เรื่อง: ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์
‘การศึกษาแบบฟินแลนด์’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงแทบทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึงระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านผลสัมฤทธิ์ที่เด็กฟินแลนด์มีคะแนนสอบ PISA ติดอันดับสูงอยู่เสมอ ความเสมอภาคทางการศึกษาที่เด็กทุกคนได้เรียนฟรี ความเข้มแข็งของสหภาพครูและการพัฒนาวิชาชีพ จนถึงการรับมือกับยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงด้วย ‘การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์’ (phenomenon-based learning) อันเป็นนวัตกรรมการศึกษาล่าสุดจากฟินแลนด์
bookscape สนทนากับครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนต้นกล้า เพื่อชวนมองมายังบ้านเราว่าท่ามกลางกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างทุกวันนี้ ปัญหาของการศึกษาไทยคืออะไร เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมหรือยัง ต้องปลดล็อกตรงไหนจึงจะปลดปล่อยศักยภาพของนักเรียน คุณครู และผู้บริหาร รวมถึงห้องเรียนไทยควรสอนอะไรในศตวรรษแสนท้าทายที่เราต่างเผชิญ
บทสนทนาคือประตูสู่การเรียนรู้
หลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมกับเทคโนโลยีที่นับวันยิ่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การศึกษาก็พลิกโฉมตามไปด้วย กล่าวคือการศึกษาต้องสร้างทักษะใหม่ที่แตกต่างไปจากหุ่นยนต์ให้แก่พลเมืองในอนาคต โจทย์การศึกษาจึงเปลี่ยนผู้สอนจากการเป็นผู้ให้ความรู้ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และเปลี่ยนเด็กจากผู้รับความรู้ ให้เป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตัวเอง
‘การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์’ เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ข้างต้นโดยใช้ปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันเป็นฐานของการทำความเข้าใจโลกจริง หัวใจของการเรียนรู้จึงเป็นการเรียนข้ามศาสตร์ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจว่าแต่ละปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าทางสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวนั้นเกี่ยวโยงและส่งผลกระทบถึงกันและกัน รวมทั้งสามารถตั้งคำถาม สร้างองค์ความรู้ และทดสอบความรู้นั้นได้ อันเป็นทักษะสำคัญยิ่งสำหรับโลกใหม่ การจัดการเรียนการสอนแบบข้ามศาสตร์จึงมีจุดสำคัญอยู่ที่การสนทนา ทั้งระหว่างผู้เรียนกับครู ผู้เรียนกับผู้เรียน ครูกับผู้บริหาร กระทั่งครูกับครูก็ตาม ทว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่การศึกษาไทยก้าวไม่ข้ามคือบทสนทนาที่น้อยเกินไปในทุกมิติ กลายเป็นกำแพงใหญ่ที่ทำให้การเรียนรู้ข้ามศาสตร์เกิดขึ้นจริงได้ยาก
แม้โรงเรียนต้นกล้าซึ่งครูจุ๊ยเป็นผู้บริหารอยู่นั้นจะเป็นโรงเรียนทางเลือก แต่ครูหลายคนมีพื้นฐานจากการเทรนโดยระบบไทยมาก่อน ครูจุ๊ยเล่าว่าการพูดคุยคือหัวใจสำคัญ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะทีมช่วยกัน และมีความเข้าใจเรื่องพื้นฐานที่สุดว่าความรู้ที่ข้ามศาสตร์กันไปมานั้นเกิดขึ้นได้ ครูในแต่ละวิชาจึงทำงานร่วมกันได้ไม่ยากเลย
ในฐานะผู้บริหาร ครูจุ๊ยเห็นว่าทีมสนับสนุนและทีมผู้บริหารมีส่วนสำคัญมาก คือต้องเข้าใจว่าจะเข้าไปช่วยตรงจุดไหน ต้องเข้าใจความต้องการของครูแล้วสนับสนุนจุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะหรือเป็นการเขียนแผนการสอนร่วมกัน และกระทั่งเรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างการนำภาษาไทยกับวิทยาศาสตร์มารวมกันโดยใช้ปรากฏการณ์บางอย่างเป็นเด็นนำให้เด็กเรียนสองวิชานี้ร่วมกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
“เรามานั่งระดมความคิดกันบ่อยๆ เลยว่าเด็กจะเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์ต่างๆ ได้บ้าง การที่ครูได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันทำให้ตัวครูเองเห็นความเป็นไปได้ แล้วพอเรียนจริงนำไปปฏิบัติจริง ครูเขาก็สังเกตการณ์กันและกัน เขาจะเริ่มเห็นว่าชาวบ้านชาวเมืองเขาทำแบบนี้ เราก็เอามาปรับทำของเราได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยการพูดคุยเยอะมาก พื้นฐานปัญหาของการศึกษาไทยทั้งหมดคือเราไม่คุยกัน ครูภาษาไทยไม่กล้าเข้าไปหาครูวิทยาศาสตร์น่ะ บางทีก็เป็นเรื่องง่ายๆ เท่านี้เลย” ครูจุ๊ยให้ภาพ
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาแบบข้ามศาสตร์ในโรงเรียนรัฐ ครูจุ๊ยยังยืนยันว่าหัวใจอยู่ที่การพูดคุยกันระหว่างครู ถ้าครูโรงเรียนทางเลือกทำได้ ครูโรงเรียนรัฐก็ย่อมต้องทำได้ แต่แน่นอนว่าปัญหาแบบระบบราชการอาจเป็นล็อกสำคัญที่ทำให้ครูก้าวข้ามกรอบไปไม่ได้ เช่น คุณครูต้องทำโปรเจกต์อื่นที่ได้รับมอบหมายมาจนไม่มีเวลาแลกเปลี่ยนกัน
ครูจุ๊ยบอกอีกว่า นอกจากพูดคุยกันเองแล้ว ครูยังต้องสร้างบทสนทนากับเด็กด้วย เพราะจะทำให้เด็กรู้ว่ามีคนให้ความสำคัญกับความสนใจและความคิดของพวกเขา การคุยกับเด็กจะช่วยให้รู้ว่าโลกหมุนไปทางไหน เช่นเดียวกับที่โรงเรียนต้นกล้าซึ่งเทรนครูให้สร้างบทสนทนากับเด็กอยู่เสมอ ครูต้องเข้าใจว่าระบบนิเวศของเด็กเป็นอย่างไร เขาเติบโตมาแบบไหน เด็กเล่นเกมอะไรกัน เขาคุยเรื่องอะไรกัน ชอบหรือไม่ชอบอะไร และครูต้องใช้ภาษาที่คุยกับเด็กแล้วเด็กๆ รู้ว่าครูกำลังสนใจ และรับฟัง ไม่ใช่ตัดสินเขา นอกจากนี้ การรับฟังเด็กยังทำให้ครูรู้ด้วยว่าตนเองยังไม่รู้อะไรต่อมิอะไรอีกมาก
“งานของคุณคือการสร้างเด็กเพื่ออนาคตที่แม้แต่ตัวคุณเองยังมองไม่เห็นเลยนะ ทำไมคุณถึงจะไม่ฟังเด็กล่ะ ทำไมคุณจะไม่เรียนรู้ล่ะ ทำไมคุณจะไม่ปรับตัวล่ะ เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะหยุดและไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ บริบทสำคัญมากๆ ต่อการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้มันเกิดความหมายกับเด็กคนหนึ่ง”
ประชาธิปไตยในห้องเรียน และการมีส่วนร่วมในโลกจริง
หลักสูตรการศึกษาฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและเน้นย้ำให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญของสิทธิ์เสียงของตน ครูจุ๊ยบอกว่าสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในห้องเรียนคือห้องเรียนที่เด็กและคุณครูมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เสียงของเด็กได้รับการตอบรับ ‘ฉันคิดว่าอย่างนี้ เพื่อนๆ เห็นว่าอย่างไร เราศึกษาเรื่องนี้กันดีหรือเปล่า แล้วจะศึกษาอย่างไรดี’ นี่คือการทำงานเป็นทีม และทั้งหมดนี้คือกระบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้น สุดท้ายแล้วกระบวนการเรียนรู้จะแสดงให้เห็นว่า วิธีการไปสู่คำตอบเรื่องหนึ่งๆ มีหลากหลายมากเลย และยังทำให้เด็กเห็นด้วยว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เราสามารถถกเถียงกันเพื่อหาข้อสรุป แล้วก็พบว่าทุกอย่างจบในห้องเรียน
“ความเห็นที่เสียงส่วนใหญ่เลือกอาจจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุด ง่ายที่สุด หรือสนุกที่สุดก็ได้ สิ่งเหล่านี้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากปรากฏการณ์ในห้องเรียนโดยที่คุณไม่ต้องไปย้ำเรื่องความเป็นประชาธิปไตยเลย ตัวกระบวนการมันเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ขอเพียงมีพื้นที่ที่พูดคุยและรับฟังกัน”
ครูจุ๊ยชี้ว่าสำหรับประเทศไทย วัฒนธรรมอำนาจนิยมเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับการเรียนรู้ ครูในฟินแลนด์มองว่าเด็กทุกคนกำลังพัฒนา ไม่มีหรอกเด็กสีดำหรือเด็กสีขาว ถ้ามีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ครูก็ต้องคุยว่าเกิดอะไรขึ้น แก้ปัญหาอย่างไรดี ต้องคุยกับผู้ปกครองหรือเปล่า สะท้อนให้เห็นว่าวิธีแก้ปัญหาคือการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือเด็ก ให้เขามีพฤติกรรมดีขึ้น ให้เขาทุกข์ใจน้อยลง โดยไม่ต้องไปตัดสินว่าเขาเป็นตัวปัญหา
อีกสิ่งที่ครูจุ๊ยคิดว่าสำคัญยิ่งต่อการสร้างพลเมืองคือความรับผิดรับชอบ (accountability) ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับผิดรับชอบมากพอ โดยเฉพาะในระบบราชการ ซึ่งก็มาจากวัฒนธรรมเราที่ไม่ได้คุยเรื่องนี้กันมากพอ ประเด็นนี้ส่งผลต่อความเป็นพลเมือง เพราะความรับผิดรับชอบมีทั้งในวงแคบๆ ในพื้นที่ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องในวงกว้างด้วย เราไม่ได้สอนเด็กว่าสิ่งที่ทำจะส่งผลให้เกิดอะไรตามมาบ้าง จะส่งผลกระทบกว้างที่สุดไปที่ไหน ถึงใคร อย่างไรบ้าง จึงไม่เกิดความรู้สึกความรับผิดรับชอบในฐานะพลเมือง ในฐานะมนุษย์
“เช่น ทำไมต้องแยกขยะ เราต้องมานั่งคุยกันดีๆ ว่าถ้าคุณไม่แยกขยะมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ระดับเล็กคืออะไร ระดับกว้างคืออะไร เกิดจริงเหรอ แล้วแยกขยะไปเขาก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดีจริงหรือ ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำมันส่งผลอย่างไรต่ออะไร เราจะยินดีทำสิ่งนั้น แต่ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยมก็จะมีแต่คำสั่ง ไม่มีความเข้าใจและความโปร่งใส” ครูจุ๊ยยกตัวอย่าง
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของอดีต
การศึกษาฟินแลนด์ให้ความสำคัญมากเหลือเกินกับประวัติศาสตร์ เด็กต้องรู้ว่าประเทศของพวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง ครูจุ๊ยเล่าถึงความสำคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ว่า หนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจว่าก่อนที่สิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างทุกวันนี้ต้องผ่านกระบวนการอย่างไร และสอง เพื่อให้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน
นอกจากนี้ ผลพลอยได้คือการคิดวิเคราะห์ เพราะเมื่อได้ข้อมูลมา เด็กต้องประมวลเนื้อหาจากแหล่งต่างๆ หนังสือเรียนเล่าแบบนี้ แต่มีก็ประวัติศาสตร์นอกตำราแบบอื่น เด็กต้องนำหาข้อมูลเพิ่มเติม นำเหตุผลมาชั่งน้ำหนัก แล้วจึงเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อแบบไหนอย่างไร
“ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องงดงาม โรยด้วยดอกลาเวนเดอร์ตลอดเวลา ถ้ามันไม่สวยงาม ถ้ามีการต่อสู้แย่งชิง เด็กๆ ก็ควรได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเกิดเรื่องนี้ขึ้น คนสมัยนั้นแก้ปัญหาอย่างไร แล้วเรายังจะเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ หรือเปล่าในวันที่เติบโตขึ้นไปเป็นผู้ผลักดันสังคมนี้จริงๆ ในวันที่ถืออำนาจบางอย่างในมือแล้ว”
ครูจุ๊ยชวนจินตนาการว่า จะช่วยได้มากแค่ไหนถ้าเด็กเข้าใจว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มีลักษณะคือ หนึ่ง เชื่อมโยงและข้ามศาสตร์กันหมด และสอง มีความเป็นพลวัตมากๆ เมื่อเด็กว่าวัฒนธรรมและค่านิยมก็เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง และทุกปรากฏการณ์มีความเป็นพลวัต ความเข้าใจนี้ก็จะช่วยให้เขายอมรับความแตกต่าง ยอมรับตัวเอง และเข้าใจพ่อแม่ได้ ว่าทัศนคติที่ต่างกันนั้นเป็นเพราะเติบโตมาคนละแบบ
“สิ่งที่เคยถูกในอดีตอาจผิดในปัจจุบัน สิ่งที่ถูกในปัจจุบันอาจผิดในอดีต ซึ่งเป็นกระบวนการวิวัฒน์ทางสังคมอันมีความเป็นพลวัต เมื่อเด็กมีความเข้าใจเรื่องนี้ เขาไม่กรอบความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) แล้ว เขาจะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมัน growth มันเติบโต”
กรอบประเมินครู กรอบวัดผลเด็ก
ยังมีอีกหลาย ‘กรอบ’ ที่ครูจุ๊ยมองว่าทำให้ศักยภาพของเด็กและครูถูกขังไว้ ตัวอย่างเช่น คะแนนโอเน็ตที่ยังเป็นตัวกำหนดคุณภาพของโรงเรียน ทำให้คุณภาพของครูและผู้บริหารผูกติดอยู่กับคะแนนโอเน็ตของเด็ก ซึ่งไปผูกกับการขึ้นวิทยฐานะและการขึ้นเงินเดือนของครูด้วย การผูกทั้งหมดติดกันไว้ทำให้กรอบค่อนข้างแข็ง ครูและผู้บริหารก็ไม่อาจทะลุกรอบออกไปได้ ที่สุดแล้วจึงวนกลับมาที่การติวโอเน็ต ทั้งที่ข้อสอบโอเน็ตไม่ได้เป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เลย
“จุ๊ยเคยเจอครูและผู้บริหารที่ยอม ฉันจะทำของฉัน ฉันจะก้าวเดินออกไปจากกรอบวิธีคิดแบบนี้ เขาก็ต้องเสียสละการเลื่อนวิทยฐานะซึ่งผูกโยงกับการขึ้นเงินเดือน คำถามคือทำไมการสอนเด็กแบบนี้ถึงต้องเรียกร้องการเสียสละอะไรบางอย่างจากครูและผู้บริหาร ทำไมจึงไม่เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นปกติ ยิ่งกว่านั้นคือ จริงๆ แล้วระบบควรสนับสนุนเราด้วยหรือเปล่า” ครูจุ๊ยตั้งคำถาม
ระบบประเมินครูเป็นอีกเรื่องที่ต้องตั้งคำถามอย่างยิ่งใหญ่ ครูจุ๊ยให้ข้อมูลว่าประเทศไทยมีครูชำนาญการพิเศษ (คศ.) 3 อยู่ประมาณกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความคาดหวังของผู้ได้รับข้อมูลตัวเลขนี้คือ เรามีครูผู้เชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งเป็นจำนวนเกือบครึ่งของครูทั้งหมด แต่ทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยจึงเป็นอย่างที่เห็น คือคะแนนโอเน็ตเฉลี่ยต่ำกว่า 50 คะแนนทุกวิชาทุกปี เวลานำเสนอข้อมูลคะแนนโอเน็ตของเด็กไทยบนเวทีระหว่างประเทศ ต้องอธิบายเพิ่มว่าคะแนนที่เห็นคือเต็ม 100 ไม่ใช่เต็ม 50 คะแนน และเราพูดกันว่าโอเน็ตไม่ใช่เครื่องมือวัดผลที่ดี ไม่ตอบโจทย์สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 และเป็นเพียงการวัดความรู้พื้นฐาน แต่กระนั้นเมื่อวัดด้วยเครื่องมือนี้ เด็กๆ ก็ยังไม่สามารถมีความรู้พื้นฐานที่ดีได้ตามเกณฑ์ด้วยซ้ำ ทั้งที่เรามีครูชำนาญการพิเศษจำนวนมากขนาดนี้
ครูจุ๊ยยังพูดชวนตั้งคำถามถึงเส้นทางเติบโตของอาชีพครู และการขึ้นตำแหน่งต่างๆ ว่ามันผูกติดกับอะไรกันแน่ และแท้จริงแล้วมันควรผูกติดกับอะไร
“ครูที่จะทำวิทยฐานะต้องมีแฟ้มรวมผลงานเป็นตั้งๆ ซึ่งถามว่ากระดาษในแฟ้มนั้นเกิดขึ้นในห้องเรียนจริงไหม ทำไมคุณไม่ไปดูในกระบวนการ ทำไมไม่ไปดูว่าเด็กๆ เรียนรู้อะไรบ้าง ศึกษานิเทศก์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลครูในสังกัดของเขาต้องเข้าไปดูในกระบวนการหรือเปล่า ถ้าทำดีๆ สามารถทำกระบวนการส่วนหนึ่งให้เป็น PLC (professional Learning Community – ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) ได้เลย คุณเข้ามาดูแล้วคุณเห็นปรากฏการณ์อะไร เด็กได้อะไร แล้วประเมิน คุณอย่าประเมินคุณภาพครูจากกระดาษสิ เราก็ต้องถามต่อไปว่า คนที่เข้ามาดูแลครู หรือที่เรียกว่าศึกษานิเทศก์ เข้าใจกระบวนการและรูปแบบการเรียนแบบศตวรรษที่ 21 มากน้อยแค่ไหน” ครูจุ๊ยสะท้อนภาพ
น่าสนใจว่าระบบประเมินครูของฟินแลนด์ใช้วิธีการใด ครูจุ๊ยเล่าว่าฟินแลนด์ไม่มีการประเมินครูจากภายนอกเลย เพราะครูเป็นเจ้าของห้องเรียนอย่างแท้จริง และต้องอย่าลืมว่าการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ย่อมมีคนในห้องเรียนมากกว่าหนึ่งคนเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะเกิดการประเมินกันไปมาที่เรียกว่า After Action Review (AAR) มารีวิวกันว่าทำไปแล้วได้ผลอย่างไร ต้องเพิ่มตรงไหน ต้องแก้อะไรเพื่อให้เกิดการพัฒนา
ตัวอย่างเช่น ครูพาเด็กไปทัศนศึกษา ปรากฏว่าพอเด็กออกนอกโรงเรียนแล้วเด็กไม่โฟกัส เราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไรดี เมื่อตั้งต้นจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ของครู จากนั้นก็เกิดเป็นนวัตกรรม เจ้านวัตกรรมนี้สามารถเผยแพร่ต่อให้คนอื่นได้
ครูจุ๊ยยืนยันว่าไม่ใช่แค่ฟินแลนด์ แต่ไปดูงานการศึกษาประเทศต่างๆ จะพบว่า การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ของเขาไม่ได้เป็นแค่กระบวนการ ไม่ได้มีคู่มือให้ปฏิบัติตามเป็นขั้นตอนแบบเคร่งครัด แต่มันคือ ‘ชุมชนการเรียนรู้’ ที่ครูแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบ้าง มีครูจากโรงเรียนอื่นบ้าง การพูดคุยแลกเปลี่ยนและสังเกตการณ์เหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เกิดการพัฒนา
เห็นได้ว่าวิธีคิดแบบการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์นั้น ทุกที่มีปรากฏการณ์ ทุกปรากฏการณ์คือการเรียนรู้สำหรับทั้งเด็ก ครู จนถึงผู้บริหาร และทุกอย่างจะเกิดขึ้นจริงได้เมื่อปลดล็อก
ปลดล็อกเพื่อเดินต่อ
ครูจุ๊ยเสนอว่าหากปลดล็อกกฎเกณฑ์และการบริหารจัดการทรัพยากรได้ การศึกษาไทยจะก้าวพ้นหล่มที่ติดอยู่นี้และพัฒนาต่อไปได้
ล็อกที่หนึ่ง ครูต้องไม่รับงานจากกระทรวงอื่นมากมายอย่างทุกวันนี้ เพราะปัจจุบันกระทรวงไหนคิดอะไรไม่ออกก็มาโยนให้กระทรวงศึกษา และให้ครูทำทุกอย่างยกเว้นสอน เช่นนี้แล้วครูก็ไม่มีเวลาจัดการเรียนการสอนตามกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดที่เล่ามาข้างต้น จึงต้องบริหารจัดการเรื่องการโยนโครงการมาลงที่โรงเรียน
ล็อกที่สอง การบริหารจัดการคนและทรัพยากรต่างๆ ที่อยู่ในโรงเรียนเพื่อให้ครูได้ทำงานเต็มที่ เช่น การจัดการครูลงมาในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบ ‘per head’ (ต่อหัว) นักเรียน 20 คนต่อครู 1 คน ซึ่งก็เป็นสัดส่วนที่อ้างอิงจากโรงเรียนฟินแลนด์ แต่ในกรณีที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งทั้งโรงมีเด็กแค่ 20 คน จะให้มีครูคนเดียวก็ย่อมไม่ได้ ในทางกลับกัน เราควรใช้ระบบมาตรฐานขั้นต่ำมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเรียนขนาดเล็ก เรายิ่งต้องคิดว่าโรงเรียนหนึ่งๆ ต้องการคนทำหน้าที่และบทบาทอะไรแบบไหนบ้าง ต้องการครู งบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆ ‘อย่างน้อยที่สุด’ จำนวนเท่าไร ถ้าจัดการปลดล็อกปัจจัยทางกายภาพนี้ได้ เราก็จะไปพัฒนากระบวนการต่อได้
“คุณจะใช้สัดส่วนแข็งๆ แบบนี้ไม่ได้ แล้วอย่างนี้ครูคนไหนจะไปอยากอยู่โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ไกลแบบนั้น ครูก็ไม่อยากไป ครูอยากดิ้นรนมาลงโรงเรียนใหญ่ เพราะทรัพยากรเงินมันกองอยู่ที่โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนเล็กก็เหี่ยวแห้งเฉาลงไปเรื่อยๆ ในโรงเรียนขนาดเล็กใช้ระบบ per head ไม่ได้ ในประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน) 15,000 แห่ง ดังนั้นเราตั้งมาตรฐานขั้นต่ำไปเลยว่าโรงเรียนขนาด 120 คนต้องใช้เท่าไร ขนาด 90 คนต้องใช้เท่าไร ซึ่งตรงนี้ทางธนาคารโลก และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เองพยายามทำวิจัยเรื่องนี้อยู่เพื่อวางโมเดลในการจัดสรรทรัพยากรให้โรงเรียน” ครูจุ๊ยให้ภาพ
สำคัญที่สุดคือการปิดโรงเรียนไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ครูจุ๊ยเล่าว่าการจะปิดโรงเรียนแต่ละแห่งต้องทำวิจัยหนักมาก ต้องมั่นใจก่อนว่าในพื้นที่นั้นเด็กมีโรงเรียนอื่นรองรับ ถ้าไกลเกินไปรัฐต้องอำนวยความสะดวกให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“อย่างฟินแลนด์ซึ่งเน้นเรียนใกล้บ้าน ถ้าโรงเรียนอยู่ในระยะทางเกิน 5 กิโลเมตร รัฐบาลต้องจัดรถรับส่งไปกลับให้แล้ว ไม่เช่นนั้นการศึกษาจะกลายเป็นภาระ ความกดดัน ความกังวลของทุกคน ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์หรือมีความสุข”
ล็อกที่สาม เป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นปัญหาหนักที่สุดของกระทรวงศึกษาธิการ คือความเป็นระบบราชการที่สูงมาก ถ้าความเป็นระบบราชการต้องการโครงการมากมายเพื่อเข้าระบบประเมินผลและเบิกจ่ายงบประมาณ ครูจุ๊ยเสนอว่าควรทำ ‘project bank’ อันเป็นคลังโปรเจกต์ที่มีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี ให้แต่ละโรงเรียนสามารถเลือกนำไปใช้ได้ อยากทำโปรเจกต์ไหนก็เลือกไป และวัดผลตามศักยภาพเขา มีตัวชี้วัดที่เหมาะกับขนาดโรงเรียน ไม่ใช่ว่าโรงเรียนขนาด 6,000 คน ทำงานเท่าโรงเรียนขนาด 60 คน
ล็อกสุดท้าย ระบบเทรนครู ครูไทยต้องเรียนจิตวิทยาพัฒนาการเด็กมากกว่านี้ อันที่จริงครูควรต้องเรียนเรื่องจิตวิทยาพัฒนาการอย่างลงลึก ขณะที่บ้านเรา ครูเรียนจิตวิทยาพัฒนาการกันแค่ 3 หน่วยกิต หนำซ้ำยังเป็นวิชาบรรยายด้วย ทั้งที่ความเข้าใจเหล่านี้ควรเป็นแกนหลักด้วยซ้ำ ครูต้องมีองค์ความรู้ว่าเด็กๆ เติบโตอย่างไร มีกระบวนการเรียนรู้อย่างไร จากนั้นครูต้องฝึกทำความเข้าใจ ออกแบบ แล้วไปดูว่าผลเป็นอย่างไร เหมาะกับเด็กหรือไม่ พฤติกรรมเด็กมีปัญหาควรแก้อย่างไร และควรแก้ด้วยความเข้าใจว่าครูไม่ใช่ยาครอบจักรวาล แก้ทั้งหมดคนเดียวไม่ได้ การมีผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ในโรงเรียนจะช่วยครูได้มาก เช่น นักจิตวิทยา ครูพยาบาล นักกิจกรรมบำบัด สิ่งนี้จะทำให้เห็นว่าชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพมีความหมายเพราะอะไร เพราะมันต้องทำงานเป็นทีม
ครูจุ๊ยยกตัวอย่างที่น่าสนใจจากระบบฟินแลนด์คือ ครูจะได้รับการดูแลโดยสหภาพ (Trade Union of Education หรือ OAJ) ซึ่งเป็นสหภาพวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ มีสภาที่มีระบบชัดเจนและทำงานกันบนพื้นฐานจากงานวิจัย ครูที่เข้าไปทำงานในสหภาพจะได้รับการเทรนและมีค่าตอบแทนให้ เพื่อให้ครูสามารถเข้าไปผลักดันกฎหมายต่างๆ ได้
ในประเด็นปลดล็อกนี้ ครูจุ๊ยบอกว่าสุดท้ายแล้ว ทุกอย่างกลับมาที่คำว่าความเท่าเทียมทางการศึกษา และความเท่าเทียมคือการจัดสรรทรัพยากร ต้องคิดกลับกันจากที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ คือไม่ใช่โรงเรียนใหญ่มีเด็กเยอะก็ยิ่งได้เงินเยอะๆ เยอะไปตามจำนวนเด็ก ขณะที่โรงเรียนเล็ก ยิ่งเล็กก็ยิ่งได้เงินน้อยลงๆ นี่คือการถ่างความเหลื่อมล้ำ เด็กที่อยู่ห่างไกล มีเด็กจำนวนน้อยต่างหากที่ควรได้รับเงินเยอะ เพราะมีต้นทุนสูงกว่า
“ความเท่าเทียมไม่ใช่การให้ทุกอย่างเท่ากัน การศึกษาไม่ใช่แบบนั้น แต่คือการให้ทรัพยากรตามบริบทของพื้นที่ เพื่อให้โรงเรียนเหล่านั้นเติบโตพ้นน้ำขึ้นมา เงยหน้าอ้าปากหายใจได้อย่างเท่าเทียมกันต่างหาก”
แค่ทุบคอนกรีต เด็กๆ ก็เบ่งบาน
ขณะที่ฟินแลนด์พูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่าจุดอ่อนของเด็กฟินแลนด์อยู่ที่ความไม่กล้าแสดงออก การศึกษาจึงมุ่งเน้นจะเสริมสร้างสมรรถนะด้านนี้เพื่อลบจุดด้อย เมื่อถามว่าจุดอ่อนของเด็กไทยล่ะอยู่ตรงไหนและต้องแก้อย่างไร ครูจุ๊ยเล่าย้อนถึงการลงพื้นที่นราธิวาสซึ่งเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทยว่า เด็กจำนวนมากเกิดมาพร้อมโรคโลหิตจางและภาวะแกรน คำถามคือ กระทั่งปัจจัยทางกายภาพเขายังไม่พร้อมเลย เขาจะต่อยอดพัฒนาได้อย่างไร ซ้ำร้ายระบบใดๆ ก็ไม่ได้เอื้อและช่วยเหลือเขาเลย แล้วสังคมก็คาดหวังให้เขาเต็มร้อย ทั้งที่เขาเกิดมาติดลบ ดังนั้นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ยังจะเป็นจุดด้อยอยู่อย่างนั้น เรื่องแบบนี้เป็นลักษณะทางกายภาพที่แก้ไขได้แต่เรากลับไม่แก้ ที่สุดแล้ว ปัญหาทั้งหมดย้อนกลับมาที่ประเด็นความเหลื่อมล้ำ แม้เราอาจจะเกลียดคำนี้ก็ตาม
การศึกษาไทยที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งประเด็นเรื่องผลสัมฤทธิ์ การประเมินครู เนื้อหาในบทเรียน กระทั่งการสอบวัดผลที่ไม่สอดคล้องกับโลกแห่งอนาคต ถามว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ครูจุ๊ยตอบว่า ไม่มีใครต้านกระแสของอนาคตได้ ตอนนี้เราต้านด้วยการวิ่งไปหาการเรียนพิเศษ วิ่งไปหาทรัพยากรข้างนอกโรงเรียนแทน เพราะเราไม่เชื่อมั่นในโรงเรียนแล้ว
“กลายเป็นว่าคนที่ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะวิ่งไปหาทางเลือกเพิ่มเติมก็ทนอยู่ไป คนที่มีทรัพยากรซึ่งวิ่งไปหาทางเลือกอื่นเพิ่มได้ก็ไม่คิดว่าจะต้องเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอะไร การศึกษามันเลยอยู่เท่านี้ เราต้องส่งเสียงให้ดังกว่านี้อีก”
ครูจุ๊ยทิ้งท้ายอย่างมีความหวังว่านักเรียนเติบโตเลยระบบไปแล้ว กระทั่งในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง เด็กๆ ของเราก็ยังเบ่งบานได้
“เขาเติบโต เขาเบ่งบาน เขาแสดงพลังออกมาว่าพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า เป็นเหมือนดอกไม้ในร่องคอนกรีต คุณไม่ต้องทำอะไรมากมายเลย ขอแค่ทุบคอนกรีตทิ้งก็จะมองเห็นดินอุดมสมบูรณ์อยู่ใต้นั้น เด็กๆ ของเรามีศักยภาพมากๆ เขาพิสูจน์ให้เราเห็นแล้ววันนี้”
Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์
Kirsti Lonka เขียน
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล และ พยุงศักดิ์ แก่นจันทร์ แปล
400 หน้า