วิจักษ์ (วิพากษ์) “นี่แหละทรราชย์” (On Tyranny) โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

 

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชวนวิจักษ์-วิพากษ์ หนังสือ นี่แหละทรราชย์ ขบคิดประเด็นต่อยอดจากงานเสวนา “นี่แหละทรราชย์: บทเรียนสู้เผด็จการจากโลกถึงไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape

 

https://www.youtube.com/watch?v=Dte6mE9-EL4

 

วิจักษ์(วิพากษ์) “นี่แหละทรราชย์” (On Tyranny) ของ Timothy Snyder

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่อง

หลังจากที่ผมได้ไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ นี่แหละทรราชย์ Graphic Edition: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 ของสำนักพิมพ์ bookscape และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 แล้ว คืนนั้นเมื่อได้สนทนากับญาติมิตรแสนฉลาดคนหนึ่ง ผมตกใจแทบสิ้นสติ เพราะเธอเห็นว่า ที่ผมพูดไปเมื่อบ่ายวันนั้นไม่ “fair” เป็นอย่างยิ่ง และทำให้หนังสือ ผู้เขียน และสำนักพิมพ์ อาจจะต้องเดือดร้อน เพราะผู้คนที่เขาฟังผมพูดวันนั้น อาจจะเข้าใจว่า หนังสือนี้ไม่มีอะไรดีเลย ดังนั้นไม่ควรอ่าน ไม่ควรซื้อ

หนังสือ นี่แหละทรราชย์ ฉบับภาษาไทย

 

ผมย้อนไปคิดถึงสิ่งที่ผมได้พูดไปในบ่ายวันนั้น แม้ผมคิดว่า ผมพูดทุกสิ่งอย่างเป็นธรรม บนฐานคิดทางวิชาการที่แน่นหนาตามควร แต่ที่พูดไปนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นเจตนาเมื่อได้รับคำเชิญ ตอนนั้นผมไม่ได้ดูชื่อคนเขียนด้วยซ้ำ ภายหลังเมื่อตระหนักว่า หนังสือนี้เป็นของ Timothy Snyder ก็ยิ่งยินดี เพราะผมชอบ Snyder เขาเป็นหนึ่งในนักวิชาการอเมริกันเชื้อสายยิวที่ทำการศึกษาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างจริงจังตลอดมา แต่ไม่ได้สมาทานแนวคิดที่เชื่อว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวเป็นเหตุการณ์ที่พิเศษไม่มีที่ใดเหมือนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่เรียกกันว่า “Holocaust Uniqueness” อย่าง Steven Katz, Deborah Lipstadt หรือ Daniel Jonah Goldhagen

ผมกล่าวในที่ประชุมวันนั้นว่า คราวนี้ Snyder เขียน On Tyranny ของเขาด้วย “ความกลัว” เป็นเจ้าเรือน แต่เขากลัวอะไรหรือ? ผมคิดว่า เพื่อตอบคำถามนี้ ต้องลองพยายามเข้าใจนักวิชาการอเมริกันเชื้อสายยิวมากมายก่อนยุคของเขา ที่หนีตายจากภัยนาซีข้ามแอตแลนติกมาสู่ดินแดนแห่งพันธะสัญญา ที่คนจะเป็นอิสระ และจะอยู่รอดปลอดภัยจากการฆ่าล้างผู้คนเพียงเพราะพวกเขาถูกจัดเป็นอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งหรือนับถืออีกศาสนาหนึ่ง

On Tyranny: Twenty Lessons from the Twentieth Century: Snyder, Timothy:  9780804190114: Amazon.com: Books
หนังสือ On Tyranny ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาอังกฤษ

 

ในช่วงทศวรรษที่ 50 และ 60 มีงานสำคัญสองชิ้น คือ  งานวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง Authoritarian Personality ของ T.W. Adorno และคณะแห่งสำนัก Frankfurt (ที่ทุกวันนี้คือ New School ใน New York) และการทดลองของ Stanley Milgrom (ซี่งปรากฏเป็นหนังสือด้วยชื่อที่เหมาะสมเป็นสุดคือ Obedience to Authority (1974-ดู สายพิณ (แปล), นี่แหละทรราชย์, 2565, น.11-12) สำหรับผมงานสองชิ้นน่ากลัวสำหรับคนที่เคยเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาก่อน เพราะ Adorno ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการสำรวจผู้คนชาวอเมริกันเกือบสามพันคน และพบสิ่งที่น่าตระหนกยิ่งว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในเยอรมนีอาจเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ได้เช่นกัน ขณะที่ Milgrom อาศัยการทดลองในห้องทดลองก็พบว่า คนธรรมดาๆ สามารถจะ “เชื่อฟัง” ผู้มีอำนาจหน้าที่ได้ถึงขนาดมองไม่เห็นความทรมานของมนุษย์จากน้ำมือของตนอันเป็นผลจากการเชื่อฟังผู้มีอำนาจหน้าที่ของตนเอง

เมื่อวางภาพทั้งสองลงบนภาพการจับแม่และเด็กผู้อพยพขังกรงที่เหมือนสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2019 ในสมัยประธานาธิบดี Trump ก็ไม่ยากที่คนอย่าง Snyder จะต้องกังวล เพราะมีรายงานว่า ในรัฐเท็กซัสเด็กลูกหลานผู้อพยพถูกกักไว้ในสภาพที่ไม่เป็นมนุษย์ (inhumane) ที่อยู่เหมือนคุกและต้องอยู่กันหลายสัปดาห์ เด็กๆ หลายคนยังเล็กเกินไปที่จะดูแลตนเอง (บางคนอายุเพียงสองสามขวบ) ไม่ได้พบพ่อแม่ ไม่ได้อาบน้ำ ไม่มีเสื้อผ้าสะอาดใส่ ไม่ได้แปรงฟัน และไม่มีที่นอน มีเด็กเจ็บป่วยหลายคน (Clara Long, Human Rights Watch, July 11, 2019)

ความรู้สึกสำหรับคนที่ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างจริงจังมาตลอดชีวิต และเห็นสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาตนเป็นเช่นไร สำหรับเราคงทำได้เพียงคาดเดาเท่านั้น เพราะแผ่นดินแห่งความฝันกำลังจะถูกสาปให้กลายร่างเป็นสังคมป่าเถื่อน ใครที่มีสำนึกอยู่บ้าง คงต้องหาวิธีทำอะไรบางอย่างเพื่อหยุดสภาวะดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น

สำหรับ Snyder ผมคิดว่า หนังสือ On Tyranny ไม่ใช่หนังสือวิชาการเช่นที่เขาเคยเขียนและได้รับคำชื่นชมไปทั่วโลกวิชาการ แต่ On Tyranny เป็นอาวุธของเขาในการเสนอทางออกให้คนอเมริกันเพียรรักษาแผ่นดินแห่งความฝันมิให้กลายเป็นอาณาจักรแห่งความป่าเถื่อนที่เห็นคนที่ต่างออกไปไม่ใช่มนุษย์

นี่แหละทรราชย์ Graphic Edition : 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 เป็นหนังสือที่ชวนให้คนลุกขึ้นสู้กับทรราชย์ที่สำคัญยิ่ง เพราะมิได้เขียนขึ้นโดยนักวิชาการประชาธิปไตย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent struggle หรือที่มักเรียกกันว่า “สันติวิธี”) แต่เป็นผลงานของนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และมิได้จำกัดตนเพียงเฉพาะระบอบนาซีของฮิตเลอร์ที่มีชาวยิวเป็นเหยื่อ แต่ยังใส่ใจกับระบบโซเวียตของสตาลินที่เหยื่อกลายเป็นคนชนชั้นที่ไม่พึงประสงค์และผู้ต่อต้านรัฐโซเวียตมากหลาย

บทเรียนทั้ง 20 บทในหนังสือนี้กลั่นมาจากประวัติศาสตร์แสนทารุณที่ Snyder เรียนรู้มา และถ่ายทอดออกเป็นสิ่งที่คนธรรมดาสามัญพอจะกระทำได้เมื่อเผชิญกับระบบทรราชย์ ไม่ใช่ในอดีต แต่ในบริบทปัจจุบัน โดยมีประวัติศาสตร์ยุโรปเป็นเครื่องคัดท้าย

ผมไม่ได้เห็นด้วยกับบทเรียนทั้ง 20 บทของ Snyder และได้แสดงความเห็นเชิงวิพากษ์ไปแล้วเมื่อบ่ายวันที่ 26 พฤศจิกายน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเข้าใจของ Snyder เรื่อง “ความจริง” หรือที่เกี่ยวกับ “การต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรง” หรือ “การเปรียบเทียบการกระทำของตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมาะสม” เพราะฐานะของมนุษย์ในการตัดสินใจ (human as decision making agency) ไม่เหมือนกัน และการมองไม่เห็นความเป็น “ทรราชย์” ของระบอบอาณานิคม ของ “วีรบุรุษ” ในสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่ที่จริงผมพูดกับผู้จัด(เข้าใจว่าก่อนจะเข้างาน) ว่า วันนี้ผมตั้งใจมาช่วย bookscape ขายหนังสือ และหลักฐานคือ ชื่อการนำเสนอที่ผมคัดเลือกมาใช้ คือ คำภาษาอังกฤษว่า Appraising (แทนที่จะใช้คำว่า Critiquing, Assessing หรือ Evaluating) คำนี้ถ้าดูคำแปลทั่วไปก็จะแปลว่า “การประเมินผล” แต่คำนี้มีที่มาจากการวิจารณ์วรรณกรรมในศตวรรษที่ 18 ขณะคิดถึงคำว่า “วิจารณ์” ก็นึกถึงชื่อของคุณ วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระที่มีความรู้ลึกซึ้งด้านปรัชญาศาสนา แต่ชื่อนั้นแปลว่า “รู้แจ้ง ฉลาด” อย่างไรก็ตามชื่อเขานำผมไปสู่คำว่า “วิจักษ์” ซึ่งแปลว่า นิยม ชื่นชอบ (appreciate) ผมจึงตั้งชื่อบทพูดวันนั้นว่า “วิจักษ์วิพากษ์ …”

ที่จะเขียนต่อไปนี้ เป็นภาค “วิจักษ์” บทเรียนหลายบทของ Snyder ที่ผมไม่ได้เอ่ยถึงวันนั้น

ผมอยากจะแบ่ง “บทเรียน” ที่ผม “วิจักษ์” ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกเป็นบทเรียนที่เชื่อมร้อยกับการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent struggle) หรือ “อารยะต่อต้าน” (civil resistance) และอีกประเภทหนึ่งน้ำหนักอยู่ที่ พลังอำนาจของภาษาและสัญลักษณ์

 

วิจักษ์ นี่แหละทรราชย์ : 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 กลุ่มที่ 1

กลุ่มนี้ประกอบด้วย บทเรียนที่ 1 ว่าด้วยการ “ไม่เอออวยล่วงหน้า” อย่าเชื่อฟังไปก่อน (do not obey in advance or anticipatory obedience)[1] , บทเรียนที่ 5 ว่าด้วย “จดจำจรรยาบรรณวิชาชีพ”, บทเรียนที่ 15 “บริจาคเพื่อเป้าหมายที่ควรค่า”, บทเรียนที่ 2 ว่าด้วย “การปกป้องสถาบันสังคม” และบทเรียนที่ 7 “ใคร่ครวญให้หนักหากคุณต้องพกอาวุธ”

 

บทเรียนทั้งหมดในกลุ่มนี้สัมพันธ์แนบแน่นกับทฤษฎีแห่งอำนาจ คนใช้อำนาจเพื่อให้ผู้อยู่ใต้อำนาจเชื่อฟัง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจขึ้นอยู่กับทฤษฎีอำนาจที่กำกับอยู่ หากทฤษฎีอำนาจที่ใช้เป็นแบบที่เป็นความสัมพันธ์ทางเดียวระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ (ประชาชน) เช่นที่ Hobbes นำแนวทางไว้ การต่อต้านอำนาจด้วยการ “ไม่เชื่อฟัง” ก็อาจมีประสิทธิภาพน้อย แต่ถ้าทฤษฎีอำนาจที่ใช้เป็นความสัมพันธ์สองทางระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ ยิ่งกว่านั้นหากคนกุมกลไกความสัมพันธ์นี้คือผู้อยู่ใต้อำนาจด้วยแล้ว บทเรียนทั้งหมดว่าด้วยการไม่เชื่อฟังก็จะทรงพลัง นี่คือทฤษฏีอำนาจของ Locke ที่เชื่อว่า อำนาจดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการยินยอมเห็นชอบจากผู้อยู่ใต้อำนาจ (consent theory of power)  เมื่อคนตัดสินใจถอนความสนับสนุนที่อำนาจพึ่งพาอาศัยอยู่ อำนาจก็ต้องพังสลายลง ในโลกแห่งทฤษฎีอำนาจนี้ ปฏิบัติการไม่เชื่อฟังทั้งหลายย่อมมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง

ที่สำคัญ Snyder ทำให้ผู้อ่านเห็นว่า หากยังเชื่อฟังต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมการเมืองนั้น เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์อัปลักษณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุโรปเมื่อศตวรรษที่แล้ว

การ “จดจำจรรยาบรรณวิชาชีพ” คือวิธีการต่อต้านขัดขืนไม่เชื่อฟังบนฐานคิดสองฐาน คือ ผู้ปกครองอำนาจนิยมหรือเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทำการทั้งหมดคนเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือเชื่อฟังจากคนในรัฐ อีกข้อหนึ่งคือ คนในรัฐก็มิได้มีฐานะเป็นผู้ใต้ปกครองอย่างเดียว แต่ยังเป็นแพทย์ เป็นตุลาการ เป็นทนายความ เป็นสถาปนิก ในอาชีพเหล่านั้นมีจรรยาบรรณวิชาชีพให้ผู้มีอาชีพเหล่านั้นทำในสิ่งที่ควรและถูกต้องต่ออาชีพของตน Snyder เห็นว่า จรรยาบรรณวิชาชีพเป็นฐานความชอบธรรมที่จะไม่เชื่อฟังสำหรับ professionals ในรัฐได้อย่างสำคัญ

สำหรับคนอื่นๆ ก็สามารถเลือกกลุ่มคนที่เขาทำงานในแบบที่ตนชอบเช่นฝ่ายสิทธิมนุษยชน ฝ่ายส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคม แล้วสนับสนุนการทำงานของพวกเขาด้วยการบริจาค เมื่อทำเช่นนี้เกิดผลสองประการ ประการแรกเป็นการยืนยันกับเจ้าของเงินว่า ตนมีอำนาจสำคัญอยู่ในมือ และอำนาจนั้นคืออำนาจเงินที่จะสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นคุณต่อสังคมการเมืองของตนได้ อีกประการหนึ่ง คือทำให้ผู้คนที่เขาทำงานด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ด้านแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมในสังคมที่เราชื่นชอบได้รู้ว่า พวกเขาไม่ได้อยู่ลำพัง แต่มีเพื่อนคอยสนับสนุนชีวิตและการทำงานของเขา และการแสดงออกซึ่งการไม่เชื่อฟังทั้งหมดนี้เป็นไป เพื่อ “การปกป้องสถาบันสังคม” เพราะความแข็งแรงของสังคมการเมืองก็พอจะเห็นได้จากความเข้มแข็งของสถาบันสังคมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ศาล หรือ สื่อมวลชน

ที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นหัวข้อสำคัญของการศึกษาการต่อสู้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงตลอดมา และทิศทางการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ที่เริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่  1980s ไม่เพียงเป็นเรื่องการ “ปกป้องสถาบันสังคม” จากเงื้อมมือผู้เผด็จอำนาจในรัฐ แต่ยังไปไกลถึงการพยายาม “ปกป้องสังคม” จากการรุกรานจากภายนอกอีกด้วย การต่อสู้แบบนี้เรียกว่า “civilian-based defense” [เช่น Johan Jorgen Host, CivilBased Defense in a New Era, (1990)] เป็นวิธีการต่อสู้ที่ไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศในความหมาย แผ่นดิน อาณาเขต อาคาร วัตถุ แต่ให้ความสำคัญกับการป้องกันทางสังคม (social defense NOT territorial defense) และดังนั้น วิธีการทางทหารจึงไม่ใช่วิธีการที่จะป้องกันสังคมได้ ต้องใช้วิธีการทางป้องกันทางพลเรือนเท่านั้น

ที่น่าสนใจยิ่งในบทเรียนกลุ่มนี้ของ Snyder คือ บทเรียนที่ 7 “ใคร่ครวญให้หนักหากคุณต้องพกอาวุธ” และผมคิดว่า คำสำคัญที่สุดในบทเรียนบทนี้คือคำว่า “คุณ”  Snyder ใช้คำว่า “คุณ” ในบทเรียนนี้เพียงสองครั้ง แต่คำว่า “คุณ” นี้ไม่ใช่ผู้อ่านทั่วไป หากแต่เป็นการพูดกับทหารผู้ถืออาวุธที่เป็นฐานกำลังของผู้เผด็จอำนาจแทบทุกหนแห่งโดยตรง  Snyder เรียกร้องให้พวกเขา (“คุณ”) พร้อมที่จะปฏิเสธการเชื่อฟังอำนาจ หากพบว่าตนกำลังทำสิ่งที่ไม่สมควร (เช่นทำร้ายประชาชนที่ตนมีหน้าที่ต้องพิทักษ์คุ้มครอง) ประเด็นนี้สำคัญเพราะในงานวิจัยสะเทือนโลกของ Chenoweth และ Stephan พบว่า ในกรณีศึกษาการใช้การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent campaigns) ที่ประสบความสำเร็จสามกรณีคือ ในอิหร่าน ปาเลสไตน์ และฟิลิปปินส์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อำนาจรัฐเผด็จการอ่อนโทรมลงคือ การที่ความภักดีของกลุ่มทหารเปลี่ยนข้าง (loyalty shifts) ผลคือ ทหารที่เคยสนับสนุนระบอบเลิกให้การสนับสนุนและเปลี่ยนมาเผชิญหน้ากับรัฐเผด็จอำนาจแทน (military defection) [Erika Chenoweth and Maria Stephan, Why Civil Resistance Works (New York: Columbia University Press, 2011), pp.192-193]

 

วิจักษ์ นี่แหละทรราชย์ : 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 กลุ่มที่ 2

กลุ่มนี้ประกอบด้วย บทเรียนที่ 4 ว่าด้วยการ”รับผิดชอบโฉมหน้าของโลก”,  บทเรียนที่ 9 ว่าด้วย “ใส่ใจกับภาษาที่เราใช้” และบทเรียนที่ 17 “ตั้งใจฟัง ระวังคำที่มีพิษร้าย”  บทเรียนในกลุ่มนี้สัมพันธ์กับอำนาจของภาษาและสัญลักษณ์ เช่นเมื่อพิจารณาบทเรียนที่ว่าให้ผู้ต่อต้านฝ่ายเผด็จอำนาจ “รับผิดชอบโฉมหน้าของโลก” Snyder หมายความว่า ฝ่ายประชาชนต้องให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์ในสังคม หากเป็นสัญลักษณ์แห่งความเกลียดชังมนุษย์อื่น เขาสอนให้เรา “อย่าเบือนหน้าหนี อย่าเคยชินกับพวกมัน (แต่ให้) ลงมือถอดถอนสัญลักษณ์เหล่านี้ด้วยตัวคุณเอง และเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นทำตาม” และตัวอย่างในประวัติศาสตร์ยุโรปของ Snyder ทำให้เห็นชัดสองประการคือ สัญลักษณ์ชั่วร้ายเหล่านี้ทรงพลังเพียงไร และหากไม่ต่อต้านขัดขืนจะสร้างความรุนแรงโหดร้ายได้เพียงไร

ในบทเรียนที่ 9 ที่สอนให้เรา “ใส่ใจกับภาษาที่เราใช้” Snyder กล่าวถึงงานวิชานิรุกติศาสตร์แสนประหลาดของ Klemperer ที่ช่วยให้เห็นการใช้ภาษาของฮิตเลอร์ที่ไม่เปิดทางให้คนค้าน และคำที่ฮิตเลอร์ใช้ก็มีความหมายเฉพาะ (เช่นประชาชนไม่ได้หมายถึงทุกคนในรัฐ) แนวคิดชนิดนี้ชวนให้คิดถึงความคิดแสนฉลาดเกี่ยวกับพลังอำนาจของ ภาษา (และอาจจะสัญลักษณ์ด้วย) ของ เกษียร เตชะพีระ ที่สรุปไว้คมคายว่า รัฐอาจใช้เครื่องมือทางภาษา “เพื่อคุมคำ” >> “คุมความหมาย” >> “คุมความคิด” >> “คุมคน”

ขณะที่ Snyder เสนอให้เราระวังไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของการควบคุมทางภาษาเช่นนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเตือนเราให้ “ตั้งใจฟัง ระวังคำที่มีพิษร้าย” ในบทเรียนที่ 17 แต่คำที่มี “พิษร้าย” ในปัจจุบันปรากฏขึ้นได้จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นกับดักของแนวคิด ความรุนแรงสุดโต่ง (violent extremism) ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกในเวลานี้ หรือการที่รัฐเผด็จอำนาจอาศัยสถานการณ์ไม่ปรกติประกาศภาวะฉุกเฉินและยกเว้น ซึ่งประวัติศาสตร์น่ากลัวของยุโรปบอก Snyder ว่า เรื่องเช่นนี้เป็นอันตรายถึงชีวิต

 

ข้อเขียนนี้ยาวเกินไปแล้ว แต่ถ้าคิดว่าตอนผม “วิพากษ์” ก็พูดเสียยาว ถึงคราว “วิจักษ์” ก็ไม่อาจสั้นจนไม่สมควร ผมหวังว่าผู้อ่านคงเห็นได้ว่า ที่จริงผมชอบงานชิ้นนี้ของ Snyder ไม่งั้นคงไม่ตั้งใจอ่านละเอียดเพียงนี้ แต่เวลาเราชอบหนังสือสักเล่ม ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องชอบทุกสิ่งในหนังสือ  ที่สำคัญหากหนังสือนั้นทำให้เราได้แลเห็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็น ได้พอเห็นช่องทางที่จะต่อกรกับความอยุติธรรมที่เราไม่ชอบ และอาจทำให้เราไม่เห็นด้วยในบางประเด็นอย่างลึกซึ้งจนต้องทะเลาะโต้เถียงด้วยและคิดต่อไปในเส้นทางใหม่ๆ อย่าง นี่แหละทรราชย์ Graphic Edition : 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 , สายพิณ ศุพุทธมงคล (แปล) (กรุงเทพฯ: Bookscape, 2565) ผมคิดว่า หนังสือเช่นนี้เป็นหนังสือดีน่าซื้อไปอ่าน ไปคิด และนำไปใช้ด้วยการใตร่ตรองให้รอบคอบด้วยความรู้วิชาการและประสบการณ์ในสังคมการเมืองของตน

 

[1] ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้คำ “เอออวย” แทนคำภาษาอังกฤษที่ Snyder ใช้ ซึ่งคือ Obedience เพราะคำ “เอออวย” ในภาษาไทยใกล้กับคำว่า accede, agree หรือ concur ซึ่งเบากว่าคำว่า “เชื่อฟัง” หรือ Obey อีกทั้ง คำ Obey/obedience ในเวลานี้มีฐานะทางความรู้หลายด้านหนุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นงานของ Milgrom’s Obedience to Authority (1974) ในวิชาจิตวิทยา หรือ Sharp’s The Politics of Nonviolent Action (1973) เช่นที่ผมเคยเขียนไว้ใน “เส้นทางวิชารัฐศาสตร์ กับ 7 คำถามทางการเมือง” (ในประจักษ์ ก้องกีรติ (บ.ก.) การเมือง อำนาจ ความรู้ (ศยาม 2564)

 

อ่านรายละเอียดหนังสือประกอบบทความและงานเสวนาได้ที่

นี่แหละทรราชย์ Graphic Edition: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20
On Tyranny Graphic Edition: Twenty Lessons from the Twentieth Century
Timothy Snyder เขียน Nora Krug ภาพประกอบ
สายพิณ ศุพุทธมงคล แปล