อ่าน “Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์”

เรื่อง: นันท์ชนก คามชิตานนท์

 

เมื่อพูดถึง “การศึกษาแบบฟินแลนด์” หลายคนคงนึกถึงการลดเวลาเรียนต่อวันในโรงเรียน การเรียนรู้จากการเล่น การยกเลิกการสอบประเมินผลและการบ้าน หรือคะแนน PISA  โดยเฉลี่ยที่สูงกว่าเด็กจากประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศขึ้นชื่อเรื่องการศึกษามานับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 และทำให้ทั่วทั้งโลกต้องจับตามอง ด้วยแนวคิดด้านการเรียนรู้ที่ล้ำสมัย และปรากฏว่าทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

กระนั้นฟินแลนด์ก็ยังไม่หยุดก้าวต่อไป ด้วยนิสัยช่างคิดสงสัยและวิพากษ์ตนเอง ฟินแลนด์จึงตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาของตนเอง และมุ่งมั่นพัฒนาต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง มีงานวิจัยและการทดลองด้านการศึกษาผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้แนวคิดและวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

“ไม่มีใครรักษาผลงานที่ดีได้โดยยึดโยงอยู่กับความสำเร็จของวันวาน เรากำลังเผชิญความท้าทายอันใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่และการมีส่วนร่วมในโรงเรียนของลูกหลานเรา”

โลกยุคใหม่มาถึงพร้อมกับ “Disruptive Technology” ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ดาหน้าเข้าช่วยเหลือ แทรกแซง และปั่นป่วนวิถีชีวิตเรา ดูเหมือนงานหลายๆ อย่างจะไม่ต้องอาศัยความสามารถของมนุษย์อีกต่อไป โลกตกอยู่ในภาวะสับสน เรายังไม่มั่นใจกันนักว่าจะรับมือกับความผันผวนนี้ได้อย่างไรดี

ฟินแลนด์ตอบโต้ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ที่เพิ่งปฏิรูปและนำไปใช้ตั้งแต่ปี 2016 และกล่าวได้ว่าประเทศเล็กๆ แห่งนี้คว้าชัยทางการศึกษาอีกครั้ง เมื่อหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของพวกเขาได้รับการจัดอันดับว่าเป็นหลักสูตรที่เตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนด้านทักษะสำหรับอนาคตได้ดีที่สุดในโลกมาสองปีซ้อน ตามข้อมูลจากรายงานดัชนีชี้วัดการศึกษาเพื่ออนาคตนานาชาติ โดย The Economist Intelligence Unit ปี 2018 และ 2019 (Worldwide Educating for the Future Index (WEFFI) Report)*

ฟินแลนด์สร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร

Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์ พาเราเดินทางผ่านช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของประเทศเล็กๆ ที่เคี่ยวกรำทั้งศึกสงครามและความยากจน แต่กลับมาผงาดเป็นประเทศอันอุดมสมบูรณ์และสงบสุขได้ภายในช่วงเวลา 50 ปี ด้วยเพราะตระหนักว่า การศึกษาคือการลงทุนที่คุ้มค่าและดีที่สุด การให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมถือเป็นกุญแจสู่สังคมที่ผลิดอกออกผล

 

ประวัติศาสตร์อันโหดร้ายและทุกข์ทน

 

“บางทีมันอาจช่วยให้คุณเข้าใจว่าการศึกษาและความเท่าเทียมกันสำคัญเพียงใดในการช่วยให้เราพัฒนาตนเองจนเป็นประชาธิปไตย”

ฟินแลนด์เดินทางผ่านหน้าประวัติศาสตร์แห่งความยากจน ความอดอยาก และการตกเป็นทาสมาอย่างยาวนาน ปฐมบทแห่งความยากเข็ญเริ่มใน “ยุคน้ำแข็งน้อย” (Little Ice Age ราวปี 1695-1697) เมื่อความเหน็บหนาวเข้าปกคลุมยุโรปเหนือ แน่นอนว่าฟินแลนด์ก็ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจนผู้คนล้มตายไปราว 140,000 คน มหันตภัยใหญ่หลวงกระหน่ำเข้ามาอีกครั้งเมื่อปี 1866-1868 เมื่อความอดอยากถาโถมเข้าโจมตีพื้นที่ต่างๆ ทั่วทวีปยุโรป สภาพภูมิอากาศเลวร้าย พืชพรรณทางการเกษตรไร้ผลผลิตอย่างสิ้นเชิงตลอดช่วงสองปี ไหนจะสภาวะทางการเมืองย่ำแย่ที่ซ้ำเติมเข้ามาอีกตลอดช่วงสามปีนั้น ชาวฟินแลนด์กว่า 200,000 คนต้องจบชีวิตเพราะความหิวโหยและโรคร้าย ช่วงเวลาแห่งความอดอยากรุนแรงล่าสุดเกิดขึ้นราวปี 1918 และระหว่างช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ตลอดจนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ชาวฟินแลนด์ยังเคยเป็นเหยื่อของการค้าทาสมาหลายศตวรรษ ตั้งแต่ช่วงยุคกลางและยุคก่อนสมัยใหม่ เมื่อเส้นทางการค้าทาสในยุโรปตะวันออกแผ่ขยายไปจนถึงทะเลแคสเปียนและเอเชียกลาง การค้าทาสยังดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 18 เมื่อรัสเซียเข้าปกครองฟินแลนด์ในช่วงปี 1713-1721 ในช่วงเวลานี้ฟินแลนด์ยังถูกซ้ำเติมด้วยภัยคุกคามจากกาฬโรคระบาดหนัก

ฟินแลนด์ติดอยู่ระหว่างสองมหาอำนาจของยุโรป นั่นคือสวีเดนกับรัสเซีย เป็นเวลายาวนาน โดยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสวีเดน จนกระทั่งปี 1809 หลังจากสวีเดนและรัสเซียต้องกรำศึกสงครามและข้อพิพาทมากมายมาหลายศตวรรษ รัสเซียก็เข้ายึดฟินแลนด์ได้ในที่สุด จากนั้น เมื่อพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ก็ได้มอบอำนาจปกครองตนเองให้ฟินแลนด์ ฟินแลนด์จึงเป็นดินแดนปกครองตนเองอันเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียระหว่างปี 1809-1917

สุดท้ายในปี 1917 ประเทศฟินแลนด์ก็ได้รับเอกราชในช่วงยุคปฏิวัติรัสเซียอันแสนดุเดือด กระนั้นปีแรกของการมีเอกราชกลับลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมนองเลือดกลางเมือง เมื่อฝ่ายที่เชื่อในระบอบคอมมิวนิสต์และฝ่ายที่เชื่อในประชาธิปไตยต่อสู้ห้ำหั่นกันกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 1918 ซึ่งยืดเยื้ออยู่ราวสี่เดือน แต่กรีดบาดแผลลึกในใจของผู้คนมากมายไปอีกยาวนาน

ฟินแลนด์เผชิญความทุกข์ยากอีกครั้งเมื่อต้องต่อสู้เพียงลำพังในสงครามโลกครั้งที่สอง และลงเอยด้วยการที่ต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไป นอกจากนั้นประเทศยังเสียหายยับเยินจากภัยสงคราม

ฟินแลนด์ก้าวผ่านประวัติศาสตร์อันโหดร้ายยากเข็ญ จนแทบจะเรียกได้ว่าเคยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่แล้วกลับผงาดขึ้นมาเป็นชาติที่มั่งคั่งและปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้เช่นทุกวันนี้ เนื่องจากการต่อสู้อย่างแข็งขันของคนทั้งประเทศเพื่อพัฒนาประเทศอยู่เสมอ และเครื่องมือสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ฟินแลนด์ใช้เพื่อฟื้นฟูประเทศก็คือ การให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม

 

การศึกษาสำหรับทุกคน

 

อุโน ซิกเนียส (Uno Cygnaeus) บิดาแห่งการศึกษาขั้นพื้นฐานของฟินแลนด์ ได้วางแผนและเขียนงานว่าด้วยระบบการเรียนการสอน ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของระบบการศึกษาของรัฐบาลฟินแลนด์ เขาสนับสนุนโอกาสในการศึกษาที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงโดยไม่คำนึงถึงชนชั้นทางสังคม นอกจากนั้น ซิกเนียสยังวางแผนและสนับสนุนการก่อตั้งวิทยาลัยครูอีกด้วย โดยเชื่อว่าการจัดการเรียนการสอนให้ผู้หญิงถือเป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับสังคมยากจน

ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของฟินแลนด์เริ่มต้นขึ้นในทศวรรษ 1860 โดยเป็นการศึกษาในโรงเรียนระยะเวลาสี่ปีสำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการ แต่ยังไม่จัดว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ จนกระทั่งปี 1921 กฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับจึงเริ่มประกาศใช้ ทำให้เด็กทุกคนที่อายุระหว่าง 7-13 ปีต้องเข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ในโรงเรียน โดยเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อตั้งและดูแลโรงเรียน

ต่อมามีการเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนให้แยกกันระหว่างโรงเรียนขั้นพื้นฐาน (การศึกษาระดับประถม) และโรงเรียนสายวิชาการระดับมัธยมศึกษา (grammar school) ซึ่งรวมถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย (gymnasium) ด้วย หากเด็กต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึดษาก็ต้องเลือกเรียกในโรงเรียนสองระบบนี้ การเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสายวิชาการระดับมัธยมศึกษามีการแข่งขันสูง และสถานะของผู้ปกครองมักกระทบผลการสมัคร ชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่จึงเข้าถึงได้เพียงโรงเรียนขั้นพื้นฐาน และมักเลือกศึกษาต่อในโรงเรียนอาชีวศึกษา กล่าวได้ว่าระบบการศึกษาลักษณะนี้ยังไม่อาจมอบการศึกษาที่เท่าเทียมได้อย่างแท้จริง

การศึกษาของฟินแลนด์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำจนกระทั่งถึงทศวรรษ 1960 แม้ว่าอัตราการอ่านออกเขียนได้ของชาวฟินแลนด์จะอยู่ในระดับสูง แต่มีเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่จบสูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเก้าปี และอัตราการจบการศึกษาระดับปริญญาก็ต่ำมาก

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ฟินแลนด์เริ่มร่างแผนการปฏิรูประบบการศึกษาในช่วงทศวรรษ 1960 โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและการให้คุณค่ากับความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคม แนวคิดที่สำคัญของการปฏิรูปครั้งนี้คือการสร้างโรงเรียนแบบประสม (comprehensive school หรือ peruskoulu) ที่นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนเป็นระยะเวลาเก้าปีเหมือนกันหมด โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลัง เงื่อนไขในชีวิต หรือความปรารถนาใดๆ โรงเรียนแบบประสมนี้เข้ามาแทนที่ระบบโรงเรียนขั้นพื้นฐานที่ถูกยกเลิกไปในที่สุดในช่วงทศวรรษ 1970 ในปีเดียวกันนี้ยังมีการร่างหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติสำหรับโรงเรียนแบบประสมขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางการสอน และรับรองว่าโรงเรียนแบบประสมต้องจัดการศึกษาให้แก่ทุกคนเหมือนๆ กันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาอย่างแท้จริง อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

วันเรียนในโรงเรียนของฟินแลนด์ค่อนข้างสั้น และนักเรียนมีการบ้านไม่มากเกินไป เด็กๆ ชาวฟินแลนด์ยังเริ่มไปโรงเรียนค่อนข้างช้า คือเริ่มเข้าโรงเรียนเมื่ออายุเจ็ดปี นักเรียนทุกคนได้รับอาหารฟรี (แม้แต่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย) และยังได้รับอุปกรณ์การเรียนฟรีระหว่างศึกษาในโรงเรียนแบบประสม (ประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 1-3) นอกจากนั้น ฟินแลนด์ยังแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตโรงเรียน ด้วยข้อกำหนดว่าระยะทางระหว่างบ้านกับโรงเรียนห้ามเกินห้ากิโลเมตร กรณีที่ระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนไกลกว่าห้ากิโลเมตรหรือการเดินทางลำบาก โรงเรียนต้องจัดหอพักให้นักเรียน

ในฟินแลนด์แทบจะไม่มีการเรียนพิเศษตัวต่อตัว และผู้ปกครองจะไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม การเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนการสอนในฟินแลนด์นั้นถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นแม้แต่โรงเรียนเอกชนซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งก็ไม่เก็บค่าเล่าเรียน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและมีการระดมทุนเองด้วย

 

การศึกษาครู

 

นอกจากจะให้การศึกษาที่เท่าเทียมสำหนับทุกคนแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มิอาจมองข้ามในการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพสูงคือ การพัฒนาวิชาชีพครู ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิชาชีพครู โดยเริ่มมีการอบรมครูตั้งแต่ปี 1863 การฝึกอบรมครูในช่วงเริ่มต้นเน้นการปฏิบัติและยึดตามขนบโดยเน้นที่การอบรมหน้าที่พลเมืองขั้นพื้นฐาน

จากนั้นจึงมีการก่อตั้งวิทยาลัยฝึกอบรมครูในมหาวิทยาลัยขึ้นในปี 1873 โดยใช้ทั้งภาษาสวีเดนและภาษาฟินแลนด์ สำหรับผู้เข้าร่วมทั้งชายและหญิง จากนั้นก็มีการฝึกอบรมครูประจำชั้นระดับประถมศึกษาและครูปฐมวัยในมหาวิทยาลัยตามลำดับ

ครูประจำวิชาในฟินแลนด์ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเอกต่างๆ (เช่น วิชาประวัติศาสตร์หรือคณิตศาสตร์) และยังต้องเรียนหลักสูตรครุศึกษา ซึ่งสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปี นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่บูรณาการครุศึกษากับการศึกษารายวิชาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มอีกด้วย

หลักสูตรครุศึกษาในฟินแลนด์มีในมหาวิทยาลัยแปดแห่งเท่านั้น ทำให้เข้าศึกษาต่อได้ยากมากและยังมีการแข่งขันสูง อาชีพครูประจำชั้นเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน ผู้สมัครเป็นครูประจำชั้นระดับประถมศึกษาจะต้องผ่านการทดสอบข้อเขียนก่อน แล้วผู้สมัครเพียงหยิบมือที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์จึงได้เข้าสู่รอบสัมภาษณ์ ในแต่ละปีมีผู้สมัครเข้าศึกษาต่อหลักสูตรครุศึกษาครูประจำชั้นที่มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิกว่า 2,000 คน แต่มีผู้ได้รับคัดเลือกเพียงแค่ 120 คนเท่านั้น

ครุศึกษาของฟินแลนด์ในปัจจุบันนั้นเน้นที่การวิจัยเป็นหลักโดยบูรณาการทฤษฎีและภาคปฏิบัติเข้าไปด้วย การเรียนการสอนครุศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทมีช่วงที่ต้องฝึกสอน แต่ส่วนใหญ่แล้วเรียนที่มหาวิทยาลัยเป็นหลัก

 

การศึกษาฟินแลนด์ในศตวรรษที่ 21

 

หลังจากผ่านประวัติศาสตร์อันโหดร้ายยาวนาน และความพยายามอย่างไม่หยุดหย่อนที่จะพัฒนาการศึกษาที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ฟินแลนด์ก็ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศแนวหน้าด้านการศึกษาได้ในที่สุด และกลายเป็นต้นแบบด้านการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลก

แต่เมื่อศตวรรษที่ 21 เดินทางมาถึง ทั่วทั้งโลกเผชิญโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับวงการศึกษาอีกครั้ง เรากำลังพบกับปัญหาสังคมวัฒนธรรมอันซับซ้อนกว่าประเด็นที่เราพูดคุยกันในห้องเรียนมากนัก แม้แต่ภาพยนตร์ วิดีโอเกม หรือละครโทรทัศน์ก็ยังเล่าปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าปัญหาที่เราขบคิดกันในห้องเรียน

โลกกำลังประจันหน้ากับปัญหารุนแรงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาพลังงาน และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยจำนวนมากกังวลที่ปัญหาของโลกซับซ้อนขึ้นทุกที ในขณะที่ขีดจำกัดความสามารถของคนเรากลับคงที่ และแนวปฏิบัติด้านการศึกษาแบบดั้งเดิมก็ยิ่งตอกย้ำช่องว่างนี้

เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกภายนอกกับประเด็นปัญหาที่ขบคิดกันในห้องเรียนไม่สัมพันธ์กัน ความน่าเบื่อก็กลายมาเป็นโรคร้ายที่กัดกินผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ แม้เราจะไม่ได้ต้องการเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นสวนสนุก แต่ก็ไม่อาจปล่อยให้เด็กๆ หมดความสนใจและแรงจูงใจในการเรียนรู้ไปเสียเฉยๆ เราต้องพยายามหาวิธีทำให้เด็กๆ สนใจกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนที่เข้มข้นจริงจัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาในโลกความจริงด้วย

นอกจากนั้น เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของเด็กๆ ในปัจจุบันกว้างใหญ่ขึ้นเกินกว่าห้องเรียน เด็กๆ เรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการด้วยตัวเองนอกห้องเรียน เราแยกการเรียนรู้ในชั้นเรียนกับการเรียนรู้ออนไลน์ หรือการเรียนรู้ภายในโรงเรียนกับการเรียนรู้นอกโรงเรียนได้ยากขึ้นทุกที โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่บวกและลบ กิจกรรมในโลกดิจิทัลซึ่งผสมผสานทั้งอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ โซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต ทำให้เราแยกแง่มุมต่างๆ ของชีวิตออกจากกันได้ยาก นักเรียนพกพาชีวิตใส่กระเป๋ามาโรงเรียน วิธีการแสวงหาความรู้ในโลกยุคใหม่นี้ยังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการรู้คิด สังคม และอารมณ์ของนักเรียนด้วย

“กล่องแพนโดราแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปิดขึ้นแล้ว และเราไม่มีทางหวนกลับ เราต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

แน่นอนว่าประเทศที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง และให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างยิ่งยวดเช่นฟินแลนด์นั้นย่อมไม่อยู่เฉย พวกเขาตระหนักถึงปัญหา และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรับมือความผลิกผันที่แผ่ขยายออกไปทั่วโลก ด้วยหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ซึ่งบังคับใช้เมื่อปี 2016 แนวคิดสำคัญคือการกำหนดสมรรถนะข้ามสายงานเจ็ดประการที่ช่วยสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อันได้แก่

1) การคิดและการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้

2) สมรรถนะทางวัฒนธรรม ทักษะการสื่อสาร และการแสดงตัวตน

3) การดูแลตนเองและทักษะในชีวิตประจำวัน

4) ทักษะการสื่อสารรอบด้าน

5) ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

6) ทักษะชีวิตการทำงานและทักษะผู้ประกอบการ

7) การมีส่วนร่วม อำนาจในตนเอง และความพร้อมในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

สมรรถนะทั้งเจ็ดประการนี้เป็นสมรรถนะที่ขับเน้นความเป็นมนุษย์ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในโลกที่รายล้อมและถูกแทรกแซงจากเทคโนโลยีในทุกย่างก้าว นอกจากจะช่วยให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี สมรรถนะเหล่านี้ยังส่งเสริมทักษะของมนุษย์ที่ไม่อาจทดแทนด้วยเทคโนโลยีใดๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนรักษาบทบาทและคุณค่าของตนเองในโลกการทำงานในยุค “Disruptive Technology” นี้ได้

เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการนี้ ฟินแลนด์ได้ปฏิรูปแนวคิดการเรียนการสอน ด้วยการคิดทบทวนอย่างลึกซึ้งว่าแท้จริงแล้วการเรียนรู้คืออะไร

หัวใจของการศึกษาฟินแลนด์อยู่ที่วิธีการเรียนรู้ นักวิจัยบางกลุ่ม เช่น ศาสตราจารย์ไก ฮักกาไรเนน และคณะ มักจะแยกการรับความรู้ (knowledge acquisition) ออกจากการสร้างความรู้ (knowledge creation)

การรับความรู้ เป็นแนวคิดการเรียนรู้แบบดั้งเดิม คือ “การส่งผ่าน/เล่าต่อความรู้” หรือ “การเรียนการสอนในสังคมอุตสาหกรรม” เปรียบโรงเรียนเหมือนกับสถาบันอุตสาหกรรมที่มีคนงานมาทำงานตามคำสั่งทุกเช้า ไม่มีใครสนใจว่าคนงานเหล่านี้คิด สนใจ หรือมีแรงจูงใจอะไร

การับความรู้เกิดขึ้นในการเรียนการสอนแบบบรรยายและเน้นผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมักมุ่งหมายที่จะส่งผ่านความรู้และส่งเสริมการท่องจำเพียงผิวเผินเท่านั้น มีหนึ่งห้องเรียน ครูหนึ่งคน หนึ่งชั้นเรียน และหนึ่งวิชาในหนึ่งคาบ ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน ส่วนนักเรียนก็เรียนรู้ผ่านการรับรู้ แน่นอนว่ารูปแบบการสอนเช่นนี้ใช้เพื่อผลักดันและกระตุ้นผู้เรียนได้ แต่ก็มักจะไม่ค่อยเหลือพื้นที่เล็กๆ ไว้สำหรับสร้างความรู้ร่วมกัน แนวคิดนี้จึงถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนแนวคิดการเรียนการสอนที่ตรงข้ามคือ การสร้างความรู้ หรือ “การเรียนการสอนในสังคมสารสนเทศ” ซึ่งทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่สำหรับการเรียนเชิงรุก ให้ความสำคัญกับความสนใจ แรงจูงใจ และการมีส่วนร่วมของผู้เรียน

ในปัจจุบัน มีรูปแบบการเรียนการสอนมากมายที่ท้าทายการบรรยายแบบดั้งเดิม และมุ่งหมายให้ผู้เรียนเกิดการสร้างความรู้มากกว่าเพียงแค่รับความรู้ เช่น

การเรียนรู้ผ่านปัญหา (problem-based learning – PBL) เริ่มต้นจากกรณีศึกษาที่ใช้ความรู้ที่มีอยู่แก้ไขไม่ได้ แล้วผลักดันให้ผู้เรียนหาความรู้เพิ่มเติม พวกเขาจะได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงและหลักการพื้นฐานโดยการสืบเสาะหาความรู้เกี่ยวกับกรณีศึกษานั้น การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพใช้การเรียนรู้ผ่านปัญหาอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ส่งเสริมทั้งการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและการใช้เหตุผลเพื่อการรักษา แม้ผู้เรียนจะยังคงเรียนรู้ข้อเท็จจริงระดับพื้นฐานอยู่ก็ตาม

การเรียนรู้ผ่านโครงงาน (project-based learning) เป็นรูปแบบที่นิยมในอาชีวศึกษาของฟินแลนด์ รูปแบบการศึกษานี้ส่งเสริมการเรียนรู้ชีวิตการทำงานได้ดี เนื่องจากได้ทำโครงงานต่างๆ ในสถานประกอบการนอกสถาบันการศึกษา

และการเรียนการสอนอีกรูปแบบที่ได้บรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติของฟินแลนด์ก็คือ การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ (phenomenon-based learning)

 

การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์

 

ฟินแลนด์สนับสนุนให้ใช้การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ในโรงเรียนมานานแล้ว แต่มาเริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2016 ตามหลักสูตรการศึกษาใหม่ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการ

การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยหยิบประเด็นปัญหาในชีวิตจริงมาใช้เป็นหัวข้อการเรียนรู้ในห้องเรียน ครูและผู้เรียนอาจร่วมมือกันเพื่อกำหนดปรากฏการณ์ที่เด็กสนใจ หรือครูอาจเป็นผู้เลือกปรากฏการณ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสูตรเองก็ได้

ปรากฏการณ์ในโลกความจริงจะสร้างแรงจูงใจอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ของเด็กๆ เป็นการใช้ความสนใจใคร่รู้โดยธรรมชาติของเด็กเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม โดยมีบริบทที่ “เป็นจริง” เนื่องจากหัวข้อการเรียนรู้นั้นมาจากโลกภายนอกจริงๆ เด็กๆ จะมองเห็นและเข้าใจความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ รวมทั้งเข้าใจว่าทำไมสิ่งเหล่านั้นเชื่อมโยงกัน และสำคัญอย่างไร การเรียนรู้ผ่านปรากฏการนั้นเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ผ่านปัญหาและการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (inquiry-based learning) ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ให้หาคำตอบแก่คำถามของตนเอง ทำให้พวกเขาได้ค้นพบความรู้และทักษะที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

นอกจากนั้น การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ยังเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสานหลายวิชาเข้าด้วยกัน ไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตรายวิชา แง่มุมต่างๆ หัวข้อปรากฏการณ์หนึ่งๆ อาจนำมาพูดคุยถกเถียงได้ทั้งในวิชาคณิตศาสตร์ ศิลปะ หรือคหกรรมศาสตร์ ทำให้นักเรียนมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม สอดคล้องกับโลกความจริงอันซับซ้อนคลุมเครือมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าฟินแลนด์ยกเลิกการเรียนรายวิชาแต่อย่างใด หากแต่เป็นการมองปรากฏการณ์ที่เลือกมานั้นผ่านแว่นของหลากหลายสาขาวิชา

การเรียนรู้ผ่านกรากฏกาณณ์ช่วยให้เด็กๆ สนใจหัวข้อการเรียนรู้ และเรียนรู้ได้เร็วกว่า เพราะประเด็นปัญหานั้นเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของพวกเขา อีกทั้งยังทำให้เด็กๆ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนไปใช้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงด้วย

 

ฟินแลนด์ผ่านหน้าประวัติศาสตร์อันแร้นแค้น ถูกกระหน่ำด้วยภัยหลากหลายรูปแบบ แต่แทนที่จะทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้พ่ายแพ้ พวกเขากลับลุกขึ้นสู้ และใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างประเทศ จนกลายเป็นประเทศมีความปลอดภัยสูง ประชาธิปไตยเบ่งบาน และยังเป็นผู้นำด้านการศึกษา เรื่องราวความอุตสาหะของฟินแลนด์ในอดีต จนถึงวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาที่ตอบรับโลกศตวรรษที่ 21 ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี คงเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจแก่หลายประเทศที่ยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เท่าเทียม และความสงบสุขในประเทศ ให้มองเห็นว่าเครื่องมือสำคัญอันเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศนั้นไม่อาจเป็นอย่างอื่นไปได้เลย นอกจากการศึกษาที่เท่าเทียมและมีคุณภาพ เฉกเช่นที่ฟินแลนด์ได้พิสูจน์มาแล้ว

“การเปลี่ยนผ่านจากประเทศสุดแร้นแค้นเป็นสังคมอุดมสมบูรณ์และสุขสงบเป็นไปได้ด้วยการศึกษาเพียงเท่านั้น”

 

* อ้างอิงจาก https://educatingforthefuture.economist.com/the-worldwide-educating-for-the-future-index-2018/ และ https://educatingforthefuture.economist.com/the-worldwide-educating-for-the-future-index-2019/

 

Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์

(Phenomenal Learning from Finland)

Kirsti Lonka เขียน

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล และ พยุงศักดิ์ แก่นจันทร์ แปล

ดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่นี่