไปได้เดินตามที่เรากรุยทางไว้

― กษิดิศ อนันทนาธร

สุดท้าย หลังจากอ่านอดีต เราชวนให้ธเนศและกษิดิศย้อนกลับมาพินิจปัจจุบัน ว่าการพัฒนาประชาธิปไตยตลอดสองร้อยกว่าปีนี้ จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงสมัยปัจจุบันที่เกษียร เตชะพีระ นิยามว่าอยู่ในระบอบ ‘เสมือนสมบูรณายาสิทธิราชย์’ ได้ให้ข้อคิดอะไรกับเราบ้าง

กษิดิศมองว่าการอ่านเอกสารประวัติศาสตร์ด้วยแว่นตาปัจจุบันทำให้เราได้เก็บเกี่ยวข้อคิดไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป  “หากเราต้องการความเปลี่ยนแปลง เราต้องการข้อมูลที่มารองรับฐานทางความคิด เราจะเห็นว่าร้อยปีก่อนมีคนคิดแบบนี้ มีพัฒนาการแบบนี้ อะไรคือข้อเสนอของเขา จะได้เอามาคิดเปรียบเทียบว่าแล้วตอนนี้เราไปถึงไหนแล้ว การเห็นทั้งความล้มเหลว และความสำเร็จ อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลให้เรา”

ในทำนองเดียวกัน หากการเปลี่ยนแปลงไม่จบที่รุ่นเรา เรื่องราวของเราก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่มันไม่สำเร็จจากประชาชน
หรือนักปฏิวัติฝ่ายพัฒนาอย่างเดียวหรอก
ต้องมีการช่วยเหลือจากฝ่ายกลางๆ หรือฝ่ายชั้นสูง
ที่เห็นความเป็นธรรม เห็นความจริง
จึงจะทำให้การเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้นไปได้ไกล

― ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศเน้นย้ำว่า “สังคมไม่ต้องรอให้เราตั้งป้อมต่อสู้ฝ่ายดำกับขาวจนกว่าใครจะชนะไปข้างหนึ่งจึงจะเปลี่ยนได้ มันเป็นสังคมสัตว์นะ ที่กัดกันจนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งตายไปหมด อีกฝูงหนึ่งถึงจะอยู่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นมันพัฒนาอะไรไม่ได้ เพราะมันทำลายอีกฝ่ายหนึ่งหมดไปเลย”

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากคนที่เห็นพ้องต้องกันเพียงพวกเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ความช่วยเหลือจากฝ่ายที่เป็นกลางหรือเห็นต่างแต่เล็งเห็นถึงความจริงภายใต้ความเชื่อที่ต่างกันนั้นด้วย สังคมจึงจะเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

ผมให้ความสำคัญกับพลังแห่งการปลดปล่อย
งาน ‘สยามปฏิวัติ’ นี้ หากให้ลิซ่าแห่ง Blackpink อ่าน ลิซ่าก็ต้องเห็นด้วย
เพราะว่าลิซ่าได้เจอพลังแห่งการปลดปล่อยแล้วในเกาหลี
เขาก็คงอยากให้เพื่อนๆ เยาวชนไทยได้รับการปลดปล่อยบ้าง

― ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

พลังแห่งการปลดปล่อยเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองสมัยใหม่ ทั้งปลดปล่อยจากคติความเชื่อเก่าๆ มาสู่การเมืองที่เป็นเหตุเป็นผล และปลดปล่อยจากอำนาจอันไม่ชอบธรรม

ดังที่ธเนศเองได้เขียนไว้ในบทนำของหนังสือ ‘สยามปฏิวัติ’ ความว่า “ลักษณะเด่นของความคิดทางการเมืองสมัยใหม่แบบประชาธิปไตยจึงอยู่ที่พลังแห่งการปลดปล่อย ไม่ใช่อำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบเก่าที่ยิ่งทำให้คนงมงายและยอมตนเป็นข้าทาสคนชั้นสูงอย่างโงหัวไม่ขึ้น ตรงกันข้าม ความคิดและอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยเน้นหนักให้ความสำคัญแก่ความเป็นปัจเจกบุคคล ความเป็นตัวของตัวเอง หรือความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสากลอันมนุษย์ทุกหนทุกแห่งล้วนปรารถนาและดิ้นรนเพื่อไปสู่จุดหมายนี้”

“ความคิดประชาธิปไตยส่งเสริมสนับสนุนให้มนุษย์มีอำนาจในการปกครองเหนือตัวเองและชุมชนของพวกตนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นเจ้านาย และบ่าวไพร่อีกต่อไป ทุกคนต่างเป็นพลเมืองแห่งรัฐชาติสมัยใหม่ที่เสมอหน้ากันนั่นเอง”

 

หนังสือที่แนะนำในการเสวนา

ระหว่างสนทนา มีชื่อหนังสือชวนอ่านปรากฏขึ้นมาไม่ขาดสาย เราจึงขอรวบรวมหนังสือเปล่านั้นมาป้ายยาให้อ่านควบคู่ไปกับ ‘สยามปฏิวัติ’

  • ความเป็นมาของความคิดทางการเมืองในสยามไทย / ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ /สำนักพิมพ์สมมติ
  • ชีวิตและงานของ เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร.กุหลาบ / ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมุทรวาณิช / สำนักพิมพ์บรรณกิจ
  • ปฏิวัติ ร.ศ.130 / เหรียญ ศรีจันทร์ กับ เนตร พูนวิวัฒน์ เขียน; ณัฐพล ใจจริง บรรณาธิการ / สำนักพิมพ์มติชน
  • มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ / กุหลาบ สายประดิษฐ์ / สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ / สำนักพิมพ์ชนนิยม
  • เทียนวรรณ / สงบ สุริยินทร์ / สำนักพิมพ์รวมสาส์น / ดาวน์โหลดได้จาก หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สามัญสำนึก / โธมัส เพน / สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป / ดูรายละเอียดได้ที่นี่

 

อ่านสรุปแล้วชวนฟังไป bookscape club: อ่าน “สยามปฏิวัติ”
รวมงานเขียนการเมืองคลาสสิกของไทย ต้นธารความคิด ‘ประชาธิปไตย’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
สำรวจ ‘ฝันละเมอ’ ถึงสังคม ‘ศรีวิลัย’ ของนักคิดไทย จาก 2427 สู่ 2475 ถึง 2564

นำสนทนาโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กษิดิศ อนันทนาธร และ ปกป้อง จันวิทย์

ฟังบทสนทนาย้อนหลังได้ที่นี่

 

สยามปฏิวัติ: จาก ‘ฝันละเมอ’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕

บทนำ โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และคำบรรยายเปิดบท โดย กษิดิศ อนันทนาธร

160 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่