เมื่อการเจริญสติโดยสมัครใจ ช่วยให้เด็กเติบโตสมวัยมากกว่าที่คุณคิด

ชลิดา หนูหล้า เขียน

 

“การพักผ่อนคือรากฐานของทุกกิจกรรม”

ใน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้มีวุฒิภาวะสมวัย สามารถจัดการตนเองและก้าวข้ามอุปสรรคด้วยตนเองได้นั้น สองผู้เขียนคือ วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ให้ความสำคัญแก่การพักผ่อนเท่ากับการพัฒนาสมองและจิตใจ

คำถามคือเพราะเหตุใด

 

ตึงเกินไปก็ขาด

 

หากจะกล่าวว่าการ “อยู่เองได้ โตเองเป็น” ในอนาคตของเด็ก ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการความเครียดในปัจจุบันก็ไม่เกินความจริงไปนัก

วิลเลียม สติกซ์รัด และเน็ด จอห์นสัน แบ่งความเครียดเป็นสามประเภท ได้แก่ ความเครียดเชิงบวก (positive stress) หรือความเครียดเล็กน้อยที่กระตุ้นให้มนุษย์ทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น อย่างความตื่นเต้นก่อนแสดงละครเวทีหรือเข้าห้องสอบ ความเครียดประเภทถัดมาคือความเครียดที่ทนได้ (tolerable stress) หรือความเครียดที่คงอยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ และไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือหรือจัดการได้ทันท่วงที อย่างความเครียดจากการเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันซึ่งสิ้นสุดลงในเวลาอันสั้น และไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ

ความเครียดที่เป็นอันตรายและขัดขวางพัฒนาการที่สมวัยของเด็กๆ คือความเครียดที่เป็นพิษ (toxic stress) ความเครียดที่เป็นพิษคือความเครียดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน เมื่อร่างกายมนุษย์ต้องเผชิญความเครียดประเภทนี้เรื้อรัง มนุษย์จะรับรู้ว่าตนควบคุมหรือจัดการสภาพแวดล้อมได้น้อย นำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ

 

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเด็กที่เติบโตขึ้นโดยคิดว่าตนเองไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เผชิญได้ ไม่อาจแก้ไขปัญหาและก้าวข้ามอุปสรรคได้ จะมีพัฒนาการอย่างไร

 

การ “ผ่อน” ลงหน่อยนั้นสำคัญไฉน

 

วิลเลียมและเน็ดเชื่อว่ามีสมองของมนุษย์สี่ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับระดับความรู้สึกว่า “ฉันจัดการชีวิตของตัวเองได้” ที่จะพัฒนาเป็นความสามารถในกำกับดูแลตนเอง (sense of control) ซึ่งทำให้เด็กอยู่เองได้ โตเองเป็นในภายหลัง

 

ความเครียดที่เป็นอันตรายและขัดขวางพัฒนาการที่สมวัยของเด็กๆ คือความเครียดที่เป็นพิษ (toxic stress) ความเครียดที่เป็นพิษคือความเครียดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน เมื่อร่างกายมนุษย์ต้องเผชิญความเครียดประเภทนี้เรื้อรัง มนุษย์จะรับรู้ว่าตนควบคุมหรือจัดการสภาพแวดล้อมได้น้อย นำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ

 

สมองส่วนแรกคือคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) หรือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิจารณญาณ ส่วนที่สองคืออะมิกดาลา (amygdala) หรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อภัยคุกคาม ซึ่งเป็นเสมือนขั้วตรงข้ามของกันและกัน เพราะอะมิกดาลาทำให้มนุษย์รับมือภยันตรายได้ทันท่วงทีด้วยการโต้กลับหรือหลีกเลี่ยงภยันตรายนั้น แต่หากทำงานมากเกินไป ก็จะสูญเสียความสามารถในการใช้เหตุผลเช่นกัน

สมองส่วนที่สามคือสมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งโดพามีน (dopamine) หรือฮอร์โมนแห่งความพึงพอใจเมื่อมีประสบการณ์ที่เติมเต็มและได้ทำสิ่งที่มีความหมาย ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้มนุษย์พิชิตเป้าหมายในที่สุด

การพัฒนาสมองสามส่วนนี้จำเป็นต่อการเติบโตสมวัยของลูกอย่างแน่นอน กล่าวคือทำให้เด็กเผชิญความท้าทายในชีวิตและก้าวข้ามมันได้อย่างเข้มแข็ง ผ่านการฝึกฝนการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม  ควบคุมตนเองให้ทำงานได้ตลอดรอดฝั่ง ตลอดจนพัฒนาวิจารณญาณด้วยการตัดสินใจเอง และรับผิดชอบผลการตัดสินใจนั้นในหลากหลายสถานการณ์

 

 

กระนั้น สิ่งที่พ่อแม่หลายคนหลงลืมคือเด็กรับมือความเครียดได้มากน้อยแตกต่างกันไป และย่อมมีวุฒิภาวะในการรับมือความท้าทายน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น หากลูกไม่มีโอกาสถอยออกจากความเครียดที่เผชิญ ความเครียดดังกล่าวอาจกลายเป็นความเครียดเรื้อรังที่ทำลายความเชื่อมั่นในตนเองและความสามารถในการกำกับดูแลตนเองของเด็ก อันมีที่มาจากความเชื่อมั่นนั้น

เป็นเหตุผลที่วิลเลียมและเน็ดกล่าวถึงสมองส่วนที่สี่ซึ่งไม่มีใครกล่าวถึงนัก คือเครือข่ายอัตโนมัติ (default mode network) ซึ่งจะทำงานเมื่อมนุษย์ “ไม่ทำอะไรเลย” เท่านั้น เครือข่ายอัตโนมัติทำหน้าที่ฉายความเป็นไปได้ในอนาคตและจัดระเบียบอดีต กล่าวคือประมวลประสบการณ์ของมนุษย์ จึงเป็นแหล่งกำเนิดทัศนคติ ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ อัตลักษณ์ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยจะใช้พลังงานถึงร้อยละ 60-80 ของสมองเพื่อจัดระเบียบความคิดขณะที่มนุษย์ไม่ได้จดจ่อกับสิ่งใด

แน่นอนว่าหนทาง “ไม่จดจ่อกับสิ่งใด” ที่ดีที่สุดคือการนอนหลับ แต่มีอีกหนทางหนึ่งที่หากปฏิบัติอย่างถูกต้องและสามารถจูงใจเด็กให้ปฏิบัติสม่ำเสมอโดยสมัครใจ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองส่วนนี้อย่างยิ่ง

นั่นคือการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิ

 

เครือข่ายอัตโนมัติ (default mode network) จะทำงานเมื่อมนุษย์ “ไม่ทำอะไรเลย” เท่านั้น เครือข่ายอัตโนมัติทำหน้าที่ฉายความเป็นไปได้ในอนาคตและจัดระเบียบอดีต กล่าวคือประมวลประสบการณ์ของมนุษย์ จึงเป็นแหล่งกำเนิดทัศนคติ ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ อัตลักษณ์ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยจะใช้พลังงานถึงร้อยละ 60-80 ของสมองเพื่อจัดระเบียบความคิดขณะที่มนุษย์ไม่ได้จดจ่อกับสิ่งใด

 

ผลลัพธ์น่าทึ่งของการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิ

 

ทั้งการนอนหลับและเจริญสติหรือปฏิบัติสมาธิล้วนนำไปสู่ “ระยะพักสัมบูรณ์” (radical downtime) ของมนุษย์ หรือการพักผ่อนอย่างเต็มที่ทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งจะเปิดใช้งานเครือข่ายอัตโนมัติในสมอง และด้วยเหตุนี้เอง การพักผ่อนจึงเป็น “รากฐานของทุกกิจกรรม”

งานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Science ปี 2014 ระบุว่า “ร้อยละ 64 ของวัยรุ่นเพศชาย และร้อยละ 15 ของวัยรุ่นเพศหญิงเลือกใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนๆ จี้ตนเอง ดีกว่านั่งเงียบๆ จมอยู่กับความคิดเป็นเวลาหกนาที” ทั้งนี้ เพราะโลกปัจจุบันอุดมสิ่งเร้ากว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์สามารถเชื่อมต่อกับผู้อื่นผ่านอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“วัยรุ่น ผู้ใหญ่ แม้กระทั่งเด็กวัยเรียนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นอนหลับไม่เพียงพอและใช้เวลาน้อยเกินไปในการทบทวนตนเอง ส่งผลให้รู้สึกเหมือนทุกอย่างถาโถมจนเกินกำลัง” วิลเลียมและเน็ดอธิบาย

แต่การเจริญสติและปฏิบัติสมาธิจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

 

“ร้อยละ 64 ของวัยรุ่นเพศชาย และร้อยละ 15 ของวัยรุ่นเพศหญิงเลือกใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนๆ จี้ตนเอง ดีกว่านั่งเงียบๆ จมอยู่กับความคิดเป็นเวลาหกนาที”

 

การเจริญสติในนิยามของจอน แคบัต-ซินน์ (Jon Kabat-Zinn) ผู้ทำให้การเจริญสติเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในวงวิทยาศาสตร์คือ “การจดจ่อรูปแบบหนึ่ง ทำโดยตั้งใจ อยู่กับปัจจุบันขณะโดยไม่ตัดสิน” การเจริญสติโดยทั่วไปจึงประกอบด้วยการกำหนดสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออก และสังเกตความคิดที่ปรากฏขึ้นโดยไม่ตัดสินหรือโต้ตอบ

การเจริญสติมีหลากหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีประโยชน์แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติยามรับประทานอาหารหรือเดิน หรือการเจริญสติเพื่อสำรวจร่างกาย หาที่มาของความเครียดผ่านการสังเกตปฏิกิริยาของตนเองเมื่อความคิดต่างๆ ปรากฏขึ้น

วิลเลียมและเน็ดกล่าวว่างานวิจัยว่าด้วยผลของการเจริญสติต่อพัฒนาการของเด็กยังมีน้อย แต่ส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าการเจริญสติลดระดับความเครียด ความก้าวร้าว และความวิตกกังวลทางสังคมของเด็กได้ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือพัฒนาทักษะบริหารจัดการ (executive function – EF) ที่สำคัญอย่างการยับยั้งชั่งใจและความจำใช้งาน ผ่านการจัดระเบียบความจำและสะท้อนคิดนั่นเอง

ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งที่สุดของการเจริญสติคือผลลัพธ์ที่จอช แอรอนสัน (Josh Aronson) อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กค้นพบ โดยแอรอนสันศึกษาการใช้งานแอปพลิเคชั่นเพื่อเจริญสติชื่อเฮดสเปซ (Headspace) ในนักเรียนกลุ่มเปราะบางทางสังคม และพบว่าหลังจากเจริญสติได้ 20 วัน เด็กๆ กลุ่มนี้รายงานว่าพวกเขา “ได้พบสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อน” กล่าวคือรู้สึกพึงพอใจร่างกายของตนเองมากขึ้น และเห็นความงามในธรรมชาติเป็นครั้งแรก

ตัวอย่างวิดีโอของเฮดสเปซ ว่าด้วยการรักษาสมดุลอารมณ์ของเด็ก (มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ)

 

เด็กชายคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและได้ทดลองใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วความคิดของเขาขณะเดินไปโรงเรียนคือ “ฉันจะถูกพ่อค้ายาเสพติดจับไปหรือถูกยิงหรือเปล่า ตำรวจจะคิดว่าฉันเป็นเด็กเกเรหรือเปล่า ฉันจะมีโอกาสในอนาคตไหม” แต่หลังการเจริญสติ เขาเพิ่งรับรู้เป็นครั้งแรกว่าธรรมชาติสวยงามเพียงใดในวันฟ้าโปร่ง เพราะ “ก่อนปฏิบัติสมาธิ ผมไม่เคยแหงนหน้ามองฟ้าเลย”

ด้วยเหตุนี้ แอรอนสันจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผนวกการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิในบทเรียน โดยเฉพาะในโรงเรียนในชุมชนแออัด เพราะเพื่อนนั้นมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นมาก หากวัยรุ่นเห็นว่าเพื่อนๆ ในโรงเรียนเจริญสติและปฏิบัติสมาธิได้ พวกเขาก็มีแนวโน้มจะปฏิบัติเป็นประจำตามกัน และหากเด็กๆ มีโอกาสพัฒนาทักษะพื้นฐานในการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิแล้ว พวกเขาจะใช้ประโยชน์จากมันได้ในระยะยาว

การปฏิบัติสมาธินั้นแตกต่างจากการเจริญสติเล็กน้อย โดยการปฏิบัติสมาธิที่วิลเลียมและเน็ดแนะนำ คือการปฏิบัติสมาธิแบบล่วงพ้น (transcendental meditation) หรือการปฏิบัติสมาธิที่ผู้ปฏิบัติต้องบริกรรมมนตราซึ่งเป็นคำหรือวลีที่ไม่มีความหมาย ไม่ว่าจะด้วยการออกเสียงหรือการบริกรรมมนตราในใจ เพื่อให้จิตใจนิ่งและ “เกิดความตระหนักที่สงบเงียบยิ่งกว่า” กล่าวคือมีความตื่นรู้เต็มที่ แต่ไม่มีความคิดใดรบกวนจิตใจ

ภาวะทางสรีรวิทยาที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิรูปแบบนี้นั้นเรียกว่า “ภาวะตื่นตัวที่ผ่อนคลาย” (restful alertness) ซึ่งให้ผลลัพธ์เหมือนการนอนหลับสนิท คือระบบประสาทได้ฟื้นฟูตัวเองจากความเครียดและความเหนื่อยล้าในแต่ละวัน อันเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบตอบสนองต่อความเครียดให้สามารถตอบสนองได้ฉับไวและหยุดทำงานได้ทันท่วงที หรือ “ปล่อยวาง” และฟื้นตัวได้รวดเร็วนั่นเอง

 

การปฏิบัติสมาธินั้นแตกต่างจากการเจริญสติเล็กน้อย โดยการปฏิบัติสมาธิที่วิลเลียมและเน็ดแนะนำ คือการปฏิบัติสมาธิแบบล่วงพ้น (transcendental meditation) หรือการปฏิบัติสมาธิที่ผู้ปฏิบัติต้องบริกรรมมนตราซึ่งเป็นคำหรือวลีที่ไม่มีความหมาย ไม่ว่าจะด้วยการออกเสียงหรือการบริกรรมมนตราในใจ เพื่อให้จิตใจนิ่งและ “เกิดความตระหนักที่สงบเงียบยิ่งกว่า” กล่าวคือมีความตื่นรู้เต็มที่ แต่ไม่มีความคิดใดรบกวนจิตใจ

 

หลักฐานที่บอกว่าการปฏิบัติสมาธินำไปสู่ความผ่อนคลายและการพักผ่อนอย่างเต็มที่คือชนิดของคลื่นสมองในผู้ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำ โดยวิลเลียม สติกซ์รัด ที่ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำเช่นกันระบุว่าการปฏิบัติสมาธิเพิ่มปริมาณ “คลื่นอัลฟา” ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่ปรากฏในสมองเมื่อมนุษย์ผ่อนคลาย ซึ่งสังเกตได้ผ่านการเชื่อมต่อสมองกับเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า โดยระหว่างการประเมินทางชีวภาพ (biofeedback) ของวิลเลียมซึ่งปฏิบัติสมาธิด้วยตนเองตลอด 20 ปีนั้น คลื่นอัลฟาปริมาณมากปรากฏขึ้นบนจอภาพทันทีที่เขาหลับตาทีเดียว

และเพราะงานวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่าการปฏิบัติสมาธิแบบล่วงพ้นอย่างน้อยวันละสองครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที ทำให้ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าในเด็กลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีการริเริ่มโครงการไควเอตไทม์ (The Quiet Time) ในโรงเรียนขาดแคลนงบประมาณในสหรัฐอเมริกาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ปฏิบัติสมาธิอย่างถูกต้องสองครั้งต่อวัน พบว่าเด็กๆ แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวหรือก้าวร้าวน้อยลง นอนหลับสนิทขึ้น และทำแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาได้ดีขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเด็กที่ต้องเผชิญความรุนแรงเสมอในชีวิตประจำวัน

 

อย่าให้เข้าตำรา “แม่ปูสอนลูกปู”

 

แม้การเจริญสติและปฏิบัติสมาธิจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากเพียงใด ทั้งวิลเลียมและเน็ดก็ไม่เห็นด้วยกับการ “บังคับ” ให้เด็กเจริญสติหรือปฏิบัติสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม พวกเขาเชื่อว่าเด็กๆ จะได้รับประโยชน์จากการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิมากที่สุดหากเด็กๆ “เลือก” ปฏิบัติเอง

“จากประสบการณ์ของเรา เด็กโต วัยรุ่น หรือคนหนุ่มสาวจะปฏิบัติสมาธิด้วยตนเองหากได้รับการปลูกฝังว่าการปฏิบัติสมาธิเป็นเครื่องมือบรรเทาความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ และ/หรือเพิ่มพูนผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียน หรือไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของครอบครัว” ทั้งนี้ “ด้วยความที่การยอมรับจากเพื่อนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับวัยรุ่น พวกเขามีแนวโน้มจะปฏิบัติสมาธิเป็นประจำหากมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันสนับสนุน”

ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองจึงขอให้พ่อแม่พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิและชักชวนให้เรียนรู้ หากลูกสนใจ พ่อแม่ขอให้ลูกฝึกฝนอย่างจริงจังได้ พร้อมบอกประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิอย่างตรงไปตรงมา อาจหากุมารแพทย์หรือเพื่อนๆ ที่เจริญสติและปฏิบัติสมาธิเช่นกันมาบอกประโยชน์เหล่านั้นให้ลูกฟัง หรือช่วยลูกวัยรุ่นแทรกการปฏิบัติสมาธิในตารางงานประจำวันของพวกเขา

ทั้งนี้ การซื้อใจลูกให้ได้ก่อนเริ่มปฏิบัติจริงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ หากพ่อแม่สามารถชี้ให้ลูกเห็นความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิได้ ลูกก็มีแนวโน้มจะปฏิบัติตาม ยิ่งกว่านั้น การเริ่มปฏิบัติสมาธิเองก่อนแล้วจึงชักชวนให้ลูกให้ปฏิบัติตาม ยังให้ผลดีกว่าการบอกให้ลูกปฏิบัติโดยที่กิจกรรมนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครอบครัว

 

 

วิลเลียม สติกซ์รัด ก็เป็นพ่อของลูกชายและลูกสาววัยรุ่น เขาเล่าว่าเมื่อลูกชายถามว่าผิดหวังหรือไม่ที่ไม่ปฏิบัติสมาธิเหมือนวิลเลียมและภรรยา วิลเลียมตอบลูกว่า “พ่อไม่ได้ทำอย่างนี้เพราะพ่อแม่ของพ่อทำเสียหน่อย พ่อทำเพราะเห็นว่าน่าสนใจ ถ้าลูกเห็นว่าไม่น่าสนใจสำหรับลูกก็ไม่ต้องทำหรอก”

โดยสองนักเขียนส่งท้ายเนื้อหาส่วนที่ว่าด้วยการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิ ด้วยข้อดีและข้อเสียของกิจกรรมทั้งสองรูปแบบเมื่อนำไปปฏิบัติจริง พวกเขาเห็นว่าการเจริญสตินั้นใช้ต้นทุนการฝึกฝนต่ำ และนำไปประยุกต์ใช้ได้แม้กับเด็กเล็ก ทั้งยังไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จากครูฝึกที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติสมาธิแบบล่วงพ้นจะให้ประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อการลดความเครียด ความวิตกกังวล และการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่เป็นบวก กระนั้น การปฏิบัติสมาธิแบบล่วงพ้นอย่างเหมาะสมต้องอาศัยครูฝึกที่เชี่ยวชาญจึงมีต้นทุนสูง ซึ่งปัจจุบันยังมีครูฝึกผู้ได้รับใบรับรองน้อยมาก โดยผู้อ่านสามารถศึกษาการปฏิบัติสมาธิเบื้องต้นหรือสืบค้นข้อมูลอื่นๆ เพื่อร่วมการฝึกอบรมที่เหมาะสมได้ที่ช่องทางติดต่อออนไลน์ต่างๆ ของมูลนิธิเดวิด ลินช์ (David Lynch Foundation) ซึ่งระดมทุนให้นักเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนงบประมาณได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติสมาธิกับครูฝึกที่เชี่ยวชาญ

การซื้อใจลูกให้ได้ก่อนเริ่มปฏิบัติจริงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ หากพ่อแม่สามารถชี้ให้ลูกเห็นความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการเจริญสติและปฏิบัติสมาธิได้ ลูกก็มีแนวโน้มจะปฏิบัติตาม ยิ่งกว่านั้น การเริ่มปฏิบัติสมาธิเองก่อนแล้วจึงชักชวนให้ลูกให้ปฏิบัติตาม ยังให้ผลดีกว่าการบอกให้ลูกปฏิบัติโดยที่กิจกรรมนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครอบครัว

 

คืนนี้ทำอะไรดี

 

วิลเลียม สติกซ์รัด และเน็ด จอห์นสัน แนะนำให้

  • หาโอกาสปล่อยจิตใจให้ล่องลอยบ้างระหว่างวัน โดยอาจนั่งเงียบๆ มองออกไปนอกหน้าต่างหรือทำกิจกรรมที่ทำได้ “โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก” อย่างการตัดหญ้าในสนาม เพื่อทดลอง “อยู่กับตัวเอง”
  • พูดคุยกับครอบครัวเกี่ยวกับความสำคัญของการให้เวลากับตัวเอง หากลูกสนใจฟัง บอกลูกว่ามีเพียงช่วงเวลาที่ลูกไม่ได้จดจ่อกับสิ่งใดเท่านั้นที่จะคิดถึงตัวเองและผู้อื่นได้ บอกลูกด้วยว่าการค้นพบมุมมองใหม่ๆ มักจะมาถึงเฉพาะเมื่อลูกปล่อยให้จิตใจท่องไปอย่างเป็นอิสระ และลูกต้องการการพักผ่อนเพื่อให้องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนในโรงเรียนได้ตกผลึก
  • ถามลูกว่า “ลูกรู้สึกว่ามีเวลาให้ตัวเองอย่างเพียงพอไหมระหว่างที่ไม่ได้กำลังเรียน เล่นกีฬา หรือส่งข้อความพูดคุยกับเพื่อน มีเวลานั่งเฉยๆ บ้างไหม” หากลูกตอบว่าไม่ ช่วยลูกหาเวลาสั้นๆ ระหว่างวันเพื่อคิดอะไรเรื่อยเปื่อยบ้าง หรือหารือกับลูกว่ามีอุปสรรคใดทำให้ลูกมีเวลาส่วนตัวน้อยลง
  • ลองปฏิบัติสมาธิด้วยตนเอง โดยอาจอาศัยข้อมูลจากโปรแกรมฝึกหัดการเจริญสติของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ หรือมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก รวมถึงมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ก่อนถามลูกวัยมัธยมว่าต้องการร่วมปฏิบัติด้วยหรือไม่ แนะนำให้ลูกรู้ว่ามีคนดังคนใดบ้างที่ปฏิบัติสมาธิ โดยเฉพาะผู้ที่มีชื่อเสียงในหมู่วัยรุ่น
  • หากสนใจการเจริญสติมากกว่า พ่อแม่สามารถทดลองใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อการเจริญสติอย่างเฮดสเปซ หรือมายด์เยติ (Mind Yeti) หากลูกยังเล็ก พ่อแม่สามารถอ่านหนังสืออย่าง Mindful Monkey, Happy Panda ของลอเรน อัลเดอร์เฟอร์ (Lauren Alderfer) หรือ Sitting Still Like a Frog ของเอลีน สเนล (Eline Snel) ให้ลูกฟัง

 

หนังสือ Mindful Monkey, Happy Panda

 

 

สำรวจแนวทางเลี้ยงลูกให้ “อยู่เองได้ โตเองเป็น”

ใน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

(The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control over Their Lives)

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่