วัตถุดิบสำหรับสร้างทุนทางสังคมและความเชื่อใจในโรงเรียน

เพราะการสอนคือกีฬาที่ต้อง ‘เล่นเป็นทีม’ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงย่อมไม่ขึ้นกับ ‘คุณภาพครู’ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนทางสังคม’

ทุกวันนี้ คำว่า ‘คุณภาพครู’ กลายเป็นศัพท์ที่นิยมใช้วัดศักยภาพของครูแต่ละคนบนพื้นฐานคะแนนการสอบวัดระดับของนักเรียน โดยมักละเลยอิทธิพลของปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ทว่าในระบบโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพนั้น การเชื่อใจครูที่ยอดเยี่ยมไม่กี่คน หรือคุณครูยอดมนุษย์เพียงคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ ทุกโรงเรียนจำเป็นต้องบ่มเพาะทุนทางสังคม

ทุนทางสังคมคือเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ปัจเจก กลุ่ม หรือหน่วยบางอย่างสร้างขึ้นและใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ทุนทางสังคมเป็นมิติพื้นฐานของอาชีพการสอน

ในโรงเรียนบางแห่ง ครูจะทำอะไรๆ ด้วยตัวคนเดียว มีโอกาสร่วมมือกับครูคนอื่นจำกัด ขณะที่ในบางโรงเรียน ครูอาจพูดถึงงานของพวกเขาในฐานะวิถีปฏิบัติแบบร่วมมือร่วมแรง ซึ่งพวกเขาเข้าถึงชั้นเรียนของครูคนอื่นได้เป็นปกติ พวกเขาประชุมกันเป็นประจำและร่วมกันวางแผน โรงเรียนแบบแรกมักมีทุนทางสังคมน้อยกว่า และตามมาด้วยความเชื่อใจในตัวครูน้อยกว่าโรงเรียนแบบหลัง

ความเชื่อใจและทุนทางสังคมมักเป็นสิ่งที่มองกันว่าเป็นสองด้านของเหรียญเดียว นักวิจัยบางคนมองว่าความเชื่อใจเป็นองค์ประกอบของทุนทางสังคม เป็นคุณลักษณะหรือเงื่อนไขของความสัมพันธ์ที่ให้ผลงอกเงยและยั่งยืน บางคนมองว่าความเชื่อใจเป็นผลลัพธ์หรือผลผลิตของทุนทางสังคม ไม่ว่าจะนิยามอย่างไร ทุนทางสังคมก็ยังเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งและต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างความเชื่อใจ

แล้วโรงเรียนจะเพิ่มทุนทางสังคม การร่วมมือกัน และความเชื่อใจในหมู่คุณครูอย่างไร ในหนังสือ ‘เชื่อใจในตัวครู’ ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก และทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ ได้จำแนกวัตถุดิบสำคัญสามประการที่พบได้ในโรงเรียนฟินแลนด์หลายแห่ง ได้แก่

ตารางสอนที่ยืดหยุ่น

เมื่อคุณถูกตารางเวลาบีบรัด เป็นธรรมดาที่คุณจะเลิกสนใจอย่างอื่นแล้วพึ่งแต่ความสามารถและทรัพยากรของตัวเอง

ตอนที่ทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ ผู้เขียนหนังสือ ‘เชื่อใจในตัวครู’ ย้ายจากสหรัฐฯ มาสอนที่ฟินแลนด์ ตารางสอนของเขาเปลี่ยนจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แต่ละสัปดาห์เขาได้สอนแค่ 24 คาบ คาบละ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปกติสำหรับครูโรงเรียนประถมศึกษาในฟินแลนด์ บวกกับช่วงพักเบรก 15 นาทีต่อคาบ ทำให้เขาต้องใช้เวลาเพียง 18 ชั่วโมงต่อหน้านักเรียน

ฟินแลนด์ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่เชื่อในการมอบหมายงานให้ครูมีชั่วโมงสอนต่อสัปดาห์น้อย ประเทศที่มีศักยภาพสูงหลายแห่งเอื้อให้ครูมีตารางสอนที่ยืดหยุ่น เพื่อให้พัฒนาความเป็นมืออาชีพ ค้นคว้าวิจัย และการร่วมมือกันง่ายขึ้น

ระบบการศึกษาของประเทศเหล่านี้มองว่า ความคาดหวังต่อการสอนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอนในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเวลาในการเตรียมบทเรียน เช่นเดียวกับการทบทวนและการขัดเกลาบทเรียน การให้คะแนนและการให้ผลตอบกลับแก่นักเรียน และการร่วมมือกันเรียนรู้ในทางวิชาชีพและงานวิจัย

ลองนึกถึงสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในระดับต้นๆ ของ PISA มา 15 ปี ครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของประเทศนี้ใช้เวลาประมาณ 17.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สอนในชั้นเรียน นักการศึกษาของสิงคโปร์กล่าวว่าพวกเขาทำงาน 47.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสอนนักเรียน

ตรงกันข้าม ครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในสหรัฐฯ บอกว่าพวกเขาใช้เวลา 44.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับงานที่เกี่ยวกับการสอน แต่ส่วนใหญ่แล้ว (26.8 ชั่วโมง) พวกเขาใช้ไปกับการสอนในชั้นเรียน แล้วในโรงเรียนไทยล่ะ ครูไทยใช้เวลาไปกับการสอนตามตารางเรียนกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีเวลาให้พัฒนาศักยภาพ ขัดเกลาตนเอง และร่วมมือกับผู้อื่นมากน้อยเพียงใด

ศูนย์ความร่วมมือ: วัฒนธรรมห้องพักครู

วัฒนธรรมห้องพักครูที่ฟินแลนด์ประกอบด้วยกาแฟจำนวนมาก การพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และความสงบ วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นได้เพราะตารางเรียนที่เป็นเอกลักษณ์ (อ่านรายละเอียดเรื่องตารางสอนที่ยืดหยุ่นในภาพก่อนหน้านี้)

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ครูฟินแลนด์จะมีหน้าที่กำกับดูแลนักเรียนระหว่างช่วงพัก แต่พวกเขาจะผลัดกันตามเวร การจัดการเช่นนี้เปิดโอกาสให้ครูได้พักผ่อนหรือทำงานในห้องพักครูขณะที่ครูคนอื่นๆ คอยดูนักเรียนที่สนามเด็กเล่นข้างนอกหรือภายในอาคาร

ครูทุกคน ไม่ใช่แค่ในฟินแลนด์ ต่างก็ต้องการตารางสอนที่ยืดหยุ่นและห้องพักครูที่พวกเขาจะขอความร่วมมือระหว่างกันได้ง่าย รวมถึงดึงจุดแข็งและทรัพยากรของอีกฝ่ายหนึ่งออกมา นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันภาวะหมดไฟจากการทำงานได้อีกด้วย

วิธีคิดแบบอิงกลุ่ม: เล่นเป็นทีม

ในประเทศอย่างสหรัฐฯ มักมองว่าความสุขและความสำเร็จเป็นเป้าหมายส่วนบุคคล หรืออาจถึงขั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องแข่งขันกัน ส่วนในฟินแลนด์นั้น ความสำเร็จเป็นกีฬาประเภททีม

เราประจักษ์จิตวิญญาณของการทำงานเป็นทีมในโรงเรียนทั่วฟินแลนด์ ไม่ใช่เพราะแนวคิดการสอนล้ำโลกหรือการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ตรงกันข้าม สิ่งที่พบคือความร่วมมืออันแข็งแกร่งของครูอย่างต่อเนื่อง และเสริมด้วยการวางตารางสอน บรรยากาศในที่ทำงาน และวิธีคิดแบบอิงกลุ่ม

ตัวอย่างการร่วมมือกันเป็นทีมในโรงเรียนฟินแลนด์คือ โรงเรียนที่อยู่ใกล้กันอาจจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ลองนึกภาพครูคณิตศาสตร์จากโรงเรียนหนึ่งอยากรู้วิธีที่ดีที่สุดของอีกโรงเรียนหนึ่งซึ่งอยู่ ณ อีกฟากถนน ขอให้พวกเขาได้ออกไปเยี่ยมชมและติดตามครูคณิตศาสตร์ในชุมชนเดียวกันหนึ่งวัน ส่วนอีกวันให้พวกเขาได้ต้อนรับครูคณิตศาสตร์เหล่านั้นที่โรงเรียนของตน กิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เช่นนี้เสียค่าใช้จ่ายน้อย และช่วยเสริมสร้างความคิดว่าสถาบันการศึกษาเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้

ยอร์มา โอลลิลา อดีตซีอีโอของโนเกีย บริษัทโทรคมนาคมของฟินแลนด์ เชื่อว่า ‘ทัศนคติแบบฟินแลนด์’ ของคนส่วนใหญ่เป็นสิ่งผลักดันให้เกิดความสำเร็จของโรงเรียนฟินแลนด์

“ท้ายที่สุดแล้วระบบการศึกษาของฟินแลนด์ประสบความสำเร็จได้เพราะหลักปรัชญาของที่นี่ไม่ใช่การตรวจสอบวัดประเมินครูคนใดคนหนึ่งหรือการเปรียบเทียบกันระหว่างโรงเรียน แต่เป็นปรัชญาของความเท่าเทียม ชุมชน และความสำเร็จร่วมกัน”

 

เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์

Pasi Sahlberg, Timothy D. Walker เขียน

ทศพล ศรีพุ่ม แปล

อ่านรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่นี่