อ่าน ‘Poor Students, Rich Teaching’ สอนสู่ความสำเร็จ เพื่อศิษย์ขาดแคลน

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

 

“การจะพลิกชีวิตของนักเรียนให้สำเร็จนั้น ครู ต้องหัดเปลี่ยนตนเอง ก่อน ที่จะคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญจะเกิดขึ้นกับนักเรียน หนทางสู่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ไร้ซึ่งขวากหนาม อุปสรรคต่างๆ นั้นจัดการได้ และคุณเองก็ทำสำเร็จได้เช่นกัน”

— เอริก เจนเซน

 

หนังสือ Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students From Poverty เขียนโดย Eric Jensen ครูและนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์สมองชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งซูเปอร์แคมป์ (SuperCamp) โครงการด้านวิชาการเพื่อพัฒนาการทางสมอง นับเป็นโครงการแรกและมีเครือข่ายมากที่สุด โดยจัดมาแล้วใน 14 ประเทศทั่วโลก เจนเซนยังได้รับยกย่องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับโลก ซึ่งมีเพียง 30 คน (Top 30 Global Guru in Education) และสานงานด้านการพัฒนาวิชาชีพครูในระดับนานาชาติเรื่อยมา

สาเหตุที่เขาตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชีวิตวัยเด็กต้องพบเจอทั้งความขัดสนและความรุนแรงในครอบครัว หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากครูหลายๆ คน โลกไม่มีทางรู้จักครูและนักเขียนหนังสือดังกว่า 30 เล่มที่ชื่อเอริก เจนเซน เป็นแน่

“หากตอนนั้นครูไม่ใส่ใจช่วยเหลือ ผมคงถอดใจและล้มเลิกความพยายามไปแล้ว … และผมก็รับรู้ได้ถึงพลังแห่งสายใยและการสอนที่มีคุณภาพ”

หนังสือ Poor Students, Rich Teaching เล่มนี้ได้นำเสนอชุดความคิดที่เป็นประโยชน์ต่างๆ พร้อมทั้งวิธีการสอนอันแปลกใหม่ โดยเชื่อว่าครูจะกลับมารักงานสอนอีกครั้ง อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าหนทางสู่การสร้างชุดความคิดใหม่ๆ นั้นจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เจนเซนเพียงบอกว่านี่เป็นเรื่องที่เรียนรู้กันได้ คุ้มค่าที่จะลอง และยืนยันว่าครูทำสำเร็จได้อย่างแน่นอน เขายังย้ำว่าข้อมูลที่นำเสนอจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสู่ความสำเร็จของศิษย์ รวมถึงการพัฒนาตนเองของครูด้วย

ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าความยากจนทำให้เด็กไทยกว่า 500,000 คนหลุดจากระบบการศึกษาไป และอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ ทั้งนี้มีเยาวชนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์จากครอบครัวยากจนกลุ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

นับเป็นโอกาสดีที่ครูและผู้ทำงานกับเด็กไทยจะได้มีโอกาสนำข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ มาปรับและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทห้องเรียนเมืองไทย เนื่องจากสำนักพิมพ์ bookscape กำลังจะตีพิมพ์หนังสือ Poor Students, Rich Teaching เป็นภาษาไทยในปี 2020 หนังสือเล่มนี้อาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจและเป็นอีกแนวทางร่วมขยับตัวเลขนักเรียนไทยเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษารวมถึงสายวิชาชีพเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งก็ต้องพิจารณาให้เข้ากับความต้องการที่แท้จริงของตัวนักเรียนเองด้วยเช่นกัน

 

ความฉลาดสร้างได้!

 

วัตถุประสงค์หลักของหนังสือเล่มนี้คือการพัฒนาเครื่องมือทรงประสิทธิภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ “ชุดความคิด” (mindset) ซึ่งหมายถึงรูปแบบทางความคิดที่คนเรามีต่อสิ่งต่างๆ แครอล ดเวก (Carol Dweck) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอธิบายว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องสติปัญญาใน 2 รูปแบบ ได้แก่

  • โลกนี้มีแค่คนฉลาดกับคนไม่ฉลาด (ชุดความคิดแบบยึดติด หรือ fixed mindset)
  • เราทุกคนเติบโตและเปลี่ยนแปลงตนเองได้ (ชุดความคิดแบบเติบโต หรือ growth mindset)

เมื่อกล่าวถึงสติปัญญาหรือความสามารถ เราอาจมีความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นชุดความคิดแบบยึดติด (หยุดอยู่กับที่) หรือชุดความคิดแบบเติบโต (พัฒนาตนเองได้) คนที่มีชุดความคิดแบบยึดติดเชื่อว่าสติปัญญาและความสามารถเป็นคุณสมบัติตายตัวไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนคนที่มีชุดความคิดแบบเติบโตจะมองว่าสติปัญญาและความสามารถนั้นพัฒนาได้ตามระยะเวลา เพราะสมองมีพัฒนาการและเติบโตได้

หนังสือเล่มนี้จะขยายมุมมองและเจาะลึกชุดความคิดประเภทต่างๆ ของนักเรียนและครูผู้สอนในด้านพฤติกรรมที่เราจะเห็นได้ว่าเกี่ยวข้องกับการสอนอย่างยิ่ง

ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ จริงๆ มีเพียงประเด็นเดียวก็คือ “ทางเลือก” ดังแผนภาพทางด้านล่าง หากครูต้องการเห็นความสำเร็จของศิษย์เกิดขึ้นจริง ชุดความคิดที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตและพัฒนาตนเอง ย่อมเป็นทางเลือกที่สะท้อนว่าครูเชื่อมั่นว่าศิษย์จะเรียนรู้และพัฒนาสติปัญญารวมทั้งความสามารถได้อย่างแน่นอน

 

7 ชุดความคิดสำคัญ พลิก “ความขาดแคลนของศิษย์” ให้เป็น “ขุมทรัพย์ของครู”

 

ชุดความคิดทั้ง 7 ประเภทที่จะเป็นต้นทางสู่การจัดการเรียนรู้ที่ดี พร้อมกลวิธีการสอนทรงประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับผลการวิจัยและง่ายต่อการนำไปปฏิบัติจริง ได้แก่

  1. ชุดความคิดสานสัมพันธ์ (relational mindset)
  2. ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ (achievement mindset)
  3. ชุดความคิดเชิงบวก (positivity mindset)
  4. ชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ (rich classroom climate mindset)
  5. ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน (enrichment mindset)
  6. ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม (engagement mindset)
  7. ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา (graduation mindset)

 

ภาพประกอบ: เพชรลัดดา แก้วจีน

สรุป 7 ชุดความคิดโดยสังเขป

 

  1. ชุดความคิดสานสัมพันธ์ มุ่งเน้นการพัฒนาสายสัมพันธ์และความเอาใจใส่ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นรายคน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ช่วงท้ายคาบเรียน ไปจนถึงชีวิตที่บ้านหรือชุมชนของนักเรียน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมครู พฤติกรรมนักเรียน และจะย้อนกลับมาเปลี่ยนครูอีกรอบหนึ่ง
  2. ชุดความคิดแห่งความสำเร็จ มีงานวิจัยยืนยันว่า “ความฉลาดเป็นสิ่งที่ฝึกได้” (สร้างและพัฒนาชุดความคิดแบบเติบโต) ครูชวนนักเรียนตั้งเป้าหมายให้ใหญ่หรือท้าทายในระดับที่ไม่น่าจะบรรลุได้ เพื่อท้าทายความมานะพยายาม โดยมีครูคอยหนุนจนบรรลุความสำเร็จ
  3. ชุดความคิดเชิงบวก เสนอแนะให้ครูนำความรู้ทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมองและสารสื่อประสาทมาสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละช่วง กระตุ้นความหวังและการมองโลกแง่ดี รวมถึงมีวิธีจัดการความคิดเชิงลบอย่างสร้างสรรค์
  4. ชุดความคิดแห่งบรรยากาศการเรียนแบบบริบูรณ์ ยาวิเศษที่จะแก้ข้อด้อยของนักเรียนจากครอบครัวขาดแคลนคือความรู้สึกว่าตนได้รับการยอมรับจากครูและเพื่อนๆ สภาพห้องเรียนที่มีบรรยากาศบริบูรณ์คือปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ครูต้องช่วยเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับชีวิตในอนาคตของนักเรียน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดและแสดงออก เพื่อสร้างความมั่นใจและการยอมรับ
  5. ชุดความคิดส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน ประกอบด้วยผลกระทบของความยากจนต่อการเรียนรู้ จัดการตัวถ่วงการเรียนรู้ เสนอแนวทางยกระดับการเรียนรู้และเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนกลุ่มขาดแคลน
  6. ชุดความคิดแบบมีส่วนร่วม สร้างสภาพกายและใจที่พร้อมเรียน ครูสามารถนำนักเรียนเข้าสู่สภาพพร้อมเรียน มีแรงบันดาลใจในการเรียน แจกแจงเครื่องมือสร้างความเป็นพวกพ้อง และสร้างให้ชั้นเรียนเป็นชุมชนของผู้เรียนที่เอาจริงเอาจัง
  7. ชุดความคิดการสำเร็จการศึกษา ในสหรัฐฯ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีโรงเรียนในเขตยากจนนับร้อยหรืออาจถึงพันโรงเรียนที่ติดเกณฑ์โรงเรียนที่มีผลดำเนินการดีเด่น ความแตกต่างนี้อยู่ที่ครูผู้มุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของศิษย์อย่างไม่ท้อถอย หนุนเสริมด้วยศิลปะ ดนตรี และพลศึกษา รวมถึงการเตรียมพร้อมนักเรียนสู่ระดับอุดมศึกษาหรือเข้าสู่อาชีพ

ไม่ว่าศิษย์จะขาดแคลนเพียงใด ครูต้องมุ่งมั่นดำเนินการให้ศิษย์ได้รับผลตามเป้าหมายหลักทั้ง 7 ประการนี้

 

ทักษะการคิดฝึกได้!

 

นักเรียนยากจนขาดแคลนมักมาโรงเรียนพร้อมกับความบกพร่องด้านการเรียนรู้ อันได้แก่ ความบกพร่องด้านการมีสมาธิจดจ่อความสนใจ ด้านความเร็วในการประมวลข้อมูล และด้านความจำ ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะการคิด แต่ครูที่เอาใจใส่สามารถช่วยเหลือศิษย์ได้

ทักษะการคิดเป็นทักษะที่ครอบคลุมกว้างขวาง นักเรียนที่มีทักษะการคิดดีนั้นจะแสดงออกดังต่อไปนี้ มีทักษะในการเอาใจใส่ สามารถบังคับตนเองให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำ จัดการสาระความรู้โดยการประเมิน จัดกระบวนการ จัดลำดับความสำคัญ เรียงลำดับสาระ จำสาระไว้ในความจำใช้งาน เปรียบเทียบและทำความเข้าใจความต่าง ขยายความ และใช้ความจำใช้งานในขณะเดียวกันกับการจัดการสาระ และท้ายที่สุดรอคอยผล จนถึงคราวที่ต้องการคำตอบ จะเห็นว่าทักษะการคิดมีทักษะย่อยจำนวนมาก เป็นเหตุผลที่ทำให้การสอนทักษะการเรียนรู้เป็นสิ่งท้าทายมาก

หน้าที่ของครูคือเอื้อให้นักเรียนได้ฝึกวิธีคิดที่ถูกต้องต่อสถานการณ์นั้นๆ การคิดที่ดีที่สุดคือคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งหมายถึงการคิดที่มีประสิทธิผล มีความใหม่ ไม่เลียนแบบใคร และมีแนวทางของตนเอง

ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนเอาชนะอคติที่พบบ่อยได้ อย่างเช่นการมองด้านเดียว ละเลยข้อมูลหลักฐานที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตน คิดเป็นเหตุเป็นผลไม่เป็น และลืมหาข้อมูลหลักฐาน

นักเรียนต้องฝึกคิดเอง ไม่ลอกเลียนจากสถานการณ์ที่คล้ายคลึง ไม่รอพึ่งการบอกใบ้จากครูหรือผู้อื่น ย้ำว่าทักษะการคิดเป็นสิ่งที่ฝึกได้

 

สัมผัสการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง

 

หมายเหตุ: บางส่วนจากคำนำผู้เขียน สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ตีความหนังสือ Poor Students, Rich Teaching

 

หนังสือเล่มนี้สื่อเรื่องราวในห้องเรียน ในโรงเรียน และสื่อชุดความคิดของคนในวงการศึกษาที่ผิดพลาดมานานในวงการศึกษาไทย อย่างน้อยก็ 70 ปี หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนชุดความคิด หรือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษาในลักษณะของการเปลี่ยนระดับรากฐานที่เรียกว่า transformation โดยอาจเรียกว่า educational practice transformation

หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเป็นตำรามาตรฐานสำหรับใช้ในการผลิตครูและการพัฒนาครูประจำการเพื่อสร้างชุดความคิดที่ถูกต้องและทรงคุณค่าในการธำรงศักดิ์ศรีครู รวมทั้งเพื่อสร้างทักษะที่ลุ่มลึก แต่ปฏิบัติได้ง่าย ในการทำหน้าที่ครูอย่างมีความสุข มีความท้าทาย และมีความสำเร็จในชีวิตการเป็นครู

ครูที่ฝึกปฏิบัติตามหนังสือเล่มนี้จะเป็น “ครูนักเรียนรู้” ที่เยี่ยมยอด หากครูท่านใดปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นต่อเนื่องไปสักสองสามปี ท่านจะได้สัมผัสการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ด้วยตัวท่านเอง ทั้งที่เป็นคุณค่าต่อชีวิตส่วนตัวและต่อชีวิตความเป็นครู ท่านจะเป็นคนที่มีจิตใจละเมียดละไม มีทักษะหลากหลายด้านที่เป็นทักษะแห่งชีวิตที่ดี เป็นครูที่มีผลงานโดดเด่น และที่สำคัญยิ่งมีผลงานเด่นโดยที่ทำงานได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง

อาจกล่าวได้ว่าชุดความคิดและวิธีการนำเสนอในหนังสือเล่มนี้เป็นการประยุกต์วิธีปลุกสมองให้พร้อมเรียน ควบคู่ไปกับการเรียนซึ่งนักเรียนทุกคนจะได้รับการปลุก ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่ขาดแคลนหรือไม่ก็ตาม เชื่อว่านักเรียนทุกคนจะได้ประโยชน์จากครูที่ดำเนินการตามที่แนะนำในหนังสือเล่มนี้