อ่าน ‘โลกซึมเศร้า’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (6)

 

[su_note note_color=”#fcf0f9″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา เขียนโดย โยฮันน์ ฮารี แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์ และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

ไม่ว่าคุณจะเป็นโรคซึมเศร้า มีบาดแผลทางจิตใจ หรือเป็นคนทั่วไปที่เผชิญความทุกข์เป็นครั้งคราว หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่า อาการซึมเศร้าไม่ใช่เพียง ‘ความป่วยไข้’ แต่เป็นสัญญาณเตือนให้หันกลับมาทบทวนชีวิต แล้วค้นหาหนทางเยียวยาความเจ็บปวด ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสังคม เพื่อก้าวออกจาก ‘โลกซึมเศร้า’ ไปด้วยกัน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

ภาค 3 วิธีฟื้นฟูความสัมพันธ์ 7 แบบ

 

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ประการที่ 1-5 เป็นเรื่องเดียวกัน

สำหรับจิตแพทย์ที่ผ่านการทำงานมาแล้วระยะหนึ่งทราบดีว่า นอกเหนือจากการจ่ายยาต้านอารมณ์เศร้าแล้ว การที่ผู้ป่วยออกจากบ้านไปทำอะไรบางอย่างเพื่อคนอื่นเป็นการกระทำที่มีประโยชน์แน่ ไม่เพียงมีผลต่อโรคซึมเศร้า แต่มีผลดีต่อสุขภาพจิตทั่วไปและโรคทางจิตเวชทุกโรค

ความข้อนี้มีในตำราจิตเวชศาสตร์

ปัญหาของโรคซึมเศร้า รวมทั้งโรคจิตเภท คือพวกเขาไม่อยากออกไปและไม่อยากทำ บังคับไปทำก็ไม่ทำ ทำให้ดูก็ไม่ทำ สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพวกเขาเอาแต่นอนเพราะไม่มีเรี่ยวแรง อีกครั้งหนึ่ง พวกเขาไม่มีเรี่ยวแรงจริงๆ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ยไปเฉยๆ จริงๆ มิได้คิดไปเอง

เราถึงจ่ายยาก่อนอย่างไรครับ

โยฮันน์เล่ารายละเอียดของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ห้าประการหลายเรื่องในห้าบท แต่ละเรื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารวมทั้งโรควิตกกังวลที่ยังพอมีแรงลุกจากเตียงอยู่บ้างว่า ออกไปเถอะ ออกนอกบ้าน ออกไปพบคน ชวนกันทำงานบางอย่างที่มีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม ที่มีความหมาย มีคุณค่า และด้วยเมตตา

บางทีหนังสือเล่มนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อโรงพยาบาลบ้านเราในแง่ที่ว่า เป็นหลักฐานว่าโรงพยาบาลสามารถจัดการรักษาเชิงสังคมเช่นนี้ได้ ซึ่งโยฮันน์ใช้คำว่า “ยาต้านอารมณ์เศร้าอีกประเภทหนึ่ง”

ตัวอย่างที่ยกมาในหนังสือเล่มนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยนายแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่เห็นความสำคัญและอยากทำเพียงคนเดียว ต้องการทีมงานและการจัดการ ต้องการการมีส่วนร่วมของชุมชนและการประสานงานชุมชน ถ้าจำเป็นอาจจะต้องถึงกับจ่ายค่าตอบแทนคืนแก่ชุมชนด้วย นั่นเท่ากับเกิดปัญหาว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่มิใช่ค่ายาเหล่านี้

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสุขภาพใดๆ จะจ่ายหรือไม่

เหล่านี้จะสะท้อนไปที่กฎระเบียบการเงินของราชการส่วนกลางที่เคร่งครัด ในที่สุดแล้วนักจิตวิทยาคนหนึ่งหรือจิตแพทย์คนหนึ่งที่พยายามผลักดันโครงการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยการใช้กระบวนการรักษาเชิงสังคมก็จะหมดกำลังใจและหมดแรงไปเอง

เรื่องทำนองนี้เกิดหลายครั้งแล้ว

มีบ้างที่มีความพยายามจะทำงานลักษณะนี้ด้วยการขอทุนดำเนินการจากองค์กรอื่น เช่น สสส. แต่ด้วยกระบวนการขอทุนที่รัดกุมและมีขั้นตอนมากมายตามลำดับชั้นซึ่งสร้างความยากลำบากพอๆ กันกับระบบราชการ ในที่สุดโครงการทำนองนี้จะหายไปในเวลาไม่นานอีกเช่นกัน เหลือเพียงหนังสือสรุปงานเย็บเล่มหรือพิมพ์แจกจ่ายเรียบร้อยเอาไว้อ่านเพื่อหวังว่าจะมีใครทำอีก

แต่การทำอีกก็จะพบอุปสรรคเดิมอีก

โยฮันน์มิได้ลงรายละเอียดว่ากรณีตัวอย่างหลายเรื่องในห้าบทนี้ทำได้อย่างไร แต่เชื่อได้ว่ามีการจัดการที่ดีอยู่เบื้องหลัง บางตัวอย่างเกิดขึ้นในประเทศที่มีการกระจายอำนาจแล้วระดับหนึ่ง การทำงานก็จะง่ายขึ้นด้วยขั้นตอนที่รวบรัดมากขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ที่พิสูจน์ได้

การจ่ายยาเชิงสังคมต้องการการกระจายอำนาจการบริหารที่ดี ในขณะที่การจ่ายยาต้านอารมณ์เศร้าสามารถทำได้ด้วยแพทย์คนเดียว

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ประการที่หก เรื่องการยอมรับและก้าวข้ามความเจ็บช้ำในวัยเด็ก เป็นเรื่องที่จิตเวชศาสตร์ทำมานานแล้วและทำอยู่ มีผลลัพธ์ที่อธิบายได้และพิสูจน์ได้ว่าดีแน่ อย่างไรก็ตาม ควรทำด้วยบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีด้วย ไม่นับว่าผู้ป่วยไม่ทุกคนที่มีสภาพจิตหรืออีโก้แข็งแกร่งพอจะรับการรักษาด้วยการพูดถึงอดีตของตนเอง

เปรียบเหมือนการคุ้ยเขี่ยแผลเก่า แพทย์หรือนักจิตวิทยาจำเป็นต้องมีความสามารถมากพอจะรู้ว่ากำลังคุ้ยอะไร เขี่ยอะไร และรื้ออะไร มิใช่ทำไปสะเปะสะปะเพราะจะเข้าข่ายการทำร้ายผู้ป่วยโดยไม่มีความรู้ไปเสีย

ผู้ป่วยเกือบทุกคนต้องการพูดเรื่องอดีตของตน และหลักการของแพทย์กับนักจิตวิทยาคือรับฟังเรื่องทั้งหมดโดยไม่ตัดสิน

ไม่นับว่าเราตั้งธงไว้ก่อนด้วยว่าทุกเรื่องที่เขาพูดเป็นความจริง แม้ว่าอาจจะไม่จริงหรือจำผิด กล่าวคืออะไรที่ผู้ป่วยพูดคือเรื่องที่อยู่ในความทรงจำจริง แม้ว่าจะคลาดเคลื่อน และอะไรที่ผู้ป่วยตั้งใจพูดบิดเบือน ก็มีเหตุผลทางจิตวิทยาและจิตใต้สำนึกที่เขาจะพูดบิดเบือนโดยเจตนา เหล่านี้เป็นงานของแพทย์และนักจิตวิทยาที่มีฝีมือระดับหนึ่ง

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ประการที่เจ็ด ใช้หัวข้อว่าการกอบกู้อนาคต แต่เนื้อเรื่องเล่าเรื่องการประกันชีวิตเสียมาก การประกันชีวิตในที่นี้มิได้หมายถึงเสียเบี้ยประกันชีวิตแบบในบ้านเรา แต่หมายถึงชีวิตที่มีประกันว่าจะไม่ล้มง่ายนักไม่ว่าจะเกิดเหตุพลิกผันอย่างไร หลายประเทศใช้วิธีจัดรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นเรื่องที่มีวิวาทะเนิ่นนานในบ้านเรา

วาทกรรมที่เราเป็นห่วงเสมอคือเมื่อจ่ายเงินแก่คนยากจนจะทำให้คนยากจนไม่พัฒนา แต่โยฮันน์อ้างอิงงานวิจัยว่าวาทกรรมนี้ไม่จริง ที่จริงแล้วเงินสวัสดิการที่คนยากจนได้รับช่วยสร้างคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้มาก หรืออย่างน้อยที่สุดก็สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ปัจเจกบุคคล

รัฐสวัสดิการ เงินสวัสดิการ หรือประกันสังคมใดๆ ช่วยให้คนเรากล้าไปข้างหน้า คำอธิบายง่ายๆ คือมีทุนรอนที่จะทำ มีฟูกที่จะล้ม ถ้าเงินที่ให้มีความชัดเจน เท่าเทียม และสม่ำเสมอ คนเราก็จะกล้ารับความเสี่ยงของการพัฒนาได้มากขึ้น ในทางตรงข้ามหากเงินเป็นเพียงการสงเคราะห์ชั่วครั้งคราว ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่ชัดเจนเป็นธรรมดา เรื่องนี้ไปไกลกว่าวาทกรรมอีกหนึ่งที่บอกว่าอย่าให้ปลาแต่จงสอนวิธีจับปลา กล่าวคือสอนวิธีจับปลาก็ไม่ต้องเพราะเขาไม่ต้องการ เขาต้องการเงินจำนวนหนึ่งที่ประกันชีวิตในอนาคตของเขาได้ถ้าเขาจะเริ่มต้นอะไรสักอย่าง

เขาไม่ต้องการจับปลา เขาจะเลือกทางเดินเอง นี่คือประเด็น เมื่อคนเราเลือกชีวิตได้ โรคซึมเศร้าจะหายไป

ตอนสุดท้ายของหนังสือเป็นบทสรุปซึ่งผมอยากสรุปว่าเป็นหนังสือที่ดีครับ

 

โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา

Johann Hari เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

464 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่