ความเปลี่ยวเหงา-ปัจจัยทางสังคม-ภาวะซึมเศร้าในสัตว์: รวมเกร็ดชวนอ่านจากหนังสือ “โลกซึมเศร้า”

 

ชวนทำความรู้จักโรคซึมเศร้าในหลากหลายแง่มุม ผ่านเกร็ดน่ารู้จากหนังสือ โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา

 

 

ความเปลี่ยวเหงาทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่?

ในภาวะกึ่งปิดเมืองที่เราต่างต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน สิ่งหนึ่งที่ระบาดไปทั่วยิ่งกว่าไวรัสอาจเป็น “ความเหงา” ที่เกาะกุมจิตใจผู้คน เราเห็นคลิปคนดังที่มีพฤติกรรมไม่อยู่กับร่องกับรอย เราเห็นคนตั้งสเตตัสแชร์ความเหงาและโหยหาการพบปะ ไม่เว้นแม้แต่ชาว introvert ก็ตาม ในภาวะที่ความเปลี่ยวเหงาแทรกซึมไปทั่วพื้นที่เช่นนี้ หลายคนอาจเริ่มรู้สึกหดหู่ ซึมเซา และสงสัยว่าความเหงาจะทำให้เรากลายเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่?

นักวิทยาศาสตร์ชื่อจอห์น กาโชปโป (John Cacioppo) ทำการทดลองหนึ่งเพื่อพิสูจน์เรืองนี้ โดยคัดเลือกผู้เข้าร่วมวิจัยหลากหลายกลุ่มและหลายเชื้อชาติ ตอนเริ่มงานวิจัย คนเหล่านี้ไม่ได้มีอาการซึมเศร้าหรือเหงากว่าคนทั่วไป พวกเขาต้องมาที่ห้องปฏิบัติการปีละครั้งเพื่อตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิต จากนั้นทีมงานของจอห์นจะถามคำถามยาวเหยียดเพื่อดูว่าพวกเขาเหงาและโดดเดี่ยวเพียงใด เช่น พวกเขาติดต่อคนกี่คนในแต่ละวัน มีคนที่สนิทชิดเชื้อกี่คน ใครที่เขาแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขในชีวิต

จากข้อมูลในช่วงห้าปีแรก ปรากฏว่าในกลุ่มผู้ร่วมทดลองทีแสดงภาวะซึมเศร้า ส่วนใหญ่แล้วความเหงาจะมาก่อนอาการที่บ่งบอกถึงโรคซึมเศร้า คุณจะรู้สึกเหงาก่อน ตามมาด้วยความรู้สึกสิ้นหวัง ความโศกเศร้ารุนแรง และอาการซึมเศร้า

ลองนึกภาพเส้นตรงที่บ่งบอกระดับความเหงา ปลายฝั่งหนึ่งคือเหงา 0 เปอร์เซ็นต์ และอีกฝั่งหนึ่งคือเหงา 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณเลื่อนจากช่วงความเหงา 50 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ 65 เปอร์เซ็นต์ คุณจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึงแปดเท่า!

นอกจากนี้ยังมีการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกเปลี่ยวเหงาทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดหรือคอร์ติซอลพุ่งสูงขึ้นมาก โดยความเหงาอย่างรุนแรงทำให้รู้สึกเครียดพอๆ กับเวลาถูกทำร้ายร่างกาย พูดง่ายๆ คือ ความเหงาอย่างลึกซึ้งดูเหมือนจะสร้างความเครียดได้มากพอๆ กับการโดนคนแปลกหน้าต่อยเลยทีเดียว

แต่อย่าเพิ่งจิตตกไปว่า ถ้าต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านแบบนี้ต่อไป ฉันต้องเป็นโรคซึมเศร้าแน่ๆ เพราะงานวิจัยของจอห์นยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ความรู้สึกเหงาเป็นคนละเรื่องกับการอยู่คนเดียว น่าแปลกใจว่าความเหงาไม่เกี่ยวกับจำนวนคนที่คุณคุยด้วยสักเท่าไร อันที่จริงผู้ร่วมทดลองบางคนที่รู้สึกเหงาที่สุดได้พูดคุยกับคนเยอะแยะทุกวันด้วยซ้ำ

ความเหงาไม่ใช่การที่คุณไม่มีใครอยู่เคียงข้าง แต่คือความรู้สึกว่าไม่มีใครใส่ใจคุณ และคุณก็ไม่ได้ใส่ใจใคร คุณไม่ได้ร่วมสุขหรือร่วมทุกข์กับใคร คุณไม่ได้แบ่งปันสิ่งที่มีความหมายกับใคร

จอห์นได้คำตอบว่า หากคิดจะปิดฉากความเหงา คุณจำเป็นต้องรู้สึกว่า “ได้ช่วยเหลือและปกป้องดูแลซึ่งกันและกัน” กับใครอีกคนเป็นอย่างน้อย และจะยิ่งดีถ้ามีอีกหลายคน

แน่นอนว่าการปฏิสัมพันธ์ต่อหน้าย่อมดีที่สุด แต่อย่างน้อยในสถานการณ์เช่นนี้ ยังเป็นเรื่องน่ายินดีที่เรามีเทคโนโลยีมาช่วยเชื่อมถึงกัน และคุณแสดงความใส่ใจต่อกันได้ แม้จะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม

 

 

โรคซึมเศร้ากับสังคม

นักวิทยาศาสตร์ทราบกันดีว่า โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลนั้นมีสาเหตุสามประการ ได้แก่ สาเหตุทางชีววิทยา ทางจิตวิทยา และทางสังคม ทว่าหลายครั้งที่สาเหตุทางสังคมและจิตวิทยากลับถูกละเล

สหประชาชาติระบุว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่แสดงว่าโรคซึมเศร้ามีสาเหตุที่ลึกซึ้งกว่าแค่เรื่องของสารเคมีในสมอง การบอกว่าโรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติของสารเคมีในสมองอาจทำให้ใครหลายคนเข้าใจผิด เลิกมองหาคำตอบที่อยู่ในชีวิต จิตใจ หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว และเลิกคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นอย่างไร

ปัจจัยทางชีววิทยาทำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเป็นทุกข์มากขึ้นได้ แต่มันไม่ใช่ตัวกระตุ้น ไม่ใช่ต้นตอที่เราจะค้นหาคำอธิบายหลักหรือทางแก้หลักของโรคซึมเศร้า ดังนั้นแม้ยาจะยังมีบทบาทอยู่บ้าง แต่เราก็ไม่ควรใช้ยาเป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับปัญหาสังคมอย่างใกล้ชิด เราต้องเขยิบจาก “การมุ่งประเด็นไปที่สารเคมีที่ไม่สมดุล” แล้วหันไปให้ความสำคัญกับ “บทบาทและอำนาจที่ไม่สมดุล” แทน

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ควรพูดถึงการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าโดยพิจารณาแค่ความเปลี่ยนแปลงเชิงปัจเจกบุคคลเท่านั้น เมื่อคุณเข้าใจแล้วว่าโรคซึมเศร้าถือเป็นปัญหาที่สังคมมีร่วมกันในระดับหนึ่ง ซึ่งมีสาเหตุจากบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในวัฒนธรรมของเรา ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมต้องหาวิธีแก้ร่วมกันในระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน

ในปี 2011 องค์การอนามัยโลกกล่าวไว้ว่

“สุขภาพจิตเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในเชิงสังคม เหนือสิ่งอื่นใด สุขภาพจิตที่สมบูรณ์หรือบกพร่องนั้นเป็นดัชนีชี้วัดทางสังคม จึงต้องอาศัยการเยียวยาแก้ไขทั้งในเชิงสังคมและเชิงปัจเจกบุคคล”

ที่ผ่านมาเราผลักการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลให้เป็นภาระของคนไข้เพียงผู้เดียว เราสั่งสอนหรือหลอกล่อพวกเขาโดยบอกให้เขาพยายามมากขึ้น (หรือไม่ก็กินยาต้านซึมเศร้าซะ) แต่ถ้าปัญหาไม่ได้เกิดจากพวกเขาฝ่ายเดียว พวกเขาย่อมแก้คนเดียวไม่ได้ เราต้องรวมพลังเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของเราร่วมกัน เพื่อขจัดสาเหตุของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลที่สร้างความทุกข์ใจอย่างเหลือล้น เราต้องเปลี่ยนแปลงสังคมของเราเพื่อให้คนจำนวนมากขึ้นได้มีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเขาเอง

 

 

สัตว์มีภาวะซึมเศร้าได้หรือไม่?

“ภาวะซึมเศร้าไม่เข้าใครออกใคร” ประโยคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมนุษย์อย่างเราๆ เท่านั้น เพราะสัตว์เองก็ตกอยู่ในอาการซึมเศร้าได้เช่นกัน

อิซาเบล เบงเค (Isabel Behncke) ศึกษาพฤติกรรมของโบโนโบ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษและญาติพี่น้องตามสายวิวัฒนาการของมนุษย์ ขณะเฝ้าสังเกตโบโนโบอยู่ในป่าดิบชื้นอันเป็นภูมิประเทศของมัน เธอพบว่าบางครั้งโบโนโบจะถูกกลุ่มสังคมของตัวเองทำร้าย และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น มันจะเริ่มทำตัวแปลกๆ อาจจะเกาตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด หรือไปนั่งอยู่ตรงขอบๆ ของกลุ่มและเหม่อมองออกไป พวกมันจะจัดแต่งขนตัวเองน้อยลงกว่าปกติมาก และไม่ยอมให้โบโนโบตัวอื่นลูบไล้แต่งขนให้

ตอนที่อิซาเบลเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ เธอรู้ทันทีว่ามันคือสิ่งที่เทียบเคียงได้กับโรคซึมเศร้าตามแบบฉบับของโบโนโบ เมื่อพวกมันถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย จึงตอบสนองด้วยท่าทีโศกเศร้าและสิ้นหวัง

แต่สิ่งที่แปลกพิลึกคือ เมื่อโบโนโบอยู่ในป่า พฤติกรรมซึมเศร้าของพวกมันจะมีขีดจำกัด โบโนโบมีอาการซึมเศร้าจริงๆ โดยเฉพาะตัวที่อยู่ในสถานะต่ำต้อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีฐานที่คอยรองรับไม่ให้พวกมันจมดิ่งเกินไป

ทว่าเมื่ออยู่ในสวนสัตว์ เหล่าโบโนโบทั้งหลายดูจะลื่นไถลลงไปเรื่อยๆ แบบที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในป่า พวกมันจะแกะเกาตัวเองจนเลือดออก ร้องโหยหวน กล้ามเนื้อกระตุก หรือเริ่มตัวสั่นไม่หยุด อิซาเบลบอกว่าเธอไม่เคยเห็นโบโนโบที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติมี “อาการซึมเศร้าเรื้อรังเต็มขั้น” เช่นนี้เลย แต่กลับเป็นเรื่องที่พบบ่อยในสวนสัตว์

และปรากฏว่าลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับโบโนโบเท่านั้น ตลอดนับร้อยปีที่มนุษย์เฝ้าสังเกตสัตว์ต่างๆ ที่ถูกกักขัง เราพบว่าเมื่อสัตว์เหล่านี้ไม่ได้อาศัยในถิ่นที่อยู่ธรรมชาติ พวกมันมักจะเกิดอาการที่ดูเหมือนภาวะสิ้นหวังรุนแรงหลายรูปแบบ นกแก้วจะทึ้งถอนขนตัวเอง ม้าจะโยกตัวส่ายไปมาไม่ยอมหยุด ช้างจะเริ่มเอางาซึ่งถือเป็นขุมพลังและเกียรติแห่งพงไพรไปเบียดกับผนังในคอกจนหักเหลือแต่ตอ ช้างบางตัวที่ถูกกักขังจะได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจรุนแรงจนเอาแต่ยืนหลับโดยไม่เอนตัวลงนอนเป็นปีๆ และขยับตัวตลอดเวลาเหมือนเป็นโรคประสาท

ทว่าสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ที่กล่าวมาไม่เคยมีพฤติกรรมเช่นนี้เลยเมื่ออยู่ในป่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า สัตว์มีอาการซึมเศร้ากว่าเดิมมากเมื่อออกจากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ และที่น่าเศร้าคือ มนุษย์เรานี่เองที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการนี้

หากสัตว์ซึมเศร้ามากขึ้นเมื่อออกจากธรรมชาติ เช่นนั้นแล้ว ปรากฏการณ์เดียวกันจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยหรือไม่?

หาคำตอบเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับ “โรค” และ “โลก” ซึมเศร้าได้ในหนังสือ

โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวย
(Lost Connections: Uncovering the Real Causes of Depression – and the Unexpected Solutions)
Johann Hari เขียน
ดลพร รุจิรวงศ์ แปล