100 ปี “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” และหน้าประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่

เรื่อง: วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

 

ข้อผิดพลาดร้ายแรงที่สุดในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่คือความเข้าใจผิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์คือสงครามหรือการปฏิวัติรัฐประหารที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนระบอบการปกครองในประเทศต่างๆ ในกรณีประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ คนมักจะทุ่มความสนใจให้กับการปฏิวัติซินไฮ่ของซุนยัตเซ็นและการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง โดยถือว่าเป็นจุดหักเหเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่สุดของจีนในศตวรรษที่ 20 ทว่าแท้ที่จริงแล้ว การจับอาวุธขึ้นสู้ของนักปฏิวัติเป็นเพียงผลผลิตปลายสุดของกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนในสังคม ซึ่งต้องใช้เวลาและความกล้าหาญในการตั้งคำถาม ถกเถียง ขัดแย้ง และเปลี่ยนแปลงอย่างยากลำบากยิ่งกว่าการตะลุมบอนกันจนฝุ่นตลบในสมรภูมิรบมากมายหลายเท่านัก

จุดหักเหที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์จีนศตวรรษที่ 20 คือการเดินขบวนประท้วงผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเหล่านักศึกษาปัญญาชนคนรุ่นใหม่ของจีนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 (พ.ศ. 2462) ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักในนาม “ขบวนการ 4 พฤษภาคม”

ถ้ามองเผินๆ อาจจะเห็นว่าเหตุการณ์ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 นั้นก็เป็นแค่การเดินขบวนประท้วงของหนุ่มสาวในช่วงเวลาวิกฤตของชาติบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น เป็นเพียงการแสดงความอึดอัดไม่พอใจต่อความล้มเหลวของตัวแทนรัฐบาลจีนในที่ประชุมสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ณ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในการนี้แม้ว่าจีนจะได้ส่งแรงงานไปสนับสนุนการรบของฝ่ายที่ชนะสงครามเป็นจำนวนหลายหมื่นคนตั้งแต่ขวบปีแรกของสงคราม แต่กลับไม่ได้ผลประโยชน์อะไรกลับมาเป็นชิ้นเป็นอันจากการอยู่ฝ่ายชนะสงครามเลย ดินแดนจีนในเขตอิทธิพลของเยอรมันผู้แพ้สงครามก็ถูกยกให้ญี่ปุ่น สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่เคยถูกบังคับให้ทำกับชาติเจ้าอาณานิคมทั้งหลายก็ไม่ได้รับการแก้ไข และแม้จีนจะได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมสันนิบาตชาติ แต่องค์กรดังกล่าวก็ไม่แยแสต่อคำขอร้องของจีนที่จะให้ญี่ปุ่นถอน “ข้อเรียกร้อง 21 ประการ” ที่จะทำให้จีนกลายเป็นรัฐอารักขาของญี่ปุ่นแต่ประการใด ประชาคมโลกที่รวมตัวกันอยู่ในองค์การสันนิบาตชาติที่ก่อตั้งขึ้นใหม่นี้กลับพากันเอาหูไปนาเอาตาไปไร่และผลักภาระให้จีนแก้ปัญหากับญี่ปุ่นในระดับทวิภาคี ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่ารัฐจีน ณ เวลานั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อรองกับญี่ปุ่นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในแง่เศรษฐกิจหรือแสนยานุภาพทางการทหาร

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่าภาพที่เห็นเพียงผิวเผินก็จะเห็นว่า การชุมนุมประท้วงของเหล่านักศึกษาปัญญาชนคนรุ่นใหม่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 นั้นไม่ใช่แค่การออกมาประท้วงที่จีนถูกมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่นเอารัดเอาเปรียบ ความสำคัญแท้จริงของ “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” อยู่ที่การออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับฐานรากอารยธรรมจีนว่า มีอะไรในวัฒนธรรมจีนที่ทำให้จีนพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ไม่สำเร็จสักที มีอะไรในความเป็นจีนที่ทำให้ประเทศยังอ่อนแอและตกเป็นเป้าของการรังแกและเอารัดเอาเปรียบจากต่างชาติ ทั้งที่ได้ผ่านการปฏิวัติและเปลี่ยนจากระบบราชวงศ์มาเป็นสาธารณรัฐแล้ว ทั้งยังเพียรพยายามสร้างสาธารณูปโภคสมัยใหม่ทั้งหลายมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ อู่ต่อเรือ โรงพยาบาล ระบบไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ เพราะเหตุใดจีนยังคงล้าหลัง ในขณะที่ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจไปแล้วทั้งที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงประเทศสู่ความเป็นสมัยใหม่ภายหลังจีนนับสิบปี คำถามทั้งหมดนี้งอกเงยออกมาจากคำถามพลิกแผ่นดินข้อเดียว นั่นคือ คติความเชื่อแบบขงจื่อและการบูชาบรรพชนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศจีนหรือไม่

การกล้าตั้งคำถามกับขงจื่อเพียงข้อเดียวนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิรูปหลายต่อหลายรุ่น นับตั้งแต่หลังจีนแพ้สงครามฝิ่นใหม่กลางศตวรรษที่ 19 จนถึงการปฏิรูปร้อยวันเมื่อปี 1898 และเรื่อยมาจนถึงกลุ่มปฏิวัติที่ช่วยกันสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นหลังการปฏิวัติซินไฮ่ ต่างก็ไม่เคยกล้าถามและถกเถียงกันอย่างจริงจัง เพราะเหตุว่าโครงสร้างระบบราชการจีนแต่โบราณนั้นสถาปนาอยู่บนรากฐานของระบบการสอบเข้ารับราชการ ซึ่งถือว่าหนทางแห่งการเลื่อนชั้นทางสังคมและการเข้าสู่อำนาจของชนชั้นปกครองมีอยู่ทางเดียว นั่นคือการศึกษาปรัชญาขงจื่อให้เชี่ยวชาญจนได้รับการยอมรับให้เป็นปราชญ์ผู้ปกครอง โดยผ่านการรับรองจากการสอบเข้ารับราชการที่รัฐบาลของจักรพรรดิทุกราชวงศ์ตั้งแต่ยุคฮั่น (นับเนื่องต่อกันมายาวนานกว่าสองสหัสวรรษ) เป็นผู้จัดขึ้น ก่อนหน้าที่จะยกเลิกระบบการสอบดังกล่าวนี้ในปี 1906

ความชอบธรรมของชนชั้นปกครองจีนทุกยุคทุกสมัยนั้นเป็นผลมาจากการที่พวกเขาได้ศึกษาปรัชญาขงจื่อและผ่านการสอบเข้ารับราชการนี้ในระดับสูงสุด ซึ่งความชอบธรรมของรัฐราชการดังกล่าวก็วางอยู่บนฐานรากของความเชื่อว่าจีนเป็นจักรวรรดิของผู้มีอารยธรรมหนึ่งเดียวในโลก ใต้หล้าทั้งมวลผู้ที่มีอารยะมีเพียงแผ่นดินจีน ผิดจากนั้นแล้วย่อมเป็นอนารยชนทั้งหมด และความมีอารยะที่ว่านี้ก็มาจากการที่ฐานรากของอารยธรรมจีนมาจากคติความเชื่อของลัทธิขงจื่อนั่นเอง ซึ่งคติความเชื่อนี้ก็คือการแบ่งสังคมเป็นชนชั้นต่างๆ โดยที่แต่ละชนชั้นต้องปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทของตนให้ถูกต้อง ทั้งยังไม่ส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคมเว้นแต่จะผ่านการสอบปรัชญาขงจื่อ ซึ่งก็กลับไปตอกย้ำวัฒนธรรมที่ต้องการให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมตามฐานันดรของตนและไม่สนับสนุนการเลื่อนชั้นทางสังคมอีกเช่นเคย สิ่งสำคัญที่ช่วยค้ำชูระบบชนชั้นทางสังคมดังกล่าวนี้ก็คือระบบครอบครัวและการบูชาบรรพชนอันสืบเนื่องมาจากคติความเชื่อแบบขงจื่อนั่นเอง

แม้จีนจะผ่านการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 1912 แต่ระบบคิดแบบเก่านี้ก็ยังคงอยู่ การเปลี่ยนระบอบก็เป็นแต่เพียงผู้มีอำนาจทางทหารคือนายพลหยวนซื่อไข่แปรพักตร์มาสนับสนุนฝ่ายปฏิวัติ แลกกับการได้เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐในภายหลัง พอได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว หยวนก็มิได้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมแต่ประการใด ทว่ากลับปกครองตามระบอบเผด็จการทหารและดำเนินการเพื่อเตรียมสถาปนาราชวงศ์ใหม่โดยให้ตัวเองกลับไปเป็นฮ่องเต้เหมือนระบอบเก่าเสียอย่างนั้น

ดังนั้นการที่กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนคนรุ่นใหม่กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่าฐานรากอารยธรรมจีนที่เป็นคติความเชื่อแบบขงจื่อนี้เป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญของชาติหรือไม่ จึงควรนับว่าหาญกล้าคิดนอกกรอบในแบบที่ไม่เคยมีใครกล้าทำอย่างเปิดเผยและมุ่งมั่นขนาดนี้มาก่อน

การตั้งคำถามกับขงจื่อนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของระบบชนชั้น รวมถึงการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบที่อำนาจปกครองเป็นของคนส่วนใหญ่มากกว่าเดิม และมีการศึกษาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบอื่นๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อนาธิปไตย ฯลฯ นำไปสู่ความคิดที่ว่าควรจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ การศึกษาควรเป็นสวัสดิการของรัฐ และการศึกษาควรมีขอบเขตกว้างขวางมากกว่าแค่ภาษาจีนโบราณและหลักปรัชญาขงจื่อ การเข้าถึงการศึกษาของประชากรต้องทำให้อัตราการอ่านออกเขียนได้สูงขึ้น จึงนำไปสู่การปฏิรูปภาษาจีนสู่ความเป็นสมัยใหม่ เลิกใช้ภาษาจีนโบราณซึ่งเป็นภาษาตายแล้วที่เลือกใช้ในวงราชการเพื่อกีดกันคนชั้นล่างที่ไม่มีโอกาสใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีร่ำเรียนให้เข้าใจและนำไปใช้ได้

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจาก “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” นั้นหยั่งลึกลงไปถึงสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดและเป็นฐานรากอันทรงอิทธิพลที่สุดต่อโครงสร้างสังคมขงจื่อ มีการตั้งคำถามกับความชอบธรรมของปิตาธิปไตย การบูชาบรรพชนที่อ้างอิงลัทธิชายเป็นใหญ่ การเรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียมให้สมาชิกครอบครัวเพศหญิง การต่อต้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชน และการเรียกร้องสิทธิในความรักเสรีและการมีอธิปไตยในเนื้อตัวและชีวิตของตนเอง โดยไม่ต้องยอมรับคำสั่งของผู้ใหญ่ในครอบครัวหรือประเพณีปฏิบัติของสังคมที่สืบทอดกันมานับร้อยนับพันปีโดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรม

ทั้งหมดที่นำเสนอมานี้คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในสังคมจีนอันเนื่องมาจาก “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำให้เกิดการล้มรัฐบาลหรือเปลี่ยนระบอบการปกครองในทันที แต่กลับนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมากมายและส่งผลยาวนานจนล่วงเลยจุดสิ้นสุดของศตวรรษที่ 20 ด้วยซ้ำ ทุกความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของจีนนับตั้งแต่เกิดเหตุชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 นั้นมีที่มาจากขบวนการทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม อันสืบเนื่องมาจากการชุมนุมประท้วงในวันนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดจากการรวมตัวกันของผู้นำบางส่วนใน “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” การปฏิวัติวัฒนธรรมแห่งชนชั้นกรรมาชีพอันยิ่งใหญ่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ณ จัตุรัสเทียนอานเหมินเมื่อปี 1989 ก็มีการอ้างอิงถึงจิตวิญญาณแห่ง “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” แม้กระทั่งการปฏิวัติร่มที่ฮ่องกงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีคนอ้างถึงความทรงจำของ “ขบวนการ 4 พฤษภาคม”

หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ของรานา มิตเตอร์ ควรนับว่าเป็นตำราประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ที่มีพลังและทรงอิทธิพลมากที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 20 ของจีนผ่านกรอบแนวคิด รวมถึงการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบของ “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” งานเขียนชิ้นนี้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมมนุษย์นั้นไม่ได้เกิดจากสงคราม ความรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามยึดอำนาจหรือก่อรัฐประหาร ในสังคมแห่งมนุษย์ผู้มีอารยะนั้น ศาสตร์ที่จะเปลี่ยนโลกคือมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คนที่จะเปลี่ยนโลกไม่ใช่ทหาร แต่คือปัญญาชน นักปรัชญา นักวรรณคดี นักประวัติศาสตร์ ศิลปิน นักเขียน นักภาษาศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมายที่ผลักโลกแห่งอารยะนี้ให้หมุนไปได้ทุกวันโดยที่ไม่ต้องฆ่าแกงใคร ไม่ต้องใช้กระสุนแม้แต่นัดเดียว และไม่ต้องใช้งบประมาณแสนล้านไปหาซื้อยุทโธปกรณ์ที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากเอาไว้ฆ่าคน สังคมอารยะควรเป็นเช่นนี้

คุณูปการของการเขียน การแปล และการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้จึงมิใช่เพียงแค่การเผยแพร่ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ แต่คือการจุดประกายให้ผู้คนฉุกคิดถึงความสำคัญของการปฏิรูปในเชิงความคิด การตั้งคำถาม การค้นหาคำตอบ การสร้างสังคมอุดมปัญญา และการผลักโลกใบนี้ให้หมุนไปอย่างอารยะ การที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็นภาษาไทยในปีเดียวกับที่ประเทศนี้ได้เลือกตั้งเสียทีดูจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่สังคมนี้อาจจะได้เรียนรู้บ้างว่า การก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารนั้นจะอยู่กันอย่างไร นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของสังคมไทยในการเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างอารยะ และผลักให้โลกใบนี้หมุนไปอย่างอารยะได้บ้าง

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในคำนำเสนอ หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ (A Bitter Revolution: China’s Struggle with the Modern World)