ปิง เกรียงไกร กับวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต

 

ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น คือหนึ่งในซีรีส์ที่ได้รับคำชมว่านำเสนอภาพวัยรุ่นได้ตรง แรง และน่าสนใจมากๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งที่มาของข้อมูลต่างๆ ก่อนจะมาเป็นบทและถ่ายทอดให้เราได้ชมกัน ผ่านการทำงานหนักและเก็บข้อมูลจริง กับวัยรุ่นตัวจริงเสียงจริง

ปิง – เกรียงไกร วชิรธรรมพร หนึ่งในผู้กำกับและทีมเขียนบทของ ฮอร์โมนส์ ตลอดสามซีซัน ในวัย 34 ปี ปิงบอกว่าเขายังคิดว่าตัวเองเป็นวัยรุ่นอยู่เสมอ เพราะคำว่า “วัยรุ่น” ไม่ได้วัดกันที่อายุเสมอไป

สำหรับใครที่ยังมีปัญหากับ “สังคมก้มหน้า” มุมมองจากผู้กำกับอารมณ์ดีคนนี้อาจช่วยให้เราไม่ด่วนสรุปจนมองสมาร์ทโฟนที่พ่วงกับโลกออนไลน์เป็นผู้ร้ายอยู่ตลอดเวลา

 

ประสบการณ์การทำงานกับวัยรุ่น

เนื่องจากปิงเป็นทีมเขียนบทซีรีส์นี้มาตั้งแต่ซีซันแรก เพื่อความสมจริง เขาจึงได้คลุกคลี พูดคุย จนทำให้มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวัยรุ่นเยอะมาก

“ผมได้คุยกับวัยรุ่นหลากหลายแบบ เพราะเวลาเขียนบทเราจะลงไปคุยกับวัยรุ่นจริงๆ สมมติเราตั้งประเด็นว่าอยากคุยกับวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียล ก็เจาะไปเลยว่าจะคุยเรื่องไหน เช่น การทำเฟซบุ๊กปลอม เราก็ต้องไปหาว่าคนที่ทำเฟซบุ๊กปลอมเขาทำเพราะอะไร มีเรื่องการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน คนที่ดักตบกันในโรงเรียนเขาดักตบกันทำไม”

เริ่มต้นจากการพูดคุย ทำให้ปิงหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า จริงๆ แล้ววัยรุ่นคืออะไร และวัยรุ่นในยุคปัจจุบันแตกต่างอย่างไรกับตอนที่เขาเป็นวัยรุ่นบ้าง

“ไม่แน่ใจว่าการแยกแยะคำว่าวัยรุ่นกับผู้ใหญ่มันแยกได้ขาดขนาดนั้นไหม อันนี้ความเห็นของผมเองเลยว่า ผมก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นวัยรุ่น ตอนนี้ผม 34 แล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นวัยรุ่น”

ปิงเล่าว่าเขายังไม่รับไลน์กรุ๊ปครอบครัว เพราะกลัวว่าจะได้ภาพ “สวัสดีวันจันทร์” มาเต็มไปหมด แต่ก็ยอมเข้าอีกกรุ๊ปหนึ่งที่เอาไว้สื่อสารกันจริงๆ ในหมู่ญาติพี่น้อง

 

วัยรุ่นยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความซับซ้อน

ปิงแชร์สิ่งที่ได้จากการอ่าน It’s Complicated: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต ว่าก่อนอ่านเขารู้สึกอย่างไร และเมื่ออ่านๆ ไป ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองที่เคยมีไปอย่างไร

“ก่อนอ่าน ความรู้สึกว่าวัยรุ่นคืออะไร (วะ) มันเต็มไปหมดเลย จริงๆ ผมชอบชื่อหนังสือมากเลย จากการที่บอกว่า It’s Complicated จริงๆ มัน Complicated ขึ้นเยอะมาก พออ่านแล้วเหมือนกับเราเห็น pattern ของชีวิตว่าจริงๆ แล้ว ปัญหาวัยรุ่นในแต่ละยุคสมัย มันแทบจะเหมือนกันหมดเลย ต่างกันแค่ว่าเครื่องมือต่างๆ นานาที่อยู่รอบตัวมันไม่เหมือนกัน”

ปิงยกตัวอย่างเรื่องความเป็นส่วนตัว-สาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาประจำของวัยรุ่นทุกยุคสมัย จากห้องนอนที่ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัวทางกายภาพ จนถึงหน้าวอลล์เฟซบุ๊กในปัจจุบัน

“ทุกวันนี้ ปัญหาเรื่องความเป็นสาธารณะจริงๆ ก็ยังมีอยู่ มันมีมาตั้งแต่สมัยเราแล้ว ตัวเราเองที่รู้สึกว่ามีห้องนอนส่วนตัวแล้วไม่อยากให้พ่อแม่เข้ามา นั่นคือปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งทุกวันนี้มันคือเฟซบุ๊ก คือการที่เราแชร์อะไรต่างๆ นานาเต็มไปหมด แล้วไม่อยากให้พ่อแม่มาเห็น เหมือนกับในห้องนอนเราก็ไม่อยากให้พ่อแม่รู้ว่าซ่อนหนังสือโป๊ไว้ตรงไหน จริงๆ มันคือตรรกะเดียวกันมาตลอด แต่ว่ายุคนี้มันเข้มข้นขึ้น เพราะเครื่องมือมันเยอะมาก”

ลองนึกภาพง่ายๆ ก็ได้ ปิงเล่าว่าตอนเขาเป็นวัยรุ่น ช่องทางรับสื่อยังมีแค่โทรทัศน์ไม่กี่ช่อง มีหนังสือการ์ตูนบ้าง แล้วก็หนังสือพิมพ์ เท่านี้เอง ซึ่งทำให้โลกของเราออกจะแคบไปหน่อยด้วยซ้ำ

“โลกของเราก็จะกว้างอยู่แค่นั้น เราจะรู้จักประเทศญี่ปุ่นจากการ์ตูนที่ได้ดู รู้จักอเมริกาจากหนังที่ได้ดู แต่ไม่รู้จักเลยว่าประเทศเซอร์เบียเป็นอย่างไร การจะเข้าอินเทอร์เน็ตต้องต่อผ่านโมเด็ม ต้องรอนานมาก โลกเราเลยแคบประมาณนั้น”

จากนั้นปิงชวนให้ลองนึกย้อนกลับไปในยุคพ่อแม่ของเขา แล้วจะเข้าใจอะไรๆ ดีขึ้น

“ยุครุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็เป็นอีกรุ่นที่โลกไม่ได้กว้างเท่าไร ทีวีก็มีน้อยช่องกว่า เพราะฉะนั้นทางเลือกของชีวิต ปัญหา ความงง ความสับสนมันก็น้อยกว่า แล้วนึกภาพย้อนกลับไปถึงอาเหล่าม่า สมัยเด็กๆ ไม่มีทีวี อาม่าก็วิ่งเล่น ความสนุกของอาม่าคือการเล่นวิ่งไล่จับกับเพื่อนบ้าน ซึ่งทุกวันนี้มันล้ำไปมากแล้ว ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปหมด”

ไม่นานมานี้ปิงได้ดูคลิปบนอินเทอร์เน็ต มีการพัฒนาการวิ่งไล่จับไปเป็น world tag หรือการวิ่งไล่จับระดับโลก ลองนึกภาพเกมวิ่งไล่จับเหมือนหนังสตั๊นท์จา พนม จะต้องวิ่งกระโดดข้ามโน่นนี่ แล้ววิ่งไปไล่แปะๆ กัน ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบเวิลด์แชมเปี้ยน

เมื่อได้อ่าน It’s Complicated ทำให้ปิงมองโลกโซเชียลและวัยรุ่นเปลี่ยนไปอย่างไร

หนังสือเล่มนี้ยืนยันกับเราว่า จริงๆ วัยรุ่นก็เหมือนเดิม เพียงแต่เครื่องมือมันซับซ้อนขึ้น ในความซับซ้อนเหล่านั้น ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจเขา ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจว่าแก่นแท้ของมันไม่เคยเปลี่ยน จริงๆ มันคือวัยรุ่น แต่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้น เฮ้ย ปัญหาคืออะไร คือการที่มีช่องทางเยอะขึ้นในการที่เราจะเป็นอะไรก็ได้ เรียนรู้อะไรก็ได้ เจออะไรก็ได้

ซึ่งปิงก็ตั้งคำถามว่า เมื่อเด็กๆ สามารถมีช่องทางและทางไปได้มากขึ้น เราจะให้อาวุธอะไรพวกเขาเพื่อพร้อมต่อสู้ในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนซับซ้อนขนาดนี้

“ผมคิดว่าคำว่า complicate คือ keyword ของวัยรุ่นยุคนี้จริงๆ”

 

แอคหลุม และการใช้โซเชียลมีเดียแบบที่ผู้ใหญ่ตามไม่ทัน

จากประสบการณ์และได้สัมผัสวัยรุ่นจริงๆ ทำให้ปิงมองว่า วัยรุ่นกับคนรุ่นก่อนนั้นแทบไม่ต่างกันเลย

ผมมองว่าเขาแค่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อายุน้อยกว่าเรา จริงๆ วัยรุ่นก็คือมนุษย์ที่อายุ 10 กว่าถึง 20 เราก็คือมนุษย์อายุ 30 กว่า จริงๆ แล้วเราต่างกันแค่ประสบการณ์ชีวิต ที่เหลือไม่ต่างกันเลย ผมว่าถ้าเราจะแชร์ หรือสอนอะไรได้ ผมว่ามีแค่เรื่องประสบการณ์ชีวิตเท่านั้นเอง ว่าในช่วงชีวิตที่มากกว่าของเราสามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง

อย่างเช่น ปิงพูดถึงแอคหลุม (account หลุม) แต่ก่อนดารานักแสดงดังๆ จะมีแอคหลุมในอินสตาแกรมเพื่อเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวจริงๆ มีแค่ตัวเองกับเพื่อน แล้วก็ตั้งค่าเป็น private ไม่ให้คนทั่วไปรู้

“ปัจจุบัน ผมมารู้ว่าเด็กทั่วไปที่ไม่ใช่นักแสดงก็มีแอคหลุม คือแอคจริงก็เอาไว้ลงรูปในแบบที่ญาติ พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนที่ไม่สนิทมาก follow ได้ด้วย ฉะนั้นเวลาลงรูปก็จะลงในแบบอะไรที่เราอยากเป็น อะไรที่จะทำให้ภาพลักษณ์เราเป็นแบบนั้น ก็จะมีการฉาบหน้าหนึ่งชั้นก่อน ส่วนในแอคหลุมจะเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นตัวเราจริงๆ แล้วก็จะจำกัดคนเข้ามา อาจมี follower แค่ 20-30 คน มันคือการเลือกที่จะบล็อกอะไรบางอย่างเอาไว้”

เรื่องแอคหลุมนี้ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนกังวลแทนวัยรุ่นว่า ถ้าทำแบบนี้นานๆ เข้าจะสับสนในตัวตนของตัวเองหรือเปล่า หรือสรุปแล้วตัวจริงของพวกเขาเป็นแบบไหนกันแน่ จะเจอปัญหาอะไรไหม แต่เวลาที่ปิงคุยกับเด็กๆ เขารู้ว่าเด็กๆ แยกแยะได้ แล้วยังรู้ด้วยว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

“การมีแอคหลุมเหล่านั้นเกิดขึ้นจากวิธีคิดว่า เขารู้ว่าหน้าที่ของเขา บทบาทของเขามีอะไรบ้าง แล้วเขาแค่แยกบทบาทของเขาออกจากกัน บางคนมีแอคหลุมสี่อันทำหน้าที่ต่างกัน ผมว่าคงเป็นเรื่องการเอาตัวรอดของมนุษย์นะ คือพอมีเครื่องมืออะไรมา มันก็จะหาวิธีเอาตัวรอดในแบบของตัวเอง”

อย่างน้องคนที่มีสี่แอคเคาน์ในอินสตาแกรม ปิงเล่าว่าแอคเคาน์แรกคืออันที่มี follower ประมาณสี่พันกว่าคน ด้วยความเป็นคนหน้าตาน่ารักก็จะมีคนมาตามเยอะ ก็ลงรูปอะไรสวยๆ งามๆ พอเป็นเรื่องส่วนตัวหน่อย ก็จะมีแอคหลุมอีกอันเอาไว้ใช้กับเพื่อนสนิทในมหาวิทยาลัย แล้วกับเพื่อนสนิทมากประมาณสิบคนก็มีอีกแอคหลุมหนึ่ง ก็จะลงอะไรได้เต็มที่หน่อย ส่วนอันสุดท้ายเอาไว้เป็น reference งาน เอาไว้ follow เฉพาะคนที่ถ่ายรูปสวยๆ หรือคนทำดีไซน์

“มันเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งที่เขาตั้งขึ้นเอง อินสตาแกรมไม่ได้สอนว่าสามารถทำฟังก์ชั่นนี้ได้นะ คือการจัดหมวดหมู่บางอย่าง จริงๆ ฟังก์ชั่นมันคล้าย pinterest แต่เขาเลือกจะใช้ในอินสตาแกรม มันคือการปรับตัวของเขาเพื่อให้ใช้เครื่องมือนั้นได้เป็นประโยชน์กับเขามากที่สุด”

ในฐานะผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า เราพอจะบอกอะไรวัยรุ่นได้บ้าง

“เราน่าจะบอกในสิ่งที่เรารู้ว่า การที่เราจะไม่หลงไปกับตัวตนคืออะไร การไม่ได้ยอด like ไม่ได้เท่ากับว่าเพื่อนทั้งชั้นแบนคุณ ไม่เกี่ยวกัน คนละเลเวลกัน บางทีการไม่ได้ยอดไลก์เขาอาจจะแค่ไม่เห็นคุณก็ได้ เขาอาจจะแค่ไถไปแล้วไม่เจอคุณ อัลกอริธึมมันไม่ได้ทำให้เลื่อนมาเจอ เขาก็เลยไม่ได้ไลก์รูปคุณ อาจจะแค่นั้นก็ได้ นี่คือการสอนให้เขาแยกแยะออกว่า อะไรจริง อะไรไม่จริง ซึ่งเป็นคำแนะนำที่เราให้เขาได้”

การจะสอนสิ่งเหล่านั้นให้แก่เด็กได้ ตัวเราเองก็ต้องรู้จักมันเอาไว้บ้าง ปิงมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่เช่นกันที่ต้องหาโอกาสเรียนรู้เครื่องมือเหล่านี้ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ใหญ่เองด้วย ที่จะแนะนำเขาได้ถูกทางมากขึ้นว่า ถ้าใช้เครื่องมือนี้ควรจะเป็นแบบไหน อย่างไร

 

ถอดรหัส สเตตัสซ่อนนัย

อีกเรื่องที่ปิงเล่าให้ฟังอย่างออกรสมากๆ คือการบล็อกสาร พูดง่ายๆ คือการใส่รหัสในสเตตัส ซึ่งทำให้คนอื่นๆ หรือคนนอกกลุ่มจะเข้าไม่ถึงสารที่แท้จริงที่คนโพสต์ต้องการสื่อ

ปิงยกตัวอย่างการบล็อกสารประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ภาษาลู” สมัยเขาเป็นวัยรุ่น คือการนำคำว่า “ลู” ไปผสมกับคำ คือใส่ลงไปในทุกพยางค์ แล้วใช้พูดกัน ทำให้สามารถซ่อนคำ เช่น กำลังเม้ากับเพื่อนว่าผู้ชายคนนั้นแซบมาก แต่คนอื่นๆ จะฟังไม่ออกว่าพูดอะไรกัน

“ผมก็ผสมไม่เป็นนะ แต่พอพูดออกมาแล้วเราจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่เพื่อนด้วยกันที่ถอดภาษาลูออกจะรู้ว่าอุ๊ย ผู้ชายคนนั้นแซบมาก นี่คือสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยผม ตอนนั้นเพื่อนสาวเอาไว้เม้าผู้ชายกัน แต่พอผ่านมา รูปแบบมันก็เปลี่ยนไป”

หรือในยุคที่มีอีโมติคอน เวลาเราอยากสื่อสารอะไรบางอย่างแต่สื่อสารตรงตัวไม่ได้ ก็จะใส่อีโมติคอนเข้าไปแทน เช่น ลงรูปเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งพร้อมกับอีโมติคอนดอกไม้ มันก้ำกึ่งมากว่าเรากำลังพูดว่า เขาน่ารักเหมือนดอกไม้ หรืออย่างอื่น หรือแม้แต่เปลี่ยนรูปอีโมติคอนเป็นสตรอเบอร์รี ความหมายมันไปได้หลากหลายมาก

“เอ้า คุณจะบอกว่าเราด่าเพื่อนหรือเปล่า เม้าเพื่อนรุนแรงทำไม จริงๆ หลังบ้านเราอาจจะเม้ากับเพื่อนสนิทว่า อีนี่ตอแ – มาก แต่ไม่กล้าโพสต์ด่าตรงๆ เพราะเขาก็ยังเป็นเพื่อนในห้องเรา ถ้าอย่างนั้นเราโพสต์รูปเขา พร้อมสตรอเบอร์รีหนึ่งอัน เมสเสจเปลี่ยนละ กลายเป็นว่าก้ำกึ่ง แต่เรายังได้สื่อสารอารมณ์อยู่”

หรือกระทั่งสเตตัสเฟซบุ๊กของน้องผู้หญิงคนหนึ่ง เขียนบรรทัดเดียวสั้นๆ ว่า K O D E (หน้ายิ้ม) แล้วก็เครื่องหมายลูกศรกลับด้าน ซึ่งทีแรกทำให้ปิงงงมาก

“เห็นแล้วเราก็งงว่า โคตรหน้ายิ้มเหรอ เรานึกว่าเป็นสเตตัสของการมีความสุข แต่ลูกศรกลับด้านมันชี้ให้เราอ่านกลับไปว่า หน้ายิ้มนี้กลายเป็นหน้าบึ้ง แล้ว K O D E พออ่านจากข้างหลังคือคำด่าว่า E D O K นี่คือการแปลงโค้ดเหมือนกัน นี่คือรูปแบบการแปลงโค้ดแบบใหม่ที่ โอ้ ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าน้องครีเอทีฟมาก น้องจะด่าเพื่อนน้องต้องครีเอทีฟขนาดนี้เลยเหรอ แต่เอาจริงๆ ถ้าพ่อแม่มาอ่านก็ไม่เข้าใจ คงมาถามว่ามีความสุขหรือเปล่าลูก เห็นยิ้มๆ มา เจออะไรมาหรือเปล่าลูก ไม่มีใครรู้ไงครับว่าเมสเสจคือแบบนี้”

ปิงมองว่า สุดท้ายนี่คือธรรมชาติของมนุษย์แต่ละยุคสมัยที่พยายามสรรหาวิธีบำบัดตัวเอง ซึ่งการระบายออกรูปแบบนี้ถือเป็นการบำบัดแบบหนึ่ง

“การที่เราอยากจะด่าคนคนหนึ่งเหลือเกิน แต่ไม่รู้จะไปลงตรงไหนดี แล้วการที่เราโพสต์ลงเฟซบุ๊กแล้วมีเพื่อนที่เข้าใจมากดไลก์ เราก็จะรู้สึกว่า มึงอยู่ทีมกู มึงรู้ว่ากูพูดถึงอะไร กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่หรือตัวคนนั้นเองมากดไลก์ เราก็จะแบบ หึ นี่ไม่รู้เหรอว่าโดนด่าอยู่

“นี่คือความเป็นส่วนตัวที่จริงๆ ไม่ต่างกับการที่เราไปหาเพื่อนข้างบ้านแล้วก็เม้าบ้านอื่นๆ มันแค่เปลี่ยนยุคสมัย เปลี่ยนเครื่องมือ เปลี่ยนวิธีการเท่านั้นเอง สนุกดีครับเรื่องนี้”

 

อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน “สังคมก้มหน้า”

คำว่า “สังคมก้มหน้า” หรือ “เด็กติดมือถือ” และการตัดสินจากสังคมว่าวัยรุ่นยุคนี้เอาแต่ก้มหน้าไม่สนใจอย่างอื่นรอบข้าง หรือมองว่าเขาคงมีความทุกข์ หรือต่อไปจะมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมหรือเปล่า ทำให้ปิงตั้งข้อสังเกตเรื่องการเสพติดขึ้นมา

“ผมว่าการที่เราเสพติดอะไรบางอย่าง มันเกิดขึ้นจากว่า เรารู้ว่าในนั้นมันมีความสุขความสบายใจให้เรา เราถึงได้ติดมัน เราติดเกมเพราะเกมสนุก เราติดอาหารบางอย่างเพราะมันอร่อย ผมรู้สึกแบบนั้นก่อน แล้วการที่เราเสพติดอินเทอร์เน็ตนั่นอาจแปลว่าบางอย่างที่เป็นความสุขสำหรับเราอยู่ในนั้นก็ได้ จริงไม่จริงเรายังไม่ตัดสินด้วยนะ เรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ว่ามันมีความสุขบางอย่างแหละ”

เวลาคิดอะไรปิงมักสมมติตัวเองเข้าไปแทนในสมการนั้นๆ อย่างถ้าคิดเรื่องวัยรุ่น เขาก็จะคิดเทียบว่าถ้าตัวเองเป็นวัยรุ่น แล้วจะทำอย่างไร

“สมมติว่าเราเป็นวัยรุ่น เราก็อยากมีเพื่อน ทุกๆ คนก็อยากมีเพื่อน อยากมีสังคม เราโหยหาบางอย่างจากการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในสังคม”

สมัยยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เวลาเราจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนก็คือแค่ว่าเราไปโรงเรียนแล้วเพื่อนคุยกับเรา คนที่จะเข้ามาคุยกับเราก็คงเป็นเพื่อนห้องเดียวกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน เพื่อนต่างห้องบ้าง บางคนสนใจตรงกับเรา บางคนก็ไม่ตรงกับเรา เราเป็นเพื่อนกันเพราะพื้นที่ เรียกได้ว่าเรามีมิตรภาพ เรามีสังคมที่ตั้งต้นมาจากพื้นที่

เราจึงไม่ค่อยสนิทกับเพื่อนต่างโรงเรียน หรือเพื่อนจากโรงเรียนกวดวิชาที่เจอกันสัปดาห์ละสองสามชั่วโมงเท่ากับคนที่เจอห้าวันต่อสัปดาห์ ซึ่งปิงมองว่าการเป็นเพื่อนกันเพราะพื้นที่ เป็นไปได้มากว่าความสนใจของแต่ละคนจะไม่ตรงกัน เป็นที่มาของปัญหาต่างๆ นานา

จากนั้นเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา ได้เปลี่ยนมิตรภาพหรือความเป็นเพื่อนที่เคยถูกจำกัดด้วยพื้นที่ไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

“มันเปลี่ยนไปด้วย content ที่ว่า บางทีเราสนใจสิ่งที่ตรงกัน เราเลยเป็นเพื่อนกัน ทำให้เรามีเพื่อนบนความสนใจมากขึ้น ไม่ขึ้นกับพื้นที่แล้ว เพราะมันไม่มีปัญหาตรงนั้น”

ปิงยกตัวอย่างน้องผู้หญิงคนหนึ่งให้ฟัง เธอเป็นคนชอบคอสเพลย์มากๆ ก็จะแต่งคอสเพลย์เป็นตัวการ์ตูนญี่ปุ่น ไปตามงานแถวมาบุญครอง หรือเดอะสตรีท แต่เกิดปัญหาเพราะเพื่อนที่โรงเรียนมองว่าทำอะไรไร้สาระ

“การคอสเพลย์สำหรับเพื่อนที่โรงเรียนดูเป็นเรื่องตลก เขาถูกล้อว่าเป็นเด็กบ๊อง ยังดูการ์ตูนอยู่ ไม่โตสักที เลยทำให้การเป็นเพื่อนกันโดยพื้นที่ของเขาไม่เกิดขึ้นจริง มันเกิดขึ้นไม่ได้เพราะสิ่งที่เขาสนใจมันไม่ตรงกัน แล้วเขาไม่ได้รับการยอมรับ”

ขณะเดียวกัน ถ้าเปลี่ยนความชอบคอสเพลย์เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น การแต่งรถ คนทั่วไปกลับไม่มีปัญหาอะไร ทั้งที่เป็นรสนิยมและความชอบส่วนบุคคลไม่ต่างกัน

“เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้การที่เด็กบางคนติดอินเทอร์เน็ตเป็นเพราะว่าเพื่อนของเขาอยู่ในนั้น เพื่อนเขาอยู่ในกรุ๊ปไลน์ ซึ่งเป็นกรุ๊ปคอสเพลย์ด้วยกัน เขาจะมีกรุ๊ปคอสเพลย์ที่นัดกินข้าว นัดเจอกัน พฤติกรรมของน้องเวลาอยู่โรงเรียนคือจะเงียบๆ ไม่ค่อยคุยกับใคร จะนั่งเล่นอินเทอร์เน็ต เล่นไลน์ของเขาไป เพราะเพื่อนเขาอยู่ในนั้น เขาไม่จำเป็นต้องคุยกับใครก็ได้ และเขาไม่ได้ทุกข์ด้วยนะ เพียงแต่เราชอบไปคิดว่าเขาทุกข์เพราะเอาตัวเองไปแทน

“เราเอาตัวเองไปแทนว่าการมีเพื่อนคือการออกไปเฮฮา ไปกินข้าวด้วยกัน แต่สำหรับเขาคือการมีคนคุยด้วยแล้วแชร์ความสนใจกัน ไม่โดนล้อ นั่นคือแฮปปี้แล้ว”

สิ่งที่น้องทำก็คือ คุยกับเพื่อน เสิร์ชหาร้านคอสเพลย์ใหม่ๆ ตัวการ์ตูนใหม่ๆ แปะไปในกรุ๊ปไลน์ นั่นคือสังคมของเขา แล้วเสาร์อาทิตย์ก็นัดมาเจอกัน แต่งชุดคอสเพลย์ ซึ่งตัวเขามีความสุขดี แต่ภาพที่ผู้ใหญ่เห็นก็คือนั่งเล่นแต่โทรศัพท์ทั้งวัน

“กลายเป็นว่าปัญหาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดแล้วว่า อินเทอร์เน็ตทำให้เขาถูก let out หรือเกิด ‘สังคมก้มหน้า’ ทำให้เขาเป็นคนมีปัญหา แต่กลายเป็นว่าสังคมนั่นแหละมีปัญหากับเขา

คุณถามว่า ทำไมไม่เงยหน้ามาคุยกับเรา ก็ความสุขของเขาอยู่ตรงนั้น คุณคุยสิ่งเดียวกับเขาได้ไหมล่ะ คุณฟังเขาไหมล่ะ คุณพร้อมที่จะฟังเรื่องคอสเพลย์ของเขาไหม คุณพร้อมที่จะอินไปกับเรื่องของเขาไหม ถ้าคุณพร้อมที่จะอินกับเขา เขาจะเงยหน้าขึ้นมาคุยกับคุณ

เวลามองการเสพติดอะไรบางอย่าง ปิงเสนอว่าอาจจะต้องหา key ให้เจอ อย่างเช่น ลูกเราติดเกมนี้เพราะอะไร ติดอันนั้นเพราะอะไร อันนี้เพราะอะไร ถ้าหา key เจอแล้วเราคุยกับเขาถูก ปิงก็มองว่า

“สุดท้ายแล้วคิดแบบแฟร์ๆ ก็คือมนุษย์คนหนึ่งแค่อยากหาที่ที่สบายใจที่สุดสำหรับเขาเท่านั้นเอง”

 

It’s Compicated: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต
danah boyd เขียน
ลลิตา ผลผลา แปล
400 หน้า
อ่านตัวอย่างและรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่